| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

ต้นศรีมหาโพธิ

            ต้นศรีมหาโพธิขึ้นอยู่ภายในวัดต้นศรีมหาโพธิ ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมหาโพธิ เป็นต้นโพธิที่มีอายุมากกว่าพันปี เป็นพันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ ซึ่งนำหน่อมาจากลังกา หรืออินเดียในสมัยทวารวดี เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา และมีความสำคัญต่อพื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งกินอาณาเขตหลายอำเภอในจังหวัดปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา เรียกว่า ดงศรีมหาโพธิ
            ต้นศรีมหาโพธิได้แตกหน่อ และแผ่กิ่งก้านสาขาไปโดยรอบประมาณ ๕๐ เมตร วัดความยาวรอบต้นได้ประมาณ ๒๕ เมตน สูงประมาณ ๓๐ เมตร เป็นสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกล มีงานนมัสการต้นศรีมหาโพธิเป็นประจำทุกปี อันเป็นประเพณีมาแต่โบราณกาล โดยจัดงานในวันขึ้น ๑๓ - ๑๕ ค่ำ เดือนห้า กิจกรรมของงานได้แก่ การปิดทองนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ และมีมหรสพสมโภช
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงงานนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิว่า  ".... ฤดูเดือนห้า ราษฎรพากันไปไหว้ต้นโพธิ และพระบาทมาแต่ไกล จากเมืองพนมสารคาม ท่าประชุม และที่อื่น ๆ เป็นตลาดนัดซื้อขายของจอแจกัน ๒ วัน ๓ วัน และมีดอกไม้เพลิงเป็นต้น มาจุดกันในงนนักขัดฤกษ์นี้...."
            ต้นพระศรีมหาโพธิได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ และจังหวัดปราจีนบุรี ได้ใช้ต้นโพธิเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
รอยพระพุทธบาทคู่



            รอยพระพุทธบาทคู่  ตั้งอยู่ในเขตโบราณสถานวัดสระมรกต ตำลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ เป็นรอยพระพุทธบาทคู่ขนาดใหญ่ สลักบนพื้นศิลาแลง สลักบนพื้นศิลาแลงธรรมชาติ มีลักษณะเหมือนจริง ที่ฝ่าพระบาทสลักรูปธรรมจักรนูนทั้งสองข้างตรงกลาง ระหว่างรอยพระพุทธบาทเจาะเป็นหลุม และแกะเซาะร่องรูปกากบาทประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ตามความเชื่อในการสร้างอุเทสิเจดีย์ เพื่ออุทิศแด่พระพุทธองค์ตามคติของอินเดียโบราณ ก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูป หรืออาจสร้างขึ้นเพื่อเป็นบริโภคเจดีย์  โดยถือเสมือนว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ที่นี้ หรือเป็นความหมายเชิงสัตลักษณ์ ที่หมายถึงพระพุทธองค์ ได้เผยแผ่เข้ามายังที่นี้ตามคติของลังกา ส่วนหลุมกลมที่อยู่กลางรอยพระพุทธบาททั้งสองนั้น สันนิษฐานว่า เป็นหลุมสำหรับปักเสาฉัตร หรือเสาเพลิงรองรับเครื่องหมายตรีรัตน์ หรือธรรมจักร
            รอยพระพุทธบาทคู่นี้ นับว่าเป็นรอยพระพุทธบาทคู่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
พระทวารวดี (หลวงพ่อทวารวดี)
            พระทวารวดี  พบที่เมืองศรีมหโสถ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ว่าการอำเภอศรีมโหสถ เป็นพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ ทำด้วยหินทรายสีเขียว สูง ๑๖๓  เซนติเมตร เป็นฝีมือช่างสมัยทวารวดีรุ่นแรก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากรูปแบบศิลปะอินเดีย สมัยราชวงศ์คุปตะ สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อทวารวดี ถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง
วัดแสงสว่าง (พระธาตุพุทธมงคล)
            วัดแสงสว่าง  ตั้งอยู่ในเขตบำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ มีโบราณสถานที่สำคัญภายในวัดคือ เจดีย์ก่อด้วยอิฐเป็นเจดีย์รูปสิบหกเหลี่ยม ฐานเจดียวัดโดยรอบได้ สิบเอ็ดวา สองศอก สูงหกวาเศษ บนยอดเป็นรูปฉัตรทำด้วยทองแดง ปลายยอดมีลูกแก้ว
            สันนิษฐานว่า เจดีย์องค์นี้สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องจากพระองค์ทรงทราบข่าวว่า ที่ดงศรีมหาโพธิมีช้างเผือกอยู่หนึ่งเชือก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ขุนอินทร์เป็นผู้ดำเนินการจับช้างเชือกนี้ ขุนอินทร์จับช้างได้ที่บ้านโคกไทย จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นเป็นอนุสรณ์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ชาวบ้านเห็นว่าองค์เจดีย์ชำรุด จึงพร้อมใจกันบูรณะซ่อมแซม แล้วฉาบด้วยปูนขาวขัดมัน ต่อมาเมือปี พ.ศ.๒๔๙๖ ชาวบ้านได้พร้อมใจกันปฏิสังขรณ์เป็รการใหญ่อีครั้งหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการบรรจุเนื้อดินจากสังเวชนียสถานสี่แห่ง จากประเทศอินเดีย ซึ่งทางอาศรมวัฒนธรรมไทย - ภารตมอบให้ และทางกรมศิลปากรได้มอบดวงพระชาดาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้บรรจุในพระเจดีย์พระธาตุมงคลนี้ได้กระทำพิธีบรรจุ เมือปี พ.ศ.๒๔๙๖
            วัดแสงสว่างได้ขึ้นบัญชีเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗
วัดท้าวอู่ทอง

            วัดท้าวอู่ทอง  ตั้งอยู่ในเขตตำบลโคกไม้ลาย อำเภอเมือง ฯ ประวัติของวัดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด มีแต่เรื่องเล่าสืบกันมาว่า วัดท้าวอู่ทองสร้างเมื่อ ประมาณ พ.ศ.๒๐๐๐ โดยราษฏรที่อพยบหนีโรคอหิวาห์มาจากเมืองอู่ทอง ในการสร้างวัดแห่งนี้ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ได้สละพระราชทรัพย์ ในการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก ราษฏรจึงตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์ เพื่อเป็นการเทิดทูน และเฉลิมพระเกียรติ
            ในเขตวัดท้าวอู่ทอง มีโบราณสถานที่สำคัญคือ มณฑปวัดท้าวอู่ทอง ลักษณะของมณฑปเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ตัวอาคารเป็นคอนกรีต คล้ายศิลปตะวันตก ขนาดตัวอาคารวัดโดยรอได้ ๑๓๐ เมตร สูง ๑๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ ภายในอาคารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปรางสมาธิสี่องค์ สูง ๖ - ๘ เมตร มีพุทธลักษณะงดงาม ประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์เข้าหากัน ดูเด่นและสง่ามาก
วัดพระแก้วพิจิตร

            วัดพระแก้วพิจิตร  ตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปราจีนบุรี ในเขตตำบลบางบริบูรณ์ อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๒ มีพระอุโบสถงามด้วยศิลปแบบไทยผสมผสาน กับแบบจีน ยุโรป และเขมร ซึ่งเป็นเอกลักษณะพิเศษ ภายในจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมาก
            อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดห้าห้อง มีเฉลียงรอบกว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๒๑.๓๐ เมตร ตัวอาคารวัดจากผนังกว้าง ๑๐.๕๐ เมตร ยา ๑๖๕๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงแก้วล้อมรอบ บนกำแพงมีลายดอกไม้ ในวงกลตรงกลางผนังทุกห้อง เสากำแพงแก้วมีหัวเสาเป็นแท่นตั้งกระถางต้นไม้ ที่กึ่งกลางแนวกำแพงแต่ละด้าน มีซุ้มประตูเป็นชั้น ๆ ประดับปูนปั้นลายหน้าสิงห์ ลายดอกไม้และนาฬิกา ระหว่างกำแพงแก้วและอุโบสถ เป็นลานประทักษิณ มีซุ้มใบเสมาทรงมณฑปอยู่ในระยะ

            พระอุโบสถหลังนี้จำลองแบบมาจากวัดพระเจ้าช้างเผือก ที่เมืองพระตะบอง ในกัมพูชา คือ หลังคามุงกระเบื้อง มีมุขประเจิดทั้งหน้าและหลัง ถัดลงมาเป็นหลังคาเฉียงรอบสองชั้น ที่สันหลังคาประดับราลี และช่อฟ้า หน้าบันปูนปั้นเขียนสีเป็นรูปวิมาณพระอินทร์ ตอนล่างของหน้าบันเป็นลายกระจังฐานพระ มีสาหร่ายรวงผึ้ง หลังเสามุขประเจิด ประดับปูนปั้นป็นตัวมกร
            ฝาผนังอุโบสถฉาบปูน ตอนบนเขียนภาพปูนปั้นเป็นลายเครื่องแขวนสลับภาพบุคคลครึ่งตัว ลักษณะคล้ายชาวตะวันตก หน้าต่างที่ฝาผนังด้านข้าง มีข้างละห้าช่อง ประตูด้านหน้าและด้านหลังมีช่องประตูข้างละสองช่อง มีบันไดขึ้นจากเฉลียงตรงกลาง ระหว่างช่องประตูมีปูนปั้นภาพเรื่องรามเกียร์ติ ซุ้มประตูและหน้าต่างทำลายปูนปั้นเป็นลายก้านขด มีเศรียรนาคประดับใต้ช่องหน้าต่าง ทำเป็นลายฉลุ
            เฉลียงรอบพระอุโบสถ มีเสานาคเรียงรับหลังคา เป็นเสากลม ห้วเสาแบบใบผักกาด หรือโครินเธียนตามแบบซิลปะตะวันตก ประดับเทพนม ฐานเสาประดับลายปูนปั้นรูปม้า พื้นเฉลียงปูด้วยกระเบื้องเคลือบสี
            ผนังด้านในเดิมมีภาพจิตรกรรมแผ่นผ้าติดกรอนประดับอยู่ แต่ถูกโจรกรรมไปหมด ผนังตอนบนเป็นภาพจิตรกรรมปูนเปียกเป็นภาพริ้วชายผ้ารอบผนังทั้งสี่ด้าน เพดานอุโบสถเป็นสีขาว มีลายดาวทองตรงกลาง และที่มุมเป็นลายพุ่ม

            ภาพในพระอุโบสถมีเสาแปดต้น เป็นเสากลมเซาะร่องเป็นริ้วยาวตลอด เสาทาสีแดง ร่องริ้วเสาทางสีทอง หัวเสาเป็นแบบใบผักกาด หรือโครินเธียนเช่นเดียวกับภายนอก ฐานเสาเป็นลายรูปม้าด้านละตัว บานประตูหน้าต่างด้านในเขียนภาพสีน้ำมัน รูปช่อดอกไม้
            พระอุโบสถวัดแก้วพิจิตร นับว่าเป็นผลงานความคิดสร้างสรรค์อันล้ำค่าในเชิงช่างที่ผสมผสาน มีจุดเด่นของศิลปะทั้งสี่ชาติรวมไว้ในพระอุโบสถหลังนี้ ซึ่งกล่าวได้ว่า มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย กล่าวคือ กำแพงแก้วที่ล้อมตัวพระอุโบสถ มีการทำซุ้มประตูทางเข้าเป็นชั้น ๆ ประดับปูนปั้นลายหน้าสิงห์ ลายดอกไม้และนาฬิกา ซึ่งเป็นการเลียนแบบเขมร ตัวพระอุโบสถมีโครงสร้างตามแบบศิลปะไทย มีช่อฟ้า ในระกา บราลี ส่วนองค์ประกอบการตกแต่งอาคารเป็นแบบตะวันตก คือใช้เสาพระอุโบสถกลมเซาะร่อง หัวเสาเป็นแบบผักกาด อันเป็นศิลปะแบบโครินเธียน การประดับปูนปั้นเป็นตัวมกรตามแบบศิลปะจีน

| ย้อนกลับ | บน |