| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


มรดกทางวัฒนธรรม

โบราณสถานโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ

           จังหวัดสมุทรสงคราม มีหลักฐานทางประวัติที่เก่าแก่อยู่มาก เป็นเมืองที่มีมาแต่สมัยอยุธยา จากการที่ประชากรมีความเชื่อศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสั่งสมวัฒนธรรม ปรากฎร่องรอยทางวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ในลักษณะต่าง ๆ ได้แก่โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปกรรมที่ปรากฎอยู่ตามศาสนาสถานในพุทธศาสนา
           ศิลปกรรมที่สำคัญ  มีศิลปกรรมที่สืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนา และภูมิปัญญาที่มีรูปแบบเฉพาะตน ผสมผสานกับศิลปะในท้องถิ่น ใกล้เคียงเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ใช้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ในการถ่ายทอดความรู้และวิทยาการต่าง ๆ
           ศิลปกรรมที่สำคัญเนื่องในพระพุทธศาสนา มีปรากฎอยู่เป็นจำนวนมากในวัด เช่น
               - สถาปัตยกรรม ประกอบด้วย โบสถ์ วิหาร พระปรางค์ เจดีย์ หอไตร กุฎิสงฆ์ ฯลฯ
               - ประติมากรรม มีพระพุทธปฎิมา ลวดลายแกะสลัก ลายปูนปั้นประกอบสถาปัตยกรรม
               - จิตรกรรม ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ และวิหาร
           วัดในพระพุทธศาสนา  มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น วัดเพชรสมุทรวรวิหาร วัดอัมพวันเจติยาราม วัดเขายี่สาร วัดบางกุ้ง วัดบางพลับ วัดบางแคใหญ่ วัดจุฬามณี วัดเจริญสุขาราม ฯลฯ รายละเอียดมีอยู่ในมรดกทางพระพุทธศาสนา

           ศาลหลักเมือง  เริ่มวางศิลาฤกษ์ศาลหลักเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ และทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิม และทรงพระสุหร่ายเสาหลักเมือง และ ม.ร.ว.คำฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นผู้ยกเสา เนื่องจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ฯ เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากราชนิกูลบางช้าง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งทรงพระราชสมภพที่เมืองแม่กลอง
           ในการยกเสาหลักเมือง ได้จัดให้เป็นพิธีการยิ่งใหญ่มาก มีการเสาะหาผู้ที่ชื่อ นายอิน นายจัน นายมั่น นายคง โดยสมมุติให้เป็นเทวดาประจำเมืองทั้งสี่ทิศ พระสงฆ์ ๑๐๘ รูป เจริญพระพุทธมนต์ พราหมณ์บรรลือสังข์ บัณเฑาะว์ และมีการรำบวงสรวง

           อุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ตั้งอยู่ ณ ตำบล อันเป็นบริเวณดั้งเดิมที่ทรงพระราชสมภพ อยู่ในเขตอำเภออัมพวา
           พระราชสมุทรเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยาราม ได้มอบที่ดินของวัดประมาณ ๑๑ ไร่ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของอาราม ให้เป็นสถานที่ก่อสร้าง และมูลนิธิ ร.๒ ดำเนินการก่อสร้าง มีพิธีเปิดป้ายอุทยาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ และเปิดให้ประชาชนเข้าชม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘  แบ่งพื้นที่ออกเป็นห้าส่วนด้วยกันเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ
               - พิพิธภัณฑ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ประกอบด้วยอาคารเรือนไทยสี่หลัง มีพื้นที่ประมาณ ๖๐๐ ตารางเมตร จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แบบชาติพันธุ์วิทยา แสดงศิลปวัตถุสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แสดงให้เห็นลักษณะศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชาวไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
                 หอกลาง  ภายในประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และศิลปวัตถุสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น เครื่องเบญจรงค์ เครื่องถ้วยชาม หัวโขน หุ่นวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง อิเหนา ฯลฯ
                 หอนอนชาย  จัดตกแต่งให้เห็นลักษณะของสังคมไทย มีพระพุทธรูปบูชา สมุดไทย เสื้อขุนนางไทยโบราณ ดาบ โล่ และะแท่นบรรทมเดี่ยวของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
                 หอนอนหญิง  จัดตกแต่งให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของหญิงไทยโบราณ มีเตียงนอนแบบไทย โต๊ะเครื่องแป้ง คันฉ่อง ฉากปัก เป็นต้น
                 ชานเรือน  จัดตามแบบบ้านไทยโบราณ ตกแต่งด้วยกระถางต้นไม้ ไม้ดัด ไม้ประดับ อ่างบัว ห้องครัวและห้องน้ำ แสดงลักษณะครัวไทย และห้องน้ำของชนชั้นกลาง มีเครื่องหุงต้ม ถ้วยชาม สำรับอาหาร ทั้งสองห้องนี้จำลองไว้ที่ใต้ถุนเรือนไทย
                 ตำแหน่งศิลาฤกษ์  แสดงให้เห็นแบบจำลองศิลาฤกษ์
                 หอสมุดพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  เป็นอาคารทรงไทย ตั้งอยู่กลางน้ำตามแบบหอไตรซึ่งเป็นห้องสมุดแบบฉบับของไทยมาแต่โบราณ มีพื้นที่ประมาณ ๑๕๐ ตารางเมตร ให้บริการอ่านหนังสือเพื่อศึกษาค้นคว้าพระราชนิพนธ์ หนังสือ สิ่งพิมพ์ วิทยานิพนธ์บทความเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและกวีร่วมสมัย หนังสือตัวพิมพ์ หนังสือตัวเขียน เช่น สมุดไทยดำ สมุดทรายขาว ใบลาน คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และวรรณคดีมรดก เครื่องดนตรีไทยชุดใหญ่

           อนุสาวรีย์แฝดสยาม อิน - จัน  เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๔ เกิดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกคือฝาแฝด อิน - จัน เป็นฝาแฝดตัวติดกันเป็นฝาแฝดคู่แรกของโลก มีศัพท์เรียกว่า แฝดไทย (Siamese Twin)
           อิน - จัน  เกิดที่ตำบลแหลมใหญ่ ปากคลองแม่กลอง อำเภอเมือง ฯ  ฝาแฝดดังกล่าวมีหน้าอกที่มีแผ่นหนังเชื่อมยึดติดกันเป็นแถบกว้าง แรกเกิดหนังหน้าอกดังกล่าวบิดเป็นเกลียว เด็กทั้งสองนอนในท่ากลับหัวกลับเท้า มารดาจึงจับหมุนให้หัวและเท้ามาอยู่ทางเดียวกัน ทั้งสองมีสะดือร่วมกัน
           ในปี พ.ศ.๒๓๗๒ มีเรือใบสินค้าของชาวอเมริกันชื่อแซคฮอม มาเทียบท่าที่กรุงเทพ ฯ  มีพ่อค้าชาวสก๊อตชื่อมิสเตอร์โรเบอร์ต ฮันเตอร์ ได้รับอนุญาตจากแม่ของอิน - จัน และเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ นำฝาแฝดคู่นี้ไปสหรัฐอเมริกา มีกำหนดสามปี โดยจ่ายเงินให้แม่ของอิน - จัน เป็นเงิน ๑,๖๐๐ บาท
           ฝาแฝดอิน - จัน  ได้ไปแสดงตัวที่เมืองบอสตัน ในสหรัฐอเมริกา เป็นแห่งแรก ผู้คนพากันมาชมกันเป็นจำนวนมาก เมื่อ อิน - จัน บรรลุนิติภาวะ ก็ได้แยกตัวออกจากมิสเตอร์ฮันเตอร์ แล้วไปแสดงในที่ต่าง ๆ มีคนมาชมเป็นจำนวนมาก ทั้งสองช่วยกันคิดแบบการแสดงต่าง ๆ ให้เห็นความว่องไวและพละกำลัง มีการหกคะเมนตีลังกา เป็นต้น จนหาเงินได้ร่ำรวย สามารถซื้อที่ดินทำไร่ที่รัฐนอร์ธแคโรไลนา เมืองเวิลด์โปโร เริ่มกิจการทำไร่ยาสูบเวอร์จิเนีย ประสบผลสำเร็จอย่างดี มีทาสและคนงานในไร่ถึง ๓๓ คน พออายุได้ ๓๒ ปี ทั้งสองก็แต่งงานกับหญิงชาวอเมริกันสองคน ทั้งคู่มีลูกชายและลูกสาวหลายคน
           ต่อมาทั้งสองได้เดินทางไปแสดงที่ยุโรปหลายครั้ง ทั้งสองถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ เมื่ออายุได้ ๖๓ ปี ทั้งสองสิ้นใจห่างกันสองชั่วโมง
           เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อิน - จัน ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ทางจังหวัดจึงได้สร้างอนุสรณ์สถานขึ้นที่ตำบลสาดใหญ่ อำเภอเมือง ฯ
ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น

           การทำเครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทอง  ลายเบญจรงค์และลายน้ำทองเป็นชื่อเรียกเครื่องถ้วยชนิดหนึ่งที่มีใช้ในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยามาถึงปัจจุบัน เครื่องถ้วยดังกล่าวนี้เดิมเป็นของที่ทำพิเศษจากประเทศจีน โดยช่างไทยเป็นผู้ออกแบบ ให้ลาย ให้สีตามแบบศิลปะไทย แล้วส่งแบบลายไปให้ช่างจีนผลิตที่ประเทศจีน นำมาใช้ในราชสำนัก ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด
               - เบญจรงค์  แปลว่า ห้าสี หมายความถึงเครื่องถ้วยชามที่เขียนด้วยสีห้าสี แต่ความจริงปรากฏว่ามีตั้งแต่สามสีขึ้นไปถึงห้าหรือแปดสี สีที่ใช้เป็นหลักคือแดง เหลือง ขาว ดำ เขียวหรือน้ำเงิน ส่วนสีอื่น ๆ ก็มี เช่น ชมพู ม่วง แสด น้ำตาล แต่ส่วนใหญ่ถือว่ามีห้าสี
               - เครื่องถ้วยเบญจรงค์  เป็นเครื่องถ้วยสีขาวที่เขียนลายให้สีตกแต่งโดยใช้วิธีลงยา จีงมีรอยสีนูนเหนือพื้นเครื่องถ้วย
               - เครื่องถ้วยลายน้ำทอง  จัดอยู่ในประเภทเดียวกันแต่เพิ่มสีทองเป็นพื้นหรือแต้มสีทองระหว่างสีเบญจรงค์ หรือเขียนเส้นตัดสีทอง สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีได้ทรงสั่งเครื่องเบญจรงค์และเครื่องถ้วยลายน้ำทอง ลายเทพนมและลายผลิตใหม่ ๆ เช่น ลายดอกกุหลาบ ลายดอกเบญจมาศ ดอกพุดตาน ลายนก และลายดอกไม้เข้ามาใช้ในราชสำนัก
           หลังการเขียนลายเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำเครื่องถ้วยเซรามิกนี้เข้าแตาเผาอีกครั้งจึงจะออกมาเป็นเครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่มีสีสันสวยงาม ลวดลายเด่นตามลักษณะต่าง ๆ มีทั้งชาม จาน โถ จานเชิง ช้อน ชุดน้ำชา ชุดตั้งโต๊ะบูชา กระโถน ฯลฯ
           ลักษณะเด่นของเบญจรงค์อยู่ที่การเขียนลายเก่าโบราณเหมือนของจริงทุกประการ และศิลปะการใช้สีนูน เน้นให้เห็นลายชัดเจน

           การแสดงหุ่นกระบอก  หุ่นกระบอกของจังหวัดสมุทรสงครามเกิดขึ้นที่เมืองสุโขทัย ซึ่งได้รูปแบบหุ่นจีนไหหลำ แล้วนำมาติดทำเป็นหุ่นไทย และคิดกระบวนการร้องตามแบบหุ่นไหหลำ
           หุ่นกระบอกตัวสูงประมาณหนึ่งฟุต มีแกนตัวเป็นกระบอกไม้ไผ่ยาวประมาณหนึ่งฟุต ปลายกระบอกด้านบนสวมด้วยตัวหุ่นที่เป็นไม้แกะสลัก ตกแต่งด้วยสีและเครื่องประดับแบบละคร สวมเสื้อทรงกระบอก ไม่มีแขนเสื้อ ปลายมุมด้านบนของเสื้อมีมุมติดอยู่ทั้งสองมุม ชายเสื้อปลายยาวจนคลุมกระบอกไม้ไผ่ มีขา การบังคับหุ่นใช้มือหนึ่งถือแกนกระบอกไม้ไผ่ อีกมือหนึ่งถือก้านไม้ไผ่สองก้าน ปลายบนผูกติดกับมือของหุ่น ก้านไม้ทั้งสองนี้จะใช้บังคับให้หุ่นร่ายรำได้ตามความต้องการ คนดูไม่เห็นก้านไม้เพราะมีเสื้อคลุมไว้ การเชิดใช้คนเชิดหนึ่งคนต่อหนึ่งตัว

           การแกะสลักลายมะพร้าวซอ  ส่วนใหญ่จะได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน กล่าวกันว่ามีมาแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง แต่ปรากฎเป็นหลักฐานในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซอที่สำคัญในประวัติศาสตร์ คือซอสายฟ้าฟาด ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
           มะพร้าวซอ มีลักษณะเหมือนมะพร้าวทั่วไป แต่มีส่วนที่แตกต่างจากมะพร้าวทั่วไปคือ ส่วนที่เป็นกะลา ที่จะนำมาทำซอได้ดี ต้องมีลักษณะพิเศษเป็นทรงรูปสามเหลี่ยม มีปุ่ม มีพูสามปุ่ม ปุ่มนี้เกิดขึ้นบริเวณเส้นสาแหรก ซึ่งเป็นด้านที่อยู่ตรงข้ามกับตากะลา มองดูเผิน ๆ คล้ายเป็นโหนกเหมือนหัวช้าง
           พื้นที่พบมะพร้าวซอ ลักษณะดีส่วนมากจะพบที่อำเภอบางคนทีและอำเภออัมพวา และยังไม่ปรากฎว่าจะพบที่จังหวัดอื่นของไทย สีผิวมะพร้าวเมื่อยังสด ๆ จะมีหลายสีเช่นสีเขียวแก่ สีเขียวอ่อน สีเหลืองเข้ม สีเหลืองอ่อน สีมะพร้าวไฟ (แดงอมส้ม) และสีเหลือง
           การเก็บมะพร้าวออกเป็นสี่ระยะตามความแก่อ่อนของอายุในการเก็บมะพร้าวซอ คือสีเผือก สีงาช้าง สามสี และสีดำ  การแบ่งความงามของมะพร้าวซอ แบ่งออกได้เป็นสี่ระดับ คือ
               ๑. มะพร้าวซอที่มีพูปูดนนูนขึ้นมาขนาดจิ้งจกสองตัวขี่กันลอดได้ พูตรงไม่บิดเบี้ยว และได้แนวกับพูหน้าซอทั้งสองพู เรียกว่า พญาซอ  แต่โบราณ จะต้องนำไปถวายพระมหากษัตริย์
               ๒. มะพร้าวซอที่พูปูดนนูนขึ้นมาไม่มากประมาณเหรียญบาทลอดได้ พูท้ายตรงไม่บิดเบี้ยว เรียกว่า ซอพญา
               ๓. มะพร้าวซอที่มีพูปูดนูนน้อย เหรียญบาทลอดไม่ได้ พูซ้ายบิดเบี้ยวไปทางซ้ายหรือขวา เรียกว่า ซอพล  เป็นซอฝึกหัดสำหรับผู้ที่หัดเล่นใหม่ ๆ
               ๔. ซอที่ทำจากกะลามะพร้าวพันธุ์อื่น ๆ เรียกว่า ซอแกง หรือซอมะพร้าวแกง
           มะพร้าวซอ  แบ่งออกเป็นสองขนาดตามสายพันธุ์  มะพร้าวซอขนาดเล็กนิยมใช้ทำซอสามสาย  มะพร้าวซอขนาดใหญ่ใช่ทำซออู้

               - วิธีการทำซอ  มะพร้าวพันธุ์ซอต้องมีอายุ ๘ ปี จึงให้ผลมาใช้ทำซอได้ การทำซอให้นำลูกมะพร้าวมาปลอกเปลือกอย่างปราณีตจนเห็นกะลามะพร้าว ใช้เลื่อยตัดหน้ากะลามะพร้าวด้านที่มีตาของกะลามะพร้าว แล้วใช้สิ่วแคะเนื้อมะพร้าวออกให้หมด นำกะลามะพร้าวนั้นไปผึ่งให้แห้งพอหมาด ใช้น้ำมันวานิชทาให้ทั่วกะลามะพร้าว เพื่อรักษาเนื้อกะลา แล้วทิ้งไว้ประมาณหนึ่งปีแล้วนำมาขัดเพื่อทำซอต่อไป หากนำมาใช้งานก่อนหนึ่งปี อาจเกิดการแตกตร้าวได้
           การเขียนลวดลายบนกะลามะพร้าว จะต้องคำนึงถึงเสียงด้วย ไม่ใช่คำนึงถึงความสวยงามแต่อย่างเดียว ช่างทำลวดลายที่ดีต้องมีความสามารถในการใช้ซอได้ดี และมีความเข้าใจในงานแต่ละประเภทที่มีซอเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ส่วนใหญ่ลวดลายที่แกะสลักจะเป็นลวดลายไทยที่มีความวิจิตรงดงามอยู่ในตัว
           ในการขึ้นหน้าซอ ทำได้โดยการนำหนังลูกวัวที่ไม่ผ่านการใส่เกลือ มาตัดให้ได้ขนาดแล้วนำไปแช่น้ำประมาณ ๒๔ ชั่วโมง จากนั้นนำมาขึงให้ตึงและตากทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วนำมาเขียนลวดลายมะพร้าวซอ
               - ลวดลายมะพร้าวซอ  งายฝีมือที่เกิดจากช่างพื้นบ้าน ใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น นำมาแกะสลักลวดลายแล้วนำมาทำเครื่องดนตรีไทยประเภทซออู้
               - ลักษณะมะพร้าวซอ  ต้องเป็นมะพร้าวพันธุ์พิเศษที่มีเฉพาะตัว  มะพร้าวโดยทั่ว ๆ ไปจะมีสามพู แต่มะพร้าวซอลูกต้องทุยไม่กลม และมีพูตรงกลางยาวกว่าอีกสองพู เป็นลักษณะเด่นที่นำมาทำซอ แล้วได้รูปซอที่สวยงาม และลักษณะมะพร้าวที่นำมาแกะสลักลายต้องไม่แก่หรืออ่อนเกินไปหรืออ่อนเกินไป
               - ลวดลายที่แกะบนมะพร้าวซอ  ส่วนใหญ่จะเป็นลายไทย ที่มีความวิจิตรงดงามอยู่ในตัวแบบของลายที่นำมาแกะมีสองแบบ คือ
                   ลายพุดตานหรือเครือเถา  จะเป็นเถาไม้เลื้อย เป็นพุ่มพวงดอกไม้ มีกิ่งก้านใบดอกสลับกับตัวในจินตนาการ วิ่งเล่นหรือเกาะเกี่ยวอยู่ในเครือเถา เช่น นก กระรอก ลิง หรืออื่น ๆ ตามความเห็นของช่าง หรือช่างอาจจะผูกเป็นลายปริศนาธรรมไว้เพื่อลองภูมิผู้รู้ก็ได้
                   ลายที่มีตัวละครหรือเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์  เรียกว่า ลายตัวประกอบ ด้านข้างปูพื้นด้วยลายไทยแบบต่าง ๆ เช่น กนกเปลว กนกใบเทศ กนกหางโต และลายที่เป็นแนวลายไทยที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง โดยช่างพื้นบ้าน ตลอดจนถึงลายเครือเถาพุดตานก็มี ตัวละครที่ได้รับความนิยมในยุคนี้คือรามเกียรติ์ แบ่งออกเป็นภาพเดี่ยวหรือลายเดี่ยวและภาพจับหรือลายคู่
           ภาพเดี่ยวหรือลายเดี่ยวคือ ภาพที่แกะเป็นรูปเทพเจ้าหนึ่งองค์หรือตัวละครเพียงตัวเดียวเช่นหนุมาน ทศกัณฐ์ พระราม พระลักษณ์เป็นคติทางศาสนาพราหมณ์
           ภาพจับหรือลายคู่คือ ลายที่แกะตัวละครสองตัว เป็นภาพที่มีเทพเจ้าเช่น หนุมานรบกับทศกัณฐ์ หรือภาพตัวละครหญิงสาวร่ายรำ เป็นการแสดงความรัก ภาพที่ตัวละครสามตัวเรียกว่าภาพสามจับเช่น ทศกัณฐ์อุ้มนางมณโฑเหาะผ่านมา พาลีเข้าแย่งนางมณโฑ เป็นต้น
           ภาพสี่จับ เช่น พระราม พระลักษณ์ และพระรามสู้กับทศกัณฐ์ ส่วนภาพเจ็ดจับ จะมีตัวละครเจ็ดตัวเช่น ภาพวานรเจ็ดตัวเหาะเกาะเกี่ยวต่อตัวกันเป็นรูปพญาช้างสาร
               - วิธีแกะลายไทย  การขึ้นลายต้องร่างด้วยดินสอคร่าว ๆ บนพื้นกะลาก่อน เริ่มจากวาดวงกลมรอบก้นพูข้างยาว เพื่อกำหนดความกว้างยาวของลายที่จะแกะในวงกลมนี้ ส่วนในวงกลมก็ต้องมีการร่างลายเช่นกัน จากนั้นจึงนำมาแกะ เสร็จแล้วขัดด้วยกระดาษทราย แต่งให้เรียบร้อยแล้วนำมาชักเงา จากนั้นก็ปิดโช่งโหว่ของด้านที่ตัดไว้ด้วยหนังวัว แล้วประกอบลำตัวได้แก่ คนตั้ง สายสี คันซอชัก แล้วทดสอบเสียงจนดี เป็นอันเสร็จ
               - การกลึงชุดคันทวนซอ  ชุดคันทวนประกอบด้วย ลูกบิด คันชัก และคันทวน นิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน ไม้มะเกลือ ไม้งิ้วดำ ไม้พยุง และแก่นมะขาม ช่างแต่ละบ้านมีทรวดทรงในการกลึงไม่เหมือนกัน มีความอ่อนช้อยสวยงามกันคนละรูปแบบ

               - ความไพเราะของซออู้  ขึ้นอยู่กับทุกส่วนของซออู้ ไม่ว่าจะเป็นคันซอชัก สายซอ ยางสน เมื่อประกอบคันทวนเข้ากับกะโหลกซอแล้ว ความชำนาญเฉพาะตัวของแต่ละช่างก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เสียงดี จะต้องตรวจลูกบิดคันชักสายซอทั้งสองเส้น ส่วนที่เป็นหางม้า หมอนรองหน้าซอ น้ำหนักของคันทวนและรัดอกว่าสัมพันธ์กันหรือไม่ ที่สำคัญช่างต้องทราบว่าเจ้าของชอบเสียงซออย่างไร นำไปใช้กับวงอะไร เช่น วงมโหรี วงเครื่องสายซอที่ใช้สำหรับสายเดี่ยว ซอที่ใช้ประกอบการแสดงหุ่นกระบอก

           การแสดงหนังใหญ่  หนังใหญ่เป็นศิลปะที่มีความละเอียดอ่อน ปัจจุบันมีการอนุรักษ์ไว้บ้างเช่น ที่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี กับหนังใหญ่สว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี ส่วนหนังใหญ่ของวัดบางน้อย จังหวัดสมุทรสงคราม ไม่มีผู้สืบทอดจึงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย
           หนังใหญ่ของวัดบางน้อย มีลีลาการเขียนภาพและลักษณะของลวดลาย บางส่วนคล้ายกับหนังใหญ่ชุดพระนครไหว ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
ตำนานและนิทานพื้นบ้าน
           ตำนานที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และสถานที่สำคัญบางแห่ง
           ตำนานหลวงพ่อบ้านแหลม  เป็นคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมามีอยู่สองนัยคือ
               - ตำนานที่หนึ่ง  เล่ากันว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ เกิดอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพ ฯ และหัวเมืองชายทะเล หลายหัวเมือง ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก บ้านเมืองเเงียบเหงา คนไม่ออกจากบ้าน ไม่มีใครไปเผาศพใคร ด้วยเข้าใจว่าเป็นโรคห่า พระสนิทสมณคุณ (เนตร) เจ้าอาวาสวัดบ้านแหลมได้ฝันว่า หลวงพ่อบ้านแหลมมาเข้าฝัน บอกคาถากันโรคห่าให้บทหนึ่ง ให้ไปดูที่พระหัตถ์ของหลวงพ่อบ้านแหลมในโบสถ์จึงให้คนไปดู พบคาถาว่า นะ มะ ระ อะ อยู่ที่หัตถ์ขวา และคาถาว่า นะ เท วะ อะ อยู่ที่หัตถ์ซ้าย จึงจดเอามาทำน้ำมนต์ให้ชาวบ้านไปอาบกิน ปรากฎว่าอหิวาตกโรคสงบตั้งแต่นั้นมา ความศักดิ์สิทธิ์ขอหลวงพ่อบ้านแหลม จึงเป็นที่เลื่องลือแต่นั้นมา
               - ตำนานที่สอง  กล่าวว่าหลวงพ่อบ้านแหลมลอยน้ำมา บ้างก็ว่า สององค์พี่น้องคือ หลวงพ่อบ้านแหลมกับหลวงพ่อเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี บ้างก็ว่าสามองค์พี่น้องคือ หลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วย บ้างก็ว่ามีสี่พี่น้องคือ หลวงพ่อบางพลี จังหวัดสมุทรปราการด้วย บ้างก็ว่าห้าองค์พี่น้องคือ มีหลวงพ่อวัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐมด้วย
           พระพุทธรูปทั้งห้าองค์ดังกล่าวล้วนศักดิ์สิทธิ์มีอภินิหารเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองนั้น ๆ  และขจรขจายไปยังจังหวัดอื่น ๆ โดยทั่วไปด้วย

           ตำนานหลวงพ่อโตวัดเจริญสุขาราม  หลวงพ่อโต เป็นพระประธานในพระอุโบสพวัดเจริญสุขารามวรวิหาร ตามตำนานกล่าวว่าท่านมาเข้าฝัน หลวงพ่อตามืด เจ้าอาวาสวัดเจริญสุขาราม ฯ แจ้งว่าอยากเข้ามาอยู่ที่วัดนี้ให้ไปรับท่านมาอยู่ด้วยและบอกที่อยู่ให้ หลวงพ่อตามืดจึงได้เดินทางไปตามที่ฝันก็พบ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถหลังเก่าของวัด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ ต่อมาเมื่อหลังสงครามมหาเอเซียบูรพาสงบลง ได้มีการสร้างพระอุโสถขึ้นใหม่ และอัญเชิญหลวงพ่อโตมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่มาจนถึงปัจจุบัน
           ความศักดิ์สิทธ์ของหลวงพ่อโตได้มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาในทางอิทธิปาฎิหารย์มากมายหลายเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะในห้วงเวลาของสงครามมหาเอเซียบูรพาคือ ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๘ ครั้งนั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรได้มาทิ้งระเบิดประตูน้ำบางนกแขวกซึ่งอยู่หน้าวัด แต่ลูกระเบิดด้านเสียเป็นส่วนมาก ยังความอัศจรรย์แก่ผู้พบเห็นเหตุการณ์นั้นอย่างมาก
           ตำนานเรื่องกุฎีทอง  มีเรื่องเล่าสืบต่อมาว่า วัดบางลี่กุฎีทอง มีสมภารองค์หนึ่งมีความเชี่ยวชาญทางสมถวิปัสสนา มีฌาณแก่กล้า สามารถนั่งทางใน เห็นเหตุการณ์ในอดีต และอนาคตได้
           เรื่องราวดังกล่าวนี้ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย มีเศรษฐีตระกูลหนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่แขวงบางช้างคือ อำเภออัมพวาในปัจจุบัน เศรษฐีตระกูลนี้เรียกว่า เศรษฐีบางช้าง  เป็นที่รู้จักกันทั่วไป บุคคลในตระกูลที่ได้รับพระราชทานเป็นเจ้าเมืองก็มี เช่น พระแม่กลองบุรี (ศร) ต้นตระกูลใหญ่และมั่งคั่งร่ำรวยยิ่งกว่าตระกูลใดในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
           ทั้งสองสามีภรรยาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณหลังวัดจุฬามณี เศรษฐีทั้งสองมีบุตรธิดาหลายคน ธิดาคนหนึ่งชื่อ นาค เป็นหญิงสาวที่สวยงามเป็นที่เลื่องลืออยู่ในลำน้ำนี้ ไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาครั้งนั้นจึงโปรดให้เจ้าเมืองราชบุรีไปสู่ขอต่อบิดามารดา สมัยนั้นเมืองสมุทรสงครามเป็นเมืองตรีขึ้นแก่เมืองราชบุรี ซึ่งเป็นเมืองโท เศรษฐีบ่ายเบี่ยงบอกต้องขอถามความสมัครใจของบุตรีก่อน แล้วนำความไปหารือกับพระแม่กลองบุรี (เสม) เจ้าเมืองสมุทรสงครามซึ่งเป็นญาติ พระแม่กลองบุรีได้ถามความสมัครใจของธิดาเศรษฐีและความเห็นของบิดามารดา ธิดาเศรษฐีไม่สมัครใจไปเป็นสนม ดังนั้นเศรษฐีพร้อมด้วยเจ้าเมืองสมุทรสงครามจึงพากันไปยังกรุงศรีอยุธยา ไปหารือกับหลวงพินิจอักษร (ทองดี)  เสมียนตรากระทรวงมหาดไทย
           หลวงพินิจอักษรได้คิดว่า นายทองด้วงบุตรชายของตนได้บวชเรียนแล้ว แต่ยังไม่มีคู่ครองถ้าได้ธิดาเศรษฐีมาเป็นคู่ครองก็มีความเหมาะสม ทั้งจะได้เป็นเกราะป้องกันภัย ไม่ให้ธิดาเศรษฐีต้องตกไปเป็นสนม เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้วก็บอกอุบายแก่เศรษฐีและเจ้าเมืองสมุทรสงคราม ทั้งสองฝ่ายก็เห็นดีด้วย จึงตกลงให้มีการหมั้นหมายกันไว้ตามประเพณี แล้วหลวงพินิจอักษรก็มีฎีกากราบทูลขึ้นไปว่า ธิดาเศรษฐีนั้นตนได้สู่ขอหมั้นหมายให้แก่นายทองด้วยบุตรชายแล้ว กำหนดจะทำพิธีวิวาหมงคลในเร็ว ๆ นี้ พรเจ้าแผ่นดินก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตามประสงค์
           เมื่อทั้งหมดกลับมาถึงเมืองสมุทรสงครามแล้ว ก็ได้ไปนมัสการสมภารวัดบางลี่น้อยขอให้ดูโชคชะตาราศีและกำหนดวันวิวาหมงคล สมภารตรวจดูแล้วจึงบอกเศรษฐีว่า ธิดาของท่านจะมีบุญวาสนามาก จะได้เป็นนางพญามหากษัตริย์ จะได้เป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลาย เพราะบุญกุศลแต่ชาติปางก่อน  เศรษฐีจึงกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จะสร้างกุฎีทองให้หลวงพ่ออยู่ให้เป็นสุข
           ธิดาเศรษฐีก็ได้เข้าพิธีวิวาหมงคลกับนายทองด้วง มหาดเล็ก  ต่อมานายทองด้วงก็ได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ยกกระบัตรเมืองราชบุรี และเมืองสมุทรสงคราม แล้วเข้ารับราชการที่กรุงธนบุรี ได้เลื่อนเป็นที่พระราชวรินทร์ เจ้ากรมตำรวจซ้าย  ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นที่พระยาอภัยรณฤทธิ์  พระยายมราช  เจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตามลำดับ และเมื่อพระองค์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ธิดาเศรษฐีก็ได้เป็นพระอัครมเหสี ได้เป็นที่สมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่หนึ่ง แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
           เศรษฐีทองระลึกถึงคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับสมภารวัดบางลีน้อย (หลวงพ่อพระปลัดทิม) ว่าจะสร้างกุฎีทองถวาย ดังนั้น ในปี พ.ศ.๒๓๒๕ เศรษฐีทองจึงได้สร้างกุฏิถวายจำนวนสามหลัง วัดบางลีน้อยจึงได้ชื่อใหม่ว่า วัดบางลี่กุฎีทอง  ต่อมา ตัววัดถูกน้ำเซาะพังลงไปในแม่น้ำ คงเหลือแต่กุฎีทองอยู่เพียงหลังเดียว  ต่อมา ได้รื้อกุฎีดังกล่าวมาปลูกไว้ที่วัดภุมรินทร์ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๕๖ และเรียกวัดนี้ว่า วัดภุมรินทร์กุฎีทอง อยู่มาจนถึงปัจจุบัน
           ตำนานบ้านเขายี่สาร  มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า แต่ก่อนมีเรือสำเภาจีนแล่นมาชนเขายี่สาร แล้วเรือแตกจมลง คนจีนสองคนพี่น้องที่มากับเรือจึงได้ขึ้นไปอยู่ที่เขายี่สาร ส่วนลูกเรือคนอื่น ๆ ก็ได้แยกย้ายกันไป จีนสองคนพี่น้องต่อมาได้ชื่อว่า คุณปู่ศรีราชาและคุณปู่หัวละมาน ซึ่งในปัจจุบันเป็นผู้ทื่คนยี่สาร และละแวกใกล้เคียงเคารพนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน
           ตำนานเรื่องนี้สอดคล้องกับชื่อสถานที่คือบรเวณที่สำเภามาจมลงเรียกว่า อู่ตะเภา ซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขายี่สาร ทางทิศตะวันตก และเชื่อกันว่าที่อู่ตะเภานี้ ยังมีเสากระโดงเรือสำเภาจมอยู่ด้วย
           นิทานพื้นบ้านเรื่องโกงกาง หิ่งห้อย ลำพู  มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า หมู่บ้านชายทะเลแห่งหนึ่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพจับปลา มีครอบครัวหนึ่งฐานะค่อนข้างดี และลูกสาวสวยชื่อลำพู เป็นที่หมายปองของบรรดาชายหนุ่มทั้งในหมู่บ้านเดียวกันและต่างหมู่บ้าน ในบรรดาชายหนุ่มเหล่านี้มีชายหนุ่มสองคนชื่อโกงกางและหิ่งห้อย แต่ทั้งสองคนไม่เป็นที่ถูกใจพ่อแม่ของลำพู เพราะทั้งคู่ฐานะไม่ดีเท่าที่ควร
           วันหนึ่งมีชายหนุ่มมาที่บ้านลำพูหลายคน มีเรื่องทะเลาะและต่อสู้กัน พ่อของลำพูไม่พอใจมาก จึงคิดหาวิธีกำจัดบรรดาชายหนุ่มเหล่านั้น จึงได้ใช้ขวากมาปักไว้รอบบ้าน แล้วประกาศว่า ถ้าใครเข้าถึงตัวลูกสาวได้ก่อน จะยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย บรรดาชายหนุ่มทั้งหลายไม่รู้ว่าจะใช้วิธีใดจึงผ่านเข้าไปได้ก็พากันเลิกล้มความตั้งใจ คงเหลือแต่โกงกางและหิ่งห้อย ทั้งสองจึงท้าประลองฝีมือกันว่าใตรจะสามารถเข้าบ้านของลำพูได้ก่อน ทั้งคู่จึงเริ่มหาวิธีทำลายขวาก โดยหิ่งห้อยลงมือกอบขวากออกทีละอัน แต่ยังเข้าไปไม่ถึงบ้าน ฝ่ายโกงกางคิดหาวิธีที่จะเข้าไปทางหน้าต่างห้องนอนของลำพูโดยหาไม้มาทำสะพานไปจนถึงหน้าต่างห้องได้สำเร็จ พ่อของลำพู
ก็ยกลำพูให้ตามสัญญา ทั้งสองคนได้อยู่กินกันจนแก่เฒ่ามีลูกหลานสืบตระกูล ส่วนหิ่งห้อยได้แต่ติดตามดูด้วยความอิจฉาจนตรอมใจตาย
           หลังจากที่ทั้งสามคนตายแล้วก็มาเกิดชาติใหม่ โกงกางเกิดเป็นต้นโกงกาง มีสะพานโค้งติดตัวมา (รากอากาศของต้นโกงกาง)  ลำพูเกิดเป็นต้นขวากโผล่จากใต้ดิน (รากแหลมจากพื้นดิน)  ส่วนหิงห้อยก็มีสัญลักษณ์ของตนเองที่ส่งแสงวับ ๆ บินไปตามต้นลำพูและโกงกาง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |