| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น

           การต่อเรือประมงด้วยไม้  เรือประมงของจังหวัดสมุทรสาคร เป็นเรือไม้ มีความแข็งแรงและมีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่ชาวประมงว่า เรือมหาชัย การต่อเรือประมงเป็นภูมิปัญญาทางช่างท้องถิ่นที่ได้มีการเรียนรู้การถ่ายทอด และพัฒนาจากช่างรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง เป็นเวลาเกือบร้อยปี เป็นการสร้างเรือประมงโดยไม่ต้องเขียนแบบแปลน หรือทำพิมพ์เขียว เพียงกำหนดความยาว ความกว้าง ของเรือที่ต้องการแล้ว ก็เขียนกงเรือขึ้น โครงร่างของเรือหลังจากนั้น รูปทรงความสวยงามความแข็งแรงถูกควบคุมด้วยภูมิปัญญา ความสามารถและความชำนาญของช่างต่อเรือ
           วิชาต่อเรือเริ่มจากช่างชาวจีนซึ่งอพยพหนีภัยสงครามญี่ปุ่นมาจากเกาะไหหลำ เข้ามายังประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลท่าฉลอม เข้ามาประกอบอาชีพรับจ้างซ่อมเรือทั่วไป
           ช่างรุ่นแรกมีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๕๓ - ๒๕๓๖ เป็นยุคบุกเบิกของแม่กลอง เรือยนต์ลำแรกต่อที่แม่กลอง ช่างผู้ต่อภายหลังได้ย้ายไปทำกิจการต่อเรือ และคานเรือที่จังหวัดสมุทรปราการ
           เมื่อชาวประมงต้องการเรือที่มีขีดความสามารถสูง จึงมีการพัฒนาการสร้างเรือประมงในรูปแบบใหม่ จากเดิมที่สร้างเป็นเรือโป๊ะ และเรือโพงพาง (เรือฉลอม)  เมื่อมีผู้นำเครื่องจักรเข้ามา (เครื่องเผาหัว) จึงคิดสร้างเรือสำหรับโยงเรือโป๊ะ โดยนำเรือโป๊ะมาดัดแปลง ต่อมาจึงสร้างเรือโยงจากไม้ใหม่ทั้งลำ
           การต่อเรือประมงปัจจุบัน ยังใช้แรงงานคนเครื่องมือช่างไม้ เช่น สิ่ว สว่านมือ ปิดหร่า เลื่อยลันดา เลื่อยชักมือ (ใช้สองคน) ใช้สว่านคันซอเจาะรูตะปู เป็นต้น
           ประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๐ มีอู่ต่อเรือแรกของท่าฉลอม เรือที่ต่อรุ่นแรกเป็นเรือโป๊ะ เรือโพงพาง ต่อมาจึงเป็นเรือยนต์โยงโป๊ะ วิธีการต่อไม้ เข้าไม้ นิยมใช้ลูกกะสัก หรือลูกประสัก ทำจากไม้แสมสารเป็นสลักยึดต่อกัน ช่างบางรายใช้ตะปูทองแดงขนาดต่าง ๆ แทนลูกกะสัก ไม้ที่ใช้ต่อเรือนั้นจะใช้ไม้ประดู่ และไม้ตะเคียน เป็นส่วนใหญ่ เมื่อไม้ดังกล่าวขาดแคลนจึงใช้ไม้เบญจพรรณที่เป็นไม้เนื้อแข็งแทน
           การวางรูปทรงเรือ ผู้ว้าจ้างเป็นผู้กำหนดความยาว และความกว้าง ของเรือและเครื่องจักรที่จะใช้ ช่างจะเป็นผู้ออกแบบกง อันเป็นส่วนหลักของโครงร่างเรือเรียงกัน จากหัวจรดท้าย แล้วเลื่อยไม้เป็นกง ทุกตัวจนครบนำไปตั้งบนกระดูกงู เมื่อได้ฤกษ์ดีจึงทำพิธีตั้งโขน ซึ่งเป็นประเพณีสำหรับการต่อเรือทุกลำ เมื่อตั้งโขน กง และส่วนท้ายของเรือเสร็จจึงขึ้นไม้เปลือกเรือ ช่างจะแต่งรูปทรงเรือให้สวยงามตามความนิยมและความชำนาญ อันเป็นเอกลักษณ์ของช่างแต่ละคน
           การแต่งรูปเรือให้ได้ตามรูปทรงที่ต้องการ ช่างจะต้องระวังสัดส่วน ความสมดุล ระหว่างกราบซ้ายกับกราบขวา เพื่อรักษาศูนย์ถ่วงของเรือไห้ดี สุดท้ายจึงขึ้นเครื่องบน และเก๋ง ซึ่งจะกำหนดขนาดตามความต้องการ และตามลักษณะการใช้งาน เช่น หากจะใช้ที่เก็บปลาได้มาก ๆ ก็จะเว้นที่ทำเป็นระวางบรรทุกมากกว่าเก๋งเรือ แต่อย่างน้อยเก๋งเรือทุกลำต้องมีที่สำหรับเป็นที่พักของลูกเรืออย่างเพียงพอ และขนาดของเก๋งเรือต้องคลุมห้องเครื่องได้หมด
           ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ เครื่องมือช่างที่เป็นไฟฟ้าเริ่มนำมาใช้งานอย่างกว้างขวาง ทำให้การต่อเรือทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และขยายขนาดได้ใหญ่ขึ้น ทันกับการปรับเปลี่ยนเครื่องมือทางด้านการประมง จากเครื่องมือประจำที่เช่นโป๊ะ เป็นตังเกและการทำประมงอวนลากจากปลาหน้าดิน ตามเทคโนโลยี การประมงจากต่างประเทศ
           หลังจากนั้นการต่อเรือประมงของจังหวัดสมุทรสาครได้ก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด จากการต่อเรือขนาด ๘ - ๑๒ เมตร ก็ได้ขยายขนาดและความจุออกไปอย่างไม่จำกัด จนขณะนี้เรือต่อด้วยไม้ขนาดใหญ่สุดของมหาชัยยาวถึง ๔๗ เมตร ใช้เครื่องจักรใหญ่สุดเกือบ ๒,๐๐๐ แรงม้า ทำการประมงได้ไกลออกไปถึงต่างประเทศเช่น พม่า อินโดเนเซีย อินเดีย บังคลาเทศ เวียดนาม ออสเตรเลีย และเยเมน
           เรื่อประมงจากจังหวัดสมุทรสาครออกทำประมงไปทั่วน่านน้ำสุดเขตประเทศไทยมามากกว่า ๓๐ ปีแล้ว และเริ่มออกทำประมงนอกน่านน้ำไทยอย่างไม่เป็นทางการมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี
           การต่อเรือประมงในปัจจุบันสามารถคำนวณความจุความยาวและขนาดเครื่องจักรที่เหมาะสมได้ตามต้องการ ส่วนประกอบของเรือที่มีขนาดใหญ่ มีเครนสำหรับช่วยยกแทนแรงงานคน การเลื่อยซุงทำให้การแปรรูปซุงเสียเศษไม้น้อยที่สุด การเขียนแบบกงเรือใช้วิธีเขียนบนพื้นแล้วใช้ไม้อัดตัดแบบเป็นชิ้น ๆ  สะดวกกว่าใช้ไม้ยางแผ่นมาตอกเชื่อมต่อกันอย่างในสมัยก่อน
           ปัจจุบันมีช่างต่อเรือขึ้นมามากมาย มีอู่ต่อเรือกระจายอยู่หลายตำบลริมแม่น้ำท่าจีนเช่น ท่าฉลอม บางหญ้าแพรก มหาชัย โกรกกราก ท่าจีน มีการพัฒนาเทคนิคและการใช้วัสดุเช่นใช้เหล็กมาประกอบการสร้างมากขึ้น ในอดีตเรือขนาด ๑๐ - ๑๒ เมตร ใช้เวลต่อ ๗ - ๘ เดือน ปัจจุบันเรือยาวต่อ ๔๐ เมตร ใช้เวลา ๔ - ๕ เดือน ใช้งบประมาณในการต่อเรือประมาณ ๑๔ ล้านบาท โดยไม่รวมเครื่องจักรและการตกแต่งอื่น ๆ หากรวมแล้วจะตกประมาณ ๓๐ ล้านบาท

           นาเกลือ  การทำนาเกลือทำกันมากในบริเวณพื้นที่ติดทะเล ได้แก่ ตำบลบางหญ้าแพรก นาโคก กาหลง บางโทรัด บ้านบ่อ บางกระเจ้า
           ชายทะเลของจังหวัดสมุทรสาคร เป็นดินเลน มีคุณสมบัติสามารถขังน้ำไม่ให้ซึมลงดินได้ นาเกลือที่ได้มาตรฐานต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๒๕ ไร่ เพราะต้องใช้พื้นที่ในการตากน้ำจำนวนมาก
           การทำนาเกลือมีกรรมวิธีเป็นขั้นตอนประกอบด้วยนาปลงใช้ผลิตเกลือ นาเชื้อเป็นที่สำหรับรอให้เกลือตกผลึก นาตาก พื้นที่สุดท้ายที่จะได้ผลิตผล
               - นาปลง  มีการยกคันดินกั้นน้ำแบบนาข้าว ความกว้างของคันดินสำหรับการเดินเท่านั้น พื้นนาปลงต้องใช้ลูกกลิ้ง กลิ้งพื้นนาให้เรียบได้ระดับเสมอกัน จะปล่อยให้มีหญ้าหรือตอไม้อยู่ไม่ได้ เพราะจะทำให้นารั่ว น้ำจะถูกดูดซึมหายไป น้ำในนาปลงจะหายไปโดยการระเหยเพราะแสงแดดเท่านั้น นาปลงจะให้ผลสมบูรณ์เต็มที่จะต้องผ่านการทำมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี
               - นาเชื้อ  ใช้สำหรับเก็บน้ำทะเลเพื่อป้อนให้นาปลง มีขนาดใหญ่กว่านาปลง บางครั้งอาจใช้นาเชื้อทำเกลือเหมืนนาปลง แต่ต้องเสียเวลา และสิ้นเปลืองค่าแรงในการหาบเกลือเก็บเข้าฉาง เนื่องจากอยู่ไกลจากลำคลอง
               - นาตาก  จะอยู่จรดชายทะเล มีขนาดใหญ่มาก ตั้งระหัดเพื่อใช้วิดน้ำทะเลจากรางน้ำทะเลเข้านาตาก ระหัดนี้เรีย กระหัดนอก ใบระหัดกว้างประมาณ ๗ - ๘ นิ้ว ใหญ่กว่าระหัดของนาเชื้อ ใช้ฉุดด้วยแรง กังหันลมหรือเครื่องยนต์  ดังนั้นเราจึงพบกังหันลมอยู่ทั่วไปในเขตที่ทำนาเกลือ
           ชาวนาเกลือจะเริ่มทำเกลือประมาณเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ซึ่งเป็นปลายฤดูฝน เพราะต้องอาศัยน้ำฝนช่วยในการละเลงนา ปรับระดับให้เสมอกัน โดยใช้ลูกกลิ้งซึ่งทำด้วยไม้ ยาวประมาณ ๒ เมตร หลักประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัม ปัจจุบันนำเครื่องจักรเข้ามาช่วย
           นาปลงแต่ละกระทงจะต้องกลิ้งประมาณ ๔ - ๕ วัน การไขน้ำเข้าสู่นาปลงจะไขตอนบ่าย พื้นนาจะไม่แตกระแหง น้ำที่ไขเข้าต้องสูงกว่าพื้นนาประมาณ ๔ - ๕ นิ้ว เพื่อให้เกลือตกผลึกช้า เม็ดเกลือจะแน่นไม่โพรง ทำให้เกลือมีความเค็มสูง
           ในการตกผลึกของเกลือ เมื่อน้ำเข้มข้น ๒๐ - ๒๒ ดีกรีโบเม่ จะได้ เกลือจืด (Calcium ) มีลักษณะเหมือนทรายเม็ดใหญ่ตกจมปนนกับดิน ชาวนาจะเก็บเกลือจืดเมื่อเลิกทำนาเกลือแล้ว เมื่อเความเข้มข้นสูง ๒๕ - ๒๗ ดีกรีโบเม่ เป็นระยะที่เกลือเค็มตกมากที่สุด ถ้าความเข้มข้นเกิน ๒๗ ดีกรีโบเน่ จะเกิดการตกผลึกของ ดีเกลือ (Magnesium) ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดความชื้น ดีเกลือจะตกผลึกในช่วงกลางคืน เมื่อน้ำในนาปลงเย็น
           ดีเกลือเป็นเกล็ดสีขาวอยู่เหนือเกลือเค็ม ถ้ามีน้ำไม่มากดีเกลือจะไม่โผล่ขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ต้องรีบเก็บก่อนจะเริ่มร้อน เพราะดีเกลือจะละลายลงไปติดกับเกลือเค็ม การวัดความเข้มข้นของน้ำที่จะทำเกลือปัจจุบันใช้ปรอทวัด แต่บางแห่งยังใช้แบบโบราณเช่นใช้มือสัมผัส คาดคะเนความเข้มข้นของน้ำหรืออาจใช้ข้าวสุกโปรย ถ้าข้าวสุกลอยก็แสดงว่าน้ำนั้นแก่พอที่จะใช้ปลงเกลือได้

               - การเก็บเกลือ  เรียกว่า รื้อเกลือ  ส่วนมากทำในตอนเช้าหรือตอนเย็น เพราะอากาศไม่ร้อนนาปลงที่จะรื้อเกลือได้จะต้องมีน้ำขังให้มาก เพราะจะช่วยล้างเกลือ ชาวนาจะใช้ไม้รุนที่ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้กระบอกผ่าซีก ยาวประมาณครึ่งเมตร ใช้ไม้รวกเป็นด้ามยาวประมาณ ๒ เมตร เกลือจะแตกแยกออกเป็นเม็ดเกลือ นาหนึ่งกระทง จะชักเกลือเป็นแถวได้ประมาณ ๕ - ๑๕ แถว และกระต่อมเกลือให้เป็นกอง ๆ เหมือนเจดีย์ แถวหนึ่งประมาณ ๑๒ - ๑๘ กอง แล้วปล่อยน้ำในนาออกสู่ลำกระโดง (ลำรางที่อยู่ตอนกลางของนาปลง ใช้ถ่ายเทขนส่งน้ำที่ใช้ทำเกลือ) อาจนำมาใช้ปลงเกลือได้อีก เมื่อไขน้ำออกหมดแล้วให้ทิ้งไว้ประมาณครึ่งวันหรือหนึ่งวันเพื่อให้เกลือแห้ง มีความชื้นน้อย
           การหาบเกลือใช้แรงงานคนหาบด้วยบุ้งกี๋ เก็บเกลือไว้ในฉาง
           อาชีพทำนาเกลือเป็นอาชีพที่รัฐบาลสงวนไว้สำหรับคนไทย จังหวัดสมุทรสาครเริ่มทำอย่างจริงจัง เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๗๘ เริ่มจากตำบลหญ้าแพรก และขยายออกไปรอบนอก ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ ได้มีการจดทะเบียนบริษัทนาเกลือขุนสมุทรมณีรัตนจำกัด นับได้ว่าเป็นบริษัทที่ประกอบอาชีพนาเกลือโดยแท้จริง แห่งเดียวในประเทศไทย นาเกลือของบริษัทมีเนื้อที่กว่า ๕,๐๐๐ ไร่
           ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น  ได้แก่ งานปฏิมากรรม ซึ่งมีอยู่ดังนี้

               - บานประตูวัดใหญ่จอมปราสาท  สองบานแรกแกะสลักเป็นลวดลายเถาดอกไม้ ใบไม้ ประกอบไปด้วยรูปสัตว์ต่างๆ มีสมัน เนื้อ เก้ง เสือ และสัตว์อื่น ๆ อยู่โครต้นไม้ ส่วนลิงจับอยู่บนกิ่งไม้ งูเหลือพันอยู่บนต้นไม้ เป็นเรื่องราวของสัตว์นานาชนิด ที่แสดงกิริยาอาการต่าง ๆ ความสวยงามอยู่ที่ฝือมือการแกะสลัก ซึ่งแกะเข้าไปในเนื้อไม้ลึกสี่ชั้น ทำให้เป็นภาพซ้อนเหมือนจริง ส่วนอีกสองบานเป็นการแกะสลักลวดลายต้นสน มีลักษณะคล้ายต้นจากหรือมะพร้าว มีนกกระเรียนเกาะอยู่บนกิ่งไม้
           บานประตูวัดใหญ่จอมปราสาท กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕

               - พระพุทธรูปปางสมาธิ ๑๐๘ องค์  ประดิษฐานอยู่ภายในกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถวัดบัณฑูรสิงห์ ตำบลบางโทรัด อำเภอเมือง ฯ ปั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ เสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ปั้นโดยนางท้วน รถทอง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |