| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ศาสนาและความชื่อ
    พุทธศานา
            ประชากรในจังหวัดสิงห์บุรีนับถือพระพุทธศาสนาตลอดมา ยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ มีผู้นับถือพระพุทธศาสนาปัจจุบันร้อยละ ๙๙.๙๙ มีวัดอยู่ ๑๑๓ แห่ง เป็นวัดหลวง ๓ แห่ง นอกจากนี้ยังมีวัดร้างอยู่อีก ๑๕๙ แห่ง
            หลักธรรมในพระพุทธศาสนาจะมีปรากฎอยู่ในาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ตามวัดต่าง ๆ หอสมุด และพิพิธภัณฑ์ ในรูปของใบลาน สมุดข่อยซึ่งจารึกในรูปของภาษาขอมโบราณ และภาษาไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากนั้นยังปรากฎอยู่ในจิตรกรรมฝาผนัง ที่แสดงให้เห็นถึงหลักธรรมาคำสอนทางพุทธศาสนา ว่าด้วยหลักการทำความดี ละเว้นความชั่ว และการทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ อันนำไปสู่ความหลุดพ้นจากวัฎฎสงสาร การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลก ซึ่งเป็นความทุกข์ทำให้พ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง นับว่าเป็นวิธีการที่ล้ำเลิศของบรรพบุรุษไทย ที่ได้สร้างสรรไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลัง ให้มีจิตสำนึกในสิ่งที่ดีงามทั้งแก่ตนเองและแก่มนุษชาติ
            ศาสนสมบัติขงอชาวสิงห์บุรี มีอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดีคือ พระพุทธไสยยาสน์วัดพระนอนจักรสีห์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางไสยยาสน์ที่เก่าแก่ เข้าใจว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พระแก้ว พระกาฬ เป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์วัดพระนอนจักรสีห์ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญมาเป็นพระประธานในพิธีถือน้ำพระพิพัฒนสัตยา ของข้าราชการเมืองสิงห์บุรี นอกจากนี้ยังมีพระปรางค์วัดหน้าพระธาตุ ซึ่งมีอายุเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยลพบุรี ต่อเนื่องมาถึงสมัยอยุธยาตอนต้น และสมัยอยุธยาตอนปลาย
            ศาสนาอื่น ๆ  มีอยู่พียงเล็กน้อย และเพิ่งมีมาไม่นานนี้เอง คือ ศาสนาคริสต์ เริ่มเกิดมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ เริ่มมีผู้นับถือเพียงครอบครัวเพียว ต่อมาได้มีมิชชั่นนารีมาเผยแผ่าคริสต์ที่จังหวัดสิงห์บุรี ในนิกายโปรเตสแตนท์ ปัจจุบันมีผู้นับถืออยู่ ร้อยละ ๐.๑๕  ส่วนศาสนาอิสลาม เริ่มเกิดมีขึ้นหลังสงครามมหาเอเซียบูรพา คือ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๙ โดยมีกลุ่มชนชาวปากีสถาน ได้เดินทางเข้ามาค้าขายปศุสัตว์และรับจ้าง ได้มีการรวมกลุ่มกันสอน อ่าน เรียน อัลกุรอาน และเริ่มทำพิธีทางศาสนา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ และเริ่มขออนุญาตตั้งมัสยิด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙  ปัจจุบันมีผู้นับถืออยู่ ร้อยละ ๐.๓๖
            ความเชื่อ  เป็นสิ่งที่สั่งสมกันมาจากการบอกเล่าของบรรพบุรุษ และจากประสบการณ์บางเรื่องหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ชัดเจน แต่ก็เชื่อหรือได้ยินได้ฟังต่อ ๆ กันมา พอประมวลได้ดังต่อไปนี้
               นั่งหมอนก้นจะเป็นฝี (หมอนเป็นของที่หนุนหัวอันเป็นของสูงไม่ควรหนุนก้นที่เป็นของต่ำ)
               ขี่หมาฟ้าจะผ่า  (หมาตัวเล็กใช่ม้าจะทานน้ำหนักคนไม่ได้และมันจะกัดเอา)
               ชี้รุ้งกินน้ำนิ้วจะด้วน
               ปูเสื่อกลับตะเข็บ เป็นการปูให้คนตายเท่านั้น
               ตัดใบตองให้ไว้หู  (ตัดเพียงค่อนใบ)  ถ้าตัดเต็มใบใช้ปิดศพ
               ผู้หญิงท้องห้ามอาบน้ำกลางคืน  จะแฝดน้ำ
               หญิงมีครรภ์ไม่ไปงานศพ ถ้าจำเป็นต้องไปให้กลัดเข็มซ่อนปลายไว้ที่เสื้อ
               หญิงมีครรภ์ติสิ่งใดจะได้อย่างนั้น (การที่แม่มีจิตใจดีส่งผลให้ลูกในท้องจิตใจดีด้วย)
               หญิงมีครรภ์นั่งขวางประตูจะคลอดลูกยาก
               หญิงมีครรภ์ต้องทำงาน ตำข้าว ตักน้ำ จะคลอดลูกง่าย (เป็นการบริหารร่างกายผู้จะเป็นแม่ให้แข็งแรง)
               กลางคืนห้ามร้องเพลงกล่อมลูก (เพลงกล่อมเด็กจะให้กล่อมให้เด็กนอนตอนกลางวันเท่านั้น)
               ให้ก้าวข้ามธรณีประตู อย่าเหยียบเพราะมีแม่ธรณีรักษา (เป็นการเคารพผู้มีพระคุณเป็นสมบัติของคนไทย)
               ข้าวคือน้ำนมแม่โพสพ ไม้ใหญ่มีรุกขเทวารักษา ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ถ้าใครดูหมิ่น ด่าว่า จะมีอันเป็นไป
               ผึ้งทำรังบ้านใด บ้านนั้นจะมีโชค
               เหี้ยเข้าบ้าน เป็นลางร้าย ต้องปัดรังควาน (เหี้ย และแร้งเป็นสัตว์ที่กินของเน่าเช่น ซากศพ น่ารังเกียจ)
               เขม่นตาซ้ายผู้ร้ายถามหา เขม่นตาขวาจะโชคดี
               จิ้งจกร้องทัก จะโชคร้าย ให้แก้เคล็ดด้วยการร้องตอบ
               มดขนไข่ฝนจะตกน้ำจะท่วม (เป็นปรากฎการณ์ทางธรมชาติของมดที่เป็นเช่นนั้น)
               นกแสกร้องจะมีคนเสียชีวิต
               ไม่สบายไม่ให้ตัดผมตัดเล็บ
               ถ้าฝันว่างูรัดจะพบหรือได้คู่ (เป็นเรื่องที่มีสถิติยืนยันว่าเป็นจริง)
               เป็นตาแดงให้ใช้น้ำนมแม่หยอดตาจะหาย (เป็นคุณสมบัติที่พิเศษของน้ำนม ที่ให้ผลเป็นจริง)
               อย่ากินข้าวจนหมดหม้อ เพราะเวลากลางคืนเมื่อคนนอนหลับ เจตภูติจะล่องลอยออกจากร่างไปหากินถ้าไม่มีข้าวอยู่ในหม้อ เจตภูติจะไปไกล และหาทางกลับเข้าร่างไม่ได้
            ความเชื่อในเรื่องการดูลักษณะของคนที่ไม่ควรคบหาหรือที่เรียกว่าบุรุษโทษ สตรีโทษ เนื่องจากผู้ที่มีลักษณะดังกล่าว มักจะเป็นคนที่มีอุปนิสัยไม่ดี คดในข้องอในกระดูก หรือที่เรียกว่าคนเจ้าเล่ห์ พอประมวลได้ดังนี้
            ลักษณะของชายที่ไม่ควรคบ  ได้แก่ คนผมหยิก หน้ากร้อ คอสั้น ฟันเขยิน ; คนตาเหลือง ผมหยอง (หยิกหยอง)  ไทยเล็ก เจ็๊กดำ เขมรขาว ลาวใหญ่ ; คนหน้าหมู คางสิงห์  นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมบางประการที่ไม่ควรคบคือชายสามโบสถ์ (คนบวชแล้วสึกแล้วบวชใหม่ถึงสามครั้ง)
            ลักษณะของหญิงกาลกิณี  ได้แก่ หญิงที่มีฝีจักร ยักษ์หล่ม ข่มร้าย (ฝีจักรคือก้นหอยหรือขวัญตีนผมด้านหน้า ยักษ์หล่มคือ รอยบุ๋มที่บริเวณไหล่ ข่มร้ายคือรอยบุ๋มที่บริเวณสะโพก)
               หญิงที่เดินหน้าหงาย ส่ายสะโพก (แสดงว่าเป็นหญิงที่มีตัณหาจัด)
               หญิงสามผัว (หญิงที่แต่งงานสามครั้งหรือมีสามีถึงสามคน)
               หญิงที่เดินส่ายอก ยกไหล่ (แสดงความเป็นนักเลง ไม่ใช่สมบัติของกุลสตรี)
               หญิงที่กลิ่นตัวแรง (คนที่มีกลิ่นตัวแรงย่อมเป็นที่น่ารังเกียจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้หญิง)
               คนสองเสียง (คบไม่ได้ แสดงถึงความเป็นคนมารยาสาไถย ไม่มีความจริงใจ ทั้งหญิงและชาย แต่ส่วนมากมักเป็นหญิง)
ขนบธรรมเนียมประเพณี
            กิริยามารยาท  คำกล่าวที่ว่า สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล เป็นสำนวนที่รู้จักกันดีของคนไทยทั่วไป เป็นเครื่องชี้บอกที่ใช้ได้ผล และแม่นยำค่อนข้างมาก พ่อแม่ปู่ย่าตายายจะระวังมากไม่ให้ใครมาด่าว่าลูกหลานของตนว่า "พ่อแม่ไม่สั่งสอน" หรือ "คนไม่มีโคตรเหง้าเหล่ากอ"  ดังนั้นจึงมีคำอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับกิริยามารยาทสืบต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงจะถูกอบรมและมีข้อห้ามมากกว่าผู้ชาย พอประมวลได้ดังนี้
               อย่ายืนค้ำหัวผู้ใหญ่ (เป็นการไม่ให้ความเคารพ ไม่ว่าหญิงหรือชาย)
               อย่ายืนถ่างขา หน้าอกแอ่น (เป็นท่ายืนที่ไม่งามสำหรับหญิง)
               ให้ยืนด้วยความสำรวม (เป็นการสำรวมทั่วทั้งร่างกาย แม้แต่สายตา)
               เดินให้เหมือนนางช้าง (มีสง่า แช่มช้อย หนักแน่น มั่นคง)
               อย่าเดินเหมือนม้าดีดกระโหลก (ไม่เดินพรวดพราด)
               อย่าเดินหน้าหงายส่ายสะโพก (แสดงอาการยั่วยวน ท้าทาย)
               อย่าเดินส่ายอกยกไหล่ (แสดงความเป็นนักเลง)
               อย่าเดินลงส้น (แสดงความโกรธและเจ้าอารมณ์)
               อย่าเดินข้ามของสูงของที่ควรเคารพ (เช่น หมอน หนังสือ ไม่ว่าหญิงหรือชาย)
               ไม่เดินขย่ม เดินให้ราบเรียบ ไม่ให้มีเสียง
               เดินผ่านผู้ใหญ่ ต้องค้อมตัวลง (ไม่ว่าหญิงหรือชาย)
               การนั่งให้นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้าเมื่อนั่งกับพื้น และไม่ควรนั่งไขว่ห้างเมื่อนั่งเก้าอี้
               ไม่นั่งเขย่าขา ไม่นั่งทับร่อง ไม่นั่งทับหมอน
               ไม่นั่งสูงกว่าผู้ใหญ่ (เป็นการแสดงความไม่เคารพ ไม่ว่าหญิงหรือชาย)
               ไม่นั่งขวางคาบันได ประตูหรือช่องทางเข้าออก (ไม่ว่าหญิงหรือชาย)
               ไม่นอนหงาย ให้นอนตะแคง ปลายเท้าไขว้กัน (เป็นท่านอนที่สำรวม สุภาพ)
               ไม่นอนในที่โล่งแจ้ง ไม่นอนหลังแตะดิน (ไม่นอนหงาย ให้นอนตะแคง)
               ไม่นอนตื่นสาย (แสดงความไม่ขยัน คนขยันต้องตื่นก่อนไก่ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นแม่บ้านแม่เรือน)
               ไม่นอนก่อนตะวันตกดิน (อาจตื่นขึ้นมาด้วยอาการงัวเงีย เรียกว่าตะวันทับตา ทั้งหญิงและชาย)
               ไม่นอนหันศีรษะไปทางตะวันตก (ทั้งหญิงและชาย)
               ไม่หัวเราะอ้าปากแหงนหน้าปล่อยเสียงดังถึงหลังคา (เป็นท่าที่ไม่งามสำหรับหญิง)
               ผู้ใหญ่ไม่กินเดนเด็ก นายไม่กินเดนบ่าว (ให้รู้จักฐานะในสังคม ทั้งหญิงและชาย)
               ไม่กินเหมือนหมูเหมือนหมา (มีมรรยาทในการกินอาหาร ไม่กินมูมมาม ทั้งหญิงและชาย)
               ไม่พูดขณะมีอาหารในปาก (เป็นการไม่สุภาพ ทั้งหญิงและชาย)
               ไม่พูดจีบปากจีบคอ (เป็นอาการที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นการเสแสร้งแต่งเติม)
               ไม่พูดทำตาประหลับประเหลือกคือกลอกตาไปมา (เป็นอาการไม่สุภาพ)
               ไม่พูดแซงหรือแซมผู้ใหญ่พูด (แสดงความไม่เคารพ)
               ไม่พูดห้วนกระแทกไม่มีหางเสียง (ไม่น่าฟัง ระคายหู)
               พูดให้มีหางเสียง มีการทอดเสียง มีสร้อยคำ (จ๊ะ จ๋า ค่ะ ครับ)
            ประเพณีในท้องถิ่น  การดำเนินชีวิตของคนไทยเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ ผสมผสานกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ มาเป็นเวลาช้านาน ตั้งแต่เกิดจนตาย ทำให้เกิดพิธีต่าง ๆ มากมายในชีวิตประจำวันและในรอบปี
               - ประเพณีลงข่วงของชาวไทยพวน  ประเพณีลงข่วงมีจุดหมายสำคัญ อยู่ที่การได้พบปะคุยกันของคนหนุ่มสาว งานที่นำมาทำขณะลงข่วงนั้น ส่วนใหญ่เป็นงานทอผ้าปั่นด้าย กะเทาะเปลือกถั่วลิสง ตำข้าว และงานอื่น ๆ ตามถนัด  คำว่าข่วง หมายถึงบริเวณที่โล่งแจ้ง หรือเป็นลานกว้างพอสมควร อาจเป็นลานดินหรือยกพื้นปูด้วยไม้ไผ่ จุคนประมาณ ๒๐ - ๓๐ คน
            ก่อนการลงข่วงจะมีการเก็บหลัก (เศษไม้ไผ่) เพื่อนำมาก่อไฟลุกไหม้ได้นาน ๔ - ๕ ชั่วโมง เพื่อให้แสงสว่างตอนกลางคืน ในตอนเย็นหญิงสาวจะเดินเก็บหลัก เพื่อมอบให้ชายหนุ่มที่ทราบว่าวันนี้มีการลงข่วงมากองไว้ในบริเวณที่จะมีการลงข่วง แล้วขึ้นบ้านประกอบอาหารเพื่อรับประทาน เมื่ออาบน้ำแต่งตัวเสร็จประมาณสองทุ่ม ก็จะช่วยกันก่อกองไฟ นำงานที่จะทำลงมาจากบ้าน แล้วทำงานไปคุยกันไปเป็นที่สนุกสนาน จากนั้นบรรดาชายหนุ่มในละแวกบ้าน ก็จะพากันมาที่ข่วงเป็นกลุ่ม ๆ  อาจจะเป่าแคน เป่าปากร้องเพลง เป็นการให้เสียงล่วงหน้า เพื่อสาว ๆ จะได้เตรียมตัวต้อนรับ โดยนำน้ำดื่มหรืออาจมีขนมมาไว้ หนุ่มที่สนใจสาวอาจแยกออกมาเป็นคู่ ๆ  จะมีบางกลุ่มร้องเพลง และชวนคุยตลกขบขันเป็นที่สนุกสนาน ประมาณ ๕ - ๖ ทุ่ม หนุ่มก็จะไปส่งสาวกลับบ้าน แต่ในการลงข่วงจะกระทำที่บ้านของสาวนั่นเอง

               - ประเพณีกำฟ้า  คำว่ากำฟ้า หมายถึงการนับถือฟ้า เป็นงานบุญของชาวไทยพวน โดยเชื่อว่าเมื่อมีการทำบุญประกอบพิธีกรรมตั้งบายศรีบูชา และประกาศขอพรจากเทพยดาผู้รักษาฟ้าแล้วจะบันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล และจะรอดพ้นจากฟ้าผ่าด้วย
            ประเพณีกำฟ้า  เป็นประเพณีที่พวกไทยพวนถือปฏิบัติสืบต่อกันมา แต่ในแต่ละท้องที่จะกำหนดเวลาต่างกัน อยู่ในห้วงสามเดือนคือเดือนอ้ายขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนยี่ขึ้นสิบสามค่ำ เดือนสามขึ้นสามค่ำ หรือเมื่อฟ้าร้องครั้งแรกในเดือนสาม การกำฟ้านั้นถือเป็นสองระยะคือ เมื่อฟ้าร้องครั้งแรก ชาวบ้านไม่สามารถเตรียมงานได้ทันด้วย ไม่อาจจะรู้ได้ว่าฟ้าจะร้องวันไหน ในวันที่เกืดมีเสียงฟ้าร้องขึ้นตามประเพณีนั้น ในสมัยก่อนพวกไทยพวน จะมีหัวหน้าผู้ปกครองหมู่บ้านเรียกว่า กวานบ้าน จะเป็นผู้สังเกตุและฟังว่าจะมีเสียงฟ้าร้องขึ้นในวันใดเดือนใด เมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้องแล้ว ต้องไปถามคนหูตึงในหมู่บ้านนั้นว่า ได้ยินเสียงฟ้าร้องหรือไม่ ถ้าคนหูตึงตอบว่าได้ยิน กวานบ้านจะต้องรับแจ้งให้คนในหมู่บ้านทราบโดยทั่วกันทันที แล้วร่วมกันจัดทำพิธีกำฟ้าขึ้น เหตุผลที่ต้องไปถามคนห้วงนั้น ก็เพื่อให้มั่นใจว่า เป็นเสียงฟ้าร้องจริง เพราะต้องมีเสียงดังมาก
            ตามประเพณีนั้น  เมื่อถึงวันสุกดิบซึ่งตรงกับวันขึ้นสองค่ำเดือนสาม คนในหมู่บ้านทุกคนจะช่วยกันทำข้าวปั้น (ขนมจีน) ทั้งน้ำพริกน้ำยาและข้าวจี่ แต่ในระยะหลังได้เปลี่ยนมาเป็นข้าวหลามแทน การเผาข้าวหลามในวันสุกดิบนั้นเปิดโอกาสใให้หนุน่มสาวได้รู้จักกัน โดยฝ่ายชายจะเข้าไปตัดไม้ไผ่มาไว้ที่ลานวัด จากนั้นก็แบ่งกันเป็นกลุ่ม กลุ่มตัดกระบอกข้าวหลามก็จะตัดเป็นท่อน ๆ วางเรียงไว้ กลุ่มจัดพิธีสงฆ์จะจัดตั้งโรงพิธีบายศรีบูชาเทวดา ส่วนผู้หญิงก็จัดรวบรววมมะพร้าว ข้าวเหนียว น้ำตาล ไข่ และเครื่องเซ่นบายศรีไว้ให้ครบถ้วน ทั้งหมดจะช่วยกันทำงานให้เสร็จในตอนบ่าย แล้วจึงไปแต่งตัวเข้าร่วมพิธี
            เวลาประมาณบ่ายสามโมงเย็นจะมีพิธีสงฆ์ มีการเจริญพระพุทธมนต์เย็น เสร็จแล้วผู้อาวุโสจะทำหน้าที่พราหมณ์สวดเบิกบายศรีบูชาเทวดา แล้วอ่านประกาศอัญเชิญเทวดาให้มารับเครื่องสังเวย  จะมีสาว ๆ ในหมู่บ้านมารำถวาย สำหรับข้าวหลามที่เผาที่วัดนั้นเรียกว่า ข้าวหลามทิพย์ ซึ่งเชื่อกันว่า เมื่อกินข้าวหลามแล้วจะไม่ถูกฟ้าผ่า พิธีกรรมในวันสุกดิบอีกอย่างหนึ่งคือ ตอนกลางคืนก่อนจะเข้านอน คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน จะเอาไม้ไผ่ไปเคาะที่เตาไฟ แล้วกล่าวเป็นมงคลว่า
               "กำปลอด กำดีเน้อ ไฮบ่หา นาบ่เอา ซกบ่ต้อง ร้องบ่ดำ กำปลอด กำดัง กำเหย้ กำเฮือน กำนา กำผู้ กำคน กำบัว กำควาย กำหนู หมา เป็ด ไก่ เน้อ"
            เป็นการประกาศให้เทพเจ้ารับทราบและใให้ปกป้องรักษา ขอให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์
            รุ่งขึ้นวันขึ้นสามค่ำเดือนสามเป็นวันกำฟ้า ผู้คนในแต่ละบ้านจะตื่นขึ้นมาแต่เช้าตรู่เตรียมอาหารคาวหวานไปถวายพระ ก่อนถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ ชาวบ้านจะร่วมกันใส่บาตรข้าวหลาม และข้าวจี่ แล้วถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วเลี้ยงอาหารร่วมกัน
            ในวันกำฟ้า ทุกคนจะหยุดงานหนึ่งวัน นับตั้งแต่ดวงอาทิคย์ขึ้นจนดวงอาทิตย์ตก ถ้าใครฝ่าฝืนจะถูกฟ้าผ่าตาย  เมื่อตกบ่ายหนุ่มสาวจะพบกันโดยการเล่นกีฬาพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้านเช่นมอญซ่อนผ้า ช่วงชัย ลงบ่วง ชักคะเย่อ เตะหม่าเบี้ย เป็นต้น ผู้แพ้จะถูกให้รำวง
            เมื่อพ้นวันกำฟ้าไปเจ็ดวัน ก็จะถือกำฟ้าอีกครึ่งวันและต่อจากนั้นอีกห้าวันชาวบ้านก็จะจัดสำรับคาวหวานไปถวายพระอีกครั้งหนึ่ง
            ในช่วงเวลากำฟ้านั้น คนเฒ่าคนแก่ในครอบครัว จะคอบวฟังเสียงฟ้าร้องเป็นการพยากรณ์เกี่ยวกับการกินดีอยู่ดีในหมู่บ้าน ซึ่งพยากรณ์ได้ดังนี้คือ
            ถ้าดังมาทางทิศเหนือ หรือตะวันออกเฉียงเหนือ พยากรณ์ว่าฝนจะดี ถ้านาได้ข้าวดี แต่จะอดข้าว
            ถ้าดังมาจากทิศใต้ พยากรณ์ว่าฝนจะแล้ง นาจะเสียหาย จะอดเกลือ
            ถ้าดังมาจากทิศตะวันออก พยากรณ์ว่าฝนจะตกปานกลาง นาในที่ลุ่มดี นาในที่ดอนจะเสียหายและจะอยู่เย็นเป็นสุข
            ถ้าดังมาทางทิศตะวันตก พยากรณ์ว่าจะเกิดความแห้งแล้ง ข้าวจะยาก หมากจะแพง และจะมีการรบราฆ่าฟันกัน
               - งานบุญไหว้พระนอน  พระนอนจักรสีห์ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร อันเป็นศาสนสถานที่สำคัญยิ่งของจังหวัดสิงห์บุรี สร้างมาก่อนสมัยอยุธยา แต่เดิมวัดพระนอนจักรสีห์ ตั้งอยู่ในที่ลุ่มมักมีน้ำท่วมอยู่รอบวัดในหน้าน้ำ ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่าบึงจักรสีห์ มีแม่น้ำสายเล็ก ๆ ที่แยกจากแม่น้ำใหญ่ไหลผ่าน ชาวบ้านจะพายเรือไปทำบุญที่วัด บรรดาหนุ่มสาวกว็จะพายเรือและนัดกันเล่นเพลงเรือในงานไหว้พระหรือในงานลอยกระทงหรืองานแห่ข้าวบิณฑ์ไปวัด
            งานไหว้พระนอน ยังคงมีอยู่ถือปฏิบัติกันทุกปี แต่เป็นงานเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านใกล้เคียงพากันมาร่วมงาน  ปัจจุบันทางวัดได้จัดให้มีเทศกาลประจำปีขึ้นปีละสามครั้ง คือวันขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำเดือนสาม  วันขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำเดือนหก และวันแรม ๗ - ๘ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด
               - ประเพณีข้าวบิณฑ์  เป็นประเพณีที่มีมากว่าร้อยปี ซึ่งชาวบ้านตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง ฯ ได้ร่วมกันสืบสานกันมา ประเพณีนี้แต่เดิมจัดขึ้นในวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันไปร่วมทำบุญ โดยเตรียมอาหารคาวหวานพร้อมทั้งนำข้าวเหนียวแดง และข้าวเหนียวขาวมาหุงหรือนึ่ง ทำเป็นเจดีย์บ้านละสามองค์ และทำองค์เล็ก ๆ หลาย ๆ องค์ จากนั้นก็ไปทำบุญที่วัดพระนอนจักรสีห์โดยมีกลองยาวนำขบวนร้องรำกันไปอย่างครื้นเครง
            ขั้นตอนการทำข้าวบิณฑ์คือ นำข้าวเหนียวมานึ่งหรือหุง จนเป็นข้าวเหนียวหรือข้าวเหนียวแดง แล้วนำมาใส่ใบตอง ซึ่งพับเป็นรูปกรวยคว่ำ ลงบนพานข้าวเหนียวที่เป็นรูปเจดีย์ และโรยด้วยมะพร้าวขูด ให้แบ่งทำบ้านละสามองค์ และองค์เล็ก ๆ อีกหลายองค์ ซึ่งเปรียบเหมือนพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ที่ที่ล้อมรอบพระพุทธไสยาสน์ พระแก้ว และพระกาฬ เดิมทำเจ็ดองค์ เพื่อถวายพระพุทธสาวกที่สำคัญและถวายพระพุทธไสยาสน์ด้วย นอกจากนั้นจะมีบายศรีปากชามสองคู่ ดอกไม้ ธูปเทียน เมื่อเตรียมของเสร็จแล้ว ก็จะจัดขบวนแห่โดยมีผู้ถือบายศรีปากชามสองคู่เดินนำหน้า ต่อด้วยผู้ถือพานเจดีย์ข้าวเหนียว และอาหารคาวหวาน  โดยมีกลองยาวร่วมบรรเลงในขบวนแห่ ขบวนทั้งหมดจะเดินเข้าพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ และนำของกราบทั้งหมดวางเรียงบนผ้าขาวหน้าองค์พระพุทธไสยาสน์ จากนั้นผู้เข้าร่วมพิธีทั้งหมด จุดธูปเทียนบูชาพระพุทธไสยาสน์ กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย กล่าวคำถวายข้าวพระพุทธ แล้วสวดบทพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณตามลำดับ ตามจำนวนกำลังวัน จากนั้นสวดบทพาหุง จบแล้วมีการร้องรำทำเพลงถวายพระพุทธไสยาสน์
            เมื่อพระฉันภัตตาหารเสร็จก็จะทำพิธีลงข้าวพระ ทุกคนจะแบ่งข้าวเหนียวจากกรวยมาเล็กน้อยนำไปวางไว้นอกโบสถ์ เหมือนกับถวายข้าวพระพุทธไสยาสน์ พระแก้ว พระกาฬ แล้วออกมาร่วมรับประทานอาหารพร้อมข้าวเหนียวที่เหลือจากการถวายพระพุทธไสยาสน์ พระแก้ว พระกาฬ แล้วจัดแบ่งเป็นวงร่วมรับประทานวงละ ๖ - ๗ คน
 

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |