| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

ศาสนาสถานและศาสนวัตถุ

           วัดโกรกกราก  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลโกรกกราก อำเภอเมือง ฯ สันนิษฐานว่า สร้างสมัยรัตนโกสินทร์ชื่อวัดเรียกตามเสียงเครื่องมือปั่นด้าย เพื่อนำมาทำอวนซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณนี้ เนื่องจากเป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพประมงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
               - อุโบสถ  เป็นอาคารไม้ทรงไทย หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีชายคาปีกนกคลุมโดยรอบทั่งสี่ด้าน รองรับโครงหลังคาด้วยเสาไม้กลม ช่อฟ้าใบระกาเป็นไม้ประดับกระจก หน้าบันเรียบ มีประตูเข้าออกด้านหน้าและด้านหลังด้านละสองบาน หน้าต่างด้านละห้าบาน
           ภายในอุโบสถมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปิดทองทึบไม่สามารถมองเห็นภายในได้ ปัจจุบันสภาพอุโบสถชำรุด และเกรงว่าระดับน้ำทะเลจะท่วมพื้นอุโบสถ จึงได้ยกพื้นให้สูงขึ้น และปรับแต่งผนังอุโบสถใหม่ แต่คงรักษาสภาพเดิมไว้
               - เจดีย์ราย  ตั้งอยู่ใกล้อุโบสถมีอยู่สององค์ ด้านอุโบสถเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม มีกำแพงแก้วขนาดเล็กล้อมรอบ เจดีย์องค์หนึ่งเป็นพระปรางค์ขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน

           วัดโคกขาม  ตั้งอยู่ริมคลองโคกขาม ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง เป็นวัดที่มีความนสำคัญวัดหนึ่งสร้างสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่า พระยารามเดโชผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหัวเมืองเอกในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ต่อมาพระยาเดโชแข็งเมือง สมเด็จพระเพทราชาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสุรสงครามและพระยาราชวังสันนำทัพมาปราบ พระยารามเดโชสู้ไม่ได้จึงหลบหนีมาที่บ้านโคกขาม เมืองสาครบุรี ได้บวชเป็นพระภิกษุพร้อมกับได้สร้างวัดโคกขามขึ้น
               - อุโบสถหลังเก่า  ขนาดกว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๗.๕ เมตร หน้าบันเป็นไม้แกะสลักสวยงาม ลักษณะอุโบสถเป็นแบบมหาอุด มีประตูเข้าออกทางเดียว
               - พระเจดีย์  ตั้งอยู่หน้าอุโบสถ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ลักษณะศิลปกรรมสมัยอยุธยา

               - หลวงพ่อสัมฤทธิ์  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพชร มีพุทธลักษณะงดงามที่ฐานองค์พระมีจารึก มีความว่า พระพุทธสิหิงค์องค์นี้องค์นี้เป็นทอง ๓๗ ชั่ง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๒ โดยพระยาเมชัย
               - บุษบก  ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญ เป็นธรรมมาสน์ที่สร้างลักษณะเป็นเรือพระที่นั่งบุษบก สูงสองศอก ฐานสูงหนึ่งศอก ที่ประทับกว้างสองศอก กลางเพดานมีลายประดับมุกกรอบบัวมีลายไม้งดงามมาก หลังคาบุษบกทำเป็นชั้นลดยอดเป็นลูกแก้วกลม ถัดลูกแก้วกลมลงมามีชั้นลดสี่ชั้น มุมตามชั้นลดมีพญานาคชูเศียร ฝีมือแกะงดงามมาก สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าเสือ พระราชทานบุษบกถวายไว้ด้วยทรงอาลัยในพันท้ายนรสิงห์

           วัดนางสาว  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยอยุธยาตอนปลายเกิดสงครามกับพม่า พม่าได้ยกกองทัพมาถึงบ้านบางท่าไม้ เขตกระทุ่มแบน พวกผู้ชายออกไปรบป้องกันข้าศึก เหลือเฉพาะผู้หญิงและเด็กรวมทั้งคนชรา ทั้งหมดได้หลบหนีข้าศึกในระหว่างทางได้พบกับกองลาดตะเวนของพม่า จึงพากันเข้าไปหลบอยู่ในโบสถ์ร้างแห่งหนึ่ง ในจำนวนนี้ได้มีพี่น้องสองสาวคู่หนึ่ง ได้อธิษฐานกับพระประธานว่า ถ้าสามารถรอดพ้นจากข้าศึกได้ จะกลับมาบูรณะซ่อมแซม หลังจากเหตุการณ์สงบพี่น้องสองคนได้กลับมาที่วัดนี้ พี่สาวจึงได้สร้างวัดขึ่นใหม่คือ วัดกกเตย ส่วนน้องสาวได้บูรณะวัดจนเสร็จและตั้งชื่อว่า วัดพรหมจารีย์ราม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดน้องสาว ปัจจุบันชาวบ้านเรียกวัดนางสาว
               - อุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก หลังคาเครื่องไม้ ด้านหน้ามีพาไลยื่นออกมาหนึ่งห้อง มีเสาสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาสี่ต้น ช่อฟ้าใบระกาเป็นปูนปั้นประดับกระจก มีประตูเข้าออกด้านเพียงประตูเดียว ไม่มีหน้าต่างนิยมเรียกอุโบสถลักษณะนี้ว่า โบสถ์มหาอุด ปัจจุบันได้มีการบูรณะใหม่ โดยปูพื้นหินอ่อนภายใน
               - เจดีย์  ตั้งอยู่ด้านหน้าศาลาการเปรียญเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ย่อมุมไม้สิบสอง ฐานเจดีย์เป็นฐานสิงห์ซ้อนกันสามชั้น มีบัลลังค์รองรับปากระฆัง ตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้และพวงอุบะ ส่วยยอดเป็นบัวกลุ่มเถาและปลียอด มีอายุประมาณสมัยอยุธยาตอนปลาย และรัตนโกสินทรตอนต้น
               - ใบเสมา  ใบเสมาอุโบสถเป็นใบเสมาคู่ทำมาจากหินทรายแดง ยกสูงจากพื้น ไม่มีซุ้ม
           ปัจจุบันวัดนางสาวได้รับการจัดให้เป็นอุทยานการศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้แห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร

           วัดบางปลา  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ที่บ้านบางปลา ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง ฯ สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสต้นมาแวะที่วัดนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗
               - อุโบสถหลังเก่า  เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ มุงกระเบื้องว่าวดินเผา ลดสองชั้น ด้านหน้าและด้านหลังมีมุขลดด้านละหนึ่งห้อง มีเสาปูนสี่เหลี่ยมรองรับโครงหลังคาโดยรอบ ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันปูนปั้นลายดอกไม้ ประดับเครื่องถ้วยลายครามแบบจีน ส่วนล่างเป็นรูปมังกรสองตัว หันหน้าเข้าหากัน ลวดลายส่วนใหญ่ชำรุด มีประตูด้านหน้าและด้านหลังด้านละสองบาน หน้าต่างด้านละห้าบาน ซุ้มประตูหน้าต่างตกแต่งด้วยลายปูนปั้นเป็นซุ้มโค้ง ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย นอกโบสถ์มีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนเตี้ย ๆ ล้อมรอบ

               - ศาลาท่าน้ำ  มีสี่หลังมีทางเดินลงสู่ท่าน้ำ หลังแรกเป็นศาลาไม้แปดเหลี่ยม หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้ามีมุขยื่น หน้าบันของมุขประดับด้วยไม้ฉลุ ยกพื้นสำหรับเป็นที่นั่งสองด้าน ตรงกลางเป็นทางเดินโล่ง
           ศาลาอีกสามหลัง มีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นอาคารไม้ทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องมีช่อฟ้า ใบระกา ผนังโล่งด้านข้างทั้งสองยกพื้นเป็นที่นั่งบางช่วง ตอนกลางเป็นทางเดินโล่ง
           ทางเดินลงสู่ท่าน้ำหรือฉนวนท่าน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า ศาลาคร่อมถนน มีลักษณะเป็นอาคารไม้ยาวสร้างต่อจากศาลาท่าน้ ลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องมีบราลี และเชิงชายเป็นไม้ฉลุประดับ หน้าบันเป็นรูปสมอเรือบางอันมีจารึกเป็นภาษาบาลี ส่วนล่างเปิดโล่งยาวไปตามแนวถนนถึงหมู่กุฎิสงฆ์
           ศาลาคร่อมถนนสร้างเพื่อรับเสด็จ ฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
               - ธรรมมาสน์  เป็นธรรมมาสน์ไม้ ทรงมณฑปแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก มีฐานตกแต่งด้วยลายมังกร หันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางมีลูกแก้วสีแดงขนาดใหญ่
               - หอระฆัง  เป็นอาคารไม้ขนาดเล็กทรงสูง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง คล้ายหลังคาป้อมมีเม็ดลูกแก้วอยู่ด้านบน ด้านล่างโปร่ง มีพื้นไม้กระดานสำหรับยืนตีระฆัง
               - เจดีย์ราย  ตั้งอยู่มุมกำแพงแก้วอุโบสถ และทั่วไปในบริเวณวัด ฐานเจดีย์เป็นฐานหน้ากระดาน องค์ระฆังกลมมีบัวหงายรองรับ ส่วนยอดเป็นบัลลังค์ทรงสี่เหลี่ยมและเสาหานรองรับปล้องไฉน นอกนั้นยังพบเจดีย์ก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสอง มีอายุอยู่ประมาณต้นรัตนโกสินทร์

           วัดสุทธิวาตววราราม (วัดช่องลม)  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน  มีแม่น้ำไหลผ่านอ้อมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง อยู่ในเขตตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง ฯ เป็นพระอารามหลวงสามัญชั้นตรี เดิมเรียกว่า วัดท้ายบ้าน ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดช่องลม เนื่องจากตั้งอยู่ตรงปากอ่าว
           วัดช่องลม  ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ และได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. มาประดิษฐานไว้บนหน้าบันพระอุโบสถ นับเป็นพระอุโบสถหลังแรกของจังหวัดที่ได้รับพระราชทาน
           พระประธานในพระอุโบสถมีนามว่า หลวงปู่แดง สร้างด้วยศิลาแดง ได้อัญเชิญมาจากวัดช่องสะเดา ตำบลท่าทราย ปัจจุบันวัดดังกล่าวได้ร้างไปแล้ว
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกช่อฟ้า และถวายผ้าพรกฐินต้น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ และได้เสด็จ ฯ มาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สร้างและประดิษฐานภายในบริเวณวัดนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙

           วัดตึกมหาชยาราม  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนในเขตตำบลมหาชัย อำเภอเมือง ฯ ประกาศตั้งเป็นวัด เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๐ ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๘ (สมเด็จพระเจ้าเสือ) เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดคงคาราม ต่อมามีนายอากรชาวจีนผู้หนึ่งอพยพครอบครัวมาจากจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เดินทางเรือ มาอาศัยอยู่บริเวณในบริเวณวัดแห่งนี้ เกิดนิมตรว่า พระประธานในอุโบสถแนะให้ไปตั้งถิ่นฐานแถบแม่น้ำเมืองสมุทรปราการ ครั้นไปอยู่ตามนิมิตรปรากฎว่า ต่อมาร่ำรวยมากขึ้นจึงได้มาทำนุบำรุงวัดนี้ โดยสร้างกุฎิศิลปแบบจีนสองหลัง วิหารหนึ่งหลังกับศาลาเป็นตึกหนึ่งหลัง ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดตึก
               - อุโบสถ  เป็นอาคารไม้ทรงไทย หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาลดชั้นสองชั้น ด้านหน้าและหลังมีมุขลดด้านละสองห้อง ชายคาเป็นแบบปีกนก เสาที่รองรับโครงหลังคาเป็นเสากลม ช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้ประดับกระจก หน้าบันลายปูนปั้น ฝาผนังไม้ทาสีขาว มีประตูทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บานประตูแกะสลักลายกนกเปลว ทาสีทอง มีหน้าต่างด้านละหกบาน ซุ้มเสมารอบอุโบสถเป็นรูปดอกบัว ในเสมาสร้างด้วยหินทรายสีแดง
               - วิหาร  มีลักษณะเป็นเก๋งจีน ก่ออิฐถือปูนหลังเล็ก ๆ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา มีลายปูนปั้นตามแนวยาวแบบจีน ด้านหน้าและหลังมีมุขลดด้านละหนึ่งห้อง ผนังก่ออิฐถือปูนด้านหลังทึบ
               - เจดีย์  ตั้งอยู่หน้าอุโบสถจำนวนสามองค์ เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนฐานสิงห์องค์ระฆังมีบัวรองรับ ส่วนยอดมีบัลลังก์สี่เหลี่ยมย่อมุมรองรับชุดบัวคลุมเสาและปลียอด อีกองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงกลม (ทรงลังกา) ขนาดใหญ่ รอบองค์เจดีย์เป็นฐานสี่เหลี่ยมยกสูงขึ้น มีระเบียงล้อมรอบ ฐานเจดีย์เป็นฐานบัวกลม ถัดขึ้นไปเป็นชุดมาลัยเถา องค์ระฆังกลม ส่วนยอดเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมมีเสารอบ รองรับปล้องไฉนและปลียอด สันนิษฐานว่า สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |