| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดสงขลา

            จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ ๗,๓๙๐ ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของจังหวัดในภาคใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้
            ทิศเหนือ  ติดต่อกับจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดพัทลุง
            ทิศตะวันออก  ติดต่ออ่าวไทย
            ทิศใต้  ติดต่อกับจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และประเทศมาเลเซีย
            ทิศตะวันตก  ติอต่อกับจังหวัดสตูล และจังหวัดพัทลุง
            ลักษณะภูมิประเทศ  เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขาประมาณร้อยละ ๓๑ พื้นที่ภูเขาและเกาะประมาณร้อยละ ๒๕ พื้นที่ราบลุ่มตอนในประมาณร้อยละ ๑๗ พื้นที่ชายทะเลประมาณร้อยละ ๑๖ และพื้นที่น้ำประมาณร้อยละ ๑๑
ภูเขา
            เขาปลายทัพ  อยู่ในเขาสันกาลาคีรี ในเขตอำเภอสะบ้าย้อย สูง ๖๔๒ เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นเขาปันเขตแดนไทยกับมาเลเซีย
            เขารักเกียรติ  อยู่ในเขตรัตภูมิ สูง ๓๐๑ เมตร จากระดับน้ำทะเล
            เขาจอมแห  อยู่ในเขตอำเภอจะนะ สูง ๘๐ เมตร  จากระดับน้ำทะเล
            เขาวังชิง  อยู่ในเขตอำเภอหอยโข่ง สูง ๓๐๘ เมตรจากระดับน้ำทะเล
            เขาเลียบ  อยู่ในเขตอำเภอหาดใหญ่ สูง ๑๖๓ เมตร จากระดับน้ำทะเล
            เขาน้ำกระจาย  อยู่ในเขตตำบลเขาลูกช้าง อำเภอเมือง ฯ สูง ๒๒๕ เมตร จากระดับน้ำทะเล
            เขาแรก  อยู่ในเขตตำบลเขาลูกช้าง อำเภอเมือง ฯ สูง ๗๔ เมตร จากระดับน้ำทะเล
            เขาแรก (อีกเขาหนึ่ง)  อยู่ในเขตตำบลทุ่งสมด อำเภอสะเดา สูง ๔๑๑ เมตร จากระดับน้ำทะเล
            เขาราบ (ควนราบ)  อยู่ในเขตตำบลทุ่งหว้า อำเภอเมือง ฯ สูง ๒๑๔ เมตร จากระดับน้ำทะเล
            เขาวัง  อยู่ในเขตอำเภอนาทวี สูง ๑๐๐ เมตร  จากระดับน้ำทะเล
            เขาวัง (อีกเขาหนึ่ง)  อยู่ในเขตอำเภอจะนะ สูง ๒๗๕ เมตร จากระดับน้ำทะเลเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอเมือง ฯ กับอำเภอจะนะ
            เขาสีชาย  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ กับอำเภอหาดใหญ่ สูง ๒๓๕ เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอเมือง ฯ กับอำเภอหาดใหญ่
            เขาหินลอบช้าง  อยู่ในเขตอำเภอจะนะ สูง ๑๙๔ เมตร จากระดับน้ำทะเล
            เขาไม้แก้ว  (ควนไม้แก้ว)  มีอยู่สองลูก อยู่ในเขตอำเภอสะเดาลูกหนึ่งสูง ๓๖๔ เมตร อีกลูกหนึ่งสูง ๑๓๓ เมตร จากระดับน้ำทะเล
            เขาแดง - เขาค่ายม่วง  อยู่ในเขตตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร สูง ๑๙๕ เมตร จากระดับน้ำทะเล
            เขาเขียว  อยู่ในเขตอำเภอสิงหนคร
            เขาน้อย   อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ
            เขาน้อย (อีกลูกหนึ่ง) อยู่ในเขตอำเภอสิงหนคร
            เขาตังกวน  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ สูง ๘๗ เมตร จากระดับน้ำทะเลเป็นเขากลางเมืองสงขลา
            เขาพะโค๊ะ- เขาคูหา  อยู่ในเขตตำบลชุมพล อำเภอสิงหนคร
เกาะ
            เกาะหนู  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อยู่ทางทิศเหนือของแหลมสมิหลา ประมาณ ๒ กิโลเมตร มียอดเขาบนเกาะสูง ๗๔ เมตร ตัวเกาะกว้าง ๒๖๐ เมตร ยาว ๗๐๐ เมตร เป็นเกาะในทะเลนอกที่อยู่ใกล้ตัวจังหวัดสงขลามากที่สุด
            เกาะแมว  อยูในอ่าวไทยเขตอำเภอเมือง ฯ อยู่ทางเหนือของเกาะหนู ห่างจากเกาะหนูประมาณ ๒๗ กิโลเมตร ตัวเกาะกว้าง ๑๔๐ เมตร ยาว ๔๐๐ เมตร ยอดเกาะสูง ๓๐ เมตร
            เกาะยอ  อยู่ในทะเลสาบสงขลา ในเขตอำเภอเมือง ฯ ยอดเขาบนเกาะสูง ๑๕๑ เมตร ตัวเกาะกว้าง ๒.๓ กิโลเมตร ยาว ๓.๖ กิโลเมตร
ลำน้ำ
            จังหวัดสงขลา ไม่มีลำน้ำใดที่เรียกว่า แม่น้ำ มีแต่คลองต่าง ๆ อยู่หลายสาย คลองที่สำคัญได้แก่
            คลองอู่ตะเภา  คลองรัตภูมิ คลองเทพา คลองนาทวี (คลอใหญ่)  คลองจะทิ้งหม้อ คลองปากขาด คลองสะเทิงพระ คลองพรวน คลองเจดีย์งาม คลองพังยาง คลองไผ่ คลองลากชาย คลองระโนด คลองศาลาหลวง คลองปากแตระ คลองปากแรด คลองแดน คลองท่าเขน คลองสำโรง คลองนาทับ คลองประจา คลองปลัดพอ คลองลำพด คลองพ้อแดง คลองพะวง คลองน้ำกระจาย คลองบางกล่ำ คลองเตย คลองหอยโข่ง คลองจำโหร คลองบ้านเขาวังชิง คลองปักคล้า คลองแงะ คลองประตู คลองตง คลองรำใหญ่ คลองหล้าปัง คลองสะเดา คลองสะกอม คลองเงาะ คลองม่วงโหน คลองเปียน คลองเรียน  คลองตาหงา
หาดทรายและชายหาด
            สงขลามีหาดทราย และชายหาดอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญและรู้จักกันดีเช่น แหลมสมิหลา  แหลมสน หาดแก้ว หาดสะกอม ฯลฯ
แหล่งน้ำ
            จังหวัดสงขลา มีแหล่งน้ำที่สำคัญ ดังนี้
            ลุ่มน้ำทะเลสาบ  มีพื้นที่ทะเลประมาณ ๙๕๐ ตารางกฌลเมตร มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ ๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งออกได้เป็นสามส่วน คือ
                -  ทะเลสาบสงขลา  มีพื้นที่ประมาณ ๑๙๐ ตารางกิโลเมตร  เป็นทะเลสาบส่วนนอกที่ติดกับอ่าวไทย เป็นน้ำเค็มถึงเค็มจัดในฤดูแล้ง และน้ำกร่อยในช่วงฤดูฝน เนื่องจากได้รับน้ำจืดจากคลองต่าง ๆ ที่ไหลมาลงทะเลสาบแห่งนี้ ความลึกสูงสุดประมาณ ๓ เมตร มีเกาะที่สำคัญคือ เกาะยอ
                -  ทะเลที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลสาบสงขลา  จากส่วนแคบที่สุดที่บ้านปากรอจนถึงเกาะใหญ่ ในเขตอำเภอกระแสสินธุ์ มีพื้นที่ประมาณ ๒๗๐ ตารางกิโลเมตร  มีระดับความเค็มเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ความลึกเฉลี่ย ๑.๒ เมตร
                -  ทะเลหลวง  อยู่ถัดจากเกาะใหญ่ออกไปจนถึงอำเภอระโนด มีพื้นที่ ๔๙๐ ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีค่าความเค็มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้ง มีความลึกเฉลี่ย ๑.๘ เมตร
            ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา  มีพื้นที่ประมาณ ๒,๔๘๐ ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ ๘๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร
            ลุ่มน้ำคลองรัตภูมิ  มีพื้นที่ประมาณ ๔๒๐ ตารางกิโลเมตร  มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีประมาณ ๑๘๐ ล้านลูกบาศก์เมตร
            ลุ่มน้ำคลองเทพา  มีพื้นที่ประมาณ ๑,๗๗๐ ตารางกิโลเมตร  มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยประมาณ ๕๘๐ ล้านลูกบาศก์เมตร
            ลุ่มน้ำลำคลองในคาบสมุทรสทิงพระ  มีพื้นที่ประมาณ ๘๗๐ ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยตลอดปีประมาณ ๔๗๐ ล้านลูกบาศก์เมตร
ป่าไม้
            พื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดสงขลาลดลงมาตามลำดับ ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ มีพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ ๗๕๕,๐๐๐ ไร่  ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ลดลงเหลือประมาณ ๓๖๓,๐๐๐ ไร่ สำหรับพื้นที่ป่าชายเลนในปี พ.ศ.๒๕๐๔ มีอยู่ประมาณ ๘,๐๐๐ ไร่ ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ เหลืออยู่เพียงประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่
ประชากร
            ประชากรในจังหวัดสงขลามีทั้งคนท้องถิ่นที่เป็นคนไทย พูดภาษาไทยแบบภาษาถิ่นสงขลา ซึ่งตั้งถิ่นฐานสืบต่อมาไม่น้อยกว่าพุทธศตววรษที่ ๑๘ แล้ว ยังมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุมพ่อค้าอาหรับ - มาเลย์ มาตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนจากมาเลเซียที่นับถือศาสนาอิสลาม และการเข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมากของคนจีน ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ส่วนคนที่มีเชื้อสายอื่น ๆ เช่น อินเดีย และชาวตะวันตก มีอยู่ไม่มากนักและเพิ่มในพุทธศตววษที่ ๒๖
            จังหวัดสงขลามีประชากรมากเป็นอันดับสองของภาคใต้ รองลงมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ มีประชากรประมาณ ๑.๒ ล้านคน อำเภอหาดใหญ่มีประชากรมากที่สุด ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีอยู่ประมาณ ๆ  ๐.๒๙ ล้านคน  รองลงมาได้แก่อำเภอเมือง ฯ อำเภอที่มีประชากรน้อยที่สุดคือ อำเภอกระแสสินธุ์ ประชากรส่วนใหญ่ดำรงชีวิตโดยทำงานในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลัก เป็นจำนวนประมาณร้อยละ ๕๕

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |