| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ภาษาและวรรณกรรม
            ภาษา  ภาษาพูด หรือภาษาพื้นเมือง ใช้ภาษาถิ่น คือ ภาษาไทยอีสาน ซึ่งเป็นลักษณะร่วมกันระหว่างล้านนา กับล้านช้าง โดยกลุ่มชาติพันธุ์ของหนองบัวลำภู คือ ลาวพวน ลาวเวียง ลาวล้านช้าง
            ในสมัยอาณาจักรล้านช้าง ได้แบ่งการปกครองออกเป็นสองนครคือ แคว้นสิบสองจุไทย หัวพันทั้งห้าทั้งหก ขึ้นกับเมืองหลวงพระบาง แดนพวนขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์ ชุมชนที่อยู่ในเขตแดนนี้คือ ลาวพวน ภาษาที่ใช้พูดเป็นภาษาลาว หรือ ภาษาไทยอีสาน
            จารึก  คือ จารึกถ้ำสุวรรณคูหา มีอยู่สองหลักคือ หลักที่ ๑ และหลักที่ ๒
                จารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา หลักที่ ๑  อยู่ที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา อำเภอสุวรรณคูหา ศิลาจารึกเป็นใบเสมารูปใบพาย ทำด้วยศิลาทราย มีขนาดความสูง ๑.๓๕ เมตร กว้าง ๐.๗๐ เมตร หนา ๐.๒๐ เมตร ตั้งอยู่ที่หน้าเพิงผาด้านล่าง ทางเบื้องขวาของถ้ำสุวรรณคูหา มีส่วนฝังอยู่ในพื้นหินขนาดใหญ่
                สภาพของวัดแห่งนี้ เคยเป็นวัดร้างมาระยะหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมอาจจะเป็นวัดสำคัญของฝ่ายอรัญวาสี ของอาณาจักรล้านช้างมาก่อน
                จารึกนี้มีอยู่สองด้าน จารึกต่างยุคต่างสมัยกัน  ด้านที่ ๑ จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน จำนวน ๒๐ บรรทัด บอกศักราชที่จารึกคือ จ.ศ.๙๒๕ (พ.ศ.๒๑๐๖)  สาระสำคัญของจารึกคือ บอกฤกษ์ยามในการสร้างกล่าวถึง พระนามพระเจ้าไชยเชษฐา ฯ ที่ทรงกัลปนาที่ดิน สร้างพระพุทธรูป ถวายข้าโอกาส และได้กล่าวถึงนามเมือง ที่อุทิศให้เป็นนาจังหัน เพื่อเก็บผลประโยชน์ถวายพระภิกษุ และบำรุงวัด ในตอนท้ายได้สาปแช่งผู้ที่ทำลายทานวัตถุ และถือประโยชน์ของสงฆ์มาเป็นของตนเอง (พ.ศ.๒๑๑๕)
                สำหรับ ด้านที่ ๒  นั้น จารึกในสมัยพระเจ้าสุมังคลาโพธิสัตว์ มีเนื้อความคือ บอกฤกษ์ยามในการสร้าง กล่าวถึงพระนามของพระเจ้าสุมังคลาโพธิสัตว์ ได้กัลปนาที่ดินให้กับวัดสุวรรณคูหา ในตอนท้ายได้สาปแช่งผู้ที่ทำลายทานวัตถุ และถือประโยชน์สงฆ์มาเป็นของตนเอง
                จากการศึกษา จารึกหลักที่ ๑  พบว่ามีชุมชนที่เป็นหมู่บ้าน และเมืองอยู่ไม่น้อย เช่น เมืองนาเรือ เมืองนาขาม เมืองหินชน เมืองชนู และชุมชนแบบหมู่บ้าน เช่น นาปู นาท่าเป็ด นาหัน นาไล่เขี่ย นาแพงเมือง และนาสีกส้าง  เป็นต้น
                    อักษร  เป็นตัวธรรม ๔ บรรทัดแรก บรรทัดที่ ๕-๑๔ เป็นอักษรไทยน้อย ตัวอักษรชัดเจน อักษรธรรมเป็นจารึกของ พระเจ้าไชยเชษฐา ฯ และจารึกของพระยาสุรเทพเจ้า อักษรไทยน้อย เป็นจารึกของพระเจ้าสุมังคลาโพธิสัตว์
                    จากการศึกษารูปแบบตัวอักษรพบว่า ในสมัยดังกล่าวเป็นอักษรที่ใช้ร่วมกันระหว่างล้านนา (เชียงใหม่)  และล้านช้าง รวมทั้งภาคอีสานด้วย ซึ่งเกือบจะไม่มีความแตกต่าง ระหว่างตัวอักษรธรรมกับอักษรตัวเมืองทางภาคเหนือ และอักษรไทยน้อย กับอักษรฝักขามภาคเหนือ แต่ในสมัยหลังรูปแบบตัวอักษรในภาคเหนือ และภาคอีสานได้พัฒนาไปคนละแนว จนในปัจจุบันมีรูปร่างแตกต่างกันไปมาก
                    การเรียกชื่อปีนักษัตร  ปีปฎิทินที่ปรากฎในจารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา รวมทั้งจารึกอื่น ๆ ของภาคอีสาน สมัยไทย - ลาว ไม่ใช้ปีนักษัตรเหมือนภาคกลาง แต่กลับไปใช้ปีนักษัตรแบบปีหนไทยคือ ไจ้ เป้า ยี่ เม้า ไส้ สง้า มด (ภาคเหนือใช้เม็ด)  เรียกชื่อเป็น ชวด ฉลู ขาล ฯลฯ (แบบเขมร หรือปีขอม) โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นต้นมา ไม่ค่อยปรากฎเอกสารใด ๆ ที่เรียกปีแบบหนไทย
                    ในจารึกสุโขทัย ใช้ทั้งปีหนไทยและปีขอม เช่น จารึกหลักที่ ๔๕ วัดมหาธาตุ สุโขทัย
                    เลกวัด หรือข้าโอกาส  การอุทิศบุคคลถวายวัด เป็นธรรมเนียมของสังคมไทยสมัยอยุธยา ล้านนา ล้านช้าง และอีสาน
                    นาจังหัน  การถวายนาจังหัน และเขตวิสุงคามสีมา เป็นธรรมเนียมการกัลปนาที่ดินถวายวัด ซึ่งเจ้านายนิยมทำกันมาก โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ผู้เป็นศาสนูปถัมภก ในภาคอีสานนิยมทำกันมาโดยไม่ขาดตอน ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ
                จารึกหลักที่ ๒  มีขนาดสูง ๐.๗๕ เมตร กว้าง ๐.๕๕ เมตร ความหนาไม่มากนัก ปัจจุบันเก็บไว้หน้าพระประธานถ้ำสุวรรณคูหา จารึกด้วยอักษรตัวธรรมอีสาน จำนวน ๑๓ บรรทัด ตัวอักษรชัดเจน มีจารึกด้านเดียว จารึกเมื่อปี จ.ศ.๙๘๘ (พ.ศ.๒๑๖๘)  กล่าวถึงพระยาสุรเทพเจ้า และกล่าวถึงการอุทิศเลกวัด ถึง ๕ ครัว ในตอนท้ายได้กล่าวสาปแช่งไว้ด้วย
            ตำนาน  มีตำนานเรื่อง สองนาง หรือหอสองนาง  ที่ปรากฎอยู่ริมหนองบัวใจปัจจุบัน ถือว่าเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมากับเมืองหนองบัวลำภู ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งกับพระวอพระตา มีความว่า
            เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๐  ณ ที่สวนหม่อน สวนกล้วย บริเวณลำห้วยเชียง ซึ่งเป็นสวนของพู่ตู้  "หลวงเมืองแม่ตู้มั่น" ชาวบ้านกลางคุ้มตะวันออกของกำแพงเมืองเก่า อยู่ห่างจากตอนหอ หรือศาลหลักเมือง พระวอ พระตา ปัจจุบัน ประมาณ ๒ - ๓ เส้น  ชาวบ้านเรียก สวนท่ากระแสของพ่อตู้หลวงเมือง และแม่ตู้มั่น สองผัวเมียคู่นี้มีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ แก้ว มีสามีชื่อ ทิดสอน
            วันหนึ่งทิดสอนกับนางแก้ว ไปเก็บใบหม่อนและถางหญ้า ที่สวนท่ากระแสตามปกติ นางแก้วได้ลงไปอาบน้ำที่ท่ากระแส ในห้วยเชียง เช่นที่เคยปฎิบัติ แต่การอาบน้ำครั้งนี้ได้เกิดเหตุการณ์ เหมือนมีงูขนาดใหญ่มารัดขาทั้งสองไว้ จึงร้องเรียกสามีให้ช่วยแต่สามีไม่ได้ยิน ขณะนั้นนางจันดา ผู้เป็นเพื่อนได้ยินเสียงเรียกให้ช่วย จึงรีบเดินตามเสียงมา เมื่อพบนางแก้วจึงลงไปช่วย แต่ไม่สามารถช่วยได้จึงบอกว่า จะไปตามสามีมาช่วย เมื่อสามีมาถึงก็ลงไปช่วยแต่ก็ไม่สามารถนำภรรยาขึ้นจากน้ำได้ จึงได้อ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือ อารักหลักเมืองพระวอ พระตา นางแก้วก็รู้สึกว่างูใหญ่ที่รัดขาคลายออก นางจึงขึ้นจากน้ำได้ แล้วพากันกลับบ้านเล่าเรื่องให้พ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านฟังโดยตลอด
            ต่อมานางแก้ว ก็ป่วยด้วยอาการประหลาดอีก โดยมีอาการหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลาว่า เหมือนกับมีงูใหญ่มารัดอยู่ทุกขณะ พ่อแม่และบรรดาญาติพี่น้องจึงตกลงกันให้ ยายแม่คำดีทำพิธี สู่ดู ว่าเกิดจากเหตุใด เมื่อทำพิธีแล้วยายคำดีได้บอกว่า เรื่องทั้งหมดเกิดจาก สองนาง ที่เป็นหลานพระวอพระตา ที่อยู่ริมหนองบัวที่มาเฝ้ารักษาฆ้องมิ่งเมือง ของพระวอพระตา ซึ่งเป็นฆ้องขนาดใหญ่ ไม่สามารถเอาไปได้เมื่อคราวแพ้ศึกทางเวียงจันทน์ ท่านจึงให้เอาไปฝังไว้ในหนองบัว เพื่อไม่ให้ทางเวียงจันทน์เอาคืนไป แล้วมอบให้หลานฝาแฝดทั้งสองชื่อ คำสี กับคำใส มารักษาฆ้องไว้
            ยายคำดีได้บอกว่า สิ่งของที่สองนางต้องการยังมีอีกคือ ให้ทำหอให้หอหนึ่งที่ริมหนองบัว บริเวณต้นขาม และให้เป็นหอถาวรตลอดไป ในสมัยนั้นชาวบ้านเรียกที่นั้นว่า โพนกกปักขาม หอสองนาง ทุกคนก็ยินดีและยินยอม ตามที่ยายคำบอก เมื่อยายคำได้ทำพิธีแล้ว นางแก้วก็หายเป็นปกติอย่างเดิม สร้างความแปลกประหลาดใจแก่ทุกคน และถือได้ว่าได้เกิดพิธีกรรม อีกอย่างหนึ่งขึ้นแล้ว กลายเป็นประเพณีท้องถิ่นมาจนถึงทุกวันนี้
            ในเรื่องเกี่ยวกับฆ้องใหญ่นั้น ตามตำนานกล่าวว่า พระวอพระตา ได้เอามาจากเวียงจันทน์ เป็นฆ้องขนาดใหญ่มาก นำมาใช้บอกสัญญาณต่าง ๆ เช่น ในเวลาที่อพยพมาคราวนั้นได้ใช้ฆ้องนี้ตีเป็นสัญญาณ เพื่อมิให้หลงทิศทาง และใช้เป็นสัญญาณในการหยุดพัก และออกเดินทางต่อไป ที่ได้ชื่อว่า ฆ้องมิ่งเมือง คือ ตีเอาฤกษ์ เอายาม ตีเอาบ้านเอาเมือง ตีเอาพรรคเอาพวก
            วรรณกรรมพื้นบ้าน  มีอยู่ห้าเรื่องด้วยกันคือ นางผมหอม ท้าวขูลู - นางอั้ว พญาคันคาก ท้าวก่ำกาคำ และจำปาสี่ต้น
                นางผมหอม  มีเค้าโครงเรื่อง มาจากนิทานชาดก มีความยาวทั้งหมดห้าผูก บทเริ่มต้นเป็นคำกลอน ชมความงาม ต่อไปเป็นตอน นางสีดาชมไพร - พลัดพรากจากไพร่พล หลงทางจนตั้งครรภ์ ตอนนางผมหอมและนางลุนตามหาบิดาบังเกิดเกล้า ตอนนางทั้งสองพบพ่อช้าง นางลุนสิ้นชีวิต ตอนนางผมหอมเสี่ยงทายหาคู่ ตอนขุนไทพานางผมหอม และลูกหนีกลับเมือง พ่อช้างตามหาจนตาย ตอนนางผมหอมกับขุนไท และบุตรธิดากลับถึงบ้านเมือง และตอนนางผมหอมกลับคืนเมืองไปเยี่ยมแม่ นางสีดาผู้เป็นแม่ทำการสู่ขวัญให้
                วรรณกรรมเรื่องนี้ มีอยู่ในพื้นที่หนองบัวลำภู หลายชั่วอายุคน แต่เดิมเป็นหนังสือผูกใบลาน เขียนด้วยตัวอักษรไทยน้อย หรือที่เรียกว่า อักษรธรรม ใช้อ่านในงานศพในเวลากลางคืน
                ท้าวขูลู - นางอั้ว  เป็นตำนานพื้นบ้าน มีความว่า ท้าวขูลูและนางอั้ว รักกันอยู่ก่อนแล้ว ต่อมามีขุนลาง ซึ่งเป็นคนแก่บ้านเดียกัน แต่อยู่คนละคุ้ม อยากได้นางอั้วจึงได้นำเอาสิ่งของต่าง ๆ มาเป็นของกำนัล แก่แม่ของนางอั้ว จนแม่ของนางอั้วมีใจเอนเอียงไปทางขุนลาง บังคับให้ลูกสาวแต่งงานกับขุนลาง แต่นางอั้วไม่ยอมหนีไปผูกคอตาย ขุนลางเมื่อทราบเรื่องก็ตามไปกอดศพเลยเป็นลมตาย ส่วนท้าวขูลู เมื่อรู้ข่าวก็เสียใจใช้ดาบเชือดตัวตายตามไปด้วย มีบทต่าง ๆ ตามท้องเรื่องคือ บทพรรณาถึงความงามของนางอั้ว บทพรรณาถึงธรรมชาติขณะที่ท้าวขูลูยกพลเดินทางไปหานางอั้ว บทพรรณาถึงคนแก่อยากมีเมียสาว (ขุนลาง)  บทพรรณาถึงความเศร้าในขณะที่นางอั้วผูกคอตาย ตอนที่คนทั้งสองตายแล้ว ไปพบกันที่สวรรค์ ตอนท้าวขูลู-นางอั้ว อยู่ร่วมกันเป็นรูปรุ้งกินน้ำ และบทสรุปการกลับชาติมาเกิดใหม่คือ ท้าวขูลู มาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ นางอั้ว เป็นพระพิมพา แม่ เป็นพระนางสิริมหามายา และพระยากาสี คือ พระเจ้าสุทโธทนะ
                หนังสือผูกเรื่อง ท้าขูลู - นางอั้ว ในอดีตเป็นที่นิยมกันมาก ผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออกก็จะอาศัย ผู้ที่อ่านออกอ่านให้ฟัง
                พญาคันคาก  เป็นนิทานชาดก ที่แฝงคติธรรม มีความไพเราะชวนให้คิดไปได้ไกล ประโยชน์ที่ได้นอกจากทางด้านอักษรศาสตร์แล้ว ยังมีผลพลอยได้ทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับจินตนาการของสังคมชาวอีสานโบราณ ตัวบางตอนต่าง ๆ ตามท้องเรื่องคือ ตอนบิดาขึ้นชมปราสาทที่พระอินทร์เนรมิตร ตอนท้าวคันคากครองเมือง พญาแถนเคียดแค้น
                ท้าวก่ำกาดำ หรือเรื่องกาดำน้อย ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำรงชีวิตของชาวอีสานโบราณไว้มาก วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นหนังสือผูก (ใบลาน) มีความยาวขนาดกลาง มีเค้าโครงเรื่องเป็นคติ น่าศึกษา ในตอนท้ายสุดของเรื่อง ท้าวก่ำกาดำได้ถอดรูปทำนองเดียวกับเรื่องสังข์ทอง ของวรรณคดีภาคกลาง และจบลงด้วยความสุขสมหวัง และกาดำน้อยก็ได้สนองตอบต่อผู้มีบุญคุณกับตน
                จำปาสี่ต้น  วรรณกรรมชาวอีสานโบราณทุกเรื่อง จะเน้นหนักถึงเรื่องการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ผู้ที่มิได้สนใจศึกษาให้เข้าใจแท้จริงหรือศึกษาแต่เพียงผิวเผิน อาจสรุปเอาว่าเป็นการมอมเมาให้หลงมงาย แต่ความจริงแล้วจะมีคุณค่าทางจริยธรรมอยู่มาก มีเนื้อความโดยย่อดังนี้
                เรื่องนี้เป็นนิทานชาดกตอนหนึ่งคือมีเมืองหนึ่งชื่อเมืองปัญจา พระเจ้าจุลนี เป็นกษัตริย์ มีมเหสีชื่อพระนางอัคคี เมืองปัญจามีเขตแดนติดต่อกับเมืองจักขิน มีพระธิดารูปงามชื่อปทุมมา ต่อมาเจ้ากรุงจักขินฝันร้ายโหรทำนายว่าจะเกิดกลียุค มีตัวผู้ร้ายคือฮ้ง เป็นพญานกใหญ่ตัวเท่าภูเขา ได้เข้ามากินมนุษย์และสัตว์จากป่าเข้าสู่เมือง พระยาจักขินจึงได้เตรียมต่อสู้ แต่สู้ไม่ได้ พระเจ้ากรุงจักขินจึงคิดอุบายให้ธิดาเหลือรอดอยู่เพียงคนเดียว จึงเอานางเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในกลองใบใหญ่
                กล่าวถึงพระเจ้าจุลนี ได้ประพาสป่าหลงทาง แล้วได้เข้าไปในเมืองร้าง ได้พบนางปทุมา ที่ซ่อนตัวอยู่ในกลอง นางได้เล่าเรื่องราวแต่หนหลังให้ทราบ พระเจ้าจุลนีพานางกลับไปเมืองปัญจา และได้นางเป็นมเหสีคนที่สองจนนางตั้งครรภ์ พระนางอัคคีมเหสีคนแรก จึงวางแผนทำลายนางโดยขโมยโอรสของนางที่คลอดออกมาสี่คนใส่ไหลอยน้ำไป แล้วเอาลูกสุนัขสี่ตัวมาแทน นำไปถวายพระเจ้าจุลนี พระเจ้าจุลนีกริ้วมาก จึงลงอาญานางปทุมา โดยขับนางไปให้เป็นคนเลี้ยงหมู
                กล่าววถึงกุมารทั้งสี่ที่ถูกจับใส่ไหลอยน้ำไปนั้น ด้วยบุญบารมีที่มีอยู่ทำให้ครุฑนาคเฝ้าคอยอุ้มชูรักษา จึงอยู่ในไหโดยไม่มีภัย ลอยไปจนนถึงอุทยานสวนดอกไม้ สองตายายผู้เฝ้าอุทยานพบเข้าจึงนำไปเลี้ยง
                ฝ่ายนางอัคคี นับจากที่ได้กำจัดนางปทุมาแล้ว ก็ไม่เห็นยคนเฝ้าอุทยานชราสองผัวเมีย นำดอกไม้มาถวายดังเช่นเคย จึงให้นางกำนัลไปสืบสวนดูก็ทราบว่า ทั้งสองผัวเมียได้เด็กมาเลี้ยงไว้สี่คน นางก็แน่ใจว่าเด็กทั้งสี่คนนั้นเป็นผู้ที่ตนให้ลอยน้ำทิ้งไป จึงได้วางอุบายทำขนมผสมยาเบื่อให้นางกำนัลนำไปให้กุมารทั้งสี่กินขณะที่สองตายายไม่อยู่ กุมารทั้งสี่ถึงแก่ความตายพร้อมกัน
                เมื่อสองตายายกลับมาพบว่ากุมารทั้งสี่ตายแล้ว ก็เศร้าโศกเสียใจมาก จึงได้นำกุมารทั้งสี่ไปเผา พอรุ่งขึ้นก็พบว่าเกิดต้นจำปาขึ้นสี่ต้น ก็แน่ใจว่าเป็นกุมารทั้งสี่ จึงเกิดความชื่นชมโสมนัสยิ่งนัก
                ฝ่ายพระนางอัคคี เมื่อทราบว่าสี่กุมารตายไปแล้วจริง แล้วเกิดเป็นต้นจำปาสี่ต้น สองตายายเฝ้าดูแลรักษาอยู่ พระนางจึงได้ดำเนินการเพื่อทำลายต้นจำปาทั้งสี่เสีย โดยให้นางกำนัลไปบอกให้สองตายายเด็ดดอกจำปาจากทั้งสี่ต้นมาถวาย สองตายายก็พยายามทัดทานไว้ ทำให้พระนางโกรธจึงให้นางกำนัลไปถอนต้นจำปาทั้งสี่ต้นมา แต่ถอนไม่ขึ้น เอาพร้ามาฟันก็ฟันไม่เข้า เอาเสียมมาขุดก็ขุดไม่ลง พระนางจึงให้จับสองตายายมาเฆี่ยนตีจนทนไม่ไหว รับว่าจะไปเอาต้นจำปามาให้ ต้นจำปาทั้งสี่จึงยอมให้สองตายายนำไปถวายพระนางอัคคี พระนางจึงสั่งให้บริวารเอาต้นจำปาทั้งสี่ลอยน้ำไป ฝ่ายตายายก็พยายามเดินเลาะตามฝั่งตามหาต้นจำปาทั้งสี่
                ในครั้งนั้นบรรดาอินทร์ พรหม เทวดา ครุฑ นาค ได้บรรดาลให้ต้นจำปาไหลทวนวน้ำขึ้นไปพบฤาษีตาไฟ ฤาษีได้ชุบชีวิตกุมารให้ฟื้นคืนชีพ แล้วประสิทธิ์ประสาทวิชาอาคมให้ เมื่อกุมารทั้งสี่โตขึ้นเป็นหนุ่มก็เป็นผู้ที่มีฤทธิ์มาก และเมื่อทราบความหลังแล้วก็วางเป้าหมายที่จะกลับบ้านเมืองเดิม ในระหว่างเดินทางกลับได้ต่อสู้กับยักษ์จนได้ธิดายักษ์มาเป็นมเหสีทุกองค์ เมื่อมาถึงเมืองปัญจาแล้ว ได้ไปหาสองตายายที่สวนแล้วไปหาพระมารดา จากนั้นได้ไปพบพระบิดา พระเจ้ากรุงปัญจา ได้ลงโทษพระนางอัคคีให้ไปเลี้ยงหมูชดใช้ความผิดที่กระทำต่อพระนางปทุมา แล้วพระกุมารก็ได้ไปช่วยชุบชีวิตพระเจ้ากรุงจักขินและมเหสี ซึ่งเป็นตาและยายพร้อมทั้งไพร่ฟ้า ประชาชนชาวเมืองจักขินให้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |