| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

           ขนบธรรเนียมประเพณีคนไทยเชื้อสายมอญ  มอญได้อยพเข้ามาสู่ประเทศไทยหลายครั้ง ที่มีหลักฐานคือ ในปี พ.ศ.๒๑๒๗ หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงประกาศอิสระภาพที่เมืองแครง ต่อมาได้มีการอพยพครั้งสำคัญของมอญอีกแปดครั้งคือ ในสมัยอยุธยาห้าครั้ง สมัยธนบุรีหนึ่งครั้ง และสมัยรัตนโกสินทรอีกสองครั้ง คือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
           การอพยพเข้ามามักจะกระจายกันไปตั้งหลักแหล่งที่อยู่ตามบริเวณแม่น้ำ เช่นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดอยุธยา อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อำเภอปากลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนลำน้ำแม่กลอง ในอำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และในเขตจังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังไปอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ลพบุรี อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และกระจายอยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ
ในจังหวัดธนบุรี (เดิม) สมุทรสงคราม เพชรบุรี นครปฐม กรุงเทพ ฯ ฉะเชิงเทรา อยุธยา สุพรรณบุรี นครราชสีมา นครสวรรค์ และปราจีนบุรี เป็นต้น
           ชาวมอญในจังหวัดสมุทรสาคร ได้อพยพเข้ามา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗ ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บริเวณป้อมวิเชียรโชฎก หรือบ้านป้อม หรือวัดป้อมวิเชียรโชติการาม  ต่อมาได้มีชาวมอญจากจังหวัดปทุมธานีและบ้านมอญกรุงเทพ ฯ อพยพมาสมทบ ในประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตตำบลท่าทราย ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง ฯ ต่อมาได้ขยายไปที่อำเภอบ้านแพ้ว ในตำบลต่าง ๆ เช่น ตำบลเจ็ดริ้ว ตำบลหลักสอง ตำบลหลักสาม ตำบลบ้านแพ้ว ตำบลฮำแพง ฯลฯ ดำรงชีพด้วยอาชีเกษตรกรรม ทำสวน ทำนา มาจนถึงปัจจุบัน
           ชาวไทยเชื้อสายมอญ ในจังหวัดสมุทรสาครโดยทั่วไปดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย และยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีตามแบบเดิมไว้บ้างเช่น ลักษณะการสร้างบ้านเรือน ภาษา ตลอดจนพิธีกรรมต่าง ๆ
               - บ้านเรือน  มีลักษณะแตกต่างไปจากบ้านชาวไทยในด้านการก่อสร้างคือ นิยมหันขื่อของเรือนไปทางแม่น้ำลำคลอง หรือหันหน้าไปทางทิศตะวันตก จนมีคำพังเพยว่า มอญขวาง เสาเรือนที่เป็นเสาเอกของบ้านจะต้องจัดให้เป็นที่อยู่ของผีบ้านผีเรือน ตามความเชื่อของมอญอีกด้วย
               - ภาษา  ใช้ภาษมอญเป็นสื่อกลางระหว่างกลุ่มชาวไทยเชื้อสายมอญด้วยกัน รวมถึงบทสวดมนต์และการเทศน์ของพระภิกษุ ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางศาสนา แต่เมื่อติดต่อกับคนทั่วไปจะใช้ภาษาไทยกลาง
               - การแต่งกาย  ผู้ชายสูงอายุจะนุ่งผ้าที่เรียกว่า สะล่ง ที่ไทยเรียกว่า โสร่ง เป็นผ้าลายตาหมากรุก ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าคานิน หรือนิน คล้ายการนุ่งผ้าถุงของหญิงไทย แต่ยาวกรอมส้นเท้า เมื่อไปทำบุญที่วัดหรือมีงานสำคัญจะใช้ผ้าสไบห่มเฉียงไหล่ นิยมไว้ผมยาวเกล้าเป็นมวยต่ำ ค่อนไปข้างหลัง
               - ผีประจำหมู่บ้าน  แม้จะนับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่ยังมีความเชื่อเรื่องผีควบคู่กันไปเชื่อกันว่า เป็นบรรพบุรุษของตนตามมาคุ้มครองพวกตนจากเมืองมอญ จะต้องทำพิธีเซ่นไหว้อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คนในหมู่บ้าน โดยมีคนทรงเป็นผู้ประกอบพิธี
               - ผีบ้านผีเรือน  เป็นผีประจำตระกูล ส่วนใหญ่จะตกทอดการสืบผีไปยังบุตรชายคนหัวปีเรื่อยไป หากไม่มีบุตรชายสืบสกุลผีนั้นก็ขาดจากสกุลนั้นไป ประเพณีการสืบผีประจำตระกูล ต้องมีพิธีรับผีประจำตระกูลจากบิดา ผู้ที่จะรับต้องทำหน้าที่เก็บรักษาสมบัติประจำตัวผี อันประกอบด้วย แหวนผีหนึ่งวง เสื้อหนึ่งตัว ผ้าโพกหัวหนึ่งผืน โสร่งหนึ่งผืน หม้อหนึ่งใบ ของทั้งหมดจะเก็บรวมไว้ในตะกร้า แขวนไว้ที่เสาตรงหัวนอนของผู้รับผีนั้น และหน้าที่ของผู้รับผีประการหนึ่งคือ ทำการรำผีตามประเพณีอยู่เสมอ
           เมื่อมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ปกติเกิดขึ้นแก่คนในครอบครัว แต่ละครอบครัวจะต้องจัดให้มีการรำผี เพื่อขอขมาโทษต่อผี
               - ประเพณีสงกรานต์  กำหนดให้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน ของทุกปี จะมีการประกอบประเพณีทางศาสนา อย่างพร้อมเพรียงกัน ถึงสามวัน ติดต่อกันเริ่มตั้งแต่การทำบุญเลี้ยงพระด้วยข้าวสงกรานต์ (ข้าวแช่) การแห่นกแห่ปลาไปปล่อยที่วัด การแห่นางหงส์ การสรงน้ำพระ การรดน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ตลอดจนการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ เล่นสะบ้า และเล่นทะแยมอญ
               - การเล่นสะบ้าและทะแยมอญ  เป็นการละเล่นของชาวมอญที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ ปัจจุบันหาดูได้ยาก ยังคงเหลืออยู่เพียงบางแห่งเท่านั้น เช่นที่ตำบลบางกะดี่ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ ฯ กับที่ตำบลปากลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และวัดคลองครุ ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง ฯ

               - การเล่นสะบ้า  เดิมนิยมเล่นกันในหมู่หนุ่มสาวที่ยังเป็นโสด ในตอนเย็นหลังจากว่างงานหรือเสร็จสิ้นการทำบุญสงกรานต์แล้ว จะนัดหมายกัน ณ บริเวณลานบันไดบ้านหนึ่ง ภายในหมู่บ้านของตน การเล่นสะบ้านั้นแบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายในจำนวนเท่า ๆ กัน ใช้ลูกสะบ้าซึ่งทำด้วยไม้ลักษณะกลม ๆ แบน ๆ สำหรับทอยหรือเขย่งเตะ หรือโยนด้วยเท้าแล้วแต่โอกาสกะให้ถูกคู่เล่นของตน เพื่อจะได้ออกมาเล่นกันเป็นคู่ต่อไป

               - การเล่นทะแยมอญ  เป็นการเล่นที่ใช้ได้เกือบทุกโอกาสตั้งแต่โกนจุก บวชนาค แต่งงาน ฉลองพระ ขึ้นบ้านใหม่แก้บน งานศพ ฯลฯ การเล่นประกอบด้วยผู้เล่นซึ่งทำหน้าที่ทั้งร้องและรำ ฝ่ายชายและหญิงฝ่ายละหนึ่งคน มีเครื่องดนตรีประกอบการเล่นห้าอย่างคือ ซอสามสาย ขลุ่ย จะเข้ กลองเล็กสองหน้าและฉิ่ง ผู้เล่นจะรำและร้องโต้ตอบด้วยเรื่องต่าง ๆ เป็นภาษามอญตามที่นิยมกัน หรือตามความประสงค์ของเจ้าภาพเช่น เรื่องทศชาติชาดก ธรรมสอนใจ วัฒนธรรมสิบสองเดือน เพลงเกี้ยวพาราสี เป็นต้น ทำนองเดียวกับเล่นลำตัดของไทยนั่นเอง จึงมีชาวเมืองบางคนเรียกทะแยมอญว่า ลำตัดมอญ

               - ประเพณีรำผี  เป็นพิธีที่สำคัญพิธีหนึ่งของชาวไทยเชื้อสายมอญ ซึ่งปฎิบัติสืบต่อกันมาและปัจจุบันยังคงประกอบพิธีนี้บ้างในอำเภอบ้านแพ้ว ด้วยมีความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องจากความเคารพนับถือผี ตั้งแต่ผีประจำหมู่บ้าน ผีบ้านผีเรือน ผีเต่า ผีงู ผีปลาไหล ผีไก่ ผีข้าวเหนียว เป็นต้น เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บุคคลในครอบครัว ถ้าคนในครอบครัวเจ็บป่วยบ่อย สมบัติผีชำรุด ของหาย ตลอดจนเกิดเรื่องเดือดร้อนต่าง ๆ อันถือว่าเป็นการผิดผี ในแต่ละครอบครัวจะต้องจัดให้มีการรำผี เพื่อขอขมาต่อผีให้ผีหายโกรธ
           ในการรำผีนอกจากต้องจัดเครื่องเซ่นตามประเพณีแล้ว ยังต้องสร้างโรงพิธีสำหรับใช้ในการรำผี รวมทั้งจะต้องมีเครื่องดนตรีต่าง ๆ ประกอบเช่น พิณพาทย์ ตะโพน ฉิ่ง ฯลฯ โดยให้ญาติพี่น้องที่นับถือผีเดียวกันและผู้ป่วยร่วมกันร่ายรำไปตามจังหวะดนตรีจนกว่าจะเสร็จพิธี

               - ประเพณีล้างเท้าพระ  ทำในวันทำบุญออกพรรษ โดยจะนำดอกไม้สีต่าง ๆ พร้อมทั้งขันใส่น้ำและจอกเล็ก ๆ มาวางบนผ้าที่ปูลาดไว้กับพื้นดิน เมื่อพระสงฆ์กำลังเดินเข้าสู่อุโบสถพอมาถึงตรงหน้าก็จะตักน้ำในขันรดไปบนหลังเท้าของพระสงฆ์ ถือเป็นการล้างเท้าพระภิกษุที่ได้รักษาศีลมาตลอดพรรษา พร้อมทั้งถวายดอกไม้ที่เตรียมมาด้วย นับเป็นอีกประเพณีซึ่งจัดว่าเป็นศิริมงคลแก่ผู้ปฎิบัติ

           ขนบธรรมเนียมประเพณีของลาวโซ่ง  ลาวโซ่งหรือผู้ไท เป็นชนชาติไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น ไทดำ ผู้ไทดำ ไทซงดำ ผู้ไทซงดำ ลาวทรงดำ ลาวซ่วง ลาวซ่วงดำ ลาวโซ่ง ไทโซง ฯลฯ หมายถึงผู้ที่นุ่งห่มด้วยผ้าสีดำ มีประวัติเล่าสืบต่อกันมาว่า มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ต่อมาได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาทางตอนใต้กับตะวันออกเฉียงใต้ และกระจายกันอยู่บริเวณมณฑลกวางสี ยูนนาน ตังเกี๋ย ลุ่มแม่น้ำและแม่น้ำแดง จนถึงแคว้นสิบสองจุไท โดยมีเมืองแถง หรือเดียนเบียนฟู เป็นศูนย์การปกครองตนเองอย่างอิสระ ภายหลังได้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาตั้งหลักแหล่งกระจายกันอยู่ในที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่สมัยธนบุรีเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๒๒ จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
           ลาวโซ่ง ถูกกวาดต้อนจากเขตเมืองญวน เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้ยกกองทัพไปตีเวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๒ ได้ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบุรีเป็นแห่งแรก ครั้งสุดท้ายได้กวาดต้อนมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ ต่อมาบรรดาลาวโซ่งเหล่านี้ได้กระจายกันอพยพไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย เนื่องจากลาวโซ่งรุ่นเก่ามีความปรารถนาจะกลับไปยังถิ่นฐานเดิมของตนที่เมืองแถง แคว้นสิบสองจุไทอีกครั้ง จึงพยายามเดินทางจากเพชรบุรีขึ้นไป ทางเหนือเรื่อยไป เมื่อถึงฤดูฝนก็หยุดพักทำนาเพื่อหาเสบียงเดินทางจนสิ้นฤดูฝนก็ออกเดินทางต่อไป บรรดาผู้สูงอายุซึ่งเป็นผู้นำทางได้ตายจากไปในระหว่างการเดินทาง บรรดาลูกหลานไม่สามารถเดินทางต่อไปให้ถึงที่หมายได้ จึงพากันตั้งหลักแหล่งไปตามระยะทางเป็นแห่ง ๆ ทำให้มีกลุ่มลาวโซ่งกระจายกันอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในประเทศไทยหลายแห่งเช่น จังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร กาญจนบุรี ลพบุรี พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย และเลย เป็นตน
           ลาวโซ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ได้เข้ามาตั้งรกรากและกระจายกันอยู่เฉพาะในบริเวณตำบลหนองสองห้อง อำเภอบ้านแพ้ว เป็นผู้ที่มาจากจังหวัดเพชรบุรี และยังติดต่อสัมพันธ์กับญาติพี่น้องในจังหวัดเพชรบุรี
               - ความเชื่อของลาวโซ่ง  ส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่องผี และขวัญอยู่มาก เชื่อว่าผีนั้นเป็นเทพยดาที่ให้ความคุ้มครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผีเรือน หากทำสิ่งไม่ดีจะเป็นการผิดผี ซึ่งผีเรือนอาจจะลงโทษได้
                   ผีแถนหรือผีฟ้า  เชื่อว่าเป็นเทวดาอยู่บนฟ้า สามารถบันดาลความเป็นไปแก่มนุษย์ทั้งด้านดีและด้านร้าย ต้องปฎิบัติตนให้ถูกต้องตามความประสงค์ของแถน เพื่อจะได้รับความเมตตาได้รับความสุข
                   ผีบ้านผีเรือน  เป็นผีที่คุ้มครองป้องกันบ้านเรือนให้ร่มเย็นเป็นสุขและอุดมสมบูรณ์ อาจสิงสถิตอยู่ตามป่า ภูเขาหรือต้นไม้บางแห่ง ก็สร้างศาลให้อยู่บริเวณที่มีหลักเมือง ถือว่าเป็นเขตหวงห้ามใช้เฉพาะการประกอบพิธีเซ่นไหว้ หรือที่เรียกว่า เสน เท่านั้น ส่วนผีประจำหมู่บ้านให้อยู่ต่างหากเรียกว่สา ศาลเจ้าปู่ หรือศาลตาปู่ และต้องทำพิธีเซ่นไหว้ทุกปี
                   ผีบรรพบุรุษ  เป็นผีของปู่ย่า ตายาย หรือพ่อแม่ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว จะถูกเชิญขึ้นไว้บนเรือน ณ ห้องผีเรือน หรือห้องของบรรพบุรุษที่เรียกว่า กะล่อท่อง และต้องจัดพิธีเซ่นไหว้ทุกปี เรียกว่า พิธีเสนเรือน
                   ผีป่าขวงและผีอื่น ๆ ที่สถิตอยู่ตามป่า ภูเขา แม่น้ำ หรือสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งหากคนทำให้ไม่พอใจก็อาจลงโทษให้เจ็บป่วยได้เช่นกัน
           ความเชื่อในเรื่องขวัญ เชื่อว่าแถนเป็นผู้สร้างให้มนุษย์มาเกิด และมีขวัญแต่ละคนติดตัวมาอยู่ในร่างกายรวม ๓๒ ขวัญ ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวทำงานได้ ขวัญอาจตกหล่นหรือสูญหายได้ง่าย ถ้าตกใจหรือเจ็บป่วยขวัญจะไม่อยู่กับตัว จึงต้องทำพิธีเรียกขวัญ หรือสู่ขวัญ เพื่อให้ขวัญกลับมาอยู่ในร่างกายอย่างปกติสุขตามเดิม
               - สภาพความเป็นอยู่  ลาวโซ่งมีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ สร้างบ้านเรือนในที่ราบเป็นเรือนใต้ถุนสูง ดำรงชีพด้วยการทำไร่ ทำนา ทำสวน เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ผู้ชายนิยมทำเครื่องจักสาน ผู้หญิงนิยมการทอผ้า เย็บปักถักร้อย ไม่มีการทำเครื่องปั้นดินเผา หรือหล่อหลอมโลหะ
               - ภาษา  มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง และใช้อยู่ในหมู่ของพวกตน และใช้ภาษาไทยกลางติดต่อกับผู้อื่น

               - พิธีเสนเรือน  เป็นพิธีสำคัญของลาวโซ่ง ซึ่งจะขาดหรือละเลยไม่ได้ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการกระทำที่เพิ่มความเป็นสวัสดิมงคลแก่ครอบครัว จะต้องจัดปีละครั้งเป็นอย่างน้อย คำว่า เสน แปลว่า เซ่น หรือสังเวย เสนเรือน หมายถึงการเซ่นไหว้ผีเรือน ได้แก่ การเซ่นไหว้ ปู่ย่า ตายาย รวมทั้งบรรพบุรุษทุกคน
           การทำพิธีเสนเรือน เจ้าภาพจะเชิญหมอเสน มาเป็นผู้ประกอบพิธีพร้อมกับแจ้งญาติพี่น้องให้ทราบ กำหนดวันทำพิธี และจัดเตรียมเครื่องใช้ในการทำพิธีให้เรียบร้อย เช่น เสื้อฮี - ส้วงฮี  สำหรับเจ้าภาพสวมใส่ในขณะทำพิธี ปานเผือน (ภาชนะคล้ายกระจาดขนาดใหญ่ใช้บรรจุอาหารและเครื่องเซ่นผีเรือน) ปานข้าว (ภาชนะใส่อาหารในหม้อเสน) ตั่งก๋า (เก้าอี้หรือม้านั่งสำหรับหมอเสนนั่งทำพิธีในห้องผีเรือน) และอาหารที่เป็นเครื่องเซ่นต่าง ๆ หมูจุ๊บ (เนื้อหมู เครื่องในหมูยำ) แกงไก่กับหน่อไม้เปรี้ยว เนื้อหมูดิบ ซึ่โครงหมู ไส้หมู ข้าต้มผัด มันเทศต้ม เผือกต้ม อ้อย ขนมและผลไม้ต่าง ๆ ตามฤดูกาล ข้าวเหนียวนึ่งเจ็ดห่อ ตะเกียบเจ็ดคู่ หมากพลู บุหรี่และเหล้า เป็นต้น
           เมื่อได้เวลาเซ่นไหว้ผีเรือน เจ้าภาพจะจัดเครื่องเซ่นต่าง ๆ บรรจุลงในปานเผือนที่เตรียมไว้ และยกเข้าไปวางไว้ในห้องผีเรือนที่เรียกว่า กะล่อห่อง ซึ่งเป็นสถานที่ทำพิธี หมอเสนจะเริ่มพิธีด้วยการกล่าวเชิญบรรดาผีเรือนที่เป็นบรรพบุรุษของเจ้าภาพ โดยเรียกชื่อบรรพบุรุษตามบัญชีรายชื่อที่เจ้าภาพจดไว้ในสมุดผีเรือน เรียกว่า ปั๊บผีเรือน จนครบทุกชื่อสามครั้ง เมื่อครบแต่ละครั้ง หมอเสนจะใช้ตะเกียบคืบหมูกับขนมทิ้งลงไปในช่องเล็ก ๆ ด้านขวาของห้องผีเรือนแล้วเซ่นเหล้าแก่ผีเรือนอีกสองครั้ง
           หลังจากเซ่นไหว้ผีเรืนเรียบร้อยแล้ว หมอเสนจะทำพิธีเสี่ยงทายให้แก่เจ้าภาพเรียกว่า ส่องไก่ ด้วยการพิจารณาลักษณะของตีนไก่ในแกงหน่อไม้เปรี้ยวที่เจ้าภาพนำมาให้ และทำนายตามลักษณะของตีนไก่ จากนั้นเจ้าภาพจะทำพิธีขอบคุณหมอเสน เรียกว่า ฟายหมอ แล้วจึงเลี้ยงอาหารแขกที่มาช่วยงานเป็นอันเสร็จพิธี
               - พิธีแต่งงาน  ภาษาลาวโซ่งเรียกว่า กินดอง การทำพิธีจะจัดทำที่บ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะต้องทำพิธีไหวผีเรือนบ้านเจ้าสาวและกล่าวอาสาว่า ตกลงจะอยู่รับใช้หรือช่วยทำงานให้ครอบครัวของพ่อตาแม่ยาย เป็นเวลากี่ปีแล้วแต่จะตกลงกันเพื่อให้ผีเรือนรับรู้ เนื่องจากเมื่อแต่งงานแล้ว เจ้าสาวจะต้องออกจากผีเรือนของตนไปนับถือทางฝ่ายชาย และไปอยู่บ้านฝ่ายชายเว้นแต่ว่าเจ้าสาวจะเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว ก็อาจต้องตกลงกับฝ่ายชายให้มานับถือผีตามฝ่ายหญิง และมาอยู่บ้านฝ่ายหญิงเรียกว่า อาสาขาด ต่อจากนั้นเจ้าบ่าวจะมอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาว นอกเหนือไปจากเงินสินสอดตามที่ตกลงกันไว้ เงินจำนวนนี้เรียกว่า เงินตามแม่โค หมายถึงเงินค่าตัวของแม่ฝ่ายหญิงที่เคยได้รับค่าตัวเท่าใดตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษเช่น อาจเป็น ๑๐ - ๒๐ บาท ลูกสาวก็จะได้รับตามจำนวนเท่านั้น หลังจากเสร็จพิธีแล้วเจ้าภาพจะเลี้ยงแขกที่ไปช่วยงาน
               - พิธีศพ  จะเชิญหมอเสนมาประกอบพิธี เริ่มตั้งแต่การเอาผีลงเรือน และการเอาผีขึ้นเรือน
                   การเอาผีลงเรือน  ถ้าผู้ตายถึงแก่กรรมในบ้านเรือน และตั้งศพไว้ในบ้านก่อนจะเคลื่อนย้ายไปประกอบพิธีต่อที่วัด เจ้าภาพจะเชิญหมอเสนมาทำพิธีเรียกขวัญ (ช้อนขวัญ) คนในบ้านก่อนไม่ให้ติดตามผู้ตายไปอยู่ที่อื่น
                   การช้อนขวัญ เริ่มด้วยหมอเสนถือสวิงเดินนำหน้าขบวนและทำท่าช้อนไปรอบ ๆ บริเวณที่ตั้งโลงศพของผู้ตาย ตามด้วยเจ้าภาพ ซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน เดินถือเสื้อผ้าของคนในบ้านหนึ่งชุด บรรดาญาติพี่น้อง และบุตรหลานทั้งหมดเดินตามหลัง เมื่อวนสามรอบแล้วต้องเข้าไปในห้องผีเรือน เพื่อไหว้ผีเรือนให้ช่วยคุ้มครองอันตราย หรือเคราะห์ร้ายทั้งปวง และให้ขวัญของแต่ละคนกลับมาอยู่กับตนเอง
                   หลังจากนั้นจึงทำพิธีเคลื่อนย้ายศพจากเรือนไปวัด โดยจัดขบวนแห่ให้สวยงาม เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตายมีการตกแต่งด้วยธง
                   การเอาผีขึ้นเรือน  จะทำเมื่อบิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ในบ้านตายเท่านั้น เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ตาย มิให้วิญญาณของผู้ตายต้องเร่ร่อน เป็นการเชื้อเชิญวิญญาณของผู้ตายให้เข้าไปอยู่ร่วมกับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อจะได้คุ้มครองบุตรหลาน
                   หมอเสน จะเป็นผู้กำหนดวันเอาผีขึ้นเรือนและเตรียมพิธี หลังจากเผาศพผู้ตายเรียบร้อยแล้ว วันรุ่งขึ้นหมอเสนจะเก็บอัฐิของผู้ตายบรรจุโกศส่วนหนึ่ง เพื่อให้บุตรหลานนำไปบูชา ณ ห้องผีเรือน ส่วนอัฐิที่เหลือจะใส่ไหนำไปฝังยังสถานที่ที่เตรียมไว้ในป่าช้า และนำบ้านเล็ก ๆ ทำด้วยตอกไม้ไผ่เรียกว่า หอแก้ว ปลูกคร่อมบนบริเวณที่ฝังไหอัฐิไว้ หากผู้ตายเป็นชายเช่น บิดา ปู่ ตา ฯลฯ จะตกแต่งหอแก้วให้สวยงามด้วยธงไม้ไผ่สูงประมาณ ห้าวา เรียกว่า ลำกาว พร้อมทั้งนำผ้าดิบสีขาวขลิบรอบ ๆ ขอบผ้าด้วยผ้าสีต่าง ๆ สลับกันสามสีคือ แดง เหลือง ดำ ผูกติดกับยอดไม้ไผ่ให้มีความยาวพอเหมาะกับลำกาว ปลายยอดลำกาวติดรูปหงส์ตัวเล็ก ๆ ทำด้วยไม้งิ้วแกะสลักงดงาม เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพาหนะพาผู้ตายกลับไปเมืองแถน หลังจากนั้นจะนำอาหารมาเซ่นไหว้ผู้ตาย ทุกเช้าจนครบสามวัน แล้วหมอเสนจะรื้อหอแก้ว และลำกาวทิ้งหมดด้วยเชื่อว่าจะได้ไม่มีการตายเกิดขึ้นในครอบครัวนี้อีก และนัดกำหนดวันเอาผีขึ้นเรือนตามความพร้อมของเจ้าภาพ
                   เมื่อถึงวันกำหนดเอาผีขึ้นเรือน หมอเสนจะเป็นผู้กล่าวเชิญวิญญาณของผู้ตายและทำพิธีเซ่นไหว้ในห้องผีเรือน โดยทำพิธีคล้ายการเสนผีเรือน เริ่มด้วยหมอเสนจะกล่าวเชิญวิญญาณของผู้ตายให้มารับอาหารที่เตรียมไว้ก่อน แล้วจึงเชิญบรรพบุรุษตามลำดับรายชื่อที่จดไว้ในสมุดผีเรือน ให้มารับอาหารจนครบทุกชื่อ เสร็จแล้วจึงทำพิธีกู้เผือนคือ การนำอาหารที่เหลือออกจากปานเผือน ทั้งหมด
                   หลังจากเสร็จพิธีเอาผีเรือนขึ้นเรือนเรียบร้อยแล้ว หมอเสนต้องทำพิธีสู่ขวัญ หรือเรียกขวัญญาติพี่น้องบุตรหลานในครอบครัวผู้ตาย
               - ประเพณีการเล่นคอนหรืออิ้นกอน  เป็นการเล่นของหนุ่มสาวในเดือนห้า หรือทุกเดือนหกอันเป็นระยะที่ว่างจากการทำนา พวกหนุ่มสาวในแต่ละหมู่บ้าน จะพากันจับกลุ่มเล่นคอน โดยผู้ใหญ่ไม่หวงห้ามเปิดโอกาสให้พวกหนุ่มสาวทำความรู้จักมักคุ้นกันยิ่งขึ้น โดยใช้ลูกช่วงเป็นอุปกรณ์การเล่น ให้หนุ่มสาวโยนให้ถูกกัน เป็นการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างหนุ่มสาว ให้มีโอกาสได้รู้จักสนิทสนมกันในที่สุด

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |