มรดกทางพระพุทธศาสนา
วัดพระนารายณ์มหาราช
(วัดกลางเมือง)
ตั้งอยู่กลางเมือง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่าวัดกลางเมือง เป็นวัดที่มีความสำคัญคู่บ้านคู่เมืองนครราชสีมา
มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้ง และได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ เมื่อปี
พ.ศ. 2493-2494 ทำให้พระอุโบสถและพระวิหารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
โดยได้รื้อเครื่องไม้ของวิหารที่ชำรุดออก หน้าบันเดิมเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองฝีมือช่างอยุธยาชำรุดมาก
จึงได้บูรณะใหม่โดยการปั้นปูนเป็นลวดลาย ตามแบบที่ปรากฏบนเครื่องไม้เดิม
วัดศาลาลอย
ตั้งอยู่นอกเมืองนครราชสีมา ติดกับลำตะคองที่ไหลลงสู่แม่น้ำมูล
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ท้าวสุรนารีและเจ้าพระยามหิศราธิบดี ผู้เป็นสามีเป็นผู้สร้างวัดนี้เมื่อ
ปี พ.ศ. 2307 และเมื่อท้าวสุรนารีถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2395
ก็ได้ทำการฌาปนกิจ และได้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ที่วัดแห่งนี้ ต่อมาเมื่อเจดีย์ดังกล่าวชำรุด
พล.ต.พระยาสิงหเสนี ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครราชสีมา ได้สร้างกู่ขนาดเล็กบรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นใหม่
ที่วัดพระนารายณ์มหาราช
วัดหน้าพระธาตุ
(วัดตะคุ)
อยู่ที่บ้านตะคุ ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
โบราณสถานสำคัญในวัดได้แก่ พระอุโบสถหลังเก่า พระธาตุและหอไตรกลางน้ำ
พระอุโบสถหลังเก่า เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าฐานกว้าง และสอบด้านบน หลังคาเหลี่ยม
หน้าจั่วเป็นชั้นลดหนึ่งชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ประดับด้วยกระเบื้องเชิงชาย
หน้าบันเครื่องไม้ด้านทิศตะวันออกสลักเป็นรูปดอกพุดตาน หน้าบันด้านหลังจำหลักเป็นลายพรรณพฤกษา
พื้นหลังของหน้าบันประดับกระจกสีเขียวเข้ม ผนังด้านนอก ด้านหน้าและภายในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ที่มีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ผนังด้านนอกเขียนภาพพระพุทธเจ้า
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เจดีย์จุฬามณี สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
เนมิราชชาดก ภายในพระอุโบสถเขียนภาพชาดกในจุลปทุมชาดก และทศชาติชาดก
ภาพรอยพระพุทธบาทห้ารอย
ด้านหน้าพระอุโบสถมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีหอไตรตั้งอยู่กลางสระ
เป็นหอไตรทรงเตี้ยแบบพื้นเมืองอีสาน บานประตูเขียนลายรดน้ำเรื่องกากี
ด้านหลังเขียนภาพพุทธประวัติ ผนังด้านนอกทั้งสองด้านเขียนลายกนก
ลายประจำยาม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ประกอบลายเทพนม ภายในเขียนภาพลายดอกไม้
และเทวดา
ระหว่างหอไตรและพระอุโบสถ มีพระธาตุศิลปรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีฐานเตี้ย
เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ยอดธาตุเรียวแหลมมีสองชั้น
วัดโคกศรีษะเกษ
อยู่ที่บ้านโคกศรีษะเกษ ตำบลนกออก อำเภอปักธงชัย มีโบราณสถานที่สำคัญคือ
สิมและหอแจก (ศาลาการเปรียญ) สิมก่อด้วยอิฐมีลักษณะทึบ มีประตูเข้าทางด้านด้านหน้าและด้านหลัง
ด้านละสองประตู ผนังด้านข้างเจาะเป็นช่องหน้าต่าง หลังคาทรงจั่วมีชายจั่วและปีกนกคลุมตลอด
บริเวณเพดานไม้และคอสอง หนึ่งภาพเขียนภาพพุทธประวัติ
ด้านหลังสิมมีศาลาการเปรียญ บริเวณเพดานคอหนึ่ง และคอสองเขียนจิตรกรรมภาพสัตว์
มีนกหงส์และค้างคาว เป็นต้น
วัดบึง
ตั้งอยู่ภายในตัวเมืองนครราชสีมา เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา
มีโบราณสถานที่สำคัญคือ พระอุโบสถ เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย
ซึ่งมีลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมเช่นนี้ เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในภาคอีสาน
พระอุโบสถก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคาเครื่องบนเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา
เครื่องบนทรงเครื่องลำยอง ประดับช่อฟ้าใบระกา นาคสดุ้ง หางหงส์
ประดับกระจกสี คันทวยแกะสลักไม้เป็นรูปนาคประดับกระจก ฐานเป็นฐานสำเภาเรียกว่าโค้งปากตะเภา
หน้าบันทิศตะวันออกมีความสวยงามมาก แกะสลักไม้เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
ทางทิศตะวันตกแกะสลักรูปพระวิษณุทรงครุฑ ภายในพระอุโบสถมีเสาหัวบัวจงกล
ภายนอกพระอุโบสถมีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐถือปูน มีในเสมาหินทรายแปดทิศตั้งอยู่บนฐานสิงห์
ตอนปลายเป็นบัวเกษร