| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีประวัติความเป็นมายาวนานมาก ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่ไม่มีเอกสารทางประวัติศาสตร์ให้ศึกษาค้นคว้า ได้แก่ การคาดคะเนจากหลักฐานทางโบราณคดี ที่ขุดค้นในบริเวณนี้ ซึ่งระบุว่าในภูมิภาคแถบนี้ได้มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่ยุคหินเก่า การตั้งถิ่นฐานและลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของแต่ละอำเภอ มักจะคาบเกี่ยวกันหลายอำเภอคือกลุ่มอำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า อำเภอเมือง ฯ และอำเภอขุนยวม กับกลุ่มอำเภอแม่สะเรียง อำเภอแม่ลาน้อยและอำเภอสบเมย
การตั้งถิ่นฐาน
            ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากการสำรวจถ้ำผีแมนและรอบ ๆ ถ้ำในเขตอำเภอปางมะผ้า พบหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องมือหินเช่น เครื่องมือหินขัดเป็นขวานหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีอายุประมาณ ๘,๖๐๐ ปีมาแล้ว และได้พบเมล็ดพืชที่ใช้เป็นอาหารมากมายหลายชนิด เช่น เมล็ดน้ำเต้า แตงกวา และพืชตระกูลถั่วฝักยาว พบว่ามีอายุเก่าแก่กว่า ๑๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ทำให้สันนิษฐานได้ว่า บริเวณนี้มีมนุษย์อาศัยอยู่มาแต่สมัยหินเก่า นอกจากนี้ยังค้นพบเศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหินกะเทาะและขวานหินที่มีอายุประมาณ ๔,๐๐๐ - ๘,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นจำนวนมาก
            สำหรับสิ่งที่เรียกว่า โลงผีแมนนั้น นักโบราณคดียังไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันได้ว่า สร้างขึ้นจากมนุษย์ในยุคสมัยใด ด้วยวัตถุประสงค์ใด แต่สันนิษฐานว่าใช้สำหรับบรรจุศพ เพราะโลงทำขึ้นโดยการขุดเจาะท่อนไม้ซุง ลักษณะคล้ายเรือหัวตัด กว้างไม่น้อยกว่า ๕๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๒ เมตร
            ในเขตอำเภอเมือง ฯ ได้ขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีบริเวณตำบลหมอกจำแป่ ๑๙ แห่งตำบลปางหมู่ ๗ แห่ง ตำบลห้วยโป่ง ๓ แห่ง และตำบลผาบ่อง ๒ แห่ง หลักฐานที่พบมากที่สุดบริเวณดอยป่าหวาย บนฝั่วตะวันออกของลำน้ำแม่สะงา บ้านแม่สะงา ตำบลหมอกจำแป่ เป็นหลักฐานเกี่ยวกับขวานหินกะเทาะ เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือสะเก็ดหิน เป็นต้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่า บริเวณนี้น่าจะเป็นที่อยู่ของมนุษย์ยุคหินเก่า ซึ่งมีอายุประมาณ ๗,๐๐๐ - ๔,๕๐๐ ปี มาแล้ว สมัยนั้นยังไม่มีการเพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์ มีการยังชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์หรือเก็บพืชที่เป็นอาหารจากป่าตามธรรมชาติ อาศัยอยู่ตามถ้ำต่าง ๆ ต่อมาเริ่มพัฒนาขึ้น โดยมีการขัดถูเครื่องมือเครื่องใช้ให้คมเรียบสวยขึ้น พบขวานหินขัดและหินลับในบริเวณเดียวกัน รู้จักการเพาะปลูกพืชเป็นอาหาร โดยพบเครื่องมือหินเจาะรู ซึ่งเมื่อนำไม้ปลายแหลมมาเสียบให้ถ่วงน้ำหนักไม้แล้วเจาะรูบนพื้นดิน สำหรับหยอดเมล็ดพืชตามริมฝั่งแม่น้ำหรือเชิงเนินเขา
            ต่อจากช่วงนี้ก็ไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของยุคสมัย ตามพัฒนาการแห่งกาลเวลา หลักฐานที่พบในบริเวณเดียวกัน กลับกลายเป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผา แหล่งเตาเวียงกาหลง ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าอยู่ในช่วงสมัยอาณาจักรล้านนา ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒
            การตั้งถิ่นฐาน หลังจากยุคหินผ่านไปแล้วขาดช่วงไปนาน ไม่สามารถคาดคะเนได้ว่า การตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นไปอย่างไร จนประมาณปี พ.ศ.๑๘๖๐ ตามหลักฐานเรื่องราวอื่นที่คาดคะเนได้ ประวัติตำนานต่าง ๆ และคำบอกเล่าสืบต่อกันมา สรุปได้ว่า การตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดจากการอพยพเข้ามาของคนต่างถิ่นในบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะชาวไทยใหญ่ จากรัฐฉานของพม่า จะเห็นได้จากเรื่องราวในพงศาวดารโยนก กล่าวถึงเมืองปายและเมืองยาวใต้ว่า เมืองปายเเดิมเรียกว่า บ้านดอน ชาวพม่าชื่อพะก่าซอ ได้พาผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และทำให้บ้านดอนเป็นเมืองที่มั่นคงแข็งแรง ส่วนการตั้งถิ่นฐานบริเวณอื่น บริเวณที่เป็นอำเภอปายในปัจจุบัน มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าบ้านน้ำฮู ตำบลเวียงใต้ ก่อตั้งมาประมาณ ๓๐๐ ปี มาแล้ว เจ้าฟ้าเมืองปายในสมัยนั้นได้เรียกชาวบ้านจ๋าม จากรัฐฉาน เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านน้ำฮู และมอบนาให้เป็นที่ทำกิน (ปัจจุบันคือบริ้ววณที่ตั้งโรงพยาบาลฝปาย)
               บ้านเมืองแปง  เดิมชื่อเมืองท่าผาน้อย เป็นบริเวณที่ชาวกะเหรี่ยง ลัวะ ไทยใหญ่ และขมุ ตั้งวถิ่นฐานรวมกันอยู่ โดยมีพญานุเว (กะเหรี่ยง) เป็นผู้ปกครอง
               บ้านทุ่งโป่ง  เดิมชาวกะเหรี่ยงและไทยใหญ่อยู่รวมกัน ต่อมาสมัยเจ้าฟ้าโกหร่าน จากเมืองหมอกใหม่ มาตีเมืองปาย ได้จัดการปกครองโดยแยกชาวกะเหรี่ยงไปไว้ที่บ้านแม่ปิง ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่ของไทยใหญ่ให้ชื่อว่า บ้านทุ่งโป่ง
               บ้านโป่งสา  เดิมเป็นที่อยู่ของชาวลัวะ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๕ คนเมืองได้อพยพมาจากเขตอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่สืบต่อมา
               บ้านแม่ปิง  ชาวกะเหรี่ยงอพยพมาจากจังหวัดแพร่ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านห้วยหวาย ชาวมูเซออพยพมาจากตำบลกิ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
               บ้านแม่ฮี  ชาวไทยลื้อจากบ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ อพยพเข้ามาอยู่
               บ้านแม่นาเติง  คนเมืองจากบ้านแม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ อพยพเข้ามาอยู่
               บ้านนาจลอง  เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๐ - ๒๔๕๐  คนไตจากบ้านนาจลอง รัฐฉาน อพยพเข้ามา และคนเมืองจากบ้านแอ่น บ้านตาล อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ อพยพหนีน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนภูมิพล เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกัน
               บ้านน้ำปลามุง  ชาวเขาเผ่าลีซอ จากพม่าอพยพเข้ามาทางอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาในเขตอำเภอปาย จังหวัแม่ฮ่องสอน และตั้งถิ่นฐานในตำบลแม่นาเติง จนเกิดหมู่บ้านใหญ่ขึ้น ตั้งชื่อว่า บ้านน้ำปลามุง
            การตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านในอำเภอต่าง ๆ มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับอำเภอปาย สรุปประเด็นการตั้งถิ่นฐานได้สามประเด็นใหญ่คือ
                ๑. คนไต (ไทยใหญ่)  อพยพมาจากรัฐฉานประเทศพม่า บางแห่งตั้งชื่อหมู่บ้านตรงกันกับหมู่บ้านในรัฐฉาน
                ๒. คนเมือง  อพยพมาจากจังหวัดในบริเวณใกล้เคียง ส่วนมากมาจากจังหวัดเชียงใหม่ รองลงไปเป็นจังหวัดแพร่ เชียงราย
                ๓. การขยายตัวของหมู่บ้านต่าง ๆ  เริ่มแรกออกไปทำไร่ทำสวนก่อนเมื่อมีจำนวนมากขึ้น ก็จะอพยพไปตั้งบ้านเรือนอยู่ร่วมกัน จนกลายเป็นหมู่บ้าน
            ต่อมาเมื่อมีการตั้งถิ่นฐานได้มั่นคงแล้ว ผู้ปกครองเมืองจึงจัดระบบการบ้านเมืองให้เป็นรูปแบบเมืองหน้าด่าน โดยยกเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองหน้าด่าน ในปี พ.ศ.๒๔๑๗ มีขุนยวม เมืองปาย เป็นเขตแดน เมืองยวมเป็นเมืองรอง ให้มีเจ้าฟ้าปกครองเมือง และจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่ เรียกว่า บริเวณเชียงใหม่ตะวันตก  ต่อมาเปลี่ยนเป็นบริเวณพายัพเหนือ และสุดท้ายเปลี่ยนเป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
            ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ในยุคนี้ ไม่มีหลักฐานด้านเอกสารบันทึกไว้ คงได้จากหลักฐานทางโบราณคดี ที่ขุดค้นได้จากที่อยู่ในอำเภอเมือง ฯ และอำเภอขุนยวม ซึ่งบ่งบอกว่าในสมัยนั้นผู้คนในแถบนี้ เป็นมนุษย์ยุคหินประมาณ ๗,๐๐๐ - ๔,๕๐๐ ปีมาแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ต้องอาศัยธรรมชาติโดยตรง ต่อมาอีกระยะหนึ่งได้มีการพัฒนาสภาพการเป็นอยู่มากขึ้น โดยรู้จักทำอาวุธสำหรับล่าสัตว์ เช่น เครื่องมือหินลับ หินขัดหลายชนิด
            ยุคนี้ผ่านไปโดยไม่สามารถทราบเรื่องราวที่ต่อเนื่อง
            ยุคสร้างบ้านแปงเมือง  ยุคนี้เริ่มมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ได้ศึกษาค้นคว้าบ้าง เช่น พงศาวดารโยนก และประวัติบุคคล พอสรุปประวัติความเป็นมาของจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ว่า เมืองปายเดิมเรียกว่า บ้านดอน เพราะตั้งอยู่บนที่ดอน มีแม่น้ำสองสายไหลผ่าน คือแม่น้ำปายและแม่น้ำเมือง เป็นบริเวณที่ชาวพม่าชื่อ พะก่าซอ เคยมาตั้งทัพเพื่อหาโอกาสเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่ พะก่าซอได้พัฒนาบ้านเมืองจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง
            ต่อมาในสมัยพระเจ้าไชยสงคราม (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙)  ได้นำทัพมาตีหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ และได้รับแต่งตั้งให้ปกครองบ้านดอนในเวลาต่อมา
            ส่วนเมืองยวมใต้ เป็นเมืองหน้าด่านของเชียงใหม่ ที่จะคอยป้องกันการรุกรานของพม่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๔๔  กษัตริย์เชียงใหม่คือ พระเจ้าสามฝั่งแกน ได้เนรเทศเจ้าท้าวลกราชบุตร องค์ที่ ๖ ที่ถูกใส่ความไปครองเมืองพร้าววังหิน ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดาร ต่อมาถูกใส่ความอีก ถึงถูกเนรเทศให้ไปครองเมืองยวมใต้ จนถึงปี พ.ศ.๑๙๘๕ ได้กลับไปแย่งชิงราชสมบัติได้สำเร็จ สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์พระนาม พระเจ้าติโลกราช
            หลังจากนั้นเมืองยวมใต้ ก็เป็นเมืองหน้าด่านของเชียงใหม่ ที่จะคอยปกป้องการรุกรานของพม่าอีกหลายสมัย จนกระทั่งพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
            เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๗๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าโหตรประเทศราชาธิบดี (พระยาเชียงใหม่มหาวงศ์)  ได้ให้เจ้าแก้วเมืองมา ออกจับช้างป่าไปใช้งาน เจ้าแก้วเมืองมาได้เดินทางมาทางเมืองปาย พบพื้นที่แห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำปาย เป็นบริเวณที่หมูป่ามาหากินเป็นจำนวนมาก เห็นว่าเป็นทำเลดี เหมาะที่จะตั้งเป็นบ้านเมือง จึงได้รวบรวมชาวบ้านซึ่งเป็นคนไต (ไทยใหญ่)  มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน แล้วแต่งตั้งชาวไตชื่อ พะก่าหม่อง เป็นหัวหน้าปกครองหมู่บ้าน  ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านโป่งหมู ต่อมาเพี้ยนเป็น ป๋างหมู  หรือบ้านปางหมู อยู่ห่างจากตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนปัจจุบันไปทางเหนือประมาณ ๖ กิโลเมตร
            เมื่อจัดตั้งหมู่บ้านเสร็จแล้ว เจ้าแก้วเมืองมาได้เดินทางล่องลงมาทางใต้ จนถึงลำห้วยแห่งหนึ่ง  มีชาวไทยใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อนแล้ว จึงตั้งคอกฝึกช้างป่า ณ บริเวณนั้น และได้มอบหมายให้แสนโกม บุตรเขยพะก่าหม่อง ออกไปชักชวนชาวไทยใหญ่ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน แต่งตั้งแสนโกมเป็น ผู้ปกครองหมู่บ้าน และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า แม่ฮ่องสอน  (แม่คือ แม่น้ำ ฮ่อง คือ ร่องน้ำ สอนคือ เรียน)  หมายถึง ร่องน้ำอันเป็นสถานที่ฝึกสอนช้างป่า
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๙๙ ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ได้เกิดการสู้รบกันในหมู่บ้านไทยใหญ่ ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำคง (ม่น้ำสาละวิน) ทำให้ชาวไทยใหญ่ในเขตพม่าพากันอพยพข้ามฝั่งแม่น้ำคง เข้ามาอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น บ้านปางหมู บ้านแม่ฮ่องสอน บ้านขุนยวม และเมืองปาย
            ในการอพยพม่าครั้งนี้มีชาวไทยใหญ่ผู้หนึ่งชื่อ ชานกะเล ซึ่งตามตำนานได้กล่าวว่า เป็นทหารเอก ของเจ้าฟ้าโกหร่าน เจ้าฟ้าไทยใหญ่ผู้ปกครองนครหมอกใหม่ เจ้าฟ้าโกหร่านต้องการให้ชานกะเล ยกทัพไปตีเมืองแสนหวี เมืองเชียงรุ้ง และเมืองเชียงของ หากชนะกลับมาจะแต่งตั้งให้เป็นมหาอุปราช แต่ชานกะเลเห็นว่าทั้งสามเมืองเป็นชาวไทยใหญ่ด้วยกัน จึงทัดทานไว้แต่ไม่เป็นผล เขาจึงหลบหนีไปจากเมืองหมอกใหม่และได้เดินทางมาถึงบริเวณวัดผาอ่างปัจจุบัน ขณะนั่งพักได้ถูกเสือโคร่งเข้าตะครุบ แต่บังเอิญลูกสาวพระก่าหม่องชื่อคำใสได้ช่วยไว้ทัน จากนั้นได้พากันไปอาศัยอยู่ที่บ้านโป่งหมู ของพระก่าหม่อง ต่อมาพระก่าหม่องได้ยกนางคำใสให้เป็นภรรยา โดยที่ไม่ทราบว่าชานกะเลมีคนรักอยู่แล้วคือเจ้านางเมวดี หลานของเจ้าฟ้าโกหร่าน
            ในปี พ.ศ.๒๔๐๙ ได้เกิดการสู้รบระหว่างเจ้าฟ้าเมืองนายกับเจ้าฟ้าโกหร่าน เจ้าฟ้าโกหร่านสู้ไม่ได้จึงหนีมาอยู่ที่เมืองปายพร้อมกับเจ้านางเมวดี ต่อมาได้คบคิดกับอัศวินชาวเขา เพื่อไปตีเมืองเชียงใหม่ โดยมีข้อตกลงว่าจะยกเจ้านางเมวดีให้ เมื่อชานกะเลทราบข่าว จึงรับไปยังเมืองปาย แล้วออกอุบายขออาสาไปตีเมืองเชียงใหม่แทน และขอประลองฝีมือกับทหารเอกของเจ้าฟ้าโกหร่าน จนสามารถฆ่าทหารเอกตายไปสองคน แล้วได้ทัดทานไม่ให้เจ้าฟ้าโกหร่านไปตีเมืองเชียงใหม่ เจ้าฟ้าโกหร่านรู้ทันจึกโกรธมาก หาโอกาสเข้าท่ารายชานทะเล แต่นางคำใสมาพบเข้าพอดี จึงเอาตัวเข้าขวางจึงถูกมีดของเจ้าฟ้าโกหร่านปักอกตาย
            ชานกะเลได้รู้ซึ้งในน้ำใจของคำใส และเพื่อทดแทนน้ำใจของนางเขา จึงไม่กลับไปยังเมืองหมอกใหม่จึงได้พาเจ้านางเมวดีคืนสู่บ้านโป่งหมู แล้วอพยพครอบครัวไปสร้างบ้านที่ขุนยวม โดยรวบรวมชาวไทยใหญ่และกะเหรี่ยงมาอยู่รวมกันตั้งเป็นหมู่บ้าน
            ยุคจัดแบบการปกครอง (พ.ศ.๒๔๑๖ - ๒๔๘๔) ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ เจ้าบุรีรัตน์ได้ขึ้นปกครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระเจ้ากาวิโลรส ได้รับพระราชทานนามว่า เจ้าอินทวิชยานนท์ และได้เรียกตัวชานกะเลเข้าเฝ้า และได้แต่งตั้งให้เป็นพญาสิงหนาท พ่อเมืองขุนยวมคนแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ พญาสิงหนาทได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ขุนยวม จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพญาสิงหนาทราชา ให้ปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน ยกฐานะเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นเมืองหน้าด่าน มีเมืองขุนยวม และเมืองปายเป็นเขตแดน เมืองยวมได้แบ่งเป็นเมืองรอง
            พญาสิงหราชราชา ได้พัฒนาเมืองแม่ฮ่องสอนให้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วมีการขุดคูเมือง และสร้างประตูเมืองขึ้นอย่างมั่นคง เขาถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ ทางเจ้าผู้ครองเชียงใหม่ได้แต่งตั้งเจ้านางเมวดีขึ้นปกครองแทน ชาวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า เจ้านางเมี๊ยะ
            พ.ศ.๒๔๓๔ เจ้านางเมี๊ยะถึงแก่กรรม เจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้ครองเมืองเชียงใหม่จึงได้แต่งตั้งพญาเสมาราชานุรักษ์ เป็นพญาพิทักษ์สยามเขต ให้ปกครองเมืองแม่ฮ่องสอนต่อมา
            พ.ศ.๒๔๔๓ ได้มีการจัดระบบการปกครองใหม่โดยได้รวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองปาย และเมืองยวน (แม่สะเรียง) เป็นหน่วยเดียวกัน เรียกว่า บริเวณเชียงใหม่ตะวันตก ตั้งที่ว่าการแขวงที่เมืองขุนยวม โดยแต่งตั้งนายโหมดเป็นนายแขวง และในปีเดียวกันทางเมืองเชียงใหม่ได้แต่งตั้งขุนหลู่ บุตรพญาพิทักษ์สยามเขตเป็นพญาพิทักษ์ฮ่องสอนบุรี
            พ.ศ.๒๔๔๖ ได้ย้ายที่ว่าการแขวงจากเมืองขุนยวมไปตั้งที่เมืองยวมแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นบริเวณพายัพเหนือ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๐ พญาพิทักษ์สยามเขตถึงแก่กรรม ทางเมืองเชียงใหม่จึงแต่งตั้งพญาฮ่องสอนบุรีขึ้นปกครองแทน
            พ.ศ.๒๔๕๓ ได้มีการตั้งเมืองจัตวาขึ้นกับมณฑลพายัพ ย้ายที่ตั้งแขวงจากเมืองยวมมาตั้งที่แม่ฮ่องสอนให้ชื่อว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้พระศรสุรราช (เปลื้อง) มาปกครองเมืองแม่ฮ่องสอนนับว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนแรก

            ยุคสงครามมหาอาเชียบูรพา (พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๘) ทหารญี่ปุ่นได้เดินทัพผ่านประเทศไทยไปประเทศพม่า ได้เข้ามาเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทางบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๗ ทหารญี่ปุ่นได้ทะยอยกลับเข้ามาตั้งค่ายอยู่ในเขตอำเภอขุนยวมเป็นจำนวนมาก โดยได้ตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่บริเวณลำห้วยหนองป่ากอ อยู่ห่างจากบ้านขุนยวมไปทางเหนือประมาณ ๒ กิโลเมตรมีเต้นท์ที่พักประมาณ ๑,๐๐๐ เต้นท์ ทหารญี่ปุ่นที่บาดเจ็บ ได้นำมารักษาที่หน่วยพยาบาลวัดบ่ายต่อ ทหารญี่ปุ่นได้ถอยทัพกลับมาจากประเทศพม่าประมาณหนึ่งแสนคน และได้เจ็บป่วยล้มตายไปไม่น้อยกว่าเจ็ดพันคน
            เมื่อสงครามยุติลงทหารญี่ปุ่นได้เดินทางกลับไปทางอำเภอเมือง ฯ อีกส่วนหนึ่งกลับไปทางบ้านปางอุ๋ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
            ยุคปัจจุบัน  แม่ฮ่องสอนแบ่งเป็น ๗ อำเภอ ๔๕ ตำบล ๓๙๖ หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน (พ.ศ.๒๕๔๐) ประกอบด้วยชาวพื้นราบคือไทยใหญ่ คนเมือง จีน อินเดีย และอื่น ๆ ประมาณร้อยละ ๕๑ เป็นชาวไทยภูเขาคือกะเหรี่ยง มูเซอ แม้ว ลีซอ และลัวะ ประมาณร้อยละ ๔๙
                - การพัฒนาการในของจังหวัด  เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้เริ่มสร้างสนามบินบนพื้นที่นาของราษฎร โดยปรับคันนาให้เรียบ มีความยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร กว้าง ๒๕ เมตร ทิศทางวิ่งเหนือ - ใต้ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑ กิโลเมตร
                    บริษัทเดินอากาศไทย  จำกัด เป็นผู้เปิดบินครั้งแรกด้วยเครื่องบินแบบแฟร์ไชลด์ บรรทุกผู้โดยสารได้เที่ยวละ ๓ - ๔ คน เส้นทางบิน เชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน - แม่สะเรียง - เชียงใหม่ เมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรได้ยิงเครื่องบินของบริษัทตกในเขตอำเภอขุนยวม บริษัทจึงงดบิน
                    เมื่อสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลได้เริ่มฟื้นฟูการคมนาคมทางอากาศเห็นว่าเส้นทางวิ่งเดิมมีความปลอดภัยไม่พอ จึงได้เปลี่ยนทิศทางวิ่งใหม่ โดยจัดซื้อที่นาของราษฎรเพิ่มเติมอีกประมาณ ๒๔๐ ไร่ ปรับปรุงทางวิ่งตามทิศทางตะวันออก - ตะวันตก ยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร พื้นสนามบินเป็นหญ้าและดินลูกรัง เริ่มเปิดการบินแบบแอล ๕ และเรียร์วิน เส้นทางเชียงใหม่ - แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน - เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙
                    ต่อมากระทรวงคมนาคมรับโอนกิจการจากกองทัพอากาศที่ได้ดำเนินการหลังสงครามยุติ โดยได้จัดตั้งบริษัทเดินอากาศไทยอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐
                    พ.ศ.๒๕๑๒  มีการปรับปรุงครั้งใหญ่โดยทำทางวิ่งด้วยการลาดยาง แอสฟัลท์ติดคอนกรีต เพิ่มความยาวเป็น ๑,๓๑๕ เมตร กว้าง ๓๐ เมตร ไหล่ทางข้างละ ๘ เมตร ทำให้เครื่องบินขนาดกลางขึ้นลงได้สะดวกขึ้น
                    พ.ศ.๒๕๑๖  ได้มีการนำเครื่องบินกังหันใบพัดแบบแอฟโร่ ๗๔๘ มาบิน แต่ทางวิ่งสั้นเกินไป เครื่องบินต้องลดน้ำหนักลงประมาณ ๒ ตัน จึงจะขึ้นลงได้อย่างปลอดภัย
                    พ.ศ.๒๕๑๗  กรมการบินพาณิชย์ได้จัดซื้อที่ดินด้านทิศตะวันออกเพิ่ม และในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ทำการต่อเติมทางวิ่งออกไปอีก ๓๗๕ เมตร จึงเป็นสนามบินสมบูรณ์แบบมาตรฐาน ผิวพื้นเป็นแอสฟัลท์ติคคอนกรีต ยาว ๑,๖๙๐ เมตร กว้าง ๓๐ เมตร มีไหล่ทางวิ่งด้านละ ๘ เมตร ทางเผื่อหัวทางวิ่ง ๖๐ เมตร รับน้ำหนักเครื่องบินได้สูงสุด ๔๒ ตัน
                    สำหรับเครื่องบินที่ใช้ติดต่อระหว่างอำเภอเช่น ปาย ขุนยวม หลังสงครามใช้เครื่องบินที่เรียกว่า นอสแมน บรรทุกผู้โดยสารได้ ๖ คน มีอยู่ ๓ - ๔ เครื่อง บินสับเปลี่ยนระหว่างอำเภอและเข้าไปจังหวัดเชียงใหม่
                - การพัฒนาถนนเข้าสู่จังหวัด  แต่เดิมไม่มีถนนสำหรับรถยนต์เข้าสู่ตัวจังหวัด การเดินทางจากเชียงใหม่ ต้องใช้เครื่องบินและการเดินเท้าเท่านั้น
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้มีการตัดถนนจากจังหวัดเชียงใหม่ เข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน สองเส้นทางคือทิศใต้ตัดจากอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เข้าสู่อำเภอแม่สะเรียง ทิศเหนือตัดจากหมู่บ้านแม่มาลัย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เข้าสู่อำเภอปาย
                พ.ศ.๒๕๐๖  กรมทางหลวงตัดถนนจากเชียงใหม่เข้าสู่อำเภอปาย ผ่านอำเภอปางมะผ้า อำเภอเมือง ฯ อำเภอขุนยวม ทางทิศใต้ตัดถนนจากอำเภอแม่สะเรียง ขึ้นมายังอำเภอขุนยวม ทำให้มีถนนสำหรับรถยนต์ไปยังตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นครั้งแรก แต่เป็นเพียงถนนลูกรังยังไม่ถาวร พอถึงฤดูฝนก็ถูกน้ำเซาะถนนขาดเป็นห้วง ๆ
                พ.ศ.๒๕๑๙  สามารถลาดยางถนนได้ตลอดทั้งสาย และปรับปรุงอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นถนนที่คดเคี้ยวมากที่สุด เพราะต้องตัดลัดเลาะไปตามไหล่เขา นับจำนวนโค้งจากอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง ฯ ได้ถึง ๑,๘๖๔ โค้ง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |