| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

เหตุการณ์สำคัญ
            การจัดตั้งมณฑลเพชรบูรณ์และเทศาภิบาล  ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครอง เนื่องด้วยเหตุการณ์ตามชายแดนของประเทศ ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จึงได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยรวบรวมหัวเมืองตามชายแดนที่สำคัญตั้งขึ้น เป็นเขตการปกครองเรียกว่า มณฑล ได้จัดตั้งรวมหกมณฑลด้วยกัน  เมืองหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า อำเภอวังสะพุงที่ตั้งอยู่ใกล้ชิด และสะดวกในการเดินทางติดต่อระหว่างกัน กับทั้งลักษณะขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกัน กับมณฑลลาวพวน ได้ไปขึ้นกับมณฑลลาวพวน  ส่วนเมืองเพชรบูรณ์ เมืองวิเชียรบุรี ที่อยู่ทางตอนใต้ การเดินทางติดต่อสะดวกกับมณฑลลาวกลาง จึงไปขึ้นอยู่กับมณฑลลาวกลาง
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๒ ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้น โอนเมืองหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า อำเภอวังสะพุง มาขึ้นกับมณฑลเพชรบูรณ์ ยุบเมืองวิเชียรบุรีเป็นอำเภอ โอนอำเภอบัวชุม อำเภอชัยบาดาล มาขึ้นกับมณฑลเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์มีสองเมืองคือ เมืองหล่มสักกับเมืองเพชรบูรณ์ แต่งตั้งนายอำเภอน้ำปาด มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรกคือ พระยาเพชรรัตน์สงคราม
            ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ พระยาเพชรรัตน์สงครามถึงแก่กรรม จึงประกาศยุบมณฑลเพชรบูรณ์ ให้เป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์อีกครั้ง โดยแต่งตั้งพระยาเทพาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองพิจิตรมาปกครองจนถึงปี พ.ศ.๒๔๕๕ ก็ถึงแก่กรรม จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ เจ้าเมืองนครพนมมาดำรงตำแหน่งแทน ต่อมาได้โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาเพชรรัตน์สงคราม
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ ให้ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เนื่องจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย การคมนาคมติดต่อกับเมืองอื่น โดยเฉพาะพิษณุโลกสะดวกขึ้นและมีพลเมืองน้อย หลังจากยุบเป็นจังหวัด แล้วมีสี่อำเภอคืออำเภอเมือง ฯ  อำเภอวัดป่า (อำเภอหล่มสัก)  อำเภอหล่มเก่า อำเภอวิเชียรบุรี และกิ่งอำเภอชนแดน
            สงครามโลกครั้งที่สอง  ในห้วงเวลาเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนของฝรั่งเศส รัฐบาลไทยได้ประกาศกฏอัยการศึกในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
            ต่อมาในห้วงเวลาเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา ประชาชนไทยทุกจังหวัด ประสบปัญหาการครองชีพเครื่องอุปโภค ต้องมีการปันสว่นในการซื้อขาย แต่ชาวเพชรบูรณ์ไม่เดือดร้อนนัก เนื่องจากมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์
                รัฐนิยมกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ  รัฐบาลที่มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้ออกรัฐนิยม จำนวน ๑๒ ฉบับ โดยออกในรูปประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญดังนี้
                    ฉบับที่ ๑  เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย ประกาศเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๒
                    ฉบับที่ ๒  เรื่องการป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ ประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒
                    ฉบับที่ ๓  เรื่องการเรียกชื่อชาวไทย ให้ใช้คำว่าไทยโดยไม่แบ่งแยก ประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒
                    ฉบับที่ ๔  เรื่องการเคารพธงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี ประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒
                    ฉบับที่ ๕  เรื่องให้ชาวไทยใช้เครื่องอุปโภค และบริโภคที่ทำในไทย ประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒
                    ฉบับที่ ๖  เรื่องทำนองและเนื้องร้องเพลงชาติ  ประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒
                    ฉบับที่ ๗  เรื่องชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติไทย  ประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒
                    ฉบับที่ ๘  เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี  ประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓
                    ฉบับที่ ๙  เรื่องภาษาและหนังสือกับหน้าที่พลเมืองดี  ประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓
                    ฉบับที่ ๑๐  เรื่องเครื่องแต่งกายของประชาชนชาวไทย ห้ามกินหมาก  ประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔
                    ฉบับที่ ๑๑  เรื่องกิจประจำวัน พึงแบ่งเวลาในวันหนึ่งออกเป็นสามส่วน  ประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔
                    ฉบับที่ ๑๒  เรื่องการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชรา คนทุพพลภาพ  ประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕
                    ปรากฎว่าประชาชนส่วนใหญ่รู้สึก ไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะในฉบับที่ ๑๐ และ ๑๑
                    นอกจากนั้นได้มีการปรับปรุงภาษาไทยให้กระทัดรัด เนื่องจากญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาตั้งกองทัพในประเทศไทยเสนอว่า ภาษาไทยเรียนได้ยาก ควรใช้ภาษาญี่ปุ่นแทน จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี หาทางออกโดยจะปรับปรุงภาษาไทยให้เรียบง่ายขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๕

            นครบาลเพชรบูรณ์  รัฐบาลโดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการเพชรบูรณ์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ
                    ๑. วัดตั้งจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเมืองหลวงใหม่โดยให้กรุงเทพ ฯ เป็นเมืองท่าเช่นเดียวกับมหานครนิวยอร์ค ของสหรัฐอเมริกา
                    ๒. สร้างนครบาลเพชรบูรณ์  เพื่อเป็นฐานทัพในการขับไล่ญี่ปุ่น
                    ได้มีการออกเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นส่วนใหญ่ โดยออกคำสั่งครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๘๖ มีการดำเนินการดังนี้
                การจัดทำแผนผังนครบาลเพชรบูรณ์   ให้กรมโยธาเทศบาลออกแบบ และทำแผนรวม มีผังเมืองหลัก และเมืองบริวาร โดยให้ยึดบริเวณสองฟากทางหลวงแผ่นดิน ที่สร้างขนาบกับทางรถไฟจากอำเภอแก่งคอย ลำนารายณ์ เพชรบูรณ์ และหล่มสัก
                แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดระเบียบการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ.๒๔๘๕ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ทำให้พระราชบัญญัตินี้ตกไป
                ทางหลวงสาย ๒๑ จากกรุงเทพ ฯ ผ่านลำนารายณ์ เพชรบูรณ์ ถึงอำเภอหล่มสัก นับเป็นทางหลวงสายหลักของประเทศไทยสายหนึ่ง เพราะสามารถเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ ไปยังจังหวัดเลยไปสู่ประเทศลาวได้สะดวก เป็นระยะทางสั้นที่สุด เมื่อปรียบเทียบกับเส้นทางหลวงสายอื่น ๆ ได้มีการวางแผนสร้างถนนสายนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๖ แต่ได้หยุดชะงักไป และได้มีการรื้อฟื้นใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๐๙


                การแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ  เพื่อให้งานสร้างนครบาลเพชรบูรณ์ และการสร้างฐานทัพเป็นไปโดยราบรื่น และมีประสิทธิภาพ จึงได้แต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้
                    ๑. พลตรี อุดมโยธา รัตนาวดี เป็นผู้อำนวยการสร้างนครบาลเพชรบูรณ์ แรงงานใช้วิธีเกณฑ์แรงงานราษฏรจากจังหวัดต่าง ๆ
                    ๒. พันเอกรามณรงค์ เสนาธิการทหาร เป็นผู้มีอำนาจสั่งเกณฑ์ราษฎร รวม ๒๙ จังหวัด จำนวน ๑๒๗,๒๘๑ คน ได้ค่าจ้างขณะเดินทางวันละ ๓๘ สตางค์ ในวันทำงานวันละ ๗๕ สตางค์ เป็นค่าจ้างที่เหมาะสมกับค่าครองชีพ
                    ๓. พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจควบคุม กำกับดูแล การสร้างนครบาลเพชรบูรณ์ และการสร้างฐานทัพที่เพชรบูรณ์ แทนจอมพล ป.พิบูลสงคราม
                    ๔. พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม และพลโท ประจน ม.ประจนปัจจานึก เป็นกรรมการชั้นผู้ใหญ่ เปิดตรวจสอบทรัพย์สินของชาติที่บรรจุหีบห่อเมื่อขนถึงถ้ำที่จังหวัดเพชรบูรณ์แล้ว
                    ๕. พลตรีเภา เพียรเลิศบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการขนย้ายทรัพย์สินของชาติ
                    ๖. พันเอกเรือง เรืองวีรยุทธ เป็นผู้แทนรัฐบาลในการรักษาทรัพย์สมบัติของชาติ ไปอยู่ที่ถ้ำสมบัติในจังหวัดเพชรบูรณ์
                    ๗. พันเอกหาญ อุดมสรยุทธ เป็นหัวหน้าคลังใหญ่ทรัพย์สมบัติของชาติ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์
                    ๘. กรรมการย้ายกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ไปอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยประธานกรรมการ ที่ปรึกษาสองคนและกรรมการอีกสี่คน
                    ๙. พลเรือตรีธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นประธานกรรมการ พลโทโชติดิลกและพลตรีสาย คชเสนีย์ เป็นกรรมการเพื่ออำนวยการรักษาพยาบาลเขตหลัง
                การก่อสร้างสถานที่ตั้งกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ
                    ๑. ให้ถากถางหรือตั้ดต้นไม้เฉพาะที่จะปลูกโรงเรือนหรือตัดถนนเท่านั้น ต้นไม้ยืนต้นทั้งหลายให้สงวนไว้ทั้งหมด
                    ๒. ถนนภายในต้องตัดเป็นมุมฉากเสมอและสมควรให้เป็นทางทิศเหนือไปทิศใต้ หรือทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก
                    ๓. บรรดาโรงเรือนที่จะสร้างต้องขนานหรือตั้งได้ฉากกับถนน
                    ๔. เครื่องนุ่งห่มให้ใช้ไม้ไผ่สันฟากมุงหลังคา หรือใช้แฝก
                    ๕. การปิดกั้นน้ำ หรือขุดบ่อน้ำ ในชั้นต้นขอให้แต่ละกระทรวงต่างจัดทำเอง
                    ๖. การยกหลักเมือง และอาคารหลักเมือง ให้สร้างอาคารหลักเมืองตามแบบที่กำหนดไว้ ผังบ้านบุ่งน้ำเต้า ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก
                    ๗. ปรับปรุงจัดตั้งโรงเรียน ให้ขยับขยายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมบางส่วน ไปเปิดสอนในจังหวัดเพชรบูรณ์
                    ๘. สถานที่ราชการอื่น ๆ ให้สร้างโดยคำนึงถึงภูมิประเทศ และแนวถนนที่จะสร้างขึ้นใหม่ ให้มีส่วนสัมพันธ์กับทางหลวง และทางรถไฟที่ได้วางแผนไว้ ศาลากลางให้สร้างบริเวณฝั่งตะวันตกของห้วยป่าแดง ระหว่างทางรถไฟ และทางหลวงที่กำลังสร้างอยู่ อาคารราชการอื่น ๆ ให้อยู่บริเวณใกล้เคียงกับศาลากลาง สนามหลวงให้เป็นสนามกอล์ฟรอบนอกสนามเป็นสนามฟุตบอล สนามแข่งม้า สวนสาธารณะ
                    ๙. พระราชวังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่ในอำเภอเมือง ฯ ซึ่งทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป

            อุดมการณ์ทางการเมือง  บริเวณเทือกเขาค้อ ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ปกคลุมไปด้วยป่ารกทึบ ยากต่อการตรวจการทั้งทางพื้นดิน และทางอากาศ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๓ บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่อพยพมาจากภาคเหนือของประเทศไทย ส่วนมากเป็นเผ่าม้ง ได้มาตั้งรกรากอยู่บริเวณเทือกเขาค้อ เขาปู่ เขาย่า ภูทับเบิก ภูหินร่องกล้า ภูขี้เท่า และเทือกเขาอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้ตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่ม ๆ มีหัวหน้าบ้านปกครองกันเอง เช่น บ้านเล่าลือ บ้านเล่านะ บ้านเซาเน้ง บ้านเล่ากี บ้านเขาย่า บ้านหูช้าง บ้านทับเบิก ฯลฯ
            ในเวลาต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เห็นว่ารอยต่อสามจังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย เป็นชัยภูมิที่เหมาะสม โดยเฉพาะบริเวณเขาค้อ เทือกเขาหินร่องกล้า จึงได้ดำเนินการแทรกซึมครอบครอง เผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำสงครามกองโจรบังคับให้ชาวเขาเป็นพรรคพวก และแนวร่วมเพื่อทำการยึดอำนาจจากรัฐ เพื่อมุ่งหวังเปลี่ยนระบอบการปกครอง จากประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
            เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๑ เป็นวันเสียงปืนแตก ในเขตพื้นที่รอยต่อสามจังหวัด โดยฝ่ายผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ได้เข้าโจมตีที่ตั้งของอาสาสมัครชุดคุ้มครองหมู่บ้านห้วยทรายเหนือ ได้เข้ายึดเขาภูหินร่องกล้าเป็นฐานที่มั่น แผ่อิทธิพลครอบคลุมพื้นที่รอยต่อสามจังหวัด รวมไปถึงบริเวณเขาค้อด้วย
                ผกค. กลุ่มเขาค้อ  มีชื่อรหัสเขตงานว่า เขต ข.๓๓ ปฎิบัติงานด้านการเมือง การทหาร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอหล่มสัก อำเภอเมือง ฯ อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอเนินมะปราง และบางส่วนของอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
                ผกค.กลุ่มนี้มีฐานที่มั่นประกอบด้วย สำนักอำนาจรัฐ โรงเรียนการเมืองการทหาร สำนักพลาเขต กองร้อยพลาธิการ สำนักทหารช่าง สำนักเคลื่อนที่ กองร้อยทหารหลัก ๕๑๕ , ๕๒๐ โรงพยาบาลเขต และคลังเสบียงอาวุธ รวมทั้งหมู่บ้านปลดปล่อยในอิทธิพล คือ บ้านภูชัย บ้านแสงทอง บ้านอุดมชัย  บ้านหลักชัย บ้านชิงชัย บ้านกล้าบุก บ้านทุ่งแดง บ้ารรวมพลัง บ้านรวมสู้ บ้านต่อสู้ บานที่มั่นและหมู่บ้านในอิทธิพลเหล่านี้ กระจายอยู่ตามเทือกเขาต่าง ๆ บริเวณบ้านหนองแม่นา ทุ่งสะเดาพง เขาค้อ เขาย่า เขาหลังถ้ำ รวมพื้นที่ประมาณ ๕๐ ตารางกิโลเมตร
                ในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๑ ผกค.กลุ่มเขาค้อ ประกาศวันเสียงปืนแตก เข้าโจมตีหมู่บ้านเล่าลือ ผกค. กลุ่มเขาค้อมีกำลังกล้าแข็งแผ่อิทธิพลครอบคลุมชาวเขา ประมาณ ๓,๐๐๐ คน ไว้ได้หมด
                พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้สถาปนาอำนาจรัฐประชาชนขึ้น ในเขตฐานที่มั่นของ ผกค.กลุ่มเขาค้อ ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และมีอายยืนนานถึง ๑๐ ปี มีคณะกรรมการบริหารเรียกว่า คณะกรรมการรัฐ มีสภาผู้แทนประชาชนปฎิวัติ ประกอบด้วยสมาชิก ๕๕ คน ที่ได้รับเลือกจากราษฎรและทหาร ในเขตที่มั่น มีศาลประชาชนซึ่งประกอบด้วย ศาล ผู้พิพากษา และคณะกรรมการการกฎหมาย

            การต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์  รัฐบาลได้ดำเนินการต่อสู้เพื่อเอาชนะอย่างเป็นขั้นตอนคือ
                จัดตั้งกองอำนวยการ  เพื่อให้หน่วยต่าง ๆ ปฎิบัติการอย่างเหมาะสม
                    กองอำนวยการผสมที่ ๓๙๔  โดยให้กองทัพภาคที่ ๓ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ มีหน้าที่ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ตั้งอยู่ที่บ้านสักหลง อำเภอหล่มสัก
                    กองอำนวยการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ ๑๖๑๗ (พตท.๑๖๑๗)  ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ตั้งอยู่ที่บ้านสักหลง อำเภอหล่มสัก มีภารกิจในการใช้กำลัง พลเรือน ตำรวจ ทหาร เข้าทำการปราบปราม ผกค. โดยใช้กำลังจากกองพลที่ ๔ กองพลที่ ๙ ศูนย์สงครามพิเศษ และกองบัญชาการช่วยรบที่ ๓
                    กองอำนวยการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ ๓๓  เริ่มในปี พงศ.๒๕๒๕ โดยกองทัพภาคที่ ๓ มอบภารกิจให้กองพลทหารที่ ๑ ทำากรต่อสู้ ผกค. ในเขตพื้นที่รอยต่อสามจังหวัด
                        - เปิดยุทธการ  เพื่อเอาชนะ ผกค. ตามลำดับดังนี้
                            ยุทธการโพธิกนิษฐ์  ในปี พ.ศ.๒๕๑๒  เพื่อปฎิบัติการบนภูหินร่องกล้า แต่ยังไม่สามารถลดอิทธิพลของ ผกค. ลงได้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ยากลำบาก และ ผกค. ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ
                            ยุทธการภูขวาง หรือ กฝร.๑๕  ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ บก.ทหารสูงสุด ได้กำหนดให้มีการฝึกร่วมระหว่างกองทัพบก กองทัพอากาศ กรมตำรวจ และอาสาสมัครรักษาดินแดน เพื่อทำลายอิทธิพลของ ผกค. ในเขตพื้นที่รอยต่อสามจังหวัด โดยมีเสนาธิการทหารบก เป็นผู้อำนวยการ มีเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ เข้าปฎิบัติการ จำนวน ๖๐ เครื่อง
                            การฝึกร่วม ๑๖  (กฝร.๑๖)  เริ่มในปี พ.ศ.๒๕๑๖ โดยกองทัพภาคที่ ๓ ส่วนหน้า ได้เปิดยุทธการรอยต่อสามจังหวัด สามารถยึดฐานที่ตั้ง ผกค. ที่เขาย่า ได้เมื่อ ๗ มิถุนายน ๒๕๑๖
                            ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก  เริ่มในปี พ.ศ.๒๕๒๔  พตท.๑๖๑๗ ได้เปิดยุทธการนี้ขึ้นสองครั้ง ครั้งแรก เมื่อ ๑๙ มกราคม ๒๕๒๔ ถึง ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ สามารถยึดฐานที่มั่น ผกค.และรักษาพื้นที่เขาค้อได้สำเร็จ ครั้งที่สอง เมื่อ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ ถึง ๑๐ เมษายน ๒๕๒๔ สามารถกวาดล้างทำลายที่มั่นของ ผกค.ในพื้นที่เขาค้อ เขาปู่ บ้านหนองแม่นา บ้านห้วยทราย บ้านตะเคียนโงะ (อำเภอวังโป่ง) และบริเวณทุ่งแสลงหลวงได้สำเร็จ ผลการปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้ ผกค.ในเขตพื้นที่เขาค้อถอนตัวไปรวมกับ ผกค.ในเขตพื้นที่ภูหินร่องกล้า ภูขัดและภูเมี่ยง
                            ยุทธการหักไพรี  เริ่มในปี พ.ศ.๒๕๒๕ กองอำนวยการผสม ๓๓๓ โดยมีผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ ๓ เป็นผู้อำนวยการ เพื่อทำลายอิทธิพลของ ผกค.ให้หมดสิ้นไป สามารถพิทักษ์ประชาชน และทรัพยากรในพื้นที่เขาค้อได้ และสามารถแยก ผกค.ออกจากมวลชนในพื้นที่ภูหินร่องกล้า ภูขัดและภูเมี่ยงได้สำเร็จ
                            ยุทธการผาเมืองเกรียงไกร  เป็นยุทธการต่อเนื่องจากยุทธการหักไพรี เพื่อปราบปราม ผกค.ที่ยังหลงเหลืออยู่ให้หมดไป โดยได้กวาดล้างเป้าหมายในบริเวณภูหินร่องกล้า ภูขัดและภูเมี่ยง กำลังทหารเข้ายึดพื้นที่สำเร็จหมด มีมวลชนเข้ามามอบตัวเพื่อร่วมพัฒนาชาติไทยเป็นจำนวนมาก
                            การต่อสู้เพื่อเอาชนะ ผกค.ในเขตพื้นที่รอยต่อสามจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณเขาค้อ นับตั้งแต่วันเสียงปืนแตกในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ที่ ผกค.เข้าโจมตีฐานที่มั่นของทหารที่บ้านเล่าลือ จนได้มีการสู้รบเป็นเวลายาวนานถึง ๑๔ ปีเศษ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๕ รัฐบาลจึงได้ชัยชนะเด็ดขาดยุติการสู้รบ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด ๑,๑๗๑ คน มีผู้บาดเจ็บและทุพพลภาพเป็นจำนวนมาก
                การสร้างเส้นทางสายยุทธศาสตร์เข้าสู่พื้นที่  เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๙ เส้นทางดังกล่าวได้แก่
                    เส้นทางสายนางั่ว - สะเดาะพง  ระยะทาง ๒๔ กิโลเมตร โดยสร้างแยกจากถนนสายสระบุรี - หล่มสัก ณ หลักกิโลเมตรที่ ๑๓ (บ้านนางั่ว)
                    ส้นทางสายทุ่งสมอ - เขาค้อ  ระยะทาง ๓๐ กิโลเมตร โดยสร้างแยกจากถนนสายพิษณุโลก - หล่มสัก ตรงแยกแคมป์สน
                    เส้นทางสายสะเดาะพง - หนองแม่นา  ระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร สร้างต่อจากสายแยกรื่นฤดี
                    เส้นทางสายหนองแม่นา - ป่าแดง  ระยะทาง ๒๐ กิโลเมตร สร้างต่อจากบ้านหนองแม่นาถึงบ้านป่าแดง (เขาค้อ)

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |