| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

            เมืองนนทบุรี มีทำเลที่ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในสมัยโบราณ ของบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ทางตอนเหนือจะออกสู่ทะเล และบรรดาหัวเมืองทางชายฝั่งทะเล และที่มาจากต่างประเทศ  จะผ่านขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยา และเมื่องต่าง ๆ ที่อยู่เหนือขึ้นไป
            สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ก่อนที่จะไปตั้งกรุงศรีอยุธยา ก็ได้นำไพร่พลมาพำนักอยู่ในพื้นที่เมืองนนทบุรี ที่บริเวณบางใหญ่และบางกรวย
            เมื่อเกิดสงครามกับพม่าชาวกรุงศรีอยุธยามักจะหนีภัยสงครามมาอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองนนทบุรี  และเมื่อเตรียมกำลังไปทำสงคราม ก็ใช้เป็นพื้นที่ประชุมกำลังพล
ย่านบางใหญ่ - บางกรวย

            เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญในการติดต่อค้าขายกับหัวเมืองชายทะเล และต่างประเทศ แบ่งออกได้เป็นสองชุมทางคือ
            ชุมทางปากคลองบางใหญ่  เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม  สามารถออกทะเลทางแม่น้ำท่าจีน  และติดต่อกับหัวเมืองตะวันตกได้ เช่น  นครปฐม  สมุทรสาคร  ราชบุรี  สุพรรณบุรี  และกาญจนบุรี  จึงใช้เป็นที่ตั้งด่านขนอนเก็บภาษีสินค้า
            ชุมทางคลองลัดวัดชลอ-คลองบางกอกน้อย  แยกจากคลองบางกรวยไปเชื่อมกับแม่น้ำอ้อมบางกอก (คลองบางกอกน้อย)
บ้านตลาดขวัญ บ้านตลาดแก้ว
            อยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  เป็นย่านชุมชนเดิมตั้งแต่ปี ๒๐๙๓  ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ บ้านตลาดขวัญในปัจจุบันคือ ตำบลบางกระสอ  อำเภอเมือง  บ้านตลาดแก้วปัจจุบัน คือตำบลสวนใหญ่  อำเภอเมือง ฯ
ย่านเกาะเกร็ด
            เกาะเกร็ดเดิมเรียกว่าบ้านแหลม  เป็นแผ่นดินผืนเดียวกับฝั่งอำเภอปากเกร็ด  เป็นที่ตั้งด่านตรวจเรือที่จะเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา  จะมีเรือรอรับการตรวจเป็นจำนวนมากจอดเรียงรายยาวไปถึงบ้านบางตลาด  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๖๕ ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  ได้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา จากบริเวณปากด่านถึงวัดปากอ่าว  ปัจจุบันคือวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร  เรียกว่าคลองลัดเกาะเกร็ดน้อย คลองนี้ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นแม่น้ำลัดเกร็ด  พื้นที่ที่ถูกแม่น้ำล้อมรอบจึงกลายเป็นเกาะเกร็ดไป
            เกาะเกร็ดนี้มีชื่อทางราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าเกาะศาลากุน  ผู้อยู่อาศัยเป็นชาวไทยรามัญ (มอญ)ร้อยละ ๔๓  ชาวไทยพื้นถิ่นร้อยละ ๔๒  และชาวไทยมุสลิมร้อยละ ๑๕  เกาะเกร็ดปัจจุบันมีฐานะเป็นตำบล
ศาลหลักเมืองเดิม
            ตั้งอยู่ที่ปากคลองอ้อม ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมือง ฯ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร  สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๐๘  ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
            ศาลหลักเมืองใหม่  ตั้งอยู่หน้าศูนย์ราชการ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒
เรือนไทย
            เรือนไทยได้พัฒนาขึ้นมาจากบ้านเรือนของสังคมเกษตรกรรมเดิม  ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก  บ้านเรือนทั่วไปมักปลูกอยู่ตามลุ่มแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์  เรือนไทยจึงนิยมปลูกยกพื้นบนเสาสูง
            การตั้งถิ่นเสาเรือนของเรือนไทย  มิได้ยกเสาตั้งตรงเป็นแนวดิ่งจากพื้นดิน  แต่จะตั้งเสาโดยวิธีเอนเสาเข้าหาข้างในของเรือน  เพื่อใช้ประโยชน์จากแนวเอนของเสาต้านทานกระแสลมแรง  และกระแสน้ำ  ไม่ให้เรือนเซและพังได้ง่าย  ประโยชน์จากการยกเสายังใช้ประโยชน์จากใต้ถุนเรือน  ในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ  เก็บสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำเกษตรกรรม  นอกจากนั้น การยกเสาเรือนสูงยังเป็นการป้องกันการบุกรุกของผู้ไม่ประสงค์ดีในยามค่ำคืน  และในยามที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ได้อย่างดีอีกด้วย  ดังเช่นคำประพันธ์ที่กล่าวไว้ในเรื่องสังข์ทองตอนเลือกคู่และหาเนื้อหาปลา    ถึงกระท่อมปลายนาที่ท้าวสามลให้ปลูกไว้ที่ปลายนา  สำหรับให้เจ้าเงาะและนางรจนาอยู่  เมื่อเจ้าเงาะและนางรจนาออกจากกระท่อม เพื่อเดินทางเข้าเมืองก็จะจัดการ  "ปิดประตูเข็นบันไดแล้วไคลคลา"  การที่ต้องใช้บันไดก็เพราะเสาเรือนสูง
            เรือนไทยมีระบบการระบายอากาศได้ดีมาก  เพราะอากาศในช่องหลังคา ซึ่งจะมีความร้อนมากกว่าส่วนอื่นของเรือนจะลอยขึ้นสูง และจะระบายออกทางช่องห่างของวัสดุมุงหลังคา และช่องลม  อากาศที่เย็นกว่าก็จะเข้ามาแทนที่  ทำให้อากาศมีการถ่ายเท  และจะไม่ร้อนอบอ้าวภายในบ้านอย่างที่เป็นอยู่ในบ้านแบบชาวตะวันตก
            เรือนไทยตามภาคต่าง ๆ มีรูปทรง และรายละเอียดอื่น ๆ  แตกต่างกันออกไปตามสภาพทางภูมิศาสตร์  ในจังหวัดนนทบุรี  จะมีเรือนไทยภาคกลางตั้งอยู่ตามริมฝั่งคลองบางกอกน้อย  และคลองอ้อมอยู่เป็นจำนวนมาก  ส่วนใหญ่เป็นเรือนฝากระดานแบบฝาปะกน  คือนำไม้กระดานมาเพลาะเข้าด้วยกันโดยไม่ใช้ตะปู  ส่วนหลังคาจะมีทรงแหลมสูง  มุงด้วยกระเบื้องดินเผา
เรือนมอญ
            เป็นคติของมอญในการปลูกเรือน  เรือนมอญตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะปลูกขวางแม่น้ำหันหน้าบ้านไปทางทิศเหนือ  มีบันไดลงทางทิศเหนือ  ส่วนมากมอญจะนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้  การปลูกเรือนของชาวมอญ จะสงวนพื้นที่ไว้ให้ลูกหลาน  คือจะปลูกเรือนสุดเขตพื้นที่ไปทางทิศเหนือ และสุดเขตทางทิศใต้  เว้นพื้นที่ตอนกลางไว้ให้ลูกหลาน  เป็นการป้องกันผู้อื่นไม่ให้รุกล้ำพื้นที่
            การปลูกเรือนของมอญที่มีลักษณะขวางแม่น้ำดังกล่าว  ฝ่ายไทยเห็นว่าเป็นเรื่องแปลกและน่าขบขัน  จนมีสำนวนพูดว่ามอญขวาง  ดังเช่นคำประพันธ์ที่กล่าวไว้ในนิราศพระประธมว่า
            ถึงบางขวางลางก่อนว่ามอญขวาง  เดี๋ยวนี้นางไทยลาวสาวสลอน
            ทำยกย่างขวางแขนแสนแง่งอน  ถึงนางมอญก็ไม่ขวางเหมือนนางไทย
            ดังนั้นเรือนมอญซึ่งปลูกอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ แทนที่จะหันหน้าเข้าหาแม่น้ำ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งไหลจากทิศเหนือลงทิศใต้  ซึ่งก็จะทำให้เรือนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก แล้วแต่ว่าเรือนนั้นปลูกอยู่ฝั่งใดของแม่น้ำ  แต่เรือนมอญหันหน้าไปทางทิศเหนือ  เมื่อมองจากการสัญจรทางเรือ  ไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาล่อง  จะเห็นเรือนมอญตั้งอยู่ในลักษณะหันข้างให้แม่น้ำหรือเรียกว่าขวางแม่น้ำ
ประชากร ภาษาและวรรณกรรม
            ชาวไทยเชื้อสายมอญหรือไทยรามัญ  เป็นประชากรที่มีมากเป็นอันดับสามของจังหวัดนนทบุรี  แต่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากที่สุด  ชาวไทยรามัญอพยพเข้ามาในดินแดนไทยหลายครั้ง  ตั้งแต่สมัยอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  เป็นชาวมอญจากเมืองเมาะตะมะ  ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เขตแดนไทย  นอกจากนั้นก็เป็นชาวมอญจากหัวเมืองมอญต่าง ๆ  เส้นทางชาวมอญอพยพเข้ามามีอยู่สามเส้นทางด้วยกัน ได้แก่ เส้นทางที่เข้ามาทางเมืองตาก  ทางด่านแม่ละเมา  เส้นทางที่เข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี ทางด่านเจดีย์สามองค์  และเส้นทางที่เข้ามาทางเมืองอุทัยธานี  ส่วนใหญ่จะตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ตั้งแต่บ้านตะนาวศรี จนถึงบ้านเกาะเกร็ด  ชาวไทยรามัญนับถือพุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  มีความขยันอดทน  ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของตน  มีฝีมือในทางช่างศิลปหัตถกรรมโดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผา
            ภาษาไทยรามัญ  มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน  ภาษาพูดจะใช้ในหมู่พวกไทยรามัญด้วยกันเอง  ส่วนภาษาเขียนจะมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกภาษามอญ  ที่วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด
           ชาวไทยตะนาวศรี   เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญอีกกลุ่มหนึ่ง  ที่อพยพเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และสมัยกรุงธนบุรี  โดยเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านตะนาวศรี  ระหว่างวัดเขมาภิรตารามกับวัดนครอินทร์  ในพื้นที่อำเภอเมือง ฯ มีฝีมือในทางช่างศิลปหัตถกรรม  โดยเฉพาะการปั้นหม้อคนนท์ ที่มีลายวิจิตรงดงาม
            สำหรับภาษาก็คงเป็นภาษารามัญ  ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน เช่นเดียวกับไทยรามัญดังกล่าวมาแล้ว
            ชาวไทยมุสลิม  เป็นประชากรที่มีจำนวนมากเป็นอันดับสี่ของประชากรในจังหวัดนนทบุรี  ชาวไทยมุสลิมอพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชาวไทยมุสลิมจากเมืองปัตตานี และเมืองไทรบุรีมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่ อำเภอปากเกร็ด
            ชาวไทยมุสลิมใช้ภาษาอาหรับในการติดต่อสื่อสาร  และการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
วรรณกรรม และตำนาน
            ตำนานเรื่องไกรทอง  ไกรทองผู้ปราบจรเข้ชาละวันแห่งเมืองพิจิตรนั้น มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า  บ้านอยู่ริมคลองในพื้นที่อำเภอบางกรวย  เมื่อสามารถปราบจรเข้ชาละวันได้แล้ว  ก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนิยมนับถือกันอย่างกว้างขวาง  จึงได้มีการนำชื่อมาตั้งเป็นชื่อสถานที่ต่าง ๆ เช่น คลองบางไกร  วัดบางไกรใน  วัดบางไกรนอก  ที่บริเวณหน้าวัดบางไกรใน มีศาลของไกรทองอยู่ด้วย
            ตำนานเจ้าพ่อเกษแก้วไชยฤทธิ์  อีกชื่อหนึ่งคือเจ้าพ่อหนุ่ม  ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าพ่อเป็นคนโสด  ชาวไทยเชื้อสายมอญนับถือว่าเป็นเจ้าพ่อชั้นผู้ใหญ่  เดิมมีศาลอยู่ที่เมือง เมาะตะมะ  เมื่อชาวไทยเชื้อสายมอญอพยพมาอยู่ในประเทศไทย  ก็ได้สร้างศาลให้ท่านที่ตำบลเกาะเกร็ด  เจ้าพ่อองค์นี้เป็นที่พึ่งทางใจของชาวไทยเชื้อสายมอญ  หลังเทศกาลสงกรานต์จะมีการรำถวายเจ้าพ่อเป็นประจำ
            ตำนานเกี่ยวกับหงส์  ชาวมอญมีความผูกพันกับหงส์มาก  ถือว่าหงส์เป็นสัญลักษณ์ของคนมอญ  จากตำนานการตั้งกรุงหงสาวดี  ในพงศาวดารพม่ากล่าวว่า พื้นที่บริเวณที่ตั้งเมืองหงสาวดีนั้น เดิมเป็นทะเล  เมื่อน้ำลดจะมองเห็นภูเขาสูง  เมื่อมองแต่ไกลดูคล้ายเจดีย์  เมื่อน้ำขึ้นก็ยังเห็นภูเขาโผล่พ้นน้ำอยู่  ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังที่ตั้งเมืองหงสาวดี  พระพุทธองค์ได้ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก  ทอดพระเนตรเห็นหงส์ทองสองตัว  กำลังเล่นน้ำอยู่  จึงได้มีพุทธทำนายว่า  ในภายภาคหน้า บริเวณที่หงส์ทองเล่นน้ำจะเป็นมหานคร  ชื่อว่าหงสาวดี  ในเวลาต่อมาได้มีเจ้าชายองค์หนึ่งมาสร้างเมืองในพื้นที่ดังกล่าว  ชาวมอญจึงใช้รูปหงส์เป็นสัญลักษณ์  โดยมักสร้างรูปหงส์ไว้บนยอดเสาประจำที่วัด  เพื่อระลึกถึงความเป็นชาติ และ เพื่อเป็นเครื่องเชิดชู เพราะถือว่าวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
            ตำนานการแห่ปลา ปล่อยปลา  ตามตำนานกล่าวว่า  มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ได้ตรวจดูดวงชะตาของสามเณรผู้เป็นศิษย์ พบว่าชะตาขาด  ด้วยความเมตตา จึงบอกให้กลับไปเยี่ยมโยมพ่อและโยมแม่ที่บ้าน หวังจะให้ไปลาก่อนหมดอายุขัย ระหว่างทางที่สามเณรเดินทางกลับบ้าน  ได้พบปลาติดโคลนตัวแห้งใกล้ตาย จึงช่วยนำปลานั้นมาปล่อยที่หนองน้ำใกล้บ้าน  เมื่อถึงบ้านแล้ว  เดินทางไปอาบน้ำ เกิดง่วงนอนจึงนั่งพักใต้ต้นไม้ โดยเอาขันครอบศีรษะไว้แล้วหลับไป  มีงูตัวหนึ่งอยู่บนต้นไม้ ห้อยหัวลงมาฉกสามเณร  แต่โดนขันจึงไม่ได้รับอันตราย  เมื่อกลับไปวัด พระอาจารย์เห็นสามเณรกลับมาก็แปลกใจจึงถามความ  สามเณรก็เล่าเรื่องให้ฟังโดยตลอด  พระอาจารย์เห็นว่าคงจะเป็นเพราะการปล่อยปลาจึงช่วยต่ออายุให้สามเณร  นับแต่นั้นมาชาวมอญจึงนิยมแห่ปลา  และปล่อยปลาในเทศกาลสงกรานต์

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |