| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ

            ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบไปด้วยภูเขาเป็นส่วนใหญ่ จึงมีถ้ำเกิดขึ้นตามธรรมชาติหลายแห่ง แต่ละแห่งมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โดยเฉพาะที่อำเภอปางมะผ้า อำเภอเดียวมีถ้ำอยู่มากมายเป็นร้อยถ้ำ สำหรับสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีดังนี้

            วนอุทยานถ้ำปลา  ตั้งอยู่บริเวณฝั่งขวาของลำห้วยแม่สะงี ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ ๓๑๕ ไร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๕ ประมาณ ๑๙ กิโลเมตร ตัวถ้ำอยู่สูงกว่าระดับพื้นดินประมาณ ๕ เมตร พื้นที่เป็นภูเขาชัน บริเวณเป็นป่าไม้เบญจพรรณขึ้นอยู่หนาแน่น ตัวถ้ำปลาที่อยู่เชิงเขา มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำ มีน้ำไหลออกจากภูเขาตลอดเวลา และมีปลาขนาดใหญ่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกว่า ปลามุง (ปลาพลวงหรือปลาพลวงหิน)
            น้ำที่ไหลออกจากถ้ำแห่งนี้ จะไหลไปทางทิศใต้ไปรวมกันที่บริเวณสระ ซึ่งกว้างประมาณ ๔๐ เมตร มีน้ำตลอดปี และใสสะอาด ไหลลงสู่ลำน้ำแม่สะงี พื้นที่โดยรอบวนอุทยานเป็นเนินเขา เป็นที่ร่มรื่นสวยงาม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจที่มีภูมิทัศน์สวยงาม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมมูล

            วนอุทยานถ้ำลอด  ตั้งอยู่ที่บ้านถ้ำ ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๙ กิโลเมตร การคมนาคมสะดวก เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และทางโบราณคดี
                ถ้ำลอด  เป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่มีทางน้ำลอดผ่านภูเขา คือ ลำน้ำลาง ไหลลอดผ่านถ้ำตลอดความยาวของถ้ำประมาณ ๕๐๐ เมตร ผ่านทะลุตัวถ้ำออกไปยังอีกด้านหนึ่ง ปากถ้ำมีขนาดกว้างใหญ่เป็นรูปตัวยู ภายในถ้ำมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยแยกออกไปอีกมากมาย เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อย และโถงถ้ำขนาดต่าง ๆ ที่สำคัญมีอยู่สามถ้ำคือ
                    ถ้ำเสาหิน  เกิดจากการก่อตัว และจับตัวของหินปูนนานหลายพันปี จนมีรูปร่างคล้ายเสาหินขนาดยักษ์สูงประมาณ ๒๐ เมตร
                    ถ้ำตุ๊กตา  มีหินงอกรูปร่างคล้ายตุ๊กตาอยู่เป็นจำนวนมาก
                    ถ้ำผีแมน  ภายในถ้ำมีโลงศพโบราณที่ทำจากไม้สัก มีอายุมากกว่าพันปี และพบเครื่องมือ เครื่องใช้ในยุคหินเช่น ขวานหิน และเครื่องประดับต่าง ๆ และภาพวาดลายเส้นรูปสัตว์ บนผนังถ้ำ
                จุดที่น่าสนใจของถ้ำลอดอีกประการหนึ่งคือ  การดูนก และการดูค้างคาว ทางปากทางออกของถ้ำในตอนเย็นประมาณหกโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม จะมีฝูงนกนางแอ่นที่บินออกไปหากินในตอนเช้าบินกลับเข้าถ้ำ เป็นจำนวนนับล้านตัว ในขณะที่ฝูงค้างคาวก็กำลังบินออกจากถ้ำไปหากิน ฝูงนกนางนวล และฝูงค้างคาว จะบินสวนทางกันโดยไม่ชนกัน เนื่องจากฝูงนกนางแอ่นจะบินวนอยู่ในระดับสูงมาก และเมื่อพร้อมกันแล้วก็จะพากันบินลงมา มองดูดำมืดไปหมดและบินด้วยความเร็วสูง ส่วนในตอนเช้าก็จะกลับทางกันคือ นกนางแอ่นจะบินออกไปหากิน ส่วนค้างคาวบินกลับเข้าถ้ำ
            การเข้าเที่ยวชมถ้ำ จะมีชาวบ้านจากบ้านถ้ำมานำชมโดยมีตะเกียงเจ้าพายุ มาให้แสงสว่าง และในถ้ำก่อนจะออกปากถ้ำจะมีแพไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว
            ถ้ำแม่ละนา  อยู่ห่างจากบ้านแม่ละนาประมาณ ๒ กิโลเมตร ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำแม่ละนา ไปทะลุทางแยกถนนสาย ๑๐๙๕ ของบ้านลุกข้าวหลาม และไหลผ่านเทือกเขาหินปูนที่อยู่ใจกลางอำเภอปางมะผ้า
            ระบบอุทกวิทยาที่ทำให้เกิดถ้ำแม่ละนา เริ่มต้นที่ต้นน้ำใกล้ชายแดนไทย - พม่า ไหลมารวมกันมีชื่อว่า น้ำแม่ละนา ไหลมาทางทิศใต้ที่ทุ่งนา แล้วมุดหายไปตามซอกหลืบซอกหิน โผล่ออกมาเป็นลำธารระยะหนึ่ง แล้วมุดเข้าไปในเขาอีกจนมาถึงบริเวณใกล้ ๆ หน้าถ้ำ น้ำจะไหลบนผิวดินอีกครั้ง ก่อนที่จะไหลเข้าถ้ำแม่ละนา และไหลออกจากถ้ำทางด้านทิศตะวันออกของถนนสาย ๑๐๙๕ แล้วไหลไปทางเหนือบรรจบกับลำห้วยโป่งแสนปิก และไหลไบรรจบแม่น้ำของในที่สุด
            ถ้ำแม่ละนา ยาวประมาณ ๑๔ กิโลเมตร ส่วนกว้างที่สุดประมาณ ๑๐๐ เมตร แคบสุดประมาณ ๕ เมตร บริเวณกลางถ้ำสูงประมาณ ๕๐ เมตร ลักษณะเด่นได้แก่ หินปูนฉาบ ไข่มุกถ้ำ ม่านเบคอน หินย้อยลักษณะลูกตุ้ม และม่านหินย้อย เสาหินในถ้ำแม่ละนาสูงกว่าเสาหินของประเทศจีน ที่ถูกบันทึกลงในหนังสือกินเนสบุคถึงสามเท่า
            ในถ้ำพบปลาที่มีลักษณะพิเศษคือ ปลาถ้ำที่อาศัยอยู่ภายในถ้ำลึกเข้าไปประมาณ ๓ กิโลเมตร จุดนี้ไม่มีแสงสว่างปลาพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นจึงต้องปรับปตัวเข้ากับระบบนิเวศอันจำกัดภายในถ้ำ เนื่องจากอยู่ในที่มืด ส่วนที่เป็นตาก็จะค่อย ๆ เล็กลงจนหายไปเพราะไม่ได้ใช้งาน แต่ได้พัฒนาประสาทการรับกลิ่นแทน และได้พัฒนาอวัยวะในการปีนน้ำตก ที่มีกระแสน้ำไหลแรงโดยมีครีบขนาดใหญ่ และมีที่ยึดเกาะกับหินบริเวณส่วนหัว ส่วนหัวจะเรียวสามารถลดแรงต้านกระแสน้ำได้ดี

           ถ้ำน้ำลาง  อยุ่ในเขตตำบลห้วยนา อำเภอเมือง ฯ เป็นถ้ำที่ยาวมากประมาณ ๘.๕ กิโลเมตร เป็นถ้ำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม่น้ำลางซึ่งไหลหายเข้าไปในภูเขาทั้งสายตรงจุดที่เรียกว่า กิ๊ด ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้กับบ้านไร่ และไหลผ่านออกจากถ้ำแห่งนี้
            ภายในถ้ำมีปลาถ้ำเช่นเดียวกับถ้ำแม่ละนา ลึกจากปากถ้ำประมาณ ๑ กิโลเมตร จะพบแท่นหินที่สวยงามมากเรียกว่า วังเมฆขลา ยาวประมาณ ๕๐ เมตร การเข้าเที่ยวชมถ้ำลำบากมาก ต้องมีอุปกรณ์ครบครันและต้องมีผู้นำทางที่ชำนาญ จึงจะปลอดภัย

            ถ้ำน้ำบ่อผี  อยู่ใกล้บ้านลุกข้าวหลาม อำเภอปางมะผ้า ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๘ กิโลเมตร เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ในภูเขาหินปูนและเกิดการพังทะลายที่ผนังถ้ำด้านบน กลายเป็นเหวลึกประมาณ ๑๐๐ เมตร กว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร บริเวณก้นเหวปกคลุมด้วยต้นไม้ขนาดความสูงกว่า ๓๐ เมตร เป็นป่าดงดิบ เขียวชอุ่มตลอดปี แตกต่างจากบริเวณปากปล่อง ซึ่งเป็นป่าเบญจพรรณ
            ภายในถ้ำจะมีสัตว์จำพวกนกและลิงเท่านั้น ที่สามารถลงไปหากินได้ ผู้ที่จะลงไปสำรวจในถ้ำจะต้องเชี่ยวชาญในการปีนเขา และไต่หน้าผาลงไป
            ถ้ำบ่อผี จะมีทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงามน่าพิศวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเช้าตรู่ จะมีหมอกลงมาก คณะสำรวจถ้ำชาวออสเตรเลียได้ลงไปสำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘

           อุทยาน ฯ น้ำตากแม่สุริน  อยู่ในเขตอำเภอขุนยวม ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๕๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๒๔๘,๐๐๐ ไร่ พื้นที่ป่าบริเวณอุทยาน ฯ ได้มีการพัฒนาสภาพแวดล้อม และมีสิ่งบริการแก่นักท่องเที่ยว ในระดับดีมาก บริเวณน้ำตกมีพื้นที่ชมวิวทิวทัศน์หลายระดับ
            น้ำตกแม่สุริน เป็นน้ำตกที่สวยงามมาก และเป็นน้ำตกที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ลักษณะเป็นน้ำตกชั้นเดียวไหลจากหน้าผาลงสู่หุบเขาเบื้องล่าง มีความสูงประมาณ ๑๐๐ เมตร สามารถชมน้ำตกได้ในระยะไกล

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |