| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา
วัดเขากบ
            มีชื่ออื่นว่า วัดวรนาถบรรพตหรือวัดปากพระบาง  ตั้งอยู่บนเขากบ ในเขตอำเภอเมือง ฯ ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง  สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงพบศิลาจารึกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ บนเขากบ  ใกล้รอยพระพุทธบาทของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระเจ้าลิไทย) ซึ่งในศิลาจารึกนครชุมกล่าวถึง "พระยาธรรมิกราชให้ไปพิมพ์รอยตีนพระเป็นเจ้าเถิงสิงหล  อันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพต ประมาณเท่าใด  เอามาพิมพ์ไว้ จุ่งคนทั้งหลายเห็นแท้  อันหนึ่งประดิษฐานไว้เหนือจอมเขาที่ปากพระบาง"  ส่วนศิลาจารึกหลักที่ ๑๑ พ.ศ. ๑๙๖๒ (วัดกบ) กล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์วิหารอุทิศให้พระยารามผู้น้อง  ภายในวัดเขากบมีสิ่งที่สำคัญดังนี้
            เจดีย์ทรงลังกาหรือทรงระฆัง  ก่ออิฐถือปูน  เป็นเจดีย์ที่มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ องค์ระฆังตั้งอยู่บนฐาน  บัลลังก์ไม่มีเสาหานแบบศิลปะสุโขทัย
            พระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก  เป็นศิลปะลพบุรี  อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘
            รอยพระพุทธบาท  เป็นหินชนวน  ลายดอกบัวตรงกลางมีขนาดเล็กกว่ารอยพระพุทธบาทเขาหน่อ อำเภอบรรพตพิสัย
             เขากบ  ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ ๒๔๗๘  ได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖
วัดบน
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านมะเกลือ อำเภอเมือง ฯ โบราณสถานในวัดประกอบด้วยฐานพระอุโบสถ และพระวิหารก่อด้วยอิฐ มีกำแพงแก้วที่ก่อด้วยอิฐล้อมรอบกลุ่มโบราณสถาน
            วัดเขาบน  ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ ๒๔๗๘
วัดช่องลม
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านมะเกลือ อำเภอเมือง ฯ พระอุโบสถมีอายุอยู่ในสมัยสุโขทัย
            วัดช่องลม ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘
วัดจอมคีรีบรรพต
            ตั้งอยู่บนเขาบวชนาค  ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ในเขตตำบลนครสวรรค์ออก อำเภอเมือง ฯ โบราณสถานและโบราณวัตถุในวัดประกอบด้วย พระอุโบสถ  วิหาร และพระพุทธรูปปางมารวิชัย  มีอายุอยู่ในสมัยสุโขทัย - อยุธยา
            กลุ่มโบราณสถานเขาบวชนาค  ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘
วัดกระดี่ทอง
            อยู่ในเขตตำบลนครสวรรค์  โบราณสถานในวัดคือ เจดีย์วัดกระดี่ทอง  ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘
วัดหนองปลาแห้ง
            อยู่ในเขตตำบลนครสวรรค์ออก  มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง  ฐานกว้างด้านละ ๖ เมตร สูง ๑๐ เมตร  ก่ออิฐถือปูน  ศิลปะอยุธยา มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓  มีแนวคูน้ำล้อมรอบขนาด ๕๐๐ x ๑๐๐๐ เมตร  สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเป็นวัด  ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นค่ายสำหรับพักไพร่พลระหว่างสงคราม

วัดเกาะหงส์
            ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง ฯ มีประวัติว่าเรียกชื่อวัดตามเสาหงส์ที่เคยตั้งอยู่ในวัด  เพราะเป็นชุมชนมอญ เดิมซึ่งมักใช้เสาหงส์เป็นสัญลักษณ์  สิ่งที่สำคัญในวัดได้แก่วิหารก่ออิฐถือปูน  หลังคาเครื่องไม้  มุงกระเบื้องดินเผา  เป็นวิหารขนาด ๕ ห้อง กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๑ เมตร  มีมุขด้านหน้าและด้านหลัง  หลังคาลดสองชั้น  เครื่องบนหลังคาประกอบด้วย  ช่อฟ้า  ใบระกา  หางหงส์  นาคสะดุ้งปูนปั้นประดับกระจกสี  หน้าบันด้านทิศตะวันออก เป็นลายปูนปั้นรูปรามเกียรติ์  ด้านทิศตะวันตกเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ  ประตูด้านตะวันออกและด้านตะวันตก กว้างประมาณ ๑.๕๐ เมตร และ ๑.๗๓ เมตร  ตามลำดับ ผนังด้านนอกมีรอยพระพุทธบาทขนาดหน้าต่างของวิหาร กว้าง ๑.๐๐ เมตร สูง ๑.๗๕ เมตร  ด้านในพระวิหารมีร่องรอยจิตรกรรมฝาผนังรูปเทวดา  เป็นภาพต่อเนื่องกันไปแบบศิลปะอยุธยา  ลักษณะสถาปัตยกรรม เป็นรูปแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย ถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖


วัดพระปรางค์เหลือง
            ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ในเขตตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหคีรี  โบราณสถานบริเวณวัดนี้  อาจจะมีอายุไปถึงสมัยทวาราวดี  ต่อเนื่องมาถึงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์  มีเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕ เมตร สูง ๕ เมตร  ส่วนบนพังทลายไปแล้ว  บริเวณเนินเจดีย์พบระฆังหินขนาด ๑๒ x ๗๐ x ๑๑๐ เซ็นติเมตร
            ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์  มีพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน  หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา  พื้นกระเบื้องดินเผา  หน้าบันพื้นปูนปั้นประดับด้วยเครื่องเบญจรงค์ และเครื่องถ้วยจีน  ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย  ศิลปะอยุธยาตอนปลาย ขนาดหน้าตัก ๑.๓๕ เมตร ฐานชุกชีกว้าง ๒.๒๐ เมตร ยาว ๓.๕๕ เมตร สูง ๘๐ เซ็นติเมตร
            โบราณสถานบริเวณนี้ สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างทับซ้อนกันอย่างน้อยสามครั้ง  ชั้นล่างสุดน่าจะเป็นสมัยทวาราวดี  ส่วนเจดีย์น่าจะอยู่ในสมัยอยุธยา  พระอุโบสถสร้างสมัยรัตนโกสินทร์ทับบนพระอุโบสถเดิม  ส่วนระฆังหินนำมาจากเมืองบน ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๕๐๐ เมตร
วัดโพธาราม
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง ฯ  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖  สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นก่อนสมัยรัตนโกสินทร์  เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง  ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๐  พระอุโบสถหลังใหม่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก  เป็นตึกทรงไทยสองชั้น  พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองเหลือง  สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖  มีพระนามว่า พระโพธานุชินราช
            วัดโพธารามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ และได้ผูกพัทธสีมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒
วัดนครสวรรค์
            อยู่ในเขตตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง ฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘  เดิมชื่อว่าวัดหัวเมือง  เพราะตั้งอยู่ตอนต้นของตัวเมือง  ก่อนจะเข้าถึงตัวเมืองต้องผ่านวันนี้ก่อน  สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๙๗๒ เดิมหน้าวัดอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  มีต้นโพธิ์และพระปรางค์มองเห็นเด่นชัด  สำหรับผู้ที่สัญจรทางน้ำ  ต่อมาแม่น้ำได้เปลี่ยนเส้นทางเดินห่างออกไปจากวัดประมาณ ๑๐๐ เมตร
            วัดนครสวรรค์ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา  และเป็นวัดที่ใช้สอบธรรมและบาลีสนามหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ตลอดมา  ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๐๓ ชาวบ้านได้พบช้างเผือก ๑ เชือกที่นครสวรรค์ และได้นำมาประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดนี้  แล้วนำไปน้อมเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เมืองลพบุรี  ได้รับพระราชทานนามว่า  เจ้าพระยาบรมคเชนทรอัททันต์
            พระประธานในพระอุโบสถ  หล่อด้วยทองเหลือง หน้าตักกว้าง ๒.๕๐ เมตร เรียกกันว่า หลวงพ่อศรีสวรรค์  พระพุทธรูปใหญ่สององค์ในพระวิหาร  เรียกกันว่าพระผู้ให้อภัย และยังมีพระพุทธรูปในพระวิหารอีกสององค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย  หล่อด้วยสำริดสมัยสุโขทัย  บริเวณหน้าพระอุโบสถมีพระเจดีย์เก่าอยู่สามองค์

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |