| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            นครพนมมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องมานานกว่าพันปี เช่นเดียวกันกับชุมชนโบราณแห่งอื่นในแอ่งสกลนคร ในช่วงระยะเวลาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่นกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง ซึ่งอยู่ทางตอนบนของลุ่มแม่น้ำสงคราม มีความสามารถในการถลุงโลหะสำริด และเหล็กมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับ และจากการที่นครพนมตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อระหว่าง ลาว และ เวียดนามได้สะดวก จึงนำมาสู่พัฒนาการของชุมชนมาตามลำดับ
การตั้งถิ่นฐาน
            การตั้งถิ่นฐานตามแนวลำน้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่านจังหวัดนครพนม ไปบรรจบแม่น้ำโขงตามลำดับ จากทางต้นน้ำมาท้ายน้ำ สามารถแบ่งกลุ่มชุมชนโบราณได้สามกลุ่มด้วยกันคือ
            แหล่งโบราณคดีลุ่มน้ำสงคราม  ในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำสงครามตอนบน ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดสกลนคร ได้มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณ เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี มาแล้วในบริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านโกย บ้านผักตบ อำเภอเมือง ฯ  และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนยุคโลหะตอนต้น ถึงยุคเหล็กตอนปลาย ที่รู้จักใช้เครื่องมือเหล็กและเครื่องประดับสำริดแล้ว ต่อมาเมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ลงมา ได้มีการขยายตัวของชุมชนไปยังบริเวณที่ราบลุ่ม ทางตอนเหนือของหนองหานกุมภวาปี ในเขตอำเภอสว่างแดนดิน และอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
            แหล่งโบราณคดีในเขตลุ่มน้ำอูน  - น้ำยาม  เป็นชุมชนยุคโลหะตอนปลาย เป็นวัฒนธรรมเดียวกันกับบ้านเชียงยุคปลาย พบหลักฐานกระจายอยู่ในเขตอำเภอสว่างแดนดิน อำเภอพรรณานิคม อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร โดยเฉพาะบริเวณที่ราบระหว่างห้วยน้ำยาม และห้วยปลาหาง มีการตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่น ได้สำรวจพบแล้วถึง ๓๗ ชุมชน ในเขตจังหวัดนครพนม พบแหล่งโบราณคดีอยู่เพียงแห่งเดียวคือ ที่สำนักสงฆ์วัดโพนสวรรค์ บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า พบเศษภาชนะดินเผาทับถมกันอยู่เป็นจำนวนมากทั่วทั้งเนินดิน เป็นภาชนะเนื้อหยาบที่เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ กดประทับ ลายขูดขีด และพบโครงกระดูกมนุษย์สองโครง ฝังแบบนอนหงายเหยียดยาว มีเศษภาชนะดินเผาฝังอยู่ด้วย
            แหล่งโบราณคดีในเขตลุ่มน้ำก่ำ  เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ตั้งกระจายอยู่ทางตอนต้นของลำน้ำก่ำ ชุมชนเหล่านี้ได้ขยายลงมาจากบริเวณ อำเภอพังโคน และอำเภอพรรณานิคม ในลุ่มแม่น้ำสงครามตอนบน ระยะต่อมาได้พัฒนาการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ช่วงวัฒนธรรมทวาราวดี และลพบุรี
            ในเขตอำเภอนาแก ได้พบกลองมโหรทึกสำริดหนึ่งใบ มีลวดลายเรขาคณิตและสัตว์อยู่ภายในเส้นวงกลมคู่ขนานซ้อนกัน ถัดออกมาเป็นลายซี่หวี ลายกากบาด ลายวงกลมซ้อนกันสองวงขนาบลายหัวนกซ้อนกันสองชุด มีลายวงกลมขนาบด้วยลายนก ริมสุดเป็นลายหัวลูกศร มีตัวกบอยู่ริมขอบกลองอยู่สี่ตัวมีหูสองข้าง ข้างละสองหู กลองมโหรทึกนี้เป็นอิทธิพลของวัฒนธรรมดองซอน พบกระจายอยู่ทั่วไปทางตอนใต้ของประเทศจีน ในประเทศเวียดนาม ลาว และไทย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑ - ๕
            บริเวณเทือกเขาภูพาน ที่ถ้ำแก้งดานมะเขือ หรือถ้ำห้วยหอด อยู่ในเขตตำบลบ้านแก้ง อำเภอนาแก พบโครงกระดูกคนประมาณ ๑๕ โครง ฝังอยู่ลึก ๘๐ - ๙๐ เซนติเมตร ร่วมกับภาชนะดินเผาเนื้อไม่แกร่ง ทรงก้นกลม ปากผาย ตกแต่งผิวด้วยลายขูดขีดเป็นเส้นโค้งขนาน บางโครงมีแท่งหินขัดทรงกระบอกสีดำยาวประมาณ ๕ เซนติเมตร วางอยู่บนหน้าอก นอกจากนี้ยังมีใบขวานเหล็ก และลูกปัดหอยอยู่ด้วย
ลำดับการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            วัฒนธรรมสมัยทวาราวดี  (พุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๖) ชุมชนในสมัยประวัติศาสตร์รุ่นแรกที่พบหลักฐานร่วมสมัย กับชุมชนในภาคกลาง ที่เรียกว่าทวาราวดีคือ เมืองศรีโคตรบูรณ์ เป็นชุมชนสำคัญที่เกิดขึ้นมาในสมัยประวัติศาสตร์ โดยมิได้มีพัฒนาการสืบต่อมาจากชุมชนเดิมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ องค์พระธาตุพนมเป็นเสมือนตัวแทนของความสัมพันธ์ ระหว่างผู้คนหลายกลุ่ม หลายวัฒนธรรม เรื่องราวขององค์พระธาตุพนม และเมืองศรีโคตรบูรณ์ แสดงให้เห็นว่าชุมชนในแถบนี้ ต่างมีเจ้าเมืองปกครองเป็นอิสระ มีลักษณะเป็นบ้านเล็กเมืองน้อยกระจายอยู่ทั่วไป
            โดยรอบองค์พระธาตุพนมเป็นชุมชนที่นับถือพระพุทธศาสนา หลักฐานที่ปรากฏคือที่บ้านโปร่ง บ้านทู้ ซึ่งอยู่ห่างจากองค์พระธาตุลงมาทางทิศใต้ มีใบเสมาจำนวนหนึ่ง มีลวดลายสลักเป็นรูปสถูป เช่นเดียวกับที่พบในเขตลุ่มน้ำมูล-ชี ส่วนด้านทิศเหนือขององค์พระธาตุ ที่บ้านหลักศิลา พบใบเสมาหินทรายมีลายสลักรูปสถูป บริเวณกึ่งกลางใบ เช่นเดียวกับใบเสมาที่พบอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน
            เมืองศรีโคตรบูรณ์ มีชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารลาว และในตำนานชุมชนต่าง ๆ บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ตามตำนานได้กล่าวถึง อาณาเขตของศรีโคตรบูรณ์ไว้ มีความว่า ตั้งแต่ยางสามต้นไปถึงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ไปถึงภูทอก ภูเขียว (อยู่ในเขตจังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดกาฬสินธุ์) ภูผาเม็ด (อยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร) แล้วอ้อมไปฝั่งลาว
            ในสมัยพระเจ้าสามแสนไทย ราชโอรสเจ้าฟ้างุ้ม กษัตริย์ล้านช้าง (พ.ศ.๑๙๑๖ - ๑๙๕๙) ได้ส่งราชบุตรชื่อเจ้าลือไชย มาครองเมืองศรีโคตรบูรณ์ ต่อมาในสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ์ชัยแผ่นแผ้ว กษัตริย์ล้านช้าง(พ.ศ.๑๙๙๙ - ๒๐๒๑) ได้ส่งราชโอรสชื่อท้าวหมื่นหลวง ไปครองเมืองศรีโคตรบูรณ์ และในสมัยพระเจ้าวิชุลราชกษัตริย์ล้านช้าง (พ.ศ.๒๐๔๓ - ๒๐๖๓) ได้ส่งท้าวคำก้อนซึ่งเป็นน้องเขย ไปครองเมืองศรีโคตรบูรณ์ และได้สร้างพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างไว้ในพระอุโบสถ วัดพระธาตุพนม เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๖
            เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๑๐๑ - ๒๑๑๔ พระะเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งเวียงจันทน์ ได้เสด็จมานมัสการองค์พระธาตุพนม และได้ทรงวางระเบียบปฏิบัติแก่ข้าวัดที่พระโพธิสารได้ถวายไว้
            ในสมัยพระเจ้าโพธิสาร ราชบุตรเจ้าพระยานครฯ ได้วางกฎไว้ว่า เจ้าเมืองต้องมาทอดกฐินที่วัดพระธาตุพนมทุกปี ซึ่งได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบมาจนถึงเจ้าเมืองรุ่นหลัง
            จากบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวไว้ว่า ธาตุพนมเป็นหมู่บ้านสำคัญริมฝั่งขวาของแม่น้ำโขง มีบ้านร้อยกว่าหลัง พระพิทักษ์เจดีย์เป็นหัวหน้า ขึ้นตรงกับเจ้าเมืองละคอน หมู่บ้านโดยรอบซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาพระธาตุพนมคือ หมู่บ้านหนองปิง บ้านดงภู บ้านปากคำ บ้านหัวดอน ผู้คนที่มีหน้าที่ดูแลรักษาวัดพระธาตุพนมมีอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ คน ทำกิจวัตรตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินสยาม มีการบูชาพระธาตุทุกวันด้วยน้ำ และข้าวปลาอาหาร มีคณะมโหรีสยามบรรเลงเพลงถวายพระธาตุทุกวัน พิธีไหว้พระธาตุมีขบวนฆ้องนำหน้าวางดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระธาตุทั้งสี่ด้าน พระภิกษุสวดมนต์ถวายเครื่องไทยทาน ประกอบด้วย มะพร้าว กล้วย อ้อย น้ำผึ้ง ฝ้ายเส้น หมาก และพลู
พุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๓

            ทางตอนบนของที่ราบลุ่มแม่น้ำสงคราม ได้ผลิตเครื่องปั้นดินเผากันอย่างกว้างขวาง พบแหล่งเตากระจายอยู่ตามริมฝั่งของลำน้ำสงคราม ตั้งแต่บ้านหาดแพง อำเภอศรีสงคราม บ้านนาทม กิ่งอำเภอนาทม ไปจนเกือบถึงปากน้ำห้วยซาง ในเขตอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย ที่กิ่งอำเภอนาทมมีกลุ่มเตาเผาโบราณอยู่สามกลุ่ม ภาชนะที่ผลิตโดยมากจัดอยู่ในประเภทเนื้อแกร่งผิวสีเทา สีคล้ำไม่เคลือบผิว
            นอกจากผลิตภาชนะดินเผาแล้ว การผลิตเกลือก็เป็นผลิตผลที่สำคัญของชุมชน ปรากฏร่องรอยเนินดินจำนวนแปดเนิน มีขนาดใกล้เคียงกันคือ สูงประมาณ ๖ - ๑๐ เมตร ในเขตอำเภอนาหว้า
            ในปี พ.ศ.๒๒๘๑ พระบรมราชาได้ย้ายเมืองลงไปทางใต้ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือ บริเวณที่ประดิษฐานองค์พระธาตุศรีโคตรบูรณ์ เยื้องกับที่ตั้งตัวจังหวัดนครพนมในปัจจุบัน เนื่องจากที่ตั้งเมืองเดิมถูกน้ำเซาะตลิ่งพังลงไปมาก แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองจากเมืองศรีโคตรบูรณ์ เป็นเมืองมรุกขนคร
            ในปี พ.ศ.๒๓๐๘ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ แห่งราชอาณาจักรเวียงจันทน์ ได้แต่งตั้งให้ท้าวคำสิงห์เป็นพระนครานุรักษ์เจ้าเมืองมรุกขนคร ต่อมาท้าวกู่แก้วน้อยเขยท้าวคำสิงห์ได้ออกไปซ่องสุมผู้คน แล้วตั้งเมืองใหม่ชื่อเมืองมหาชัยก่องแก้ว แล้วเกลี่ยกล่อมผู้คนในเมืองต่าง ๆ ในลำน้ำเซบั้งไฟที่เคยขึ้นกับเมืองศรีโคตรบูรณ์มาก่อน เช่นเมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองเชียงฮ่ม เมืองผาปัง ฯลฯ ให้กระด้างกระเดื่องไม่ยอมขึ้นกับมรุกขนคร และเตรียมยกกำลังมาตีเมืองมรุกขนคร พระนครานุรักษ์ (คำสิงห์) ติดต่อขอกำลังจากเวียงจันทน์มาช่วยแต่ไม่ได้ จึงไปขอกำลังจากญวนที่เมืองภูชุน (เมืองเว้) พระเจ้าแผ่นดินญวนได้ส่งกองทัพมีกำลัง ๖,๐๐๐ คนมาช่วย แต่หลงกลเจ้ากูแก้วที่แอบอ้างว่าเป็นกรมการเมืองจากมรุขนคร จึงได้ยกกำลังมาตีเมืองมรุกขนครได้ พระนครานุรักษ์ได้พาชาวเมืองมรุกขนครอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาทางด้านฝั่งขวาไปตั้งมั่นอยู่ที่ดงเซกา บริเวณที่เป็นเขตติดต่อระหว่างนครพนมกับหนองคายในปัจจุบัน แล้วไปขอกำลังจากนครเวียงจันทน์มาช่วย ทางนครเวียงจันทน์ได้ให้พระยาเชียงสา เป็นแม่ทัพยกกำลังหนึ่งหมื่นคนมาช่วย โดยได้มาตั้งทัพอยู่ที่บ้านหนองจันทร์ (เมืองเก่าอยู่ทางใต้ตัวเมืองนครพนม) ค่ายหนึ่ง และที่บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรือง ริมห้วยบังฮวก (อยู่ในเขตอำเภอธาตุพนม) อีกค่ายหนึ่ง แล้วนำกำลังเข้าตีกองทัพญวน และกองทัพท้าวกูแก้ว ซึ่งยกมาตั้งอยู่ในหาดทรายกลางแม่น้ำโขง กองทัพพระยาเชียงสาได้ชัยชนะฆ่าฟันพวกญวนล้มตายเป็นจำนวนมาก จนศพลอยน้ำไปติดอยู่ที่เกาะดอนกลางแม่น้ำโขงเกาะหนึ่งจนได้ชื่อว่า หาดแกวกอง มาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเสร็จศึกแล้วพระยาเชียงสาได้จัดให้พระนครนุรักษ์ รวบรวมผู้คนได้ประมาณ ๓,๐๐๐ คน ยกขึ้นไปตามลำน้ำโขง แล้วไปตั้งเมืองใหม่ที่บ้านเวินทรายใกล้นครเวียงจันทน์ และตั้งท้าวกู่แก้วเป็นพระบรมราชา เป็นเจ้าเมืองมรุกขนครแทนต่อไป แต่ให้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรือง ตรงปากห้วยบังฮวก และสร้างวัดไว้กลางตัวเมืองหนึ่งวัดชื่อ วัดมรุกขนคร
            ในปี พ.ศ.๒๓๒๑ ในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อพระตาพระวอพาสมัครพรรคพวก หลบหนีจากนครเวียงจันทน์ แยกออกมาตั้งเมืองนครเขื่อนขันฑ์กาบแก้วบัวบานที่หนองบัวลำภู กองทัพเวียงจันทน์ยกลงมาปราบ ทางพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพขึ้นไปปราบกองทัพเวียงจันทน์ โดยยกกำลังขึ้นมาตามลำน้ำโขง และได้ตีเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่นครจำปาศักดิ์ ขึ้นมาจนถึงนครเวียงจันทน์ เมืองมรุกขนครจึงได้เข้ามารวมอยู่ในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่นั้นมา
            ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ พระบรมราชาเจ้าเมืองมรุกขนคร เห็นว่าตัวเมืองถูกน้ำเซาะตลิ่งพังไปเป็นอันมาก จึงได้ย้ายเมืองขึ้นไปทางเหนือ ที่บ้านหนองจันทน์
สมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๖)
            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองมรุกขนครเป็นเมืองนครพนม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖ เจ้าเมืองนครพนมถูกกล่าวหาว่าคบคิดกับ พระเจ้านันทเสนแห่งนครเวียงจันทน์จะเป็นกบฏต่อกรุงเทพ ฯ โดยมีหนังสือไปชักชวนพระเจ้าเวียดนามพญาลองพระเจ้าแผ่นดินญวน ให้ยกกำลังมาช่วยรบกับกรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้านันทเสน และพระบรมราชาลงมาแก้คดีที่กรุงเทพ ฯ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๓๓๗ พระเจ้านันทเสนแพ้โจทย์ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าอินทรวงศ์ ครองเมืองเวียงจันทน์ต่อไป และต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ.๒๓๓๙ เมื่อเจ้าเมืองนครพนมถึงแก่กรรม ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระศรีเชียงใหม่ (สุดตา) ซึ่งเป็นพี่ภรรยาของพระบรมราชาเป็นเจ้าเมืองนครพนม
            ฝ่ายบุตรพระบรมราชา (พรหมา) เจ้าเมืองคนเก่าคือท้าวกิ่งหงสา และท้าวคำสาย กับบุตรของอุปฮาดคือ ท้าวจุลณี ไม่พอใจที่พระบรมราชา (สุดตา) ได้เป็นเจ้าเมือง จึงได้พาผู้คนข้ามแม่น้ำโขงไปตั้งอยู่ที่บ้านกวนกู่ กวนงัว แขวงเมืองมหาชัยเดิม และไม่ยอมขึ้นกับเมืองนครพนม พระบรมราชา (สุดตา) จึงมีใบบอกไปยังนครเวียงจันทน์ และกรุงเทพ ฯ ขอกำลังไปช่วยปราบปราม ทางกรุงเทพ ฯ มีพระยามหาอำมาตย์เป็นแม่ทัพยกกำลังมาสมทบกับกำลังจากเมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด และเมืองกาฬสินธุ์ ยกกำลังมาตั้งอยู่ที่บ้านโพธิคำ (ที่ตั้งตัวเมืองนครพนมปัจจุบัน) พระยามหาอำมาตย์ให้กองทัพจากเวียงจันทน์ ยกกำลังเข้าตีฝ่ายที่แข็งเมืองแตกพ่ายไป กองทัพไทย และกองทัพเวียงจันทน์ จึงกวาดต้อนผู้คนกลับมานครพนม แล้วพระยามหาอำมาตย์ได้ย้ายที่ตั้งเมืองนครพนม จากบ้านหนองจันทน์ มาตั้งที่บ้านโพธิคำ
            ในปี พ.ศ.๒๓๔๔ เมื่อกองทัพไทย และกองทัพเวียงจันทน์ยกกลับไปแล้ว ท้าวกิ่งหงสาได้รวบรวมผู้คนได้ประมาณ ๖,๐๐๐ คน แล้วยกกำลังมาตั้งที่บ้านช้างราช ริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง แล้วยกกำลังเข้าตีเมืองนครพนมแตก พระบรมราชา (สุดตา) จึงไปขอกำลังจากนครเวียงจันทน์ และนครจำปาศักดิ์มาช่วยตีฝ่ายตรงข้ามแตกไป แล้วได้มีการเจรจาของทั้งสองฝ่าย เพื่อยุติการรบราฆ่าฟันกันต่อไป ฝ่ายท้าวกิ่งหงสาจึงขอตั้งเมืองใหม่ไม่ยอมขึ้นกับเมืองนครพนม แล้วอพยพผู้คนกลับไปตั้งอยู่ที่เมืองมหาชัยก่องแก้วตามเดิม
            ต่อมาพระยาสุโพ แม่ทัพเวียงจันทน์ พร้อมด้วยอุปฮาดเมืองนครพนม ได้นัดให้พวกเมืองมหาชัยก่องแก้วมาพบเจรจากัน และได้ดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ต่อหน้าองค์พระธาตุโคตรบอง ว่าจะจงรักภักดีต่อกรุงเทพ ฯ ทางกรุงเทพ ฯ จึงตั้งให้ท้าวจุลณี เป็นพระพรหมอาสาเจ้าเมืองมหาชัย
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บุตรหลานเจ้าเมืองมหาชัย ได้อพยพไปตั้งเป็นเมืองสกลนคร เมื่อ ปี พ.ศ.๒๓๘๑
            ในปี พ.ศ.๒๓๔๙ ราชวังศ์ (มัง) บุตรพระบรมราชา (สุดตา) ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระบรมราชาเจ้าเมืองนครพนม
            ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ อุปฮาด (ศรีวิชัย) บุตรเจ้าเมืองนครพนมคนเก่า ไม่พอใจที่ไม่ได้เป็นเจ้าเมือง ได้พาไพร่พลชาวเมืองนครพนม จำนวน ๒,๐๐๐ คน อพยพหนีไปกรุงเทพ ฯ
            ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฎต่อกรุงเทพ ฯ ได้กวาดต้อนผู้คนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง จนถึงเมืองนครราชสีมาไปเป็นกำลังแก่เวียงจันทน์ ทางกรุงเทพ ฯ ยกกำลังมาปราบ โดยมีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์  สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพหน้า ได้ยกกำลังไปตั้งอยู่ที่เมืองนครพนม ส่วนพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนม ถูกเจ้าอนุวงศ์ ฯ พาหนีกองทัพไทยไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองมหาชัยก่องแก้ว เมื่อกองทัพไทยยกกำลังมาถึงก็พากันหนีเข้าไปในแดนญวน การศึกครั้งนี้ทำให้ชุมชนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงระส่ำระสาย ส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนมากรุงเทพ ฯ อีกส่วนหนึ่งหนีเข้าป่าไป บรรดาข้าวัดที่ทำหน้าที่บำรุงวัดพระธาตุก็ขาดจำนวนไปมาก องค์พระธาตุและศาสนสถานต่าง ๆ จึงทรุดโทรมลงไป
            ในปี พ.ศ.๒๓๓๗ พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม  อมาตยกุล) แม่ทัพไทยได้ยกกำลังมาตั้งอยู่ที่เมืองนครพนม พร้อมทั้งกองทัพจากเมืองเขมราฐ เมืองยโสธร เมืองร้อยเอ็ด และเมืองสุวรรณภูมิ และต่อมาได้ยกกำลังข้ามแม่น้ำโขงออกไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในแถบเมืองวัง เมืองพิน เมืองนอง เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองแสก เมืองเชียงฮุ่ม เมืองผาบัง ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ผู้ไทย กะโซ่ กะเลิง แสก ย้อ ฯลฯ ให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งต่อมาได้ตั้งเป็นเมืองเรณูนคร เมืองวาริชภูมิ เมืองกุสินารายณ์ เมืองท่าอุเทน เมืองวานรนิวาส เมืองอากาศอำนวย และเมืองสว่างแดนดิน เป็นต้น
            ในปี พ.ศ.๒๓๗๘ อุปฮาด (คำสาย) และราชวงศ์ (คำ) ได้นำชาวเมืองมหาชัยก่องแก้ว ข้ามแม่น้ำโขงกลับคืนมาสามิภักดิ์ต่อกรุงเทพ ฯ พระยามหาอำมาตย์ จึงให้ไปตั้งเมืองอยู่ที่ริมหนองหาน บริเวณเมืองสกลวาปีเก่า และเมื่ออุปฮาด (คำสาย) ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๓๘๑ ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ราชวงศ์ (คำ) เมืองมหาชัยก่องแก้ว เป็นพระยาประจันตเขตธานี เจ้าเมือง และพระราชทานชื่อเมืองว่า เมืองสกลนคร
            ส่วนเมืองนครพนม หลังจากที่พระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนม หลบหนีไปกับเจ้าอนุวงศ์ ฯ แล้วพระยามหาอำมาตย์ จึงได้มอบให้พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรว่าราชการเมืองนครพนมอีกตำแหน่งหนึ่ง ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครพนม ได้ยกกำลังออกไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้มาตั้งขึ้นเป็นเมืองต่าง ๆ ในเขตเมืองนครพนม เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร และเมืองกาฬสินธุ์ มีชาวผู้ไทยจากเมืองวัง จำนวน ๒,๖๔๗ คน ตั้งเป็นเมืองขึ้นที่บ้านดงหวาย ซึ่งต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองเรณูนคร ให้ท้าวสายนายครัวเป็นพระแก้วโกมล เจ้าเมืองเรณูนครคนแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ ขึ้นกับเมืองนครพนม
            ให้ชาวแสกซึ่งอพยพจากเมืองแสก อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านนาลาดควาย จำนวน ๑,๑๗๐ คน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๐ ต่อมาให้ตั้งขึ้นเป็นกองอาทมาต คอยลาดตระเวนชายแดน ต่อมาได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองอาทมาตขึ้นกับนครพนม ให้ฆานบุดดีเป็นหลวงเอกสาร เจ้าเมืองอาทมาต จนถึงปี พ.ศ.๒๔๕๐ จึงยุบลงเป็นตำบลอาจสามารถ อยู่ในอำเภอเมือง
            ให้พวกชาวกะโซ่จากเมืองฮ่ม เมืองผาบังทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จำนวน ๔๔๙ คน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๐ ตั้งเป็นเมืองที่บ้านเมืองราม และโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองรามราช ขึ้นกับเมืองนครพนม ให้ท้าวบัวจากเมืองเชียงฮ่ม เป็นพระอุทัยประเทศเจ้าเมืองรามราช เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๘ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ได้ยุบลงเป็นตำบลรามราช อยู่ในอำเภอท่าอุเทน
            ให้ชาวโย้ย จากบ้านหอมท้าวทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จำนวน ๑,๓๓๙ คน ไปตั้งเมืองอยู่ที่บ้านม่วง ริมน้ำยาม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๐ ต่อมาได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองอากาศอำนวย ขึ้นกับเมืองนครพนม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๙๖ ให้ท้าวศรีนุราชเป็นหลวงพลานุกูลเป็นเจ้าเมือง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ได้โอนไปขึ้นกับเมืองสกลนครคือ ท้องที่อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
            พวกไทยย้อ เดิมอยู่ที่ปากน้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง ต่อมาได้อพยพหลบหนีไปกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ ไปตั้งอยู่ที่เมืองหลวงปุเลงทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองนครพนมได้เกลี่ยกล่อมให้กลับมาตั้งเมืองอยู่ที่บ้านท่าอุเทนร้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๕ และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองท่าอุเทน ขึ้นกับเมืองนครพนมในปีเดียวกัน และตั้งให้ท้าวพระปทุมเป็นพระศรีวรราชเจ้าเมืองคนแรก
            ในการปราบปรามเจ้าอนุวงศ์ ฯ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๓๖๙ ราชวงศ์ (แสน) เมืองเขมราฐได้คุมกำลังตั้งอยู่ปากน้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง มีความดีความชอบในราชการ จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองไชยบุรี โดยอพยพครอบครัวชาวเขมราฐ และยโสธรมาอยู่ที่เมืองไชยบุรี ต่อมาได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งราชวงศ์ (แสน) เมืองเขมราฐเป็นพระไชยราชวงศา เจ้าเมืองไชยบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑
            ในปี พ.ศ.๒๔๑๘ พวกจีนฮ่อได้ยกกำลังมาตีเมืองเวียงจันทน์ และหนองคาย ทางกรุงเทพ ฯ ได้ให้พระยามหาอำมาตย์ ข้าหลวงใหญ่ซึ่งขึ้นมาจัดราชการอยู่ที่เมืองอุบล ฯ เกณฑ์กองทัพหัวเมืองต่าง ๆ คือเมืองร้อยเอ็ด ๕,๐๐๐ คน เมืองสุวรรณภูมิ ๕,๐๐๐ คน เมืองกาฬสินธุ์ ๔,๐๐๐ คน เมืองอุบล ฯ ๑๐,๐๐๐ คน เมืองยโสธร ๕,๐๐๐ คน เมืองมุกดาหาร ๔,๐๐๐ คน เมืองนครพนม ๔,๐๐๐ คน ฯลฯ ไว้สมทบกองทัพใหญ่ แล้วให้เมืองนครพนมเตรียมปลูกฉางข้าวขึ้นไว้ และจัดซื้อข้าวขึ้นฉาง สำหรับเลี้ยงกองทัพ และให้เมืองต่าง ๆ เตรียมตัดไม้มาถากเพื่อขุดเรือให้ยาวลำละ ๔ วา ๕ ศอก ๖ คืบ เมืองนครพนม ๕๐ ลำ เมืองหนองคาย ๕๐ ลำ เมืองโพนพิสัย ๓๐ ลำ เมืองไชยบุรี ๒๐ ลำ เมืองท่าอุเทน ๑๕ ลำ เมืองมุกดาหาร ๕๐ ลำ รวม ๒๔๕ ลำ
            ในปี พ.ศ.๒๔๒๔ องค์การศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ได้เริ่มส่งบาทหลวงเข้ามาเผยแพร่คริสตศาสนาในภาคอีสานเป็นครั้งแรก โดยส่งมายังเมืองอุบล ฯ และตั้งโบสถ์เผยแพร่ศาสนาอยู่ที่บ้านบุ่งกระแทง เป็นแห่งแรก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๖ ก็ได้เริ่มแพร่ขยายขึ้นมาตามหัวเมืองริมลำแม่น้ำ แล้วตั้งโบสถ์ที่บ้านท่าแร่ ริมหนองหานเมืองสกลนคร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ได้ตั้งโบสถ์ที่บ้านสองคอน เขตเมืองมุกดาหาร และต่อมาได้ตั้งโบสถ์ที่เกาะดอนโด ซึ่งอยู่กลางแม่น้ำหน้าเมืองนครพนม และที่บ้านหนองแสง เขตเมืองนครพนม เกิดมีทาสที่หลบหนีเจ้าขุนมูลนายไปหลบซ่อนอยู่กับบาทหลวง และเข้ารีตนับถือคริสตศาสนา เป็นจำนวนไม่น้อย เมื่อกรมการเมืองจะเข้าไปเกณฑ์แรงงาน หรือเก็บส่วยพวกที่เข้ารีตศาสนาคริสต์ก็เกิดบาดหมางกับบาทหลวงอยู่เนือง ๆ มีการฟ้องร้องกันลงไปถึงกรุงเทพ ฯ จนต้องส่งตระลาการมาตัดสินที่เมืองนครพนม
            ในปี พ.ศ.๒๔๒๙ หลังจากที่ญวนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิงแล้ว พระเจ้าแผ่นดินเวียดนามได้หลบหนีเข้ามาในชายแดน ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อันเป็นเขตแดนเมืองมุกดาหาร และเมืองนครพนมอย่างต่อเนื่องกับ แขวงสุวรรณเขต และแขวงคำม่วน พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น  ศรีเพ็ญ) เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ออกมาจัดราชการอยู่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์ จึงย้ายกองบัญชาการมาตั้งอยู่ที่เมืองเขมราฐชั่วคราว ่และแต่งตั้งให้จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ (ชม  สุนทราชุน) และหลวงเสนีย์พิทักษ์ (พร  ศรีเพ็ญ) เป็นข้าหลวงขึ้นมาตั้งอยู่ที่เมืองนครพนม และเมืองมุกดาหาร เพื่อเกณฑ์กำลังจากเมืองสกลนคร เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี และเมืองมุกดาหาร ออกไปตระเวนรักษาด่าน คอยขับไล่พวกญวน มิให้ล่วงล้ำเข้ามาในชายแดนพระราชอาณาเขต
            ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ พระยามหาอำมาตย์ข้าหลวงใหญ่ และพระยาราชเสนา ข้าหลวงประจำหัวเมืองลาวตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ขอพระบรมราชานุญาตตั้งองค์บิงญวน เป็นหลวงจำนงค์บริรักษ์ เป็นนายกองญวน และนายหวา เป็นขุนพิทักษ์โยธี ปลัดกองญวน ตั้งอยู่ที่บ้านโพนบก และบ้านนาคู แขวงเมืองนครพนม
            ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ออกมาเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการในหัวเมืองภาคอีสานทางด้านอีสานเหนือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงสำเร็จราชการหัวเมืองลาวพวน ทางด้านอีสานใต้มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร สำเร็จราชการหัวเมืองลาวกาว ประทับอยู่ที่เมืองอุบล ฯ กองบัญชาการหัวเมืองลาวพวน มีอำนาจปกครองเมืองนครพนม หนองคาย มุกดาหาร ไชยบุรี ท่าอุเทน หนองหาน สกลนคร โพนพิสัย กมุทาลัย (หนองบัวลำภู) ขอนแก่น เชียงขวาง คำเกิด คำม่วน บริคัณฑนิคม
            ปี พ.ศ.๒๔๓๕ โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ (กาจ  สิงหเสนี ) เป็นข้าหลวงประจำเมืองสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร ซึ่งเป็นเมืองชายแดน เพื่อให้เป็นที่ปรึกษาของเจ้าเมือง มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองสกลนคร
            ปี พ.ศ.๒๔๓๖ ไทยเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้แก่ฝรั่งเศส ดินแดนของเมืองนครพนมทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือแขวงคำม่วนต้องสูญเสียไปด้วย ข้าหลวงไทยที่ประจำอยู่ที่เมืองคำม่วนคือ พระยอดเมืองขวาง ได้ต่อสู้ขัดขวางฝรั่งเศสจนถึงวาระสุดท้าย ถือได้ว่าท่านเป็นวีรบุรุษคนสำคัญคนหนึ่งของไทย
            ปี พ.ศ.๒๔๓๗ โปรดเกล้า ฯ ให้พระพิทักษ์ยุทธภัณฑ์ (เทศ) เป็นข้าหลวงประจำเมืองนครพนม
            ปี พ.ศ.๒๔๓๘ ฝรั่งเศสขอตั้งเอเย่นต์ทางการค้าให้มาประจำอยู่ตามหัวเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง คือ เมืองเขมราฐ เมืองมุกดาหาร เมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี และเมืองหนองคาย แต่เอเย่นต์ดังกล่าวทำหน้าที่เสมือนกงสุล หรือสายลับ คอยสังเกตการณ์ว่าฝ่ายไทย ละเมิดสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสหรือไม่
            ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ ได้เปลี่ยนนามมณฑลลาวพวน เป็นมณฑลฝ่ายเหนือและเป็นมณฑลอุดร เมืองนครพนมจึงอยู่ในเขตการปกครองของมณฑลฝ่ายเหนือ และมณฑลอุดรต่อมา มณฑลอุดร แบ่งการปกครองเป็น ๑๒ เมือง คือ เมืองหนองคาย (เมืองเอก)  เมืองท่าอุเทน (เมืองจัตวา)  เมืองไชยบุรี (เมืองจัตวา)  เมืองนครพนม (เมืองตรี)  เมืองท่าบ่อ (เมืองตรี )  เมืองมุกดาหาร (เมืองตรี)  เมืองสกลนคร (เมืองโท)  เมืองขอนแก่น (เมืองตรี)  เมืองกมุทาลัย (หนองบัวลำภู)  เมืองโพนพิสัย (เมืองตรี)  เมืองชนบท (เมืองจัตวา)  เมืองหนองหาน (เมืองตรี)
            ในปี พ.ศ.๒๔๔๖ มณฑลอุดรแบ่งการปกครองออกเป็น ๕ บริเวณ แต่ละบริเวณแบ่งออกเป็นเมือง เมืองแบ่งออกเป็นอำเภอ และได้ยุบเมืองเล็ก ๆ ลงเป็นตำบล แต่ละบริเวณมีข้าหลวงประจำบริเวณรับผิดชอบ และมีข้าหลวงประจำเมืองพร้อมด้วยผู้ว่าราชการเมือง ดังนี้
            บริเวณหมากแข้ง (อุดรธานี)  มี ๖ เมืองคือ เมืองหนองคาย เมืองโพพิสัย เมืองกุมภวาปี เมืองกมุทาลัย และเมืองท่าบ่อ
            บริเวณสกลนคร มี ๖ เมืองคือ เมืองสกลนคร เมืองวาริชภูมิ เมืองพรรณานิคม เมืองสว่างแดนดิน เมืองวานรนิวาส และเมืองจัมปาชนบท (พังโคน)
            บริเวณพาชี (ขอนแก่น)  มี ๓ เมืองคือ เมืองขอนแก่น เมืองภูเวียง และเมืองชนบท
            บริเวณน้ำเหือง (เมืองเลย)  มี ๓ เมือง คือ เมืองเลย เมืองด่านซ้าย เมืองเชียงคาน
            บริเวณธาตุพนม  มี ๔ เมือง  มีเมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี และเมืองมุกดาหาร
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๐  ให้ยุบเลิกบริเวณลงเป็นเมืองทั้งหมด คงมีมณฑล เมือง และอำเภอเท่านั้น ดังนั้นการปกครองมณฑล จึงแบ่งออกเป็น ๕ เมืองคือ
            บริเวณหมากแข้ง  เปลี่ยนเป็น เมืองอุดรธานี
            บริเวณพาชี  เปลี่ยนเป็น เมืองขอนแก่น
            บริเวณสกลนคร  เปลี่ยนเป็น เมืองสกลนคร
            บริเวณน้ำเหือง  เปลี่ยนเป็นเมืองเลย
            บริเวณธาตุพนม  เปลี่ยนเป็นเมืองนครพนม และได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๘ อำเภอ โดยยุบเมืองต่าง ๆ คือ เมืองมุกดาหาร เมืองท่าอุเทน และเมืองไชยบุรี ลงเป็นอำเภอ ดังนั้นอำเภอทั้งหมดจึงประกอบด้วย อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเมืองไชยบุรี อำเภอเมืองท่าอุเทน อำเภอเมืองอากาศอำนวย อำเภอเมืองกสุมาลย์ อำเภอเมืองเรณูนคร (ย้ายไปตั้งอยู่บ้านธาตุพนม) อำเภอเมืองมุกดาหาร และอำเภอหนองสูง
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ กระทรวงมหาดไทย ประกาศยุบ อำเภอเมืองกุสุมาลย์ มณฑลไปรวมกับอำเภอเมืองนครพนม ยุบอำเภอเมืองอากาศอำนวยไปรวมกับท้องที่อำเภอท่าอุเทน ตัดท้องที่บางส่วนของอำเภอโพนพิสัยมารวมกับท้องที่อำเภอไชยบุรี ย้ายที่ตั้งอำเภอไชยบุรีไปตั้งที่บ้านบึงกาฬ ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นอำเภอบึงกาฬ
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัด และคำว่าผู้ว่าราชการเมือง เปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
            ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนชื่ออำเภอในจังหวัดนครพนม คือ อำเภอเมืองนครพนม เป็นอำเภอหนองบึก  อำเภอเรณูนคร เป็นอำเภอธาตุพนม โดยย้ายที่ตั้งไปตั้งที่บ้านธาตุพนม อำเภอหนองสูง ซึ่งย้ายที่ตั้งไปอยู่ที่บ้านนาแก เป็นอำเภอนาแก
            ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ได้มีประกาศรวมมณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล มณฑลอุดร ตั้งขึ้นเป็นภาคอีสาน มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองอุดรธานี อุปราชภาคอีสาน คือพระยาราชนิกุลวิบูลยภักดิ์ ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ จังหวัดนครพนม จึงขึ้นอยู่กับมณฑลอุดร และภาคอีสาน นอกจากภาคอีสานแล้วยังมีภาคพายัพ (เหนือ) และภาคทักษิณ (ใต้)

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |