| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


มรดกทางพระพุทธศาสนา

ศาสนสถานและศาสนวัตถุ

            วัดเพชรสมุทรวรวิหาร  อยู่ในเขตตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง ฯ  ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘  เดิมชื่อวัดศรีจำปา
ซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก ต่อมาได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบ้านแหลม
            วัดนี้มีพระพุทธรูปสำคัญคือหลวงพ่อบ้านแหลม ที่มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวบ้านแหลมได้อพยพหนีพม่ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ด้านใต้ปากคลองแม่กลอง มีอาชีพประมง วันหนึ่งได้มีผู้นำอวนไปจับปลาในทะเล ได้พระพุทธรูปติดอวนขึ้นมาสององค์ องค์หนึ่งคือ หลวงพ่อวัดเขาตะเครา ได้อัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ที่อุโบสถวัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี  อีกองค์หนึ่งได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในอุโบสถวัดศรีจำปา ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดบ้านแหลม ดังกล่าวแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้จึงได้ชื่อว่า หลวงพ่อบ้านแหลม

            หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปโลหะ ศิลปะสุโขทัย สร้างสมัยอยุธยา สูงประมาณ ๑๖๗ เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร หล่อด้วยทองเหลือง ข้อพระกรทั้งสองข้างถอดออกได้

            วัดอัมพวันเจติยาราม  เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญของจังหวัด ตั้งอยู่เหนือปากคลองอัมพวา ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา  เป็นวัดต้นวงศ์ราชินิกุล ทางฝ่ายสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงสร้าง ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ตลอดมา มีงานประติมากรรม สถาปัตยกรรม และจิตรกรรม ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้ได้ศึกษาดังนี้
                - พระอุโบสถ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ และได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากนั้นก็ได้มีการบูรณะต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน
            ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังแสดงพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อันเป็นผลงานที่เขียนขึ้นใหม่ ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๐ - ๒๕๔๒
                - พระที่นั่งทรงธรรม  เป็นศาสนสถานหลังหนึ่งภายในวัด ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ จากสมาคมสถาปนิกสยามแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  ศิลปกรรมที่เด่นชัดคือพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประดิษฐานอยู่บน
ฐานบัวที่ยกสูงขึ้น รอบฐานบัวมีจิตรกรรมลวดลายจีนซึ่งพบมากในการก่อสร้างศิลปกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยูหัว  ส่วนรอยพระพุทธบาทจำลองสี่รอยซ้อน มีหลักฐานว่าได้สร้างเพิ่มเติม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘
                - พระปรางค์  มีลักษณะแปลกที่ไม่เคยพบที่ใดมาก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงเรียกพระปรางค์องค์นี้ว่า พระปรางค์มีระเบียงล้อมรอบรูปบานบน กล่าวคือยอดปรางค์กลมโตแล้วค่อย ๆ สอบเล็กลงมาทางข้างล่าง ฐานล่างใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่มย่อมุมภายในพระปรางค์บรรจุพระบรมราชสรีรังคาร ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
            วัดอัมพวัน ฯ ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี ๒๕๐๐

            วัดพวงมาลัย  อยู่ในเขตตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ โดยสัสดีพ่วง และนางมาลัย มีพื้นที่ประมาณ ๑ ไร่ เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้อาราธนาหลวงพ่อแก้วจากวัดช่องลม มาเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อแก้วได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาเมื่อครั้งออกธุดงค์ไปที่ประเทศพม่า ได้จำแบบเจดีย์มาสร้างเป็นเจดีย์แบบมอญ เรียกว่า เจดีย์หงสาวดี หรือเจดีย์หงษา เป็นสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากวัดอื่น ๆในจังหวัด ด้านในพระเจดีย์มีพระพุทธบาทจำลอง และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ทั้งสี่ทิส
            วัดพวงมาลัย ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙

            วัดแม่น้ำ อยู่ในเขตตำบลขันแตก อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่สองไร่เศษ เดิมชื่อวัดบางนางจีนนอก เป็นวัดโบราณสร้างสมัยอยุธยา เดิมอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง แต่เนื่องจากที่ดินของวัดออกไปในแม่น้ำทำให้วิหารซึ่งเดิมตั้งอยู่ริมน้ำ ได้อยู่ห่างจากแม่น้ำออกไปประมาณ ๑๐๐ เมตร วัดแม่น้ำมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญคือ
                - วิหาร เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อวิหาร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางทรมานพระยามหาชุมพู สูงประมาณ ๑๒๐ เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้างสามศอกเศษ พระพุทธรูปแต่ละองค์มีขนาดลดหลั่นกันลงไป
            วัดแม่น้ำได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙

            วัดเขายี่สาร  อยู่ในเขตตำบลเขายี่สาร อำเภออัมพวา เป็นวัดสมัยอยุธยาตอนปลาย อุโสถมีลักษณะทรงเรือ ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสี่รอย มีมณฑปไม้สักลงรักปิดทองลงลวดลายประณีตวิจิตร หน้าบันประตูวิหาร แกะสลักลวดลายงดงาม มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องห้องสินของจีน มีเจดีย์เก่าอยู่ในบริเวณวัด มีตุ่มโบราณขนาดใหญ่อายุกว่า ๒๐๐ ปี อยู่ในบริเวณวัด ยังอยู่ในสภาพดี
            วัดเขายี่สารได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
            วัดปากน้ำ  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง บริเวณปากคลองแควอ้อม ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา มีพื้นที่ ๙ ไร่ ๒ งานเศษ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด มีโบราณวัตถุที่สำคัญคือ
                - วิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ ภายในมีพระนอนองค์ใหญ่ เหนือประตูวิหารทั้งสองด้านเป็นลวดลายปูนปั้นที่วิจิตรสวยงาม
                - อุโบสถ ภายในมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกขกิริยา พร้อมปัจจวัคคีย์ หล่อด้วยโลหะลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่
            นอกจากนั้นมีวิหารพระพุทธบาทจำลองสี่รอย และวิหารหลวงพ่อบ้านแหลม
            วัดปากน้ำได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙

            วัดบางกะพ้อม  อยู่ในเขตตำบลอัมพวา เป็นวัดที่สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ตามตำนานของวัดมีอยู่ว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่งได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้ ดำรงชีพด้วยการสานกะพ้อม ในการสานกะพ้อมผู้สานจะต้องเข้าไปนั่งสานอยู่ในกะพ้อมที่สาน เมื่อสานไปกะพ้อมก็จะยิ่งสูงขึ้นไปตามลำดับจนกระทั่งเกือบมิดหัวผู้สาน วันหนึ่งมีกองทหารพม่ายกมาปล้นบ้านเรือนราษฎร ในเขตเมืองสมุทรสงคราม เมื่อมาถึงบ้านของสามีภรรยาคู่นี้ขณะกำลังสานพ้อมอยู่ เมื่อได้ยินเสียงพม่ายกกำลังเข้ามา ทั้งสองคนจึงเข้าไปแอบในกะพ้อม และตั้งจิตอธิษฐานขอให้พ้นภัย จะยกบ้านเรือนและที่ดินสร้างวัด เมื่อทหารพม่ายกกลับไปโดยที่ตนเองก็ปลอดภัยและทรัพย์สินก็ไม่เสียหาย จึงได้บริจาคที่ดินและบ้านเรือนให้สร้างวัด แล้วทั้งคู่ก็ไปปลูกบ้านใหม่อยู่ใกล้วัดนั้น ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดบังกะพ้อม ต่อมาได้เพี้ยนไปเป็นวัดบางกะพ้อม
            ภายในอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนัง ลายปูนปั้นเรื่องพุทธประวัติทั้งสี่ด้านคือ
                - ด้านที่หนึ่ง กล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ ณ ที่ต่าง ๆ และพุทธประวัติคือ พระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดสุวรรณมาลิก พระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ ณ ภูเขาสุวรรณบรรพต พระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ ณ ภูเขาสุมนกูฏ ภาพพระพุทธประวัติตอนตรัสรู้ ก่อนได้อัครสาวก ภาพพระพุทธฉาย และภาพพระพุทธบาท ณ แม่น้ำนัมมทานที
                - ด้านที่สอง  เป็นภาพพุทธประวัติ ตอนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
                - ด้านที่สาม  เป็นภาพพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้เจ็ดวัน ภาพพระมหากัสสปกับบรรดาภิกษุสงฆ์ มาจากเมืองปาวา เพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อได้ถวายสักการะแล้วไฟก็ลุกไหม้พระบรมศพ

            วัดเกตการาม  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ฝ่านธรรมยุตินิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ในเขตตำบลโรงหีบ อำเภอบางคนที มีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ
                - พระบรมสารีริกธาตุ ได้มาประเทศอินเดีย ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ
                - พระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อศิลาแลง ขนาดหน้าตักกว้างสี่ศอกเศษ ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ มีพระนามว่า หลวงพ่อพระศรีสัพพัญญู ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อเผือก
                - พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร์ เนื้อศิลาแลง ประดิษฐานในวิหาร ซึ่งต้องอยู่ด้านหลังพระอุโบสถมีพระนามว่า หลวงพ่อเกศมงคลพุทธพรหมบดี ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อต่อ หรือหลวงพ่อประสาทพร

                - พระอุโสถ มีลักษณะเด่นที่บานประตูหน้าต่าง ที่แกะสลักลวดลายเทวรูป ลายไทยลงรักปิดทองเช่น พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระพรหมทรงนกยูง พระราหูทรงครุฑ พระพิรุณทรงนาค
            วัดเกตการาม ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙

            วัดบางกุ้ง  อยู่ในเขตตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที เป็นวัดเก่าสมัยอยุธยามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งค่ายของฝ่ายไทยเพื่อรบพม่า จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมามีว่า ผู้สร้างวัดบางกุ้งคือ เศรษฐีทองสร้างวัดโบสถ์ ภรรยาสร้างวัดบางกุ้งใหญ่ ภรรยาน้อยสร้างวัดบางกุ้งน้อย
            วัดโบสถ์และวัดบางกุ้งใหญ่ยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ส่วนวัดบางกุ้งน้อยทรุดโทรมไปจนเป็นวัดร้าง คงหลือแต่โบสถ์ตั้งอยู่บนเนินดินกลางค่ายบางกุ้ง โดยมีต้นโพธิใหญ่และต้นไทรใหญ่ยึดไว้ ภายในโบสถ์มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อนิลมณี หรือหลวงพ่อดำ มีจิตรกรรมฝาผนัง
สมัยปลายอยุธยา เป็นเรื่องพุทธประวัติ ปัจจุบัน ศาสนสถานแห่งนี้รวมกันเป็นส่วนหนึ่งของวัดบางกุ้งใหญ่ เรียกว่าวัดบางกุ้ง
            วัดบางกุ้งมีพื้นที่ประมาณสี่ไร่ครึ่ง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙
            วัดบางพลับ  อยู่ในเขตตำบลบางพรม อำเภอบางคนที เป็นวัดเก่าไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด แต่เมื่อพิจารณาจากโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ที่ยังมีอยู่ในวัด พอสันนิษฐานได้ว่าสร้างสมัยอยุธยา
                วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ครั้งสงครามบางกุ้งในสมัยกรุงธนบุรี คือเป็นวัดที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ตรงกันข้ามกับค่ายบางกุ้ง เคยเป็นที่พักของกองทัพไทยที่ยกมารบพม่า เดิมมีชื่อเรียกว่า บ้านพักทัพ ต่อมาได้เปลี่ยนไปเป็นบางพลับ
                - โบสถ์ มีฐานแอ่นกลางที่เรียกว่าทรงสำเภา ลวดลายหน้าบันเป็นสมัยอยุธยา ตัวโบสถ์มีขนาดเล็ก มีทางเข้าทางเดียวที่เรียกว่า โบสถ์มหาอุด ปัจจุบันได้สร้างโบสถ์หลังใหม่ แต่ยังคงอนุรักษ์หลังเก่าไว้เพื่อการศึกษา
                - พระพุทธรูป ได้แก่ พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยา  และพระแก้วผลึก หน้าตักกว้างห้านิ้ว พระยอดธงทองคำ  และพระนาคปรก ทำด้วยศิลาแลง
                - ตู้พระธรรม มีจำนวนสี่ตู้ มีลายรดน้ำอันวิจิตร บรรจุคัมภีร์ใบลานและสมุดไทยเป็นจำนวนมาก
            วัดบางพลับได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙
            วัดตรีจินดาวัฒนาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที เป็นวัดที่มีอุโบสถรูปทรงแปลกจากวัดอื่น ๆ ในจังหวัด มีรูปแบบการสร้างงดงามแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
            ในวิหารประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองสี่รอย ทำด้วยไม้สัก ยาวประมาณสามวา กว้างหกศอก ในรอยพระพุทธบาท มีการเขียนลายรดน้ำรูปสัตว์ เป็นลายรดน้ำที่วิจิตรงดงามมาก
            วัดตรีจินดาวัฒนารามได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีพื้นที่ประมาณห้าไร่ สองงาน

            วัดบางแคใหญ่  ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางแค ที่แยกจากแม่น้ำแม่กลอง ตำบลแตงอ้อม อำเภออัมพวา  ผู้สร้างคือเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง  วงศาโรจน์) เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๗ ขณะที่ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลเมืองราชบุรี ได้สร้างวัดบางแคใหญ่ให้ภรรยาหลวง และสร้างวัดบางแคน้อยให้ภรรยาน้อย
            มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยมีหลักฐานดังนี้
                    - พระพุทธรูปหินทรายแดงรอบระเบียงจำนวน ๕๖ องค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีนิ้วพระหัตถ์กางแบบปาละพระพักตร์เป็นแบบอู่ทอง หน้านางเป็นประติมากรรมสมัยก่อนสมัยอยุธยา
                    - เสาหินทรายแดง ขนาดเล็กแบบอยุธยาตระกูลอัมพวา พบได้ที่วัดเพชรสมุทรวรวิหารเช่นเดียวกัน
                    - เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง มีระเบียงล้อมรอบพระเจดีย์สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ อยู่บริเวณหน้าอุโบสถ

                    - ภาพเขียนบริเวณกุฏิสงฆ์ เดิมเป็นเรือนไทยเสาต่ำ ต่อมามีการยกพื้นสูงขึ้น เป็นภาพเขียนเรื่องราวสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เขียนบนฝาประจันเพียงด้านเดียว แต่สามารถแยกแยะเหตุการณ์ไว้หลายตอน จัดว่าเป็นภาพที่งดงาม

          วัดจุฬามณี  ตั้งอยู่ริมคลองอัมพวาและคลองผีหลอก ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา บริเวณหลังวัดจุฬามณีนับว่าเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์คือ
                - เป็นสถานที่เกิดของพระชนก - ชนนี ของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ นับว่าเป็นดินแดนต้นกำเนิดราชินิกุลบางช้าง
                - เป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
                - เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ก่อนที่จะไปเป็นแม่ทัพใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรี
                - เป็นสถานที่ทรงพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐
                - อุโบสถ  เป็นอาคารจตุรมุขหินอ่อนสามชั้น กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร สูง ๑๐ เมตร พื้นปูหินอ่อน บานหน้าต่างด้านในแกะสลักเป็นลายไทย และเรื่องราวในชาดก ด้านนอกเป็นงานฝีมือสมุดฝังมุก ภาพตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่เก้า และพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์  ตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ นพรัตนราชวราภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ ประถมาภรณ์ช้างเผือก และประถมาภรณ์มงกุฎไทย  สมุดฝังมุกทุกภาพจะมีลักษณะเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ เซนติเมตร อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมของบานหน้าต่างบานละเจ็ดภาพ นอกจากนั้นยังมีตราแผ่นดิน เรื่องราวพุทธประวัติ และนิทานชาดกอีกเป็นจำนวนกว่าสองร้อยภาพ
                - จิตรกรรมฝาผนัง  เป็นภาพเขียนศิลปะอยุธยาและรัตนโกสินทรNผสมผสาน เรียกว่า แบบรัตโนธยา โดยชุกชีด้านหลังพระประธานเขียนภาพในชุดไตรภูมิ ด้านซ้ายพระประธานเขียนภาพชุดยมกปาฎิหารย์ ด้านขวาพระประธานเขียนภาพตอนเสด็จจากดาวดึงส์ ด้านหน้าพระประธานเขียนภาพพระโพธิสัตว์มาจุติ ผนังด้านบนรอบอุโบสถเป็นภาพเทพชุมนุม เพดานเขียนภาพลายดอกไม้ บานประตูหน้าต่างด้านใน แกะสลักเป็นลายไทย ด้านนอกเป็นงานฝีมือฝังมุก และติดตั้งเทพประจำทิศเป็นโลหะผสมตามหน้าต่างรอบอุโบสถด้านนอก
            วัดบางแคน้อย  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ตำบลแควน้อย อำเภออัมพวา คุณหญิงจุ้ย (น้อย) วงศาโรจน์ เป็นผู้สร้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ เดิมอุโบสถของวัดสร้างบนแพไม้ไผ่ ผูกยึดไว้กับต้นโพธิ  ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ต่อมาพระอธิการรอด เจ้าอาวาสที่สองได้สร้างอุโบสถพื้นดิน และจัดงานผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๘
            ต่อมาอุโบสถหลังเดิมชำรุดทรุดโทรม พระอธิการเขียว ฐิติสาโร เจ้าอาวาสองค์ที่หกได้สร้างอุโบสถขึ้นใหม่ และจัดงานผูกพัทธสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ต่อมาอุโบสถหลังที่สองนี้ก็ได้ชำรุดทรุดโทรมลงอีก พระครูสมุทรนันทคุณ (แพร นนโท) เจ้าอาวาสองค์ที่เจ็ด จึงได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ มีความงดงามด้านศิลปะผิดแผกจากอุโบสถวัดอื่น ๆ มีการแกะสลักไม้ที่ฝาผนัง ภายในตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงทั้งสี่ด้าน จั่วด้านหน้าและด้านหลัง พร้อมทั้งคันทวยก็เป็นไม้แกะสลักเช่นกัน

            วัดภุมรินทร์กุฎีทอง  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ที่ปากคลองชมชื่น (คลองบางนางลี่) ฝั่งตะวันตกตรงข้ามอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา เป็นวัดที่มีกุฎีเป็นเรือนไม้สักทองขนาดใหญ่ ปิดลวยลายทองสวยงาม เป็นกุฎีที่สมเด็จพระชนกของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สร้างถวายวัดบางนางลี่น้อยไว้แต่เดิม มีเครื่องใช้ส่วนพระองค์ถวายไว้ที่วัดนี้เป็นจำนวนมาก
            วัดภุมรินทร์กุฎีทอง  เดิมชื่อวัดภุมรินทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ แต่เดิมมีวัดบางลี่ตั้งอยู่ใกล้กันสองวัด วัดหนึ่งอยู่ริมฝั่งน้ำตอนเหนือ เมื่อล่องเรือไปตามลำน้ำแม่กลอง จะถึงวัดนี้ก่อน จึงเรียกว่า วัดบางลี่บน อีกวัดหนึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำ (มีคลองประชาชมชื่นคั่นอยู่ระหว่างสองวัด) จึงเรียกว่า วัดบางลี่ล่าง ต่อมาวัดบางลี่ล่างเจริญรุ่งเรืองจึงเรียกว่า วัดบางลี่ใหญ่ ส่วนวัดบางลี่บนตั้งอยู่บนหัวคุ้งน้ำ ถูกกระแสน้ำพัดเซาะตลิ่งพังลงไปตาลำดับ ที่ดินบริเวณวัดจึงเหลือน้องลงจึงเรียกว่า วัดบางลี่น้อย
            วัดภุมรินทร์ อยู่ติดกับวัดบางลี่น้อย โดยอยู่ลึกออกไปจากริมฝั่งแม่น้ำ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ พระอธิการเกีย เจ้าอาวาสวัดภุมรินทร์ ได้รื้อย้ายกุฎิวัดบางลี่มาสร้างที่วัดภุมรินทร์ โดยเพิ่มช่อฟ้า ใบระกาใหม่ทั้งหลัง เพื่อใช้เป็นที่สวดมนต์
            ต่อมาเมื่อวัดบางลี่น้อยถูกกระแสน้ำเซาะพังทลายหายไป วัดภุมรินทร์จึงอยู่ปากคลองบางลี่แทน ด้วยเหตุที่วัดนี้ได้นำกุฎีทองของวัดบางลี่น้อยมาสร้างรวมไว้ วัดภุมรินทร์จึงได้ชื่อว่า วัดภุมรินทร์กุฎีทอง
            วัดเจริญสุขาราม  อยู่ในเขตตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที เป็นวัดเก่าแก่ไม่ปรากฎว่าสร้างเมื่อใด และมีสภาพเป็นวัดร้าง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๖ ชาวบ้านได้อาราธนาหลวงพ่ออาจ จากวัดบางคนทีใน มาเป็นเจ้าอาวาส
            ต่อมาทางกระทรวงเกษตร ฯ ได้สร้างประตูน้ำขึ้นชาวบ้านเรียกว่า ประตูน้ำบางนกแขวก ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดบางนกแขวก ภายหลังหลวงพ่ออาจได้ขออนุญาตต่อทางราชการตั้งชื่อวัดใหม่ว่า วัดเจริญสุขาราม
                - พระอุโบสถ เป็นอาคารทรงไทยเหยียบมุขสามชั้น กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๗ เมตร สูง ๓๐ เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐถือปูน เพดานหล่อด้วยคอนกรีต มุงกระเบื้องเคลือบ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐
                - พระวิหารจตุรมุข กว้าง ๖ เมตร ยาง ๑๕ เมตร สูง ๑๖ เมตร รูปทรง ออกมุขสี่ด้านเรียกว่า จตุรมุข มุงกระเบื้องเคลือบ มีเรือนยอดรูปบุษบกปิดทองกระจก ด้านหลังวิหารเป็นเจดีย์สูง ๒๕ เมตร บรรจุศพพระเทพสังวรวิมล อดีตเจ้าอาวาส
                - ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารทรงไทยสองชั้น กว้าง ๙ เมตร ยาง ๒๕ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓
                - หอระฆังและหอกลาง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
                - ตึกแสงกระแสธรรม เดิมเป็นอาคารตึกสองชั้น คอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ กว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๐.๕๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗
                - หลวงพ่อโต เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปศิลาทรายแดง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑๘๐ เซนติเมตร เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดหลุมดิน ซึ่งเป็นวัดร้าง ตำบลท่าแจ้ จังหวัดราชบุรี เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม ทางวัดจัดให้มีงานนมัสการปิดทองหลวงพ่อโต เป็นประจำทุกปี

| ย้อนกลับ | บน |