| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์

            กลองมโหรทึกสำริด  พบจำนวน ๓ ใบ ที่อำเภอนาแก ๑ ใบ ส่วนอีก ๒ ใบ ไม่ทราบที่มา ปัจจุบันอยู่ที่วัดพระธาตุพนม ๑ ใบ และที่ศาลากลางจังหวัด ๑ ใบ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ เซนติเมตร หน้ากลองมีลายเรขาคณิตอยู่ภายในวงกลมคู่ขนานซ้อนเรียงกัน จากส่วนกลางออกมาที่ขอบกลอง ตรงส่วนกลางเป็นลายตะวัน ๑๒ แฉก ถัดออกมาเป็นลายซี่หวี ลายวงกลมคู่ขนานซ้อนกัน ๒ ชุด ริมขอบกลองมีตัวกบ ๔ ตัว ตังกลองสูงประมาณ ๓๔ เซนติเมตร ลวดลายบริเวณด้านข้างถึงฐานเป็นลายเรขาคณิต มีหู ๒ ข้าง ๆ ละ ๒ หู ลายละเอียดอื่น ๆ มีแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย กลองมโหรทึกนี้เป็นอิทธิพลวัฒนธรรมดองซอน ที่ใช้เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมความเชื่อ พบกระจายอยู่ทั่วไปทางตอนใต้ของประเทศจีนในประเทศเวียดนาม ลาว รวมทั้งประเทศไทย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑ - ๕
โบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์

            ใบเสมาหินทราย  แหล่งโบราณคดีที่พบใบเสมาคือ แหล่งโบราณคดีบ้านทู้ บ้านโปร่ง และบ้านหลักศิลา เป็นต้น ชุมชนชาวพุทธที่ใช้ใบเสมาเป็นกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณสองฟากของลำน้ำก่ำในเขตอำเภอนาแก อำเภอธาตุพนม ลักษณะของใบเสมามีทั้งที่มีทรงเรียวแหลมคล้ายใบหอกป้าน และทรงป้อมทั้งสั้นยอดโค้งมน บริเวณกึ่งกลางใบมีลายสลักรูปสันนูน ลายสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาเช่นสถูป หม้อปุรณฑฏ ลายกลีบบัว ลายคั่นลูกประคำ ใบเสมาบางใบไม่มีลวดลาย

            เสาอินทขีล  ทำจากหินทราย ตามตำนานพระธาตุพนมกล่าวว่า พญาทั้งห้าผู้สร้างพระธาตุพนมในยุคแรก ได้ให้คนไปนมาจากที่ต่าง ๆ รวมกันสี่ต้น แล้วฝังไว้ในบริเวณรอบ ๆ องค์พระธาตุทั้งสี่มุม คือ ต้นที่หนึ่งนำมาจากเมืองกุสินารา ฝังไว้ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และสร้างรูปอัจจมุขีไว้ที่โคนเสาหนึ่งตัว ต้นที่สองนำมาจากเมืองพาราณสี ฝังไว้ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างรูปอัจจมุขีไว้ที่โคนเสาหนึ่งตัว ต้นที่สามนำมาจากเมืองลังกาฝังไว้ที่มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ต้นที่สี่นำมาจากเมืองตักกศิลาฝังไว้ที่มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เสาอินทขีลทั้งสี่ต้นนี้อาจใช้เป็นเสาปักเขตแดนของศาสนสถานคล้ายใบเสมา

             ประติมากรรมรูปม้า  ในตำนานอุรังคธาตุ ได้กล่าวถึงม้าพลาหกและม้าอาชาไนย ซึ่งสลักจากศิลาพบที่วัดพระธาตุพนม ปัจจุบันที่บริเวณเชิงบันไดทางขึ้นวิหารหอพระแก้ว ทางด้านทิศเหนือมีข้อความเขียนไว้ว่า พญาสุวรรณภิงคารได้สร้างรูปม้าอาชาไนยไว้หนึ่งตัว..... พระมหากัสสปะเถระให้คนสร้างรูปม้าพลาหกไว้อีกหนึ่งตัวเป็นคู่กัน ม้าดังกล่าวมีรูปแบบศิลปกรรมเฉพาะถิ่น แตกต่างไปจากที่พบในชุมชนโบราณแห่งอื่น ๆ

            ประติมากรรมรูปสิงห์หรืออัจจมุขี พบที่วัดพระธาตุพนม ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า ได้สร้างรูปอัจจมุขีขึ้นไว้สองตัว อยู่ที่มุมทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือหนึ่งตัว และฝังไว้ที่มุมทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้อีกหนึ่งตัว อัจจมุขีมีรูปแบบศิลปกรรมเฉพาะถิ่น ไม่พบในชุมชนโบราณแห่งอื่น ๆ

            เหรียญเงินฟูนัน  เป็นเหรียญโลหะเล็ก ๆ พบที่บริเวณกำแพงแก้วล้อมรอบองค์พระธาตุพนม เหรียญฟูนันได้พบที่ออกแก้วเมืองท่าชายฝั่งทะเลของเวียดนาม มีอายุร่วมสมัยทวาราวดี
แหล่งโบราณคดี

            แหล่งโบราณคดีบ้านโปร่ง  ตั้งอยู่ระหว่างบริเวณรอยต่อสามหมู่บ้าน คือบ้านโปร่ง บ้านอุ่มเหม้า และบ้านข้าวหลาม ตำบลน้ำกำ อำเภอธาตุพนม ลักษณะเป็นเนินดินกลางทุ่งนา มีพื้นที่ประมาณหนึ่งไร่ มีลำห้วยคำฮีไหลผ่านเนินทางด้านทิศตะวันออก แล้วไหลไปลงหนองฮี และห้วยบง ซึ่งไหลไปลงแม่น้ำโขง แหล่งโบราณคดีบ้านโปร่ง เป็นที่ตั้งของกลุ่มใบเสมาหินทราย ซึ่งเดิมมีอยู่ ๕ ใบ ลักษณะของใบเสมามีทรงสั้น สูงเหนือพื้นดิน ประมาณ ๑๐๘ เซนติเมตร ส่วนยอดโค้งมน บริเวณกึ่งกลางใบมีลายสลักรูปสันนูน บางใบเรียบไม่มีลวดลาย เกือบทุกใบจะมีจารึกด้วยอักษรธรรม เป็นจารึกที่นักปราชญ์โบราณ สร้างขึ้นไว้ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ลักษณะของตัวอักษรมีอยู่หลายกลุ่ม ทั้งอักษรธรรมอีสาน อักษรธรรมล้านนา และตัวหนังสือไทย
 
            แหล่งโบราณคดีบ้านทู้  ตั้งอยู่ที่บ้านทู้ อำเภอธาตุพนม ลักษณะเป็นเนินดิน มีพื้นที่ประมาณ ๕๐ ไร่ พบใบเสมากระจายอยู่ทั่วไป ปัจจุบันเหลืออยู่ ๘ ใบ เป็นใบเสมาสลักจากหินทราย บริเวณกึ่งกลางใบเสมาสลักเป็นรูปสถูป ซึ่งมีลักษณะเป็นหม้อน้ำ ด้านล่างช่วงฐานของใบเสมาเป็นรูปบัวหงายมีแถวลูกประคำเป็นลูกคั่น ประดับเหนือกลีบบัว ปัจจุบันใบเสมาดังกล่าวปักอยู่รอบอุโบสถวัดสระพังทอง นอกจากนี้ยังได้พบหินบด แท่นหินบด คนโทดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบสีน้ำตาล และไหข่า มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๒๑
            ถ้ำแก้งดานมะเขือ อยู่ในเขตตำบลบ้านแก้ง อำเภอนาแกในเทือกเขาภูพาน ลักษณะเป็นเพิงผาหินทรายยาวประมาณ ๓๐ - ๔๐ เมตร ด้านหน้าเป็นชะง่อนยื่นออกมาคล้ายหลังคาเพิง ในบริเวณพื้นถ้ำที่ระดับลึกประมาณ ๘๐ - ๙๐ เซนติเมตร พบโครงกระดูกมนุษย์ ๑๕ - ๑๖ โครง ฝังร่วมกับภาชนะดินเผาเนื้อไม่แกร่ง ทรงก้นกลมปากผาย ตกแต่งผิวด้วยลายขูดขีดเป็นเส้นโค้งคู่ขนานคล้ายเส้นคลื่น นอกจากนี้ยังมีขวานเหล็ก ลูกปัดหอย บางโครงมีแท่งหินขัดทรงกระบอกสีดำยาว ๔.๕ เซนติเมตร วางอยู่บนหน้าอก มีอายุอยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
แหล่งประวัติศาสตร์

            ดอนแกวกอง  เป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ในแม่น้ำโขง ค่อนมาทางฝั่งไทย อยู่ที่บ้านหนองจันทร์ ตำบลท่าค้อ อำเภอเมือง ฯ มีลักษณะเป็นหาดทรายงอกยาวขึ้นมาทางด้านเหนือจดท้ายตัวเมืองนครพนม เมื่อถึงฤดูแล้งจะเห็นหาดแห่งนี้ยื่นออกไปกลางแม่น้ำโขง เกือบจรดเมืองท่าแขกของลาว ตามตำนานเมืองศรีโคตรบูรณ์ตอนหนึ่งกล่าวว่า เกิดการชิงความเป็นใหญ่ในแผ่นดินระหว่างพระนครานุรักษ์ (ท้าวคำสิงห์) กับท้าวกู่แก้ว (เอวก่าน) พระนครานุรักษ์ได้ไปขอกำลังจากเมืองญวนได้มา ๖,๐๐๐ คน ท้าวกู่แก้วทราบเรื่องก่อนจึงพาเครื่องบรรณาการไปหาแม่ทัพญวนที่เมืองคำเกิด แล้วแอบอ้างว่าเป็นเจ้าเมืองมรุกขนคร ฝ่ายญวนหลงเชื่อจึงเข้าตีเมืองมรุกขนครแตก พระนครานุรักษ์ไปขอกำลังจากเวียงจันทน์มาช่วย ฝ่ายทัพญวนตั้งทัพอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เอาไม้ไผ่มาทำแพลูกบวบจะยกข้ามแม่น้ำมาตีกองทัพเวียงจันทน์ ขณะที่ทหารญวนกำลังจะข้ามแม่น้ำโขง ฝ่ายเวียงจันทน์ได้ใช้ปืนใหญ่ยิงตัดสะพานแพลูกบวบขาดแล้วยกกำลังเข้าสู้กับพวกญวนกลางลำแม่น้ำโขง ทหารญวนถูกฆ่าตายตกแม่น้ำโขงเป็นจำนวนมาก และแตกพ่ายไป ศพทหารญวน (แกว) ลอยไปติดที่เกาะดอนทับถมกันเป็นจำนวนมาก เกาะนี้จึงได้ชื่อว่าดอนแกงกอง ต่อมาในปลายสงครามมหาเอเซียบูรพา ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดครอง และปลดอาวุธฝรั่งเศสทั่วอินโดจีน รัฐบาลลาวได้ขอร้องให้ญี่ปุ่นส่งคนญวนกลับประเทศ ฝ่ายญวนก็เห็นชอบด้วยจึงได้มีการอพยพคนญวน จากหลวงพระบางและเวียงจันทน์จำนวนหลายหมื่นคนมารวมไว้ที่เมืองท่าแขก เพื่อรอการเดินทางกลับ เมื่อสงครามมหาเอเซียบูรพาสงบลง ญี่ปุ่นถอยทัพกลับ แต่ลาวกับญวนยังคงทำการต่อสู้กับฝรั่งเศสจนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๙ ฝรั่งเศสตีเมืองท่าแขกแตก ฝรั่งเศสได้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดอย่างหนัก ประชาชนได้อพยพข้ามมายังฝั่งขวาแม่น้ำโขง เครื่องบินฝรั่งเศสได้ยิงเรือที่อพยพผู้คนดังกล่าวจนล่มไฟไหม้ มีคนจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นคนญวน (แกว) ศพลอยไปติดอยู่ที่บริเวณดอนแกวกองอีกเป็นครั้งที่สอง

            หนองแสงหรือสวนหลวง ร.๙  อยู่ในเขตตำบลหนองแสง อำเภอเมือง ฯ เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็กมีพื้นที่ประมาณหนึ่งตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๖๒๕ ไร่ เป็นแหล่งน้ำของชุมชนมาหลายชั่วอายุคน ทางด้านทิศเหนือของหนองแสงเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวญวนอพยพ เมื่อครั้งเกิดการรบที่เมืองเดียนเบียนฟูในเวียดนาม ชาวญวนดังกล่าวปั้นอิฐมอญขาย ปรากฏมีหลุมเผาอิฐขนาดใหญ่สามแห่ง ทางด้านทิศตะวันออกของหนองแสงเป็นที่ตั้งโรงสีไฟเก่าชื่อโรงสีไฟอีสาน มีชาวจีนเป็นผู้ดำเนินงาน เป็นโรงสีไฟขนาดใหญ่ ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว ป่าไม้ทางด้านทิศตะวันตกมีผู้เข้ามาแผ้วถางถือครอง ทางราชการได้ดำเนินการขอคืนจากบาดหลวง ประจำโบสถ์คริสตจักรหนองแสง และหน่วยราชการคือสำนักงานเกษตร จังหวัดนครพนมได้ไปตั้งสำนักงานที่ป่าละเมาะข้างหนองแสง ทางด้านทิศตะวันตก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ตามมาด้วยหน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขง (นปข.)
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ทางจังหวัดนครพนมได้พัฒนาเป็นสวนหลวง ร.๙
            ห้วยฮ่องฮอกับบ้านฮ้างโพนแดง  ห้วยฮ่องฮอเป็นลำน้ำขนาดเล็ก มีต้นกำเนิดจากภูกระแต มีความยาวประมาณ ๖๐ กิโลเมตร จากตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง ฯ ผ่านตำบลต่าง ๆ ของอำเภอเมือง ฯ อำเภอท่าอุเทน และอำเภอศรีสงคราม บางส่วนของลำห้วยจะเป็นเวิ้งกว้าง ชาวบ้านเรียกว่าหนองน้ำ มีการตั้งชื่อหนองน้ำดังกล่าวตามสภาพพื้นที่ต้นไม้ที่ปรากฏให้เห็น ดังนี้
               หนองซำเหนือ  หนองธรรมเนียม หนองปากเสือ หนองฮางเกลือ หนองเปือย หนองปลาซิว หนองสิม หนองปลาเป้า หนองยาว หนองหัวขัว หนองเรือ หนองเบ็น หนองไผ่
            ในอดีต บ้านโพนแดงมีผู้คนอยู่หนาแน่น ประมาณ ๓๐๐ หลังคาเรือน และประมาณ ๑,๘๐๐ คน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ เกิดอหิวาตกโรคระบาด ทำให้ชาวบ้านตายไปเป็นจำนวนมาก พวกที่เหลือจึงอพยพทิ้งหมู่บ้านไปอยู่ที่อื่น ปล่อยให้หมู่บ้านร้างไปจึงเรียกว่า บ้านฮ้าง (ร้าง) โพนแดง
            หนองญาติ  เป็นหนองน้ำอยู่ที่บ้านหนองญาติ ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง ฯ มีความยาวตามแนวทิศเหนือ - ใต้ ประมาณ ๒,๘๐๐ เมตร และมีความกว้างตามแนวทิศตะวันออก - ตะวันตกประมาณ ๗๐๐ เมตร มีพื้นที่ประมาณ ๒,๒๐๐ ไร่ หนองญาติเกิดจากหนองน้ำต่าง ๆ รวมกันคือ หนองอูมคูม หนองหวาย หนองกุลา หนองหูหมาน หนองสร้างแป้น หนองสร้างแป้นน้อย หนองเป้า หนองบัว หนองแวง หนองสองห้อง หนองเขื่อนช้าง หนองหว้า หนองสงยาง หนองบ่อแก หนองสายทองคำตากร้า หนองถ่ม เมื่อรวมกันแล้วชื่อว่าหนองยาด (หมายถึงแย่งกัน) เนื่องจากแต่เดิมเป็นหนองน้ำที่มีปลาและสัตว์น้ำชุกชุม แต่มีผู้คนน้อย การหาอาหารจากหนองน้ำก็เป็นไปโดยง่าย ต่อมาเมื่อมีประชากรมากขึ้น เกิดการแย่งกันทำมาหากินจึงได้ชื่อว่าหนองยาด
            ต่อมาระหว่างปี พ.ศ.๒๔๕๔ - ๒๔๖๘ พระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย  นาครทรรภ) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรก ได้กำหนดให้หนองยาด เป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์ ให้ราษฎรใช้ร่วมกันและให้ชื่อใหม่ว่าหนองญาติ
แหล่งอุตสาหกรรม

       แหล่งเตาเผาโบราณลุ่มแม่น้ำสงคราม
            พบกระจายกันอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำสงคราม และบริเวณระหว่างห้วยน้ำยามกับน้ำอูน ซึ่งเป็นสาขาสำคัญของแม่น้ำสงคราม ในเขตบ้านท่าพันโฮง บ้านนาทม บ้านหาดแพง บ้านศรีเวินชัย บ้านดงเจ้าจันทร์ บ้านข่า วัดศรีสงคราม
             บ้านท่าพันโฮง  อยู่ในตำบลนาทม อำเภอนาทม พบแหล่งเตาผลิตเครื่องปั้นดินเผาอยู่สองกลุ่มคือ กลุ่มเตาบุ่งอีซา และกลุ่มเตาหนองอ้อ กลุ่มเตาบุ่งอีซา จะตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน ส่วนกลุ่มเตาหนองอ้ออยู่ห่างลงมาทางตอนใต้อีกประมาณ ๑ กิโลเมตร เตาทั้งสองกลุ่มนี้เป็นเตาขุดเข้าไปในตลิ่ง แล้วใช้ดินจากริมฝั่งแม่น้ำมาทำเตา ตัวเตาจะอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณ ๔ - ๗ เมตร ลักษณะเป็นเตาทรงประทุน รูปกลมรี ปล่องเตาน่าจะอยู่ด้านบน พื้นเตาเอียงลาดตามความลาดของตลิ่ง ปากเตาหันลงสู่แม่น้ำ สันนิษฐานว่ามีช่องใส่ไฟ และคันใส่ไฟลดระดับจากส่วนที่วางภาชนะ เตาที่พบโดยมากสภาพหลังคาเตายุบตัวลงมาก่อน เนื่องจากโครงสร้างหลังคาไม่คงทน และมีการสร้างเตาใหม่ขึ้นซ้อนทับเตาเก่า

            กลุ่มเตาบุ่งอีซา  พบซากเตา ๖ เตาตั้งเรียงขนานกันในแนวทิศตะวันออกตะวันตก ขนาดของเตาโดยเฉลี่ยกว้างประมาณ ๑.๕๐ - ๓.๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๕ - ๖ เมตร ผนังเตาหนาประมาณ ๑๕ เซนติเมตร บริเวณเตาพบภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งกระจายอยู่จำนวนมาก ภาชนะที่ผลิตจากแหล่งเตาแห่งนี้ได้แก่ ภาชนะดินเผาสีเทาไม่เคลือบ ส่วนใหญ่เป็นไหปากแตร มีการตกแต่งด้วยการขุดเป็นเส้นขนาน และทำเป็นลายนูนรอบภาชนะบริเวณไหล่ภาชนะดินเผาเคลือบสีน้ำตาล ส่วนใหญ่เป็นไหปากแตร ลักษณะน้ำเคลือบจะหยดเป็นสาย ภาชนะดินเผาเนื้อดิน เนื้อดินค่อนข้างแกร่งตกแต่งด้วยลายลูกคลื่น หรือเส้นขนานรอบไหล่ รูปทรงส่วนใหญ่เป็นภาชนะประเภทไหที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก และยังพบเศษภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งด้วยการใช้น้ำเคลือบสีเขียว
            กลุ่มเตาหนองอ้อ  ตัวเตามีลักษณะคล้ายกลุ่มเตาบุ่งอีซา แต่จะสร้างต่ำกว่าผิวดินด้านบนของตลิ่งลงมาประมาณ ๑ - ๔ เมตร วางตัวขนานกันตามแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก ขนาดเตากว้างประมาณ ๒.๐๐ - ๓.๕๐ เมตร ปากเตาหันไปทางทิศใต้ ผนังเตาหนาประมาณ ๑๐ เซนติเมตร มีคราบน้ำเคลือบสีขาวอมเทาติดอยู่ พบกี๋ลักษณะเป็นก้อนดินเผารูปลิ่ม ภาชนะที่ผลิตจากกลุ่มเตานี้เป็นภาชนะดินเผาเนื้อดินสีแดง อาจเป็นทรงไหที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก มีตกแต่งด้วยลายเส้นนูน และลายขูดขีดเป็นลูกคลื่นด้วยซี่หวี ภาชนะเนื้อดินแกร่งไม่เคลือบมีสีผิว และเนื้อดินเป็นสีเทา รูปทรงส่วนใหญ่เป็นประเภทไหปากแตร ภาชนะเคลือบสีน้ำตาล มีส่วนผสมของแร่เหล็กอยู่มาก น้ำเคลือบสีน้ำตาลทอง น้ำตาลเข้มรูปทรงไห
            กลุ่มเตาบ้านนาทม  อยู่ที่บ้านนาทม อำเภอนาทม พบทั้งที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสงคราม และบริเวณที่อยู่เหนือจากฝั่งแม่น้ำขึ้นไปประมาณ ๓๐๐ เมตร ลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีร่องรอยปล่องเตาค่อนข้างสมบูรณ์อยู่สองเตา
            กลุ่มเตาบ้านหาดแพง  อยู่ที่บ้านหาดแพง ตำบลหาดแพง อำเภอศรีสงคราม อยู่ห่างจากกลุ่มเตาที่กล่าวมาแล้วมาก พบอยู่ริมแม่น้ำสงคราม บริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านที่เรียกกันว่าขุมข้าว พบเพียงสองเตา เป็นเตาที่ผลิตภาชนะทั้งประเภทเนื้อดิน และเนื้อดินแกร่ง รูปแบบที่พบมากคือ ภาชนะทรงไหปากแตร และไหน้ำหล่อ ส่วนรูปทรงอื่น ๆ เช่น ถ้วย ชาม และครก เป็นต้น
            วัดศรีสงคราม  อยู่ในเขตตำบลท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม ลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ ติดกับแม่น้ำสงคราม พบเศษภาชนะดินเผาลักษณะเหมือนกับที่พบบริเวณแหล่งเตา คือมีทั้งแบบเนื้อดิน และเนื้อดินแกร่งเคลือบสีน้ำตาล ภาชนะสีเทาเนื้อแกร่ง และชนิดที่เคลือบนั้นเนื้อดินค่อนข้างหยาบ เนื้อดินปั้นสีเทาหรือคล้ำ เศษภาชนะที่พบน่าจะเป็นประเภทชาม ถ้วย ไห และไหปากแตร ไหบางชนิดประดับด้วยหูหลอกเล็ก ๆ ลวดลายตกแต่งเป็นลายซี่หวีขูดขีดเป็นรูปคลื่น และเส้นขนานรอบส่วนไหล่
            บ้านศรีเวินชัย  อยู่ในเขตตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม พบเศษภาชนะดินเผาส่วนใหญ่มีเนื้อแกร่งสีเทาไม่เคลือบ เนื้อละเอียด เป็นถ้วยขนาดใหญ่ และไหปากแตร ลวดลายมักเป็นลายขูดขีดซี่หวีเป็นลูกคลื่น หรือเส้นขนาน
            สำนักสงฆ์ดงเจ้าจันทร์  อยู่ในเขตตำบลบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม พบภาชนะที่สมบูรณ์ รูปทรงส่วนใหญ่เป็นไหปากแตร ทั้งชนิดที่เคลือบและไม่เคลือบ มีเนื้อแกร่ง ลวดลายคล้ายสัตว์ หรือสัญลักษณ์บางอย่าง นอกจากนี้ยังพบภาชนะอีกกลุ่มหนึ่ง ตกแต่งด้วยลวดลายพิเศษ แตกต่างจากที่พบในแหล่งอื่น ๆ เนื้อดินมีความแกร่งมาก มีลวดลายกดประทับอย่างต่อเนื่องรอบบริเวณส่วนไหล่ของภาชนะ  บางลายคล้ายกับที่พบที่แหล่งเตาบ้านบางปูน จังหวัดสุพรรณบุรี
            แหล่งเตาในลุ่มแม่น้ำสงคราม มีผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงความเกี่ยวพันกับชุมชนโบราณแห่งอื่น ลักษณะของเตาที่ขุดลึกเข้าไปในตลิ่งเป็นแบบของเตาเผารุ่นแรก ๆ ทางล้านนา และศรีสัชนาลัย อุปกรณ์การผลิตเช่นกี๋ก็น่าจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเตาที่เวียงจันทน์ อายุของกลุ่มเตาลุ่มน้ำสงครามน่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษ ที่ ๒๐ - ๒๓
       แหล่งเกลือโบราณกลุ่มแม่น้ำสงคราม
            จังหวัดนครพนมอยู่ในเขตพื้นที่ดินเค็ม ชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำสงครามบางส่วนมีอาชีพการทำเกลือมาแต่ดั้งเดิม บริเวณแหล่งโบราณคดีที่ทำเกลือตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีดินเค็มมาก มีชั้นน้ำใต้ดินเค็ม อยู่ตื้นใกล้ผิวดิน จึงน่าจะใช้วิธีทำเกลือจากน้ำเกลือโดยตรง ทำให้ไม่มีแนวดินที่มีการเผาไหม้มากนัก แหล่งเกลือโบราณดังกล่าวได้แก่
            สำนักสงฆ์โพนช้างขาวสันติธรรม อยู่ที่บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า ลักษณะเป็นเนินดินใหญ่ สูงประมาณ ๙ เมตร ตั้งอยู่กลางพื้นที่ราบที่เป็นทุ่งนา บนเนินดินพบโครงกระดูกมนุษย์สองโครงร่วมกับภาชนะดินเผาหนึ่งใบ ชิ้นส่วนหินดุ กระดูกสัตว์ เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ และลายกดทับ
            โพนส้มโฮง  อยู่ที่บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า ลักษณะเป็นเนินดิน สูงประมาณ ๖ เมตร บนเนินดินมีเศษภาชนะดินเผาทับถมกันหนาแน่น ผิวภาชนะตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ
            โพนแต้  อยู่ที่บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า ลักษณะเป็นเนินดิน สูงประมาณ ๕ เมตร อยู่กลางพื้นที่ราบที่เป็นทุ่งนา พบเศษภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ พบชิ้นส่วน หินด ุหนึ่งชิ้น
            โพนกอก  อยู่ที่บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า ลักษณะเป็นเนินดิน สูงประมาณ ๓ เมตร อยู่บนพื้นที่ราบที่เป็นทุ่งนา พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ พบชิ้นส่วนหินดุหนึ่งชิ้น
            โพนตุ่น  อยู่ที่บ้านบะหว้า ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า ลักษณะเป็นเนินดิน สูงประมาณ ๗ เมตร อยู่กลางทุ่งนา พบเศษภาชนะดินเผา ส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ
            โพนจุลณี อยู่ที่บ้านบะหว้า ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า ลักษณะเป็นเนินดิน สูงประมาณ ๖ เมตร อยู่กลางทุ่งนา พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบเตาลุ่มน้ำสงคราม ๑ ชิ้น
            วัดโพธิเครือ  อยู่ที่บ้านเสียว ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า ลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ อยู่กลางทุ่งนา พบเศษภาชนะดินเผาทับถมกันอยู่อย่างหนาแน่น ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ และแบบเรียบ พบภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบเตาลุ่มแม่น้ำสงครามอยู่หนึ่งชิ้น พบชิ้นส่วนหินดุ และกระดูกสัตว์
           สำนักสงฆ์หัวแข้สันติธรรม อยู่ที่บ้านเสียว ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า ลักษณะเป็นเนินดินอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดโพธิเครือ พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วเนิน ผิวภาชนะตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ พบชิ้นส่วนหินดุ และกระดูกสัตว์
ภาษาและวรรณกรรม

            ภาษาถิ่นของชนเผ่าต่าง ๆ ประชาชนชาวจังหวัดนครพนม มีอยู่หลายเผ่าพันธุ์ มีภาษาและสำเนียงพูดแตกต่างกันออกไป เผ่าที่สำคัญมีอยู่ เจ็ดเผ่า คือ
            เผ่าไท - ลาว  เป็นชาวไทยกลุ่มใหญ่ในจังหวัดนครพนม เช่นเดียวกับชาวไทยอีสานในจังหวัดอื่น ๆ อีกหลายจังหวัด ชาวไทยอีสานได้สืบเชื้อสายต่อเนื่องมานานนับแต่ พ่อขุนบรมปฐมวงศ์ของกษัตริย์เผ่าไทย จนถึงสมัยอยุธยา ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๒๓๒ ไทยอีสานส่วนหนึ่งได้อพยพลงมาตามลำน้ำโขง แล้วแผ่ขยายต่อไปตามลำน้ำชี ลำน้ำมูล และลำน้ำสายสำคัญอื่น ๆ ที่ไหลมาบรรจบแม่น้ำโขง
            เผ่าไทย้อ  ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ในประเทศลาวในปัจจุบัน ต่อมาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองไชยบุรี ปากแม่น้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน
            เผ่าผู้ไทย ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอเรณูนคร อำเภอนาแก อำเภอธาตุพนม อำเภอนาหว้า เดิมได้ตั้งอยู่ในแคว้นสิบสองจุไท สิบสองปันนา ได้อพยพมาอยู่ในถิ่นฐานปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙
            เผ่าไทยกะเลิง  มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และได้อพยพเข้ามาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ โดยมาตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์
            ภาษากะเลิงจัดอยู่ในตระกูลภาษาไท เช่นเดียวกับภาษาผู้ไทย ภาษาย้อ ภาษากะเลิงไม่มี ฟ.ใช้ พ.แทน เช่นไพพ้า (ไฟฟ้า) ไม่มี ฝ.ใช้ ผ.แทน เช่น ผาด (ฝาด) ไม่มี ร.ใช้ ล.แทน หรือ ฮ.แทน เช่น ลำ (รำ) ฮกเฮื้อ(รถเรื้อ) ไม่มี ช.ใช้ ซ.แทน เช่น ซม (ชม) มีอักษรควบใช้เป็นบางคำเช่น ขว้าน (ข้าม) สวาบ (สวบ) ทวาย (ทาย)
            เผ่าไทยแสก  เดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองรองขึ้นกับกรุงเว้ ทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม ต่อมาได้อพยพลงมาตามลำน้ำโขง มาตั้งถิ่นฐานชั่วคราวอยู่ระหว่างประเทศเวียดนามกับประเทศลาว ต่อมาในสมัยอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ชาวแสกได้อพยพข้ามแม่น้ำโขง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ป่าหวายโศก ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า บ้านอาจสามารถ หรือเมืองอาจสามารถ และต่อมาก็ได้โยกย้ายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ อีกในเขตอำเภอนาหว้า อำเภอศรีสงคราม และในประเทศลาว
            เผ่าไทยโส้ หรือไทยกะโซ่  เป็นตระกูลเดียวกับไทยข่า ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งเมืองขึ้นหลายเมืองคือ เมืองรามราช เป็นชาวกะโซ่จากเมืองเชียงฮ่ม ในแขวงสุวรรณเขต ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลรามราช ตำบลพะทาย ตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน ตำบลโพนสวรรค์ ตำบลบ้านค้อ ตำบลนาขมิ้น อำเภอโพนสวรรค์ นอกจากนี้ยังอยู่ในเขตอำเภอปลาปาก และอำเภอเมือง ฯ
            เผ่าไทยข่า  มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในแขวงสุวรรณเขต สาละวัน และอัตปือในประเทศลาว ได้อพยพมาอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ชาวข่าสืบเชื้อสายมาจากขอมโบราณ ภาษาไทยข่าเป็นภาษาในสาขามอญ เขมร
       จากรึกในจังหวัดนครพนม
            จารึกที่บรรจุอยู่ภายในองค์พระธาตุพนม  แบ่งตามเนื้อหาได้แปดประเภทคือ
              จารึกฐานพระพุทธรูปบุเงิน ปางมารวิชัย จารึกด้วยอักษรไทยน้อย อายุประมาณ พ.ศ.๒๑๙๑ - ๒๒๔๔ กล่าวถึงการสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
              จารึกฐานพระพุทธรูปบุเงินปางมารวิชัย จารึกด้วยอักษรไทยน้อย อายุประมาณ พ.ศ.๒๒๓๒ กล่าวถึงการสร้างขึ้นเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา และปรารถนาถึงพระนิพพาน
              จารึกฐานพระพุทธรูปบุเงินปางมารวิชัย จารึกด้วยอักษรไทยน้อย อายุประมาณ พ.ศ.๒๑๙๑ - ๒๒๔๔ กล่าวถึงการสร้างขึ้น เพื่ออุทิศไว้กับพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งมอบข้าคนให้เป็นข้าวัด
              จารึกฐานพระพุทธรูปบุเงินปางมารวิชัย จารึกด้วยอักษรไทยน้อย อายุประมาณ พ.ศ.๒๒๔๔ กล่าวถึงการสร้างขึ้นเพื่อขอให้สำเร็จตามความปรารถนา
              จารึกฐานพระพุทธรูปบุเงินปางมารวิชัย จารึกด้วยอักษรไทยน้อย อายุประมาณ พ.ศ.๒๑๙๑ - ๒๒๔๔ กล่าวถึงการสร้างขึ้นเพื่อสะเดาะเคราะห์
              จารึกฐานพระพุทธรูปบุเงินปางมารวิชัย จารึกด้วยอักษรไทยน้อย อายุประมาณ พ.ศ.๒๒๓๒ กล่าวถึงการสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่ไหว้นบ
              จารึกฐานพระพุทธรูปบุเงินปางมารวิชัย จารึกด้วยอักษรไทยน้อย อายุประมาณ พ.ศ.๒๒๑๘ กล่าวถึงการสร้างขึ้นเพื่อเป็นการทำบุญ
              จารึกแผ่นทอง จารึกเป็นภาษาบาลี อักษรลาวตัวธรรม จารึกคาถาปฏิจจสมุปบาท
              จารึกลานเงิน จารึกด้วยอักษรไทยน้อย อายุประมาณ พ.ศ.๒๒๔๑ กล่าวถึงการนำอูบพระธาตุชินเจ้าที่จันทปุระมาฐาปนาในองค์พระธาตุพนม
              จารึกลานเงิน จารึกด้วยอักษรไทยน้อย อายุประมาณ พ.ศ.๒๒๓๘ เป็นพระราชสาส์นตราตั้ง
กล่าวถึงพระราชอาชญาเจ้านครวรกษัตริย์ ฯ
            จารึกวัดพระธาตุพนม  มีทั้งที่จารึกที่ฐานพระพุทธรูปบุเงิน จารึกใบเสมาหินทราย จารึกแผ่นอิฐเผารูปใบเสมา
จารึกพระพุทธรูปศิลาทราย รวม ๖ จารึกด้วยกัน คือ
            จารึกฐานพระพุทธรูปวัดพระธาตุพนม ๑  ปางมารวิชัย พบที่พระอุโบสถวัดพระธาตุพนม จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน
และอักษรไทยน้อย จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๖ ปัจจุบันเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระธาตุพนม
              จารึกวัดพระธาตุพนม ๒  จารึกใบเสมาหินทราย พบที่ใต้ฐานหอพระแก้ว วัดพระธาตุพนม จารึกด้วยอักษรไทยน้อย เมื่อ จ.ศ.๙๗๖
(พ.ศ.๒๑๕๗)  ปัจจุบันอยู่ในวิหารวัดพระธาตุพนม สาระที่จารึกมีความว่า พระยานครพิชิตธานี พร้อมด้วยท้าวพระยาในท้องถิ่น
ได้บูรณะวัดพระธาตุพนม และสร้างกำแพงแก้วล้อมรอบพระธาตุ รวมทั้งสร้างถาวรวัตถุอื่น ๆ
ตอนท้ายได้สาปแช่งผู้ถือสิทธิครอบครอง ทำลายทานวัตถุอันได้แก่ ทาสโอกาส ที่ดิน ไร่นาของวัด ได้กล่าวถึงการบูรณะเรือนธาตุชั้นที่ ๑
และการตกแต่งด้วย
              จารึกพระธาตุพนม ๓  จารึกแผ่นอิฐเผารูปใบเสมา จารึกด้วยอักษรไทยน้อย เมื่อ จ.ศ.๑๑๖๘ (พ.ศ.๒๓๔๙) กล่าวถึงพระยาจันทสุริยวงศา
เจ้าเมืองมุกดาหาร ได้ส่งขุนนางมาช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนา สร้างพระอุโบสถวัดพระธาตุพนม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๙
              จารึกวัดพระธาตุพนม ๔ จารึกพระพุทธรูปหินทราย พบที่เจดีย์รายด้านทิศตะวันตกขององค์พระธาตุพนม จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐  กล่าวถึงหัวครูจันทราได้สร้างพระพุทธรูปไว้กับวัดพระธาตุพนม
              จารึกวัดพระธาตุพนม ๕  จารึกใบเสมาหินทราย จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน เมื่อปี จ.ศ.๑๒๘๓ (พ.ศ.๒๔๖๔) กล่าวถึงเจ้าครูศีลาภิรัตน์
พร้อมญาติโยมได้ประดิษฐาน พัทธสีมาที่วัดพระธาตุพนม
              จารึกวัดพระธาตุพนม ๖  จารึกใบเสมาหินทราย จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ กล่าวถึงพระครูศีลาภิรัตน์ พร้อมคณะสงฆ์และทายกทายิกา ทั้งหลายได้พร้อมใจกันสร้างหอสวดมนต์ที่วัดพระธาตุพนม
            จารึกวัดไตรภูมิ  มีอยู่สองจารึกด้วยกัน เป็นจารึกบนใบเสมาหินทราย คือ
              จารึกวัดไตรภูมิ ๑  พบที่วัดใต้เมืองไชยบุรี จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน อายุประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๕๗ ปัจจุบันอยู่ที่วัดไตรภูมิ บ้านไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน กล่าวถึงเจ้าเมืองหงสาวดีพี่น้อง ซึ่งย้ายมาจากเมืองหงสา หรือหงสาวดี ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณปากน้ำสงคราม ตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรี และพร้อมด้วยเสนาอมาตย์ได้พร้อมกันสร้างวัดสุนันทมหาอาราม
              จารึกวัดไตรภูมิ ๒  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย อายุประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๘๓ ปัจจุบันอยู่ที่วัดไตรภูมิ มีความว่า เจ้าเมืองหงสาวดีสองพี่น้อง มาตั้งเมืองไชยสุทธิ์ อุตมบุรี (ไชยบุรี) เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๗ และพร้อมใจกันสร้างวัดมหาอุตมนันท อาราม
             จารึกฐานพระพุทธรูปวัดศรีชมชื่น  เป็นจารึกที่ฐานพระพุทธรูปสำริด จารึกด้วยอักษรไทยน้อย อายุประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๔๙ ปัจจจุบันอยู่ที่วัดศรีชมชื่น บ้านพิมาน ตำบลพิมาน อำเภอนาแก มีความว่า มหาราชครูคัมภีร์ปัญญาสร้างพระพุทธรูปไว้เพื่อพระพุทธศาสนา และปรารถนาพระนิพพาน
            จารึกฐานพระพุทธรูปวัดโอกาสศรีบัวบาน  เป็นจารึกบนฐานพระพุทธรูปศิลา จารึกด้วยอักษรธรรมอีสานอายุประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๙๘ ปัจจุบันอยู่ที่วัดโอกาศศรีบัวบาน อำเภอเมือง ฯ มีความว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแต่งตั้งเจ้าอุปราชชื่น เป็นพระพนมนครานุรักษาธิบดีศรีโคตรบองหลวง เจ้าเมืองนครพนม จึงสร้างพระพุทธรูปศิลาขนาดหนักเท่าตัวในวันขึ้นครองเมืองนครพนม
            จารึกพระบาง  พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร  หล่อด้วยทองเหลือง จารึกด้วยอักษรลาวเก่า เมื่อปี พ.ศ.๒๐๐๘ ปัจจุบันอยู่ที่วัดไตรภูมิ มีความว่า สมเด็จพระเหมวันทากับทังอังเตวาสิก อุบาสก อุบาสิกาได้สร้างพระขนาดเท่าตัวคนไว้เป็นที่สักการบูชา
            จารึกวัดแก่งเมือง  เป็นจารึกบนเสมาหินทราย พบที่วัดแก่งเมือง อำเภอเมือง ฯ จารึกด้วยอักษรไทยอีสาน (ไทยน้อย)
            จารึกฐานพระพุทธรูปวัดโพธิ์ศรี  เป็นจารึกบนฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย พบที่วัดโพธิ์ศรี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ จารึกด้วยอักษรไทย - ธรรมอีสาน เมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๖
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
      การแต่งกาย
            ไทยอีสาน (ไทยลาว)  ชาย ใส่เสื้อคอกลม แขนสั้นสีดำมีแถบแดง กางเกงขาทรงกระบอก มีผ้าขาวม้าคาดพุง หญิง ใส่เสื้อคอกลมแขนยาวสีดำ มีแถบแดง นุ่งผ้าถุงสีดำ คาดเข็มขัดสีแดง สวมสร้อยเงิน ตุ้มหูเงินเกล้าผมมวย ผูกผ้าแดงที่ผม หรือประดับดอกไม้ ถ้าเป็นหญิงสูงศักดิ์จะมีผ้าสไบ  และผ้าถุงถักทอด้วยดิ้นเงิน และดิ้นทองเพิ่มไปด้วย
            ไทยญ้อ (ไทญ้อ)  ชาย ใส่เสื้อคอพวงมาลัยสีเขียว นุ่งโจงกระเบนสีน้ำเงิน มีผ้าสไบไหมสีน้ำเงินคล้องคอ และมีผ้าสไบสีแดงคาดเอว  หญิง สวมเสื้อสีบานเย็นแขนทรงกระบอก นุ่งผ้าถุงไหมมีเชิงเป็นตีนจก มีเข็มขัดคาดเอว และมีผ้าสไบสีแดงพาดไหล่
            ไทยโส้(ไทโซ่) ชาย ใส่เสื้อหม้อหห้อม นุ่งโสร่งผ้าไหม มีผ้าขาวม้าโพกหัว และคาดเอว  หญิง สวมเสื้อหม้อห้อมและนุ่งผ้าถุงสีดำเชิงผ้าถุงเป็นตีนจก คาดเข็มขัดเป็นลวด
            ผู้ไทย (ผู้ไท)  ชาย นุ่งกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อหม้อห้อมนิลสีน้ำเงิน คอพระราชทานขบิบแดง กระดุมทองหรือเงิน ผ้าแพรลายเลงไหม (ผ้าขาวม้าไหม) มัดเอง ประแป้ง แต่งหน้า มีดอกไม้ทัดหู สวมกำไลเงินที่ข้อมือและข้อเท้า หญิง นุ่งผ้าถุงสีน้ำเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกสีน้ำเงินขลิบแดง ประดับด้วยกำไล และสร้อยทอง หรือเงิน คาดสไบสีต่าง ๆ ส่วนมากจะเป็นสีขาว
            ไทยแสก (ไทแสก)  ชาย สวมเสื้อหม้อห้อม และนุ่งกางเกงขาก๊วยสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดเอว และมีผ้าสไบคล้องคอ หญิง สวมเสื้อหม้อห้อมแขนยาว นุ่งผ้าถุง เชิงผ้าถุงเป็นตีนจก คาดเข็มขัด เป็นผ้าปักลายด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง และสไบ
            ไทยกระเลิง  แต่งกายคล้ายไทยแสก
            ไทยข่า  แต่กายคล้ายไทยกระเลิง
      การกินอยู่
            อาหารพื้นเมืองได้แก่ ข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง ลาบ ป่นปลา ผักต้มจิ้มแจ่ว แก่งอ่อม สำหรับชาวชนบท จะกินสัตว์เกือบทุกชนิดที่มีอยู่ในท้องถิ่น รสชาติของอาหารนิยมรสจัดมาก คือ เค็มจัด เปรี้ยวจัด และเผ็ดจัด ไม่นิยมอาหารที่มีไขมันที่ใช้กะทิ หรือมันหมู การปรุงอาหารมักใส่หอม กระเทียม กะปิ ปลาร้า การกินในครอบครัว จะตั้งวงกินรวมกันทั้งหมด ระหว่างเวลากินอาหารจะพูดคุยปรึกษาหารือกันในเรื่องต่าง ๆ ผู้อาวุโสส่วนมากจะแนะนำสั่งสอนลูกหลานให้รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น และการละเล่นพื้นบ้านให้ถูกต้อง เป็นต้น

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |