| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

            แหล่งโบราณคดี  มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน ที่สำรวจแล้วและยังไม่สำรวจ ดังนี้
                แหล่ง ฯ คงโคกหรือเมืองคงโคก  อยู่ทางทิศเหนือของบ้านหลุมโบก ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล เป็นชุมชนโบราณที่มีลักษณะเป็นเนินดิน รูปร่างค่อนข้างกลม มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบสองชั้น โดยก่อคันดินล้อมรอบคูน้ำด้านนอก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๐ เมตร จากการสำรวจภายในแหล่ง ฯ พบโบราณวัตถุ มีกลุ่มใบเสมาหินทรายบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแหล่ง ฯ เศษภาชนะดินเผา ทั้งประเภทเนื้อหยาบและเนื้อแกร่ง สันนิษฐานว่า คงเป็นแหล่งชุมชนสมัยวัฒนธรรมทวารวดี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ มีการนับถือพระพุทธศาสนา
                กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณคดี และกรมศาสนาขึ้นทะเบียนเป็นเขตวัดร้าง ปัจจุบันเป้นที่ตั้งวัดเมืองดง
                แหล่งดอนเกลือ  ตั้งอยู่ที่บ้านดู่ ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล ลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๐๐ เมตร มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ คันดินมีสองชั้นที่ล้อมรอบคูน้ำ ทางด้านทิศตะวันตกโค้งไปตามแนวถึงบริเวณทิศใต้
                จากการสำรวจโบราณวัตถุรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ พระพุทธรูปหินทราย และภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เครื่องถ้วยชามเคลือบสำน้ำตาล ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก หินบดและแท่นหินบดยา หินดุ กำไลหิน ขวานหินขัด
                สันนิษฐานว่า แหล่งนี้คงเป็นชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ นับถือพระพุทธศาสนา มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘
                แหล่ง ฯ บ้านน้ำอ้อมน้อย  ตั้งอยู่บริเวณน้ำบ้านอ้อมน้อย ตำบลเมืองแคน อำเภอราษีไศล เป็นชุมชนโบราณ มีลักษณะเป็นเนินดินค่อนข้างกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๕ เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ๑ ชั้น
                จากการสำรวจพบโบราณวัตถุประเภทชิ้นส่วนสำริด ภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณ ที่อาจมีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยครั้งแรก สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และมีการอยู่อาศัยต่อเนื่อง จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น มีอายุอยู่ประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ลงมา
                แหล่ง ฯ บ้านเมืองแคน  อยู่ที่บ้านเมืองแคน ตำบลเมืองแคน อำเภอราษีไศล มีลักษณะคล้ายแหล่งบ้านน้ำอ้อมน้อย  แหล่ง ฯ นี้ยังไม่ได้ดำเนินการสำรวจ
                บ้านโนนสูง  ตั้งอยู่ที่บ้านโนนสูง ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล มีลักษณะเป็นเนินสูง ยังไม่ได้ดำเนินการสำรวจ
                แหล่งบ้านหนองคู  ตั้งอยู่ที่บ้านหนองคู ตำบลจาน อำเภอเมือง ฯ มีลักษณะเป็นเนินดินอยู่ทางด้านตะวันตกของหนองคู ซึ่งเป็นแหล่งน้ำประจำหมู่บ้าน ทางด้านทิศตะวันตกของเนินดินมีคูน้ำล้อมรอบด้วย
                โบราณวัตถุที่พบจากการสำรวจได้แก่ฐานรูปเคารพหินทราย ๔ ชิ้น ชิ้นส่วนพระพุทธรูปปางนาคปรกหินทรายสององค์ และประติมากรรมที่เรียกว่า รัตนตรัยมหายาน โดยทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรกอยู่ตรงกลาง ด้านขวาทำเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ด้านซ้ายเป็นนางปรัชญาปารมิตา ลักษณะเป็นศิลปะเขมรแบบบายน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘
                บ้านโนนเกด  อยู่ที่วัดบ้านโนนเกด ตำบลทุ่ม อำเภอเมือง ฯ มีเจดียย์โบราณที่มีการขุดค้นพบเหรียญเงิน จารึกอัษร ประมาณ ๑,๑๐๐ ปี มาแล้ว และยังไม่ได้สำรวจขุดค้น
                แหล่ง ฯ บ้านขี้เหล็ก  อยู่ที่บ้านขี้เหล็ก ตำบลละเอาะ อำเภอน้ำเกลี้ยง เป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง ๒๗๐ เมตร ยาว ๔๘๐ เมตร คูน้ำที่ล้อมรอบเรียกว่า หนองคู
                จากการสำรวจไม่พบโบราณวัตถุภายในเขตชุมชน แต่พบอยยู่ด้านนอกทางด้านทิศใต้ของแหล่ง ฯ จำนวนไม่มากนักได้แก่ เศษภาชนะดินเผา เนื้อแกร่ง เคลือบสีเขียว สำน้ำตาล ซึ่งเป็นเครื่องถ้วยเขมร มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘ มีเครื่องถ้วยจีนเคลือบขาว สมัยราชวงศ์ฮั่น มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๗
                จากโบราณวัตถุที่พบ และแผนผังของชุมชน กล่าวได้ว่า ชุมชนแหล่งนี้เป็นชุมชนโบราณในวัฒนธรรมเขมร ช่วงเวลาการอยู่อาศัยระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘
                ชุมชนบ้านดวนใหญ่  อยู่ที่บ้านดวนใหญ่ ตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหิน เป็นที่ตั้งของเมืองนครลำดวน ที่ได้รับแต่งตั้งจากอาณาจักรอยุธยา ก่อนตั้งเมืองเดิมเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน มีคูรอบเมืองสามชั้นเรียกว่า คูนอก คูกลาง คูใน มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุ ในบริเวณนี้ รวมทั้งต้นซุงขนาดใหญ่จำนวนมาก มีศาลเจ้าพ่อพะละงุม ที่ตั้งอยู่บริเวณกลางหมู่บ้าน ยังไม่ได้มีการสำรวจ
                บ้านฮ่องธาตุ  อยู่ที่บ้ายฮ่องธาตุ อำเภอขุขันธ์ พบโบราณวัตถุเป็นไหสี่หู กระดูกคนโบราณ สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณ ยังไม่ได้มีการสำรวจ
                แหล่ง ฯ บ้านหัวช้าง  ลักษณะเป็นเนินดินกลางทุ่งนา อยู่ในตำบลสำโรงพลับ อำเภอไพรบึง พบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ เครื่องถ้วยเคลือบสีน้ำตาลที่เรียกว่า ไหเท้าช้าง สภาพชำรุดหลายใบ ภายในมีห่วงตะกั่วบรรจหุอยู่ ไหลเหล่านี้เป็นเครื่องถ้วยเคลือบเขมร ซึ่งมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ในเขตอำเภอบ้านกรวด มีอายุการผลิตอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘ พบห่วงตะกั่วและแผ่นตะกั่วจำนวนมาก และเครื่องมือเหล็กรูปแบบต่าง ๆ เช่นหอก สิ่ว เคียว จอบ คีม และแผ่นเหล็กที่มีห่วงยติดอยู่
                จากโบราณวัตถุที่พบกล่าวได้ว่า แหล่ง ฯ แห่งนี้คงเป็นชุมชนในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ที่มีช่วงเวลาการอยู่อาศัยระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘
                แหล่ง ฯ บ้านบึงหมอก  มีอยู่สามจุดด้วยกันคือ แหล่ง ฯ บ้านบึงหมอก แหล่ง ฯ โนนก้านเหลืองและแหล่ง ฯ โนนหนองหว้า อยู่ที่บ้านบึงหมอกน้อย ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบแบบผิวเรียบ และแบบที่ตกแต่งเป็นลายเชือกทาบ ขุดขีด ส่วนแหล่ง ฯ โนนก้านเหลืองพบการฝังศพ โดยฝังงภาชนะดินเผาและขวนหินขัดด้วย ถือเป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ ประกอบด้วยหลายชุมชน
                แหล่ง ฯ บ้านหนองแข็ง  อยู่ในตำบลโพนขวา อำเภอเมือง ฯ พบภาชนะดินเผาและผงตะกรันเหล็ก แสดงว่าเป็นแหล่งที่มีการถลุงเหล็กมาก่อน
                นอกจากแหล่งโบราณคดีที่กล่าวแล้ว ยังมีแหล่ง ฯ อีกเป็นจำนวนมากที่ยังรอการขุดค้นสำรวจ
            แหล่งอุตสาหกรรม  แหล่งอุตสาหกรรมพื้นบ้านมีไม่มาก แต่ยังมีการทำอุตสาหกรรมในครัววเรือนเช่น ทำเครื่องมือการเกษตร ผลิตอาหาร และภาชนะที่ใช้ในครัววเรือน เช่น การตีเหล็ก การปั้นโอ่งและหม้อดิน การหลอมโลหะ การต้มเกลือ เป็นต้น
            สถาปัตยกรรมดีเด่น  ผลงานด้านสถาปัตยกรรมเน้นการสร้างถาวรวัตถุด้านการศาสนา ส่วนที่อยู่อาศัยแและสถาปัตยกรรมอื่น ๆ ยังมีน้อย
                อาคารขุนอำไพพาณิชย์  อยู่ในตำบลเมืองใต้ อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ โดยมีชาวจีน และชาวญวนเป็นช่าง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ไม่มีรากฐาน ตัวอาคารทาสีครีม ลายปูนปั้นประดับ มีสีเหลืองเข้มและสีขาว ก่ออิฐแบบครึ่งแผ่นฉาบปูน แต่ละชั้นแบ่งเป็นหกคูหา พื้นชั้นล่างปูด้วยไม้เนื้อแข็ง มีบันไดขึ้นสองทาง บริเวณทางเข้าทำเป็นบานประตูเพี้ยม จำนวน ๖ บาน เปิดแยกข้างละสามบาน เหนือประตูเป็นกรอบวงโค้ง ชั้นบนบางคูหาเป็นผนังทึบ มีช่องหน้าต่าง บางคูหไาเปว็นช่องประตู มีระเบียงพื้นไม้ยื่นออกมา ๑ เมตร บริเวณผนังเหนือกรองวงโค้ง เหนือประตู หน้าต่างและตามเสามีการประดับด้วยลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม หน้าจั่วก่ออิฐฉาบปูนเรียบ ที่ยอดปั้นลม และปลายทั้งสองข้างมีลวดลายปูนบัวประดับยอดใน ส่วนที่อยู่บนสุดเป็นลายพฤกษาก้านขด
                ลักษณะเด่นของอาคารหลังนี้คือ การประดับด้วยลายปูนปั้นทั้งผนังอาคารด้านหน้า และด้านหลัง ลวดลายส่วนมากได้รับ อิทธิพลจากศิลปะ และความเชื่อตามคติจีนโบราณ มักเป็นลวดลายที่มีความหมายไปในทางมงคล เช่น ฮก ลก ซิ่ว ซึ่งหมายถึง ชาติ ศาสนา ทรัพย์สมบัติและความยั่งยืน โดยภาพลายดวงอาทิตย์ฉายรัศมี และดอกพุดตาน หมายถึง ฮก  ลายดอกเบญจมาศ หมายถึง ลก ภาพลายนกกระเรียน หมายถึง ซิ่ว ลวดลายประดับอื่น ๆ เช่น ลายพรรณพฤกษา ลายดอกบ๊วย ลายก้านขด ลายภาพค้างคาวคายเงิน เหรียญโบราณสองเหรียญ ซึ่งหมายถึง ความพรั่งพร้อมด้วยโชคลาภ

                ประตูเมืองศรีสะเกษ  อยู่ริมฝั่งห้วยแฮดด้านตะวันออก ตำบลโพธิ์ อำเภอเมือง ฯ  สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙  สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก รูปแบบจำลองปราสาทหินศิลปะขอมโบราณ ตั้งอยู่ทางเข้าตัวเมืองศรีสะเกษด้านตะวันออก บริเวณเชิงสะพาน ขัามห้วยแฮด บนทางหลวงแผ่นดินสายศรีสะเกษ - อุบล ฯ

                ศาลหลักเมืองศรีสะเกษ  อยู่ถนนหลักเมืองตัดกับถนนเทพา อำเภอเมือง ฯ  เป็นศาลหลักเมืองคู่บ้านคู่เมืองศรีสะเกษ มาตั้งแต่สมัยก่อตั้งเมือง ต่อมาได้มีการสร้างขึ้นใหม่บริเวณศาลหลักเมืองเดิม

                สะพานขาวสะพานดำ  เป็นสะพานรถไฟข้ามห้วยสำราญ สร้างด้วยโครงเหล็ก เรียกว่า สะพานดำ  ส่วนสะพานขาวเป็นสะพานสำหรับยานพาหนะอื่น ๆ และคนข้าม
ภาษาและวรรณกรรม
            ภาษาดั้งเดิมของชาวศรีสะเกษ  มีอยู่หลายภาษาด้วยกันคือ
                ภาษาลาว  ปัจจุบันชาวอีสานบางส่วนยังเรียกตนเองว่าลาว  ภาษาลาวหรือภาษาอีสานเป็นภาษาที่มีพื้นฐานและตัวอักษรแบบเดียวกัน แต่มีการพัฒนาการแตกต่างกัน เนื่องจากการติดต่อพื้นที่ข้างเคียงคนละด้าน สำเนียงการพูดภาษาท้องถิ่นก็แตกต่างกันตาม พื้นเพเดิมที่อพยพมา
                ภาษาเขมร  ชนชาวเขมรในจังหวัดศรีสะเกษเป็นชาวเขมรบนหรือเขมรสูงที่มีการใช้ภาษาพูดและสำเนียงแตกต่างจากชาวกัมพูชา หรือเขมรลุ่ม แต่สามารถสื่อสารกันได้ ภาษาเขมรพูดกันมากในเขตอำเภอขุขันธ์ อำเภอกันทรลักษณ์ อำเภอภูสิงห์ อำเภอขุนหาญ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอไพรบึง อำเภอห้วยทับทัน อำเภอศรีรัตนะ มีผู้พูดภาษาเขมรประมาณร้อยละ ๒๐ ของประชากรในจังหวัด
                ภาษาส่วย  เป็นภาษาตระกูลมอญเขมรคล้ายภาษาโส้ แสก ข่า มอญ ที่พูดเข้าใจกันได้ เป็นภาษาที่ไม่มีตัวอักษร นอกจากนั้นยังมีภาษาพิเศษ สำหรับหมอควาญในการบวงสรวงผีก่อนออกจับช้าง
                ภาษาส่วยมีพูดกันมากในบางท้องที่ของอำเภอเมือง ฯ  อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอราษีไศล อำเภอไพรบึง อำเภอปรางค์กู่ อำเภอห้วยทับทัน อำเภอรัตนะ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอเมืองจันทร์
                ภาษาเยอ  เป็นภาษาเดียวกับภาษาส่วย แต่สำเนียงแตกต่าง และเพี้ยนกันไปตามสภาพแวดล้อม บางท่านสรุปว่าภาษาเยอคือ ภาษาส่วยที่ใกล้ชิดกับภาษาลาว ภาษาส่วยคือภาษาเยอที่ใกล้ชิดกับภาษาเขมร
             จารึก  มีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งจารึกเขาพระวิหาร  จารึกแต่ละหลักเป็นหลักฐานยืนยันความเป็นมา ไขความทางประวัติศาสตร์ ของจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการสำรวจและขึ้นทะเบียนไว้ ๑๐ รายการ
            จากการศึกษาวิเคราะห์รูปอักษรที่ใช้ และการอ่านแปลข้องความในจารึกแล้วพบว่า จารึกมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ ใช้อักษรขอมโบราณที่พัฒนามา จากอักษรปัลลวะของอินเดียตอนใต้ เป็นภาษาเขมร และสันสกฤต
            เรื่องราวที่จารึกส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกษัตริย์แห่งอาณาจักรขอมโบราณ หรือชนชั้นปกครอง และเรื่องเกี่ยวกับศาสนาฮินดู เช่น การสร้างศาสนสถาน รูปเคารพ ถาวรวัตถุต่าง ๆ  การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และการอุทิศข้าทาส ทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ ถวายพระเจ้า คือถวายไว้ประจำศาสนสถาน
            จารึกส่วนใหญ่เป็นจารึกรูปอักษรไว้ที่ส่วนประกอบอาคารของศาสนสถาน ได้แก่ จารึกกรอบประตูที่ปราสาทโดนตวล และจารึกกรอบหน้าต่าง ที่ปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นหลักสี่เหลี่ยม นอกจากนี้ยังมีจารึกบนขันสำริด ซึ่งแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่า ได้พบในบริเวณศาสนสถานแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่ข้อความที่จารึกกล่าวถึง การถวายไทยธรรมแก่กัมรเตงชคต ซึ่งบอกถึงการบำเพ็ญกุศลถวายแก่พระเจ้า
            เป็นที่น่าสังเกตว่า พระเจ้าสุริยวรมันได้ให้ความสำคัญแก่กัมรเตงคตศรีพฤทเธศวร (ปราสาทสระกำแพงใหญ่) และกัมรเตงชคตศรีศิขเรศวรต (ปราสาทเขาพระวิหาร) ในระดับใกล้เคียงกัน โดยได้ให้จารึกไว้ในจารึกเขาพระวิหารหลักที่ ๑ อีกด้วย
                จารึกปราสาทสระกำแพงใหญ่ (ศก.๑)  เป็นจารึกบนกรอบประตูทิศใต้ของซุ้มประตูระเบียงคดทิศตะวันออกของปราสาทสระกำแพงใหญ่ ไม่ปรากฏหลักฐานการค้นพบครั้งแรก แต่มีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ ในนิตยสารศิลปากร  ต่อมาได้พิมพ์เผยแพร่อีกครั้งในหนังสือจารึกในประเทศไทย เล่ม ๓ อำษรขอม พุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ พ.ศ.๒๕๓๙
                    รูปแบบอักษร จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ เป็นภาษาเขมร ระบุ พ.ศ.๑๕๘๕ พื้นที่จารึกกว้าง ๕๔ เซนติเมตร ยาว ๒๖๕ เซนติเมตร มีตัวหนังสือ ๓๓ บรรทัด อ่านได้ ๒๔ บรรทัด เนื้อหาโดยสังเขปมีผู้อ่าน และแปลไว้มีสาระดังนี้
                        - ในปี พ.ศ.๑๕๘๕ เดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ ซึ่งตรงกับวันวิศุวสงกรานต์ คือ วันที่มีกลางวันและกลางคืนเท่ากัน ได้มีพิธีมอบที่ดิน และข้าวของถวายวัด มีการประกาศเขตกัลปนามอบผู้ดูแลศาสนสถาน
                        - ประกาศชื่อศาสนสถานว่าศรีพฤทเธศวร คู่กับเขาพระวิหารที่มีชื่อว่าศรีสิขเรศวร  ศรีพฤทเธศวรอยู่เมืองสดุกอำพิล
                        - บุคคลที่มีอำนาจในเมืองนี้คือศิวทาส นอกจากนี้ยังมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีกหลายคน
                        - ระบบกัลปนา คือ ยกที่ดินให้ขึ้นกับศาสนสถาน แล้วแบ่งให้ข้าพระผู้อุปถัมภ์วัดดูแลทำประโยชน์ ระบบกัลปนาเป็นการบำรุงศาสนสถานให้ดำรงอยู่
                        - มีการประกาศถวายวิญญาณกทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์แก่วัด (กัมรเตง)
                        - มีการประกาศชื่อทาสคือ ผู้ภักดีต่อวัดชาย - หญิง เป็นผู้ดูแลศาสนสถานนั้น
                        ศิลาจารึกหลักนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นมา และสภาพความเป็นอยู่ของชาวศรีสะเกษในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ได้เป็นอย่างดี
                จารึกปราสาทโดมตวง (ศก.๙)  จารึกด้วยอักษรขอมโบราณเป็นภาษาเขมร - สันสกฤต ระบุ พ.ศ.๑๕๔๕ จำนวน ๑ ด้าน มี ๓ บรรทัด เป็นจารึกบนหินทราย ซึ่งเป็นกรอบประตูทิศเหนือ ทางเข้าด้านหน้าปราสาทประธาน ส่วนที่สันนิษฐานว่าเป็นมณฑป
                เนื้อหาโดยสังเขป จับความได้ว่ามีการกล่าวถึงนามเจ้านายหรือชนชั้นปกครองและนามบุคคล
                จารึกปราสาทโดนตวล ๒ (ศก.๑๐)  เป็นจารึกด้วยวอักษรขอมโบราณเป็นภาษาเขมร - สันสกฤต จำนวน ๑ ด้าน ๑๕ บรรทัด เป็นจารึกบนหินทราย ซึ่งเป็นกรอบประตูทิศใต้ของทางเข้าด้านหน้าที่สันนิษฐานว่า เป็นมณฑปปราสาทประธาน
                เนื้อหาโดยสังเขป ดูที่จารึกปราสาทโดนตวล
                จารึกปราสาทเขาพระวิหาร ๑ (ศก.๕)  พบที่ปราสาทเขาพระวิหาร ไม่ปรากฎว่าพบเมื่อใด หอสมุดแห่งชาติได้อ่านแปล และพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก ในหนังสือจารึกในประเทศไทย เล่ม ๓ อักษรขอมพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ จารึกด้วยอักษรขอมโบราณเป็นภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ระบุ พ.ศ.ไว้ ๒ แห่งคือ พ.ศ.๑๕๙๐ และ พ.ศ.๑๕๙๑ มีจำนวน ๒ ด้าน ด้านที่ ๑ มี ๒๗ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๑๐ บรรทัด จารึกบนแท่งหินทรายสี่เหลี่ยม กว้าง ๕๑ เซนติเมตร สูง ๖๗ เซนติเมตร ช่วงเวลาที่จารึกอยู่ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑
                ข้อความในจารึกกล่าวถึงการเขียนประวัติและการเก็บรักษาเอกสารประวัติของกษัตริย์ และราชวงศ์แห่งอาณาจักรเขมรโบราณ และยังกล่าวถึงบุคคลต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับศาสนสถาน
                จารึกปราสาทพระวิหาร ๒ (ศก ๓)  พบที่ปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติได้อ่านแปล และพิมพ์เผนแพร่ครั้งแรกในหนังสือจารึกประเทศไทย เล่ม ๔ อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ เป็นจารึกด้วยอักษรขอมโบราณ เป็นภาษาเขมรและภาษาสันสกฤต ระบุปี พ.ศ.๑๖๖๔ มีจำนวน ๔ ด้าน ด้านที่ ๑ มี ๔๘ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๕๗ บรรทัด ด้านที่ ๓ มี ๗ บรรทัด ด้านที่ ๔ มี ๒๓ บรรทัด จารึกบนแท่นหินทรายสี่เหลี่ยม กว้าง ๔๔.๕ เซนติเมตร สูง ๑๑๗ เซนติเมตร หนา ๑๓.๕ เซนติเมตร
                เนื้อหาโดยสังเขปเป็นจารึกที่สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ โดยระบุปี พ.ศ.๑๖๖๔ เป็นศิลาจารึกที่มีความและมีเนื้อหายาว กล่าวถึงประวัติ และเรื่องเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ของกัมรเตงวอัญคุรุศรีทิวากร ซึ่งเป็นพราหมณ์ปุโรหิตประจำราชสำนักของกษัตริย์แห่งอาณาจักรเขมรโบราณข้อความจารึกกล่าวย้อนถึงกรณียกิจของกษัตริย์รัชกาลก่อน ๆ อันเกี่ยวเนื่องด้วยนการบำเพ็ญกุศลในศาสนา และมีการกล่าวถึงการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ การสร้างรูปเคารพ สร้างอาศรม ขุดสระน้ำ และการถวายข้าทาสชายหญิง ตลอดจนทรัพย์สิ่งของไว้ประจำเทวสถานด้วย รวมทั้งเขตกัลปนาที่เป็นชุมชนโบราณสมัยขอม ซึ่งบางแห่งรวมถึงชุมชนในจังหวัดศรีสะเกษด้วย
                จารึกปราสาทเขาพระวิหาร ๓ (ศก.๔)  พบที่ปราสาทเขาพระวิหาร จารึกด้วยอักษรขอมโบราณเป็นภาษาเขมร - สันสกฤต มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตววรรษที่ ๑๖ จำนวน ๑ ด้าน มี ๑๐ บรรทัด กว้าง ๕๘.๕ เซนติเมตร สูง ๒๖๕ เซนติเมตร หนา ๒๒.๕ เซนติเมตร อยู่บนกรอบประตูชั้นที่ ๒ อาคารหลังระเบียงปราสาทชั้นที่ ๓ ปราสาทเขาพระวิหาร
                เนื้อหาโดยสังเขป จารึกเรื่องราวของกษัตริย์ อาณาจักรเขมรโบราณ และกรณียกิจอันเกี่ยวกับศาสนสวถาน ตัวจารึกมีอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ รายละเอียดข้อความที่จารึก กำลังอยู่ระหว่างการแปล
                จารึกปราสาทเขาพระวิหาร ๔ (ศก.๖)  พบที่ปราสาทเขาพระวิหาร จารึกด้วยอักษรขอมโบราณเป็นภาษาเขมร - สันสกฤต มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จำนวน ๒ ด้าน ด้านที่ ๑ มี ๖๙ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๒๙ บรรทัด เป็นจารึกบนหินทรายที่เป็นกรอบประตู ขนาดกว้าง ๖๓ เซนติเมตร สูง ๒๕๐ - ๒๘๐ เซนติเมตร หนา ๒๘.๕ เซนติเมตร รายละเอียดของจารึกยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการอ่านและแปล
                จารึกปราสาทเขาพระวิหาร ๕ (ศก.๗)  พบที่ปราสาทเขาพระวิหาร จารึกด้วยอักษรขอมโบราณเป็นภาษาเขมร - สันสกฤต มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ มีจำนวน ๒ ด้าน ด้านที่ ๑  มี ๑๘ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๒๗ บรรทัด เป็นจารึกบนหินทรายที่เป็นกรอบหน้าต่าง กว้าง ๕๖ เซนติเมตร สูง ๒๒๓ เซนติเมตร หนา ๒๓ เซนติเมตร เนื้อหายังอยู่ระหว่างการแปล
                จารึกบนขันสำริด (ศก.๘)  จารึกด้วยอักษรขอมโบราณเป็นภาษเขมร ระบุปี พ.ศ.๑๗๒๗  จำนวน ๑ บรรทัด วนรอบขันสำริดที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๘.๕ เซนติเมตร สูง ๑๕.๕ เซนติเมตร
                เนื้อหาโดยสังเขปมีความว่า ๑๑๐๖ ค่าไทยธรรมจำนวน ๗๑๐๑ ท่านวิชญา เหตแห่งตำบลเมรียว กราบแด่กัมรเตงชคตบ้านงนเชียง
                จารึกบ้านกระมัล (ศก.๒)  เดิมพบอยู่ในโบสถ์วัดกระมัล บ้านกระมัล ตำบลโพธิ์วงศ์ อำเภอขุนหาญ บริเวณที่พบหลักนี้เป็นซากโบราณสถานที่เหลือเพียงฐาน มีหินทรายและศิลาแลงกระจายอยู่ทั่วไป ศิลาจารึกนี้ได้นำมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร จารึกนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
                จารึกหลักนี้ จารึกด้วยอักษรขอมโบราณเป็นภาษเขมร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ จำนวน ๑ ด้าน มี ๑๓ บรรทัด สถาพจารึกเป็นรูปใบเสมาทำด้วยหินทราย กว้าง ๔๗ เซนติเมตร สูง ๙๐ เซนติเมตร หนา ๑๔ เซนติเมตร เนื่องจากตัวอักษรลบเลือนจึงจับเนื้อหาสาระไม่ได้
                จารึกฐานพระพุทธรูปวัดอ่างแก้ว (สค.๑) พบที่จังหวัดศรีสะเกษ แต่ต่อมาได้มีการเคลื่อนย้ายมาไว้ที่วัดอ่างแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสาคร ไม่ปรากฎว่าพบเมื่อใด มีการเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นจารึกด้วยวอักษรธรรมอีสาน เป็นภาษาไทย ระบุปี พ.ศ.๒๓๓๙ จำนวนสามด้าน ด้านที่ ๑ มี ๒ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๓ บรรทัด ด้านที่ ๓ มี ๔ บรรทัด
                เนื้อความกล่าวถึง หม่อมเจ้าพิมพาเป็นผู้ลิจจนา ทำเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๙ และสุดท้ายขอให้ถึงความสุขสามประการ มีนิรพานเป็นที่แล้ว
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |