| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

            อุโบสถวัดศรีบุญเรือง  อยู่ในเขตอำเภอแม่สะเรียง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ โดยช่างชาวพม่าเป็นศิลปะแบบพม่า ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ได้ฉลุลายบนแผ่นไม้สัก ติดตั้งเป็นเครื่องประดับอุโบสถในส่วนที่เป็นลวดลายต่าง ๆ แต่เดิมหลังคามุงด้วยสังกะสี ซึ่งทำมาจากพม่า ปัจจุบันมุงด้วยกระเบื้อง

            อุโบสถวัดหัวเวียง  สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่มีความสวยงาม เป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน อีกแห่งหนึ่ง


            พระธาตุดอยกองมู  เป็นพระธาตุเจดีย์สององค์ ตั้งอยู่บนเขาทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน องค์ใหญ่สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓  บรรจุพระธาตุพระโมคคัลลานะ องค์เล็กสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗  บรรจุพระธาตุพระสารีบุตร
            ปรากฎการณ์อันแสดงถึงอภินิหารของพระเจดีย์คือ  มักจะมีแสงสว่างเป็นวงกลมรัศมี ประมาณดวงจันทร์ลอย ออกจากเจดีย์แล้ว ลอยข้ามตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก และหายไปที่เจดีย์บนดอยกิ่วขมิ้น หรือมีแสงเป็นวงกลมรัศมีเล็กกว่าดวงจันทร์ ออกจากเจดีย์องค์เล็กไปยังพระเจดีย์สี่สู่ (สี่องค์) บริเวณวัดม่วยต่อ เชิงดอยกองมู แล้วหายไป อภินิหารดังกล่าวมักจะเกิดในวันพระ หรือวันนักขัตฤกษ์ เวลาใกล้ค่ำหรือใกล้รุ่ง

            พระอุ่นเมือง  วัดน้ำฮู เป็นพระพุทธรูปลักษณะพิเศษคือ พระเศียรเป็นโพรง พระโมลีเป็นฝาปิดเปิดได้ และจะมีน้ำเต็มโพรงพระเศียรอยู่เสมอ
            พระพุทธรูปองค์นี้มีตำนานเล่าว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงยกทัพไปตีเมืองตองอู แต่ไม่ได้เพราะมีป้อมปราการแข็งแรง เนื่องจากเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน ประกอบกับกองทัพขาดสะเบียงและมีไข้ป่าชุกชุม มีรับสั่งให้ยกทัพกลับ เมื่อกองทัพเดินทางมาถึงบริเวณที่เป็นวัดน้ำฮูปัจจุบัน ก็มีรับสั่งให้พักไพร่พล พอตกทรงก็ทรงมีพระสุบินนิมิตว่า สมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยาเสด็จมาหาแะลตรัสว่า พระนางเปรียบเหมือนคนสองแผ่นดิน ย่อมผูกพันอยู่ชายแดนพม่าและไทยคือ เมืองปายนี้ ขอฝากองค์จันทร์ไว้ให้องค์ดำดูแลด้วย เมื่อตื่นบรรทมจึงรับสั่งให้ม้าเร็วไปรับคุณท้าวจันทรเทวี จากอยุธยาไปเมืองปาย โดยให้นำผอบบรรจุเส้นพระเกศาไปด้วย
            สมเด็จพระนเรศวร ทรงรับสั่งให้สร้างเจดีย์เพื่อบรรจุอัฐิพระพี่นาง ที่มีคนมอญนำมาถวาย ทรงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พระพี่นาง พระพุทธรูปดังกล่าวคือ พระอุ่นเมือง วัดน้ำฮู อำเภอปาย
            พระพุทธรูปอุ่นเมือง เป็นปฎิมากรรมแบบพระสิงห์ รุ่น ๓ หน้าตักกว้าง ๘๐ เซนติเมตร สูง ๑๑ เซนติเมตร หล่อด้วยสำริด

            พระแสนทอง  เป็นพระพุทธรูปทองเหลืองเก่าแก่ ประดิษฐานอยู่ที่วัดแสนทอง ตามตำนานเดิมมีอยู่สององค์คือ องค์พี่กับองค์น้อง เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดทุ่งแล้ง ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง ต่อมาเกิดอุทกภัยน้ำท่วมวัด พัดพาวัดทุ่งแล้งจมลงในแม่น้ำยวม พร้อมพระแสนทองทั้งสององค์
            ต่อมาชาวบ้านได้อัญเชิญพระแสนทองขึ้นจากน้ำยวม โดยใช้เชือกดึงองค์พระพุทธรูปขึ้นมา ปรากฎว่ากู้ได้เพียงพระพุทธรูปองค์น้องเท่านั้น ชาวอำเภอแม่สะเรียงจึงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดกิตติวงศ์ แต่ไม่สามารถชักลากเข้าไปในวัดได้ ชาวบ้านจึงได้ชักลากต่อไปยังวัดคะปวงใน หรือวัดสิทธิมงคล ก็ปรากฎเหตุการณ์เหมือนเดิม จนต้องชักลากไปยังวัดลุ่มจึงชักพระเข้าไปในวัดได้ ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อ วัดลุ่มมาเป็นวัดแสนทอง ตามชื่อพระพุทธรูป

           พระเพชร  (พระพุทธสิหิงค์)  ประดิษฐานอยู่ที่วัดแสนทอง อำเภอแม่สะเรียง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมานาน เหตุที่ได้ชื่อว่า พระเพชร เนื่องจากมีเพชรฝังอยู่ที่องค์พระอยู่สามเม็ดคือ ระหว่างพระขนง หนึ่งเม็ด ที่ไหล่ข้างละหนึ่งเม็ด หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา เพชรดังกล่าวได้สูญหายไป
            ทุกปี ชาวอำเภอแม่สะเรียง จะอัญเชิญพระเพชรแห่ในวันสงกรานต์ไปตามถนนสายต่าง ๆ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำ ขณะที่แห่พระเพชรนั้นฝนจะตกทุกครั้ง เป็นที่น่าอัศจรรย์

           พระพุทธรูปวัดหัวนา  อยู่ในตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดหน้าตัก กว้าง ๑ เมตร เป็นพระประธานในกุฎิวัดหัวนา มีอยู่ด้วยกันสามองค์ สร้างจากการขุดดินรอบ ๆ องค์พระพุทธรูปมาสร้างองค์ด้านเหนือ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙

           หลวงพ่อโต วัดจอมทอง  อยู่ในเขตอำเภอแม่สะเรียง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน สูง ๑๕ เมตร หน้าตักกว้าง ๑๐ เมตร เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

           เจดีย์วัดหลวง  อยู่ในตำบลหัวเวียงใต้ อำเภอปาย คงจะสร้างพร้อมกับเจ้าฟ้า เมื่อมาตั้งเมืองเวียงใต้ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๓๔๖  เดิมเป็นวัดร้าง มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐถือปูน แต่ได้ทรุดโทรมไป ต่อมาเจ้าเมืองปายได้นำราษฎรสร้างเจดีย์ครอบองค์พระพุทธรูป สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔

           เจดีย์วัดต่อแพ  อยู่ที่บ้านต่อแพ ตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม เดิมเป็นเจดีย์เก่าแก่อยู่ในสภาพปรักหักพัง สันนิษฐานว่า ชาวลัวะสร้างไว้ ต่อมาทางวัดได้ซ่อมแซมบูรณะตามรูปแบบของศิลปะของไทยใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑
            นอกจากเจดีย์แล้วยังมีวิหารตรงหน้าพระเจดีย์ ซึ่งมีความงดงามตามศิลปะแบบสองคอ สามชาย เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับผู้คนเข้าไปสักการะบูชาพระเจดีย์

           เจดีย์วัดอุทธยารมณ์  (จองสูง)  อยู่ในเขตอำเภอแม่สะเรียง เป็นเจดีย์ทรงมอญผสมศิลปพม่า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๙

           เจดีย์วัดจอมทอง  อยู่ในเขตอำเภอแม่สะเรียง มีตำนานเล่าว่า มีชายไต (ไทยใหญ่)  สองคน ได้ยืมเงินทองในถ้ำซึ่งอยู่ใต้ภูเขาของวัดนี้ไปค้าขายไม้กับชาวพม่า อธิษฐานว่าเมื่อร่ำรวยแล้วจะมาก่อสร้างพระเจดีย์ที่วัดแห่งนี้ ปรากฎว่าเขาค้าขายจนร่ำรวย จึงได้มาสร้างพระเจดีย์ตามที่ได้อธิษฐานไว้ โดยนำพระบรมสารีริกธาตุ จากพม่ามาบรรจุในองค์พระเจดีย์

           ศาลาการเปรียญวัดคำใน  (วัดจองคำ)  อยู่ในตำบลลานยวม อำเภอขุนยวม สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๓๖๗  โดยพระธุดงค์จากพม่า เป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ผสมพม่า มีมุขด้านหน้า สร้างเป็นรูปปราสาท หลังคาทรงแบบสองคอ สามชาย นับเป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งของอำเภอขุนยวม

           ศาลาการเปรียญวัดขุ่น  ( วัดจองขุ่น)  อยู่ในตำบลขุนยวม  อำเภอขุนยวม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๐ สร้างด้วยไมีสักทั้งหลัง เดิมหลังคาเป็นไม้กระดานแบบสองคอสามชาย ตามแบบศิลปะไทยใหญ่ วัดขุ่นจะมีซุ้มในลักษณะศาลาทางเข้าวัด
 

           ศาลาการเปรียญวัดต่อแพ  อยู่ในตำบลแม่เงา อำเภอขุนยวม สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ มีหลังคาเป็นชั้น แบบคอสอง สามชาย ซึ่งเป็นศิลปะไทยใหญ่

           ศาลาการเปรียญวัดเมืองปอน  อยู่ในตำบลเมืองปอน อำเภอขุนยวม สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ เป็นแบบไทยใหญ่ผสมพม่า หลังคามุขบันไดเป็นลักษณะคอสอง สามชาย ที่สวยงาม

| ย้อนกลับ | บน |