| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


ศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อ
           จังหวัดสมุทรสาครมีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน ประชากรของจังหวัดมีหลายเชื้อชาติ ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน และคนไทยเชื้อสายมอญ เป็นผลให้ประชากรแต่ละกลุ่มยึดถือ และปฎิบัติตามความเชื่อทางวัฒนธรรม และประเพณีของตนแตกต่างกันออกไป ดังจะเห็นได้จากประเพณีรำผี ประเพณีล่องเจ้า ประเพณีล้างเท้าพระ ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมือง เป็นต้น
           ประชากรร้อยละ ๙๘ นับถือพุทธศาสนา มีวัดอยู่เป็นจำนวนมากประมาณ ๑๐๐ วัด มีผู้นับถือคริสตศาสนาเล็กน้อยประมาณ ๔,๐๐๐ คน และผู้นับถือศาสนาอิสลามน้อยมากเพียงประมาณ ๓๐๐ คน

           ศาลเจ้า  เป็นศูนย์รวมของชาวจีนในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ในรอบปีบรรดาศาลเจ้าต่าง ๆ จะมีการจัดงานหลายครั้งแตกต่างกันออกไปเช่น
               วันสารททิ้งกระจาด เดือนเจ็ด
               วันเทศกาลหยวนเชียง เดือนอ้าย
               วันฉลองตอบแทนบุญคุณเทพปลายปี
               วันฉลองวันเกิดเทพ ผู้เป็นประธานในศาล
               เทศกาลกินเจ เดือนเก้า
               วันฉลองวันสร้างศาล
               วันที่ระลึกวันตายของเทพผู้เป็นประธานของศาล
           ศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาครมีอยู่ ๑๘ ศาล ด้วยกันคือ

               - ศาลเจ้าพ่อทุ่ง  อยู่ในตำบลโคกขาม อำเภอเมือง ฯ
               - ศาลเจ้าพ่อจัน  อยู่ในตำบลโคกขาม อำเภอเมือง ฯ
               - ศาลเจ้าพ่อโต  อยู่ในตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง ฯ
               - ศาลเจ้าแม่กลางคลอง  อยู่ในตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง ฯ
               - ศาลเจ้าโรงเจเซี่ยงซิ้วกิวตั้งฮุดโจ๊ว  อยู่ในตำบลตลาดกระทุ่มแบน อำเภอเมือง ฯ
               - ศาลเจ้าตี่เบ็กฮุด  อยู่ในตำบลตลาดกระทุ่มแบน อำเภอเมือง ฯ
               - ศาลเจ้าอิ๋วเทียนเนี้ยว  อยู่ในตำบลมหาชัย อำเภอเมือง ฯ
               - ศาลเจ้าปุนเถ้ากง  อยู่ในตำบลมหาชัย อำเภอเมือง ฯ
               - ศาลเจ้าพ่อเภา  อยู่ในตำบลมหาชัย อำเภอเมือง ฯ
               - ศาลเจ้ากวนอู  อยู่ในตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง ฯ
               - ศาลเจ้าทะเลกาหลง   อยู่ในตำบลกาหลง อำเภอเมือง ฯ
               - ศาลปากคลองกาหลง  อยู่ในตำบลกาหลง อำเภอเมือง ฯ
               - ศาลเจ้าไท้เสียฮุดโจ๊ว  อยู่ในตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง ฯ
               - ศาลเจ้าบางกระเจ้า  อยู่ในตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมือง ฯ

               - ศาลเจ้าแม่ทับทิม  ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง ฯ แท่นบูชาภายในศาลประกอบด้วย เจ้าแม่ทับทิมอยู่กลาง เจ้าพ่อกวนอู อยู่ด้านซ้าย เจ้าพ่อปุนเถ้ากง อยู่ด้านขวา
           ชุมชนบริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิม เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนไหหลำ ส่วนใหญ่มีอาชีพต่อเรือประมง
           ธงเจ้าแม่ ใช้ธงผ้ารูปสามเหลี่ยม ชายธงใช้โบกปัดรังควานสิ่งชั่วร้าย ชาวประมงในจังหวัดที่ศรัทธาจะนำธงนี้ไปบูชาในเรือประมง เพื่อให้เกิดโชคลาภและเป็นกำลังใจในการการประกอบอาชีพ

               - ศาลเจ้าตึก ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าเสา อำเภอกระทุ่มแบน อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ศาลเจ้าตึกเป็นจุดสำคัญของการตั้งถิ่นฐานในยุคแรก ๆ ของชุมชนชาวจีน ในจังหวัดสมุทรสาคร เชื่อกันว่าสร้างในสมัยธนบุรี
           ตัวศาลเจ้าเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบเก๋งจีนจำนวนสี่หลัง มีอาคารหลักสองคู่เชื่อมต่อกันในแนวขวาง ด้านข้างมีอาคารสร้างขนาบตามแนวยาวด้านละหนึ่งหลัง ในแต่ละอาคารมีรายละเอียดดังนี้
                   อาคารหลังกลาง  ลักษณะเป็นเก๋งจีนก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูนสองหลังสร้างเชื่อมติดต่อกัน บางส่วนหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันตก หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลอน บริเวณสันหลังคาเทเป็นสันสี่เหลี่ยมยอดบนสุดเป็นรูปมังกรคู่ หันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางเป็นรูปลูกแก้ว สันหน้าเป็นรูปดอกไม้ คานรองรับหลังคาแกะสลักเป็นหัวมังกร และลายเมฆ ผนังก่ออิฐถือปูนทาสีแดง แบ่งออกเป็นสามห้อง ห้องกลางเป็นมุขลด ด้านบนมีป้ายอักษรจีน ด้านข้างทั้งสองข้างมีอักษรจีนด้านละสองแถว กึ่งกลางมีประตูทางเท้า บานประตูไม้เขียนภาพเสี้ยวกาง ภายในเป็นห้องโถงกว้าง ด้านในสุดมีแท่นประดิษฐานรูปเคารพจำนวนสามแท่น แท่นตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก และเจ้าแม่กวนอิม แท่นด้านข้างทั้งสองด้านประดิษฐานรูปเคารพแบบจีน ผนังส่วนที่ต่อกันระหว่างเก๋งจีนทั้งสองหลังมีประติมากรรมนูนต่ำ ทิศเหนือเป็นรูปมังกร และอักษรจีนสองแถว ด้านทิศใต้เป็นรูปเสือและอักษรจีนสองแถว มีประตูเชื่อมต่อกับเก๋งจีนด้านข้างทั้งสองข้าง
                   อาคารด้านข้าง  ลักษณะเป็นเก๋งจีนก่ออิฐถือปูน สร้างขนาบตามแนวยาวกับอาคารหลังกลาง หลังคาไม้มุงกระเบื้องดินเผา มีสันปูนปั้นนูน บริเวณสันหลังคาเทปูนทับเป็นสันรูปสี่เหลี่ยม หน้าบันทึบ มีปูนปั้นเป็นเส้นเรขาคณิต และมีการเขียนลวดลายประดับรูปดอกไม้จีน ด้านในส่วนที่เชื่อมกับอาคารหลังกลาง เว้นทางเดินโล่ง บริเวณด้านหน้าอาคารเก๋งจีนเป็นเพิงยื่นออกมาหนึ่งห้อง มีเสาปูนรองรับโครงหลังคา (เดิมเป็นเสาไม้) ด้านในกั้นห้องสองห้อง ผนังก่ออิฐถือปูนมีหน้าต่างรูปวงกลม ประดับกระเบื้องเคลือบปรุแบบจีน และหน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมสองช่อง สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยธนบุรีถึงสมัยรัตนโกสินทรตอนต้น

           วัดนักบุญอันนาท่าจีน  เมื่อปี พ.ศ... ฟาร์เธอร์ บีโอ ชาวฝรั่งเศส ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดวัดคริสต์บางช้าง (บางนกแขวก สมุทรสงคราม) ได้มาเยี่ยมคริสตังที่ท่าจีน ฟาร์เธอร์ เห็นว่า มีคริสตังจำนวนมากพอสมควร จึงคิดสร้างวัดคริสต์ขึ้น ได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ และสร้างอาคารหลังแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ เมื่อสร้างเสร็จให้ชื่อว่า วัดนักบุญอันนา เป็นอาคารสร้างด้วยไม้ไม่ใหญ่โต แต่มีขนาดเหมาะกับคริสตังสมัยนั้น ระยะแรกยังไม่มีฟาร์เธอร์มาดูแลประจำ ต้องขึ้นอยู่กับวัดซางตาครู้ส ต่อมาได้เปลี่ยนมาสังกัดวัดนักบุญเปโตร นครชัยศรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ และ พ.ศ.๒๔๓๘ มีฟาเธอร์ เรอแนแปร์รอส มิชชันนารีจากวัดคริสต์นครชัยศรี มาดูแลตามเอกสารศีลล้างบาปที่วัด
           วัดนักบุญอันนา เป็นวัดคริสต์อย่างสมบูรณ์มีบาทหลวงบริหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ ตลอดระยะเวลา ๖๐ ปี ตั้งแต่เริ่มสร้างมาในที่สุด สังฆราชคริสต์เรอแน แปร์รอส ได้แต่งตั้ง ฟาร์เธอร์ โอฟิล (ยวนเซ่งฮง กิจบุญชู) มาประจำอยู่ที่วัดนักบุญอันนาท่าจีน ได้บูรณะอาคารต่าง ๆ ที่ทรุดโทรมปรับปรุงและขยายต่อเติมอาคารโรงเรียนอันนาลัย
           ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ฟาร์เธอร์ได้ติดต่อกับ มาร์เธอร์มหาการิณี คณะพระหฤทัยแห่งกรุงเทพ ฯ ขอซิสเตอร์มาช่วยงานวัดและโรงเรียน ฟาร์เธอร์เทโอฟิล ปกครองวัดนักบุญอันนามาได้ ๒๒ ปี ต่อมาได้มีฟาร์เธอร์จากสามเณราลัย นักบุญยอเซฟมาผลัดเปลี่ยนกันดูแลจนถึง ปี พ.ศ.๒๕๒๕ ฟาร์เธอร์วรยุทธ กิจบำรุง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าวัด และอยู่ประจำที่วัดนักบุญอันนา เพื่อดูแลกิจการของวัดและโรงเรียน ได้รื้อครอบอาคารหลังเก่าต่อเติมอาคารเรียน ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ ได้รื้อวัดเก่าที่สร้างด้วยไม้มีอายุ ๙๕ ปี ต่อมา คาร์ดนัล ไมเคิลมีชัย กิจบุญชู  ได้วางศิลาฤกษ์วัดนักบุญอันนาหลังใหม่ในปีเดียวกัน สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๒๗  มีผู้บริจาคเงินสร้างหอระฆังและถ้ำแม่พระ ต่อมาได้สร้างรูปปั้นนักบุญอันนาไว้หน้าวัด ปัจจุบันวัดนักบุญอันนา มีผู้นับถืออยู่ประมาณ ๘๐๐ คน อาชีพชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทางการประมง
           สถานที่ตั้งระหว่างวัดนักบุญอันนากับวัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) มีพื้นที่ติดต่อกันในสมัยเริ่มแรกยังไม่มีรั้วรอบขอบชิด พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ก็เคยใช้เส้นทางผ่านเข้าไปในเขตของวัดคริสต์ และเมื่อชาวคริสต์มีงานก็จะมาหยิบยืมข้าวของเครื่องใช้ภาชนะต่าง ๆ ของวัดในพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ ทำให้ประชาชนที่ต่างศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขมาโดยตลอด
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
           จังหวัดสมุทรสาคร ประกอบด้วยประชากรหลายเชื้อชาติ มีคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก และยังมีคนไทยเชื้อสายมอญ คนไทยเชื้อสายลาวโซ่ง อีกด้วย ประชากรแต่ละกลุ่มต่างก็สืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของตน กลายเป็นธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นของกลุ่มชนต่าง ๆ เช่น ประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมือง และประเพณีล่องเจ้า ของผู้ที่มีเชื้อสายจีนและไทย ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีรำผี ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีล้างเท้าพระ และตักบาตรดอกไม้ของผู้ที่มีเชื้อสายมอญ และไทย ประเพณีเสนเรือน ประเพณีสู่ขวัญ ฯลฯ ของผู้ที่มีเชื้อสายลาวโซ่ง เป็นต้น
ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีน
               - ประเพณีการไหว้เจ้า ในเทศกาลตรุษและสารทจีน เทศกาลตรุษจีน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ก่อนถึงวันตรุษจีน ชาวจีนจะทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ ก่อนวันตรุษจีนหนึ่งวันจะเป็น วันจ่าย ต้องซื้อหาเตรียมข้าวของทุกอย่างในวันนี้ ในวันไหว้ต้องไหว้เจ้าในตอนเช้า ไหว้บรรพบุรษตอนสาย และ วันถือ คือวันตรุษจีน ในวันนี้ทุกคนจะพูด หรือทำแต่สิ่งดีงามเป็นมงคล ไม่ว่าให้ร้ายแต่จะกล่าวคำอวยพรที่ว่า ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ หมายความว่า ขอให้โชคดีปีใหม่ ในวันนี้จะไม่มีการทำงานใด ๆ ทั้งสิ้น แม้การกวาดบ้านเพราะจะเป็นการกวาดสิ่งดี ๆ ออกไป
               - การแต๊ะเอีย  เป็นเงินที่ใส่ซองแดง (อั่งเปา) ที่พ่อแม่มอบให้ลูกหลาน นายจ้างมอบให้แก่ลูกจ้าง และให้กันเองในครอบครัว ในโอกาสวันตรุษจีน
               - ประเพณีเช็งเม้ง  เป็นธรรมเนียมการไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย (หลุมฝังศพในสุสานจีน) ในเดือนสามของจีนซึ่งจะตรงกับเดือนเมษายนของชาวไทย สุสานจีนในจังหวัดสมุทรสาครอยู่ที่วัดธรรมโชติ วัดแหลมสุวรรณาราม และสุสานน่ำเก็ก ในตัวเมืองอำเภอมหาชัย การทำพิธีเซ่นไหว้ต้องทำในตอนเช้าก่อนเที่ยง
           เมื่อถึงสุสานต้องจุดธูปห้าดอกไหว้แป๊ะกง ซึ่งเป็นพระภูมิเจ้าที่ก่อนจากนั้น จึงเข้าไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย ที่ได้ทำความสะอาดไว้ก่อนแล้ว ของไหว้ที่นำมาต้องจัดเป็นสองชุด สำหรับบรรพบุรุษและของเทพยดาฟ้าดิน มีขนมเปี๊ยะ กับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ ที่ขาดไม่ได้คือ หอยแครงลวก ซึ่งตามตำนานชาวจีนกล่าวว่า ลูก ๆ ต้องการพบหน้าพ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้วจึงได้ตั้งจิตอธิษฐาน วันหนึ่งเจ้าได้มาเข้าฝันให้นำหอยแครงลวกไปไหว้ - เช็งเม้ง และแกะเนื้อออกกินตรงฮวงซุ้ย จึงจะเกิดกระดูกเนื้อเจอกัน กระดูกคือพ่อแม่ เนื้อคือ ลูก เหมือนกับพ่อแม่ลูกได้พบกัน
           ต่อจากนั้นลูกหลานจะเผากระดาษเงิน กระดาษทอง แล้วจึงจุดประทัด ด้วยความเชื่อว่าเสียงดังของประทัดจะขับไล่สิ่งไม่ดีไม่ให้มารบกวนบรรพบุรุษ และถ้าจุดประทัดดังมาก จะทำให้ลูกหลานร่ำรวยตลอดกาลนาน
           การไหว้เชงเม้งปีแรก จะประดับฮวงซุ้ยด้วยกระดาษสายรุ้งสีแดง ส่วนปีต่อไปจะประดับสายรุ้งหลากสี โดยแต่งและโปรยสายรุ้งบนเนินดินเหนือฮวงซุ้ย
               - ประเพณีกินเจ  คำว่า เจ หรือแจ ในภาษาจีน ทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแปลว่า อุโบสถ การกินเจ หมายถึง การกินอาหารก่อนเที่ยง ประกอบกับการถืออุโบสถศีลของชาวจีน ส่วนมากไม่กินเนื้อสัตว์จึงกลายเป็นว่า การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นการกินเจ
           เรื่องการกินเจหรือการสร้างโรงเจ มักเข้าใจว่าเป็นพิธีเกี่ยวกับพุทธศาสนา ในทางปฎิบัติชาวจีนได้ทำมานานแล้ว กล่าวว่าเป็นการบูชาถวายกษัตริย์เป้ง ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.๑๘๑๐ กษัตริย์เป้งได้ทำอัตวินิบาตกรรมในขณะจะเสด็จไปไต้หวัน โดยทางเรือเมื่อพระชนม์ได้ ๙ พรรษา พิธีทำบุญถวายพระราชกุศลแก่กษัตริย์เป้ง เริ่มขึ้นที่มณฑลฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นดินแดนผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ้อง โดยชาวฮกเกี้ยนใช้วิธีถือศีลกินเจถวายเป็นราชสักการะแทนพระราชพิธีศพ เนื่องจากเกรงกลัวอำนาจของราชวงศ์หงวน ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่ไม่ชอบเพราะเป็นชาวโมงโกลต่างชาติ ชาวจีนถือว่าเป็นคนป่า การทำพิธีกินเจจึงเป็นการอาศัยศาสนาบังหน้าการเมือง เพื่อไม่ให้ราชวงศ์หงวนรู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริง
           ประเพณีกินเจ เผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทยชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน และเนื่องจากพิธีดังกล่าวมุ่งหมายพระราชกุศลให้กษัตริย์จึงใช้สีเหลืองทุกอย่าง เพราะถือว่าเป็นสีของกษัตริย์ดังนั้นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการกินเจ จึงมักใช้สีเหลือง แม้กระทั่งธงที่ปักตามร้านขายอาหารเจ เป็นต้น
           การกินเจของชาวจีนในจังหวัดสมุทรสาคร มีศูนย์รวมอยู่ที่ศาลเจ้าโรงเจเซียงเฮียงตั้ว ตำบลท่าฉลอม ในโรงเจมีเทพเจ้าเก้าองค์เรียกว่า เก้าฮ้วงฮุดโจ๊ว แปลว่า พระเจ้าเก้าองค์ ซึ่งตามคติถือว่าเป็นผู้วิเศษที่ตายแล้ว จุติมาเกิดเป็นดาวจรเข้เรียงกันเก้าดวง เป็นผู้ถือบัญชีคนในมนุษย์โลก สามารถต่ออายุแก่ผู้ที่สิ้นอายุขัยให้ยืนยาวต่อไปได้ ตามความต้องการ ชาวจีนถือว่าระหว่างวันขึ้น ๑ - ๙ ค่ำ เดือนเก้า ตามปฎิทินจีน (ตรงกับเดือนตุลาคม) เป็นวันที่เก้าฮ้วงฮุดโจ๊ว ลงมาตรวจสอบผู้คนในโลกมนุษย์ เพื่อจดบันทึกแล้วบันดาลให้เป็นไปตามกรรมดีกรรมชั่วของแต่ละคน ดังนั้นในระยะเวลาดังกล่าวชนชาวจีนจึงพากันงดเว้นอาหารเนื้อสัตว์ชั่วคราว ด้วยการสมาทานรักษาศีลเพื่อแสดงว่าตนประกอบกรรมดี เมื่อถึงวันประกอบพิธีก็มักจะเข้าไปไหว้เจ้าและสวดมนต์ที่โรงพิธี หรือโรงเจ ที่เรียกว่า เจตึ้ง กรรมการผู้จัดการพิธีกินเจ จะตกแต่งสถานที่ด้วยดอกไม้ จัดโต๊ะวางกระถางธูปตั้งเครื่องเซ่น ที่เป็นอาหารเจพร้อมผลไม้ และจุดโคมไฟเก้าดวงซึ่งสมมุติว่าเป็น เก้าฮ้วงฮุดโจ๊ว แขวนไว้เป็นแถวตลอดเวลาทั้งกลางคืนกลางวัน

           ในระหว่างระยะเวลาเก้าวันที่เจ้าประทับอยู่ในศาล จะมีพิธีกรรมต่าง ๆ ดังนี้
               หนึ่งค่ำ (ชิวอิด)  อัญเชิญฮุดโจ๊ว
               สามค่ำ (ชิวซา)  วันไหว้ใหญ่ (ตั้วเจตี้)
               หกค่ำ (ชิวลัก)  วันไหว้ใหญ่  (ตั้วเจตี้)  เวลา ๑๔.๐๐ น. พิธีเวียนรูป
               แปดค่ำ (ชิวโป๊ย) เวลา ๑๙.๐๐ น. พิธีลอยกระทงและปล่อยเต่า  ๒๑.๐๐ น. ประมูลของฮุดโจ๊ว
               เก้าค่ำ (ชิวเก้า) วันไหว้ใหญ่ (ตั้วเจตี้)  ๑๔.๐๐ น. เซ่นไหว้วิญญาณไม่มีญาติ  ๑๖.๐๐ น. พิธีทิ้งกระจาด  ๒๐.๐๐ น. ประมูลของฮุดโจ๊ว  ๐๒.๐๐ น. ขบวนแห่ส่งฮุดโจ๊ว
           ศาลเจ้าโรงเจเฮียงเฮียวตั้ว ไม่มีการเข้าทรง ด้วยความเชื่อว่าเทพเจ้าที่เสด็จมา (ฮุดโจ๊ว) เป็นแบบบุญฤทธิ์ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์เหมือนโรงเจอื่น ๆ ดังนั้นในการรับเจ้าจึงใช้วิธีอัญเชิญด้วยการใช้เสี่ยงทาย ทำนายเวลามาสู่โลกมนุษย์ และเมื่อพิธีกรรมกินเจสิ้นสุดลง ทางศาลเจ้าจะสร้างเรือกระดาษขนาดเท่าเรือจริง
ภายในเรือบรรจุเข้าของเครื่องใช้ที่ทำจากกระดาษรวมทั้งประทัดและดอกไม้ไฟ จัดเป็นขบวนแห่ไปที่ริมน้ำ หน้าวัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) เพื่อทำพิธีส่งเทพเจ้ากลับสู่สวรรค์ โดยเผาข้าวของเครื่องใช้ไปพร้อมกับเรือ เป็นการสิ้นสุดการกินเจ
 

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |

>