|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
|
พัฒนาทางประวัติศาสตร์
|
มรดกทางธรรมชาติ
|
มรดกทางวัฒนธรรม
|
มรดกทางพระพุทธศาสนา
|
มรดกทางธรรมชาติ
เมืองนนทบุรีตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา มีน้ำท่วมถึง ซิ่งมีทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ดินเป็นดินตะกอนที่เกิดจากการพัดพามาของน้ำ จึงมีความอุดมสมบูรณ์มาก เหมาะแก่การทำสวนผลไม้ ชาวเมืองนนทบุรีมีอาชีพการทำสวนผลไม้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ดังที่ปรากฏในจดหมายเหตุบันทึกการเดินทางของ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศษ ที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความตอนหนึ่งว่า "สวนผลไม้ที่บางกอกนั้น มีอาณาบริเวณยาวไปตามชายฝั่ง โดยทวนขึ้นสู่เมืองสยามถึง ๔ ลี้ กระทั่งจรดตลาดขวัญ ทำให้บ้านเมีองเหล่านี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลาหาร ซึ่งคนพื้นเมืองชอบบริโภคกันมาก" ตลาดขวัญคือเมืองนนทบุรีนั่นเอง
สวนผลไม้ย่านเมืองนนทบุรี เรียกว่า
สวนใน
คือสวนตามลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เมืองนนทบุรีถึงเมืองธนบุรีหรือบางกอก ลักษณะของสวนมีการยกคันดินหรือยกร่องเพื่อปลูกต้นไม้ เป็นการป้องกันน้ำท่วม พื้นที่สวนที่อยู่ติดกับแม่น้ำมีน้ำท่วมในฤดูฝนเรียกว่า
สวนเชิงเลน
สำหรับสวนที่อยู่ห่างออกไปจากแม่น้ำไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมมากหรึอบ่อยนัก เรียกว่า
สวนดอน
ผลไม้ที่มีชี่อเสียงของสวนเมืองนนทบุรีมาเป็นเวลาช้านานได้แก่ ทุเรียน กระท้อน มะปรางหวาน มังคุด และลิ้นจี่
ทุเรียน
เมืองนนทบุรี เป็นแหล่งปลูกทุเรียนพันธุ์ดีที่สุด และมากที่สุดในภาคกลาง ทุเรียนจากสวนนนทบุรีมีรสหวานมันอร่อย พันธุ์ตั้งเดิมที่ปลูกกันมามีอยู่หลายพันธุ์ด้วยกันได้แก่ พันธุ์
กบ ลวง ก้านยาว กำปั่น หมอนทอง
เป็นต้น ชื่อแต่ละพันธุ์ ยังแบ่งออกเป็นชื่อตามผู้ปลูก แหล่งที่ปลูก และตามสีเปลือกและเนื้อของทุเรียน เช่น กบตาขำ กบเจ้าคุณ กบวัดเพลง กบหน้าศาล จบจำปา กบสีนาค กำปั่นตาแพ กำปั่นเจ้ากรม กำปั่นแดง ก้านยาววัดสัก ลวงเหลือง ลวงเขียว เป็นต้น
ปัจจุบันคงมีพันธุ์ทุเรียนที่ทางจังหวัดส่งเสริมให้ปลูกอยู่สามพันธุ์คือ กำปั่นหมอนทอง ก้านยาว และลวงชะนี แต่ละพันธุ์จะมีคุณลักษณะที่เด่นคือ เนื้อเหลือง หนาละเอียดนุ่ม มีรสหวานมัน และกลิ่นไม่ฉุนมาก
กระท้อน
เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงอีกชนิดหนึ่งของเมืองนนทบุรี คนท้องถิ่นเรียก
กระท้อนห่อ
มีผิวสวย ผลใหญ่ เนื้อหนาเป็นปุย รสหวาน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเสวยกระท้อนพันธุ์นิ่มนวล จากสวนในคลองอ้อมเมืองนนทบุรี ทรงโปรดให้ยกเว้นการเก็บอากรสวนกระท้อนพันธุ์นิ่มนวล และในปี พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสต้นสวนกระท้อนของนายบุตร ในคลองอ้อม ตำบลบางกร่าง ทรงพอพระราชหฤทัย และชมเชยว่าเป็นกระท้อนที่มีรสชาติดี
กระท้อนที่มีชื่อเสียงมาจากสองแหล่งคือ ในคลองอ้อม ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง เรียกว่า กระท้อนบ้านกร่าง และที่ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย พันธุ์กระท้อนที่ปลูกมีอยู่สองพันธุ์ คือ พันธุ์หนักและพันธุ์เบา
พันธุ์หนัก
ให้ผลช้าได้แก่พันธุ์ปุยฝ้าย ปุยเมฆหรืออีเมฆ เขียวหวาน เทพรส อีล่า บัวลอย ทองดี โคกทอง การะเกด อีจาน กำมะหยี่ ไสว อีจืด กระท้อนพันธุ์นี้ จะมีผลใหญ่ ติดผลง่าย ผลดก ปุยหนา รสหวานและมีกลิ่นหอม
พันธุ์เบา
ให้ผลเร็ว ได้แก่ พันธุ์ขันทอง ยาหยี ทับทิม นิ่มนวล กระท้อนพันธุ์นี้จะมีผลขนาดกลาง ลูกกลม ผิวสวย เนื้อในปุยหนา และมีรสหวานจัด
มะปราง
มีปลูกอยู่ทั่วไปในพื้นที่เมืองนนทบุรี มะปรางที่มีชื่อรู้จักกันโดยทั่วไปว่ามีเนื้อแน่นและรสชาติดีที่สุดคือ มะปรางท่าอิฐ ปลูกที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายในวังนิยม เสวยมะปรางท่าอิฐมาก มีการนำไปทำมะปรางลอยแก้วเสวย จึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มะปรางเสวย
มะปรางท่าอิฐ มีอยู่สองพันธุ์ด้วยกันคือ มะปรางหวานและมะยงชิด
มะปรางหวาน
ชาวสวนเรียกว่าอีไข่เต่า ผลใหญ่ ยาวรีคล้ายไข่เต่า รับทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก ผลดิบจะมีรสมัน ผลสุกสีผิวออกเหลืองทอง เปลือกค่อนข้างหนา เนื้อหนาและแน่น รสหวานสนิท เมล็ดเล็ก
มะยงชิด
ชาวสวนเรียกว่าอีไข่ห่าน ผลใหญ่ค่อนข้างกลม ขนาดเท่าไข่เป็ด ผลดิบจะมีรสเปรี้ยว ผลสุกจะมีผิวสีเหลืองอมแดง สวยงาม เนื้อแน่นแข็ง รสหวานจัด บริเวณเปลือกจะมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย
มังคุด
มังคุดเมืองนนทบุรี มีเนื้อในสีขาวนวล เรียงกันเป็นระเบียบ รสหวานเข้ม แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่ ตำบลบางขุนทอง อำเภอบางกรวย พันธุ์ที่ปลูกมีอยู่พันธุ์เดียว คือ พันธุ์พื้นเมือง เพราะมังคุดเป็นผลไม้ชนิดเดียวที่ปลูกแล้วไม่กลายพันธุ์เหมือนผลไม้ชนิดอื่น
ลิ้นจี่
ลิ้นจี่เมืองนนทบุรี ปลูกกันมากที่สุดที่เกาะเกร็ด บริเวณใกล้ศาลากุน ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด มีปลูกอยู่หลายพันธุ์ด้วยกัน ได้แก่ พันธุ์กระโหลกใบยาว กระโหลกในเตา อีดำ ลำเจียก ลำไย เขียวหวาน ลักษณะเด่นของลื้นจี่จากสวนเกาะเกร็ดคือ ผลใหญ่ เนื้อหนา รสหวานเข้ม
|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
บน
|