| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนการทางประวัติศาสตร์

            จังหวัดเพชรบูรณ์  มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มายาวนาน มีหลักฐานเมืองโบราณแถบลุ่มแม่น้ำป่าสักที่เก่าแก่ แสดงให้เห็นว่ามีการตั้งถิ่นฐาน อยู่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
การตั้งถิ่นฐาน
            ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดเพชรบูรณ์ เอื้ออำนวยต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กล่าวคือมีภูเขา เนินเขาและแม่น้ำ และมีพื้นที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูก
            การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีในหลายอำเภอ แต่มีลักษณะพัฒนาการที่ไม่ต่อเนื่องกันตลอดพื้นที่ของจังหวัด สามารถแบ่งย่อยออกเป็นสามกลุ่มด้วยกันคือ
            กลุ่มพื้นที่ด้านตะวันตก  มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก อำเภอที่พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานมากที่สุดคือ อำเภอวังโป่ง เป็นแหล่งโบราณคดี สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนกลาง
            แหล่งโบราณคดีสำคัญได้แก่ แหล่งโบราณคดีถ้ำเขาขาด แหล่งโบราณคดีดอยน้ำโจก แหล่งโบราณคดีไร่นายโอน วังคีรี และแหล่งโบราณคดีวัดเกตุสามัคคีธรรม  แหล่งโบราณคดีเหล่านี้ กรมศิลปากรได้สำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ พบว่าเป็นชุมชนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ในช่วงสังคมหาของป่าล่าสัตว์ในตอนปลาย ก่อนจะเข้าสู่สังคมกสิกรรม ใช้ถ้ำเพิงผาเป็นที่พักอาศัย มีการผลิตเครื่องมือ เครื่องใช้ประเภทหินขัด เช่น กำไลหิน ขวานหิน ชุมชนเหล่านี้กำหนดอายุได้ประมาณ ๓,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ลักษณะชุมชนในช่วงนี้ พบกระจายอยู่ในพื้นที่ด้านตะวันตกของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งน่าจะมีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ในเขตจังหวัดพิจิตรและพิษณุโลก
            แหล่งโบราณคดีในกลุ่มนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ เพราะนอกจากเครื่องมือหิน แล้วยังพบเครื่องมือเครื่องใช้โลหะ เช่น ขวานสำริด และพบเครื่องปั้นดินเผาสมัยต่าง ๆ รวมถึงเครื่องถ้วยสุโขทัย ที่พบแพร่กระจายในชุมชน และเมืองต่าง ๆ ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์มาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐
            กลุ่มพื้นที่ด้านตะวันออกส่วนล่าง  ได้แก่ พื้นที่ในเขตอำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ แหล่งโบราณคดีกลุ่มนี้ สะท้อนให้เห็นลักษณะการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ในแถบลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับแหล่งโบราณคดีในเขตพื้นที่จังหวัดลพบุรี
            พัฒนาการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในกลุ่มนี้ พบอย่างชัดเจนในช่วงสังคมเกษตรกรรม ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์
            แหล่งโบราณคดีส่วนใหญ่ เป็นหลุมฝังศพที่พบเครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับร่วมกับโครงกระดูก ลักษณะการเลือกพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน ได้เริ่มลงจากที่สูงมาสู่ที่ราบใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำสาขา
            แหล่งโบราณคดีที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กับสมัยประวัติศาสตร์ หรืออาจเรียกว่า สมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ กำหนดอายุได้ประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านหนองแดง อำเภอศรีเทพ แหล่งโบราณคดีบ้านลำนารวย แหล่งโบราณคดีบ้านปึกหลาย อำเภอวิเชียรบุรี และแหล่งโบราณคดีบ้านทรัพย์สมบูรณ์ อำเภอบึงสามพันเป็นต้น
            พื้นที่จังหวัดเพชรบบูรณ์ ในส่วนล่างนี้ได้พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยดังกล่าวเรื่อยมา จนพัฒนาขึ้นเป็นสังคมเมือง ที่สำคัญได้แก่ เมืองศรีเทพ ซึ่งถือว่าเป็นเมืองโบราณในยุคต้นสมัยประวัติศาสตร์ ที่มีขนาดใหญ่ และเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีการพัฒนาการตามลำดับมาสู่สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์
            กลุ่มพื้นที่ส่วนบนของจังหวัดเพชรบูรณ์ได้แก่ บริเวณอำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า และอำเภอเมือง ฯ นับเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาการการ ตั้งถิ่นฐานในระยะหลังกว่ากลุ่มอื่น โดยเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ และหลักฐานเก่าแก่ที่สุด น่าจะเป็นเมืองที่เจริญขึ้นในสมัยสุโขทัย เช่น เมืองเพชรบูรณ์ ตามที่มีกล่าวถึงในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย เมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมืองนี้ได้เจริญสืบมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดเพชรบูรณ์ปัจจุบัน และเมืองนครเติด ในเขตอำเภอหล่มเก่า
            การพัฒนาลำดับต่อมาได้แก่ ชุมชนหรือเมืองเล็ก ๆ ที่เจริญขึ้นในสมัยอยุธยา ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กลุ่มเมืองเหล่านี้สะท้อนให้เห็นจากโบราณสถาน ที่สร้างขึ้นในศิลปะลาว ซึ่งพบเป็นจำนวนมากในเขตอำเภอหล่มเก่า และอำเภอหล่มสัก
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
            ในระยะสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น มีร่องรอยของชุมชนที่บริเวณเมืองศรีเทพ พบหลักฐานของการติดต่อสัมพันธ์กับแหล่งชุมชน ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบทราวดี ในที่ราบลุ่มแม่น้ำป่าสัก และบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นชุมชนโบราณที่จังหวัดลพบุรี จังหวัดพิจิตร จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น นอกจากนี้เมืองศรีเทพยังปรากฎร่องรอยของวัฒนธรรมขอม สมัยก่อนเมืองพระนครอยู่ด้วย ดังที่พบรูปพระอาทิตย์ พระวิษณุ และพระกฤษณะ โดยใช้เส้นทางการเดินทางบก ผ่านช่องเขาทางทิศตะวันออกของเมือง
            สภาพของเมืองศรีเทพปรากฎหลักฐานกำแพงเมือง คูเมืองโบราณสถาน โบราณวัตถุในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ แสดงว่าเมืองศรีเทพเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ มีความเจริญทางวัฒนธรรมอย่างสูง มีการสร้างศาสนสถาน และศาสนวัตถุที่ได้รับการถ่ายทอดอิทธิพลจากทวารวดี มีจารึกที่ใช้ภาษาสันสกฤต อักษรปัลลวะ เป็นจารึกเกี่ยวกับเรื่องราวทางศาสนา และกล่าววถึงพระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองของสังคมเมือง
            ในเมืองศรีเทพในระยะต่อมามีศาสนสถานในศาสนาฮินดู คือ ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้องและโบราณวัตถุรูปโคนนทิ รูปศิวลึงค์ เป็นต้น นักโบราณคดีศึกษาแล้วกำหนดว่ามีอิทธิพลของเขมร เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ อาจกล่าวได้ว่าเมืองศรีเทพเป็นเมืองขนาดใหญ่  มีความสำคัญในลุ่มแม่น้ำป่าสัก เป็นศูนย์กลางการติดต่อเดินทางของผู้คนในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ลุ่มแม่น้ำมูล - แม่น้ำชี มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ อย่างต่อเนื่อง ร่องรอยเมืองศรีเทพ ได้ขาดหายไปตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙
            สมัยก่อนสุโขทัย  สันนิษฐานว่า เคยอยู่ในอิทธิพลของขอมมาก่อน ต่อมามีชนชาติไทยหลายกลุ่มได้สร้างบ้านเมืองขึ้นเป็นชุมชนอิสระได้แก่เมืองราด เมืองสะดา เมืองลุมและเมืองบาราย ชุมชนเหล่านี้ใช้ภาษาไทย และนับถือพระพุทธศาสนา มีความผูกพันกับเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสองแควอย่างแน่นแคว้น
            ขอมพยายามจะมีอำนาจเหนือดินแดนเหล่านี้ มีผู้สันนิษฐานว่า เมืองเพชรบูรณ์น่าจะเป็นเมืองเดียวกับเมืองราด ซึ่งพ่อขุนผาเมืองครองอยู่
            สมัยสุโขทัย  มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ ตามศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ มีการกล่าวถึงเมืองลุมบาจาย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีเชื่อว่าคือ เมืองหล่มเก่า และศิลาจารึกหลักที่ ๙๓ มีคำว่า วัชชปุระ ซึ่งนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นเมืองเพชรบูรณ์
            สมัยอยุธยา  เมืองเพชรบูรณ์ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ตามที่ปรากฎในพระไอยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) ได้ทรงตั้งทำเนียบส่วนราชการ โดยมีบทพระไอยการตำแหน่งนายทหารหัวเมืองกำหนดศักดินาตามตำแหน่งยศหน้าที่ ราชทินนามฝ่ายทหาร มีพระยาเพชรรัตนน์สงคราม ประจำเพชรบูรณ์ กล่าวถึงเมืองเพชรบูรณ์ว่า
                "ออกญาเพชรรัตนสงครามรามภักดีพิริยะภาหะ เมืองเพชรบูรณ์เมืองโท นา ๑๐๐๐๐ ขึ้นประแดง เสนาฎขวา"
            พื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ในช่วงเวลานั้น เมืองศรีถมอรัตน์ (ศรีเทพ) ขึ้นทำเนียบเป็นหัวเมืองรวมอยู่ด้วย ผู้ดำรงยตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเป็นที่พระศรีถมอรัตน์ ตามชื่อเขาแก้วหรือเขาถมอรัตน์ ซึ่งเป็นเขาสำคัญของเมือง
            ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ได้กล่าวถึงทัพพระไชยเชษฐา ได้ส่งกองทัพมาช่วยกรุงศรีอยุธยาครั้งศึกบุเรงนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๑ ได้ยกเข้ามาทางด่านเมืองนครไทย เข้ามาทางเมืองเพชรบูรณ์ จะลงมาทางเมืองสุพรรณบุรีเป็นทัพกระหนาบ
            ในปี พ.ศ.๒๑๑๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระองค์ดำ (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช) เสด็จขึ้นไปครองเมืองฝ่ายเหนืออยู่ที่เมืองพิษณุโลก หัวเมืองฝ่ายเหนือขณะนั้นมีอยู่ ๘ เมือง คือ พิษณุโลก สุโขทัย สวรรคโลก พิจิตร พิชัย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และนครสวรรค์
            ในปี พ.ศ.๒๑๑๓ พระยาละแวก เจ้าแผ่นดินเขมร ยกทัพมารุกรานไทยทางเมืองนครนายก ในครั้งนั้นพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า เจ้าเมืองเพชรบูรณ์เอาใจออกห่าง จึงได้รับโทษ
            ในปี พ.ศ.๒๑๒๕ พระยาละแวกส่งกำลังเข้าตีเมืองนครราชสีมาได้แล้ว ยกกำลังเข้าตีเมืองสระบุรีและเมืองอื่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระศรีถมอรัตน์ เจ้าเมืองศรีเทพ สมัยนั้นเรียกเมืองท่าโรง และพระชัยบุรี เจ้าเมืองชัยบาดาล นำกองทัพหัวเมืองเข้าขับไล่ข้าศึก
            สมัยธนบุรี   ในปี พ.ศ.๒๓๑๘ อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่า ยกกำลังมาตีกรุงธนบุรี โดยเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เมืองตาก แล้วนำกำลังเข้าล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ ประมาณสี่เดือนยังตีไม่ได้ ทางฝ่ายไทยมีแม่ทัพสำคัญคือเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ) และเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้ป้องกันเมืองอย่างเข้มแข็ง ต่อมาทั้งสองท่านเห็นเหลือกำลังจะรักษาเมืองไว้ได้ จึงรวบรวมกำลังออกปล้นค่ายข้าศึกด้านตะวันออก หักออกจากวงล้อมได้ แล้วยกกำลังไปเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อรวบรวมกำลังรบ และเสบียงอาหาร แล้วยกกำลังกลับมายึดเมืองพิษณุโลกคืน
            สมัยรัตนโกสินทร์  เมืองเพชรบูรณ์และเมืองศรีเทพ ยังคงฐานะหัวเมืองขึ้นกรมมหาดไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ชื่อเมืองเพชรบูรณ์ปรากฏอยู่ในแผนที่ยุทธศาสตร์ เขียนรูปเมืองตั้งคร่อมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก
                    การเปลี่ยนชื่อเมืองศรีเทพเป็นเมืองวิเชียรบุรี  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเมืองศรีเทพเป็นเมืองตรี แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นวิเชียรบุรี เนื่องจากมีการเกณฑ์หัวเมืองไปรบครั้งปราบกบฏเวียงจันทน์ พระศรีถมอรัตน์มีความชอบมากในครั้งนั้น ได้มีการรวมเมืองชัยบาดาลและเมืองบัวชุมมาขึ้นต่อเมืองวิเชียรบุรี
                    การสร้างเมืองหล่มสัก  เดิมในพื้นที่อำเภอหล่มเก่า และเมืองหล่มสักมีชุมชนหนาแน่นชื่อว่าเมืองลม หรือเมืองหล่ม เป็นเมืองเล็ก ๆ ในสมัยสุโขทัย  เจ้าเมืองคนแรกสืบเชื้อสายมาจากลาวเวียงจันทน์  ต่อมามีชาวเวียงจันทน์ และเมืองหลวงพระบาง อพยพมาอยู่กันมากขึ้นจึงตั้งเป็นเมือง มีเจ้าเมืองปกครองมาห้าคนจนถึงสมัยพระยาสุริยวงษา ฯ (คง) เห็นว่าที่ตั้งเมืองไม่เหมาะสม
จึงอพยพผู้คนไปตั้งเมืองใหม่ใกล้ลำน้ำสัก (แม่น้ำป่าสัก)
                รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีการเปลี่ยนแปลงนามเจ้าเมืองเพชรบูรณ์และเมืองวิเชียรบุรี (ศรีเทพ) ซึ่งใช้ชื่อเดิมมาแต่สมัยอยุธยาคือ
                    เมืองวิเชียร  จากนามเจ้าเมืองเดิมคือพระยาประเสริฐสงคราม ฯ เป็น พระยาเลิศสงคราม ฯ
                    เมืองเพชรบูรณ์  จากนามเจ้าเมืองเดิมคือพระเพชรพิชัยปลัด เป็น พระเพชรพิชภูมิปลัด

                รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จังหวัดเพชรบูรณ์มีฐานะเป็นมณฑลเพชรบูรณ์ แต่เนื่องจากการเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ไปเพชรบูรณ์มีความยากลำบากมากและเต็มไปด้วยไข้ป่า (มาลาเรีย) จึงไม่ค่อยมีข้าราชการสมัครไปทำงานที่นั่น เพราะเป็นที่เลื่องลือว่ามีไข้มาลาเรียร้ายกาจ ใครไปเมืองเพชรบูรณ์เหมือนกับไปหาความตาย
               รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ กระทรวงเกษตราธิการได้ส่งคนขึ้นไปสำรวจการทำไหมที่มณฑลเพชรบูรณ์ ในบันทึกรายงานการตรวจไหม ได้กล่าวถึงการประกอบอาชีพของผู้คนสมัยนั้น รายละเอียดประชากร และสภาพพื้นที่ สรุปได้ว่ามณฑลเพชรบูรณ์ประกอบด้วยสองเมืองคือ เมืองเพชรบูรณ์และเมืองขึ้นหนึ่งเมืองคือเมืองหล่มสัก  เมืองเพชรบูรณ์แบ่งเป็นสี่อำเภอคืออำเภอเมือง ฯ อำเภอวิเชียรบุรี กิ่งอำเภอบัวชุม และอำเภอชัยบาดาล  เมืองหล่มสักมีสองอำเภอคือ อำเภอเมืองหล่มสัก และเมืองหล่มเก่า รวม ๖๒ ตำบล ประชาชนในเมืองเพชรบูรณ์มีหลายเชื้อชาติ ส่วนใหญ่เป็นไทยมีประมาณ ๑๖,๑๔๐ คน อำเภอเมืองหล่มสัก ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนลาวมีประมาณ ๒๒,๗๖๐ คน  อำเภอเมืองหล่มเก่า ประชาชนเป็นคนลาวมีประมาณ ๒๐,๑๒๐ คน  อำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอไชยบาดาล ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีอำเภอประมาณ ๕,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ คน มณฑลเพชรบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ มีรายได้ส่งหลวงปีละ ๑๑๓,๘๖๑ บาท นับว่ามีรายได้น้อย
            การเดินทางไปกรุงเทพ ฯ จะเดินตามสายโทรศัพท์จากเมืองเพชรบูรณ์ไปที่บางมูลนาค จังหวัดพิจิตร ใช้เวลาเดินทางเจ็ดวัน แล้วจึงเดินทางรถไปกรุงเทพ ฯ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |