มรดกทางวัฒนธรรม
จังหวัดพิษณุโลก มีประวัติความเป็นมายาวนาน หลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
ประมาณ ๓,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว และเมืองพิษณุโลกได้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยทวาราวดี
เมืองพิษณุโลกเคยมีฐานะเป็นราชธานี เมืองมหาอุปราช เมืองเอกอุ และเมืองปรเทศราช
ทำให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นแหล่งรับและหลอมรวมวัฒนธรรม ตั้งแต่สมัยทวาราวดีต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
และยังได้รับวัฒนธรรมจากอาณาจักรล้านนา อาณาจักรศรีโคตรบูร (อีสาน) ก่อให้เกิดการสะสมและผสมผสานทางวัฒนธรรมทั้งในระดับพื้นบ้านและในระดับชาติ
แหล่งโบราณคดี
เมืองพิษณุโลก
เมืองพิษณุโลก เดิมชื่อเมืองสองแคว ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท)
แห่งกรุงสุโขทัยได้เสด็จไปครองเมืองสองแควนานถึง ๗ ปี ระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๐๕
- ๑๙๑๒ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลกในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
แห่งกรุงศรีอยุธยาได้มาครองเมืองพิษณุโลกนานถึง ๒๕ ปี ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๐๖ - ๒๐๓๑ หลักฐานเมืองพิษณุโลกโบราณที่ยังปรากกอยู่จนถึงปัจจุบันมี ๓ แห่งคือ
เมืองพิษณุโลก มีรูปแบบเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ตอนกลางป่องออกทั้งสองข้างคล้ายรูปตะโพน มีความยาวตามลำแม่น้ำน่าน ประมาณ
๒,๐๐๐ เมตร มีความกว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดของเมืองพิษณุโลก ที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารเมืองเหนือ
กำแพงเมือง สันนิษฐานว่า ชั้นเดิมน่าจะเป็นกำแพงดิน
ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่เมืองพิษณุโลก
และได้โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะกำแพงเมืองพิษณุโลกให้สมบูรณ์มั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อป้อมปราการ
และกำแพงเมืองพิษณุโลก เพื่อมิให้พม่าเข้ามายึดเมืองนี้ และใช้เป็นฐานที่มั่นในการทำศึกกับไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ปัจจุบันเหลือกำแพงเมืองอยู่เพียงบางจุด เช่น กำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก และที่วัดโพธิญาณ
คูเมือง เป็นคูเมืองรอบกำแพงเมืองทั้งสี่ด้าน
ที่ยังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบันคือคูเมืองด้านตะวันออก อยู่บริเวณด้านเหนือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ไปถึงวัดโพธิญาณ
พระราชวังจันทน์
พระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำน่าน ปัจจุบันอยู่ในเขตโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ เป็นพระราชวังที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับ
ตลอดจนเป็นที่พักของเจ้าเมืองพิษณุโลก นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ประสูติของพระสุพรรณกัลยา
เป็นสถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ มีโบราณสถานที่สำคัญอยู่
๓ แห่งคือ
ซากพระราชวัง ประกอบด้วยท้องพระโรง
พระตำหนัก กำแพงวัง และพิมดาบ
ศาลเทพารักษ์ เป็นที่ตั้งเทพารักษ์ประจำเมืองพิษณุโลก
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ของเดิมถูกไฟไหม้
จึงได้ย้ายพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไปประดิษฐานที่ศาลเทพารักษ์ ต่อมาได้มีการสร้างศาล และหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นใหม่
เมืองยมราช
เมืองยมราช เป็นเมืองโบราณสมัยเดียวกันกับกรุงสุโขทัย ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านกร่าง
อำเภอเมือง ฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลก ปัจจุบันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ
๑๓ กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถาบันเทคโนโลยี่ ราชมงคล วิทยาเขตพิษณุโลก
แหล่งโบราณคดีอำเภอพรหมพิราม
เมืองพรหมพิราม เป็นเมืองเก่าสมัยเดียวกับกรุงสุโขทัย
ตั้งอยู่ที่บ้านท้องพระโรง ตำบลดงประคำ เป็นเมืองแฝดที่ตั้งอยู่บนทั้งสองฝั่งของแม่น้ำน่าน
มีคันดินเป็นกำแพงเมืองล้อมรอบ มีโบราณสถานก่อด้วยอิฐสอดิน มีถนนพระร่วงเชื่อมระหว่าง
อำเภอกงไกรลาส จังหวัดสุโขทัย มายังเมืองพรหมพิราม แล้วจึงแยกออกเป็นสองสาย
สายหนึ่งไปสู่เมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ อีกสายหนึ่งไปยังเมืองนครไทย จังหวัดพิษณโลก
วัดเสนาหรือวัดย่านขาด เป็นวัดโบราณอยู่ในเขตตำบลย่านขาด ไม่ทราบประวัติการสร้าง มีแต่ในตำนานกล่าวว่า วัดเสนาสร้างแข่งกับวัดเสนาสน์
ที่อำเภอวัดโบสถ์ แต่วัดเสนาสน์สร้างเสร็จก่อนจึงได้รับพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานที่วัดเสนาสน์
วัดเสนามีซากเจดีย์โบราณ และพระอุโบสถเก่า และยังมีปริศนาลายแทงอีกด้วย
แหล่งโบราณคดีอำเภอวัดโบสถ์
วัดเสนาสน์ เป็นวัดโบราณตั้งอยู่ในเขตตำบลท่างาม
ไม่ทราบประวัติการสร้าง แต่มีตำนานพระปฐมเจดีย์ สำนวนหนึ่งกล่าวว่า มีการสร้างวัดเสนาแข่งกับวัดเสนาสน์
ปรากฏว่าวัดเสนาสน์สร้างเสร็จก่อน โดยใช้อุบายนำผ้าขาวคลุมเป็นหลังคาโบสถ์
ให้ดูเหมือนว่าสร้างวัดเสร็จแล้ว จึงได้รับมอบพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐาน
แหล่งโบราณคดีอำเภอวังทอง
วัดทองวราราม
เดิมชื่อวัดป่าหมาก เป็นวัดโบราณ อุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา มีพระพุทธรูปสำริดสมัยต่าง
ๆ มีโบราณวัตถุประเภทเครื่องถ้วยจำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ ชิ้น
เขาสมอแครง ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางทิศเหนือประมาณ
๑๔ กิโลเมตร เป็นภูเขาลูกเดียวโดด ๆ มีลักษณะยาวรีมองดูคล้ายพระพุทธบาท วางตัวตามแนวเหนือ
- ใต้ จากการขุดแต่งเจดีย์ วิหาร และขุดสำรวจฐานอาคาร ทำให้กำหนดอายุได้ว่าโบราณสถานบนเขาสมอแครงสร้างในสมัยสุโขทัย
ตอนปลาย และมีการบูรณะในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยอยุธยาตอนต้น
เตาเผาที่บ้านแม่ระทา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำวังทอง หรือแม่น้ำเข็ก ในเขตตำบลแม่ระทา พบแหล่งเตาเผาโบราณ พบผนังเตาก่อด้วยดินเหนียว มีน้ำเคลือบสีเทาติดอยู่ พบเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นตุ๊กตา
และวัวมีโหนก สันนิษฐานว่า เตาเผาแห่งนี้เป็นเตาเผาโบราณ ทำการเผาเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นของเด็กเล่น
แหล่งโบราณคดีอำเภอเนินมะปราง
ซากสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ พบที่ถ้ำเรือในเขาผาท่าพล บริเวณปากถ้ำมีน้ำขังอยู่ลึกประมาณ
๑ เมตร ในฤดูฝนจะมีน้ำไหลผ่านถ้ำ ภายในถ้ำมีที่ราบ กลางถ้ำมีรูปเรือเกิดจากหินงอก
หินย้อย ด้านหลังถ้ำพบซากสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ มีอายุประมาณ ๒๐๐ ล้านปี บริเวณนี้เชื่อว่าเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
เมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ถ้ำฝ่ามือแดง อยู่ในเขาผาท่าพล มีหินสีแดงบนผนังถ้ำ พบภาพเขียนสีเป็นรูปฝ่ามือ และมีภาพลวดลายต่าง
ๆ เป็นศิลปะของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคโลหะ มีอายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
พบเศษเครื่องปั้นดินเผา และกระดูกมนุษย์ในถ้ำแห่งนี้ด้วย
แหล่งโบราณคดีอำเภอนครไทย
โบราณวัตถุที่พบ มีอายุไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคโลหะ จนถึงสมัยประวัติศาสตร์
ตั้งแต่สมัยทวาราวดี สมัยลพบุรี และสมัยสุโขทัย มีเครื่องมือขวานหินสองคม
รอยสลักบนหินที่ถ้ำกา พระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก ศิลปะสมัยลพบุรี ในเสมาหินมีการแกะสลักพระสถูปด้านหนึ่ง
อีกด้านหนึ่งแกะสลักเป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี และเครื่องปั้นดินเผาสังคโลกสมัยสุโขทัย
เมืองนครไทย
มีร่องรอยทางโบราณคดีเหลืออยู่คือแนวกำแพงเมือง เป็นกำแพงดิน ๓ ชั้น มีคูเมือง
๒ ชั้น กำแพงเมืองยังมีความสมบูรณ์อยู่สามด้าน ผังเมืองเป็นรูปมนรี มีพื้นที่ประมาณ
๑๔๓ ไร่ มีประตูเมือง
เมืองนครไทย มีเมืองหน้าด่านอยู่ ๔ เมืองตามทิศทางต่าง ๆ ดังนี้คือ
เมืองนครชุม
อยู่ห่างจากตัวเมืองนครไทยไปทางทิศตะวันออก ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย
เป็นแหล่งสะสมกำลังพล และเสบียงอาหารไว้ป้องกันข้าศึก
โคกค่าย
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นด่านเล็ก ๆ อยู่ระหว่างเส้นทางอำเภอนครไทย
กับบ้านแยง และเส้นทางอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
เมืองตานม
อยู่ห่างจากเมืองนครไทยไปทางทิศใต้ประมาณ ๔๐ กิโลเมตร อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของบ้านหนองปรือ
อำเภอวังทอง
เมืองชาติตระการ
อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองนครไทย ห่างออกไปประมาณ ๔๐ กิโลเมตร
ใช้เป็นที่สะสมกำลังพล และเสบียงอาหาร สำหรับกองทัพเมืองนครไทย ที่จะเดินทางไปยังกรุงสุโขทัย
ถ้ำกา
ถ้ำกาอยู่บนเขาช้างล้วง ในถ้ำมีแผ่นหินขนาดกว้างประมาณ ๓ เมตร ยาว ๖ เมตร
มีภาพสลักลงในหินลึกประมาณ ๑ เซนติเมตร เป็นรูปกากบาทพาดไปมาคล้ายรองเท้ากา
สันนิษฐานว่า เป็นภาพสลักหินก่อนประวัติศาสตร์ ในยุคโลหะ มีอายุประมาณ ๔,๐๐๐
ปีมาแล้ว
ผาขีดภูขัด
อยู่ที่เขาภูขัด มีภาพสลักหินเป็นรูปลายเส้น และรูปกากบาทพาดไปมา คล้ายภาพที่ถ้ำกา
แต่มีเส้นแบ่งภาพออกเป็นช่วง ๆ สันนิษฐานว่า เป็นภาพสลักหินก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ
มีอายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
แหล่งโบราณคดีอำเภอชาติตระการ
เมืองชาติตระการ
เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองนครไทย ดังได้กล่าวมาแล้ว
ผากระดานเลข
เป็นหน้าผาหินอยู่ในถ้ำผาแดงบนภูเขาอ่างน้ำในเขตบ้านปากรอง อำเภอชาติตระการ
บนผนังถ้ำที่เป็นหินทรายเรียบ มีภาพสลักหินลึกประมาณ ๕ มิลลิเมตร กว้าง ๑
เซนติเมตร เป็นงานสลักหินของศิลปะถ้ำเป็นภาพวงกลมเรียงเป็นแถวประมาณ ๑๓ วง
บางภาพแกะสลักเป็นลวดลายคล้ายภาพคนอยู่ในอริยาบทต่าง ๆ บางภาพคล้ายสัตว์จำพวกนก
กวาง และปลา มีรูเป็นแนวเรียงกัน มีรอยขูดขีดเป็นรูปแผนที่หรือลายเรขาคณิต
ชาวบ้านจึงเรียกผานี้ว่า ผากระดานเลข เป็นภาพก่อนประวัติศาสตร์ในยุคโลหะ มีอายุประมาณ
๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
แหล่งโบราณคดีอำเภอบางกระทุ่ม
แหล่งโบราณตคดีบ้านวัดตายม วัดตายมเป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดสองแคว พบโบราณวัตถุสำคัญคือ พระพุทธรูปปูนปั้น
ชื่อหลวงพ่อวัดตายม เป็นพระพุทธรูปโบราณ ศิลปะสมัยสุโขทัยตอนปลาย
แหล่งโบราณคดีวัดป่ากล้วย
และวัดป่าสัก อยู่ห่างจากวัดตายมไปทางทิศใต้
ประมาณ ๓๐๐ เมตร และ ๔๐๐ เมตร ตามลำดับ พบโบราณสถานบริเวณริมคลองละคร และมีโบราณสถานขนาดใหญ่
ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่เนินดินขนาดใหญ่ มีซากพระปรางค์ ซากเจดีย์ เศษอิฐ เศษปูนปั้นที่ใช้ประดับโบราณสถานกระจายอยู่ทั่วไป
แหล่งโบราณคดีบ้านวังสาร อยู่ในเขตตำบลท่าตาล จากหลักฐานทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์บ่งว่าเป็นชุมชนระดับเมือง
มีคูน้ำคันดินสองชั้น พบเศษเครื่องถ้วยกระจายอยู่ทั่วไป
แหล่งโบราณคดีอำเภอบางระกำ
แหล่งโบราณคดีบ้านชุมแสงสงคราม เป็นชุมชนโบราณ อยู่ห่างจากตัวอำเภอบางระกำไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร พบซากโบราณสถานที่ถูกทำลายจนหมดสภาพแล้ว พบเศษเครื่องถ้วยประเภทเครื่องสังคโลก ซึ่งผลิตจากเตาเกาะน้อย และเตาป่ายาง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
กระจายอยู่ทั่วบริเวณใกล้เคียงกับซากโบราณสถาน และพบมากบริเวณวัดปากคลอง ชาวอำเภอบางระกำเชื่อว่า ตำบลชุมแสงสงคราม เป็นชุมชนที่ทำอาวุธในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
แหล่งโบราณคดีบ้านบางแก้ว อยู่ในเขตตำบลบางแก้ว
พบเครื่องถ้วยตามริมฝั่งคลองบางแก้ว และบริเวณบ้านโคกเพชรที่อยู่ใกล้เคียงกัน
พบเศษเครื่องถ้วยสีน้ำตาล ซึ่งเป็นเครื่องถ้วยสมัยลพบุรี และเครื่องถ้วยสังคโลกสมัยสุโขทัย
แหล่งประวัติศาสตร์
สระแก้ว
สระแก้วเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ หรือบึงน้ำ ตั้งอยู่นอกตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ
๑ กิโลเมตร สระแก้วคงจะได้ชื่อมาแต่สมัยอยุธยา เคยเป็นที่ตั้งกองทัพเวียงจันทน์ของพระยานคร
แม่ทัพของพระไชยเชษฐา ผู้ครองนครเวียงจันทน์ แห่งอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต หรือล้านช้าง
ที่ยกเข้ามาตีเมืองพิษณุโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๐ ร่วมกับสมเด็จพระมหินทราธิราช
แห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อทำสงครามกับสมเด็จพระมหาธรรมราชา ขณะที่เป็นพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก
สระสองห้อง
สระสองห้องอยู่ทางทิศตะวันตกของพระราชวังจันทน์ อยู่นอกกำแพงวัง เป็นสระรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ตรงกลางสระมีโคกเป็นเกาะ ทำให้ดูคล้ายมีสองสระ จึงได้ชื่อว่า สระสองห้อง แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่าหนองสองห้อง
สระแห่งนี้สันนิษฐานว่า เป็นที่ประทับสำราญพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จมาประทับ
ณ พระราชวังจันทน์
วัดพระนอน
วัดพระนอน ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน อยู่ห่างจากประตูเมืองชื่อประตูสวรรค์
หรือประตูผีไปทางทิศใต้ ประมาณ ๒๐๐ เมตร เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่า สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลาย
หรือสมัยอยุธยาตอนต้น และได้รับการบูรณะตลอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อนที่จะเป็นวัดร้างไปในที่สุด
วัดตาปะขาวหาย
วัดตาปะขาวหายตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางทิศเหนือ
ประมาณ ๓ กิโลเมตร เดิมชื่อวัดเตาไห เนื่องจากเป็นที่ตั้งเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาประเภทไห
ปัจจุบันตำบลเตาไหได้เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลหัวรอ
ตำบลเตาไห ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เคยเป็นที่ตั้งกองทัพของพระยาสุรินทร์คว่างฟ้า แม่ทัพของพระเจ้าไชยเชฐ
ผู้ครองนครเวียงจันทน์แห่งอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต คราวยกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก
เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๑๐
สถานที่ที่อะแซหวุ่นกี้ดูตัวเจ้าพระยาจักรี
สถานที่ดังกล่าวเป็นเนินดินอยู่บริเวณหน้าที่ตั้งสำนักงานเทศบาล นครพิษณุโลกในปัจจุบันเนินดังกล่าวเรียกว่า เนินดินอะแซหวุ่นกี้
หรือเนินดินที่ยืนม้า ของเจ้าพระยาจักรี
วัดจันทร์ตะวันออก
วัดจันทร์ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางใต้
ประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยสุโขทัยตอนปลาย หรือสมัยอยุธยาตอนต้น
วัดจุฬามณี
วัดจุฬามณี ตั้งบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน อยู่ในเขตตำบลท่าทอง อำเภอเมือง
ฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ ประมาณ ๕ กิโลเมตร เป็นวัดโบราณ มีความสำคัญควบคู่กันมากับเมืองพิษณุโลก
มีโบราณสถานที่สำคัญคือ พระปรางค์ พระอุโบสถ พระวิหาร และมณฑปพระพุทธบาท
วัดจุฬามณี เป็นชุมชนโบราณ มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีความเจริญทั้งด้านการเมือง
การปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา สถาปัตยกรรม ศิลปะวัฒนธรรม และวรรณคดี
พระราชวังจันทน์
พระราชวังจันทน์ เป็นพระราชวังที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับ
และเสด็จออกว่าราชการมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พม่าได้ยกกองทัพมาตีไทยหลายครั้ง
พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่า ฝ่ายไทยไม่มีกำลังทหารเพียงพอที่จะป้องกันเมืองพิษณุโลก
และหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้รื้อกำแพง ป้อมปราการ
และปราสาทราชมณเฑียรในพระราชวังจันทน์เสียสิ้น เพื่อมิให้พม่าข้าศึกใช้เป็นฐานที่มั่นในการทำสงครามกับไทย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
ได้เสด็จไปเมืองพิษณุโลก จึงได้พบพระราชวังจันทน์ ทรงมีรับสั่งให้ขุนศรีเทพบาลทำการสำรวจรังวัด
และทำแผนผังประกอบถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้เสด็จทอดพระเนตรพระราชวังจันทน์ด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จากวัดนางพญามาตั้งที่พระราชวังจันทน์
เพื่อให้โรงเรียนดูแลพระราชวังแห่งนี้
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้มีการสร้างอาคารเรียนคนงานขุดหลุมเสา ได้พบซากอิฐเป็นแนวกำแพง
เป็นกำแพงพระราชวังจันทน์ชั้นนอก ประตูพระราชวัง และทิมดาบ ได้พบกำแพงพระราชวังชั้นใน
ประตูพระราชวัง และเนินฐานพระราชวังในบริเวณสนามโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม กรมศิลปากรจึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
และกำหนดเขตพระราชวังจันทน์ ให้ครอบคลุมพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อมีการย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมไปตั้ง
ณ ที่ใหม่แล้ว กรมศิลปากรมีโครงการบูรณะพระราชวังจันทน์ และบริเวณใกล้เคียง ให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ต่อไป
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษา
ภาษาที่ใช้พูดในจังหวัดพิษณุโลก ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยกลาง จะมีแตกต่างกันไปบ้าง
ในเรื่องการออกเสียงวรรณยุกต์ ที่ผิดเพี้ยนกันไปในแต่ละท้องถิ่น มีผู้รวบรวมภาษาถิ่นย่อยในจังหวัดพิษณุโลกได้
๓๒ ภาษา คือ
ภาษาลาวชาติตระการ ภาษาชาติตระการ ภาษาด่านซ้าย ภาษานครไทย ภาษาหนองกระบาก
ภาษาคันโซ้ง ภาษาหินลาด ภาษาโคกสมอ ภาษาบ้านบึง ภาษาท้องโพลง ภาษาสมอคล้า
ภาษาวังวน ภาษาบ้านกร่าง ภาษามะตูม ภาษาท้อแท้ ภาษาลานหญ้า ภาษาม่วงหอม ภาษาดอนทอง
ภาษาไผ่ค่อม ภาษาสมอแข ภาษาแสงดาว ภาษาคลองวัดไร ภาษาเก้ารัง ภาษาพวน ภาษาทางลัด
ภาษาไทยโคราช ภาษายางโทน ภาษาโคกสนั่น ภาษาดงหมี ภาษาบางระกำ ภาษาไทยกลาง
ภาษาถิ่นย่อยเหล่านี้ เป็นภาษาพูดที่แบ่งตามชื่อตำบล และหมู่บ้านใน อำเภอต่าง ๆ
ของจังหวัดพิษณุโลก
จารึก
จารึกวัดจุฬามณี
เป็นจารึกที่หลังมณฑปพระพุทธบาท สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระมณฑป
และพระพุทธบาทจำลอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๔ สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรี ฯ ทรงพบเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ขณะเสด็จตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ เป็นจารึกในศิลาด้วยตัวอักษรไทยทั้งหมด
มีลักษณะเป็นร้อยแก้วบอกปี พุทธศักราช ๒๒๒๑ กล่าวถึงการเสด็จออกผนวชของพระบรมไตรโลกนาถที่วัดจุฬามณี
มีข้าราชการบวชโดยเสด็จทั้ง ๔ คณะ จำนวน ๒,๓๔๘ รูป และประทับจำพรรษาอยู่ที่วัดจุฬามณีเป็นเวลา
๘ เดือน ๑๕ วัน ตอนท้ายกล่าวถึง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างรอยพระพุทธบาทขึ้น
และประดิษฐานไว้ภายในมณฑปของวัดจุฬามณี
จารึกวัดอุทยานใหญ่
เป็นศิลาจารึกขนาดใหญ่ ด้านหน้าจารึกอักษรขอม ด้านข้างจารึกอักษรไทยโบราณ
เป็นจารึกในสมัยสุโขทัย ศิลาจารึกหลักนี้อยู่ในสภาพชำรุดมาก เดิมตั้งอยู่ที่หัวกำแพงหักหน้าค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน
ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดอุทยานใหญ่ ต่อมาน้ำไหลเซาะตลิ่งพังลง ทางราชการจึงได้นำไปเก็บรักษาไว้ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช
จารึกวัดเสือ
เป็นศิลาจารึกที่เจดีย์วัดเสือ หรือวัดป่ามืด ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน
สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยอยุธยา ภายหลังได้กลายเป็นวัดร้าง ศิลาจารึกวัดเสือจารึกเมื่อปี
พ.ศ. ๒๐๙๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ อักษรที่ใช้จารึกเป็นอักษรเขมร
ภาษาไทย และภาษาบาลี ตัวจารึกหักหายไปบางส่วน
เอกลักษ์ทางวัฒนธรรม
เรือนแพ
เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก มีอยู่หนาแน่นบริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่าน
ตั้งแต่หน้าค่ายสมเด็จพระนเรศวร ตลอดลงมาถึงวัดจันทน์ตะวันออก โดยเฉพาะบริเวณหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
จะมีอยู่หนาแน่นมาก เรือนแพจะจอดเรียงรายเป็นทิวแถวตลอดสองฝั่งแม่น้ำ โดยตลอดบริเวณดังกล่าว เรือนแพมีอยู่ควบคู่กับเมืองพิษณุโลกมาเป็นเวลานานนับร้อยปีมาแล้ว เนื่องจากสมัยก่อนชาวเมืองพิษณุโลกได้อาศัยแม่น้ำในการดำรงชีวิตทั้งในด้านการเกษตรกรรม
การคมนาคม การค้าขาย ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการดำเนินชีวิต ประชาชนและข้าราชการส่วนหนึ่งจึงนิยมสร้างบ้านเรือนในรูปของเรือนแพ
ดนตรีมังคละอำเภอพรหมพิราม
การเล่นดนตรีมังคละ เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากเป็นดนตรีพื้นบ้านมีมานานแล้ว
สมเด็จ ฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ทรงนิพนธ์ไว้ว่า เครื่องมังคละนี้เป็นเครื่องเบญจดุริยางค์แท้
(มีกลองเล็กรูปเหมือนเถิดเทิงแต่สั้น ขึงหนังหน้าเดียวใช้ไม้ตียาว ๆ ตรงกับ
"วาตต" ใบหนึ่งมีกลองขึงสองหน้าเหมือนกลองมลายู เป็นตัวผู้ใบหนึ่ง ตรงกับ
"วิตต์" เป็นตัวเมียใบหนึ่งตรงกับ อาตถวิตตํ มีไม้ตีตรง..... แลมีปี่คันหนึ่งเป็นตัวทำนองปี่จีนลิ้นเป็นปี่ชวา..... มีฆ้องแขวนราว
๓ ใบ..... เสียงเพลงนั้นเหมือนกลองมลายู..... เพลงปี่ก็ไม่อ่อนหวาน....ฆ้องตีพร้อมกันโครม ๆ
.....) ชาวบ้านวัดสกัดน้ำมันเล่นดนตรีมังคละเป็นอาชีพ เครื่องดนตรีมังคละมี
๕ ประเภท ประกอบด้วย
กลองมังคละ ลักษณะคล้ายกลองยาว แต่ขึงหนังหน้าเดียว มีขนาดเล็กกว่ากลองยาวมาก
ยาวประมาณ ๑ ฟุต หน้ากลองหุ้มหนังตัวกลองทำจากไม้ขนุนหน้าตัด อีกด้านหนึ่งเจาะรูตรงกลางมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ
๑ นิ้ว การตีกลองจะใช้หวายสองเส้น มีเชือกพันที่ปลายเป็นไม้ตี
กลองสองหน้า เป็นกลองขนาดใหญ่ มีสายสะพายคล้องคอ หน้ากลองมีเส้นผ่าศูนย์กลาง
ประมาณ ๑๐ นิ้ว ด้านหลังมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๗ นิ้ว ด้านหน้ากลองจะตีด้วยไม้
ด้านหลังกลองจะตีด้วยมือ มังคละวงหนึ่งจะมีกลองสองหน้า ประมาณ ๓ - ๔ ใบ
ปี่ มีลักษณะคล้ายปี่จีน เลาปี่เป็นข้อ ๆ ส่วนลิ้นคล้ายปี่ชวา
ฉาบ เป็นเครื่องกำกับจังหวะ ฉาบใช้สองคู่เรียกว่าฉาบล่อ เป็นฉาบขนาดกลาง ใช้ตีเพื่อเสริมลีลาของผู้เล่น
และฉาบยืนเป็นฉาบขนาดใหญ่ ใช้ยืนตีจังหวะ เพื่อให้เกิดความสนุกสนานครึกครื้น
ฆ้อง มีจำนวน ๓ ใบ มีขนาดลดหลั่นกันไป ฆ้องใบเล็กสุดจะแขวนอยู่ตรงหน้า เรียกว่าเหม่งหน้า
ใช้ตีนำวงก่อนเล่นมังคละ และใช้รัวเป็นจังหวะเมื่อเปลี่ยนเพลง ตลอดจนใช้ตียืนจังหวะในการเล่น
ส่วนฆ้องสองใบหลังมีขนาดเท่ากัน แขวนคู่กันคนละข้างใช้ตีเพื่อให้จังหวะข้างละหนึ่งทีสลับกัน
การเล่นมังคละนี้ ก่อนเล่นจะต้องทำพิธีไหว้ครู โดยมีดอกไม้ธูปเทียนพร้อมเครื่องเซ่น ได้แก่
หมากพลู สุรา เพลงที่ใช้เล่นมีหลายเพลง เช่นเพลงนมยานนกทกแป้ง เพลงหมูกินโคนบอน
และเพลงกบเข่นเขี้ยว เป็นต้น เดิมการเล่นมังคละไม่มีการรำประกอบ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้มีผู้ริเริ่มคิดทำรำประกอบเพลงของชายหญิง ทำนองเกี้ยวพาราสีประกอบกับท่วงทำนองลีลาจังหวะของดนตรีมังคละ
ทำให้สนุกสนานยิ่งขึ้น
ประเพณีปักธงชัย
ประเพณีปักธงชัย เป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของอำเภอนครไทย เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
จะจัดขึ้นในวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำเดือนสิบสอง ชาวนครไทยในอดีตที่ประกอบด้วยชาวบ้านวัดหัวร้อง
บ้านในเมือง บ้านวัดเหนือ บ้านหนองลานและหมู่บ้านใกล้เคียง จะมีการนำธงที่ชาวบ้านร่วมกันทอไปปักที่เข้าช้างล้วง ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ทอดขนานไปกับถนนสาย
อำเภอนครไทย กับอำเภอชาติตระการ อยู่ห่างจากตัวเมืองนครไทยไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ประมาณ ๖ กิโลเมตร เป็นประจำทุกปี วัตถุประสงค์ในการกระทำดังกล่าวมีที่มาจากความเชื่อที่มีมาแต่เดิมคือ
ประการแรก มีความเชื่อว่าการปักธงดังกล่าวจำทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข
อยู่ดีกินดี ถ้าไม่ทำจะเกิดเพทภัยต่างๆ
ประการที่สอง เพื่อเป็นการระลึกถึงพ่อขุนบางกลางหาว ที่อพยพมาอยู่เมืองนครไทย
(เมืองบางยาง) ครั้งแรกได้สู้รบกับเจ้าของถิ่นเดิม มีการต่อสู้กันไปจนถึงเทือกเขาช้างล้วง
กองกำลังของพ่อขุนบางกลางหาวได้ชัยชนะ จึงทรงเอาผ้าคาดเอวของพระองค์ ผูกปลายไม้ไปปักบนยอดเขาช้างล้วง
เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่มีชัยชนะแก่ศัตรู และพระองค์ได้สั่งให้ลูกหลานทั้งหลายไปปักที่ยอดเขาช้างล้วง
เพื่อรำลึกถึงชัยชนะในครั้งนั้นทุกปี
ประการที่สาม ผู้ครองเมืองนครไทย ได้คิดระบบการส่งข่าวสาร แจ้งภัยการรุกล้ำของข้าศึก
เนื่องจากสมัยก่อนพวกฮ่อมักจะยกพวกมารุกรานชาวเมืองนครไทย จึงได้มีข้อตกลงกันระหว่างแม่ทัพนายกองที่ทำหน้าที่ระวังป้องกันบ้านเมืองว่า
เมื่อใดที่เห็นผ้าขาวม้าชักขึ้นไปปักบนยอดเขาช้างล้วง ก็ให้เตรียมกำลังเข้าต่อสู้ข้าศึกศัตรูที่ยกกำลังมารุกราน
ปัจจุบัน ความเชื่อประการที่สองได้รับการยอมรับมากที่สุด ดังจะเห็นได้จากการตั้งชื่อประเพณีนี้
อย่างเป็นทางการว่า ประเพณีปักธงชัย
ในอดีต เมื่อถึงเดือนสิบเอ็ด พระภิกษุสงฆ์และผู้นำชุมชน จะตีฆ้องร้องบอกเพื่อเรี่ยไรฝ้ายจากชาวบ้านในละแวกบ้านของตน
แล้วนัดหมายว่าจะทำธงที่บ้านผู้ใด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบ้านของผู้ที่มีความสามารถในการทอผ้า
หรือบ้านของผู้นำหมู่บ้าน ในการทอผ้าชาวบ้านจะช่วยกันทอ เริ่มจากชาวบ้านจะนำฝ้ายของตนที่ปลูกไว้มารวมกันเป็นกองกลาง
บางส่วนจะนำฝ้ายด้ายมาแล้วช่วยกันทอเป็นผืนธง ธงจะมีความกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร
ยาวประมาณ ๕ เมตร บริเวณชายธงจะตกแต่งให้สวยงามด้วยใบโพธิที่ทำจากไม้ แล้วนำไม้ไผ่ที่มีความยาว
๑ ฟุตมาใส่ที่หัวท้ายของผืนธง เพื่อถ่วงให้ธงมีน้ำหนักจะได้ไม่ม้วนตัวเมื่อนำไปปักบนยอดเขา
วิธีการทำธงของสามหมู่บ้าน คือบ้านหัวร้อง บ้านในเมือง และบ้านเหนือ จะมีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน
บางครั้งจะทอธงก่อนวันนำไปปักเพียง ๑ วัน เรียกว่าทำกันแบบจุลกฐิน
การนำธงไปปัก ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่วัด แล้วจัดขบวนแห่ธงไปตลาดโดยมีการสีซอ
ตีฆ้อง กลอง นำหน้าขบวน ผู้ที่อยู่ในขบวนจะร่ายรำกันอย่างสนุกสนาน เมื่อแห่ธงเสร็จในตอนเย็นก่อนถึงวันปักธง
จะมีการเจริญพระพุทธมนต์เย็นเพื่อฉลองธง รุ่งขึ้นเช้า แต่ละวัดจะมีการทำบุญตักบาตร
ผู้ที่จะขึ้นไปปักธงก็เตรียมอาหารไปเลี้ยงเพลพระบนยอดเขาด้วย ผู้ที่เดินทางขึ้นเขาไปปักธง
จะประกอบด้วยพระสงฆ์ตามวัดที่ชาวบ้านได้นิมนต์ไว้ และชาวบ้านที่มีความศรัทธาขึ้นไปปักธง
โดยมีพระเป็นผู้นำ และขึ้นไปถึงยอดเขาอย่างช้าประมาณห้าโมงเช้า เพราะพระสงฆ์จะต้องฉันเพลที่ถ้ำฉันเพล
จากนั้นชาวบ้านจะรับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้นพระสงฆ์และชาวบ้าน จำนำธงขึ้นไปปักที่ยอดเขาฉันเพลเป็นแห่งแรกเป็นธงของวัดเหนือ
โดยชาวบ้านจะกล่าวคำถวายธง และอาราธนาให้พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ขณะที่ปักธงก็จะไชโยโห่ร้องกันทั้งหมด
จากนั้นก็จะเคลื่อนขบวนไปปักธงผืนที่สอง ที่ยอดเขาย่านไฮ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ปักธงผืนแรกประมาณ
๓๐๐ เมตร การปักธงก็คงทำเช่นเดียวกับการปักธงผืนแรกเป็นธงของวัดกลาง (บ้านในเมือง)
แห่งสุดท้ายคือการปักธงบนยอดเขาช้างล้วง ซึ่งยอดเขามีลักษณะคล้ายลูกช้างนอนหมอบอยู่
ธงที่นำมาปักเป็นธงของ บ้านวัดหัวร้อง เป็นอันเสร็จพิธี แล้วแยกย้ายกันเดินทางกลับ
ซึ่งในสมัยก่อนกว่าจะเดินกลับมาถึงพื้นราบก็เป็นเวลาเย็นแล้ว