| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
ในสมัยโบราณเศรษฐกิจของเมืองน่านเป็นเศรษฐกิจหมู่บ้านแบบเลี้ยงดูตนเอง ไม่นิยมการซื้อขาย
การค้าขายระยะไกลของน่านดำเนินการโดยพวกฮ่อหรือพวกเงี้ยว และพวกพ่อค้าชาวเขินจากเชียงตุง
ซึ่งนำฝิ่นดิบและม้ามาขาย ชาวบ้านมักไม่ทำการค้าขนาดใหญ่ ผลิตข้าวเพียงพอต่อการบริโภค
ในแต่ละปี น่านมีของป่า และเกลือสินเธาว์ เป็นการค้าที่ดำเนินมาแต่โบราณ นอกจากนี้ยังมีไม้สัก
ฝ้าย ยาสูบ ครั่ง สีเสียด งาช้าง เขากวางอ่อน ไหมดิบ หนังกวาง หนังควาย และช้างโดยส่งไปขายเชียงใหม่
และพม่า ปีละสอง - สามร้อยเชือก สำหรับทำงานในป่าไม้
การค้าขายในตัวเมืองน่าน มีตลาดกลางเมืองเป็นตลาดใหญ่ที่สุด
และตลาดเก่า ในตอนเช้ามืดผู้หญิงจากทั่วสารทิศของเมืองน่าน จะทะยอยเดินทางมายังตลาดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น
นำตะกร้าบรรจุสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปขาย โดยนั่งเรียงรายเป็นแถว มีตะกร้าวางอยู่ตรงหน้า
เหมือนในหลวงพระบาง เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นฝูงชนก็จะทยอยกลับไปอย่างเงียบ ๆ สินค้าที่นำมาขายส่วนใหญ่เป็นของป่า
มีอาหารสดเครื่องขบเคี้ยว
การค้าที่ผ่านมาอาศัยกองคาราวานฮ่อ และพ่อค้าจีนที่เข้ามาเป็นครั้งคราว กองคาราวานดังกล่าวมาจากทางตอนเหนือ
เป็นจีนฮ่อมุสลิม ซึ่งเดิมเป็นพวกกบฏไต้เผง จากยูนนาน กวางสี และมณฑลอื่น
ๆ ของจีน เมื่อถูกปราบปรามก็หลบหนีมาอยู่แถบตัวเกี๋ย และหลวงพระบาง ได้แก่
ฮ่อธงดำ ฮ่อธงเหลือง และอื่น ๆ พ่อค้าฮ่อเริ่มการเดินทางในฤดูหนาว และใช้เวลาเดินทางซื้อขายระหว่างทาง
เป็นระยะ ๓ - ๔ เดือน เส้นทางของกองคาราวาน เริ่มจากฟูออร์ เดินทางผ่านสิบสองปันนา
รัฐฉาน เข้าสู่เชียงราย เชียงใหม่ มาถึงน่าน แพร่ นำสินค้าประเภทฝิ่น ไหมดิบ
กระดึงวัว ขี้ผึ้ง ชา รองเท้าแบบจีน เสื้อหนังแกะ มันฮ่อมาขาย ก่อนจะเดินทางไปเมืองสา
และเมืองแพร่ การค้าใช้เงินรูปี ในอัตราแลกเปลี่ยน สามสลึงต่อรูปี
การปกครอง
ในสมัยโบราณ การปกครองของแคว้นน่าน มีคติการปกครองแบบที่เรียกว่า บิดาปกครองบุตร
ผู้เป็นประมุขวางตัวเป็นดังบิดาของประชาชน ในอาณาจักรหลักคำ (กฎหมายสำหรับเมือง)
มีความตอนหนึ่งว่า ในครัวเรือนถ้ามีบุตรหลานประพฤติชั่ว เมื่อหัวหน้าครัวเรือนห้ามปรามไม่เชื่อฟัง
จะต้องนำตัวผู้นั้นอายัดให้แก่เจ้าหน้าที่ปกครอง ให้สั่งสอนขึ้นไปตามลำดับ
จนถึงผู้เป็นประมุขของบ้านเมือง บรรดาเจ้านายผู้ปกครองเมืองต่าง ๆ ไม่ใช่เชื้อสายกษัตริย์ดั้งเดิม
แต่มาจากท้าวขุนที่มีความสามารถในการรบ มีความเฉลียวฉลาดในการจัดการ และควบคุมกำลังคน
ชนชั้นปกครองประกอบด้วยเจ้านาย ท้าวขุนที่ปฏิบัติงานในเวียงกับพ่อเมืองนายบ้าน
ที่เป็นผู้ปกครองในท้องถิ่น ตามเมืองต่าง ๆ เจ้านายท้าวขุนที่ปฏิบัติงานในเวียง
ยังแยกออกเป็นสองส่วนคือ เจ้านายที่ทำหน้าที่ในราชสำนักเจ้าเมือง เป็นพวกเชื้อพระวงศ์
มีตำแหน่งลดหลั่นกันลงมานับจากตำแหน่งอันดับที่สองรองจากเจ้าผู้ครองนครคือ
เจ้าอุปราช
(เจ้าหัวหน้า)
เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร
เจ้าหอแก้ว จนถึงเจ้าวรญาติเป็นอันดับที่
๑๔ หากตำแหน่งใดว่างลง จะมีการเลื่อนอันดับต่ำกว่าขึ้นไปแทนที่ การสืบสันตติวงศ์
เป็นเจ้าผู้ครองนคร จะถือเอาทายาททางตำแหน่งเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา
สำหรับตำแหน่งผู้ปกครองอีกส่วนหนึ่งคือท้าวขุนที่ทำงานในเวียงเรียกว่า เค้าสนาม
ประกอบด้วยพญาปิ้น
หรือพญาผู้เป็นใหญ่สี่นาย พญาแสนหลวงอื่น ๆ รองลงมาอีก ๒๘ นาย รวมเป็น ๓๒
นาย
การปกครองหัวเมือง
แบ่งหัวเมืองออกเป็นชั้น ๆ โดยวิธีการกำหนดยศเจ้าเมืองตามความสำคัญของเมืองนั้น
ๆ ที่มีต่อเมืองน่าน โดยให้อำนาจในการตัดสินใจของ พ่อบ้านนายเมืองปกครองดูแล
และพิจารณาตัดสินคดีความในเมืองของตนได้ เว้นแต่คู่ความไม่ยอมรับคำตัดสิน
หรือเป็นคดีที่สำคัญที่กำหนดไว้ในกฎหมาย จึงจะส่งมายังเค้าสนาม ในเวียง เป็นผู้ตัดสินอีกครั้งหนึ่ง
เจ้าหลวง
หรือเจ้าผู้ครองนครน่าน มีอำนาจสูงสุดในกลุ่มเจ้านาย ซึ่งปกครองในระบบผู้นำร่วมอำนาจของเจ้าหลวงเรียกว่า
อาชญา
ถือว่าเป็นคำสั่งศักดิ์สิทธิของผู้เป็นประมุขที่จะใช้บังคับบัญชาปกครองไพร่บ้านพลเมือง
ถือว่าเป็นกฎหมายในการปกครอง นอกจากผู้ปกครองจะปกครองด้วย จารีตฮีตฮอย
แล้ว น่านยังมีการใช้กฎหมายที่มีมาแต่โบราณ เช่น คัมภีร์พระธรรมศาสตร์
และราชศาสตร์
ซึ่งเป็นกฎหมายอินเดียในการปกครองเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา
กฎหมายที่รวบรวมสืบต่อกันมาคือ กฎหมายพระเจ้าน่าน
พระราชการเมือง และอาณาจักรหลักคำ
สำหรับอาณาจักรหลักคำนี้ เป็นกฎหมายที่ตั้งขั้นโดยถือหลักจากกฎหมายดั้งเดิม
ที่มีบทบัญญัติลง และคำสั่งสอนปะปนกัน เป็นกฎหมายที่รวบรวมขึ้นในสมัยเจ้าหลวงอนันตวรฤทธิเดช
เป็นกฎหมายที่แสดงให้เห็นนโยบายของบ้านเมือง ที่ต้องการสนับสนุนการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าว
มีการกำหนดโทษของการทำความเสียหายให้แก่ทุ่งนา และต้นข้าวไว้อย่างละเอียด
ส่งเสริมให้มีการขยายที่ดินสำหรับการเพาะปลูกมีการหักร้างถางพงเพื่อทำนา พยายามรักษา
วัว ควาย สัตว์พาหนะที่สำคัญไม่ให้ทำร้ายหรือฆ่ากินตามใจชอบ ส่งเสริมการค้าขายด้วยการควบคุมราคาสินค้า
และป้องกันเงินปลอม ให้ความสะดวกในการเดินทาง อำนวยความปลอดภัยให้ มีการควบคุมกำลังคน
ควบคุมการอพยพเดินทางของไพร่ มีการกำหนดฐานะทางสังคม ระหว่างกลุ่มชนชั้นทางสังคมอย่างชัดเจน
โดยให้มีการเสียค่าปรับในการกระทำผิดแตกต่างกัน มีการควบคุมความประพฤติของฆราวาส
และพระสงฆ์ เช่นการเล่นการพนัน การสูบฝิ่น ตลอดจนกำหนดบทคุ้มครองผู้หญิงไม่ให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
นอกจากนี้ยังได้แบ่งเขตการบริหารงาน คือ ในเวียงหน้าบ้าน
และหัวเมืองนอก
บริเวณที่เป็นในเวียง คือในเขตตัวเมืองน่าน หน้าบ้านคือเมืองเล็กเมืองน้อยที่ขึ้นอยู่กับเมืองน่านโดยตรง
ราชการที่สำคัญทีเกิดขึ้นในเวียง และหน้าบ้านให้อยู่ภายใต้การวินิจฉัยของเค้าสนาม
เจ้านายและเค้าสนามมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีความที่ประชาชนร้องเรียนขึ้นมา
วิธีพิจารณาความอาญามีการทรมานจำเลยให้รับสารภาพ ตามลักษณะของจารีตนครบาล
เมื่อคดีความมาถึงเค้าสนาม ขุนสนาม ๒๘ นาย จะร่วมกันพิจารณาเป็นรูปคดีแล้วลงความเห็นตามบทบัญญัติในกฎหมายบ้านเมือง
แล้วจึงนำข้อวินิจฉัยขึ้นอ่านถวายเจ้าหลวง
และเจ้าขันห้าใบประกอบด้วยเจ้าอุปราช
(เจ้าหอหน้า) เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร และเจ้าหอเมืองแก้ว ได้พิจารณาแล้วจะมีคำตัดสินเป็นเด็ดขาด
การพิจารณาความแพ่งก็เช่นเดียวกัน ส่วนหัวเมืองนอกคือ เมืองบริวาร หรือเมืองขึ้นของเมืองน่าน
ซึ่งมีอำนาจในการบริหารราชการของตนเอง ดังนั้น เมื่อมีราชการใด ๆ จะต้องแจ้งหรือรายงานต่อเมืองให้วินิจฉัยสั่งการ
หัวเมืองนอกนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านยุทธศาสตร์ และเกียรติภูมิของเมืองน่าน
เจ้านายเมืองน่านจะให้ความยกย่องนับถือเจ้าเมืองเหล่านี้เป็นอย่างดี ในการพิจารณาออกกฎหมายที่จะใช้บังคับ
เจ้าเมืองและท้าวขุนสำคัญ ๆ ของหัวเมืองนอกได้ร่วมพิจารณาด้วย สำหรับหัวเมืองนอกที่สำคัญ
ๆ ทางน่านจะส่งเชื้อสายของเจ้านายไปปกครอง หรือพยายามเชื่อมความสัมพันธ์ด้วยการแต่งงาน
หัวเมืองนอกต้องส่งส่วยตามที่กำหนด และต้องส่งกำลังคนไปช่วยเหลือเมื่อเกิดศึกสงคราม
ชนชั้นในสังคมกับการปกครอง
ระบบชนชั้นในสังคมเมืองน่าน แบ่งออกเป็นสองชนชั้น
ชนชั้นปกครอง
มีสองประเภทคือ เจ้านายได้แก่พี่น้องขัตติยวงศา
ลูกหลาน และท้าวขุนได้แก่พญาเสนา
อำมาตย์ มีอำนาจในการปกครองและคุ้มครองไพร่บ้านพลเมือง คอยดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
สามารถเรียกเกณฑ์แรงงานและผลผลิต ลูกจุ๊ หรือไพร่ของตนได้ ผู้ที่จะรับลูกจุ๊เอามาเข้าสังกัดของตนได้จะต้องเป็นเจ้านาย
หรือท้าวพระพญาในเค้าสนามเท่านั้น เจ้าหลวงไม่จำเป็นต้องมีลูกจุ๊ เพราะมีอาชญาเกณฑ์เอาไว้
อีกทั้งเจ้าหลวงมี " คนเจ้าใช้การใน " ไว้ใช้สอยและอยู่เวรยาม ในเวลาปกติลูกจุ๊จะอยู่ในหมู่บ้านของตน
จะเข้ามาในเมืองเมื่อถูกเรียกเกณฑ์เป็นครั้งคราว
ชนชั้นถูกปกครอง มีสองประเภทได้แก่
ไพร่หรือเสรีชน
และทาษ
ไพร่หรือเสรีชนจะต้องแจ้งแก่เค้าสนามว่าจะอยู่ภายใต้เจ้านายท้าวขุนคนใด โดยสามารถเลือกนายของตนได้
ทำงานแล้วไม่พอใจก็สามารถเปลี่ยนได้ ไพร่จะถูกควบคุมโดยมีเจ้านายท้าวขุน เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมกำลังคน
ประชากรที่เป็นชาย อายุ ๒๐ ปี ต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นลูกจุ๊สังกัดเจ้านาย หรือท้าวพญาคนใดคนหนึ่ง
ทำหน้าที่รับใช้เจ้านายของตนจนกว่าจะมีลูกชายมาทำงานแทนสามคน การเป็นลูกจุ๊จะสืบทอดถึงลูกหลาน
จะย้ายเจ้านายได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเท่านั้น
เมื่อเจ้านายจะเรียกเกณฑ์ก็มีหัวหมวด เป็นผู้ควบคุมดูแลเรียกตัวมารับใช้เจ้านายเป็นครั้งคราว
นอกจากนี้ไพร่ต้องถูกเรียกเกณฑ์ไปทำสงคราม ไพร่ต้องทำการผลิตเพื่อบริโภคเอง
และเพื่อส่งส่วยหรือเสียภาษีให้แก่บ้านเมือง โดยเก็บเป็นผลิตผล ไพร่ในเขตเมืองชั้นในจะเรียกเก็บเป็นข้าว
เมื่อทำนาแล้วจะแบ่งข้าวมาส่งขึ้นฉางหลวง เรียกว่า หล่อฉาง
เพื่อเก็บไว้เป็นเสบียงสำหรับบ้านเมืองสำรองไว้ในยามศึกสงคราม ต้อนรับแขกเมือง
หรือให้ชาวบ้านยืมในปีที่ทำนาไม่ได้ผล การเก็บข้าวเพื่อหล่อฉางเก็บครัวเรือนละ
สามหมื่นสัก ไพร่ในเขตเมืองชั้นนอก จะถูกกำหนดให้ส่งเฉพาะผลผลิตของเมืองนั้นแทนข้าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งของป่าที่มีราคาสูง เช่น มูลค้างคาว ชัน น้ำมันยาง เกลือ
ฯลฯ เรียกวิธีการนี้ว่า ส่วยหล่อฉาง
หรือ ส่วยบำรุงเมือง การเก็บภาษีนี้ยังคงอยู่จนกระทั่งมีการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ระบบไพร่ทางเมืองน่านสืบทอดกันมานาน แม้จะมีการยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงาน เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๔๓ แต่ก็ยังมีการปฏิบัติสืบต่อมา ชาวบ้านจำนวนมากยังถูกเกณฑ์แรงงานมาทำงานให้หลวงอีก
นอกจากนี้ชาวบ้านยังถูกเก็บภาษีรายหัว ภาษีสี่บาท
สำหรับชายที่มีอายุสิบแปดปีขึ้นไป หากไม่มีเงินเสียจะต้องทำงานชดให้เป็นเวลา
๑๕ วัน
ทาส ในเมืองน่านมีอยู่สองประเภท คือ ทาสเชลย
ได้มาจากการทำสงครามที่ไปรบที่สิบสองปันนาหรือลาว แล้วกวาดต้อนผู้คนกลับมาแบ่งปันความชอบของแม่ทัพนายกอง
เรียกว่า ค่า (ข้า) ปลายหอกงาช้าง
มีลูกหลานก็จะกลายเป็น ค่า (ข้า) หอคนโยง
ถ้าเป็นชายอายุตั้งแต่สิบขวบขึ้นไป จะมีค่าตัวถึง ๒๖ รูปี อายุต่ำกว่านั้นค่าตัวลดลงปีละห้ารูปี
ทาสสินไถ่
คือทาสที่เกิดจากการเป็นหนี้สิน แล้วนายเงินไปไถ่ตัวมา เรียกว่า ค่า
(ข้า) น้ำเบี้ยน้ำเงิน หรือ ค่า(ข้า)
ไถ่คนซื้อ ถ้าทาสไม่มีเงินให้แก่นายทาส ถ้าเกิดในเรือนเบี้ย
พอเกิดมาก็มีค่าตัวเรื่อยไป ทาสเหล่านี้ถ้าหนีไปอยู่เมืองอื่นต้องส่งตัวกลับมาให้
หรือให้ค่าตัวแลกเปลี่ยนแก่เจ้าของ
สมัยปฏิรูปการปกครอง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองประเทศราชขึ้นเป็นมณฑลเทศาภิบาล
เมืองน่านขึ้นอยู่กับมณฑลลาวเฉียง ประกอบด้วยเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองลำปาง
เมืองแพร่ เมืองเชียงราย ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ และมณฑลพายัพตามลำดับ
ได้มีการแบ่งเขตแขวงเมืองน่านออกเป็นแปดแขวงคือ แขวงนครน่าน แขวงน้ำแหง แขวงน่านใต้
แขวงน้ำปัว แขวงน้ำของ แขวงขุนน่าน แขวงน้ำอง แขวงน้ำยม ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครถูกยกเลิกเมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา
ถึงแก่พิราลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ จังหวัดน่านจึงเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยตั้งแต่นั้นมา
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |