| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

 
           ประติมากรรมในพุทธศาสนา  พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในเขตเมืองปราจีนบุรี ควบคู่กับศาสนาฮินดู มาตั้งแต่แรกเริ่มรับวัฒนธรรมอินเดียแล้ว ในช่วงระยะแรกตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ จะพบประติมากรรมในพุทธศาสนาอยู่หนาแน่นบริเวณรอบตัวเมืองศรีมโหสถ หรือชุมชนบริเวณโบราณสถานสระมรกต ชุมชนบริเวณโบราณสถานภูเขาทอง และชุมชนบริเวณโบราณหมายเลข ๑๑ เป็นต้น ประติมากรรมในพุทธศาสนา อาจแบ่งออกตามรูปแบบ และวัสดุในการผลิตได้เป็นประเภทต่าง ๆ คือ
                ประติมากรรมลอยตัวสลักด้วยหิน
                    -  พระพุทธรูปยืนแสดงปางเดียวกันทั้งสององค์  พระพุทธรูปแบบนี้ เริ่มปรากฏครั้งแรกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ในศิลปทวารวดีทางตอนบนของอ่าวไทย พระพุทธรูปที่จัดอยู่ในแบบนี้ได้แก่ พระพุทธรูปปางอหูยมุทรา ที่ประดิษฐานอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอศรีมโหสถ ซึ่งจัดว่าเป็นพระพุทธรูปยืนแบบทวารวดี ที่มีความสวยงาม และสมบูรณ์มากที่สุดองค์หนึ่ง
            พระพุทธรูอีกองค์หนึ่งได้มาจากเมืองศรีมโหสถ มีลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบแรก แตกต่างกันที่พระพักตร์ มีลักษณะเป็นแบบพื้นเมืองมากกว่า พระกรของพระพุทธรูปสลักติดกับลำตัวมาก จนพระหัตถ์ที่แสดงปางอยู่ในระนาบเดียวกัน นับเป็นวิวัฒนาการของพระพุทธรูปยืนแสดงปางเดียวกันทั้งสององค์ ในศิลปทวารวดี ซึ่งมีอายุอยู่ในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ วิวัฒนาการนี้ได้สืบต่อไปยังรูปแบบการสร้างพระพุทธรูปแบบทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเวลาต่อมาอีกด้วย
                    -  ธรรมจักร  เป็นลักษณะแท่นพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ก่อนสมัยมีการสร้างพระะพุทธรูป ซึ่งเป็นคติอินเดียโบราณ (พุทธศตวรรษที่ ๓ - ๖)  ธรรมจักรที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ปรากฏขึ้นก่อนวัฒนธรรมทวารวดีที่เมืองศรีมโหสถ โดยได้พบธรรมจักรบนรอยพระบาทคู่ข้างละอัน ที่โบราณสถานสระมรกต
            ธรรมจักรลอยตัวที่พบในบริเวณเมืองศรีมโหสถ เป็นธรรมจักรหินสลักลวดลายสองด้าน ลักษณะของลวดลายมีอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๑) ธรรมจักรอีกชิ้นหนึ่งมีลักษณะลวดลายใกล้เคียงกัน กำหนดอายุอยู่ในช่องเวลาเดียวกัน คือ ประมาณศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓

                 ประติมากรรมภาพสลักนูนสุงบนแผ่นหิน  คติการสืบทอดรูปแบบการสร้างพระพุทธรูปนูนสูงมาจากแบบคุปตะ แต่มีลักษณะบางประการ ที่แสดงรูปสมัยหลัง เช่น การที่มีชายจีวรพาดผ่านข้อพระหัตถ์ซ้าย แล้วตกทอดไปยังพระโสณี ซึ่งเป็นอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบปาละ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๗  พระะพุทธรูปกลุ่มนี้ได้แก่ ภาพสลักพระพุทธรูปปางสมาธิใต้ต้นโพธิ และภาพสลักพระพุทธรูปปางนาคปรก
                ประติมากรรมโลหะ  พบค่อนข้างน้อยมาก พระพุทธรูปที่สำคัญและโดดเด่นที่สุดในกลุ่มนี้คือ พระนิรันตราย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำ ขุดพบในบริเวณโบราณสถานภูเขาทอง และได้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  สมัยวัฒนธรรมเขมร
            วัฒนธรรมเขมรได้เข้ามาอิทธิพลในเมืองศรีมโหสถ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ดังปรากฏหลักฐานทางสถาปัตยกรรม และประติมากรรมเขมรแบบบายน (พ.ศ.๑๗๒๐ - ๑๗๘๐) ที่โบราณสถานสระมรกต ประติมากรรมที่สำคัญเหล่านี้ได้แก่ ประติมากรรมหินรูปเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ประติมากรรมหินรูปพระโพธิสัตว์ ปัทมาปาณี ประติมากรรมพระพุทธรูปปางนาคปรก ประติมากรรมสำริดรูปนางปรัชญาปารมิตา และอื่น ๆ ได้แสดงให้เห็นถึง พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เข้ามาแทนที่ฝ่ายเถรวาท ซึ่งโดยรุ่งเรื่องอยู่ก่อน
            หลังจากสมัยวัฒนธรรมเขมร  วิวัฒนาการของวัฒนธรรมในสมัยต่อมา มีบทบาทไม่เด่นชัด
           โบราณวัตถุที่สำคัญของจังหวัดปราจีนบุรี  ส่วนใหญ่ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี พอประมวลได้ดังนี้
                -  พระพุทธรูปปางสมาธิ  ศิลปฟูนัน อายุประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒  ทำด้วยหินสูง ๒๗ เชนติเมตร พบที่บ่อน้ำหน้าอาคารรอบพระพุทธบาท โบราณสถานสระมรกต อำเภอศรีมโหสถ
                -  วิษณุจตุรภุช (สีกร)  ศิลปะทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ทำด้วยหินทราย สูง ๑๖๓ เซนติเมตร พบที่วัดโบสถ์ ตำบลห้วยสร้าง อำเภอเมือง
                -  วิษณุจตุรภุช (สีกร) ศิลปะทวารวดี ทำด้วยหิน สูง ๑๒๓ เซนติเมตร  พลที่บ้านโคกวัด อำเภอศรีมโหสถ
                -  วิษณุจตุรภุช (สีกร) ศิลปะทวารวดี ทำด้วยหินทราย สูง ๑๔๘ เซนติเมตร  ฐานสูง ๒๒๒ เซนติเมตร  พบที่โบราณสถานหมายเลข ๒๕ เมืองศรีมโหสถ
อำเภอศรีมโหสถ
                -  พระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ  ศิลปทวารดี อายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ทำด้วยแผ่นดินเผา ขนาดกว้าง ๒๖ เซนติเมตร ยาว ๓๒ เซนติเมตร
พบที่โบราณสถาน หมายเลข ๑๖ เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ
                -  ศิวลึงค์  ศิลปะทวารวดี  ทำด้วยหินสูง ๒๑ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๖๕ เซนติเมตร พบที่อำเภอศรีมหาโพธิ์
                -  ตรีศูล  ศิลปะทวารวดี  อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ทำด้วยหินทราย สูง ๘๘ เซนติเมตร พบที่บ้านโคกวัด ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ
                -  พระคเณศ  ศิลปะทวารวดี อายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ทำด้วยหิน สูง ๑๗๐ เซนติเมตร พบที่โบราณสถานหมายเลข ๒๒ เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ
                -  พระพุทธรูปยืนปางกวักพระหัตถ์  ศิลปะทวารวดี ทำด้วยหิน สูง ๒.๐๐ เมตร พบที่อำเภอศรีมโหาถ เรียกกันว่า หลวงพ่อทวารวดี
                -  พระพุทธรุปปางประทานธรรม  ศิลปะทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ ทำด้วยหิน สูง ๓๓ เซนติเมตร พบที่อำเภอศรีมหาโพธิ
                -  ธรรมจักร  ศิลปะทวารวดี ทำด้วยหิน เส้นผ่าศูนย์กลาง ๗๘ เซนติเมตร พบที่เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ
                -  ภาพสลักพระพุทธรูปปางสมาธิ  สิลปะทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรษที่ ๑๔ - ๑๖ ทำด้วยหิน สูง ๗๙ เซนติเมตร พบที่โบราณสถานหมายเลข ๕ นอกเมืองศรมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ
                -  พระนิรันตราย  ศิลปะทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖ ทำด้วยทองคำเนื้อหก สูง ๙ เซนติเมตร หนัก ๘ ตำลึง พบที่โบราณสถานหมายเลข ๓ หรือภูเขาทอง อำเภอศรีมโหสถ  พบที่โบราณสถานหมายเลข ๓ หรือภเขาทอง อำเภอศรีมโหสถ
            ได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้นำไปประดิษฐานไว้ในหอเสถียรธรรมปริตร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓ พระองค์ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระนิรันตราย แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระพุทธรูปทองคำ หน้าตักห้านิ้วครึ่ง สวมทับพระนิรันตรายองค์เดิมอีกชั้นหนึ่ง และโปรดเกล้า ฯ ให้หล่อด้วยเงินอีกองค์หนึ่งคู่กับองค์ที่หล่อทองคำ ไว้สำหรับประดิษฐานในงานพระราชพิธี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๑ จึงโปรดเกล้าให้หล่อพระพุทธรูปแบบเดียวพระนิรันตรายด้วยทองเหลือกะไหล่ทองคำ มีซุ้มเรือนแก้วอีก ๑๘ องค์ เท่าปีที่ครองราชย์ และพระราชทานไปประดิษฐานไว้ตามพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุติแห่งละองค์ พร้อมทั้งพระราชทานนามเหมือนกันว่า พระนิรันตราย
                -  กรอบคันฉ่อง  ศิลปะเขมรแบบบายน อายุประมาณ พ.ศ.๑๗๓๕ - ๑๗๓๖ ทำด้วยสำริด กว้าง ๒๐ เซนติเมตร สูง ๑๓ เซนติเมตร ได้มาจากโบราณสถานหมายเลข ๑๑ ที่เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ
                -  ขันหรือภาชนะทรงขัน  ศิลปะเขมรแบบบายน อายุประมาณ พ.ศ.๑๗๓๐ ทำด้วยสำริด เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ เซนติเมตร พบที่โบราณสถานหมายเลข ๑๑ เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ
                -  เชิงเทียน  สิลปะแบบบายน อายุประมาณ พ.ศ.๑๗๓๕ - ๑๗๓๖ ทำด้วยสำริด สูง ๑๖ เซนติเมตร พบที่โบราณสถานหมายเลข ๑๑ เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ
                -  พระพุทธรูปปางประทานอภัย  ศิลปรัตนโกสินทร์ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๒๐ - ๑๗๗๓ ทำด้วยสำริด สูง ๔๕ เซนติเมตร พบที่โบราณสถานหมายเลข ๑๑ เมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ
                -  พระพุทธรูปปางมารวิชัย (หลวงพ่อคุ้ม)  ศิลปะอู่ทอง สร้างเมื่อสมัยอยุธยาตอนต้น ทำด้วยหินทราย ลงรักปิดทอง ปัจจุบันเป็นพระประทานในอุโบสถวัดบางแตน ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง
แหล่งอุตสาหกรรม

            ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี มีแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ เหมืองทอง ที่ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี
            เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งจบการศึกษาทางวิศาสตร์ จากสก๊อตแลนด์ ประเทศอังกฤษ ไปทำเหมืองทองที่กบินทร์บุรี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ได้โปรดเกล้าให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองปราจีนบุรี
            การทำเหมืองทองของพระปรีชากลการ ได้ทำการขุดหลุมตามแร่ไปทั้งตามความลึกและตามทางยาวของสายแร่ ซึ่งได้กลายเป็นบ่อนํ้าใหญ่ ก้วาง ๒๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร มีชื่อว่า บ่อสำอาง  อยู่ที่บ้านบุเลี้ยว บ้านบ่อทอง ตำบลบ้านนา และตำบลบ่อทอง เมื่อได้แร่ทองคำแล้ว ได้นำมาถลุงที่เตาหลอม ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานอยู่ในบริเวณบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด
            เมื่อสิ้นพระปรีชากลการแล้วได้มีบริษัทสองบริษัทจากต่างประเทศ เข้ามาดำเนินการต่อ โดยทำเหมือนอุโมงค์ มีการเจาะปล่องลงไปใต้ดิน เพื่อค้นหาสายแร่ ปล่องเหล่านี้มีชื่อต่าง ๆ เช่นบ่อมะเดื่อ บ่อพอก เป็นต้น แต่ต่อมาได้หยุดกิจการไป
            ทองคำที่กบินทร์บุรี จะมีปริมาณมากน้อยเท่าใดไม่สามารถระบุได้ แต่ปัจจุบันยังมีราษฎรทำการขุดหาทองคำกันที่บ้านบุเสี้ยว ตำบลบ้านนา อำเภอกบินทร์บุรี อยู่ห่างจากแหล่งแร่ทองคำที่บ้านบ่อทองประมาณ ๑๐ กิโลเตร พื้นที่เป็นที่ราบแคบ ๆ ระหว่างเนินเขา มีห้วยทรายและคลองตาหนุไหลผ่าน วิธีการขุดทองของชาวบ้าน ทำกันแบบต่าง ๆ คือ ขุดหลุมกว้าง ๑ - ๕ เมตร ยาว ๑ - ๕ เมตร  ทองคำที่พบมักจะอยู่ในชั้นดินลึก ๕๐ เมตร ทองคำที่ขุดได้สองชนิด ชนิดแลกเป็นก้อนคล้ายหยดเทียน แสดงว่าผ่านการหลอมมาแล้ว อีกชนิดหนึ่งเป็นเกล็ดเล็ก ๆ หรือแผ่นบาง ๆ ลักษณะเป็นแร่ที่เกิดตามธรรมชาติ สันนิษฐานว่า เป็นเศษแร่ที่ตกหล่นในสมัยก่อน
สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง
            ต้นศรีมหาโพธิ  อยู่ภายในวัดต้นโพธิศรีมหาโพธิ ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมหาโพธิ เชื่อว่าเป็นต้นโพธิเก่าแก่อายุกว่าพันปี เป็นพันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ ซึ่งนำหน่อมาจากลังกา หรืออินเดีย ในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี เป็สัญญาลักษณ์ทางพุทธศาสนาที่สำคัญ จนเรียกบริเวณนี้ว่า ดงศรีมหาโพธิ
            ดงศรีมหาโพธิ  เป็นดงขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอกบินทร์บุรี และบางส่วนของอำเภอพนมสารคาม อำเภอสนามชัยเขต ของจังหวัดฉะเชิงเทรา
            ต้นศรีมหาโพธิ ได้แตกหน่อและแผ่กิ่งก้านโดยรอบประมาณ ๕๐ เมตร รอบลำต้นประมาณ ๒๕ เมตร สูงประมาณ ๓๐ เมตร เป็นสัญญาลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้ไกล มีงานนมัสการประจำปี ด้วยเหตุนี้จังหวัดปราจีนบุรีจึงใช้ต้นศรีมหาโพธิ เป็นสัญญาลักษณ์ประจำจังหวัด
            พระทวารวดี  พบที่เมืองศรีมหโสถ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ว่าการอำเภอศรีมโหสถ เป็นพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ ทำด้วยหินทรายสีเขียว สูง ๑๖๓  เซนติเมตร เป็นฝีมือช่างสมัยทวารวดีรุ่นแรก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากรูปแบบศิลปะอินเดีย สมัยราชวงศ์คุปตะ สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อทวารวดี ถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

            ศาลพระหลักเมืองปราจีนบุรี  ศาลพระหลักเมืองปราจีนบุรีได้เคยสร้างมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔ สร้างเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๕  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาตุธราภัย สมุหนายกว่าการมหาดไทย ออกมาทำการก่อสร้างศาล และฝังเสาพระหลักเมือง ณ บริเวณฝัางทิศเหนือของแม่น้ำปราจีนบุรี ทำให้ศาลพระหลักเมืองเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของชาวจังหวัดปราจีนบุรีตั้งแต่นั้นมา
            ต่อมาทางราชการได้โยกย้ายสถานที่ราชการ และกำแพงเมืองใหม่หลายครั้ง ทำให้อาคารศาลหลักเมืองเดิมทรุดโทรมเสื่อมสภาพไป
            ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ได้ริเริ่มให้ทำการสร้างศาลพระหลักเมือง การก่อสร้างเริ่มในปี พ.ศ.๒๕๑๖ มีรายละเอียดดังนี้
            เสาพระหลักเมือง  เป็นไม้ชัยพฤกษ์กลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๙.๕๐ นิ้ว ยาว ๑๘๗ นิ้ว ฝังลงใต้ฐานพระฤกษ์ ๗๙ นิ้ว สูงพ้นแม่พระธรณี ๑๐๘ นิ้ว แท่นฐานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๖๙.๕๐ นิ้ว ยอดเสาเป็นรูปพรหมจตุรพักตร์ บรรจุดงพระฤกษ์พระหลักเมืองด้วยแผ่นทองคำหนักหนึ่งตำบลแผ่สิบสองนิ้ว เป็นรูปสี่เหลี่ยม หลุมหลักเมืองลึก ๗๙ นิ้ว ขุดเป็นสิบสองเหลี่ยม กว้างเหลี่ยมละ ๖ นิ้ว
            อาคารพระหลักเมือง  เป็นอาคารทรงไทยคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาจตุรมุขยอดปรางค์ อาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ ๕ เมตร มีมุมยื่นออกไปทั้งสี่ด้าน มีประตูเข้าออกทั้งสี่ด้าน หลังคามุขเป็นทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องหางมนสีแดง ความสูงถึงยอดปรางค์ ๑๔.๑๕ เมตร ทั้งหลังคามุขและยอดปรางค์มีลวดลายขึ้นนูน และปั้นดินถอดพิมพ์ เช่น ช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ ลายหน้าบัน ลายบัวหัวเสา ลายเพดาน ลายบันแถลง ลายกลีบขนุน นาคปั้น เป็นต้น
ภาษาและวรรณกรรม

          จารึกเนินสระบัว (ศิลาจารึกหลักที่ ๕๖)  เป็นศิลาจารึกหินทรายสีขาว ขนาดกว้าง ๔๐ เซนติเมตร ยาว ๑๗๗ เซนติเมตร หนา ๒๘ เซนติเมตร พบที่เนินโบราณสถานใกล้สระบัวล้า มีการสำรวจและทำสำเนาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖  ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ภายในอาคารศรีมโหสถ บริเวณโบราณสถานสระมรกต ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ
            ศิลาจารึกหลักนี้ จารึกด้วยตัวอักษรปัลลวะ เป็นภาษาเขมร และภาษาบาลี คือ บรรทัดที่ ๑ - ๓ เป็นภาษาเขมร บรรทัดที่ ๔ - ๑๖ เป็นภาษาบาลี แต่เป็นฉันท์ ๑๔ ทำนองจะให้เป็นวสันตดิลกฉันท์ บรรทัดที่ ๑๗ - ๒๗ เป็นภาษาเขมร
            เนื้อหาในจารึกระบุมหาศักราช ๖๘๓ ซึ่งตรงกับ พ.ศ.๑๓๐๔ กล่าวถึงการประดิษฐานพระพุทธศาสนา เป็นการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และการอุทิศพระโค เดิมเชื่อว่า จารึกเนินสระบัว เป็นวรรณคดีภาษาบาลี ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนักปราชญ์ในอดีตคือ พระพุทธสิริรจนาขึ้น มิได้คัดลอกมาจากคัมภีร์พระบาลี หรืออรรถกถาใด ๆ
            ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ ดร.โรหนะ ชาวศรีลังกา ได้อ่านจารึกนี้พบว่า พระบาลีสามบทในจารึกเป็นบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยตรงกับ เตลกฏาหคาถา หรือ คาถากระทะน้ำมัน ในบทที่ ๒,๓,๔ ซึ่งเป็นพระคาถานอกพระไตรปิฎก และอรรถกถา ตำนานอธิบายว่าแต่งขึ้นในเกาะลังกา

            จารึกวัตถุสำริด  จารึกทั้งหมดมีห้าชิ้น พบที่โบราณสถานหมายเลข ๑๑ บริเวณเมืองพระรถ ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมหาโพธิ ทั้งห้าชิ้นดังกล่าว จารึกด้วยอักษณขอม ภาษาเขมร มีอายุอยู่ประมาณพุทศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘  ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี มีรายละเอียดดังนี้
                -  จารึกขันทรงกลมสำริด  จารึกไว้หนึ่งบรรทัด โดยรอบส่วนบนของขัน ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูฯย์กลาง ๑๘ เซนติเมตร สูง ๗ เซนติเมตร รอบขันยาว ๕๙ เซนติเมตร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จารึกหลักที่ ๑๑ จารึกวัตถุสำริด
                -  จารึกรอบคันฉ่องสำริด   จารึกไว้หนึ่งด้าน มีสองบรรทัดบนขอบคันฉ่องสำริด รูปพระจันทร์เลี้ยว กว้าง ๒๐ เซนติเมตร หนา ๕ เซนติเมตร เรียกอีกชื่อว่า จารึกหลักที่ ๑๐๙ จารึกบนวัตถุสำริด
                -  จารึกเชิงเทียนสำริด  จารึกไว้สองบรรทัด วนโดยรอบขอบฐานสองชั้น กว้าง ๑๒ เซนติเมตร สูง๑๙ เซนติเมตร รอบขอบยาว ๓๖ เซนติเมตร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จารึกหลักที่ ๑๑๓ จารึกบนวัตถุสำริด
                -  จารึกสังข์สำริด  จารึกไว้หนึ่งบรรทัด ตามความยาวบริเวณด้านนอกตอนบนของปากสังข์ กว้าง ๑๑ เซนติเมตร สูง ๙ เซนติเมตร เรียกอีกชื่อชื่อหนึ่งว่า จารึกหลักที่ ๑๑๐ บนวัตถุสำริด

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |