| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดนนทบุรี

            นนทบุรี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคกลางตอนล่าง พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา  ซึ่งเป็นทุ่งราบเจ้าพระยา พื้นดินเป็นดินเหนียว และทราย  ซึ่งมีทั้งทรายบกและทรายแม่น้ำ  อันเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการก่อสร้าง สำหรับดินเหนียวก็นำไปใช้ในการทำเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อของจังหวัดนนทบุรี
            พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก  มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย ๑ - ๒ เมตร  มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านพื้นที่จังหวัดในแนวเหนือ - ใต้ และจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา  บริเวณส่วนโค้งของแม่น้ำที่บ้านแหลม เมื่อปี พ.ศ. ๑๑๖๕  ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  ทำให้เกิดเกาะเกร็ดที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมและคลองที่ขุดใหม่ ซึ่งกลายเป็นแม่น้ำ  ซึ่งเดิมชื่อว่าคลองลัดเกร็ด นอกจากนี้ยังมีคลองอีกเป็นจำนวนมากประมาณกว่า ๑๐๐ สาย  กระจายอยู่เต็มพื้นที่  มีทั้งคลองตามธรรมชาติและคลองที่ขุดใหม่  คลองทั้งหมดจะเชื่อมโยงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
            เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดนนทบุรี  มีความคดเคี้ยวมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณบ้านตลาดขวัญ หน้าเมืองนนทบุรีเก่า  แม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลแยกไปทางทิศตะวันตก ไปตามคลองแม่น้ำอ้อมซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม  ผ่านปากคลองบางกอกใหญ่ แล้ววกลงใต้ ผ่านอำเภอบางกรวย  มาออกตรงข้ามวัดเขมาภิรตาราม  เมื่อมีการขุดคลองลัดทำให้น้ำเปลี่ยนทางเดิน  คลองลัดจึงกลายเป็นแม่น้ำไป  การขุดคลองลัดได้ทำกันมาหลายครั้งตามลำดับดังนี้
            เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๑๙  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองลัดจากคลองบางกรวยซึ่งเป็น แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมริมวัดชลอไปออกที่วัดขี้เหล็ก (วัดสุวรรณคีรี)
            เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๗๙  สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองลัดตอนใต้วัดท้ายเมือง ไปออกหน้าวัดเขมาภิรตาราม
            เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๖๕  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองลัดเกร็ด ในเขตอำเภอปากเกร็ด ทำให้เกิดเกาะเกร็ดดังที่กล่าวมาแล้ว
คลองสำคัญของนนทบุรี
            อำเภอเมือง  มีคลองส่วย  คลองบางธรณี  คลองบางซื่อ  คลองแม่น้ำอ้อม เป็นต้น
            อำเภอปากเกร็ด  มีคลองบางบัวทอง (คลองขนมหวาน) คลองบางตลาด  คลองบางพูด  คลองบ้านใหม่  คลองบ้านแหลม  คลองพระอุดม คลองข่อย  คลองบางพัด  คลองบางตาไนย์
            อำเภอบางกรวย  มีคลองศาลเจ้า  คลองแม่น้ำน้อย  คลองบางม่วง  คลองใน
            อำเภอบางบัวทอง  มีคลองบางรักใหญ่  คลองบางแพรก  คลองบางไผ่  คลองตาชม  คลองพระพิมล  คลองลากฆ้อน
            อำเภอบางใหญ่  มีคลองบางใหญ่  คลองโสน  คลองบางโค  คลองเสาธงหิน  คลองบางคูวัด  คลองวาเดียว  คลองขุนเจน  คลองบางไทร
            อำเภอไทรน้อย  มีคลองหนึ่ง  คลองห้าร้อย  คลองขุนศรี  คลองหม่อมแช่ม  คลองราษฎร์นิยม  คลองพาหมอน  คลองสิบสอง  คลองผู้ใหญ่ชื่น


พัฒนาการของประวัติศาสตร์

            เมืองนนทบุรี มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองสำคัญที่อยู่ทางปากน้ำเจ้าพระยา  เช่นเดียวกับเมืองธนบุรี
สมัยกรุงศรีอยุธยา
            เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองนนทบุรี เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า เป็นชุมชนที่พักแรมเพื่อการเดินทางไปค้าขาย  มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ขบวนเกวียนสินค้าของพระเจ้า อู่ทองได้เดินทางมาพักแรมที่บริเวณชุมชนที่ตั้งวัดเขมาภิรตารามปัจจุบัน และพระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวัดขึ้น
            เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๙๑  สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองลัดจากคลองบางกรวย ซึ่งเป็นแม่น้ำ เจ้าพระยาเดิมบริเวณเหนือวัดชลอไปออกวัดขี้เหล็ก  (วัดสุวรรณคีรี)
            เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๘๙ เฟอร์ดินันด ์เมนเดส บินโด พ่อค้าชาวโปรตุเดินทางมากรุงศรีอยุธยา ได้บันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้นตอนหนึ่งว่า "กรุงศรีอยุธยา ส่งสำเภาไปค้าขายยังต่างเมือง ปีละกว่า ๑๐๐ ลำ และทุกปีจะมีสำเภาจีนเข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยามากกว่า ๑,๐๐๐ ลำ ไม่นับรวมเรือขนาดเล็กอื่น ๆ ตามลำแม่น้ำ  ท่าเรือต่าง ๆ จึงเต็มไปด้วยเรือสินค้า"
            การเดินทางโดยทางเรือระหว่างกรุงศรีอยุธยากับปากแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้เวลาประมาณ ๑๕ วัน ในระหว่างนั้น  ต้องมีการหยุดพักเป็นระยะ ๆ ทำให้ชุมชนเจริญเติบโตและขยายตัวไปตามริมฝั่งแม่น้ำ ได้แก่ บ้านตลาดแก้ว บ้านตลาดขวัญและบ้านสามโคก นอกจากการค้าขายแล้วยังมีการทำสวนผลไม้  พื้นที่ตั้งแต่เมืองบางกอกถึงตลาดขวัญ เป็นระยะทางตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ ๕๖๐ เส้น (๒๒.๕ กิโลเมตร) เป็นชุมชนที่ทำสวนผลไม้ที่มีชื่อเสียง  ของกรุงศรีอยุธยา
            ในปี พ.ศ. ๒๐๙๒  เมื่อเสร็จศึกพม่าแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ทรงตระหนักถึงความสำคัญของชุมชน  นี่เป็นจุดยุทธศาสตร์ เช่น บ้านท่าจีน บ้านท่านา และบ้านตลาดขวัญ เนื่องจากมีประชากรหนาแน่นและเศรษฐกิจดี  จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเอาบ้านตลาดขวัญเป็นเมืองนนทบุรี  และยกเอาบ้านท่าจีนตั้งขึ้นเป็นเมืองสาครบุรี
            ในปี พ.ศ. ๒๑๗๙  สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้วัดท้ายเมือง  ไปออกบริเวณวัดเขมาภิรตาราม ปากคลองบางกรวย เป็นประโชยน์ต่อการเดินเรือ ทำให้เกิดชุมชนขึ้นใหม่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ สายใหม่ และทำให้บริเวณบางศรีเมือง บางกร่าง บางสีทอง และบางไผ่ มีสภาพเป็นเกาะนนทบุรี
            ในปี พ.ศ. ๒๒๐๘  สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองนนทบุรี จากที่ตั้งเดิม บริเวณบ้านตลาดขวัญ ไปตั้งบริเวณปากแม่น้ำอ้อม ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะทรงตระหนักว่า การที่ แม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนทางเดิน ทำให้ข้าศึกเข้าประชิดพระนครได้ง่าย  พระองค์ยังได้โปรดเกล้าให้สร้างป้อมปราการขึ้นสองป้อมคือป้อมทับทิม ตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร ในปัจจุบันกับป้อมแก้ว ตั้งอยู่ที่ตลาดแก้ว นอกจากนั้นยังให้สร้างกำแพงล้อมรอบที่ตั้งที่ทำการเมืองนนทบุรีแห่งใหม่  รวมทั้งสร้างศาลหลักเมืองด้วย
            ในปี พ.ศ. ๒๒๖๕  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองลัดเกร็ด (คลองลัดเกร็ดน้อย) โดยให้พระธนบุรีเป็นแม่กอง เกณฑ์ผู้คนจากเมืองปากใต้ ๑๐,๐๐๐ คนเศษ ขุดคลองลึก ๖ ศอก กว้าง ๓ วา ยาว ๒๙ เส้นเศษ  ใช้เวลาขุดอยู่เดือนเศษก็เสร็จ
            ในปี พ.ศ. ๒๓๐๗  เกิดศึกพม่า พระเจ้ามังระ ให้มังมหานรธายกกำลังเข้าตีเมืองทวายและตะนาวศรี  ชาวมอญอพยพหนีเข้ามาในเขตไทย มังมหานรธายกกำลังตามมาจนถึงเมืองชุมพร ไม่มีกำลังฝ่ายไทยต่อต้าน จึงคิดจะยกกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยา  ทางกรุงศรีอยุธยาจึงเกณฑ์กำลังมารักษาเมืองธนบุรี และเมืองนนทบุรี เพื่อป้องกัน เส้นทางคมนาคมทางน้ำ  สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยายมราชยกกำลังไปป้องกันเมืองนนทบุรี และให้พระยารัตนาธิเบศร์ นำกำลังจากเมืองนครราชสีมาไปรักษาป้อมปราการที่เมืองธนบุรี พม่ายึดค่ายธนบุรีได้  แล้วยึดนนทบุรีได้ในเวลาต่อมา แล้วตั้งค่ายอยู่ที่วัดเขมา (ภิรตาราม) ตำบลตลาดแก้วทั้งสองฝาก  เมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ประชาชนชาวเมืองนนทบุรีพากันอพยพหนีภัยสงคราม ข้ามฝั่งแม่น้ำ เจ้าพระยาไปหลบซ่อนอยู่บ้านสวนในชุมชนบางขนุน ชุมชนวัดโบสถ์บนและชุมชนบางม่วง
สมัยกรุงธนบุรี
            เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขับไล่พม่าอออกไปจากดินแดนไทยและประกาศอิสระภาพแล้ว พระยาเจ่งได้นำชาวมอญเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๗  จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากเกร็ด  ส่วนชาวเมืองนนทบุรีเดิมก็อพยพกลับถิ่นฐาน  นอกจากนั้นชาวกรุงเก่าและชาวเมืองใกล้เคียง ก็ได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งใกล้กรุงธนบุรีมากขึ้น  ทำให้เมืองนนทบุรีจึงมีผู้คนมาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
            เมืองนนทบุรีคงมีฐานะเป็นแขวงขึ้นกับเมืองบางกอก เพราะระบบการปกครองยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ไปจากสมัยอยุธยา
            ในปี พ.ศ. ๒๓๓๒  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยกกองทัพไปปราบปรามหัวเมืองทางใต้ เมื่อตีเมืองปัตตานีได้ ก็ให้ชาวไทยมุสลิมจากเมืองปัตตานีไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านท่าอิฐ ในเขตอำเภอปากเกร็ด
            ในปี พ.ศ. ๒๓๔๘  ชาวมอญได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยอพยพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์  เมืองกาญจนบุรี และทางด่านแม่ละเมาะ เมืองตาก  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ เดินทางไปรับครอบครัวมอญที่เมืองกาญจนบุรี และให้พระยาอภัยภูธร สมุหนายก ไปรับครอบครัวมอญที่เมืองตาก แล้วให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองปทุมธานี เมืองนนทบุรี และเมืองนครเขื่อนขันธ์  ในส่วนที่อยู่ที่เมืองนนทบุรีจะตั้งบ้านเรือนที่เกาะเกร็ด และตำบลต่าง ๆ ในเขตอำเภอปากเกร็ด  ปัจจุบันเรียกมอญ กลุ่มนี้ว่ามอญใหม่
            ในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กองทัพไทยได้ยกไปปราบหัวเมืองทางใต้ตีได้เมืองไทรบุรี จึงได้ชาวมุสลิม จากไทรบุรีมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านท่าอิฐ บ้านบางบัวทอง ดังนั้นชาวไทยมุสลิมที่บริเวณพื้นที่ตำบลท่าอิฐ ตำบลพิมลราช ตำบลละหาร ตำบลลำโพ และตำบลบางบัวทอง จึงเป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายเดียวกัน
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองนนทบุรี จากชื่อเดิม เมืองนนทบุรีศรีมหาสมุทร มาเป็น เมืองนนทบุรีศรีมหาอุทยาน ผู้ว่าราชการเมืองคือ พระนนทบุรีศรีมหาอุทยาน  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น พระนนทบุรีศรีเกษตราราม
            เดิมเมืองนนทบุรี ตั้งที่ทำการอยู่ที่ปากแม่น้ำอ้อม บ้านบางศรีเมือง อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นหัวเมืองประเภทชายฝั่งทะเล  มีความสัมพันธ์กับเมืองหลวงอย่างใกล้ชิด สังกัดกรมท่า  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายที่ตั้งที่ทำการเมืองนนทบุรี จากปากแม่น้ำอ้อม ตำบลบางศรีเมือง อำเภอตลาดขวัญ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ไปตั้งที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองบางซื่อฝั่งใต้ และโปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองนราภิรมย์ คลองทวีวัฒนา และคลองมหาสวัสดิ์ ในเขตอำเภอไทรน้อย อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางกรวย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |