| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดปัตตานี

            จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้  ติดต่อกับอ่าวไทย  พื้นที่เป็นที่ราบชายฝั่งทะเลประมาณ 1 ใน 3 ของจังหวัด  นอกนั้นเป็นที่ราบตะกอนน้ำพา ลานตะพักลำน้ำ ที่ลาดเชิงเขาและภูเขา  ภูเขาที่สำคัญได้แก่ ภูเขาบูโด นอกจากนั้นมีเขาใหญ่  เขากูแบดูซอ  เขามะรวดและเขามิ่ง  แนวเทือกเขาเหล่านี้ต่อเนื่องไปถึงยะลาและนราธิวาส  เรียกว่าเทือกเขาสันกาลาคีรี  นอกจากนั้นก็มีเขาขนาดเล็กเช่น  เขาบ่อพอง  เขาลาแม  เขาบุเกะกาบอ เป็นต้น
            แหล่งน้ำตามธรรมชาติมีอยู่อุดมสมบูรณ์  ได้แก่แม่น้ำ  ลำคลองต่าง ๆ  ที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำปัตตานี มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี บริเวณรอยต่อเขตแดนไทย-มาเลเซีย ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา  ไหลจากทิศใต้ไปทิศเหนือมีน้ำไหลตลอดปี แม่น้ำสายบุรี ต้นกำเนิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ในเขตอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส มีน้ำไหลตลอดปี  ต้นน้ำสายบุรีมีแหล่งแร่ทองคำ  คือเหมืองโต๊ะโม๊ะ  ในอดีต แม่น้ำนี้เป็นแหล่งทองคำทราย  นอกจากนี้ก็มี คลองท่าเรือ เดิมมีต้นน้ำอยู่ที่เขาลาแม  มีน้ำตลอดปี เคยเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำปัตตานี คลองหนองจิก ต้นน้ำแยกจากแม่น้ำปัตตานี  เดิมเป็นแม่น้ำสายหลักของแม่น้ำปัตตานี คลองบางเขา เดิมต้นน้ำอยู่ในเขตตำบลบ่อทอง  มีน้ำตลอดปี ในอดีต บริเวณสองฝั่งคลองนี้ เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำขนาดใหญ่ของเมืองปัตตานี คลองตันหยง ต้นน้ำอยู่ที่เขาบูเกะกาบอ  เป็นลำน้ำสายใหญ่มีน้ำตลอดปี คลองปาเระ เป็นลำน้ำที่มีความสำคัญในอดีต ส่วนต้นน้ำเคยเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานสมัยโบราณ
            พื้นที่ป่าไม้บริเวณภูเขาหลายแห่งยังคงมีสภาพสมบูรณ์  บางแห่งมีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานมาแต่สมัยโบราณต่อเนื่องถึงปัจจุบัน  พื้นที่ป่าอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ 15 ป่า  เป็นป่าบก 11 ป่า  ป่าชายเลน 4 ป่า  ป่าบกที่สำคัญได้แก่  ป่าเทือกเขาเปาะยานิ  ป่าเขายีโต๊ะ  ป่าเขาใหญ่  ป่าไม้แก่น  ป่าสายโฮ่  ป่าเขาตูม  ป่าดอนนา  ป่าชายเลน 4 ป่า ที่สำคัญได้แก่  ป่าหนองจิก


พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            ในบริเวณพื้นที่จังหวัดปัตตานี และใกล้เคียง  มีแหล่งโบราณคดีชุมชนโบราณและเมืองโบราณหลายแห่ง  เช่น เมืองโบราณปตานี  เมืองโบราณยะรัง  บ้านกรือเสาะ  เมืองโบราณโกตาเตมางาน  เมืองโบราณบ้านดอนเค็ด  แหล่งป่านลาน  แหล่งแม่ลาน  แหล่งมายอ  เป็นต้น  เมืองโบราณยะรังมีซากเนินสิ่งก่อสร้างโบราณไม่น้อยกว่า 44 แห่ง  นอกจากนี้ยังมีคูเมือง  กำแพงเมือง  ป้อมและสระน้ำโบราณ  สิ่งก่อสร้างดังกล่าว  สร้างซ้อนกันหลายสมัย  เมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนในแถบนี้  มีความเจริญสูงสุดในพุทธศตวรรษที่ 12 และต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 21
            ประชาชนในชุมชนโบราณโดยทั่วไปนับถือศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน  ต่อมา เมื่อมีอิทธิพลของศาสนาอิสลาม  จากราชวงศ์มัชปาหิตในชะวา แผ่อำนาจเข้ามาในปลายพุทธศตวรรษที่ 19  ศาสนาอิสลามจึงได้แพร่หลายอย่างมั่นคงในปัตตานี  อันเนื่องจากการเปลี่ยนศาสนาของผู้ครองเมือง คือพญาอินทิรา ผู้สืบเชื้อสายจากพระเจ้ามะโรงมหาวงศ์ ได้เปลี่ยนจากการนับถือศาสนาพุทธศาสนา มานับถือศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนพระนามเป็น อิสมาแอล ชาห์  มีการอพยพครอบครัว มุสลิมจากเมืองหรือรัฐที่อยู่ใกล้เคียง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองปาตานี  ประชาชนที่นับถือพุทธศาสนาค่อย ๆ ลดอำนาจลง จนในที่สุดเมืองปัตตานีกลายเป็นชุมชนอิสลาม
            ตามตำนานการสร้างเมือง  ได้กล่าวย้อนหลังไปถึงสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เรื่องการสร้างเมืองริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี ซึ่งค้นพบว่า มีเมืองร่วมสมัยพุทธศตวรรษที่ 19 อยู่ในเขตยะรัง ชื่อเมืองประแว  ต่อมาได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ใกล้ปากแม่น้ำปัตตานี เรียกเมืองปาตานี
            นักวิชาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเชื่อว่า ปัตตานีเป็นที่แวะพักจอดเรือ
เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างพ่อค้าชาวอินเดียทางตะวันตก กับพ่อค้าชาวจีนทางตะวันออก รวมทั้งชนพื้นเมือง และตามหมู่เกาะใกล้เคียง  และเชื่อว่าปัตตานีเดิมเป็นอาณาจักรเก่าแก่ มีร่องรอยเมืองโบราณขนาดใหญ่ซ้อนทับกันถึง 3 เมือง  พบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น สถูปจำลองดินเผา  พระพิมพ์ดินดิบ  ดินเผาบางชิ้นมีตัวอักษรภาษาสันสกฤต เป็นคาถาเนื่องใน พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน  พระโพธิสัตว์สำริด  โบราณวัตถุเหล่านี้ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-13
สมัยกรุงศรีอยุธยา

            เมืองปัตตานีเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ปลายแหลมมลายู มีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031)  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  (พ.ศ. 2034-2072) ทรงยินยอมให้โปรตุเกสเข้ามาตั้งสถานีการค้าในเมืองชายทะเล เช่น  มะริด  ตะนาวศรี  นครศรีธรรมราช รวมทั้งเมืองปัตตานีด้วย  ทำให้เมืองปัตตานีเป็นเมืองท่าหลักเมืองหนึ่ง  เป็นที่ตั้งสถานีการค้าของพ่อค้าทั้งชาวตะวันออกและชาวตะวันตก
            ในปี พ.ศ. 2092 ในรัชสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ์  พม่ายกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระยาตานีศรีสุลต่าน ได้นำทัพเรือประกอบด้วย เรือหย่าหยับ 200 ลำ  ยกไปช่วยราชการสงคราม  แต่เมื่อเห็นว่าทางกรุงศรีอยุธยาเสียทีแก่พม่า จึงถือโอกาสก่อการกบฎยกกำลังบุกเข้าไป ในพระบรมมหาราชวัง  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ต้องเสด็จหนีข้ามฟากไปประทับบนเกาะมหาพราหมณ์  เมื่อกองทัพไทยรวบรวมกำลังกันได้แล้ว  จึงยกกำลังเข้าตีกองกำลังเมืองปัตตานีแตกพ่ายไป  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2146  สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงมีรับสั่งให้ออกญาเดโชยกทัพไปตีเมืองปัตตานี  แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากพ่อค้าชาวยุโรปได้ช่วยเหลือเมืองปัตตานี
ทั้งอาวุธปืนใหญ่และทรัพย์สินเงินทอง  ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. 2231-2245)  เมืองปัตตานีประกาศไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา  ทำให้เมืองปัตตานีเป็นอิสระต่อเนื่องมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. 2325-2352) ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  ยกกองทัพลงไปปราบปรามพม่าที่มาตีหัวเมืองทางแหลมมลายูจนราบคาบ ในปี พ.ศ. 2328  กรมพระราชวังบวรได้เสด็จไปประทับที่เมืองสงขลา  ให้ข้าหลวงเชิญกระแสรับสั่งออกไปยังหัวเมืองที่เหลือ คือ  เมืองปัตตานี  เมืองไทรบุรี  และเมืองตรังกานู ให้มายอมเป็นเมืองขึ้นเช่นเดิม  แต่สุลต่านมูฮัมมัด พระยาปัตตานีในขณะนั้นขัดขืน กรมพระราชวังบวร ฯ  จึงมีรับสั่งให้ พระยากลาโหม ยกกองทัพไปตีเมืองปัตตานีได้ในปี พ.ศ. 2329  กวาดต้อนครอบครัวและศาสตราวุธได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งปืนใหญ่ 2 กระบอก  แต่สามารถนำมาได้เพียงกระบอกเดียว  ได้นำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จารึกชื่อปืนว่า พญาตานี  นับว่าเป็นปืนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย  ปัจจุบันได้ตั้งไว้ที่บริเวณสนามหน้ากระทรวงกลาโหม รวมกับปืนใหญ่โบราณอื่น ๆ อีกหลายสิบกระบอก
            ในปี พ.ศ. 2332  ตนกุลามิดดิน  เจ้าเมืองปัตตานี  มีหนังสือไปชวนองค์เชียงสือ เจ้าเมืองอันนัมก๊ก ให้ร่วมกันตีหัวเมืองในพระราชอาณาจักรไทย  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกกองทัพไปตีเมืองปัตตานีอีกครั้งหนึ่ง  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2351  ดาโต๊ะปังกาลันได้ก่อความไม่สงบขึ้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค) ยกกองทัพออกไปสมทบกับกำลังจากเมืองสงขลา พัทลุง และจะนะ ตีเมืองปัตตานีได้
            ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. 2352-2367) ได้เกิดครามไม่สงบขึ้นบ่อยครั้ง จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอภัยสงครามและพระยาสงขลา ผู้กำกับดูแลหัวเมืองมลายู แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง และแต่งตั้งให้พระยาเมืองเป็นผู้ปกครองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2359  เป็นต้นมา  ได้แก่เมืองปัตตานี  เมืองยะหริ่ง  เมืองสาย  เมืองหนองจิก  เมืองระแงะ  เมืองรามันห์  และเมืองยะลา
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2435  ให้จัดการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาล  ในภาคใต้แบ่งออกเป็น 4 มณฑล  เมืองปัตตานีขึ้นอยู่ในมณฑลนครศรีธรรมราช  มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้ดูแล  อยู่ในปกครองของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2449  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้แยกหัวเมืองที่ขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราชทั้ง 7 หัวเมือง มาตั้งเป็นมณฑลปัตตานี  พร้อมทั้งเปลี่ยนฐานะเมืองเป็นอำเภอและจังหวัด  ได้แก่ จังหวัดปัตตานี  จังหวัดสายบุรี  และจังหวัดยะลา  เมืองปัตตานีเดิมเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอปะกาฮะรัง
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475  ได้ยุบเลิกมณฑลปัตตานี และให้คงสภาพเป็นจังหวัด  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476  เป็นต้นมา  จังหวัดปัตตานีปกครองโดยผู้ว่าราชการจังหวัด

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |