| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
การตั้งถิ่นฐาน

            การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในเขตจังหวัดน่าน มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ ๓๕,๐๐๐ - ๒๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในพื้นที่บางส่วนของลุ่มน้ำแหงในเขตอำเภอนาน้อย และลุ่มน้ำน่าน - สา ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอเวียงสา พบเครื่องมือหินกะเทาะแบบหยาบ ๆ ทำจากหินกรวด พบเล็กน้อยจากบริเวณเสาดิน บ้านน้ำหก ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย บ้านดู่ใต้ ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมือง ฯ และพบเครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียวทำจากหินกรวด ค้อนหินบด ค้อนหิน และก้อนหินเจาะรูที่ถ้ำปูเล่ม (ถ้ำอมรินทร์) ในเขตตำบลส้าน อำเภอเวียงสา

            ต่อมาเมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยหินใหม่ มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์กระจายออกไปกว้างขวางขึ้น พบเครื่องมือหินที่พัฒนาไปมากกว่าเดิมในสมัยหินกลางตอนปลาย และต่อเนื่องไปจนถึงเครื่องมือหินขัดในสมัยหินใหม่ประเภทขวานหินมีบ่า และขวานหินไม่มีบ่า กระจายอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอเวียงสา อำเภอเชียงกลาง อำเภอปัว อำเภอแม่จริม และอำเภอบ่อเกลือ พบแหล่งผลิตเครื่องมือหินขนาดใหญ่ที่เขาหินแก้ว เขาชมพู และดอยปู่แก้ว ในเขตตำบลดู่ใต้ อำเภอเมือง ฯ และที่ดอยภูทอก บ้านทุ่งผา อำเภอเวียงสา

            ในสมัยหินใหม่แทบจะไม่พบแหล่งโบราณคดียุคโลหะเลย นอกจากพบพร้าหรือมีดสำริด และเครื่องมือเครื่องใช้โลหะจำนวนเล็กน้อย ทางตอนใต้ของตัวจังหวัด ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ พบกลองมโหระทึกสองใบแบบวัฒนธรรมดองซาน (อายุประมาณ ๒,๕๐๐ - ๒๐๕๐ ปี ) ที่บ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ สันนิษฐานว่ากลองมโหระทึกทั้งสองใบดังกล่าว อาจถูกฝังไว้เมื่อประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ ปีมาแล้ว เนื่องจากเครื่องประดับ แหวนทองคำ แหวนสำริด และแผ่นทองที่บรรจุอยู่ในกลองเป็นวัตถุสมัยประวัติศาสตร์
ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            เมืองน่านในอดีตเป็นนครรัฐเล็ก ๆ ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน และแม่น้ำสาขา ชื่อเมืองน่านในภาษาบาลีคือ นันทบุรี และได้ชื่อว่าเมืองน่าน เพราะเมืองตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำน่าน ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๘ ประมาณ พ.ศ.๑๙๑๕
            เมืองน่านมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานพอ ๆ กับสุโขทัย พะเยา และล้านนา มีเจ้าผู้ครองนครถึง ๖๓ องค์ เนื่องจากเป็นนครรัฐเล็ก ๆ มีประชากรน้อย บางครั้งเป็นอิสระ บางครั้งตกเป็นประเทศราช ของอาณาจักรที่มีอำนาจมากกว่า แบ่งเหตุการณ์ความเป็นมาได้เป็นสี่ช่วงระยะเวลาดังนี้
            ระยะแรกสร้างเมืองปัว และเมืองน่าน (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - พ.ศ.๑๙๙๒ ) เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๒๕ มีคนไทยกลุ่มหนึ่งในการนำของพระยาภูคา ได้ครอบครองพื้นที่ราบตอนบนของจังหวัดน่าน ตั้งศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง (เชื่อกันว่าอยู่บริเวณริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่างใกล้เทือกเขาดอยภูคา ในเขตบ้านหาดเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา) เนื่องจากพบร่องรอยชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำคันดิน กำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ ต่อมาพระยาภูคาได้ขยายอาณาเขตของตนออกไป โดยส่งบุตรบุญธรรมสองคนไปสร้างเมืองใหม่ ทางตะวันออกบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ให้ขุนนุ่นผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (หลวงพระบาง) ให้ขุนฟองผู้น้องไปสร้างเมืองวรนคร หรือเมืองปัว อยู่ไกลจากแม่น้ำน่านประมาณ ๕,๐๐๐ วา
            จากการสำรวจได้พบชุมชนโบราณสี่แห่ง ในพื้นที่อำเภอปัว คือชุมชนโบราณเมืองปัว และชุมชนโบราณบ้านสวนดอก ตำบลปัว ชุมชนโบราณบ้านศาลา ตำบลศิลาแลง และชุมชนบ้านดอยทุ่งกลาง ตำบลแงง ลักษณะของชุมชนโบราณทั้งสี่แห่ง มีลักษณะใกล้เคียงกันคือ มีคูน้ำคันดินรูปวงกลมมน หรือวงรีมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๐๐ - ๖๐๐ เมตร
            เมื่อขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อน ราชบุตรได้ครองเมืองน่าน และเมื่อพระยาภูคาถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนได้ครองเมืองย่างแทน และให้ชายาคือแม่ท้าวคำบินดูแลรักษาเมืองปัวแทน เมืองน่านในระยะเริ่มก่อตั้งอยู่ที่เมืองปัว เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และมีความใกล้ชิดกับเมืองหลวงพระบาง ในฐานะเมืองพี่เมืองน้อง
            พญางำเมือง  เจ้าเมืองพะเยาได้ขยายอิทธิพลเข้าไปครอบครองเมืองน่าน นางพญาแม่ท้าวคำบินได้หลบหนีไปอยู่ที่บ้านห้วยแร้ง และได้คลอดบุตรชายชื่อ เจ้าขุนใส เมื่อโตขึ้นได้เป็นขุนนางอยู่กับพญางำเมือง และได้รับสถาปนาให้เป็นเจ้าขุนใส่ยศให้ไปครองเมืองปราด ต่อมาเมื่อมีกำลังมากขึ้นก็ได้ดิ้นรนจนพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา และได้รับสถาปนาเป็นพญาผานอง ขึ้นครองเมืองปัว ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๖๕ - ๑๘๙๔ จึงพิราลัย เจ้าใสบุตรคนสุดท้องครองเมืองต่อมาได้สามปี ก็พิราลัย พญาการเมือง บุตรพญาผานองอีกคนหนึ่งได้ครองเมืองปัวต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๖

            พญาการเมือง  ครองเมืองปัวอยู่ระหว่าง พ.ศ.๑๘๙๖ - ๑๙๐๑ นับเป็นราชวงศ์ภูคาองค์ที่ห้า เมืองปัวได้ขยายตัวมากขึ้น และมีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยอย่างใกล้ชิด พญาการเมืองได้สร้างพระธาตุแช่แห้งบนภูเพียงแช่แห้ง ระหว่างแม่น้ำเตี๋ยนกับแม่น้ำลิง อยู่ทางด้านทิศตะวันออก (ฝั่งซ้าย) ของแม่น้ำน่าน ห่างออกไปประมาณสามกิโลเมตร และได้อพยพผู้คนจากเมืองปัวลงมาทางใต้ มาสร้างเมืองใหม่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง ในปี พ.ศ.๑๙๐๒ โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลาง
            พญาการเมืองพิราลัย  เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๖ โอรสคือ พระยาผากอง ขึ้นครองราชย์ได้ ๖ ปี ต้องประสบปัญหาน้ำแล้งในฤดูแล้งทุกปี เนื่องจากเมืองตั้งอยู่ไกลแหล่งน้ำมากเกินไป จึงได้ย้ายเมืองมาสร้างใหม่ อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางด้านทิศตะวันตก (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำน่าน ตรงบริเวณบ้านห้วยไค้ คือ บริเวณที่ตั้งของจังหวัดน่านในปัจจุบัน เมื่อวันอังคาร ขึ้นหกค่ำ เดือนสิบสอง พ.ศ.๑๙๑๑

            ชื่อเมืองน่านปรากฏครั้งแรกในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๘ จารึกเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๑๙๑๕ มีความตอนหนึ่งว่า " เบื้องเหนือน้ำน่าน.... เจ้าพระยาผากองเจ้าเมืองน่าน เมืองพลั่ว " ในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๔๕ และ ๖๔ กล่าวถึงการกระทำสัตย์สาบาน ระหว่างปู่พญา (เจ้าพญาผากอง) และหลาน (พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ) ในปี พ.ศ.๑๙๓๕ เพื่อช่วยเหลือกันเมื่อเกิดสงคราม ก่อนหน้านี้เจ้าพญาผากองเคยยกทัพจากเมืองน่าน ลงมาช่วยพระมหาธรรมราชาที่ ๒ รบกับสมเด็จพระธรรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพระงั่ว) เพื่อป้องกันเมืองกำแพงเพชร เมื่อ ปี พ.ศ.๑๙๑๙
            เมื่อพญาผากองพิราลัย เจ้าคำตันโอรสพญาผากองครองราชย์มาได้ ๑๑ ปี (พ.ศ.๑๙๓๑ - ๑๙๔๑ ) ก็ถูกขุนหลวงเมืองใต้ (กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา)ลอบปลงพระชนม์โดยการนำยาพิษใส่ในน้ำให้เจ้าคำตันสรงในพิธีราชาภิเษกที่ท่าลี่ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๑
            ในปี พ.ศ.๑๙๔๒ พญาเถรเจ้าเมืองแพร่ และพญาอุ่นเรือนสองพี่น้องได้เข้ายึดเมืองน่าน ฆ่าศรีจันต๊ะอนุชาเจ้าคำตันที่ครองเมืองน่านต่อจากพี่ชาย แล้วพญาเถรได้ครองเมืองน่านแทน ส่วนท้าวหุงน้องของเจ้าศรีจันต๊ะ หนีไปพึ่งพญาเชลียง (ศรีสัชนาลัย) พญาเถรครองเมืองน่านได้หกเดือนเศษก็เป็นไข้ป้าง ถึงแก่พิราลัย ท้าวอุ่นเรือนผู้เป็นน้องได้ครองเมืองต่อมาได้หนึ่งปี ท้าวหุงก็ยกกำลังมาตีเมืองน่านคืนได้ ท้าวหุงครองเมืองน่านได้แปดปี (พ.ศ.๑๙๔๓ - ๑๙๕๐) ก็พิราลัย
            เจ้าปู่เข็ง  ผู้เป็นราชโอรสท้าวหุงได้ครองเมืองน่านต่อมา ในปี พ.ศ.๑๙๕๐ ได้สร้างวัดช้างค้ำวรวิหารขึ้นใน ปี พ.ศ.๑๙๕๕ และสร้างวัดพระบาทเขาน้อยกับวัดพญาภู แต่ยังสร้างวัดพญาภูไม่เสร็จก็พิราลัยเสียก่อน เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๐ รวมครองราชย์ได้ ๑๑ ปี
            เจ้าพันตัน  ผู้เป็นราชโอรสได้ครองเมืองต่อมาอีก ๑๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๖๐ - ๑๙๗๖ ก็พิราลัย เจ้างัวงาสุม หรือพญางั่วฬารผาสุม ครองนครเมืองน่าน ต่อมาอีก ๘ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๖๙ - ๑๙๗๖ ก็พิราลัย เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวครองเมืองแทน เกิดการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นระหว่างสามพี่น้อง คือเจ้าแปง และเจ้าหอพรหม วางแผนชิงเมืองจากเจ้าพี่ คือเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวเมื่อ ปี พ.ศ.๑๙๗๗ เจ้าอินต๊ะแก่นท้าว หนีไปอยู่เมืองเชลียง และได้มาตีเมืองคืน เมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๘ แล้วขึ้นครองราชย์เป็นครั้งที่สองนาน ๑๖ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๙๗๘ - ๑๙๙๓
            พระเจ้าติโลกราช  ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ หลังจากที่ได้รวบรวมเมืองใหญ่น้อยในลุ่มแม่น้ำปิง ลุ่มแม่น้ำกก และลุ่มแม่น้ำวัง ไว้ในอาณาจักรล้านนาแล้ว ก็ได้ยึดเมืองแพร่ และในที่สุดก็ยึดเมืองน่านได้ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๓ พญาอินต๊ะแก่นท้าวหนีไปอยู่เมืองเชลียง และถึงแก่พิราลัยที่เมืองเชลียง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |