| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

สถาปัตยกรรมดีเด่น

           บ้านศิลาสุวรรณ  อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง ฯ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ เป็นเรือนทรงมะนิลา สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง หน้าจั่ว ปั้นลม เชิงชาย ช่องลม และระเบียงฉลุลวดลายงดงามวิจิตรแบบของยุโรปซึ่งนิยมกันแพร่หลาย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
           บ้านศิลาสุวรรณ  เป็นบ้านสองชั้นออกมุขสามด้าน กว้าง ๒๘ เมตร ลึก ๑๖ เมตร ชั้นล่างเปิดโล่ง ชั้นบนมีบันไดขึ้นลงสองด้าน ด้านหน้าเป็นมุขยื่นออกมาพร้อมด้านหน้าของตัวบ้าน แถวแรกเป็นห้องโถงกว้าง หลังห้องโถงเป็นห้องเรียงในระดับเดียวกันห้าห้อง ห้องกลางตรงกับมุขเป็นห้องพระ และห้องเก็บอัฐิของตระกูลศิลาสุวรรณ แต่ละห้องมีชื่อคล้องจองกันคือ ห้องพลังชิดประทาน ห้องอธิษฐานบารมี ห้องบุพการีญาณ ห้องวิมานคุณาวร และห้องพาสนองอุทัย ภายในห้องเป็นสถานที่เก็บวัตถุโบราณเครื่องลายคราม เครื่องมุก มีเรือกลไฟจำลองที่ใช้เครื่องยนต์เป็นลำแรกของจังหวัดสมุทรสาครชื่อ เรือสุดสาคร

          อาคารสำนักงานที่ดิน (หลังเก่า)  อยู่ภายในบริเวณป้อมวิเชียรโชฎก ทางด้านทิศตะวันตก ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ เป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าว พื้นไม้สัก ยกพื้นสูง ๑ เมตร ใช้เป็นสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครมาถึงปี พ.ศ.๒๕๓๑

           บ้านชาวจีน  สมุทรสาครมีพื้นฐานการตั้งหลักแหล่งของชาวจีน โดยเฉพาะดินแดนริมทะเลที่พักอาศัยมีความใหญ่โตสวยงามตามศิลปะแบบจีน และการแบ่งพื้นที่ใช้สอยตามวัฒนธรรมจีนคือ แบ่งออกเป็นสามส่วน

           ส่วนหน้าเป็นห้องโถงว่างใช้เป็นที่รวมสมาชิกในบ้าน ตรงกลางจัดทำเป็นแท่นบูชาพร้อมมีเครื่องบูชา ด้านหน้าแท่นบูชามีไม้แกะสลักเป็นรูปโค้งสวยงาม ทาสีทอง ลวดลายที่แกะสลักมักเกี่ยวกับธรรมชาติเช่น ลายดอกไม้ ต้นไม้ นก ด้านบนมีป้ายดำติดตัวอักษรแกะสลักสีทอง ส่วนที่กั้นห้องเป็นกระดานเฟี้ยม
           ปัจจุบันบ้านลักษณะดังกล่าวมีอยู่กระจายทั่วไปในบริเวณท่าฉลอม
รูปปั้นอนุสาวรีย์

          พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ ณ วัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) บริเวณด้านหน้าติดกับปากอ่าว ในเขตตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง ฯ
           พระบรมรูปมีขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง หล่อด้วยสำริดสูง ๒.๖๐ เมตร ฉลองพระองค์ชุดราชปะแตนท์ พระหัตถ์ขวาทรงถือม้วนพระราชสานส์ พระหัตถ์ซ้ายทรงธารพระกร หันพระพักตร์สู่อ่าวไทย
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเททองหล่อพระบรมรูป ณ วัดเบญจมบพิตร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ และเสด็จ ฯ มาเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙

           พระอนุสาวรีย์ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน  ประดิษฐาน ณ ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน ตำบลสวนหลวง อำเภอกระทุ่มแบน เป็นที่ตั้งกองพันโรงเรียนทหารสื่อสาร และกรมทหารสื่อสารที่ ๑ พระรูปหล่อด้วยสำริด ประทับยืน ฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศพลเอก ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง พระหัตถ์ขวาถือพระมาลา พระหัตถ์ซ้ายกุมกระบี่ ทรงเสื้อคลุมครุยประทับยืน
           พระองค์ทรงเป็นผู้สถาปนากิจการทหารสื่อสารขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ และพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นคุณูปการแก่กองทัพ และประเทศชาติ เหล่าทหารสื่อสารจึงเทิดพระเกียรติพระองค์ว่า ทรงเป็นพระบิดาของเหล่าทหารสื่อสาร พระองค์ทรงตั้งเหล่าสื่อสาร โดยแยกออกมาจากเหล่าทหารช่าง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗
           สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ พระอนุสาวรีย์และทรงเททองหล่อพระรูปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ และเปิดป้ายค่ายกำแพงเพชรอัครโยธินในคราวเดียวกัน

           พระอนุสาวรีย์พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  ประดิษฐานอยู่ที่หน้าสำนักงานนิคมสหกรณ์โคกขาม ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง ฯ ด้วยสำนึกในการที่ทรงเป็นผู้บุกเบิกริเริ่มงานสหกรณ์ขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙
           นิคมสหกรณ์โคกขาม จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ จัดสรรพื้นที่โครงการ ๑๕,๐๐๐ ไร่ แรกเริ่มสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเกลือ ต่อมาเปลี่ยนเป็นนากุ้ง
           เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาคุณที่ทรงก่อกำเนิดสหกรณ์จนพัฒนาแผ่ขยายไปทั่วประเทศ ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ นิคมสหกรณ์โคกขาม ได้ร่วมกันจัดสร้างพระอนุสาวรีย์ของพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยขึ้น เป็นรูปหล่อขนาดเท่าพระองค์จริงประทับนั่งเก้าอี้
สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

           พระพุทธนวราชบพิตร  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้างเก้านิ้ว หล่อด้วยสำริดผสมผงศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ฐานกลีบบัวหงายด้านหน้าบรรจุ พระพิมพ์จิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน ซึ่งเป็นพระพิมพ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรางสร้างขึ้นเพื่อพระทานแก่ข้าราชบริพาร
           พระพุทธนวราชบพิตรนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้นำไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่อเป็นศิริมงคลแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป และเป็นนิมิตรหมายแห่งความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างพระมหากษัตริย์กับพศกนิการของพระองค์ทั่วราชอาณาจักร
           พระพุทธนวราชบพิตร ที่พระราชทานแก่จังหวัดสมุทรสาครมีผงธูปจากศาลพันท้ายนรสิงห์กับผงธูป และดินจากศาลหลักเมืองจังหวัดสมุทรสาครรวมอยู่ด้วย
           จังหวัดสมุทรสาครได้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานไว้ ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔

           ศาลหลักเมืองสมุทรสาคร  เดิมเมืองสมุทรสาครมีแต่ศาลเจ้าหลักเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า ศาลเทพเจ้าจอมเมือง ตั้งอยู่บริเวณต้นศรีมหาโพธิ ด้านหลังที่ว่าการอำเภอหลังเก่า ปัจจุบันไม่มีแล้ว
           การสร้างศาลหลักเมืองสมุทรสาครแทนศาลเดิม เกิดเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๔๖๑ โดยเจ้าเมืองสมุทรสาคร นายอำเภอเมือง ฯ และกำนันตำบลท่าฉลอม
           ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และคณะสงฆ์ ต้องการให้จังหวัดสร้างศาลหลักเมืองขึ้น ได้สรรหาไม้มงคลมาทำเสาหลักเมือง ได้ไม้ชัยพฤกษ์จากอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และจากอำเภอน้ำโสมจังหวัดอุดรธานีโดยกองหัตถ์ศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและแกะสลักมีขนาดสูง ๒.๘๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๐๕ เมตร เสร็จแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ ณ พระตำหนักจิตรลดา ฯ ส่วนศาลหลักเมือง กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ออกแบบ มีขนาดกว้าง ๓๐.๘๐ เมตร ยาว ๓๐.๘๐ เมตร สูง ๑๙.๐๐ เมตร  ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน สร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ เสด็จแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดศาลหลักเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖
ศิลปหัตถกรรมและงานช่าง
           หัตถกรรมพื้นบ้าน  เป็นงานฝีมือที่ทำจากวัสดุต่าง ๆ ในท้องถิ่นมาประดิษฐ์อันแสดงถึงภูมิปัญญาเฉพาะตัว หรือคล้ายคลึงกันในชุมชนใกล้เคียง หรือในภาคเดียวกัน เป็นงานที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในครัวเรือน ใช้เวลาว่างจัดทำ เป็นงานฝีมือที่ถ่ายทอดกันมาแต่บรรพบุร อาจมำเป็นอาชีพเสริมหลังจากว่างจากอาชีพหลัก

               - การเย็บจาก  จังหวัดสมุทรสาคร สมบูรณ์ด้วยป่าชายเลนมีพืชพันธุ์ไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย โดยเฉพาะจากต้นจาก

           การนำจากมาใช้ประโยชน์โดยนำใบของต้นจาก ซึ่งมีลักษณะคล้ายใบมะพร้าวมาพับครึ่งกับไม้ไผ่ ยาวประมาณ ๑ เมตร ขนาดโตเท่าหัวแม่มือ แล้วตรึงด้วยหวายซึ่งขึ้นแซมกับไม้ในป่าชายเลน ปัจจุบนใช้เชือกพลาสติกแทน ใช้เป็นวัสดุมุงหลังคา ทำฝาบ้านตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน บางครั้งนำมาสร้างสิ่งก่อสร้างชั่วครามในพระราชพิธีต่าง ๆ ณ ทุ่งพระเมรุ โดยสั่งจากเป็นจำนวนมากจากจังหวัดสมุทรสาคร ขนส่งมาตามคลองมหาชัย ผ่านคลองสนามชัย คลองด่าน เข้าสู่กรุเทพ ฯ
           ผู้ประกอบอาชีพเย็บจากส่วนใหญ่เป็น ชาวมอญในเขตตำบลบ้านบ่อ บางกระเจ้า บางสีคด เป็นการสร้างรายได้ในครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงและเด็ก การจำหน่ายจะจำหน่ายเป็นตับนับเป็นร้อยตับ

               - เบญจรงค์  การทำเครื่องเบญจรงค์ในจังหวัดสมุทรสาคร มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ทำกันในตำบลท่าเสา ตำบลดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน โดยพัฒนามาจากโรงงานทำถ้วยชาม คนงานส่วนหนึ่งหันมาประกอบอาชีพของตนเอง เป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว
           ปัจจุบันอุสาหกรรมในครัวเรือนประเภทเซรามิค ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน มีประมาณ ๑๕๐ แห่ง มีผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่นลายคราม เบญจรงค์ และศิลาดล แต่คนทั่วไปนิยมเบญจรงค์มากกว่า

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |

>