| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ
            นครราชสีมาเคยมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ และมีชื่อเสียงมากในอดีตคือ ดงพญาไฟ  ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ดงพญาเย็น  ปัจจุบันนครราชสีมาเหลือพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ ร้อยละ 11 ของพื้นที่จังหวัด หรือประมาณ 12.8 ล้านไร่  มีพื้นที่ป่าตามกฏหมายป่าไม้อยู่ดังนี้
            ป่าสงวนแห่งชาติ   จำนวน 29 ป่า มีพื้นที่ประมาณ 4.86 ล้านไร่
            ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี   จำนวน 4 ป่า มีพื้นที่ประมาณ 34,000 ไร่
            วนอุทยาน  มีแห่งเดียว คือ วนอุทยานน้ำตกเจ็ดสาวน้อย อยู่ในเขตอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และในเขตอำเภอปากช่อง  จังหวัดนครราชสีมา  มีพื้นที่ 540 ไร่  ประกาศเป็นวนอุทยาน เมื่อปี พ.ศ. 2523
            อุทยานแห่งชาติ  มีอยู่ 2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
            เป็นอุทยาน ฯ ที่มีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัดนครราชสีมา เป็นอุทยาน ฯ แห่งแรกของประเทศไทย  และเป็นอุทยานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภาคพื้นอาเซียอาคเนย์  จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2505  มีพื้นที่ครอบคลุมสี่จังหวัดคือ นครราชสีมา  สระบุรี  นครนายก  และปราจีนบุรี  มีพื้นที่ประมาณ 2,168 ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ 1,355,000 ไร่
            เมื่อปี พ.ศ. 2515  คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติของโลก  ได้มีมติประกาศยกย่องอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นอุทยานหนึ่งในห้าของโลก ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2523  ประเทศไทยได้เสนอชื่ออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้เป็นมรดกโลก
            สภาพทั่วไปของอุทยาน ฯ เป็นป่าดงดิบ ซึ่งมีทั้งป่าดงดิบชื้น  ป่าดงดิบแล้ง  และป่าดงดิบเขา  สลับด้วยทุ่งหญ้าในบางแห่ง  เทือกเขาใหญ่ซึ่งอยู่ในเขตอุทยาน ฯ ประกอบด้วยภูเขาหลายลูกด้วยกัน เช่น เขาเขียว  เขาร่ม  เขาแหลม  เขาสามยอด  เขาฟ้าผ่า  เขากำแพง  และเขาสมอปูน เป็นต้น  เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารเป็นจำนวนมาก  เช่น ลำตะคอง  ลำพระเพลิง  ลำมูลบน  ลำแซะ  แม่น้ำป่าสัก  แม่น้ำมูล  และแม่น้ำบางปะกง
            น้ำตก  อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีน้ำตกที่เกิดจากเทือกเขาใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก  ที่อยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา  และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี  ได้แก่  น้ำตกเหวสุวัด  น้ำตกเหวไทร  น้ำตกเหวประทุน  น้ำตกผากล้วย  และน้ำตกกรองแก้ว  เป็นต้น
            หนองน้ำ  มีกระจายอยู่ทั่วไปที่สำคัญได้แก่  หนองผักชี  หนองขิง  หนองขมิ้น
อุทยานแห่งชาติทับลาน
            เป็นอุทยาน ฯ ที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับสองของไทย  มีพื้นที่ประมาณ 2,240 ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ 1.4 ล้านไร่  อยู่ในเขตอำเภอปักธงชัย  อำเภอครบุรี  อำเภอเสิงสาง  อำเภอวังน้ำเขียว  ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2524  เป็นอุทยานลำดับที่ 9 ของประเทศ
            สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบชื้น  ป่าดงดิบแล้ง  ป่าเต็งรัง  และป่าเบญจพรรณ  ทิวเขาพนมดงรัก  เขากำแพง  เขาละมั่งเป็นยอดสูงสุด สูงประมาณ 990 เมตร  จากระดับน้ำทะเล  ทิวเขาเหล่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยขมิ้น  คลองตาดำ  ห้วยก้างปลา  ห้วยสวนฮ่อม  ลำน้ำเหล่านี้จะไหลลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำบางปะกง
           น้ำตก น้ำตกห้วยใหญ่   เป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดของอุทยาน ฯ  น้ำตกสูงประมาณ 50 เมตร  กว้างประมาณ 30 เมตร  หน้าผาตรงบริเวณน้ำตกโค้งเป็นมุมกว้าง 150 องศา  นอกจากนั้นยังมีน้ำตกที่สวยงาม คือ น้ำตกสวนห้อม  น้ำตกทับลาน  และน้ำตกเหวนกกก
           ป่าลาน
            อยู่บริเวณทุ่งราบและเชิงเขาทางด้านตะวันตกของอุทยาน ฯ  นับเป็นป่าลานแห่งสุดท้ายของประเทศไทย  ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด  และเป็นเอกลักษณ์ของอุทยาน ฯ แห่งนี้  ต้นลานเป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์  ในจำพวกปาล์มขนาดใหญ่  และแข็งแรง  มีการเจริญเติบโตช้ามาก  ต้นสูงประมาณ 15-20 เมตร  ชอบขึ้นเป็นดงใหญ่  มีอายุเพียง 80 ปี  เมื่อออกดอกตกลูก และเป็นผลแก่แล้ว  ต้นเดิมก็จะตายไป
           ดงพญาเย็น  เป็นทั้งชื่อทิวเขา และชื่อป่าดงดิบขนาดใหญ่  ในอดีตเคยเป็นกำแพงธรรมชาติที่กั้นภาคอีสาน และภาคกลางออกจากกัน  ทิวเขาดงพญาเย็นต่อจากทิวเขาเพชรบูรณ์ ในเขตอำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ  ผ่านเขตอำเภอด่านขุนทด  อำเภอชัยบาดาล  เขาตะเคียนงาม  เขาแสนห่า  เขาไม้จันทน์  เขาอินทนี  และเขาแก้ว  รวมความยาวประมาณ 144 กิโลเมตร  ปากดงพญาไฟอยู่บริเวณเชิงเขาอำเภอแก่งคอย  และออกจากดงที่อำเภอปากช่อง  เส้นทางนี้ต้องเดินด้วยเท้า  ใช้โคต่างหรือเกวียนไม่ได้  การเดินเท้าใช้เวลา 2 คืน จึงพ้นดง ที่ตำบลปากช่องจากนั้นจึงใช้เกวียนได้
แหล่งน้ำสำคัญ
           ลำเชียงไกร  มีต้นกำเนิดจากภูเขาในเขตอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ  ไหลลงแม่น้ำมูลที่อำเภอพิมาย  ลุ่มน้ำลำเชียงไกรเป็นลุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ  มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอยู่ 4 แห่ง มีความจุรวมประมาณ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร
           ลำตะคอง  เป็นสาขาสำคัญของแม่น้ำมูลต้นน้ำเกิดจากหุบเขาระหว่างเขาฝาละมีกับเขาสามยอด  ชายเขตจังหวัดนครนายกกับจังหวัดนครราชสีมา ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  ลงสู่ที่ราบที่อำเภอปากช่องผ่านอำเภอสีคิ้ว  อำเภอสูงเนิน  จากนั้นไหลลงสู่แม่น้ำมูล ที่ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 175 กิโลเมตร  เป็นลำน้ำที่หล่อเลี้ยงเมืองเสนาและเมืองโคราชในอดีต อ่างเก็บน้ำละตะคอง เกิดจากการสร้างเขื่อนลำตะคอง ซึ่งเป็นเขื่อนดินสูง 40 เมตร ยาว 520 เมตร  อ่างเก็บน้ำลำตะคองเก็บกักน้ำได้ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนกว้างที่สุด 7.5 กิโลเมตร และยาว 19 กิโลเมตร  สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ประมาณ 238,000 ไร่  และในฤดูแล้งได้ประมาณ 150,000 ไร่  ทิวทัศน์ริมอ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีความงามตามธรรมชาติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตก
           ลำพระเพลิง  เป็นสาขาของแม่น้ำมูล มีต้นกำเนิดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  มีพื้นที่ลุ่มน้ำครอบคลุม 5 อำเภอ  มีอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง  มีความจุประมาณ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นอ่างเก็บน้ำหลักของลำน้ำสายนี้  นอกจากนั้นยังมีอ่างเก็บน้ำลำลำลายซึ่งเป็นสาขาของลำพระเพลิง  มีความจุประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร  และมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ลุ่มน้ำแห่งนี้
           ลำมูลบนและลำแซะ  เป็นสาขาของแม่น้ำมูล  มีต้นกำเนิดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่สองแห่งคือ อ่างเก็บน้ำมูลบน  มีความจุประมาณ 141 ล้านลูกบาศก์เมตร  และอ่างเก็บน้ำลำแซะความจุประมาณ 275 ล้านลูกบาศก์เมตร  และมีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก  กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งสองสายนี้
           ลำน้ำสะแทด  มีต้นกำเนิดอยู่ที่ห้วยปราสาท ในเขตอำเภอคง อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดนครราชสีมา  ในพื้นที่ลุ่มน้ำนี้ มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอยู่ 5 แห่ง  มีความจุรวมประมาณ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ลุ่มน้ำ
           ลำปลายมาศ  เป็นสาขาของแม่น้ำมูล ไหลลงสู่แม่น้ำมูลบน บริเวณตอนเหนือของอำเภอชุมพวง  ในเขตลุ่มน้ำมีอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ  มีความจุประมาณ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก กระจายอยู่ในพื้นที่มีความจุรวมประมาณ 23 ล้านลูกบาศก์เมตร
           แม่น้ำมูล  มีต้นกำเนิดจากเขาวงและเขาละมัง ของเทือกเขาสันกำแพง  ผ่านบริเวณพื้นที่ตอนกลางของจังหวัดนครราชสีมา  แล้วไหลเข้าสู่จังหวัดบุรีรัมย์  ในเขตอำเภอพุทไธสง  บรรดาลำน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ล้วนเป็นสาขาของแม่น้ำมูลทั้งสิ้น

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |