| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

วัดปรางค์หลวง

           อยู่ที่บ้านบางใหญ่ ตำบลบางม่วง  อำเภอบางใหญ่  สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๐  แต่บางหลักฐานกล่าวว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๐๔ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑  (พระเจ้าอู่ทอง) ได้อพยพผู้คนหนีโรคระบาดมาประทับอยู่ที่บริเวณนี้ ก่อนที่จะทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวัดขึ้น เดิมชื่อว่า วัดหลวง
          พระปรางค์   สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับวัด  เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น  ก่ออิฐสอดิน ยอดเจ็ดชั้นย่อมุมไม้ยี่สิบ  ประดับลายปูนปั้น  เรือนธาตุมีซุ้มจรนำทั้ง ๔ ทิศ  ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้นลงรักปิดทอง  สภาพองค์ปรางค์ชำรุดมาก  กลางเรือนธาตุมีกรุอยู่ภายในแต่ไม่มีช่องทางขึ้นสู่ยอดปรางค์  ผนังเรือนธาตุเป็นผนังทึบไม่มีประตู
          หลวงพ่ออู่ทอง  เป็นพระประธานในพระอุโบสถหลังเก่าที่ถูกทุบทำลายไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖  เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ศิลปกรรมแบบอู่ทอง  พุทธลักษณะงดงาม  เป็นที่เคารพสัการะของคนในชุมชนมาก  มีการจัดงานนมัสการ และปิดทองประจำปี ในเดือนมิถุนายน 
          ใบเสมา  ทำจากหินชนวนชาวบ้านเรียกหินกาบ  มีขนาดใหญ่ไม่มีลวดลาย  ปักลงบนดินรายรอบพระอุโบสถหลังเก่า  เป็นใบเสมาสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๑ ใบเท่านั้น
          พระวิหารน้อย  ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระปรางค์  สร้างขึ้นพร้อมกับพระปรางค์  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองหลังอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก  เหลือแต่เพียงผนัง
วัดกระโจมทอง
            อยู่ริมคลองวัดกระโจม ตำบลวัดชลอ  อำเภอบางกรวย  สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๙๑๐  ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑  (พระเจ้าอู่ทอง) ร่วมสมัยกับวัดปรางค์หลวง  มีตำนานกล่าวว่า  เดิมเคยเป็นที่ตั้งกระโจมที่ประทับของพระเจ้าอู่ทอง
            พระวิหารหลวงพ่ออู่ทอง  คล้ายพระอุโบสถขนาดเล็ก  จุพระสงฆ์ได้ประมาณ ๒๑ รูป  ผนังหนาประมาณ ๘๐ เซนติเมตร  อยู่ในสภาพชำรุดเหลือแต่ผนังด้านข้างกับด้านหลัง  ภายในพระวิหารมีพระพุทธรูปสมัยอู่ทองตอนต้นอยู่สามองค์  องค์กลางมีขนาดใหญ่เรียกว่าหลวงพ่ออู่ทอง  ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับหลวงพ่ออู่ทองที่วัดปรางค์หลวง
วัดปราสาท
            ตั้งอยู่ริมคลองอ้อมที่บ้านบางกร่าง  ตำบลบางกร่าง  อำเภอเมือง ฯ สันนิษฐานว่าสร้างในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองสมัยอยุธยาตอนปลาย  เดิมบริเวณวัดปราสาทเป็นสถานที่ใช้ในการระดมพลเพื่อเตรียมไปทำสงครามที่กรุงศรีอยุธยา
            พระอุโบสถมีขนาดเล็กมีสภาพสมบูรณ์ กว้างประมาณ ๑๐ เมตร  ยาวประมาณ ๒๖ เมตร  เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย  เป็นแบบมหาอุดคือผนังด้านข้างไม่มีหน้าต่าง  มีประตูอยู่ด้านหน้า 3 ประตู  ประตูกลางใหญ่กว่าประตูข้าง  ซุ้มประตูทรงปราสาทประดับปูนปั้น  ด้านหลังไม่มีประตู  มีเพียงช่องแสงขนาดเล็กบนผนังด้านหลังพระประธาน ๑ ช่อง  เพื่อให้แสงเน้นที่องค์พระประธาน  เมื่อมองจากด้านหน้า จะเห็นแสงสว่างกระจายรอบองค์พระประธานเป็นรัศมีเจิดจ้า  หลังคาด้านหน้าเชิดขึ้นเล็กน้อย  ส่วนฐานเป็นเส้นโค้งแบบเดียวกับหลังคา  หน้าบันมีลายจำหลักไม้แบบนูนสูงลอยตัว เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ  ช่อฟ้าใบระกาและคันทวยลวดลายไม้จำหลักงดงาม  มีเรื่องเล่าสืบมาว่า พระอุโบสถนี้สร้างขึ้นหลังจากสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จมาตั้งพลับพลา  เพื่อขุดคลองลัดจากวัดท้ายเมืองถึงปากคลองบางกรวยหน้าวัดเขมา ฯ
            ฝาผนังด้านในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมสกุลช่างนนทบุรี  เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวตามแบบภาพเขียนไทยโบราณทั่วไป  ผนังส่วนบนสุด เป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าประทับในเรือนแก้วเรียงกันตามแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย  ต่อลงมาเป็นภาพทศชาติ  นับว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดในย่านนี้
วัดเพลง
            เป็นวัดร้างอยู่ริมคลองวัดสักใหญ่ในพื้นที่ ตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย  สันนิษฐานว่าสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และอาจจะกลายเป็นวัดร้างมาตั้งแต่คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒  มีผู้รู้เล่าสืบกันมาว่าวัดนี้เดิมชื่อวัดทองเพลง สำหรับโบราณสถานที่สำคัญมีดังนี้
          พระอุโบสถ  มีขนาดใหญ่และสูงมาก  ยาวขนาด ๗ ห้อง  ตรงมุมย่อไม้สิบสอง  เสาซุ้มประตูประดับลายปูนปั้นงดงาม  คานไม้ตรงซุ้มประตู และเหนือคานประตูขึ้นไปเป็นไม้ มีลวดลายลงรักปิดทองกนกเปลวเพลิง  ฝาผนังด้านในหลังพระประธานมีร่องรอยจิตรกรรม  เป็นลายดอกไม้ร่วงบนพื้นแดง  สภาพพระอุโบสถชำรุดมาก เหลือเพียงฝาผนังที้งสี่ด้าน  ไม่มีหลังคา  ไม่มีบานประตูหน้าต่าง
          หลวงพ่อโต  เป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยหินทรายหุ้มลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๓ ใน ๔ ของความกว้างของพระอุโบสถ  เป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง
          ใบเสมา  ทำจากหินทรายแดง  ตั้งอยู่ตามมุมพระอุโบสถ เหลืออยู่เพียงแท่นฐานบัวตั้งอยู่บนฐานขาสิงห์โหย่งสี่ฐาน ส่วนใบเสมานั้น วัดสักใหญ่ได้มาขุดออกจากฐานที่ตั้ง  แล้วนำไปไว้ที่วัดสักใหญ่  ใบเสมาบางใบยังมีสภาพสมบูรณ์ เห็นลวดลายชัดเจน
วัดค้างคาว
         ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก  ตรงข้ามวัดเขมาภิรตาราม  ในพื้นที่ ตำบลบางไผ่  อำเภอเมือง ฯ เนื่องจากบริเวณนี้มีค้างคาวอยู่มาก  ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดค้างคาว  จากโบราณสถานในวัด สันนิษฐานว่าสร้างสมัยอยุธยาตอนกลาง  ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โบราณสถานที่สำคัญมีดังนี้
          พระอุโบสถ  มีขนาดใหญ่ก่ออิฐถือปูน  มีมุขหน้าหลัง  หน้าบันเป็นลวดลายไม้จำหลักรูปเทวดาประทับในปราสาท ล้อมรอบด้วยลายกนกออกช่อเทพนม  มีความประณีตงดงามมาก เครื่องลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ค้นทวยรับเชิงชาย ล้วนมีความประณีตงดงาม  บานประตูหน้าต่างเป็นลวดลายไม้จำหลัก  มีซุ้มจรนำประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปกรรมสมัย อยุธยาตอนกลาง เรียกว่า หลวงพ่อเก้า กำแพงแก้วเป็นแบบกำแพงบัวหลังเจียด  ช่องประตู  หัวเสาเม็ดทรงมัณฑ์  พระพุทธรูปในพระอุโบสถเป็นศิลปกรรม สมัยอยุธยามีจำนวน ๒๘ องค์  เท่ากับอดีตพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ในลักษณะที่หันพระพักตร์ไปทั้งสี่ทิศ  ซึ่งพบเสมอในวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา
          หลวงพ่อเก้า  เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นทรงเครื่องปางห้ามญาติ  ขนาดสูงเท่าคนธรรมดา ศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนกลาง ประดิษฐานในซุ้มจรนำด้านหน้าพระอุโบสถ  การที่เรียกว่าหลวงพ่อเก้าเนื่องจากนิ้วพระหัตถ์ซ้ายมีเพียงสี่นิ้ว
          ใบเสมา  ทำด้วยหินทรายแดงล้อมพระอุโบสถ  ตั้งอยู่บนฐานขาสิงห์โหย่งเป็นคู่มีจำนวน ๑๖ ใบ  มีลวดลายจำหลักแบบต่าง ๆ ไม่ซ้ำกัน เช่น ลวดลายพันธุ์พฤกษา  ลวดลายเครือวัลย์  ใบเสมาดังกล่าวนี้มีอายุเก่าแก่กว่าใบเสมาเดียวกันที่จำหลักลายกนกในสมัยอยุธยาตอนต้น หรือก่อนสมัยอยุธยา
          เจดีย์  ตั้งอยู่รายรอบพระอุโบสถมีอยู่สองแบบด้วยกันคือ  เจดีย์ทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยมทรงสูง  สมัยอยุธยา และเจดีย์ย่อไม้สิบสอง  แบบรัตนโกสินทร์
วัดกลางบางซื่อ
            ตั้งอยู่ริมคลองบางซื่อ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง ฯ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นพร้อมกับการตั้งเมืองนนทบุรี เมื่อปีพ.ศ. ๒๐๒๙  ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์
          หลวงพ่อพระกาฬ  เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ สูง ๒.๗๐ เมตร  ทำจากหินทรายแดง  มีประวัติว่าลอยน้ำมาติดอยู่หน้าวัด  ชาวบ้านได้ช่วยกันอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานไว้หน้าพระอุโบสถ  หันพระพักตร์ไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา  ทางวัดได้จัดงานนมัสการเป็นประจำทุกปีในเดือนมีนาคม
วัดแก้วฟ้า
           ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองบางกอกน้อย  ในพื้นที่ตำบลบางขนุน  อำเภอบางกรวย  สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๐๙๕  ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์
สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๔  มีขนาดห้าห้อง  เป็นอาคารเครื่องก่อแบบผนังรับน้ำหนัก  ฐานแอ่นโค้ง  ด้านหน้ามีพาไล  ฝาผนังหุ้มกลอง  ก่ออิฐจรดอกไก่  มีประตูด้านหน้าสองประตู  ด้านหลังทึบ มีช่องเล็ก ๆ หลังพระประธานหนึ่งช่อง  ได้รับการบูรณะในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก
          หลวงพ่อโต  เป็นพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย    ทำด้วยหินทรายทรายพอกปูนลงรักปิดทอง  สร้างในสมัยอยุธยา
          ใบเสมา  ทำจากหินทรายแดงลวดลายจำหลัก  ตั้งอยู่บนฐานขาสิงห์  มีซุ้มทรงกูบช้างทวิมุข
          เจดีย์ มีสองแบบคือ  เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองตั้งอยู่ที่มุมกำแพงแก้วทั้งสี่มุม  เจดย์ย่อมุมไม้ยี่สิบฐานสิงห์ยอดบัว  ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ นอกกำแพงแก้ว
วัดบางขนุน
            ตั้งอยู่ริมคลองวัดบางขนุนที่บ้านบางขนุน ตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย  มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า บริเวณที่สร้างวัด เคยเจริญรุ่งเรืองมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา  มีเจ้านายหนีภัยสงครามมาพัก และได้บูรณะวัดขนุน
          พระอุโบสถ  มีลักษณะทรงโถง  ฐานอ่อนโค้งทรงเรือสำเภา มีขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๒ เมตร  ส่วนมุขด้านหน้าด้านหลัง และซุ้มประตูหน้าต่าง  สันนิษฐานว่าสร้างเพิ่มขึ้นเมื่อคราวบูรณะพระอุโบสถ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสองสมัยคือ  จิตรกรรมที่หลังบานประตู เป็นจิตรกรรมสมัยอยุธยา  จิตรกรรมฝาผนังด้านใน เป็นภาพพุทธประวัติ เป็นจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
          หอไตรกลางน้ำ  มีลักษณะเป็นเรือนไทย สมัยอยุธยาตอนปลาย  เชื่อกันว่าเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนนทบุรี  อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ที่บานหน้าต่างด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังจาง ๆ  สมัยอยุธยาตอนปลาย  ภายในหอไตรมีตู้พระธรรมลายรดน้ำ ๖ ใบ  ลวดลายพรรณพฤกษางดงามมาก
          ใบเสมา  ทำด้วยหินทรายแดง  จำหลักลายประจำยาม  ศิลปกรรมสมัยอยุธยา
วัดชลอ
            ตั้งอยู่ริมคลองบางกรวย และคลองบางกอกน้อย ในพื้นที่ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จากตำนานและโบราณสถานในวัดสันนิษฐานว่า  วัดนี้สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
            พระอุโบสถหลังเก่า  มีลักษณะทรงไทย รูปเรือสำเภาโบราณ ตัวพระอุโบสถตั้งอยู่ในเรือ หน้าบันเป็นรูปพระพุทธเจ้าและพระสาวก พระประธานเป็นพระพุทธรูปหินทราย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๙ นิ้ว ศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น
วัดอัมพวัน
            ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย  ที่บ้านบางม่วง ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่  เดิมชื่อวัดบางม่วง  สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
          หอไตรกลางน้ำ สร้างด้วยไม้สักทรงไทย สมัยรัตนโกสินทร์ต้อนต้น มีสองชั้น ชั้นล่างโล่ง  ชั้นบนเป็นตัวหอขนาดสองห้อง ยกพื้นสูงกว่าเฉลียงรอบเล็กน้อย บานประตูลงรักปิดทอง ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ประจำยามก้านแย่ง อกเลา เป็นไม้จำหลักลายดอกพุดตาน หลังคามุงกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้า (หักไปแล้ว) หลังคาสองชั้น
          มณฑปพระพุทธบาท เป็นมณฑปก่ออิฐถือปูนสูงสองชั้น  บันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศใต้  ฝาผนังด้านนอกชั้นล่างมีช่องซุ้มยอดแหลมด้านละสามช่อง ยกเว้นด้านทิศตะวันออก ชั้นบนมีห้องมณฑปอยู่ตรงกลาง  มีเฉลียงรอบ เสาเฉลียงเป็นเสาเหลี่ยม ที่หัวเสามีบัวแวง ตัวมณฑปมีประตูทางด้านทิศและทิศใต้ด้านละบาน  อีกสองด้านเป็นผนังทึบ เครื่องบนเป็นหลังคาทรงมณฑปซ้อนสี่ชั้น ยอดเป็นบัวกลุ่มรูปสี่เหลี่ยมสี่ชั้นบัวกลมสามชั้น  ปลียอดลูกแก้วและฉัตร หลังคามุงกระเบื้องเกร็ดเต่าดินเผาไม่เคลือบแบบเดียวกับหอไตร หางหงส์เป็นเศียรนาคสามตัว  พื้นมณฑปและเฉลียงปูหินอ่อนแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาวของโบราณ
            พระพุทธบาทจำลอง  เป็นโลหะประดิษฐานบนฐานปูน หันปลายพระบาทไปทางทิศตะวันตก
          พระปรางค์มีอยู่องค์หนึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของมณฑป  บริเวณริมคลองบางกอกน้อย  เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา ฐานพระปรางค์เป็นฐานประทักษิณแปดเหลี่ยมสามชั้น  มีพนักฐานชั้นบนและชั้นกลาง  ถัดพนักขึ้นไปเป็นช่องทางขึ้นสี่ด้าน  องค์พระปรางค์ตั้งแต่ฐานถึงยอด  ประดับด้วยลายปูนปั้น  เครื่องถ้วยลายครามลายเบญจรงค์และจานสีต่าง ๆ  ลักษณะพระปรางค์มีฐานหน้ากระดานขาสิงห์สามชั้น  ย่อมุมไม้ยี่สิบ  ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้ว  อกไก่  เรือนธาตุ  บัลลังก์กลีบขนุนห้าชั้น และมีนพศุลเป็นโลหะ
วัดโพธิบางโอ
            ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ที่บ้านบางกรวย ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย  ตามตำนานกล่าวว่า สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ (พ.ศ. ๒๒๔๖ - ๒๒๕๑) ได้มีการบูรณะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมอบให้กรมหลวงเสนีบริรักษ์เป็นผู้บูรณะ จึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า วัดโพธิเสนี
         พระอุโบสถ มีรูปทรงได้สัดส่วนงดงาม  มีมุขหน้า มุขหลัง  ชายคาพาไล รอบพระอุโบสถตามแบบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ซึ่งเป็นแบบอย่างมาจากวัดหลวง สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  ลวดลายหน้าบันจำหลักไม้รูปนารายณ์ทรงครุฑ  ลายกนกขมวดเกี่ยวพันกัน  เบื้องหลังมีเทพพนม และยักษ์พนมผุดกลางตัวลายดูงดงามแปลกตา  บานประตูทั้งหน้าและหลังมีด้านละสองบาน  ปูนปั้นซุ้มประตูเป็นรูปฤาษีพนม  บางซุ้มทำเป็นรูปเทวดารำอยู่กลางซุ้ม  สันนิษฐานว่าเป็นการบูรณะในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่ผนังด้านหลังพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปางเลไลยก์ปูนปั้น สันนิษฐานว่า เป็นของเดิมมีมาพร้อมกับพระอุโบสถ
            บานประตูด้านนอกเขียนลายทองรูปกนกใบเทศ  ลวดลายละเอียดมาก  บานหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรูปสัตว์ต่าง ๆ  บานประตูและหน้าต่างด้านในเป็นภาพเขียนท่าจับในรามเกียรติ์ ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝีมือช่างสกุลนนทบุรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนเป็นภาพปริศนาธรรม ผนังด้านซ้ายพระประธานเขียนภาพปลงกัมมัฏฐานหลายแบบหลายวิธี ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติ มีภาพปริศนาธรรมแทรก  ผนังเหนือหน้าต่างมีภาพเขียนกระจกเล็ก ๆ  ใส่กรอบติดไว้จำนวนหลายภาพ  เป็นเรื่องเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีจีน บางภาพเป็นแบบฝรั่ง มีความประณีตงดงามมาก
            พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูป หินทรายแดงพอกปูน ปางมารวิชัย สมัยอู่ทอง หน้าพระอุโบสถ มีรูปสลักหินจากเมืองจีน เป็นรูปยักษ์รักษาวัดอยู่คู่หนึ่ง  ซุ้มใบเสมารอบพระอุโบสถ มีลักษณะทรงกลม  ตัวซุ้มเป็นช่องหน้าต่างสามช่อง  ทรงยอดโค้งคล้ายซุ้มจระนำ หันหลังชนกัน ๓ ทิศ ข้างบนมียอดปูนปั้นเล็ก ๆ สวยงาม  เป็นฝีมือช่างในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  เป็นศิลปสมัยอยุธยาตอนปลาย ใบเสมาทำด้วยหิน
            หอระฆังตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ  เป็นงานก่อสร้างที่ได้สัดส่วนพอดี  มีความสง่างาม นับเป็นหอระฆังที่งามที่สุดของจังหวัดนนทบุรี

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |