| หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

            จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุดของประเทศไทย อยู่ระหว่างทิวเขาถนนธงชัยกับทิวเขาแดนลาว มีความยาวจากทิศเหนือถึงทิศใต้ประมาณ ๒๕๐ กิโลเมตร มีความกว้างจากทิศตะวันออก ถึงทิศตะวันตกประมาณ ๙๕ กิโลเมตร พื้นที่จังหวัดมีรูปร่างคล้ายม้าน้ำ อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ ประมาณ ๙๓๐ กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอื่น และประเทศพม่า ดังนี้
            ทิศเหนือ  ติดต่อกับประเทศพม่า
            ทิศตะวันออก  ติดต่อกับจังหวัดเชียงใหม่
            ทิศใต้  ติดต่อกับจังหวัดตาก
            ทิศตะวันตก  ติดต่อกับประเทศพม่า
            อาณาเขตที่ติดต่อพม่ารวมประมาณ ๔๘๐ กิโลเมตร  มีพื้นที่ประมาณ ๑๒,๖๘๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๙๒๖,๐๐๐ ไร่
            สถาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน ร้อยละ ๙๐ ของพื้นที่เป็นป่าและภูเขาที่สูงและลาดชันกว่าร้อยละ ๓๐ บางแห่งมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๒,๐๐๐ เมตร ที่เหลือเป็นที่ราบลุ่มตามลำน้ำและหุบเขา อากาศร้อนจัดในฤดูร้อน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประมาณ ๔๑.๖ องศาเซลเซียส และหนาวจัดในฤดูหนาว อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ ๙.๕ องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีประมาณ ๘๐๐ - ๑,๐๐๐ มิลลิเมตร
ทรัพยากรธรรมชาติ

            มีแม่น้ำ ลำห้วย ลำธาร หลายสาย ที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำปาย แม่น้ำยวม แม่น้ำเมย และแม่น้ำสาละวิน นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสายเล็ก ๆ ตามหุบเขาต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น น้ำของ น้ำลาง น้ำแม่สะเงา น้ำแม่ละมาด น้ำแม่สุริน น้ำแม่ลาหลวง น้ำแม่ริด น้ำแม่สะเรียง ฯลฯ
            พื้นที่ป่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าเขาสน ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง โดยมีพื้นที่ป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่ปริมาณ ๕,๕๘๔,๐๐๐ ไร่  หรือประมาณร้อยละ ๗๐ ของพื้นที่จังหวัด มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ๙ ป่า ประมาณ ๖,๙๘๙,๐๐๐ ไร่  ป่าไม้ถาวร ๗ ป่า ประมาณ ๒๗๘,๙๐๐ ไร่  อุทยานแห่งชาติ ๓ แห่ง ประมาณ ๑,๒๑๐,๐๐๐ ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ๔ แห่ง ประมาณ ๑.๔๖๘,๐๐๐ ไร่  วนอุทยาน ๓ แห่ง ประมาณ ๒,๘๐๐ ไร่ สวนรุกขชาติ ๔ แห่ง ประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่
            นอกจากนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังอุดสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่านานาชนิด และแร่ธาตุอีกเป็นจำนวนมาก สัตว์ป่าที่มีได้แก่ ช้างป่า มีอยู่ประมาณ ๔๐ ตัว สัตว์ป่าสงวนที่สำคัญได้แก่ กวางผา เลียงผา เนื้อทราย และเขียดแกว (กบภูเขา)
            พืชพันธุ์ไม้ที่สำคัญมีหลายชนิด เช่น เอื้องแซะ กระพี้จั่น และจันทร์ผา เป็นต้น
การปกครอง
            เมื่อประมาณ ๑๗๐ ปี ที่ผ่านมาได้มีชาวไต (ไทยใหญ่) จากรัฐฉานในพม่าได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นหย่อม ๆ ต่อมาได้รวบรวมกันจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน มีหัวหน้าหมู่บ้านปกครองดูแลเรียกว่า ก๊าง (ผู้ใหญ่บ้าน) จนถึง พ.ศ.๒๔๑๗ ได้รับการยกขึ้นเป็นเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นเมืองหน้าด่าน มีพญาสิงหนาทราชาเป็นพ่อเมือง (ชาวบ้านเรียกเจ้าฟ้า) คนแรก โดยมีขุนยวมและเมืองปาย เป็นเมืองรอง ต่อมาได้มีการแบ่งแยกการปกครองออกเป็นส่วน ๆ ไม่รวมกันมีอยู่สี่ส่วนเรียกว่า เมืองปาย เมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม และเมืองยวม ขึ้นตรงต่อเจ้านครเชียงใหม่
            ประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้แยกท้องที่การปกครองออกเป็นสี่แขวง ตามชื่อเมืองทั้งสี่ดังวกล่าว รวมเรียกว่า บริเวณเชียงใหม่ตะวันตก มีแขวงเมืองยวมเป็นที่ตั้งบริเวณ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๗ ได้ย่ายที่ทำการบริเวณมาตั้งที่แขวงเมืองแม่ฮ่องสอน เปลี่ยนชื่อเป็น บริเวณพายัพเหนือ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อบริเวณว่า เมือง เปลี่ยนชื่อแขวง เป็นอำเภอ และเปลี่ยนชื่อเมือง เป็นจังหวัด
            ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอน แบ่งการปกครองออกเป็นสี่อำเภอคือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอปาย อำเภอขุนยวม และอำเภอแม่สะเรียง มีพระยาศรสุรราช (เปลื้อง) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก
ประชากร
            จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยประชากรหลายชนเผ่า อยู่กระจัดกระจายไปตามหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอต่าง ๆ  แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้สองกลุ่มคือ กลุ่มชนที่อยู่ในพื้นราบ ประกอบด้วย ชาวไต (ไทยใหญ่) ชาวไทยจากจังหวัดอื่น และชาวเขาบางส่วนรวมประมาณร้อยละ ๕๓ และกลุ่มชนชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ตามภูเขา ประกอบด้วย กะเหรี่ยง ม้ง ลัวะ มูเซอ และลีซอ ประมาณร้อยละ ๔๗
            การศึกษา  ก่อนที่จะมีการศึกษาอย่างเป็นระบบในปัจจุบัน ชาวไตส่วนใหญ่จะศึกษาหาความรู้ เรียนหนังสือไต หรือหนังสือพื้นเมือง และวิชาการต่าง ๆ จากวัดในท้องถิ่น โดยมีจเร หรือพระภิกษุ ผู้มีความรู้ความสามารถเป็นผู้ถ่ายทอด นอกจากนั้นจะเป็นการเรียนรู้วิชาเกี่ยวกับการทำมาหากิน จากบรรพบุรุษและสล่า (ช่าง)  หรือผู้เชี่ยวชาญในหมู่บ้าน เช่น การตีเหล็กทำอาวุธ และเครื่องมือทำการประกอบอาชีพ ช่างทองคำ ช่างจักสาน ฯลฯ
            การศึกษาในระบบนั้น แต่ละอำเภอมีประวัติการศึกษาที่แตกต่างกันออกไป เช่น อำเภอเมือง ฯ เริ่มมีโรงเรียนหลวงเปิดสอนครั้งแรก เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๕ อำเภอแม่สะเรียง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐  อำเภอขุนยวม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ เป็นต้น ในชั้นแรกเป็นการศึกษาในระดับประถมศึกษา และมีจำนวนไม่มากนัก
            การประกอบอาชีพ  ในอดีตชาวแม่ฮ่องสอนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นการผลิตเพื่อยังชีพในลักษณะพออยู่พอกิน ผลผลิตที่เหลือจะมีการค้าขายแลกเปลี่ยนกันบ้าง ระหว่างผลผลิตทางการเกษตรด้วยกัน และสินค้าบริโภคที่จำเป็นอื่น ๆ
            การค้าขายในอดีต พ่อค้าจะนำสินค้าจากเชียงใหม่และประเทศพม่าได้แก่ เกลือ น้ำมันก๊าด ผ้าตัดเสื้อกางเกง เครื่องกระป๋อง ยาสุบ บุหรี่ ฯลฯ โดยใช้คนหาบ ม้าต่าง วัวต่าง ช้าง และเกวียนเป็นพาหนะบรรทุกขนส่งสินค้า ต้องเดินเท้าไปตามภูมิประเทศ หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ลำน้ำ ก็จะใช้เรือและแพเป็นพาหนะ
            การคมนาคม  ในปี พ.ศ.๒๔๘๒  ได้มีการสร้างสนามบินขึ้น และบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด เป็นผู้เปิดทำการบินครั้งแรก บรรทุกผู้โดยสารได้คราวละ ๓ - ๔ คน เส้นทางบินสายเชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน - แม่สะเรียง - เชียงใหม่ ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกในการขึ้นลง กำหนดการบินขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นสำคัญ บางครั้งต้องหยุดไปเป็นเวลา ๑๕ - ๒๐ วัน เนื่องจากสภาพอากาศไม่อำนวย
            ประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๘ ทางราชการได้สร้างทางถาวรจากบ้านแม่มาลัย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ถึงอำเภอแม่ปาย และจากอำเภอแม่ปายถึงอำเภอเมือง ฯ ตามเส้นทางที่ทหารญี่ปุ่นสมัยสมครามมหาเอเซียบูรพาได้สร้างไว้ แต่การเดินทางในช่วงแรกก็ประสบปัญหามากในฤดูฝน จากสภาพการดังกล่าวทำให้สินค้า และค่าครองชีพของชาวแม่ฮ่องสอนสูงกว่าจังหวัดอื่น
            ปัจจุบันเส้นทางบินเชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน เปิดบริการผู้โดยสารไป - กลับ วันละสี่เที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓๐ นาที
            ทางบก สามารถเดินทางได้ห้าเส้นทางคือทางหลวงหมายเลข ๑๐๘ จากอำเภอเมือง ฯ ผ่านอำเภอขุนยวง อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง เข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ที่อำเภอฮอด ระยะทาง ๓๕๐ กิโลเมตร
            เส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๕ จากอำเภอเมือง ฯ ผ่านอำเภอปางมะผ้า อำเภอปาย เข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ที่บ้านแม่มาลัย อำเภอแม่แตง ระยะทาง ๒๔๕ กิโลเมตร
            เส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๘๕ จากอำเภอแม่สะเรียง ผ่านอำเภอสบเมย เข้าสู่จังหวัดตากที่อำเภอท่าสองยาง ถึงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระยะทาง ๓๙๔ กิโลเมตร
            เส้นทางหลวงหมายเลข ๑๒๙๕ จากอำเภอขุนยวม เข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ที่บ้านปางอุ๋ง อำเภอแม่แจ่ม
            ถนนเร่งรัดพัฒนาชนบท หมายเลข ๕๐๓๕ จากอำเภอเมือง ฯ ผ่านตำบลห้วยปูลิง เข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ตำบลวัดจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
            การค้าชายแดน  เป็นการค้านอกระบบกันชนกลุ่มน้อยเป็นส่วนใหญ่ ตามจุดผ่อนปรนต่าง ๆ  ปัจจุบันมีจุดผ่อนปรนอยู่สองจุดคือ จุดผ่อนปรนช่องทางบ้านห้วยต้นนุ่น ตำบลบแม่เงา อำเภอขุนยวม และจุดผ่อนปรนช่องทางบ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง ฯ
            สินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ โค กระบือ หยก เครื่องเทศ ของป่า และสินค้าเบ็ดเตล็ดเช่น พริกแห้ง กุ้งแห้ง ปลาแห้ง ใบชา เป็นต้น
            สินค้าออกที่สำคัญได้แก่ สินค้าอุปโภค และบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง ปูนซีเมนต์ และสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เช่น รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

| หน้าต่อไป | บน |