| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

การละเล่นพื้นบ้านและนาฎศิลป์
            การละเล่นของเด็ก  การละเล่นของเด็กในภาคต่าง ๆ มีความคล้ายคลึงกัน แต่การเรียกชื่ออาจแตกต่างกันไป ตัวอย่างการละเล่นของเด็กของจังหวัดหนองบัวลำภู ได้แก่ การเล่นจ้ำจี้ การเล่นขาโถกเถก การเล่นเอาเถิด ฯลฯ
            การละเล่นของผู้ใหญ่  ในอดีตกีฬาในท้องถิ่นมีการเล่นไม่มาก และจะเป็นการเล่นของผู้ชาย กีฬาดังกล่าวได้แก่ ตะกร้อวง ไม่ได้เล่นเพื่อการแข่งขัน แต่เล่นเพื่อความสนุกสนานและออกกำลังกาย และพัฒนาความสามารถ การเล่นมีทั้งวงเล็ก วงกลาง และวงใหญ่ จังหวะและการเล่นตะกร้อวง จะใช้เกือบทุกส่วนของร่างกายเช่น ลูกศีรษะ ลูกเข่า ลูกแขน ลูกไหล่ ลูกหน้าอก ลูกศอกหน้า ลูกศอกหลัง ลูกอีแปะ ลูกหลังเท้า ลูกปลายเท้าซ้ายขวา สันหลัง เป็นต้น เป็นการเล่นด้วยลีลาสวยงาม นับเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
            นอกจากนั้นยังมีกลองเส็ง ในอดีตเป็นกีฬาที่ใช้เป็นสื่อในการเชื่อมความสามัคคีระหว่างชาวบ้านทั่วไป เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างผู้สูงอายุ หรืออาจจะเรียกว่า เป็นกีฬาของผู้สูงอายุ เป็นกีฬาที่ไม่มีการพนันขันต่อ กลองประเภทนี้เป็นของส่วนรวมรักษาไว้ที่วัด นิยมเล่นกันมากในบุญเดือนหกหรือบวชนาค ซึ่งจะใช้กลองเส็งร่วมขบวนแห่ตีเป็นจังหวะ
            กลองเส็งจะใช้ประกวดประชันกันระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน กลองเส็งเป็นทั้งเครื่องกีฬาและเครื่องดนตรี การแข่งขันไม่ได้มุ่งไปที่ความไพเราะของเสียงกลอง แต่มุ่งฟังเสียงที่ดังจากการตีนั้นว่าใครจะสามารถตีกลองได้ดีและดัง
            นาฎศิลป์  มหรสพมาจากศัพท์บาลีและสันสกฤตแปลว่าการรื่นเริง มหรสพของคนอีสานมีการเล่นการแสดงตามวรรณคดีเก่า ๆ เช่นเรื่องท้าวสุริวงศ์ ท้าวการะเกษ ท้าวขุนทึง ท้าวก่ำกาดำ นางผมหอม นางแตงอ่อน ฯลฯ ที่เป็นวรรณคดีพื้นเมืองประจำของแต่ละท้องถิ่น แสดงเป็นลำกลอน ลำหมู่ ลำเรื่องต่อกลอน ลำเพลิน ซึ่งเป็นมหรสพท้องถิ่นของอีสาน ตามงานประเพณี
            ในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู ในอดีตนิยมหมอลำคู่ หรือหมอลำกลอนเท่านั้น ในงานประเพณีต่าง ๆ หรืองานทำบุญของชาวบ้าน เช่น งานปราสาทผึ้ง งานบุญกฐิน และงานรื่นเริงประจำปี
            ดนตรี  มาจากตำบาลีและสันสกฤต แปลว่าลำดับเสียงอันไพเราะ มีอยู่เจ็ดอย่างด้วยกันคือกลองยาว กลองตะโพน กลองรำมะนา ฉาบ ฉิ่ง ฆ้อง แตร ขลุ่ย แต่ถ้าพูดถึงดนตรีของภาคอีสาน จะมีเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ คือ กลองยาว กลองสั้น กลองต้น กลองเพล กลองกิ่ง ฆ้อง ระนาด ระฆัง โปง แส่ง (ฉาบ) ฉิ่ง แคน ขลุ่ย ซอ ซง ปี่ พิณ หอยสังข์ สะนู เครื่องมโหรี
            สำหรับดนตรีในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู ในงานประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ของคนในท้องถิ่น เช่น ประเพณีบุญเดือนสี่ หรือบุญพระเวส ตอนแห่พระเวสเข้าเมืองจะใช้กลองยาว แคนเป็นดนตรีประกอบขบวนแห่พระเวสเข้าเมือง โดยใช่ทั้งพิณ แคน และกลองยาว ผสมกันในขณะที่ขบวนแห่มีการฟ้อนรำประกอบ ตอนกลางคืนมีมหรสพคือ หมอลำกลอน ก็จะต้องใช้แคน เป็นดนตรีประกอบในการลำ หรือแสดงทุกครั้ง ส่วนกลางวันของบุญเดือนสี่ นั้น นอกจากมีการฟังเทศน์มหาชาติชาดกตลอดวันแล้ว ชาวบ้านจะนำเป็นกัณฑ์หลอน มาถวายทางวัด ขบวนแห่กัณฑ์หลอนจะขาดแคนกับกลองยาวไม่ได้
            เนื่องจากเครื่องดนตรีสองชนิดดังกล่าว อยู่กับพื้นที่นี้มานาน และที่ใช้เป็นดนตรีประกอบในพิธีกรรม ที่เป็นพิธีกรรมทางความเชื่อของตนในพื้นที่อีกกลุ่มคือ พิธีเลี้ยงบ้าน พอถึงเดือนหก ข้างขึ้นของทุกปี จะเริ่มวันพุธแรกของเดือน พิธีกรรมนี้จะขาดแคน และกลองสั้น ที่หุ้มหน้าเดียวไม่ได้
            นอกจากนี้ยังมีประเพณีบุญเดือนหก หรือบุญบั้งไฟ จะใช้ทั้งกลองยาว กลองสั้น และแคน  ในการแห่ ตอนกลางคืนจะใช้กลองกิ่ง ตีแข่งขันเสียงดังของแต่ละบ้านที่มาร่วมกัน นอกจากนี้แล้วกลองยาวยังจะใช้ในการประกอบการแห่นาคไปบวช
            สำหรับแคน ยังใช้เป็นดนตรีส่วนตัวของบุคคลโดยใช้เป่าไปเที่ยวสาว ๆ ในเวลากลางคืนตามคุ้มต่างๆ นอกจากนั้นแคนยังนำไปใช้กับพิธีกรรม ในการรักษาคนป่วยบางประเภท
                เครื่องดนตรี  ที่จะนำมากล่าวในที่นี้คือ แคน แคนสามารถจัดเป็นประเภทตามจำนวนของไม้กู่ แคนที่ใช้ประกอบขึ้นเป็นแคนได้สี่ประเภทด้วยกันคือ
                    แคนหก  ทำด้วยไม้ลูกแคน หกลำ ข้างละสามลำ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แคนโก่ แคนชนิดนี้ สำหรับเด็ก ๆ เป่าเล่น ใช้เป่าเพลงง่าย ๆ เช่น เพลงแมงตับเต่า
                    แคนเจ็ด  ทำด้วยไม้ลูกแคนเจ็ดคู่ ข้างละเจ็ดลำ เป็นแคนเดี่ยวและแคนวง หรือใช้แต่แคนเจ็ด อย่างเดียวเป่าเพลงต่าง ๆ ก็ได้
                    แคนแปด  ทำด้วยไม้ลูกแปดคู่ ข้างละแปดลำ รวมเป็นสิบหกลำ
                    แคนเก้า  ทำด้วยไม้ลูกแคนเก้าคู่ ข้างละเก้าลำ รวมเป็นสิบแปดลำ
                    แคนแปด และแคนเก้า ใช้เป็นแคนเดี่ยว สำหรับเป่าประสานเสียงกับการขับร้อง หรือเป่าใส่หมอลำกลอน หมอลำคู่ จะเป็นแคนวงไม่ได้
                    แคนเก้า เป็นแคนขนาดใหญ่ และยาว มีการใช้น้อยไม่ค่อยนิยมใช้ เนื่องจากหนัก ใหญ่ และยาว เวลาเป่าใช้ลมมาก
                    แคนเมื่อแบ่งประเภทตามการใช้ก็แบ่งเป็นสองประเภทคือ แคนเดี่ยว และแคนวงแคนเดี่ยว ใช้เป่าแต่ลำพังตัวเดียว เป่าประสานเสียงกับการขับร้อง หรือลำ  แคนวง คือ แคนที่จัดเป็นชุด เป่าเป็นคณะ หรือเป็นวง วงหนึ่ง ๆ ใช้แคนตั้งแต่เต้า หรือแคนหกดวง เรียกว่า แคนวงเล็ก ที่ใช้แคนตั้งแต่ หรือสิบเต้าขึ้นไป เรียกว่า แคนวงใหญ่
                เพลงพื้นบ้าน - เพลงกล่อมเด็ก  สืบทอดจากปากสู่ปากมาหลายชั่วอายุคน เป็นเพลงที่มีสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนไทย บทเพลงกล่อมมีเนื้อหาสาระ ข้อความไม่เหมือนกัน บางบทก็สุภาพอ่อนโยน ไพเราะ บางบทก็แสดงถึงการงานที่เกี่ยวกับชีวิต บางบทก็แสดงถึงการพลัดพรากจากกัน หรืออิงเอาเนื้อร้องจากนิทานพื้นเมืองต่าง ๆ มาแต่งบทเพลง ตัวอย่างบทกล่อมของโบราณ ได้แก่ นางอ่อนสีกล่อมขุนทึง นางนีกล่อมลูก นางอ่อนสีกล่อมลูก เป็นต้น
ศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม
            พิธีกรรม เป็นส่วนประกอบของศาสนาเพื่อให้เกิดความเชื่อศรัทธาในศาสนา เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น พิธีกรรมเป็นการโน้มน้าวให้คนเข้าถึงศาสนา มีสาวนเสริมสร้างบรรยากาศให้เกิดความสงบ และศักดิ์สิทธิ์ให้ใฝ่ในการทำความดี นอกจากนั้นยังเป็นกระบวนการทางอ้อม ที่ให้การศึกษาหลักคำสอนแก่สมาชิกในสังคมนั้น ๆ ด้วย
            ศาสนพิธี  ที่สำคัญได้แก่ พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ
            ก่อนถึงวันแรมหนึ่งค่ำ เดือนสิบเอ็ด ซึ่งกำหนดวันทำบุญตักบาตร ทางวัดจะจัดให้มีงานพิธี ทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ ซึ่งจะต้องเตรียมการคือ
                   รถทรงพระพุทธรูป หรือคานหามพระพุทธรูป  เพื่อชักหรือหาม ประดับด้วยราชวัตร ฉัตร ธง โดยรอบพอสมควร มีที่ตั้งบาตร สำหรับบิณฑบาตรตรงหน้าพระพุทธรูป ถ้าไม่สามารถจัดรถ หรือคานหาม จะใช้อุบาสก เป็นผู้เชิญพระพุทธรูปก็ได้ และให้มีผู้ถือบาตรร่วมในขบวน
                   พระพุทธรูปยืนหนึ่งองค์  จะเป็นขนาดเล็ก หรือใหญ่ ก็ได้ ถ้าได้พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรจะเหมาะที่สุด แต่ถ้าไม่มีจะใช้ปางห้ามญาติ ปางห้ามสมุทร ปางรำพึง ปางถวายเนตร หรือปางลีลา ก็ได้
            การเตรียมสถานที่ให้ตั้งเครื่องใส่บาตร โดยใช้ลานวัด หรือบริเวณรอบของอุโบสถ โดยจัดตั้งแถวเป็นแนวเรียงราย ติดต่อกันไปเป็นลำดับ รอจนขบวนพระมาถึงตรงหน้าจึงใส่บาตร โดยให้ใส่ตั้งแต่พระพุทธรูปที่อัญเชิญนำหน้าพระสงฆ์ ไปเป็นลำดับ
            ความเชื่อ  ที่สำคัญได้แก่ พิธีเลี้ยงบูชาพระวอ พระตา และคะลำ
                พิธีเลี้ยงบูชาพระวอพระตา  เกิดจากความเชื่อว่า วิญญาณพระวอ พระตา มาเข้าเทียบ หรือสิง ยายหล่ำ ยายยม ยายจูม เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว การเลี้ยงบูชาตามกำหนดที่พระวอพระตา บอกผ่านการเทียบดังกล่าวให้กำหนดเอาวันพุธแรก ของเดือนหก ข้างขึ้น เป็นวันเลี้ยงที่หอใต้ (ศาลหลักเมืองปัจจุบัน)  และวันพฤหัสบดี เลี้ยงที่หอเหนือ (อยู่ทางทิศตะวันตกของน้ำตกเฒ่าโต้ในปัจจุบัน)  ถ้าในปีใดตรงกับวันพระ ให้เลื่อนไปจัดวันพุธที่สอง พิธีดังกล่าวเรียกว่า พิธีเลี้ยงบ้าน
                คะลำ  เป็นการควบคุมกิริยามารยาท ที่ถือปฎิบัติสืบต่อกันมา คำว่า คะลำ แปลว่า ไม่ดี ไม่งาม ไม่เหมาะสม เป็นบาปเป็นกรรม ถ้าทำอะไรลงไปแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ทักท้วงว่า คะลำ ผู้ทำจะไม่กล้าทำต่อไป ตัวอย่างของคะลำ ได้แก่ ของคะลำเกี่ยวกับการกิน การยืน การเดิน การนั่ง การนอน งานศพ และทั่วไป
            ประเพณีที่คนในท้องถิ่นถือปฎิบัติ  ได้แก่ ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่
                ฮีตสิบสอง  เป็นประเพณีท้องถิ่นซึ่งถือปฎิบัติ เป็นวิถีชีวิตในแต่ละเดือนของปี รวมสิบสองเดือน คือ เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม เดือนยี่ บุญคูณสาน เดือนสาม บุญข้าวจี่ เดือนสี่ บุญเผวส หรือบุญมหาชาติ เดือนเก้าบุญข้าวประดับดิบ เดือนสิบบุญข้าวสาก เดือนสิบเอ็ดบุญออกพรรษา เดือนสิบสองบุญกฐิน
                คลองสิบสี่ (สำหรับผู้ปกครองบ้านเมือง)  คลองหมายถึง แนวทางหรือทำนองคลองธรรม เป็ยข้อวัตรปฏิบัติ ถือว่าเป็นกฎหมายโบราณ มี ๑๔ ข้อคือ
                    ๑. ทรงแต่งตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริต เคารพยำเกรง ขยันหมั่นเพียร ให้เป็นอุปราช ราชมนตรี เป็นต้น
                    ๒. หมั่นประชุมอุปราดราชมนตรี ช่วยกันบริหารบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง
                    ๓. ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการคือ ทาน ศีล บริจาค อาชวะ มัททวะ ตบะ อักโกธะ อริสิงหา ขันติ อวิโรธนะ
                    ๔. ถึงวันขึ้นปีใหม่นิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และนำน้ำอบน้ำหอมมาสรงพระภิกษุสงฆ์
                    ๕. ถึงวันขึ้นปีใหม่ ให้เสนาอำมาตย์นำเครื่องบรรณาการ น้ำอบน้ำหอมมาพุทธาภิเษก สรงเจ้าชีวิตของตน
                    ๖. ถึงเดือนหก นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญวพระพุทธมนต์ ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาต่อเจ้ามหาชีวิต
                    ๗. ถึงเดือนเจ็ด ให้เลี้ยงมเหสักข์หลักเมือง บูชาเทวดาทั้งสี่คือท้าวจตุโลกบาล
                    ๘. ถึงเดือนแปด นิมนต์พระสงฆ์มาทำฮะบ่เบิกหว่านแฮ่ทราย ตออกหลักบ้านเมือง
                    ๙. ถึงเดือนเก้า ป่าวเดินให้ประชาชนทำบุญข้าวประดับดิน อุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
                    ๑๐. ถึงเดือนสิบ ป่าวเดินให้ประชาชนทำบุญข้าวสาก อุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
                    ๑๑. ถึงเดือนสิบเอ็ด ให้ประชาชนไปทำบุญออกพรรษา และนมัสการและพุทธาภิเษกพระธาตุหลวง
                    ๑๒. ถึงเดือนสิบเอ็ด ให้ทำบุญทอดกฐินตามวัดวาอาราม
                    ๑๓. ถึงเดือนสิบสอง ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมารวมที่หน้าพระลานหลวง แห่เจ้าชีวิตไปสรงน้ำในแม่น้ำ เพียงวัดจัดให้วัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำ มีเฮือส่วงวัดละหนึ่งลำ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เป็นวันสองเฮือ
                    ๑๔. ให้มีสมบัติคูณเมืองหรือค่าควรเมือง ๑๔ อย่างคือ หูเมือง มีทูตานุทูตผู้ฉลาดมีปัญยาสดิ ตาเมือง มีนักปราชย์ สอนอรรถสอนธรรม แก่นเมือง มีพระสงฆ์ผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย  ประตูเมือง มีอาวุธยุทโธปกรณ์ ป้องกันอริราชศัตรู  ฮากเมือง มีหูฮาทายเหตุร้ายและดี  เหง้าเมือง มีเสนาอำมาตย์ที่เที่ยงธรรม  ขื่อเมือง มีโยธาทหารผู้แกล้วกล้า  ฝาเมือง มีตากวนตาแสงผู้ซื้อสัตย์  ขวง เมือง มีเจ้านายจั้งอยู่ในศีลธรรม  เขตเมือง มีผู้ฉลาดดูพื้นที่ที่ตั้งเมือง สติเมือง มีคหบดีเศรษฐีและทวนค้า ใจเมือง มีแพทย์ผู้ฉลาดเชี่ยวชาญ เมฆเมือง มีเทวดาอักหลักเมือง
                คลองสิบสี่ (สำหรับชาวบ้าน) เป็นคลองที่ราษฎรจะประพฤติประบัติต่อชาวเมืองด้วยกันคือ
                    ๑. เมื่อได้ข้าวใหม่หรือผลหมากรากไม้ใหม่ ให้บริจาคทานแก่ท่านผู้มีศีล แล้วตนเองจึงบริโภคและแจกแบ่งแก่ญาติพี่น้องด้วย
                    ๒. อย่าโลบตาชิงตายอย อย่าจ่ายเงินแดง อย่าแปลงเงินกว้าง และอย่ากล่าวคำหยาบช้า กล้าแข็งต่อกัน
                    ๓. ให้เฮ็ดตายหรือกำแพงเมืองของตน แล้วปลูกหอบูชา เทวดาไว้ในสีแจบ้าน หรือแจเฮือน
                    ๔. ให้ล้างตีนก่อนขึ้นเฮือน
                    ๕. เมือเถิงวันศีล ๗ - ๘ ค่ำ ๑๔ - ๑๕ ค่ำ ให้สมมาก้อนเส้า สมมาแม่ดีไฟ สมมาแม่ขั้นได สมมาบักตคู เฮือนที่ตนอยู่อาศัย
                    ๖. ให้ล้างตีนก่อนจักนอนในกลางคืน
                    ๗. เถิงวันศีล เมียให้เอาดอกไม้ ธูป เทียน สมมาผัว และให้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปถวายสังฆเจ้า
                    ๘. เถิงวันศีลดับ ศีลเพ็ง ให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์เฮือน แล้วทำบุญใส่บาตร
                    ๙. เมื่อพระภิกษุมาบิณฑบาตร อย่าให้เพิ่มคอย เวลาใส่บาตร อย่าซูนบาตร อย่าซูนพระภิกษุสามเณร ยามใส่บาตรอย่าใส่เถิบ อย่ากั้นฮ่ม อย่าเอาม่าปกหัว อย่าอุ้มลูกจูงหลาน อย่าถือศัตราวุธต่าง ๆ
                    ๑๐. เมื่อพระภิกษุเข้าบริวาสกรรม ให้มีขันข้าวตอก ดอกไม้ธูปเทียนและเครื่องอัฐบริขารไปถวายท่าน
                    ๑๑. เมื่อเห็นพระภิกษุเดินผ่านมา ให้นั่งลงยกมือไหว้ แล้วจึงค่อยเจรจา
                    ๑๒. อย่าเหยียบเงาเจ้าภิกษุ ตนมีศีลบริสุทธิ์
                    ๑๓. อย่าเอาอาหารเงือนท่านให้แก่สังฆเจ้า และอย่าเอาอาหารเลื่อนให้ผัวตนกิน
                    ๑๔. อย่าเสพกามคุณในวันศีล วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันมหาสงกรานต์และวันเกิดของตน
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |