| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
งาช้างดำ
ลักษณะเป็นงาปลีออกสีน้ำตาล ส่วนปลายมน มีจารึกอักษรธรรมล้านนาภาษาไทยกำกับไว้ว่า
กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน หรือประมาณ ๑๘ กิโลกรัม
ประวัติความเป็นมาของงาช้างดำกิ่งนี้ มีเป็นตำนานเล่าสืบต่อกันมาในหมู่เจ้านายเชื้อสายเจ้าผู้ครองนคร
กล่าวกันว่า ได้มาจากเมืองเชียงตุงแต่ครั้งโบราณ เดิมเก็บรักษาไว้ที่ " หอคำ
" หรือวังของเจ้าผู้ครองนคร เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย
เจ้านายบุตรหลานได้มอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดินพร้อมกับหอคำในปี พ.ศ.๒๔๗๔
กำแพงเมืองน่าน ตัวกำแพงเมืองมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมปลายแหลม ความสูงจากพื้นถึงใบเสมาสองเมตร ใบเสมาทำมุมโค้ง ๖๐ องศษ ส่วนฐานมีช่วงกากบาท ขนาด ๒๐ เซนติเมตร ในทุก ๆ ช่วง ๑.๒๐ เมตร ปัจจุบันยังคงสภาพอยู่และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ จากกรมศิลปากรเป็นแนวกำแพงด้านทิศตะวันตก ยาวประมาณ ๕๐ เมตร
หอคำ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ตั้งอยู่ในบริเวณคุ้มของเจ้าผู้ครองนครน่านในอดีตที่เรียกว่า หอคำ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ฯ เจ้าผู้ครองนครน่านทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ครั้นถึงสมัยพระเจ้าพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ต่อมา และองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๕ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้มีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร บรรดาเจ้านายผู้เป็นบุตรหลาน เจ้าผู้ครองนครน่านได้มอบหอคำ พร้อมที่ดินให้แก่ทางราชการ ต่อมาทางราชการกรมศิลปากรได้ใช้เป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ลักษณะตัวอาคารโอ่โถงงดงาม ก่ออิฐถือปูนตกแต่งด้วยลายไทย ด้านหน้าตัวอาคารประดิษฐานอนุสาวรีย์พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ฯ
เงินทอกน่าน เป็นเงินตราตระกูลหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ทำด้วยโลหะผสมคือเงินผสมทองแดง รูปร่างคล้ายเปลือกหอย ด้านบนที่นูนขึ้นมานั้นเรียบไม่มีเส้น และมีสีเหลืองแกมน้ำตาลแดงเคลือบจับอยู่ ด้านล่างมีรอยเว้าเข้าไปคล้ายรอยนิ้วมือกด ที่รอบรอยด้านล่างมีรูเล็ก ๆ เจาะไว้เพื่อใช้ร้อยด้วยเชือก
เงินเจียงน่าน จัดอยู่ในเงินเจียงของอาณาจักรล้านนา
คำว่าเจียงมาจากคำว่าเชียงอันเป็นคำนำหน้าชื่อเมือง เงินเจียงมีลักษณะคล้ายเกือกม้าปลายสอบงอเข้าหากัน
บริเวณที่ต่อกันตอกด้วยสิ่วจนคอดกิ่วเกือบขาดจากกัน และมีอักษรย่อ นาน เป็นตราประทับบนเขาเงินเชียง
ภาษาและวรรณกรรม
จังหวัดน่านมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า ๗๐๐ ปี มีอารยธรรมเคียงคู่กันมากับอาณาจักรสุโขทัย
กลุ่มคนในจังหวัดน่านนอกจากจะมีภาษาพูดแล้ว ยังมีอักษรใช้เขียนได้แก่อักษรธรรมล้านนา
อักษรฝักขาม อักษรไทยนิเทศ (ขอมเมือง) มีการจดเรื่องราวต่าง ๆ เป็นลายลักษณ์อักษร
จึงทำให้ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีต่าง ๆ มีการสืบทอดกันมาจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม
มีการจารึกลงในวัสดุต่าง ๆ แต่ที่พบเห็นมากที่สุด ได้แก่ การเขียนลงบนในลานและทับสา
เอกสารโบราณเหล่านี้จะเก็บรักษาไว้อย่างดีโดยใส่ไว้ในหีบธรรม หรือบางทีทางภาคกลางเรียกว่า ตู้พระไตรปิฎก
เก็บรักษาไว้ในหอพระไตรปิฎกของวัดทุกวัด ซึ่งเปรียบเสมือนหอสมุดของวัดนั่นเอง
หอไตรที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดน่าน คือหอไตรวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร สร้างในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช
ฯ เป็นแหล่งที่เก็บเอกสารโบราณของจังหวัดน่านไว้เป็นจำนวนมาก จากการสำรวจพบว่าคัมภีร์โบราณ
และเอกสารโบราณที่ได้อนุรักษ์ไว้ ๑๒ วัด มีจำนวนคัมภีร์โบราณ ๔,๑๓๒ มัด ๒๖,๗๖๙
ผูก ๖,๐๖๕ เรื่อง แสดงให้เห็นถึงการเรียนการสอนของจังหวัดน่านในอดีตว่า วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนทุกสาขาวิชาที่มีอยู่ในสมัยนั้น
วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา
ส่วนมากเป็นคัมภีร์ใบลาน วรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดได้แก่ เรื่องวิมานวัตถุอยู่ในหมวดพระสุตันตปิฎก
เขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี มีอายุกว่า ๔๗๐ ปี เป็นคัมภีร์ใบลานของวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
ตำนานราชวงศ์ตำนานเมือง
ที่สำคัญได้แก่พงศาวดารเมืองน่าน และตำนานพระธาตุแช่แห้ง เป็นต้น
กฎหมาย
มีกฎหมายที่สำคัญได้แก่ กฎหมายพญามังรายหรือมังรายธรรมศาสตร์ กฎหมายอาณาจักรหลักคำ
จารึก จากหลักฐานของจารึกหินทรายหรือหินชนวน
มีจำนวน ๑๒ หลัก จารึกฐานพระพุทธรูป ๓ แห่ง จารึกระฆังสำริด ๒ ใบ อักษรที่ใช้จารึกใช้อักษรสามแบบคือ
อักษรไทยสุโขทัย อักษรธรรมล้านนา และอักษรฝักขาม ระยะแรกของจารึกจะใช้อักษรสุโขทัย
ต่อมาจึงใช้อักษรฝักขาม และอักษรธรรมล้านนาตามลำดับ
จารึกที่ปรากฏศักราชพบว่า จารึกอักษรไทยสุโขทัย เริ่มที่ปี พ.ศ.๑๙๗๐ จารึกอักษรฝักขาม
เริ่มที่ปี พ.ศ.๒๐๔๓ และจารึกอักษรธรรมล้านนาเริ่มที่ปี พ.ศ.๒๐๙๑
จารึกคำปู่สบถ
พบที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมือง ฯ สันนิษฐานว่าจารึกเมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๕
พร้อมกับจารึกหลักที่ ๔๕ ของเมืองน่าน เป็นจารึกบนหินทรายแผ่นสี่เหลี่ยม อยู่ในสภาพชำรุดเดิมคงเป็นรูปใบเสมา
ด้านที่หนึ่งมี ๒๖ บรรทัด ด้านสองมี ๑๐ บรรทัด แผ่นหินกว้าง ๕๖.๕ เซนติเมตร
ยาว ๓๙ เซนติเมตร จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย เป็นภาษาไทยร้อยแก้ว เนื้อหาเป็นเรื่องราวของพระยาแห่งน่าน
ทำสัญญาช่วยเหลือกันกับพระเจ้าไสยลือไทยผู้เป็นหลาน
จารึกวัดช้างค้ำ
พบที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมือง ฯ จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ เป็นจารึกหลักที่
๗๔ จารึกบนหินทรายรูปใบเสมา ขนาดกว้าง ๔๐ เซนติเมตร ยาว ๖๖ เซนติเมตร ใช้อักษรธรรมล้านนาเรียบเรียงเป็นร้อยแก้ว
เนื้อหากล่าวถึงพระยาพลเทพฤาไชย บูรณะวิหารวัดหลวงกลางเวียงคือ วัดพระธาตุช้างค้ำ
จารึกฐานพระพุทธรูปวัดพญาภูองค์ที่หนึ่ง
พบที่วัดพญากู อำเภอเมือง ฯ จารึกเมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๙ จารึกไว้ที่ฐานพระพุทธรูปปางลีลา
มีขนาดกว้าง ๓๖ เซนติเมตร ยาว ๓๗ เซนติเมตร เป็นการจารึกลงบนเนื้อโลหะใช้อักษรไทยสุโขทัย
เป็นภาษาไทยแบบร้อยแก้ว เนื้อหาเป็นเรื่องสมเด็จพระเจ้าผาสุมผู้เสวยราชในนันทปุระ
(น่าน) สร้างพระพุทธรูปห้าองค์ ปรารถนาถึงพระศรีอริยไมตรี
ตำนานวรรณกรรมพื้นบ้าน
อาณาจักรหลักคำ
เป็นกฎหมายโบราณที่ใช้ปกครองตนเองของเมืองน่าน และเมืองที่อยู่ในเขตปกครองของเมืองน่าน
ในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๙๕ ในสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช
ฯ และได้ใช้ต่อมาจนถึง ปี พ.ศ.๒๔๓๙ ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ฯ
อาณาจักรหลักคำเขียนด้วยตัวอักษรล้านนา เป็นกฎหมายที่เน้นให้เห็นระเบียบปฏิบัติขนบธรรมเนียม
จารีตประเพณี ข้อห้าม กฎเกณฑ์ต่าง ๆ อันเป็นการจัดระเบียบสังคมในสมัยนั้น
นอกจากนี้ยังแสดงให้ทราบถึงขอบเขตการปกครองของเมืองนั้น
กฎหมายสำคัญที่ลงโทษหนักคือการลักควาย ระบุโทษไว้ว่า ผู้ลักควายไปฆ่ากินจะถูกลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต
เพื่อมิให้เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินต่อไป
กฎหมายที่รักษาธรรมชาติแวดล้อมอันเป็นสาธารณสมบัติ เช่น ห้ามฟันไร่บริเวณต้นน้ำ
และริมแม่น้ำ อันเป็นแหล่งกำเนิด และนำน้ำเข้าสู่ไร่นา ใครทำผิดจะถูกคุมขัง
เฆี่ยนหลัง ๓๐ แส้ และปรับเงิน ๓๓๐ น้ำผ่า นอกจากนั้นยังมีกฎหมายห้ามฆ่าค้างคาวในถ้ำ
ห้ามเบื่อปลาในน้ำ และห้ามตัดต้นไม้บางชนิด
กฎหมายที่ควบคุมไม่ให้คนยากไร้ถูกขูดรีด เช่นการคิดดอกเบี้ยไม่ว่าจะเป็นเงินตรา
หรือข้าวก็ตาม จะต้องมีระยะเวลากู้ถึงสามปี จึงคิดดอกเบี้ยได้ ถ้ากู้นานถึง
๙ ปี ๑๐ ปี ก็ให้เอาดอกเบี้ยเท่าเงินต้นเท่านั้น จะมากไปกว่านั้นไม่ได้ และการกำหนดเอาตัวลูกหนี้ให้มีสภาพเป็นทาส
จะต้องมีหนี้สินที่มีมูลค่าตั้งแต่ ๓๐๐ ดอก(มาตราเงิน) ขึ้นไป
มังรายสอนลูก
มีคำอ่านเป็นอักษรภาษาไทยกลาง และมีความหมายดังนี้
สรีสวัสดี ทำนองมีพระยามังรายสอนลูกก่อนแล
อย่าปลูกกล้วยเอาไว้แก่กอเลา | หมายถึงอย่าปลูกกล้วยไว้โดยไม่เอาใจใส่บำรุงรักษาปล่อยให้ต้นเลาปกคลุม |
อย่าจาคำเส้าแก่เจ้าขุนบวก | ห้ามพูดคำที่ไม่ดี หรือไม่เป็นมงคลแก่ขุนนางผู้มีอำนาจ |
เป็นไพร่น้อยอย่าจาสวดต่อฮ้อลัวะชาวดอย | เป็นไพร่ผู้น้อยอย่าได้กล่าววาจาดุร้ายต่อชาวต่างชาติต่างถิ่น |
อย่าเอาภูดอยมาเป็นรั้วบ้าน | หมายถึงอย่าปลูกบ้านอยู่เชิงเขา หรือติดภูเขา |
อย่าคบคนขี้คร้าน | อย่าคบคนเกียจคร้าน |
อย่าอยู่บ้านมักสุข | อย่าอยู่กับบ้านเอาแต่ความสุขสบาย อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ทำประโยชน์ |
ลุกเมื่อเช้าอย่าทืบฟาก | ตื่นนอนตอนเช้าอย่ากระทืบพื้นบ้าน คืออย่าให้ขุ่นมัว หงุดหงิด |
อย่าออกปากเสียงแข็ง | อย่าพูดเสียงดังหยาบคาย |
อย่าแสงกันที่ข้างน้ำบ่อ | อย่าพูดสนทนากันที่ข้างบ่อน้ำ |
อย่าห่อเข้า (ข้าว) หื้อข้าท่านลักหนี | อย่าห่อข้าวให้ข้าทาษอันเป็นของคนอื่น หนี |
อย่าตีเสื้อผ้าหลังถึม | อย่าเอาเสื้อผ้าตีฟาดกับฝากระแซง |
อย่ายืมกลองท่านมาตี | อย่ายืมของที่ชำรุดง่ายของผู้อื่นมาใช้ จะเกิดความเสียหายได้ |
อย่าเอาขอนผีท่านมาให้ | อย่านำเอาของที่ไม่มีประโยชน์ใด ๆ มาสร้างความทุกข์ใจแก่ตนเอง |
อย่าซื้อลูกสะใภ้มาเรือน | อย่าหาคู่ครองให้ลูกหลานโดยวิธีคลุมถุงชน |
อย่าเชือนผ้าแผ่น | อย่าได้ลาดหรือปูผ้าผืนใหญ่โดยไม่จำเป็น |
ช้างม้าแล่นอย่าชักหาง | กิจการใดที่เกินกำลังอำนาจของตนจะทัดทานได้ ก็ต้องปล่อยให้ผ่านไป |
กลางฟานแล่นอย่าวกหน้า | หมายถึงน้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ |
ม้าช้างดีด อย่าแล่นตามหลัง | หมายถึงให้ระวังในการคบคน โดยเฉพาะคนพาลอย่าวางใจ |
ท่านเผาหนังอย่าถามเชื่อเขี้ยว | หมายถึงกิจการใดที่เกินกำลังความสามารถของตนอย่าได้อวดดีไปทำ |
ยิงโลบเลี้ยวอย่าเอามาเป็นเมีย | ผู้หญิงไม่ดี หรือหญิงแพศยา อย่าได้นำมาเป็นภรรยา |
เข้า (ข้าง) เต็มเยีย อย่าอ้างว่ากินเงิน | ข้าวเต็มยุ้งฉาง อย่าอ้างว่ามีกินอีกนาน |
เงินพันอย่าไขกลางกาด | มีเงินมากอย่าได้เปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ |
อย่าประมาทตนเจ้ามีศีล | อย่าได้ลบหลู่ดูแคลนผู้ทรงศีล |
อย่าขุดดิน หื้อท่านฝังหุ่น | หมายถึงอย่าได้สมรู้ร่วมคิดในการทำความผิด |
อย่ามุ่มคำเก่าหื้อ ท่านผิดกัน | อย่ารื้อฟื้นคำพูดเก่า ๆ มาพูดอีกเพื่อให้เขาทะเลาะกัน |
อย่าฟันไร่ที่จอมผา | หมายถึงอย่าทำงานที่ใช้แรงงานโดยเปล่าประโยชน์ |
อย่าเยี๊ยะนาที่ตาหล่าย | อย่าทำนาที่ตลิ่งน้ำ จะเกิดความเสียหายไม่คุ้มค่า |
อย่าฟันไม้ ก่ายถมทางหลวง | หมายถึงอย่างหลงมัวเมาในอวิชชา ทำให้ขัดขวางคุณความดี |
อย่าฟันโรงที่ท่านอยู่ | หมายถึงอย่าให้กิเลศตัณหา มาทำลายคุณธรรมในเรือนใจของตน |
อย่านั่งปู่เอาเอาหลังไปอิงเนอะ | หมายถึงให้รู้จักกาละเทศะ รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น |
เงินคำ อยู่คมพร้า เสื้อผ้าอยู่คมขวาน | หมายถึงให้หนักเอาเบาสู้ มีความวิริยะ อุตสาห |
ฝูงอาจารย์จาริต อย่าได้จิตคำผวน | ทั้งมวลบ่ได้ซื้อ คำของครูบาอาจารย์ควรเชื่อฟัง ไม่ประพฤตินอกรีต |
อย่ามืดมื้อเป็นดั่งเดือนดำ | อย่ามัวหลงไม่ยอมรับรู้ คำสั่งสอนของผู้รู้ |
อย่ากทำ (กระทำ) เป็นดั่งอี้ เป็นคนสัพปลี้บ่ดีแล | อย่าทำตนเป็นคนกลับกลอก |
อย่าอวดอ้างคุณคอง | อย่าได้อวดอ้างว่าตนมีคาถาอาคม |
คุณคองมีหื้อหมั่นเล่า | ให้หมั่นครองศิลปคุณ ข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ |
กำไหนหื้อมั่น หั้น อย่าเยี๊ยะสั้นหันสั้น | หื้อคึดเอายาว ทำสิ่งใดให้ทำอย่างจริงจัง อย่าใจเร็วด่วนได้ |
จักกินนาหื้อแถมของฝาก | หวังประโยชน์จากผู้อื่น ก็ควรทำประโยชน์กับผู้อื่นบ้าง |
จักปากหื้อแยงยาม จักถามหื้อแยงถี่ | พูดจาให้ดูกาลเทศะ |
จักจดรี่ให้ดูฝน | จะทำอะไรให้พิจารณาโดยรอบคอบ |
จาคำหื้อมีเมื่อ | จะพูดคำไม่ดีไม่เหมาะสมให้ดูกาลเทศะ |
จักขอหื้อปากม่วน | จะขออะไรใครให้เจรจาไพเราะน่าฟัง |
จักรีบด่วนหื้อเอาเบา | หมายถึงให้ปลดวางกิเลสตัณหาต่าง ๆ |
ท่านรักเราหื้อเรารักตอบ | มิตรจิตรมิตรใจ |
ท่านครอบหื้อเราปัง | เมื่อท่านถ่ายทอดความรู้ให้ ควรตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน |
ท่านชังหื้อชัยนำ | เมื่อท่านไม่ชอบอย่างไร ก็อย่าได้ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น |
ท่านกำหื้อกำแทน | เมื่อท่านทำการใด ให้ช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาภาระ |
ท่านแบนหื้อแบนล่อ | เมื่อท่านได้กำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างไรให้ปฏิบัติตาม |
ท่านถ่อหื้อเราพาย | มีกิจการใดให้ช่วยกันทำ |
จักเป็นนายหื้อรักหมู่ | เป็นเจ้าคนนายคนต้องรักพวกพ้องบริวาร |
จักเป็นปู่หื้อรักลูกรักหลาน | เป็นผู้ใหญ่ให้รักผู้น้อย |
จักเป็นขุนกวานหื้อรักเพือนบ้าน | อยากเป็นกำนัน หรือผู้ตัดสินคดีความให้รักเพือนบ้าน |
จักต้านถ้อยหื้อพิจารณาตวงถี่ | จะเจรจาความหรือตัดสินคดีความใด ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน |
จักอยู่ที่ใด อย่าจาแข็ง | จะอยู่ที่ใดอย่าพูดหยาบคาย สามหาวกับเพื่อนบ้าน |
ที่ใดแหงหื้อค่อยเว้น | ที่ใดมีความแตกแยกขาดสามัคคี อย่าได้สมาคมด้วย |
ขึ้นแล้วหื้อค่อยลง | อย่าลืมตนประมาท |
เงินเต็มถงอย่าหื้อน้อย | อย่านอนใจว่ามีเงินมาก |
อันจักหื้อย่อมมีหลายประการ | การทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยมีหลายแนวทาง |
ปากบ่ช่างก็จะเสียมิตร | พูดไม่เป็นก็อาจเสียเพื่อนได้ |
คันผิดหื้อค่อยแปง | อย่าได้ทำความผิดซ้ำสอง |
หีบแกงร้อน หื้อค่อยเป่า | อย่าทำการสิ่งใดอย่างผลีผลาม |
หัวใจเน่า หื้อพันหาย | รู้จักระงับใจตนเอง ใช้สติปัญญาเข้าข่ม อารมณ์ของตน |
คันกลัวตายหื้อรู้เยี่ยง | ถ้ากลัวตายให้ประพฤติธรรม |
หาบเฟืองหื้อค่อยไป | อย่าประมาทในการดำเนินชีวิต |
ใคร่ไวหื้อคลานใคร่นานหื้อแล่น | ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม อย่าใจเร็วด่วนได้ |
ใคร่นั่นแท่นหื้อเรียนธรรม | อยากนั่งธรรมาสน์ให้เรียนธรรม |
หื้อจำนำคำสอนพระเจ้าต่อเท้ากุ้มชีวังเทอะ | ให้จดจำคำสอนของพระยามังรายเพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน |
ตราบเท่าชีวิตจะหาไม่ |
การแต่งกาย ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่
๒๕ การแต่งกายของชาวน่านปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ ในเขตอำเภอเมือง
ฯ ลักษณะผ้าทอเป็นผืนผ้าที่นำมาต่อให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จะยกหรือปักลายมีเชิงชายหรือย้อมทอแบบใดก็ได้
ผ้าสำหรับผู้ชาย ผ้าต้อย และผ้าเตี่ยว
คือผ้านุ่งของผู้ชาย เป็นผืนผ้าสี่เหลี่ยม นุ่งแบบเค็ดหม้ามคือ นุ่งอย่างถกเขมร
บางทีมีการม้วนเป็นเกลียวให้กระชับ ผ้าต่อง
หรือผ้าหัว คือผ้าขาวม้าที่ใช้คาดเอวนุ่งก็ได้
เคี่ยนหรือโพกศีรษะก็ได้ ผ้าขาวม้าไทลื้อแบบอำเภอทุ่งช้าง นิยมใส่ลายจกหรือล้วงเป็นสีสดใส
ตรงซิ่นผ้านิยมใช้ดิ้นเงินดิ้นทอง สอดในลวดลายด้วย ผ้าเช็ด
เป็นผ้าฝ้ายสีขาวทอด้วยการชิด (มก) เป็นลวดลายเรขาคณิตหรือรูปสัตว์ต่าง ๆ
ส่วนผ้าเช็ดจากอำเภอทุ่งช้างเป็นผ้าทอด้วยวิธีการชิด และกรอบสลับสีต่าง ๆ
ส่วนใหญ่จะทอด้วยผ้าฝ้าย บางผืนก็มีดิ้นทองสลับด้วยลวดลายเรขาคณิต เสื้อ เสื้อของผู้ชายไทลื้ออำเภอทุ่งช้าง
ตัดเย็บด้วยผ้าม่อฮ่อมคอตั้งแขนยาว คอเสื้อเย็บตกแต่งแถบผ้าลายจก ติดกระดุมเงิน
หมวก
เป็นผ้าโพกแบบเคียนรอบศีรษะ เป็นผ้าฝ้ายสีขาว หรือผ้าแพรจับสีชมพู สำหรับไทลื้อเมืองเงินปกติจะใช้ผ้าโพกศีรษะสีดำ
ในโอกาสพิเศษจะสวมหมวกผ้าที่มีลวดลายตีนจก ตกแต่งอย่างสวยงาม
ผ้าสำหรับผู้หญิง ผู้หญิงนุ่งซิ่นป้อง ทอด้วยลวดลายชิด
และซิ่นก่าน นับเป็นศิลปะพื้นบ้าน ที่แสดงถึงความละเอียดประณีตของผู้ทอ บางลายแสดงถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ด้วยการผูกลายเล่นสี
หรือการจก ผ้าซิ่น คือผ้าที่เย็บเป็นถุง มีขนาดสั้น ยาว หนา แคบ ต่าง ๆ กัน
วิธีการนุ่งซิ่นของชาวเมืองน่าน จะทบจากซ้ายไปขวา หรือจากขวาไปซ้ายโดยเหน็บชายพกไว้ที่เอว
ส่วนตีนเชิงหรือตีนซิ่นจะเสมอกันมีสี่รูปแบบคือ แบบซิ่นเชียงแสน ซิ่นป้อง
ซิ่นม่าน และซิ่นตีจก เสื้อ เป็นเสื้อแขนยาวสีคราม ตัวเสื้อรัดรูป เอวลอย
มีสามหน้าเฉียงมา ผูกติดกันด้วยฝ้าย หรือแถบผ้าเล็กต่อมุมด้านซ้ายหรือขวาของลำตัว
ชายเสื้อนิยมยกลอยขึ้นทั้งสองข้าง สาบเสื้อขลิบด้วยผ้าแถบสีต่าง ๆ ประดับด้วยกระดุมเงินเม็ดเล็ก
ๆ เรียงกัน
ประเพณีแข่งเรือจังหวัดน่าน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ
โดยมีการจัดการแข่งขันกันเองในฤดูน้ำหลาก น้ำขึ้น (ฤดูฝน) ในเทศกาลตานก๋วยสลาก
(สลากภัต) โดยแต่ละวัดจะนำเรือของตนเข้าแข่งขันเพื่อเป็นการเชื่อมไมตรีสมานสามัคคีกัน
เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้มีคำสั่งให้ข้าราชการตัดไม้ตะเคียนคู่ขนาดใหญ่มาขุดเป็นเรือขนาดใหญ่มากสองลำ
แล้วจัดให้มีพิธีกรรมบวงสรวงเทวดาประจำไม้ตะเคียน และทำบายศรีสู่ขวัญเรือทั้งสองลำลงแม่น้ำน่าน
เรือลำแรกให้ชื่อว่าเรือท้ายหลัง เรือลำที่สองชื่อว่า เรือท้ายหลวง ต่อมาเจ้าผู้ครองนครน่าน ได้ป่าวประกาศให้ชาวเมือง นำเรือทั้งสองเป็นแม่แบบในการสร้างเรือ
เพื่อนำมาใช้แข่งขันกัน
เอกลักษณ์เฉพาะของเรือแข่งจังหวัดน่าน มีความงดงาม ไดยเฉพาะเอกลักษณ์ทางหัวเรือ หรือโขนเรือ ที่จำหลักเป็นรูปพญานาคแบบล้านนา ส่วนท้ายเรือก็จะเป็นส่วนหางของพญานาค ที่มีความสวยงามกลมกลืนกัน
ประเพณีหกเป็งขึ้นธาตุแช่แห้ง (ไหว้สาพระธาตุแช่แห้ง)
เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่อดีต ในช่วงฤดูเทศกาลเพ็ญเดือนหก (เหนือ) เจ้าผู้ครองนครน่าน พร้อมด้วยข้าราชบริพาร จะพากันไปนมัสการพระธาตุแช่แห้ง โดยในวันขึ้นสิบสี่ค่ำเดือนหก ขบวนแห่ของเจ้าเมืองน่าน พร้อมด้วยคณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนจากชุมชนต่าง ๆ จะมาพร้อมกันที่บริเวณรอบ ๆ เนินภูเพียงแช่แห้ง จะมีพิธีทางศาสนา และกิจกรรมเฉลิมฉลอง เพื่อเป็นพุทธบูชา โดยมีการทำบุญตักบาตร เทศมหาชาติ บรรยายธรรม และมีการจุดบ๊อกไฟดอก (บั้งไฟ) ซึ่งมีลักษณะเป็นไฟพะเนียงพื้นบ้าน มีความสวยงามในยามราตรี เมื่อถึงวันจึ้นสิบห้าค่ำเดือนหก ขบวนพุทธศาสนิกชนจะทำครัวตาน (เครื่องไทยธรรม) ในช่วงบ่ายจะมีการถวายเป็นพุทธบูชา โดยการจุดบ๊อกไฟขึ้น (จุดบั้งไฟ) และมีการแสดงพระธรรมเทศนา มีเทศน์มหาชาติสืบเนื่องต่อจากวันขึ้นสิบสี่ค่ำ
ประเพณีกิ๋นสลาก
ทานสลากหรือกิ๋นก๋วยสลาก คือาการทำบุญสลากภัต ซึ่งเป็นการให้ทานโดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะถวายทานแก่พระภิกษุรูปใด
พิธีจะเริ่มในเดือนสิบสองเหนือ (เดือนสิบสองของภาคกลาง) หรือเดือนกันยายน
และสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับ (เดือนสิบเอ็ด แรมสิบห้าค่ำ) หรือเดือนพฤศจิกายน
การจัดงานกิ๋นสลากของอำเภอบ้านหลวง มีเอกลักษณ์เฉพาะคือ คณะศรัทธาจากทุกวัดทุกหมู่บ้าน
จะรวบรวมเครื่องไทยธรรมหรือกัณฑ์สลาก ทั้งสลากน้อย หรือสลากหลวง (ต่างเมือง)
โดยมีการบรรจุลงในก๋วย (ชะลอม) ที่เป็นชะลอมพื้นเมืองต่างจากแหล่งอื่น ๆ ทุกหมู่บ้านจะเตรียมสลากของตนเองสำหรับวันดา
(วันสุกดิบ) ซึ่งเป็นวันเตรียมงาน เส้นสลากใช้ใบตาลหรือใบลานเขียนลงบนสลาก
การเขียนเส้นสลากแบ่งออกตามจุดประสงค์ของการถวายทาน มีสามลักษณะคือ เป็นการอุทิศให้บรรพบุรุษ
ญาติพี่น้อง มิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้ว อุทิศให้พ่อเกิด แม่เกิด สรรพสัตว์
ผีเปรต และอุทิศเพื่อเป็นการออมบุญให้แก่ตนเองในภายภาคหน้า
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |