| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

            หัตถกรรมทางช่างฝีมือ  สิ่งที่เด่นและใช้ประโยชน์ได้มากคือ กุ๊บไต เป็นหมวกพื้นบ้านไทยใหญ่ คล้ายงอบของภาคกลาง แต่มีรูปร่างเหมือนดอกเห็ด ที่ยังบานไม่เต็มที่ จะมีจุดตรงกลางเป็นกรวยขนาดใหญ่ กุ๊บไต สานจากไม้ไผ่ชนิดที่ใช้ทำข้าวหลาม และเรียกชื่อว่า ไม้ข้าวหลาม เนื้อไม้จะมีความเหนียวและทนมาก ชาวบ้านนิยยมใช้ทำตอก และใช้สำหรับสานเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ
            การคัดเลือกไม้ข้าวหลาม จะใช้ไม้ที่มีอายุประมาณ ๑ - ๒ ปี นำมาจักตอกให้มีความหนาประมาณ ๑ มิลลิเมตร กว้างประมาณ ๓ - ๕ มิลลิเมตร ความยาวขึ้นอยู่กับขนาดของปล้อง ส่วนมากจะยาว ประมาณ ๖๐ - ๘๐ เซนติเมตร แล้วนำมาสานเป็นกุ๊บ ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เมื่อวัดจากยอดจุกถึงขอบกุ๊บ ยาวประมาณ ๒๕ เซนติเมตร เดิมการสานกุ๊บ มีเพียงไม่กี่ลาย แต่ปัจจุบีนมีการประดิษฐ์ลวดลายใหม่แปลก ๆ ประมาณ ๑๓ ลาย
            มีกุ๊บ อีกชนิหนึ่งใช้ก้านของต้นหมากมาทำ เรียกว่า กุ๊บกาบหมาก มีความทนทานน้อยกว่ากุ๊บไม้ไผ่มาก ต่อมาเมื่อมีการรณรงค์ให้เลิกกินหมาก กุ๊บชนิดนี้ก็สูญหายไปด้วย
            ศิลปกรรมที่เป็นลักษณะทางสถาปัตยกรรม พอประมวลได้ดังนี้
                เฮินไต  (เรือนไทยใหญ่)  มีอยู่หลายแบบหลายขนาด ตามฐานะ ผู้ที่มีฐานะยากจน ส่วนมากจะใช้ไม้ไผ่ทั้งหลัง โครงสร้างของบ้านผู้ที่มีฐานะดีจะใช้ไม้เนื้อแข็ง ลักษณะบ้านเรือนจะคล้ายคลึงกัน ถ้าสร้างแบบชั่วคราวจะเป็นทรงตูบหมาแหงน ถ้าสร้างแบบกึ่งถาวรก็จะเป็นแบบทรงไทยหลังคาสูง มักสร้างเป็นเรือนสองหลังเคียงกัน และมีรางน้ำฝนตรงรอยต่อระหว่างชายคา ซึ่งจะติดติดกัน ที่เรียกว่า เฮินสองส่อง แยกห้องนอน และห้องครัวคนละหลัง นิยมหันหน้าบ้านไปทางทิศเหนือเสมอ
                 เรืองสองส่องนั้น ส่องหนึ่งเป็นห้องนอน และฝากั้นห้องนอนเรียกว่า ฝาต้นลม อีกห้องหนึ่ง จะเป็นห้องรับแขกซึ่งเป็๋นห้องโถง ข้างบนฝาด้านทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกของห้อง จะทำเป็นเข่งพระ (หิ้งพระ)  ตกแต่ง ประดับด้วยแจกันดอกไม้ มีน้ำเต้า (คนโท)  ขนาดเล้ก จะเปลี่ยนทั้งน้ำ และดอกไม้ทุกวันพระ
                 ส่องที่สอง  ทำเป็นห้องครัว เรียกว่า ครัวไฟ หรือส่องไฟ จะมีกะบะไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดตามความเหมาะสม บรรจุดินจนเต็มเรียกว่า เต๋งตีไฟ เป็นเตาหุงต้ม

                วัดแบบไต (ไทยใหญ่)  ชาวแม่ฮ่องสอน เมื่อสร้างบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านแล้ว จะสร้างวัดควบคู่กันไปด้วย ในการสร้างวัดจะสร้างกุฎิพระ และสามเณร ซึ่งจะแบ่งห้องนอนแยกต่างหากกัน หัวหน้าหมู่บ้านที่มีฐานะดี จะเป็นผู้ลงทุนสร้าง โดยขอแรงชาวบ้านมาช่วยกันทำ
                 ภายในอาคารวัดหลังหนึ่ง แบ่งออกเป็นหลายห้อง สำหรับพระภิกษุ และสามเณร ห้องโถง หรือโรงทาน สำหรับศรัทธาร่วมทำบุญ แบ่งระดับเป็นชั้นลดหลั่นกันไป ห้องที่อยู่สูงสุดเป็นห้องที่ประดิษฐานพระพุทธรูป องค์พระประธานและอื่น ๆ ตกแต่งด้วยลวดลายไต  สมัยก่อนมีเชิงเทินสำหรับวางข้าวถวายพระพุทธรูปแและวางกระถางธูปเทียนมีตู้เก็บพระไตรปิฎกก มีตู้ใส่กับข้าว (เข่งซอม) สำหรับญาติโยมใส่จังหัน
                 ภายในบริเวณวัดจะสร้างห้องน้ำ ห้องส้วม ศาลาสำหรับคนเฒ่าคนแก่จำศีล นอนวัด มีบ่อน้ำใช้อาบและบริโภค
                 บางแห่งสร้างโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ไว้ในบริเวณวัดด้วย บางวัดจะสร้างรูปสิงห์ไว้บ้าง ประตูด้านละหนึ่งตัว บางแห่งเป็นรูปยักษ์
                 วัดส่วนใหญ่มีลักษณะสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบไทยใหญ่ ซึ่งมีเอกลักษณ์แปลกแตกต่างจากวัดในจังหวัดอื่น ๆ แม้ในภาคเหนือด้วยกัน มีทั้งวัดที่มีองค์พระธาตุหรือพระเจดีย์เป็นประธาน และวัดที่ไม่มีพระเจดีย์เป็นประธาน
                 การวางผังบริเวณวัดก็แตกต่างจากวัดในล้านนาและภาคกลาง ส่วนใหญ่ไม่แยกเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสออกจากกันโดยเด็ดขาด โดยใช้อาคารในลักษณะเอนกประสงค์ หรืออาคารใหญ่หลังเดียว ใช้เป็นทั้งวิหาร ศาลาการเปรียญและกุฎิไปพร้อม ๆ กัน อาคารต่าง ๆ ในวัดจะตั้งอยู่แบบลอยตัว ไม่มีการกำหนดสัดส่วนกิจกรรมด้วยกำแพงแก้ว กับพื้นที่พุทธาวาสเช่นวัดในภาคอื่น ๆ
                องค์พระธาตุเจดีย์จะเป็นเจดีย์ทรงมมอญ มีทั้งแบบองค์เจดีย์เดี่ยวและเจดีย์กลุ่ม อันมีเจดีย์องค์ใหญ่เป็นเจดีย์ประธาน มีเจดีย์เล็กล้อมรอบสี่องค์ หรือแปดองค์แล้วแต่กรณีย์

                ส่างหว่าง  คือซุ้มประตูหน้าวัด จะสร้างตรงประตูรั้วของเขตวัดเสมอ หรือเป็นซุ้มหน้าอาคารศาลาการเปรียญ (วัด) อาจจะทำเป็นซุ้มหน้ามุขของอาคารหรือซุ้มบันไดขึ้นสู่อาคาร
                สมัยก่อนเมื่อเข้าไปในวัดชาวบ้านจะถอดรองเท้าไว้ที่ส่างหว่าง เพราะการสวมรองเท้าเข้าไปในวัดถือว่าไม่เคารพสวถานที่
                ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (ศาลเจ้าเมิง) สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยที่ชานกะเลได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองคนแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ มีบรรดาศักดิ์เป็นพญาสิงหนาทราชา และได้เชิญศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเจ้าแก้วเมืองมาได้เชิญมาจากเชียงใหม่มาไว้ที่อำเภอปางมะผ้าปัจจุบัน มาตั้งไว้ใกล้ ๆ หอเจ้าฟ้า (บ้านพญาสิงหนาท) โดยตั้งอยู่
คนละฟากถนน

            จิตรกรรม  สิ่งที่เด่นที่สุดคือ ลายไต ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดคือการฉลุกระดาษหรือเจาะไม้ให้เป็นลวดลายต่าง ๆ แล้วนำไปประดับอาคารหรือสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม เช่น จองพารา ตำขอน (ตุง) เป็นต้น ศิลปกรรมด้านนี้มีชื่อเรียกต่าง ๆ ตามลักษณะงานที่นำไปใช้ เช่น ลายฉลุหรือการแกะสลัก (ไม้ / สังกะสี) ตามยอดปราสาทหรืออาคารศาสนสถานต่าง ๆ ในชุดหนึ่ง ๆ นั้น ส่วนที่อยู่ด้านบนเรียกว่า สะเจ๊ะ ส่วนที่อยู่ด้านล่างเรียกว่า กะหรุ่งต่อง ส่วนที่อยู่ตรงกลางเรียกว่า พอง  ส่วนลายแกะสลัก (ไม้ / สังกะสี) ที่เป็นเชิงชายของอาคารที่มักจะเห็นอยู่โดยทั่วไป เรียกว่า ปานซอย
            ประติมากรรม  ที่เห็นได้ชัดคือ พระประธานในอาคารศาลาการเปรียญ ซึ่งชาวแม่ฮ่องสอนในอดีตนิยมสร้างสามองค์เรียงกัน อันเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสิ่งสักการะบูชาที่เป็นรูปธรรมแทนพระรัตนตรัย
            ที่วัดมวยต่อ อำเภอขุรยวม พระประธานสามองค์ในวัดคนไตเรียกว่า เจ้าพระเหม่ป๊อก จะไม่พบเห็นในพื้นที่อื่น คำว่า พรา หมายถึงพระเจ้า หรือพระพุทธรูป ส่วนคำว่า เหม่ป๊อก เป็นภาษาพม่า มาจากคำว่า เหม แปลว่า ดิน และคำว่าป๊อก แปลว่าสร้างขึ้น รวมแปลว่า พระพุทธรูปที่สร้างด้วยดิน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |