| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

           พระแสงราชศัตราประจำเมืองสิงห์บุรี  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระแสงราชศัตราประจำเมืองสิงห์บุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ โดยมีพระราชประสงค์หลักเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์และเป็นเครื่องหมายแห่งพระราชอำนาจในการปกครองแผ่นดิน ตลอดจนทรงกำหนดให้ใช้สำหรับแทงน้ำในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในหัวเมืองเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานหลักเกณฑ์ไว้ว่า เมื่อใดที่พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมและพักแรม ณ เมืองนั้นอีก ให้ผู้ว่าราชการเมืองทูลเกล้า ฯ ถวายพระแสงราชศัตราประจำเมืองคืนไว้ประจำพระองค์ ตราบจนเมื่อใดพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับจึงพระราชทานพระแสงราชศัตรูประจำเมืองคืนให้ดังเดิม ตามธรรมเนียมโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงปฏิบัติสืบต่อกันมา

           ศาลหลักเมืองสิงห์บุรี  ในสมัยโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัยตลอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การสร้างเมืองใหม่จะต้องมีการสร้างศาลหลักเมืองและเสาหลักเมืองเสมอเป็นประเพณีสืบต่อกันมา โดยทำพิธีให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่บ้านเมืองที่สร้างขึ้น จะมีพิธีการสร้างและยกเสาหลักเมืองขึ้นในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ
            ลักษณะของศาลหลักเมืองเป็นอาคารทรงไทยจตุรมุขสองชั้น มีพระปรางค์อยู่กลาง ประตูสี่ทิศ ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ตัวเสาหลักเมืองเป็นไม้สักทอง นำมากลึงและแกะลอดลายแบบเสาหลักเมืองกรุงเทพ ฯ แล้วลงรักปิดทอง จัดขบวนแห่เสาที่ทำเสร็จแล้วไปไว้ที่วัดพืกุลทอง อำเภอท่าช้าง ขนาดของเสาจากฐานเสาระดับพื้นอาคารศาลหลักเมืองสูง ๒.๗๐ เมตร ต้นเสาเป็นกลีบบัวโดยรอบสูง๑๔ เซนติเมตรจากฐานที่ตั้งเสาถึงยอดกลีบบัวสูง ๓๓ เซนติเมตร ส่วนที่เป็นยอดเสาสูง ๖๘ เซนติเมตร
รูปปั้นอนุสาวรีย์

           อนุสาวรีย์พระอาจารย์ธรรมโชติ  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ คณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจันเห็นสมควรให้จัดสร้างอนุสาวรีย์พระอาจารย์ธรรมโชติ กรมศิลปากรได้ออกแบบปั้นเป็นรูปพระภิกษุสูงอายุขนาดเท่าตัวจริง นั่งขัดสมาธิหลับตาในท่าบริกรรมมีสายตะกรุดและมงคลอยู่ในมือ รูปอนุสาวรีย์หล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดง ทาน้ำยารมดำ สิ่งที่เป็นองค์ประกอบคือบาตรน้ำมนต์ ราวเทียน และกระถางธูป หล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดง ดำเนินการหล่อแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒

            อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน  สร้างเป็นรูปหมู่ หล่อด้วยโลหะประกอบด้วยนายแท่น นายจันทร์ หนวดเขี้ยว นายทองเหม็น ขี่กระบือ นายทองแสงใหญ่ นายดอก นายอิน นายทองแก้ว นายเมือง ขุนสรรค์ พันเรือง และนายโชติ ทั้งสิบเอ็ดคนถืออาวุธต่าง ๆ กันมีขนาดเท่าคนจริง สูงประมาณ ๑.๘๐ เมตร ตั้งอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยม ซึ่งประกอบด้วยแผ่นภาพนูนแสดงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สามแผ่น ขนาดกว้าง ๗๐ เซนติเมตร ยาว ๑.๓๐ เมตร แผ่นจารึกกว้าง ๗๐ เซนติเมตร ยาว ๑.๙๐ เมตร
            แท่นฐานอนุสาววรีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่าตัดมุมยกพื้นมีฐานโดยรอบและมีบันไดทางขึ้นสี่ด้าน ขอบบันไดทั้งสี่มุมเป็นกระถางโค้งปลูกต้นไม้โอบเข้าหาตัวชาน ที่แท่นฐานมีคำจารึกดังนี้ แสดงเกียรติคุณและนามของหัวหน้าวีรชนค่ายบางระจันทั้งสิบเอ็ดท่าน
                รายนามหัวหน้าวีรชนค่ายบางระจันและลักษณะเด่นเฉพาะตัวบุคคล มีดังนี้
                พระอาจารย์ธรรมโชติ  เดิมอยู่วัดบางนางบวช ได้นิมนต์มาอยู่วัดโพธิ์เก้าต้น
                นายจัน                ถือดาบสองมือ มือซ้ายชูขึ้นเหนือศีรษะ
                ขุนสรรค์               ถือปืน
                นายดอก               มือขวาถือมีดพร้า
                นายทองเหม็น        ขี่กระบือ มือขวาถือขวาน
                พันเรือง                มือขวาถือขวาน ระดับต้นขา
                นายโชติ                ถือดาบสองมือ กระทับมั่นระดับเอว ปลายดาบชี้ขึ้น
                นายแท่น               ถือดาบสองมือ ชูขึ้นสูงเหนือศีรษะ
                นายเมือง                มือขวาถือดาบ  มือซ้ายยกชูขึ้น
                นายทองแก้ว            มือขวาถือมีดพร้า มีมงคลคาดศีรษะ
                นายอิน                ถือดาบสองมือ มือขวาชูดาบขึ้นเหนือศีรษะ
                นายทองแสงใหญ่        ถือหอก
การทำมาหากิน

            การทำนา  ชาวสิงห์บุรีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา โดยเริ่มจากการทำนาหว่านแล้วปรับเป็นทำนาดำ จากนั้นปรับและผสมผสานวิธีการทำนาเป็นนาหว่านน้ำตม ในอดีตใช้คนและแรงสัตว์สำหรับเมล็ดพันธุ์นิยมใช้เมล็ดพันธุ์ขาวประกวดและขาวปิ่นแก้ว เพราะเป็นพันธุ์ข้าวที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ราบลุ่ม เมล็ดข้าวมีสีขาวและยาวสวย
                - นาหว่านสำรวย  เป็นการทำนาโดยการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในพื้นนาที่เตรียมดินไว้ไถดะ ไถแปรในพื้นที่นาทิ้งไว้ประมาณหนึ่งเดือน รอจนฝนตกดินเปียกชื้นจึงไถหว่าน แล้วใช้เมล็ดพันธุ์ไร่ละ ๑ - ๒ ถัง หว่านลงไป นาหว่านแบบนี้ได้ผลผลิตน้อย ปัจจุบันยังมีทำอยู่บ้างตามนาที่ลุ่มมาก เพราะต้องหว่านให้ข้าวโตก่อนที่น้ำจะหลากมา
                - นาหว่านไถกลบหรือคราดกลบ  เป็นการพัฒนามาจากแบบแรก คือเมื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้วจะไถกลบหรือคราดกลบ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ข้าวฝังลึกลงในดิน จากนั้นเมล็ดข้าวจะเริ่มงอก ต้นข้าวที่ขึ้นก็แข็งแรงดีเพราะรากและลำต้นถูกฝังลงในดิน ผลผลิตที่ได้จะดีกว่าแบบแรก
                - นาดำ  เป็นการทำนาในพื้นที่ที่มีน้ำขังในนา โดยจะเตรียมดินด้วยการไถดะ ไถแปรและไถคราด เริ่มจากการขังน้ำไว้ในนา แล้วนำข้าวกล้าที่เพาะไว้อายุประมาณ ๓๐ วัน ถอนจากแปลงเพาะตัดปลายใบทิ้ง และล้างดินที่รากออกจนหมด นำไปปักดำในนาที่เตรียมไว้ โดยจะปักดำเป็นกอๆ  ละ ๔ - ๕ ต้น ห่างกันประมาณ ๒๐ เซนติเมตร การทำนาดำไม่ค่อยเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะเสียเวลาและใช้แรงงานมาก
            การเพาะเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะกล้า จะต้องเตรียมแปลงกล้าสำหรับเพาะ โดยทำแปลงกล้าให้เป็นเลนหรือตม แล้วนำเมล็ดพันธุ์ที่เพาะใส่กระสอบหรือถุงผ้า เหมือนที่เพาะสำหรับนาหว่านในนาหว่านน้ำตมมาหว่านในแปลงกล้า หนึ่งไร่จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ สามถัง เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ ๓๐ วัน จึงจะถอนต้นกล้าไปปักดำได้
                - นาหว่านน้ำตม  เป็นการนำวิธีการทำนาหว่านไถกลบ และการทำนาดำมาปรับเข้าด้วยกัน โดยขังน้ำไว้ในนาแล้วไถดะ ไถแปร และคราด เพื่อเก็บวัชพืชออกจากนาแล้วทิ้งไว้ให้น้ำใสดินตกตะกอนแล้ว จึงปล่อยน้ำออกจากนา จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เพาะงอกเป็นเขี้นวหนู หว่านลงในนา รอจนข้าวตั้งต้นและออกใบ สองสามใบ จึงเริ่มเปิดน้ำเข้านา ระวังอย่าให้น้ำท่วมมิดใบข้าว จะทำให้ต้นข้าวเน่าได้ การทำนาแบบนี้นิยมทำกันมากที่สุด เพราะไม่ต้องเสียเวลามาก ได้ผลผลิตดี เมล็ดพันธุ์ข้าวที่หว่านใช้จำนวนเท่ากับนาหว่านชนิดอื่น ๆ
           การเพาะเมล็ดพันธุ์สำหรับใช้หว่าน นำเมล็ดใช้หว่าน ให้นำเมล็ดข้าวที่คัดเลือกไว้มาใส่กระสอบหรือถุงผ้า แล้วนำไปแช่น้ำหนึ่งคืน เทน้ำออกผูกกระสอบหรือถุงผ้า แล้วนำผ้ามาคลุมกระสอบหรือถุงผ้าเพื่อให้เมล็ดพันธุ์งอกพร้อมกันและงอกเร็วขึ้น รดน้ำวันละสองครั้ง ประมาณสองสามวัน เมล็ดข้าวจะออกรากมา แล้วจึงนำไปหว่าน
           การบำรุงรักษา ในขณะที่ต้นข้าวในนากำลังเจริญเติบโตต้องดูแลให้มีน้ำในนาเพียงพอ ถ้มีน้อยต้องเปิดให้น้ำเข้ามาก ถ้ามีมากก็ต้องปล่อยน้ำออกไป และคอยขจัดวัชพืชในนา

                - การเก็บเกี่ยว  เมื่อข้าวออกรวงประมาณ ๓๐ วัน รวงข้าวและต้นข้าวจะเปลี่ยนสีจากสีเขียวแล้วค่อย ๆ เหลืองจนดูเป็นสีทองเต็มท้องนา ชาวนาจะเริ่มเกี่ยวข้าวโดยใช้เคียว เมื่อเกี่ยวแล้วจะวางรวงข้าวบนต้นข้าวที่เกี่ยวแล้วเรียกว่า รายข้าว ปล่อยให้ผึ่งแดดประมาณ ๑ - ๒ แดด (๑ - ๒ วัน) จากนั้นจึงจะเก็บรายข้าวมามัดเป็นฟ่อน ๆ โดยมัดด้วยคะเน็ด (เชือกที่ทำด้วยต้นข้าวทั้งต้น มาสับโคนกับปลายฟั่นเป็นเกลียวหรือจะใช้กาบกล้วยก็ได้) แล้วขนฟ่อนข้าวหรือเรียกว่า การย่นข้าว ไปกองไว้ใกล้ทางที่จะใช้พาหนะมาขนไปลานนวด เรียกกองข้าวว่า ลอมข้าว แล้วเกี่ยวซังข้าวที่อยู่รอบ ๆ ลอมข้าวนำมาวางคลุมลอมข้าว เพื่อป้องกันข้าวกรอบจากแสงแดด และกันข้าวเปียกจากฝนตก

                - การนวดข้าว  คือการแยกเมล็ดข้าวออกจากต้นข้าว ก่อนใช้แรงคนและแรงสัตว์ ลานนวดข้าวสมัยก่อนจะใช้มูลวัว หรือมูลความยละลายน้ำ นำไปเทราดบนพื้นที่ที่เตรียมไว้ ปล่อยให้แห้งเป็นการป้องกันก้อนดินเล็ก ๆ มาปะปนกับเมล็ดข้าว ปัจจุบันใช้เครื่องจักรและลานนวดใช้ผ้าพลาสติกปูแทน
            การนวดข้าวโดยใช้แรงงานสัตว์ เริ่มด้วยการนำฟ้อนข้าวมาเรียงตั้งที่ลานนวด โดยตั้งรวงข้าวอยู่ด้านบนแล้วแก้มัดฟ่อนข้าวออก จากนั้นนำวัวหรือควายมาย่ำบนกองข้าว เมื่อเมล็ดข้าวร่วงหมดก็นำฟางออกไปกองนอกลานนวดแล้วใช้คันฉาย สงฟางที่เหลือ เศษฟางที่ปนอยู่ในข้าวจะใช้หนามไผ่ที่ทำด้วยลายกิ่งไผ่ป่ามานวดเรียกว่า สงคอลำพวน จากนั้นนำตะแกรงตาห่างมาร่อนเศษที่กวาดออกมาก่อนที่จะทิ้ง เพื่อกันเมล็ดข้าวติดไปกับต้นข้าวเรียกว่า ร่อนขี้ลำพวน สำหรับที่อยู่บนลาน จะนำกระดานแบนยาวเจาะรูที่ปลายทั้งสองด้าน แล้วผูกด้วยเชือกคนละปลาย กวาดข้าวในลานนวดไปกองรวมกันเรียกว่า ชักกระดาน หรือทำไม้กระดานมีที่จับเรียกว่า สัตถา มาช่วยไสรวมกอง

                - การทำความสะอาดเมล็ดข้าว  เพื่อที่จะเอาดิน กรวด เมล็ดลีบ เศษฟางที่ปะปนอยู่ออกไปโดยการใช้พลั่วใบสาดข้าว (หมาด) ตักเมล็ดข้าวเปลือกสาดขึ้นในอากาศ เพื่อให้ลมพัดเศษวัสดุที่ไม่ต้องการดังกล่าวปลิวออกไป ส่วนเมล็ดข้าวเปลือกที่มีน้ำหนักจะตกมากองรวมกัน ถ้าจำนวนข้าวเปลือกมีน้อยก็จะใช้ กระด้งฝัดแทน
                - การเก็บข้าวเปลือก  ก่อนจะเก็บต้องตากให้ข้าวเปลือกแห้งสนิท แล้วจึงนำไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง ยุ้งฉางต้องมีพื้น ฝา และหลังคามิดชิด ฝนตกแล้วไม่รั่วซึมเข้าไปถูกข้าวเปลือกได้ เพราะจะทำให้ข้าวเปลือกเสียหาย
            การประมง  จังหวัดสิงห์บุรี มีแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง อยู่เป็นจำนวนมาก มีพันธุ์ปลาต่าง ๆ มากมายหลายชนิด ชาวสิงห์บุรีจำนวนมาก ประกอบอาชีพทางการประมง โดยใช้เครื่องมือจับปลาที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านมาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่พอประมวลได้คือ อวนใหญ่ แห มอง ข่าย สวิง สนั่น ลี่ เบ็ดชนิดต่าง ๆ ยอ โต่ง ช้อน ชังนาง ลอบ ตุ้ม งาแซง สุ่ม เผือก รัน ชุด เป็นต้น
                - อวนใหญ่  มีความยาวของผืนอวนประมาณ ๑๐๐ เมตร ความกว้างขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำ ใช้ในการประมงขนาดใหญ่ เช่น ในแม่น้ำเจ้าพระยา ลำน้ำแม่ลา อุปกรณ์ที่ใช้คือ เรือใหญ่ใช้แจวหัวท้ายหนึ่งลำ เรือเล็กสำหรับประดาน้ำหนึ่งลำ ใช้คนฉุดลากประมาณ ๑๐ คนเป็นอย่างน้อย ปลาที่ได้เป็นปลาทุกชนิดทุกขนาด
                - มอง  ใช้เนื้ออวนคล้ายอวนใหญ่ แต่ตาของอวนจะถี่กว่าอวนใหญ่ และมีเพลาใช้คนฉุดลากน้อยกว่าอวนใหญ่ อุปกรณ์มีเรือใหญ่หนึ่งลำ เรือเล็กหนึ่งลำ ส่วนมากใช้จับปลาขนาดเล็ก
                - โต่ง  เป็นอุปกกรณ์หาปลาขนาดใหญ่ทุกชนิด ตาของโต่งใหญ่มาก อุปกรณ์ที่ใช้มีเรือพายลำยาวหนึ่งลำ เนื้อโต่งใช้ป่านเย็บ มีตะกั่วที่หล่อขึ้นสองลูก ห่วงทองเหลืองสองวง ลอยตามน้ำไหล  นิยมใช้หาปลาในแม่น้ำเจ้าพระยา
                - ลี่  เป็นเครื่องมือจับปลาขนาดใหญ่ ส่วนมากใช้จับปลาในคลอง โดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นคร่าวยึดติดกับเฝือกเป็นรูปปากชนาง เว้นช่องตรงกลางสำหับขึงอวนเป็นช่องลึกประมาณ ๕๐ - ๘๐ เมตร จนถึงอวนขัง วิธียกใช้เรือสองลำ อยู่คนละด้านของอวน ใช้มือดึงเชือกที่ร้อยอยู่ใต้อวน อวนจุถูกดึงขึ้นมาเหนือน้ำใช้ไม้ไผ่สอดใต้ตัวอวนพาดกาบเรือทั้งสองด้าน โดยมีคนจับยึดไม่ให้ไม้ไผ่พลัดตกจากกาบเรือ ส่วนผู้ที่อยู่หัวเรือจะใช้มือสาวไปตามคร่าวไม้ไผ่ต้อนปลาไปจนกระทั่งถึงอวนขัง
                - ข่าย  มีทั้งตาถี่และตาห่าง มีความลึกตามขนาดของตา เช่น ๑๐ ตา ๒๐ ตา ๑๐๐ ตา แล้วแต่ความลึกของน้ำ และชาวบ้านส่วนมาก ใช้ข่ายในการประกอบอาชีพประมง เพราะทำง่าย

                - ยอและยอใหญ่ (สนั่น)  ส่วนมากใช้หาปลาในน้ำนิ่ง ยอมีอยู่สองชนิดคือ ยอเล็กกับยอใหญ๋ ยอเล็กเป็นเครื่องมือหาปลาที่ชาวบ้านสามารถนำไปหาปลาในที่ต่าง ๆ ได้ เพราะใช้อุปกรณ์ไม้ไผ่มาประกอบกันเป็นรูปกากบาทมีตันยกตรงกลางกากบาท ส่วนปลายไม้ไผ่จะเป็นตัวอวนผูกติดอยู่ใช้สาวลงไปบนดินเมื่อปลาว่ายเข้ายอ ผู้ยกยอก็จะยกยอขึ้นปลาก็จะไปอยู่ในถุง
            ส่วนยอใหญ่จะใช้จับปลาอยู่กับที่โดยใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่ทำเป็นรูปกากบาท มีตัวอวนติดอยู่กับโครงยอใหญ่ ที่คันยกกยอจะใช้ไม้ทำเป็นบันไดสำหรับปีนขึ้นไป เมื่อเวลาจะยกกยอ การยกยอใหญ่แต่ละครั้งจะได้ปลาเป็นจำนวนมาก การนำปลาออกกจากอวนใช้สวิงด้ามยาวช้อนขึ้นมาจากตัวอวน
                - แห  มีอยู่สองชนิดด้วยกัน คือแหมีเพลากับแหไม่มีเพลา แหมีเพลาจะใช้จับปลาโดยวิธีการสาวแหขึ้นมมาไม่ต้องลงไปงม ส่วนแหไม่เพลาเมื่อทอดแหลงไปแล้ว จะต้องงมแหขึ้นมา
                - ช้อน  มีอยู่สองชนิดคือช้อนใช้พาย และช้อนติดหัวเรือ เป็นเครื่องมือหาปลาเวลาน้ำลดใหม่ ๆ โดยใช้ไม้ไผ่ตอนปลายทำเป็นวงโค้งเข้าหากัน ส่วนโคนมามัดเป็นด้าม นำตาข่ายมาผูกติดกับไม้คันช้อน มีทั้งตาถี่และตาห่าง ตาถี่ใช้จับปลาเล็ก ตาห่างใช้จับปลาใหญ่ ช้อนพายใช้พายในบริเวณริมตลิ่งที่มีน้ำไหล ส่วนช้อนติดหัวเรือหรือช้อนใหญ่จับปลาในบริเวณน้ำลึก
                - สวิง  เป็นเครื่องมือช้อนกกุ้งฝอย ปลาขนาดเล็ก โดยใช้ไม้ไผ่นำมาลนไฟแล้วดัดให้เป็นวงกลมเอาอวนตาถี่มามัดติดกับไม้ไผ่ที่ดัดแล้ว นำไปใช้ช้อนกุ้งปลาตามแหล่งน้ำต่าง ๆ
                - สุ่ม  เป็นเครื่องมือหาปลาในบริเวณที่น้ำตื้นประมาณแค่เข่า การทำสุ่มจะใช้ไม้ไผ่มาสานมีรูปร่างคล้ายสุ่มไก่ แต่มีขนาดเล็กกว่า และมีความแข็งแรงกว่า ยอดสุ่มมีช่องกลม สำหรับใช้มือกล้วงลงไปจับปลาในสุ่มได้ การใช้สุ่มจะใช้กดลงไปในบริเวณน้ำตื้น ไม่มิดยอดสุ่มกดลงไป จนฐานสุ่มฝังลงไปในดินป้องกันปลาหนีลอดออกไป
               - ลัน  ใช้สำหรับดักปลาไหล ทำด้วยไม้ไผ่คือใช้ไม้ไผ่ยาวขนาดสามปล้อง แล้วกระทุ้งปล้องกลางให้กลวง ด้านท้ายตัน แต่เจาะรูไว้ แล้วบรรจุเหยื่อไว้ในลำไม้ไผ่นั้น ตรงปากกระบอกไผ่ทำเป็นงา  การดักปลาไหลจะต้องไปหาทำเลที่มีผักเน่า ๆ  ใช้ปากลันวางไว้กับดิน ส่วนท้ายลันให้โผล่
พ้นน้ำเพื่อที่ปลาที่เข้าไปติดอยู่ในลันแล้วจะได้มีอากาศหายใจ
                - งาแซง  เป็นอุปกรณ์หาปลาแบบง่าย ๆ โดยใช้ไม้ที่มีรูปร่างคล้ายหนักสะติ๊ก มีถุงติดอยู่ตรงง่ามไม้ การจับปลาใช้สองมือจับโคนไม้ไสไปตามดินใต้น้ำ เมื่อปลาปะทะกับง่ามไม้ก็จะว่ายผ่านเข้าไปในถุง
            การถนอมอาหารที่เป็นปลา  ปลาที่จับมาได้มีวิธีการทำให้เก็บไว้กินได้นาน ๆ หลายรูปแบบด้วยกัน

               - การทำปลาส้มและปลาส้มฟัก  นิยมใช้ปลาตะเพียนขนาดไม่เล็กเกินไปนัก ขอดเกล็ดปลาให้เกลี้ยง ควักไส้ปลาออกให้หมด แล้วบั้งเนื้อปลาไม่ต้องลึกมากด้านละสองสามรอยเพื่อให้เวลานวดเกลือ เกลือจะได้แทรกเข้าเนื้อปลาได้ดี นำปลาที่บั้งแล้วไปล้างให้สะอาดทั้งในท้องปลาและเหงือกปลา แล้วนำไปผึ่งบนตะแกรง จากนั้นนำมาคลุกเคล้าและนวดกับเกลือป่นในสัดส่วนที่พอเหมาะ ทิ้งไว้ประมาณ ๔ - ๕ ชั่วโมง แล้วนำมาล้างอีกสองสามครั้งให้หมดเกลือที่หมักไว้ นำไปผึ่งบนตะแกรงแล้วนำมาคลุกกับกระเทียมที่เอาเปลือกออกแล้วโขลกพอแหลก โดยใช้กระเทียมหมักประมาณหนึ่งขีดต่อปลาหนักประมาณ
หนึ่งกิโลกรัม แล้วเตรียมข้าวสุกที่ปล่อยให้เย็นแล้ว นำไปล้างน้ำ บีบคั้นน้ำออก เอามาคลุกเคล้ากับปลา และกระเทียมให้ทั่วตัวปลา และนำส่วนหนึ่งยัดเข้าไปในท้องปลาด้วย จากนั้นจึงนำไปเรียงใส่ไหหรือโอ่งที่เตรียมไว้ ปิดฝาโอ่งหรือไหที่ใส่ให้แน่น ทิ้งไว้ ๔ - ๕ คืน ก็จะได้ปลาส้มที่มีรสเปรี้ยวเค็มตามต้องการ
           การทำปลาส้มฟัก จะใช้ปลานวลจันทร์ โดยแล่เอาแต่เนื้อปลาชิ้นเล็ก ๆ  ล้างเนื้อปลาด้วยน้ำซาวข้าวเพื่อขจัดกลิ่นคาว แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด เอาไปผึ่งไว้บนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาคลุกเคล้ากับเกลือป่นและหัวกระเทียมโขลกกับข้าวสุกตามวิธีเดียวกันกับการทำปลาส้ม แล้วนำมาบรรจุ
ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ หาของหนักทับทิ้งไว้ประมาณสองคืน จะได้ปลาส้มฟักที่มีรสเปรี้ยวเค็มพอดี
            การรับประทานทำได้ทั้งดิบ ๆ หรือนำไปทอด รับประทานกับผักสดต่าง ๆ

                - การทำปลาร้า  นิยมใช้ปลาที่มีเกล็ด เช่น ปลากระดี่ ปลาช่อน ฯลฯ  นำปลามาขอดเกล็ดให้เกลี้ยง ผ่าท้องนำไส้ออกให้หมด ตัดหัวปลาออก แล้วนำมาล้าง ผึ่งบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นนำปลามาคลุกเคล้ากับเกลือป่น แล้วนำข้าวคั่วป่นหรือรำใหม่มานวดคลุกเคล้าให้เข้ากันโดยใช้สัดส่วนปลา ๑๐ กิโลกรัมต่อเกลือ ๓ กิโลกรัมและรำ ๑ กิโลกรัม เสร็จแล้วนำไปบรรจุใส่ภาชนะ เช่น ไห หรือโอ่งน้อย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |