| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ประชากร
            บรรพบุรุษของชาวน่านส่วนหนึ่งเป็นไทที่อพยพจากดินแดนล้านช้าง ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางชายแดนตอนเหนือของเมืองน่าน บริเวณติดกับชายแดนประเทศลาว นอกจากนั้นชาวเมืองน่านประกอบด้วยคนเมือง หรือไทยวน ที่เรียกว่า ลาวพุงดำ เนื่องจากพวกผู้ชายจะสักลวดลายด้วยหมึกสีดำตั้งแต่ท้องถึงโคนขา ในเขตตัวเมืองยังมีพวก ขมุ เงี้ยว (ไทยใหญ่) พม่า และลาว เป็นชนกลุ่มใหญ่ ส่วนในเขตรอบนอก มีชนเผ่าต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไทลื้อ ม้ง เมี่ยน ถิ่นหรือลัวะ ขมุ ผีตองเหลือง ฯลฯ
            จำนวนประชากรของเมืองน่านในสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) บาทหลวงปาเลกัวช์ มิชชันนารีฝรั่งเศส ได้ระบุจำนวนประชากรเมืองน่านไว้ว่ามีอยู่ประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน จากรายงาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ ปรากฏว่ามีประชากรอยู่ ๑๕๐,๐๐๐ คน การเพิ่มขึ้นของประชากรส่วนใหญ่ เนื่องมาจากการอพยพ และการกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองฝั่งลาว และจากดินแดนสิบสองปันนา มาอยู่ในเขตเมืองน่านหลายครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ และปี พ.ศ.๒๔๗๘ มีจำนวนประชากร ๑๖๔,๕๐๐ คน และ ๑๘๐,๐๐๐ คน ตามลำดับ
            ชนกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม มีวิถีชีวิต ความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณีแยกย่อยออกไป มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมกัน

            ไทลื้อ ชาวไทลื้ออาศัยอยู่ในเขตหกอำเภอด้วยกัน ได้แก่ อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอสันติสุข และอำเภอสองแคว มีหมู่บ้านชาวไทลื้ออยู่ ๖๓ หมู่บ้าน เป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ชาวไทลื้อถูกกวาดต้อนจากการทำสงคราม และการอพยพโดยสมัครใจเข้ามาอยู่ในเขตเมืองน่าน เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว คือสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงรุ้ง เมืองเชียงตุง และแคว้นสิบสองปันนา ได้กวาดต้อนผู้คนมาเมืองน่านเป็นอันมาก ต่อมาในสมัยเจ้าสุมนเทวราชได้ยกทัพไปกวาดต้อนคนเมืองล้า เมืองพง เมืองเชียงแข็ง และเมืองหลวงภูคา ต่อมาในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ฯ ได้ไปกวาดต้อนครอบครัวชาวไทลื้อ ที่เมืองพง เขตสิบสองปันนา ให้มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเชียงม่วน และเมืองเชียงคำ ส่วนไทลื้อที่บ้านหนองบัว อำเภอท่าวังผา ได้อพยพมาจากเมืองล้าในเขตสิบสองปันนา อันเนื่องมาจากการแก่งแย่งอำนาจทางการเมืองภายใน ฝ่ายที่แพ้จึงอพยพหนีลงมาอยู่ที่เมืองน่าน
            ในอดีต เมืองน่านมีอาณาเขตครอบคลุมถึงอำเภอเชียงม่วน เมืองเงิน ในประเทศลาว ศิลปะสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมและประเพณีหลายอย่างของชาวไทลื้อ และคนเมืองไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมาก การแต่งกายผู้ชายจะนุ่งเตี่ยวสะกอ (เป้าลึก) มัดตะเข็บหรือเตี่ยวสามดูก ไม่ใส่เสื้อ ต่อมามีการสวมเสื้อม่อฮ่อมแขนยาวถึงข้อมือ มีขอบรอยคอคล้ายเสื้อคอตั้ง ใช้เชือกผูกหรือกระดุมเชือก เสื้อและกางเกงย้อมด้วยสีครามหรือดำ โพกศีรษะด้วยผ้า เมื่อไปวัดจะมีผ้าเช็ดไว้ที่บ่า และถือถุงย่ามแดง ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อมัดรัดรูปผ่าอก มีสาบหน้าเฉียงมาผูกติดกับด้าย หรือใช้กระดุมเม็ดขนาดใหญ่เกี่ยวกันไว้ ตัวเสื้อจะสั้น แขนเสื้อยาว ทรงกระบอกนิยมใช้สีดำหรือสีคราม ตรงสาบเสื้อจะขลิบด้วยแถบผ้าสีต่าง ๆ หรือทำเป็นลวดลาย นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง การวางสีลวดลายซิ่นแบบซิ่นก่าน (ลวดลายมัดหมี่ ซิ่นดำเติมแทรกด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง) และซิ้นปล่อง (การขัดทอด้วยการเก็บลาย หรือการเก็บมุก) มีลวดลายสลับริ้วสีพื้นช่วงลายขนาดที่เท่ากัน ส่วนผมจะเกล้าเป็นมวยต่อมวย ด้วยการขดปลายผมเป็นรูปวงกลม เรียกว่าจว๊องผม แล้วโพกศีรษะด้วยผ้าขาว หรือผ้าสีชมพู และถือถุงย่าม
            สังคมของชาวไทลื้อ เป็นสังคมเกษตรกรรมที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ราบใกล้แหล่งน้ำเพื่อทำไร่นา

            ม้ง  มีชาวม้งอาศัยอยู่ในพื้นที่สิบอำเภอของจังหวัดน่าน ได้แก่อำเภอเมือง ฯ อำเภอเวียงสา อำเภอนาน้อย อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา อำเภอทุ่งช้าง อำเภอแม่จริม อำเภอสันติสุข อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอสองแคว มีจำนวน ๒๑ หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ ๒๑,๕๐๐ คนแบ่งออกเป็นม้งขาว และม้งดำ ตามลักษณะภาษาพูด และการแต่งกาย  ม้งทั้งสองกลุ่มสามารถสื่อภาษากันได้ สำหรับการแต่งกายที่แตกต่างกันคือ การแต่งกายของผู้หญิงม้งดำ จะสวมกระโปรงจีบ มีพื้นสีน้ำเงินดำ มีลวดลายการเขียนผ้า ขอบชายกระโปรงส่วนล่างจะปักลวดลายสีต่าง ๆ มีผ้ากันเปื้อนสีดำปิดด้านหน้า ส่วนเสื้อใช้ผ้าสีดำทั้งตัวมีผ้าสีเย็บทับกันเป็นสองแถบ บริเวณด้านหน้า คอเสื้อด้านหลังแบบทหารเรือ สีขาวอยู่ด้านนอก ใช้ผ้าแดงคาดเอว เอาผ้าขาวผ้าแดงปัดดอกสีต่าง ๆ ไว้ด้านหลัง ผ้าคาดเอวนี้จะช่วยยึดกระโปรงไว้ในขณะสวมใส่ ผมจะเกล้าเป็นมวยปกติไม่โพกศีรษะ ส่วนผู้หญิงม้งขาว ปกติจะนุ่งกางเกงสีดำ - น้ำเงิน ขาบานยาวถึงข้อเท้า ด้านหน้ามีผ้ากันเปื้อนสีน้ำเงินสลับดำต่อด้วยผ้าปักหนึ่งบ่วง และผ้าแดงต่อท้าย ปลายผ้าแดงปักดอกสีต่าง ๆ มัดไว้ด้านหลัง และมีผ้าปิดหลังสีดำสลับน้ำเงินอีกผืนหนึ่ง ส่วนเสื้อสีดำ - ฟ้า แขนยาว ปกสีน้ำเงินสองแถบ ถ้ามีเทศกาลปีใหม่หญิงม้งขาวจะนุ่งกระโปรงสีขาวทั้งผืน โพกศีรษะด้วยผ้าสีดำ ชายผ้าปักด้วยดอกสีต่าง ๆ และใช้ไหมพรมแดงตกแต่งให้เกิดความสวยงาม สำหรับชายม้งดำ จะนุ่งกางเกงเป้ายาวสีดำ ใช้ผ้าแดงคาดเอวปักด้วยดอกสีต่าง ๆ ทั้งสองข้าง  สวมเสื้อสีดำแขนยาว ส่วนชายม้งขาว จะนุ่งกางเกงเป้าสั้นขาบานสีดำหรือน้ำเงิน ใช้ผ้าแดงคาดเอวเช่นกัน เสื้อสีดำแขนยาว ปลายแขนปักดอกสีต่าง ๆ ปกคอเสื้อด้านหน้าปักดอกเป็นแถบยาว ประดับด้วยลูกกลม ๆ ทำด้วยเงิน เสื้อของม้งดำยาวกว่าของม้งขาวเล็กน้อย
            ขนาดหมู่บ้านม้งโดยเฉลี่ยประมาณ ๓๕ หลังคาเรือนขึ้นไป หมู่บ้านไม่มีรั้วรอบขอบชิด และไม่ค่อยเป็นระเบียบนัก บ้านม้งจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าชั้นเดียว รอบ ๆ บ้านจะมีคูระบายน้ำตื้น ๆ หลังคามุงด้วยหญ้าคา หรือวัสดุในท้องถิ่น ฝาบ้านเป็นไม้ไผ่หรือไม้กระดาน ขนาดครอบครัวมีส่วนกำหนดในการกั้นห้องภายในบ้าน
            เทศกาลปีใหม่ของม้งตรงกับวันขึ้นค่ำเดือนสิบสอง จะจัดพิธีฉลองปีใหม่ตั้งแต่คืนแรมสิบห้าค่ำ มีพิธีกรรมบูชวิญญาณบรรพบุรุษ มีพิธีสู่ขวัญบุคคลในครอบครัวทุกคน หยุดงานสามวันให้คนหนุ่มคนสาวเล่นโยนผ้า ส่วนเด็กชายวัยรุ่นจะมีการตีลูกข่าง สำหรับผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจะจัดงานเลี้ยงฉลองดื่มสุรากันอย่างสนุกสนาน โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเลี้ยงทุกหลังคาเรือน มีการผูกมือสู่ขวัญผู้สูงอายุ และขอพรจากผู้สูงอายุ ม้งทุกคนจะสวมผ้าใหม่ เพื่อเป็นศิริมงคล

            เมี่ยน  มีชาวเมี่ยนอาศัยอยู่ในพื้นที่ห้าอำเภอของจังหวัดน่าน ได้แก่ อำเภอเมือง ฯ อำเภอเวียงสา อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา และอำเภอสองแคว มีจำนวน ๒๖ หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ ๑๒,๐๐๐ คน ชาวเมี่ยนในจังหวัดน่านเป็นพวกฮุงเมี่ยน ใช้ผ้าแดงพันศีรษะ การแต่งกายมีลักษณะเด่น แสดงถึงความสามารถในการปักผ้าลายปักประเภทต่าง ๆ ที่ประณีต จัดวางรูปแบบสีสวยงาม ผู้หญิงเมี่ยนทุกคนได้รับการสอนให้ปักผ้ามาตั้งแต่เด็ก
                 หญิงชาวเมี่ยน จะสวมเสื้อแขนยาวสีดำยาวคลุมเข่า ผ่าด้านข้างลำตัว ผ่าด้านข้างลำตัวตั้งแต่สะโพกลงไปปลายผ้ากุ๊นริมด้วยผ้าสี ส่วนมากจะเป็นสีฟ้า หรือสีน้ำเงินเข้ม คอเสื้อประดับด้วยพู่ไหมพรมสีแดง หรือสีบานเย็นตลอดถึงเอว มีกระดุมเป็นแผ่นเงินขนาด ๓ x ๕ เซนติเมตร ติดเป็นแนวนอนบริเวณหน้าอก ศีรษะพันด้วยผ้าพื้นชั้นแรกเป็นสีแดง ชั้นนอกจะใช้ผ้าลายปักพันเป็นสองแบบคือ แบบหัวโต และแบบหัวแหลม มีลายปักบริเวณเชิงผ้าทั้งสองด้าน กางเกงเป็นแบบขาก๊วยสีดำ ด้านหน้ามีลายปักละเอียดงดงาม มีการรวบปลายเสื้อที่ผ้าด้านข้างมามัดไว้ด้านหลัง แล้วใช้ผ้าอีกผืนหนึ่งทำหน้าที่เป็นเข็มขัดทับเสื้อ และกางเกงอีกชั้นหนึ่ง โดยทิ้งชายผ้าซึ่งปักลวดลายไว้ด้านหลัง ผู้ชาย จะสวมเสื้อพื้นสีดำ ปักลายดอก คอเสื้อผ่าป้ายไปข้างลำตัว นุ่งกางเกงขาก๊วยสีดำ เมื่ออยู่ในงานประเพณีเช่น เจ้าบ่าวหรือเพื่อนเจ้าบ่าว ก็นิยมพันศีรษะแบบเดียวกับผู้หญิง และประดับด้วยเงินเช่นกัน

            พวน  มีชาวพวนอาศัยอยู่ในเขตสองอำเภอของจังหวัดน่าน คือ อำเภอเวียงสา และอำเภอท่าวังผา มีจำนวนสามหมู่บ้าน มีประชากรประมาณ ๓,๕๐๐ คน พวกชาวพวนได้รับยกย่องว่า เป็นกลุ่มชนที่มีรูปร่างหน้าตาผิวพรรณดี มีกิริยาละเมียดละไม มีความขยันขันแข็ง ตลอดจนมีภาษาพูด และวัฒนธรรมเป็นของตนเอง การแต่งกายในชีวิตประจำวันของชาวพวน คล้ายคลึงกับคนพื้นเมืองเหนือทั่ว ๆ ไป
            การแต่งกายของชาวพวนในรูปแบบเดิม ผู้หญิง มักไว้ผมยาวมุ่นเกล้าไว้ด้านหลัง ใช้ผ้าพันรอบอกแทนการสวมเสื้อ นุ่งซิ่นตีนจก หรือสีพื้นแทรกลายขวาง บางท้องถิ่นนิยมนุ่งซิ่นมัดหมี่ ซึ่งมีลวดลายสีสันงดงาม โดยอิงรูปแบบลายโบราณ ชาวพวนในแต่ละภูมิภาคจะแต่งกายต่างกัน ผู้ชาย มักนุ่งกางเกงขาก๊วยดำ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว จะนุ่งผ้าซิ่นตีนจกทอด้วยด้ายสีแดง และสีดำสลับกัน

            ขมุ  มีชาวขมุอาศัยอยู่ในเขตหกอำเภอในจังหวัดน่าน คือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอเวียงสา อำเภอท่าวังผา อำเภอทุ่งช้าง อำเภอสองแคว และกิ่งอำเภอภูเพียง มีจำนวน ๒๓ หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ ๗,๖๐๐ คน แบ่งออกเป็นห้ากลุ่มย่อย ตามภาษา การแต่งกาย วัฒนธรรมและพิธีกรรม ได้แก่ ฮอก กะลัก เม เกวน และลื้อ
            ชาวขมุโดยทั่วไปนิยมแต่งกายด้วยผ้าดำ หรือสีเข้ม ผู้หญิง จะนุ่งซิ่นลายขวางแบบลื้อ ตกแต่งด้วยผ้าด้ายสี และเหรียญเงิน ใส่กำไลเงินที่คอ และข้อมือ โพกศีรษะด้วยผ้าสีขาว ผู้ชาย นิยมสักตามแขน หรือตามร่างกายส่วนต่าง ๆ

            ลาฮู  มีชาวลาฮูอาศัยอยู่ในเขตสองอำเภอของจังหวัดน่าน คือ อำเภอเมือง ฯ และอำเภอท่าวังผา มีจำนวนสองหมู่บ้าน เจ็ดหลังคาเรือน แปดครอบครัว จำนวน ๕๔ คน
            การแบ่งกลุ่มชาวลาฮูตามด้านภาษาศาสตร์ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อยคือ ลาฮูนะ (มูเซอร์ดำ) และลาฮูยี (มูเซอร์แดง) ส่วนกลุ่มย่อยอื่น ๆ ยังมีอีกมากถึง ๒๓ กลุ่มย่อย ตามปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ลาฮูมีถิ่นฐานกระจัดกระจายเป็นบริเวณกว้าง และเป็นอิสระต่อกัน การแต่งกายและภาษาพูดก็ตางกัน คำว่ามูเซอร์มาจากภาษาไทยใหญ่แปลว่าพรานป่า เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาพม่าว่ามกโซ แต่ชนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่าลาฮู แปลว่าคน

            เขิน  มีชาวเขินอาศัยอยู่ในเขตสองอำเภอของจังหวัดน่านได้แก่ อำเภอทุ่งช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ชาวเขินอพยพมาจากเมืองเชียงตุงในรัฐฉาน ภาษาของชาวเขินได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยใหญ่ ภาษาลื้อ และภาษาพม่า ภาษาเขินแบ่งเป็นสามท้องถิ่น คือภาษาในเมือง ภาษาเขินเมืองลุง ภาษาเขินทางเมือง ตัวหนังสือที่ใช้เป็นตัวอักษรเขิน

            ลัวะ มีชาวลัวะอาศัยอยู่ในเขตสิบอำเภอของจังหวัดน่านได้แก่อำเภอเมือง ฯ อำเภอเวียงสา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอแม่จริม อำเภอสันติสุข อำเภอบ่อเกลือ อำเภอสองแคว และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีจำนวน ๑๔๑ หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ ๓๙,๕๐๐ คน เป็นชุมกลุ่มน้อยที่มีประชากรมากที่สุดของจังหวัดน่าน แบ่งออกเป็นสองกลุ่มได้แก่ ลัวะมัล และลัวะไปร
            รูปร่างลักษณะของชาวลัวะ (ถิ่น) มีร่างเล็กผิวคล้ำ ภาษาพูดเป็นภาษาในตระกูล มอญ - เขมร

            มลาบรี  มีชาวมลาบรีอาศัยอยู่ในเขตสามอำเภอของจังหวัดน่าน คือ อำเภอเวียงสา อำเภอบ้านหลวง และอำเภอเมือง ฯ มีประชากรประมาณ ๑๕๐ คน ชาวบลาบรี ไม่มีชุดเสื้อผ้าประจำเผ่าของตนเอง โดยปกติชาวมลาบรีใช้ผ้าขาวม้าปกปิดในที่ลับเท่านั้น ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่น และสวมเสื้อตามที่ได้มาจากที่อื่น

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |