| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
โบราณสถานและโบราณวัตถุ
โบราณสถานที่พบในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ส่วนใหญ่เป็นศาสนสถาน เช่น วิหารและเจดีย์
ภายในวัด
จากการสำรวจวัดต่าง ๆ เพื่อการค้นคว้าวิจัยจำนวน ๒๖ วัด เป็นวัดที่มีอายุประมาณ
๑๐๐ ปีขึ้นไป เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ จากวัดในเขตอำเภอเมือง ๒๑ วัด ในเขตอำเภอหล่มสัก
๑ วัด อำเภอหล่มเก่า ๓ วัด พบว่าอิทธิพลของศิลปะที่ปรากฎตามโบสถ์ในวัดเหล่านี้
มีทั้งที่เป็นรูปแบบของสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยาตอนต้น สมัยอยุธยาตอนปลาย
ลักษณะของศิลปกรรมอยุธยาตอนปลาย ที่มีปรากฎอยู่และงดงาม ได้แก่ อุโบสถวัดโพธิกลาง
ในตำบลนางั่ว อำเภอเมือง ฯ สำหรับรูปทรงของเจดีย์ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย
อยุธยา และลาว ช่างพื้นบ้านได้นำเอาอิทธิพลทั้งสามรูปแบบ มาผสมผสานกลมกลืนกัน
จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะของตนขึ้น ได้แก่ เจดีย์วัดเกาะแก้ว
ในตำบลนายม เป็นต้น สำหรับพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงาม และได้อิทธิพลศิลปะจากสมัยต่าง
ๆ เช่น สมัยทวารวดี นิยมสร้างจากหินทราย หรือศิลาแลง ได้แก่ พระประธานของวัดเกาะแก้ว
ตำบลนายม พระพุทธรูปอิทธิพลศิลปะลพบุรี ได้แก่ พระพุทธมหาธรรมราชา
วัดไตรภูมิ ตำบลในเมือง พระพุทธรูปสมัยอยุธยาที่มีลักษณะแตกต่างกัน เช่น พระพักตร์รูปไข่แบบสุโขทัย
อยู่ที่วัดโพธิกลาง ตำบลนางั่ว พระพุทธรูปแบบทรงเครื่องที่วัดช้างเผือก ตำบลสะเดียง
อำเภอเมือง ฯ
กล่าวได้ว่า วัดเป็นแหล่งของประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เราจะเห็นการรวมกลุ่มของชุมชนแหล่งโบราณ
ตั้งแต่สมัยทวารวดีมาจนถึงยุคประวัติสาสตร์ สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา จนถึงปัจจุบัน
โดยการศึกษาจากอิทธิพลทางศิลปกรรม ที่ปรากฎอยู่จากวัดนั่นเอง
แหล่งโบราณคดี
แหล่งโบราณคดีอำเภอวังโป่ง
เป็นแหล่งศิลปกรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ (มีอายุอยู่ประมาณ ๔,๐๐๐
- ๓,๐๐๐ ปี) พบว่าที่ราบเชิงเขาใหญ่ (เทือกเขาเพชรบูรณ์) มีวัตถุโบราณฝังตัวอยู่ใต้ดินและบนผิวดิน
พบวางอยู่กระจัดกระจาย เช่น ขวานหินคล้ายทำไม่เสร็จ แก่นกำไลหิน ที่บ้านดอนตูม
ขวานหินขัด ที่บ้านน้ำอ้อม วังซอง ขวานหิน ครกหิน และเครื่องมือหิน ที่บ้านวังหินซอง
ลิ่มหิน ที่บ้านวังทรายทอง เครื่องมือหินคล้ายสิ่ว ที่บ้านวังสะพุง
นอกจากนี้ยังพบว่า บริเวณนี้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อมาอีกหลายสมัย เพราะได้พบหลักฐาน
เช่น ขวานโลหะ ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา เช่น ไห สมัยสุโขทัย พบเศษภาชนะดินเผาที่บ้านวังโป่ง
และบ้านโนนตูม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุมชนโบราณของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาตร์
ยุคหินกลางถึงยุคหินใหม่ และยุคโลหะ มีอายุอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐ ถึง ๑,๕๐๐ ปี
แหล่งโบราณคดีวัดเกตุสามัคคีธรรม
อยู่ที่บ้านโนนตูม ตำบลวังโป่ง อำเภอวังโป่ง เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาตร์
(ยุคหิน) พบกำไลหินจำนวนมาก ขวานหินขัด เครื่องมือสกัดหิน ชุมชนที่อาศัยบริเวณนี้จัดเป็นชุมชนของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์
ยุคหินใหม่ หรือเป็นชุมชนเกษตรกรรมแล้ว
แหล่งโบราณคดีวัดลำนารวย
อยู่ที่บ้านลำนารวย อำเภอวิเชียรบุรี พบโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมาก ลักษณะการฝังเอาศีรษะไปทางทิศเหนือ
ใกล้โครงกระดูกพบภาชนะเป็นหม้อไหดินเผา เครื่องประดับลูกปัดหิน กำไลกงจักร
เครื่องปั้นดินเผาจะมีลายขูดขีด และลายเชือกทาบ
แหล่งโบราณคดีบ้านหนองแดง
ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำป่าสัก เขตบ้านหนองแดง ตำบลสระกรวด อำเภอศรีเทพ
ห่างจากเมืองโบราณศรีเทพ มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร คาดว่าเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนประมาณ
๒,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปี มาแล้ว พบเครื่องมือล่าสัตว์ เช่น เครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือสะเก็ดหิน
และขวานต่าง ๆ พบโบราณวัตถุประเภทหิน โลหะ เปลือกหอย แก้ว เครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ
ลายขูดขีด ลายประทับ การรมควันให้เป็นสีดำ การขัดมัน และการทำน้ำดินแดง ภาชนะดินเผา
แหล่งโบราณคดีแห่งนี้คงถูกทิ้งร้างไปในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น เพราะไม่พบโบราณวัตถุหลังสมัยทวารวดี
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ศรีเทพเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุด ในลุ่มแม่น้ำป่าสัก หลักฐานทางโบราณคดีที่พบมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๑ ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
มีอายุอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ ปี มาแล้ว ในบริเวณพื้นที่นี้เป็นช่วงเวลาก่อนตั้งเมืองศรีเทพ
ดังนั้น เมืองศรีเทพจึงมีการพัฒนาการยาวนาน มีร่องรอยอารยธรรมหลายหลาก จนถูกทิ้งร้างไปในพุทธศตวรรษที่
๑๘
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ และหลังจากนั้นได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
พร้อมทั้งเขตที่ดินของโบราณสถาน ในเขตเมืองศรีเทพ กลุ่มโบราณสถานบริเวณเขาคลังนอก
และ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๗ จึงได้จัดตั้งให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
เมืองโบราณศรีเทพตั้งอยู่ในตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดเพชรบูรณ์มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอวิเชียรบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอโคกสำโรง
จังหวัดลพบุรี
ลักษณะผังเมืองเป็นเมืองแฝดรูปคล้ายสี่เหลี่ยมมุมมน ประกอบด้วยเมืองในและเมืองนอก
เมืองในสร้างขึ้นก่อน ต่อมาจึงขยายพื้นที่ออกไปทางด้านทิศตะวันออก เป็นส่วนของเมืองนอก
ทำให้เมืองศรีเทพมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ ๒,๘๙๐ ไร่ เป็นส่วนของเมืองใน
๑,๓๐๐ ไร่ และส่วนของเมืองนอก ๑,๕๙๐ ไร่
เมืองใน
ผังเมืองเป็นรูปเกือบกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยคูน้ำและคันดิน
มีช่องทางเข้าออกแปดช่องทาง ภายในเมืองมีกลุ่มโบราณสถานหลักอยู่กลางใจเมือง
ได้แก่โบราณสถานเขาคลัง ในปรางค์ศรีเทพ
และปรางค์สองพี่น้อง
นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานขนาดเล็กอีกประมาณ ๕๐ แห่ง ล้วนเป็นศาสนสถาน
นอกจากโบราณสถานแล้ว ภายในเขตเมืองยังมีสระน้ำกระจายอยู่ประมาณ ๗๐ สระ ที่ใหญ่ที่สุดคือ
สระปรางค์
มีพื้นที่ประมาณ ๘ ไร่ สระน้ำเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำ ในการอุปโภคบริโภค
แต่บางแห่งใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
เมืองนอก
ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบทุกด้าน ทางด้านตะวันตกใช้คูน้ำ
และเขาคลังในคันดันร่วมกับคูน้ำคันดินด้านตะวันออกของเมืองใน มีช่องทางเข้าออก
๗ ช่องทาง โบราณสถานกระจายอยู่ประมาณ ๖๐ แห่ง โดยอยู่หนาแน่นในแกนทิศตะวันออก
- ตะวันตก เป็นแนวยาวผ่ากลางเมือง มีสระน้ำกระจายอยู่ประมาณ ๓๐ แห่ง สระใหญ่ที่สุดคือ
สระขวัญ
พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม
มีลำดับการพัฒนาการดังนี้
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว หลักฐานที่พบคือ โครงกระดูกมนุษย์ที่ฝังรวมกัน
แสดงให้เห็นประเพณี และความเชื่อของมนุษย์ ในห้วงเวลานั้น จัดเป็นชุมชนดั้งเดิมก่อนที่จะพัฒนาขึ้นเป็นเมืองศรีเทพ
หรือเป็นสังคมเมืองอย่างแท้จริง
ระยะแรกเริ่มการพัฒนาเป็นชุมชนเมือง
เริ่มรับอารยธรรมจากภายนอกและพัฒนาขึ้นเป็นเมืองมีการปกครองเป็นปึกแผ่น น่าจะเริ่มในช่วงพุทธศตวรรษที่
๑๑ หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญคือกลุ่มเทวรูปรุ่นเก่าที่พบจากเมืองศรีเทพ
เช่น พระนารายณ์สวมหมวกแปดเหลี่ยม พระกฤษณะโควรรธนะ พระสุริยเทพ เป็นต้น ประติมากรรมเหล่านี้กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๑ - ๑๒ เป็นรูปเคารพในศาสนาฮินดู แม้ว่าไม่พบร่องรอยศาสนสถานที่สร้างขึ้นในสมัยนั้น
แต่รูปแบบประติมากรรม และข้อความที่จารึกบางหลัก เช่น จารึกบ้านวังไผ่ ที่กล่าวถึงกษัตริย์ไม่ปรากฏพระนาม
แต่น่าจะครองเมืองศรีเทพ มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต
กับพระเจ้าปฤติวีนทรวรมัน
กษัตริย์เขมรแห่งอาณาจักรเจนละ ข้อความในจารึกยังกล่าวถึงพระนามพระเจ้าภววรมัน
จึงเชื่อว่าในห้วงเวลาดังกล่าว อาณาจักรเจนละได้แผ่อำนาจมาถึงเมืองศรีเทพ
เมืองศรีเทพภายใต้วัฒนธรรมทวารวดี
น่าจะเริ่มต้นในห้วงเวลาใกล้เคียงกับระยะเวลาที่อาณาจักรเจนละมีอิทธิพลต่อเมืองศรีเทพ
คือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรือ ๑๒ - ๑๖ อันเป็นช่วงที่เมืองศรีเทพรับวัฒนธรรมทวารวดี
ที่แผ่มาจากภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อ
และรูปแบบศิลปกรรมตามวัฒนธรรมต้นแบบ ที่เจริญอยู่ภายใต้อิทธิพลของพระพุทธศาสนา
โบราณสถานสำคัญที่สร้างขึ้นในช่วงนี้ได้แก่ โบราณสถานเขาคลังใน และถ้ำบนเขาถมอรัตน์
นอกเมืองศรีเทพที่เป็นศาสนสถานในสมัยทวารวดี
เมืองศรีเทพภายใต้วัฒนธรรมเขมรโบราณ
หลังจากวัฒนธรรมทวารวดีเสื่อมลง วัฒนธรรมเขมรโบราณได้เข้ามาแทนที่ มีการปรับเปลี่ยนการนับถือศาสนา
จากพุทธศาสนา มาเป็นศาสนาฮินดู รูปแบบของศิลปกรรมเปลี่ยนเป็นศิลปะขอม หรือศิลปะร่วมแบบเขมร
สถาปัตยกรรมในสมัยนั้นได้แก่ปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้อง มีลักษณะเป็นศิลปะร่วมแบบนครวัด
ที่ยังคงปรากฏลักษณะศิลปะร่วมแบบบาปวนอยู่ด้วย ในระยะหลัง ปรากฏร่องรอยพุทธศาสนาแบบมหายานที่เมืองศรีเทพอีกครั้ง
ซึ่งน่าจะตรงกับช่วงที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๗ แผ่อำนาจมายังบริเวณนี้ ปรากฏการปรับเปลี่ยน
และบูรณะศาสนสถานหลายแห่ง ระยะเวลาดังกล่าวนี้น่าจะอยู่
ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๗ ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หลังจากนั้น อาณาจักรเขมรก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง
เมืองศรีเทพก็มีความสำคัญลดลง จนถูกทิ้งร้างไปในที่สุดโดยไม่ทราบสาเหตุ
โบราณสถานสำคัญในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
แหล่งขุดค้นทางโบราณคดี
เป็นอาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ในลักษณะของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง หลุมขุดค้นแห่ง
นี้พบโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
มีอายุประมาณ ๑,๐๐๐ ปี พบเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ภาชนะดินเผา เครื่องมือเหล็ก
และเครื่องประดับ เช่น กำไลสำริด และลูกปัดแก้ว ฝังร่วมกับโครงกระดูก
โบราณสถานเขาคลังใน
เป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่เกือบกลางเมืองศรีเทพ สภาพปัจจุบันเป็นฐานอาคารขนาดใหญ่คล้ายภูเขา
สร้างด้วยศิลาแรง มีบันไดที่ด้านหน้าหรือด้านตะวันออก ส่วนบนมีร่องรอยซากอาคาร
และเจดีย์ปรากฎอยู่ แต่ได้พังทะลายลงมา จนไม่สามารถศึกษารูปแบบได้ รูปแบบทางสถาปัตยกรรม
มีลักษณะคล้ายโบราณสถานหมายเลข ๑๘ (วัดโขลงสุวรรณคีรี) ที่เมืองคูบัว
จังหวัดราชบุรี
ภาพและลวดลายรูปปั้น ตามรูปแบบศิลปทวารวดี ภาพปูนปั้นที่ยังเหลือติดอยู่กับโบราณสถาน
ได้แก่ รูปคนแคระ ซึ่งมีหน้าแตกต่างกัน ทั้งแบบหน้าคน ลิง สิงห์ ควาย และช้าง
มีลักษณะเหมือนภาพคนแคระประดับโบราณสถานที่เมืองโบราณ สมัยทวารวดีแห่งอื่น
ๆ เช่น ที่วัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี เมืองโบราณโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์
เป็นต้น สำหรับลวดลายปูนปั้นส่วนใหญ่เป็นรูปพันธุ์พฤกษา และลายเรขาคณิต กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๖
โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ
เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในศิลปร่วมแบบเขมร
มีลักษณะเป็นปราสาทขอม ฐานก่อด้วยศิลาแลง องค์เรือนธาตุ และชั้นหลังคาก่อด้วยอิฐ
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในศิลปะร่วมแบบเขมร แบบนครวัด แต่เครื่องประดับสถาปัตยกรรมบางชิ้น
ยังคงปรากฎ ลักษณะศิลปกรรมร่วมแบบเขมรแบบบาปวน
ในระยะเริ่มแรกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัย ประดิษฐานรูปเคารพในศาสนาฮินดู ในช่วงหลังถูกดัดแปลงให้เป็นพุทธสถาน
ซึ่งน่าจะตรงกับช่วงที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แผ่อำนาจเข้ามา
โบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง เป็นศาสนสถานรูปแบบปราสาทขอมที่สร้างขึ้นมาสมัยเดียวกับปรางค์ศรีเทพ
ลักษณะสถาปัตยกรรม เป็นแบบศิลปะร่วมแบบนครวัด ทับหลังรูปอุมามเหศวร มีลักษณะศิลปะร่วมแบบปาปวน
แต่มีอิทธิพลศิลปะร่วมแบบนครวัด เข้ามาแล้ว เดิมสร้างขึ้นเพียงปรางค์ประธาน
แต่ต่อมาได้สร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่มขึ้น
โบราณสถานนอกเมืองที่สัมพันธ์กับเมืองศรีเทพ
ถ้ำเขาถมอรัตน์
อยู่ในตำบลโคกสะอาด อำเภอศรีเทพ ห่างจากเมืองศรีเทพไปทางด้านทิศตะวันออกประมาณ
๑๕ กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่ดัดแปลงจากถ้ำธรรมชาติ บนยอดเขาถมอรัตน์ ภายในถ้ำมีคูหาเดียวหันหน้าไปทางทิศเหนือ
ปากถ้ำ กว้างประมาณ ๕ เมตร สูง ๑๓ เมตร ลึก ๒๐ เมตร บริเวณเกือบกลางห้องมีผนังหินปูนธรรมชาติขนาดใหญ่
กว้าง ๗ เมตร ยาว ๕ เมตร สูง ๓ เมตร ที่ผนังมีประติมากรรมรูปเคารพในพระพุทธศาสนา
ทั้งแบบเถรวาท และแบบมหายาน สลักอยู่ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปยืน ศิลปะทวารวดี
มีภาพพระโพธิสัตว์ สถูป และพระธรรมจักร ลักษณะพระโพธิสัตว์บางองค์ มีรูปแบบคล้ายกลุ่มพระโพธิสัตว์
ที่พบในที่ราบสูงโคราช แถบอำเภอประโคนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
และบ้านโตนด อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นศิลปะร่วมแบบเขมรแบบกำพงพระ
และยังมีลักษณะคล้ายประติมากรรมที่พบในกลุ่มเมืองทวารวดี แถบภาคกลางตอนล่าง
เช่น เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี
โบราณสถานเขาคลังนอก และกลุ่มโบราณสถานข้างเคียง อยู่ที่บ้านสระบือ
ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ อยู่ห่างจากเมืองศรีเทพ ไปทางทิศเหนือประมาณ ๒ กิโลเมตร
เป็นโบรานสถานกลุ่มใหญ่ ที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองศรีเทพ พบว่ามีแนวคันดินเชื่อมต่อจากเมืองศรีเทพมายังโบราณสถานกลุ่มนี้
โบราณสถานส่วนใหญ่สร้างด้วยอิฐ มีจำนวนประมาณ ๔๐ แห่ง มีโบราณสถานเขาคลังนอก
เป็นหลัก
ปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการขุดแต่ง จึงยังไม่สามารถศึกษารูปแบบศิลปกรรมได้
จากการสำรวจเบื้องต้น พบอิฐใช้ก่อสร้างเป็นจำนวนมาก อิฐมีขนาดใหญ่ และมีแกลบข้าวผสมในเนื้ออิฐมาก
ซึ่งเป็นอิฐแบบทวาวรดี
โบราณสถานเขาคลังนอก มีลักษณะเป็นภูเขาขนาดเล็ก พบอิฐกระจายอยู่ทั่วไป
แต่อิฐส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นอิฐแบบเขมร ส่วนบนของโบราณสถานมีโพรงลึก ทำให้มีผู้สันนิษฐานว่า
อาจเป็นสถาปัตยกรรมประนาทปราสาทขอม เพราะโพรงลึกมีลักษณะคล้ายคูหา ส่วนเรือนธาตุของปรางค์ปราสาท
ลักษณะภายนอกซึ่งมีดินปกคลุมอยู่คล้ายกับโบราณสถานเขาคลังใน น่าจะสร้างตั้งแต่สมัยทวารวดี
และมีการสร้างเพิ่มเติมในช่วงที่รับวัฒนธรรมเขมร
โบราณสถานปรางค์ฤาษี เป็นศาสนสถานรูปแบบปราสาทขอม สร้างด้วยอิฐ อยู่ในบริเวณวัดป่าสระแก้ว
อยู่ห่างจากโบราณสถานเขาคลังนอก ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑ กิโลเมตร ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถาน
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖
สภาพปัจจุบันถูกดัดแปลงในส่วนชั้นหลังคา โดยผิดรูปแบบ แต่สามารถศึกษารูปแบบเดิม
จากภาพถ่ายเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ ที่ได้มีการสำรวจพบเมืองศรีเทพ เนื่องจากยังไม่ได้มีการขุดแต่งทางโบราณคดี
จึงยังไม่สามารถกำหนดอายุสมัยที่แน่นอนได้ จากการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ ได้มีการบันทึกไว้ว่า
น่าจะเป็นปรางค์แบบลพบุรีรุ่นแรก แบบเดียวกับเทวสถานปรางค์แขก จังหวัดลพบุรี
ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖
รูปปั้น
อนุสาวรีย์สำคัญ
อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง
ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกพ่อขุน จุดตัดทางหลวงหมายเลข ๑๒ (พิษณุโลก - ชุมแพ)
กับทางหลวงหมายเลข ๒๑ (สระบุรี - หล่มสัก) ตำบลน้ำชน อำเภอหล่มสัก ประดิษฐานอยู่บนแท่นในท่าประทับยืน
พระพักตร์หันไปทางทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ หันปลายจรดพื้น อันเป็นพระอิริยาบทในท่าพักการศึกสงคราม
พ่อขุนผาเมือง ปรากฎชื่อในหลักศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ (จารึกวัดศรีชุม)
พระองค์เป็นโอรสพ่อขุนนาวนำถม ผู้ครองเมืองราด กษัตริย์ขอมยกพระราชธิดาคือ
พระนางสิงขรเทวี ให้อภิเษกสมรสด้วย พระราชทานนามสถาปนาเป็น "กมรเต็งอัญศรีอินทาบดินทราทิตย์"
และพระราชทานพระขรรค์ไชยศรี เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์
ต่อมาได้ร่วมกับพ่อขุนบางกลางท่าว ยึดเมืองสุโขทัยคืนจากขอมสมาสโขลญลำพง ทรงยกพ่อขุนบางกลางท่าว
เป็นกษัตริย์ พร้อมทั้งยกตำแหน่ง "กมรเต็งอัญศรีอินทาบดินทราทิตย์" อันเป็นการอภิเษกพระสหายให้เป็นกษัตริย์สุโขทัย
คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ให้กรมศิลปากรสร้าง และได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เดิมชาวเมืองวิเชียรบุรี ได้สร้างศาลนเรศวรไว้ที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอวิเชียรบุรี
เนื่องจากตามพงศาวดารได้กล่าวถึง การเสด็จคุมทัพมาถึงแขวงเมืองวิเชียรบุรี
ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งตีทัพพระยาละแวก กษัตริย์เขมร ในปี พ.ศ.๒๑๑๕
โดยได้โปรด ฯ ให้พระศรีถมอรัตน์ เจ้าเมืองวิเชียรบุรี ขณะนั้นเป็นทัพหน้า
ตีทัพเขมรแตกพ่ายไป
ต่อมาชาววิเชียรบุรี และอำเภอใกล้เคียงได้ร่วมกันสร้างศาลนเรศวรหลังใหม่ ณ
บริเวณสนามบินวิเชียรบุรี ตำบลท่าโรง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอวิเชียรบุรี
ไปทางทิศเหนือประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร
ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธีบวงสรวง ดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวร
ได้มีพิธีเปิดศาลสมเด็จพระนเรศวร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ และในวันที่ ๒๕ มกราคม
ของทุกปี จะมีงานบวงสรวงดวงพระวิญญาณ สมเด็จพระนเรศวร เป็นประจำทุกปี
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ
ตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด เป็นพระบรมรูปหล่อโลหะประทับยืน ฉลองพระองค์เต็มยศ
พระหัตถ์ซ้ายกุมพระแสงกระบี่ พระหัตถ์ขวาทรงถือพระมาลา
ชาวจังหวัดเพชรบูรณ์พร้อมใจกันสร้าง เนื่องในมหามงคลสมัยสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์
๒๐๐ ปี กรมศิลปากรออกแบบและหล่อ อัญเชิญมาประดิษฐาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |