| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

            ตำนาน  จังหวัดศรีสะเกษ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งเทพนิยาย มีตำนานยอยู่มากมาย เพื่อประกอบความเป็นมาของหมู่บ้าน และชุมชน
                ตำนานพระนางศรีสระผม  เป็นตำนานที่เกี่ยวกับการตั้งชื่อเมืองศรีสะเกษ มีอยู่สามตำนาน
                    พระนางศรี ธิดากษัตริย์ลาว  เนื้อความมีอยู่ว่า พระยาแกรก เจ้าเมืองเขมรได้เดินทางท่องเที่ยวไปจนถึงเมืองลาว ไปพบเนื้อคู่เป็นธิดาเจ้าเมืองลาว ชื่อศรี  จึงได้สู่ขอและอยู่กินกันที่เมืองลาว ต่อมาพระยาแกรกเดินทางกลับเมืองเขมรก่อน ทิ้งนางศรีไว้ที่เมืองลาว นางศรีมีครรภ์แก่จึงเดินทางตามสามีไปยังเมืองเขมร ไปถึงทำเลแห่งหนึ่งมีสระน้ำใสเย็น นางศรีได้คลอดทารกที่ริมสระแห่งนั้น และนางได้ลงไปอาบน้ำในสระพร้อมทั้งอาบน้ำทารกในสระด้วย แล้วจึงเดินทางต่อไปยังเมืองเขมร สระนั้นจึงได้ชื่อว่า ศรีสระเกศ แต่นั้นมา
                    พระยาศรีโคตรบองเพชร  เป็นผู้ครองกรุงกัมพูชา เดิมเป็นสามัญชนชื่อศรีโคตร ขณะบวชเณรได้ใช้ไม้งิ้วดำ คนหม้อข้าวที่หุงกินทุกวัน จนเกิดกำลังมีอิทธิฤทธิ์ได้ครองกรุงกัมพูชา มีตะบองเพชรเป็นของมีฤทธิ์ ต่อมาพระยาโคตรบองได้ทราบว่าที่ดงแห่งหนึ่งมีช้างป่ามาอาศัยอยู่ประมาณล้านตัว จึงคิดจะไปปราบช้างด้วยตะบองเพชรคู่มือ จึงได้เดินทางไปดงช้างดังกล่าว เมื่อช้างเห็นคนก็จะเข้ามาทำร้าย พระยาศรีโคตรบองก็ใช้กระบองเพชรขว้างไปยังฝูงช้าง ถูกช้างล้มตายเป็นอันมาก พระยาศรีโคตรบองจึงสั่งให้ผู้คนนำเอาช้างที่ล้มตายไปทิ้งในแม่น้ำใกล้ ๆ กันนั้น ซากช้างตายก็เน่าเหม็นโขงไปทั้งแม่น้ำนั้น แม่น้ำนั้นจึงได้นามว่า แม่น้ำโขงตั้งแต่นั้นมา
                    เมื่อพระยาศรีโคตรบองปราบช้างแล้วก็ยังไม่กลับกัมพูชา จึงได้ตั้งเมืองขึ้นที่ดงปราบช้างนั้น และขนานนามเมืองว่า เมืองล้านช้าง และอยู่ครองเมืองนั้น ต่อมาโหรได้ทำนายว่าจะมีผู้มีบุญมาเกิดแล้วจะชิงราชสมบัติ พระยาศรีโคตรบองจึงให้อำมาตย์ไปจับผู้หญิงมีครรภ์ทุกคนมาเผาไฟเสียให้หมด เมื่อมาถึงหญิงมีครรภ์คนหนึ่ง พอถูกโยนเข้ากองไฟ ท้องก็แตกออก ลูกในท้องกระเด็นไปติดกับเขื่อนวัดโดยไม่มีใครเห็น เมื่อสมภารวัดมาพบเข้าก็นำทารกไปเลี้ยงไว้ เป็นผู้ชาย แต่เท้า และแขนงอติดกัน ต่อมาโหรก็ได้ทำนายอีกว่า ผู้มีบุญมาเกิดแล้ว ยังเป็นเด็กอยู่ พระยาศรีโคตรบองก็สั่งให้อำมาตย์ไปจับเด็กมาฆ่าให้หมด จนเหลือเด็ก
ที่เท้าและแขนติดกันอยู่กับสมภารวัด พระยาศรีโคตรบองทราบ สั่งว่าไม่ต้องฆ่าเพราะคงไม่มีฤทธิ์ ไม่มีบุญ
                    ต่อมาอีก ๑๖ ปี โหรได้ทำนายว่า ผู้มีฤทธิ์จะมาแย่งราชสมบัติในเจ็ดวัน (คือวันเสาร์) พระยาศรีโคตรบองจึงสั่งให้อำมาตย์จัดพลับพลา เพื่อจะต่อสู้กับผู้มีบุญ เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ผู้คนก็ออกมาชม เด็กที่มือเท้าติดกันอยากมาดูด้วย ระหว่างทางได้พบชายแก่คนหนึ่งขับรถมาจึงได้รับขึ้นรถไปด้วย เมื่อไปถึงป่าแห่งหนึ่ง ชายแก่ก็หยุดรถ บอกจะไปธุระ ให้เด็กหนุ่มคนนั้นเฝ้ารถไว้ ถ้าอยากกินข้าวกินน้ำก็มีอยู่ในรถ และหากรอนานไปก็ให้ขับรถเข้าเมือง เสื้อผ้าที่มีอยู่ในย่ามก็ให้สวมใส่ก่อนเข้าไปในเมือง
                    เมื่อเด็กหนุ่มดื่มน้ำ น้ำได้หกรดไปตามลำตัว แขนและเท้าที่ติดกันอยู่ก็หายติด กลายเป็นคนปกติ เมื่อกินข้าวอิ่มตัวก็กลายเป็นสีเหลืองเหมือนสีทอง เมื่อเอาเสื้อผ้าในย่ามมาใส่แล้วก็ขับรถตรงไปยังหน้าพลับพลา
                    ฝ่ายพระยาศรีโคตรบองเห็นเด็กหนุ่มขับรถตรงมาก็เข้าใจว่าผู้มีบุญมาแล้ว จึงได้ขว้างตะบองเพชรคู่มือไป แต่หาถูกเด็กไม่ ตะบองเพชรกลับคืนมา ตกหน้าพระยาศรีโคตรบอง เกิดเป็นไฟลุกวาบแล้วหายไป พระยาศรีโคตรบองเห็นดังนั้นก็ยอมยกเมืองล้านช้างให้เด็กหนุ่มครองต่อไป แล้วตนเองกับชายาก็เดินทางกลับไปครองเมืองกัมพูชาตามเดิม
                    ระหว่างทางกลับกัมพูชา ได้พบกำแพงแห่งหนึ่งมีสระน้ำอยู่กลาง (คือ บ้านสระกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย) ก็ได้หยุดพักอยู่ที่บ้านสระกำแพงนี้ และทั้งสองได้ใช้น้ำในสระกำแพงอาบ ชายาได้ลงสระผมทุกวัน ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านจึงเรียกสระที่อยู่ในกำแพงนั้นว่า สระเกศ  ต่อมาเมื่อได้มีการตั้งเมืองขึ้น ณ ที่นี้และขนานนามเมืองว่า เมืองศรีสระเกศ
                    พระนางศรี นางพญาขอม  เมื่อพันกว่าปีมาแล้ว มีนางพญาขอมคนหนึ่ง ออกเดินทางจากเมืองพิมาย โคราช จะไปนครธม โดยมีเส้นทางผ่านปราสาทหินกำแพง (ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่) ซึ่งมีสระน้ำกว้างใหญ่อยู่ใกล้ ๆ  พอค่ำ พระนางก็ลงอาบน้ำในสระ และมัดมวยผมอยู่ในสระ ชาวบ้านมาเห็นก็ชื่นชมความงาม จึงถือเอาอาการสระผมของพระนางเป็นนิมิตตั้งชื่อบริเวณนั้นว่า สระเกศ
                ตำนานเมืองศรีสะเกษ  ในสมัยอยุธยา มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง ทรงปกครองบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้า ครั้งนั้นท้องที่จังหวัดศรีสะเกษ และสุรินทร์ยังเป็นป่าดงอยู่มาก พลเมืองโดยมากเป็นชาวป่าชาวเขา ได้มีชาวป่าสามคนชื่อตาเฌอ ตาปะขาว และตากะจะหม้อนึ่ง เป็นเพื่อนร่วมสาบาน ได้แบ่งดินแดนทำมาหากินออกเป็นสามส่วน แล้วปลูกข้าวบำรุงจนงอกงาม
                วันหนึ่งมีช้างเผือกตัวหนึ่งมาย่ำยีข้าวในที่ของเขา ทั้งสามคนจึงช่วยกันไล่ช้างออกไป ช้างตัวนั้นก็มุ่งเดินทางไปทางทิศตะวันออก หลังจากนั้นก็มีกองทัพของพระราชาองค์หนึ่ง ติดตามจับช้างมาถึงไร่ เมื่อทราบถึงลักษณะของช้างที่มากินข้าวในไร่ก็ดีพระทัย จึงให้ทั้งสามสหาย เดินทางติดตามช้างร่วมไปด้วย พอถึงลำน้ำแห่งหนึ่งก็พบช้างกำลังกินใบหญ้าใบไม้อยู่จึงเข้าล้อมจับ แต่ช้างหนีฝ่าวงล้อมไปได้ โดยไปทางทิศตะวันออก จนมาถึงห้วยแห่งหนึ่ง พระราชาถามว่าชื่อห้วยอะไร เมื่อทราบว่ายังไม่มีชื่อจึงให้ชื่อว่า ห้วยทับทัน ชาวบ้านที่อยู่แถบนั้นได้ช่วยกันปลูกหอพักให้กองทัพพัก แต่เนื่องจากการติดตามช้าง ต้องรีบติดตามช้างไป หอดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า หอเลย หรือ หัวเลย และต่อมาเรียกว่า บ้านทับทัน จากนั้นก็ไปถึงห้วยแห่งหนึ่ง จึงหยุดพักเป็นที่สำราญ เมื่อตื่นขึ้นก็ตรัสถามว่าชื่อห้วยอะไร เมื่อทราบว่าไม่มีมาก่อนจึงให้ชื่อว่า ห้วยสำราญ แล้วตามช้างต่อไปถึงลำห้วยอีกแห่งหนึ่ง พบแรดฝูงหนึ่งกำลังเล่นโคลนอยู่ จึงถามชื่อห้วยอีกและเมื่อทราบว่ายังไม่มีชื่อจึงให้ชื่อว่า ห้วยแฮด จากนั้นได้ตามรอยเท้าช้างต่อไปถึงบ้านเขินในเขตอำเภอน้ำเกลี้ยง คราวนี้ให้ชาวบ้านช่วยกันจับช้างโดยได้สร้างคอกที่แข็งแรงแล้วล่อช้างเข้าไปในคอก จึงติดปลอกได้ พระราชาจึงยกทัพกลับหมู่บ้านที่จับช้างได้จึงได้ชื่อว่า บ้านส่งช้าง หรือบ้านเขินส่งช้าง  แล้วได้นำขบวนผ่านไปทางแม่น้ำมูล เพื่อกลับทางเดิม และได้นำช้างลงชำระล้าง ณ บ้านแห่งหนึ่งในท่ามูล พระราชาจึงได้ขนานนามบ้านนั้นว่า บ้านท่าช้าง
                เมื่อกองทัพเดินทางกลับมาถึงบ้านของสามสหาย ทรงพอพระทัยสามสหายมาก ตรัสสั่งให้ไปเยี่ยมพระองค์ที่เมือง
                ปีต่อมา เมื่อสามสหายเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว จึงชวนกันไปเฝ้าพระราชาตามที่ชวนไว้ และได้เตรียมของไปถวายด้วย เมื่อไปถึงวัง ทหารยามไม่ยอมให้เข้าไปพระราชาทราบเรื่องให้สั่งให้ไปพบได้ แต่เมื่อเห็นของที่เอามาฝาก ก็รู้สึกไม่พอใจแต่ก็รับเอาไว้
                เมื่อสามสหายพักอยู่ในวังพอสมควรแล้วก็ลากลับ พระราชาจึงได้มีตราตั้งให้ตาเฌอเป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ให้มาตั้งที่บ้านควนใหญ่เรียกว่าเมืองศรีนครลำดวน ตาประขาวเป็นพระยาสังขะภักดี ให้มาตั้งเมืองใหม่ชื่อเมืองสังขะภักดี (อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์) ส่วนตากะจะหม้อนึ่งให้มาตั้งเมืองที่ดงหวายและให้เป็นพระรัตนบุรี ครองเมืองรัตนบุรี (อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์) เหตุที่ไม่ได้เป็นพระยาเหมือนคนอื่นเพราะพระราชาไม่พอใจที่เอาเต่าไปให้
                ตำนานเมืองยางชุมน้อย  เป็นตำนานการตั้งเมืองก้านที่สืบเนื่องเกี่ยวกับการจับตัวจินายโม้ (จิ้งหรีดยักษ์) ของคันธนาม แล้วจับจินายโม้ผูกด้วยเถาวัลย์คอนใส่บ่ามา แต่จิบายโม้ดิ้นหลุดไป ทิ้งไว้แต่ก้านติดกับคาน จึงตั้งชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานว่า นครก้าน หรือคอนก้าน หรือบ้านครก้าน ซึ่งปัจจุบันคือ บ้านคอนกาม ต่อมาผู้ครองนครก้าม แบ่งไพรพลให้ลูกหลานของตนไปตั้งบ้านเรือนที่ป่ายาง ผู้ที่ได้ไพร่พลไปมากคือ หยางไทย บุตรคนโตเรียกว่า ยางชุมใหญ่ ผู้ที่ได้ไพร่พลไปน้อคือหยางนอย บุตรคนเล็กเรียกว่า ยางชุมน้อย ส่วนบุตรสาวคือหยางเครือไปตั้งบ้านเรือนที่บ้านยางเครือ
                ในอำเภอยางชุมน้อยมีชื่อสถานที่เกี่ยวกับขุนนางตามรูปแบบการปกครองแบบอาชญาสีของลาว ที่บ้านแสน เป็นคอกวัวของขุนนางศรีสะเกษ บ้านกุดเมืองฮาม และป่าดงเมืองซ้าย ทั้งสามชื่อคือ ตำแหน่งของขุนนางในอาณาจักรล้านช้าง รวมทั้งบ้านเพียน้ำก็เช่นกัน
                ตำนานตัวอักษรส่วยและเยอ  ตำนานได้เล่าถึงการที่ชาวส่วย ชาวเยอ ชาวเขมร และชาวลาว คิดประดิษฐ์อักษรเพื่อให้เขียน จารึก เมื่อคิดตัวอักษรเสร็จแล้ว ชาวขอมได้จารึกตัวอักษรลงบนแผ่นหิน ชาวลาวจารึกบนใบลาน แต่ชาวส่วยกับชาวเยอจารึกบนหนังวัวควาย แล้วนำไปตากให้แห้งก่อนนำไปเก็บรักษา เผอิญมีสุนัขมาลากหนังสัตว์ที่จารึกอักษรไว้ไปกินจนหมด ดังนั้นเมื่อมีผู้ถามเรื่องตัวอักษรส่วยหรือเยอ จะได้รับคำตอบว่า จอจาจิม หมายความว่าสุนัขกินไปหมดแล้ว
               ขุนหาญปราบนาคเจ็ดเศียร  อำเภอขุนหาญสมัยก่อนตั้งอยู่ใกล้กับลำห้วยใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพญานาคใหญ่มีเจ็ดหัว เป็นที่หวาดเกรงของผู้คน มีผู้อาสามาปราบแต่ถูกพญานาคฆ่าตายหมด ต่อมามีผู้ชายคนหนึ่งอาสาไปสู้ ได้ต่อสู้จนเลือดนองไปทั่วแผ่นดินแถบภูเขาและเนินเหล่านั้น จนทำให้ดินกลายเป็นสีแดงไปทั่วจนถึงปัจจุบัน ชายคนนั้นเป็นฝ่ายชนะ จึงได้รับแต่ตั้งให้เป็นขุนปกครองเมืองว่าขุนหาญ เป็นที่มาของชื่ออำเภอขุนหาญ
                ตำนานเมืองน้อยเมืองหลวง  เมื่อครั้งสงครามเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ มีขุนนางผู้หนึ่งพร้อมทั้งทหารข้าทาสบริวารชายหญิง ได้ทำการสู้รบข้าศึกที่บริเวณทุ่งฐาน (ปัจจุบันคือ บ้านโคก ตำบลโคกฐาน อำเภออุทุมพรพิสัย) เมื่อได้ชัยชนะก็เคลื่อนขบวนต่อไป แล้วได้หยุดพัก เพื่อซ่อมแซมอาวุธ ซึ่งต่อมากลายเป็นบ้านเตาเหล็ก ขณะที่พักขุนนางนั้นได้ชอบพอกับสตรีพื้นบ้านสองคน จึงได้สมรสในเวลาพร้อมกัน แต่ภรรยาทั้งสองไม่ปรองดองกัน ขุนนางผู้นั้นจึงให้ภรรรยาคนที่สองพร้อมไพร่พล เดินทางไปสร้างบ้านห่างจากกันไปประมาณสิบร้อยก้าว ที่บริเวณหนองพอง ต่อมาบ้านที่ภรรยาหลวงอยู่เรียกว่า บ้านเมียหลวง หมู่บ้านที่ภรรยาน้อยอยู่เรียกว่า บ้านเมียน้อย ต่อมาจึงเรียกว่า บ้านเมืองหลวง และบ้านเมืองน้อย อยู่ในเขตอำเภอห้วยทับทันในปัจจุบัน
                ตำนานปราสาทโดนตวล  กล่าวถึงสตรีผู้สูงศักดิ์ รูปร่างหน้าตาสวยงาม แต่มีลักษณะอาภัพคือ หน้าอกใหญ่ กิตติศัพท์เลื่องลือไปจนถึงกษัตริย์ขอม จึงให้เหล่าอำมาตย์มารับนางไปเฝ้า ขณะเดินทางได้พักที่ลานหินโดนตวล (ยายอ่อน) ขณะนั้นตาเล็งซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกันกับนางได้ไปตามนางให้เดินทางกลับ จึงเกิดการต่อสู้กับเหล่าอำมาตย์ตาเล็งถูกฆ่าตายทิ้งไว้ในป่าบริเวณที่สร้างปราสาทโดนตวล
                ตำนานเมืองร้างกลางดง  ป่าดงเมืองซ้าย  ชาวข่า หรือกวย หรือส่วย มักจะยกย่องสตรีเป็นผู้ปกครองเช่น นครจำปาศักดิ์ ก่อนตกอยู่ใต้อิทธิพลของลาวก็มีนางเภานางแพงเป็นเจ้าเมือง ในตำนานป่าดงก็มีนางเภานางแพงเป็นเจ้าเมือง
                ในตำนานป่าดงเมืองซ้าย กล่าวถึงนางพญาเจ้าเมืององค์หนึ่ง เมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา ได้พาไพร่ฟ้าประชาชนอพยพจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เพื่อหนีโรคระบาด ผ่านพื้นที่เมืองอุบล ฯ  มาตั้งถิ่นฐานที่ป่าริมฝั่งซ้ายแม่น้ำมูล ได้มีการวางผังเมืองตามคติโบราณ แบ่งเขตชนชั้นต่าง ๆ เป็นสัดส่วน เขตในเป็นพื้นที่อาศัยของเจ้าเมือง ชั้นนอกเป็นที่อยู่ของไพร่ฟ้าประชาชนเรียกว่าเมืองซ้าย เมืองนี้ไม่ปรากฎชื่อในพงศาวดารไทย มีร่องรอยหลักล่ามช้างของนางพญา ซากเตาหลอมโลหะหลงเหลืออยู่ซากปรักหักพังของอาคาร มีลักษณะคล้ายโบสถ์ที่ก่อสร้างด้วยอิฐก้อนใหญ่ ใต้ฐานมีอุโมงเล็ก ๆ คล้ายห้องเก็บของ มีบ่อน้ำก่อขอบบ่อด้วยอิฐอยู่ใกล้อาคาร บริเวณโดยรอบมีป่ามะม่วงอายุนับร้อยปีปกคลุม ปัจจุบันอยู่ที่บ้านสิ้นฟ้า ตำบลสิ้นฟ้า อำเภอยางชุมน้อย เหลือพื้นที่ป่าประมาณ  ๖๐๐ ไร่ จากพื้นที่ ๓,๐๐๐ ไร่
                ตำนานปราสาทตำหนักไทร  เรื่องมีอยู่ว่านานมาแล้วมีพระราชาองค์หนึ่ง ครองเมืองที่ตั้งอยู่ที่บ้านดอนข่า (ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ) อยากจะเสวยเนื้อ จึงได้เกณฑ์พรานหาเนื้อมาถวาย โดยผลัดเปลี่ยนเวรกันไปเป็นรอบ ๆ ละเจ็ดวัน พรานคนหนึ่งอยู่บ้านพราน (ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ) รับเวรออกล่าสัตว์เกือบครบเจ็ดวัน ยังหาเนื้อไม่ได้ ซึ่งหากหาเนื้อไปให้ไม่ทันก็จะถูกประหารชีวิต
                พอถึงวันที่เจ็ดได้เห็นงูใหญ่ตัวหนึ่งกำลังโน้มกิ่งยอดยาง แต่ยังไม่ตายจึงได้เลื้อยไล่นายพรานไปถึงหนองน้ำแห่งหนึ่ง พรานก็หมดกำลังล้มลง งูตามมาทันก็กัดกินนายพรานตาย บรรดาเหลือบ ริ้น ยุง ก็กัดและดูดเลือดนายพรานกิน
                พิษงูที่อยู่ในตัวนายพรานทำให้สัตว์ดังกล่าวตายทับถมกันอยู่เกลื่อนตัวพราน เมื่อพิษงูหมดไปจากตัวพรานก็พื้นขึ้น แล้วเดินตามรอยงูไปถึงถ้ำพระพุทธ ที่อยู่เชิงเขาพนมดงรัก พบงูตายอยู่ในถ้ำ พรานจึงตัดเอาเขี้ยวงูไปให้พระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระราชาเห็นเขี้ยวแล้วก็พอใจมิได้ลงโทษพรานแต่อย่างใด ต่อมาบ้านเมืองเดือดร้อน โหรทำนายว่าจะต้องสร้างปราสาทไว้เก็บเขี้ยวงูบ้านเมืองจึงจะร่มเย็นเป็นสุข พระราชาได้สร้างปราสาทหลังหนึ่งขึ้นบริเวณต้นไทรเรียกว่า ตำหนักไทร
                หนองน้ำที่พรานถูกงูกัดตายนั้นเรียกว่า หนองสิ ซึ่งแปลว่าเหลือบ ริ้น ยุง ปัจจุบันหนองน้ำนี้อยู่ในเขตอำเภอขุนหาญ ถ้ำพระพุทธรูปอยู่เชิงเขาพนมดงรัก รอยงูที่ไล่พรานแล้วเลื้อยกลับไปยังถ้ำพระพุทธนั้น ปัจจุบันเป็นรอยคดเคี้ยวไปมาจนถึงถ้ำพระพุทธ แนวนั้นกว้างประมาณ ๑ วา ปรากฏให้เห็นเป็นแห่ง ๆ ไป ตลอดแนวนี้ไม่มีต้นหญ้าสูงขึ้นเลย บ้านดอนข่าปัจจุบันอยู่ที่ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ เดิมชื่อว่าบ้านออรอง
เป็นภาษาเขมร แปลว่า บ้านพระราชาใจดี สำหรับบ้านพรานเดิมชื่อเป็นภาษาเขมรว่า ซรอกเปรียน แปลว่า บ้านของพราน
                ตำนานบ้านเหม้า  หลังจากที่ได้มีการยกฐานะบ้านพันทา บ้านเจียงอี ขึ้นเป็นเมืองศรีสะเกษ ตั้งท้าวชมเป็นพระยาวิเศษภักดี เป็นผู้ครองเมือง และมีเจ้าเมืองครองเมืองศรีสะเกษติดต่อกันมาหลายคน มาถึงสมัยพระเจ้าอินทสะเกษ มีเรื่องเล่าว่า เจ้าชีซ้วนมีธิดานามว่าเจี่ยงได เป็นผู้มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม เป็นที่ต้องตาต้องใจของหนุ่มผู้ครองนครทั้งหลาย ท้าวกาฬหงส์ลูกชายเจ้าเมืองกาฬหงส์ (เมืองพะนา) ได้ส่งบิดาไปสู่ขอ เจ้าเมืองชีซ้วนก็ยอมรับหมั้น ฝ่ายท้าวอินทสะเกษก็คิดจะได้นางเป็นคู่ครองเช่นกัน จึงยกกองทัพเมืองศรีสะเกษจะไปสู่ขอนางโดยได้ไปตามเส้นทางโพธิ์ฐานข้ามแม่น้ำมูล ได้พักไพร่พลเพื่ออาบน้ำ ต่อมาที่นี่เรียกว่า สีไคล เมื่อเดินทางต่อไป ผ่านบ้านบัวน้อย ทราบข่าวว่านางเจี่ยงไดมีคู่หมั้นแล้ว ก็เกิดลังเลใจ แต่เมื่อมาแล้วต้องไปให้ถึง ที่แห่งนึ้ต่อมา
เรียก ทุ่งกะเพิน ต่อมาเพี้ยนเป็น ทุ่งเพิน  เมื่อเดินทางต่อไปผ่านหนองน้ำมีพืชสีเขียวลอยอยู่ในน้ำ ต่อมาเรียกว่า บ้านหนองเทา  ต่อมาได้แย่งนางเจี่ยงไดมาได้จึงเดินทางกลับ ไปพักอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ต่อมาเรียกว่า บ้านเจี่ย
                ทัพของเจ้าอินทสะเกษเดินทางมาถึงฝั่งแม่น้ำมูลจึงหยุดพัก นางเจี่ยงไดเศร้าเสียใจมากจึงได้พูดบ่ายเบี่ยงว่าลืมสร้อยสังวาล ขอกลับไปเอา แต่ท้าวอินทสะเกษไม่ยอม ที่แห่งนี้ต่อมาเรียกว่า หนองสังวาล ต่อมาเพี้ยนเป็นหนองไชยวาน ได้หยุดกินอาหารกัน ณ ที่นั้น ต่อมาเรียกว่า กุดกินดอง มีการใช้เต่าเป็นอาหารเลี้ยงกัน ที่แห่งนี้ต่อมาเรียกว่า ถ้ำเต่า หรือท่าถ้ำเต่า
                ท้าวกาฬหงส์ได้นำทัพเมืองกาฬหงส์ และเมืองชีซ้วนติดตามมา  เมื่อเห็นจวนตัว ท้าวอินทสะเกษจึงนำทัพไปตั้งมั่นอยู่ที่แห่งหนึ่ง ได้ขุดคูประตูหอรบเพื่อรับศึก ที่แห่งนี้ต่อมาเรียกว่า บ้านเมืองน้อย  ศึกครั้งนี้กินเวลาเป็นแรมปี จนนางเจี่ยงไดตั้งครรภ์คลอดบุตรเป็นชายแต่มีรูปร่างอัปมงคลคือมีขนทั่วตัวคล้ายลิง ท้าวอินทสะเกษจึงให้นำไปไหลล่องแพที่ลำน้ำมูล นางเจี่ยงไดเสียใจ
ได้ติดตามลัดเลาะไปตามฝั่งลำน้ำมูล แพที่ไหลไปจนถึงที่พักทัพครั้งลืมสร้อยสังวาล นางนั่งโศกเศร้าคิดถึงลูกถึงพ่อแม่ ที่แห่งนี้ต่อมาเรียกว่า ท่านางเหงา มาจนปัจจุบัน
                ตำนานเมืองกตะศิลา  มีเรื่องเล่าว่า บริเวณเมืองศรีสะเกษเป็นเมืองโบราณเรียกว่า เมืองอินทเกษ ที่อำเภอราษีไศล มีเมืองหนึ่งเรียกว่า เมืองกตะศิลา ที่อำเภอเขื่องในมีเมืองหนึ่งเรียกว่า เมืองชีทวน เจ้าเมืองมีธิดาคนหนึ่ง ซึ่งชอบพอกับบุตรชายเจ้าเมืองกตะศิลา แต่บิดาไม่ทราบความจริง ฝ่ายเจ้าเมืองอินทเกษไปสู่ขอธิดาเจ้าเมืองชีทวนให้แก่บุตรของตน ฝ่ายเจ้าเมืองชีทวนยินยอม และพร้อมกันกำหนดวันแต่งงานตามประเพณี พอใกล้วันแต่งงาน ธิดาเจ้าเมืองชีทวนลอบหนีไปอยู่กับบุตรเจ้าเมืองกตะศิลา  เจ้าเมืองอินทเกษไม่พอใจจึงยกทัพเพื่อชิงนางแต่สู้ไม่ได้  เจ้าเมืองชีทวนได้ยกธิดาให้โอรสเจ้าเมืองกตะศิลา
พร้อมกับให้ตั้งกองทัพอยู่ระหว่างทางไปเมืองอินทเกษ ที่บ้านเมืองน้อย อำเภอกันทรารมย์
                ตำนานบ้านบักแมว  ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์คิดกบฏต่อไทย ได้ยกกองทัพมาตีเมืองรายทางจนถึงเมืองกาฬสินธุ์ จับเจ้าเมืองกับกรมการเมืองฆ่าเสีย แล้วกวาดต้อนวัวควาย ครอบครัวไพร่พลเมืองกาฬสินธุ ์ส่งไปเมืองเวียงจันทน์ แล้วยกทัพไปตีเมืองเขมรัฐ จับเจ้าเมืองฆ่าเสีย แล้วยกกองทัพไปตีเมืองร้อยเอ็ด เจ้าเมืองร้อยเอ็ดยอมเป็นเมืองขึ้น กองทัพเจ้าอนุวงศ์ยกทัพตีหัวเมืองรายทางไปจนถึงนครราชสีมา
                การสงครามครั้งนี้ ประชาชนได้หลบหนีไปซ่อนตัวตามป่าเขา ครั้งนั้นมีพี่น้องสองคน คนพี่ชื่อบักมาย มีเมืยชื่ออีปาดคนน้องชื่อบักแมว มีเมียชื่ออีหลง  ได้หนีมาถึงไร่แห่งหนึ่ง อีปาดเจ็บท้องคลอดลูกและตาย ปัจจุบันคือ บ้านอีปาด อำเภอกันทรารมย์คนที่เหลือเดินทางต่อมา สองพี่น้องแยกกันอยู่ โดยเลือกตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำ บักมายแยกไปอยู่ใกล้ลำห้วยพระบาง ปัจจุบันคือ บ้านหมากมาย อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร  ส่วนบักแมวกับอีหลงได้ตั้งบ้านอยู่ใกล้แม่น้ำมูล ชื่อบ้านบักแมว ปัจจุบันคือบ้านหนองนาดูอำเภอราษีไศล
                ต่อมาทหารเจ้าอนุวงศ์ก็จับบักแมวได้และฆ่าเสียที่บ้านหมากมาย แล้วตามไปฆ่าอีหลงที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ปัจจุบันคือ บ้านหนองอีหลง อำเภอยางชุมน้อย  ส่วนบักแมวถูกฆ่าตายที่หนองน้ำ ปัจจุบันคือ หนองเซียงแมว อยู่ในเขตบ้านดอนไม้งาม อำเภอราษีไศล
                ตามพงศาวดารกล่าวว่า พวกกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทรน์ ได้มาตั้งค่ายไว้แห่งหนึ่งที่แขวงเมืองขุขันธ์เรียกว่า ค่ายส้มป่อย อยู่ในท้องที่อำเภอราษีไศล ทางทิศตะวันตกของบ้านส้มป่อยปรากฎว่า มีโพนหรือจอมปลวกเป็นเนินดิน ตั้งเรียงกันอยู่เป็นแนวติดต่อกันไป เริ่มตั้งแต่ทางทิศตะวันตกของบ้านส้มป่อย จนเกือบถึงบ้านบึงหมอก ชาวบ้านเรียกว่าค่ายส้มป่อยโพนเลียน
                นอกจากนี้ยังมีตำนานชื่อหมู่บ้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมากที่บันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์จังหวัดศรีสะเกษ
            วรรณกรรมพื้นบ้าน  เป็นวรรณกรรมแบบบมุขปาฐะ ในรูปแบบของคำกล่อมลูก ผญา คำสอย กลอนลำ เป็นต้น เหมือนนกับวรรณกรรมในภาคอีสานทั่วไป
                การกล่อมลูก  หรือเพลงกล่อมลูก เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคมมนุษย์ มักจะถ้อยคำมาร้อยเรียง เพื่อให้เกิดศัพท์สำเนียงที่ไพเราะสนุกสนาน กินใจ นำคติสอนใจผสมผสานเข้าไปด้วย เพื่อสร้างบรรยากาศอารมณ์ และคุณธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง
                การกล่อมลกูของชาวศรีสะเกษใช้ภาษาลาว หรือไทยอีสาน มีลักษระไม่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นนัก เพราะส่วนหนึ่งนำมาจากวรรณกรรมอีสานโบราณ และส่วนหนึ่งจดจำสืบทอดกันมา
                สรภัญญะ  เป็นการขับร้องของหมู่อุบาสก อุบาสิกา ในภาคอีสาน นิยมขับร้องในเทศกาลเข้าพรรษา บางวัดจะเอาสรภัญญะมาให้อุบาสก อุบาสิกาได้สวดหรือฝึกร้อง เมื่อมีคณะจากหมู่บ้านอื่นมาเยี่ยม ก็จะนำคณะขับร้องสรภัญญะ มาขับร้องต้อนรับ นอกจากนั้นเมื่อปักดำเสร็จ ก็จะนัดกันไปร่วมทำบุญ ซึ่งนิยมเรียกกันว่า ทำบุญสังฆทาน แต่ละหมู่บ้านจะมีคณะขับร้องสรภัญญะไปร่วมขับยร้องแข่งขันกัน จนเกิดเป็นประเพณีขับร้องสรภัญญะมาจนถึงปัจจุบัน
                คำร้องและทำนองสรภัญญะสันนิษฐานว่า น่าจะดัดแปลงมาจากคาถาในพระสูตรต่าง ๆ โดยเริ่มแรกขับร้องตามบทคาถาในพระสูตรเหล่านั้น ซึ่งมีทำนองไพเราะเป็นภาษาบาลี แต่ผู้ขับร้องและผู้ฟังไม่สามารถเข้าใจความหมายได้ ดังนั้นจึงมีการลอกเลียนแบบและทำนองออกมาเป็นภาษาไทย มีการขับร้องแต่งเป็นคำกลอนสุภาพ แต่ได้ลดจำนวนคำลงเหลือวรรคละหกคำ เพราะถ้าหากแต่งวรรคละแปดคำ ตามต้นตำรับภาษาบาลี จะทำให้คำร้องยึดยาด
                เนื้อหาที่ใช้ที่นิยมกันได้แก่เรื่องเกี่ยวกับธรรมะ ประเพณีวัฒนธรรมตลอดจนสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |