| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
จังหวัดน่าน มีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ถึงสามส่วน อีกหนึ่งส่วนเป็นที่ราบลุ่ม
มีภูเขาสูงติดชายแดน จากสภาพภูมิประเทศดังกล่าวเป็นแหล่งกำเนิดมรดกทางธรรมชาติที่แปลกตา
และสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นอยู่หลายแห่งด้วยกัน
เสาดินนาน้อย
เสาดินนาน้อยอยู่ที่บ้านน้ำหก ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย อยู่ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศใต้
ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร มีสภาพภูมิประเทศตามธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ ลักษณะเป็นภูเขาดินที่ถูกน้ำกัดเซาะสึกกร่อนพังทลาย
ที่เหลือกลายเป็นเสาสูงตระหง่าน มีรูปร่างต่าง ๆ ตามแต่จะจินตนาการ เป็นพื้นที่บริเวณกว้างขวาง
กระบวนการเกิดภูมิประเทศลักษณะดังกล่าว เกิดในยุคคลอเทอร์ทาวี ซึ่งมีสารประกอบแตกต่างกันของตะกอนแต่ละชั้น
มีอัตราการสลายตัวแตกต่างกัน เมื่อถูกชะล้างโดยน้ำ และฝนเป็นเวลานาน ส่วนชั้นที่แข็งกว่าจะป้องกันส่วนที่อ่อนกว่าเอาไว้
เมื่อมีการชะล้างมากขึ้นชั้นที่อ่อนกว่าทานน้ำหนักด้านบนไม่ได้ จึงเกิดการพังทลายลงมา
ปรากฏการดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้เสาดินมีรูปร่างเปลี่ยนไปตลอดเวลา
บ่อเกลือโบราณ
เมืองน่านมีบ่อเกลือที่สำคัญอยู่สองแห่งคือ บริเวณต้นน้ำลำว้า ซึ่งมีบ่อเกลือใหญ่อยู่สองบ่อ
อีกแห่งหนึ่งคือ บริเวณต้นน้ำน่าน มีบ่อใหญ่อยู่ห้าบ่อ และมีบ่อเกลือเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก
บ่อเกลือในจังหวัดน่านมีลักษณะพิเศษ เป็นหนึ่งเดียวในโลกที่มีแหล่งกำเนิดอยู่บนเทือกเขาสูง
ในสมัยโบราณเกลือเป็นผลิตผลที่มีความสำคัญ และจำเป็นควบคู่ไปกับข้าว เป็นสิ่งแสดงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง
ในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ ยกทัพมาตีเมืองน่านใน
ปี พ.ศ.๒๐๙๓ ก็เพราะต้องการให้เมืองน่านเป็นเมืองส่งส่วยเกลือ เนื่องจากเมืองน่านมีผลผลิตเกลือเป็นจำนวนมาก
และเป็นแหล่งผลิตเกลือแห่งเดียวที่มีความสำคัญยิ่งในดินแดนล้านนา
หมู่บ้านที่ทำการต้มเกลือส่งไปขายในเมืองมีหมู่บ้านลัวะจำนวนมาก ในเขตตำบลบ่อเกลือเหนือ
และตำบลบ่อเกลือใต้ การเคี่ยวเกลือเดิมจะต้องมีการทำพิธีไหว้ผี เพื่อขออนุญาตตามประเพณี
เมืองน่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ สามารถตักเกลือได้ปีละ ๑,๕๐๐ หาบ
ต้นชมพูภูคา
ต้นชมพูภูคา เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ ๓๐ เมตร ดอกมีลักษณะออกเป็นช่อ
ตามปลายกิ่ง ช่อตั้งตรงยาวประมาณ ๓๐ - ๔๕ เซนติเมตร ดอกสีชมพู เมื่อดอกบานจะชิดกันแน่นทำให้ช่อดอกเป็นพุ่มสวยงามจะออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์
ต้นชมพูภูคา สำรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา
อำเภอปัว ในป่าดิบภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร กล่าวกันว่าพื้นที่ป่าดิบภูเขาบนดอยภูคา
อาจเป็นแหล่งกำเนิดสุดท้ายของต้นชมพูภูคา ซึ่งถือว่าเป็นไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |