| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

    ศิลปหัตถกรรมและงานช่าง
           ศิลปะแบบสุโขทัย เริ่มตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระเมื่อ ปี พ.ศ.๑๗๘๐ ศิลปะแบบสุโขทัยจัดได้ว่าเป็นศิลปะที่งดงามที่สุด มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนของพระพุทธรูป เจดีย์ ปรางค์ จิตรกรรมฝาผนัง และเครื่องสังคโลก
       เครื่องสังคโลกที่เมืองสุโขทัย

           เครื่องสังคโลกที่เมืองสุโขทัยมีหลายประเภท  ส่วนมากเป็นประเภทเครื่องใช้ อันได้แก่ถ้วยชามจาน ไหดิน ขวดหิน กระปุก กาน้ำ ช้อน ตลอดจนตุ๊กตารูปคน รูปสัตว์ ช้าง ยักษ์ เทวดา พระพุทธรูป กระเบื้องมุงหลังคา สิงห์ สังคโลก ลูกมะหวด ช่อฟ้า บราลี และหมากรุก
           เครื่องสังคโลกที่เตาสุโขทัย เป็นภาชนะถ้วยโถโอชามของใช้สอยส่วนใหญ่ ลักษณะเฉพาะของเตาทุเรียงเหล่านี้คือ เครื่องปั้นเคลือบลวดลายสีดำ หรือสีน้ำตาล เนื้อดินค่อนข้างหยาบ ชุบน้ำดินสีขาว ลวดลายสีดำ แล้วเคลือบด้วยน้ำเคลือบใสสีเขียวอ่อน การเรียงเครื่องถ้วยชามเข้าเตาเผาที่สุโขทัยใช้กี่ คือจานที่มีขาปุ่มห้าปุ่มวางคั่นระหว่างชาม ดังนั้นชามของเตาสุโขทัยจึงมีรอยห้าจุดปรากฏอยู่
           เครื่องสังคโลกเตาทุเรียงป่ายาง  อยู่ใกล้เมืองเก่าศรีสัชนาลัย ห่างจากกำแพงเมืองประมาณ ๕๐๐ เมตร สำรวจพบแล้ว ๒๑ เตา เป็นเตาทุเรียงที่เผาสังคโลกดีทั้งสิ้นคือ ลวดลาย น้ำยาเคลือบสวยงามรูปแบบพิเศษกว่าที่อื่น แยกเป็นเตาเผารูปยักษ์ นาค มกร และเตาเผารูปตุ๊กตา
           เครื่องสังคโลกเตาทุเรียงเกาะน้อย  อยู่ถัดเตาป่ายางไปทางเหนือประมาณ ๔ กิโลเมตร พบเตาในพื้นที่เกาะน้อยจำนวน ๑๕๐ เตา และยังมีเตาอีกเป็นจำนวนมากจมฝังอยู่ใต้ดิน จำนวน ๑๓๑ เตา และคาดว่ามีเตาที่สูญสลายไปแล้วอีกเป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งเตาเก่ามีการเผาเครื่องถ้วยก่อนสมัยสุโขทัย เครื่องถ้วยเคลือบสีน้ำตาลที่เรียกว่าเชลียง เครื่องถ้วยเผาที่เตาเกาะน้อยมีลักษณะคล้ายเครื่องถ้วยลพบุรี มีทั้งสีน้ำตาลไหม้อย่างเครื่องเคลือบขอม และสีน้ำตาลอมเหลือง เป็นเตาที่ทำเครื่องถ้วยชามมาก่อน และเปลี่ยนมาเป็นเตาเผาเครื่องถ้วยเขียวไข่กา (เซลาดอน) เป็นแหล่งผลิตส่งขายต่างประเทศโดยเฉพาะในอาเซียอาคเนย์ ส่วนใหญ่เป็น ชาม จาน จานเชิง ขวด สีของเครื่องสังคโลกมีหลายสี เช่นสีน้ำตาล สีเหลืองอ่อน สีขาว มีลวดลายที่เขียนด้วยสีที่เข้มกว่าลงในภาชนะภาชนะที่ยังดิบอยู่แล้วจึงชุบเคลือบและเผา การเรียงเครื่องถ้วยในเตาเผาไม่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างเตาสุโขทัย แต่จัดวางบนกี่แท่งกลวง ดังนั้นก้นชามที่เตาแห่งนี้จึงมีวงแหวนปรากฏอยู่
           เครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย  มีลวดลายเฉพาะตัว ลวดลายที่พบมากในถ้วยจานชามคือ ลายกงจักร ลายปลา ลายดอกไม้ ฯลฯ โดยเฉพาะลายปลาเป็นแบบเฉพาะของชาวสุโขทัย มีลายสัตว์น้ำอื่น ๆ เช่น หอย กุ้ง ปู อยู่ด้วย
           เครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย  สามารถแข่งขันกับงานเครื่องปั้นดินเผาของจีนในตลาดต่างประเทศได้อย่างดี แม้ในปัจจุบันก็ยังเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก
       ผ้าทอศรีสัชนาลัย

           การทอผ้าของชาวสุโขทัย ปัจจุบันอยู่ที่บ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย ที่บ้านไร่ อำเภอศรีสำโรง และบางหมู่บ้านทอผ้าไหม ในอำเภอบ้านด่านลานหอย
           การทอผ้าของชาวหาดเสี้ยวหรือชาวไทยพวน มีมาช้านาน ก่อนปี พ.ศ.๒๓๘๗ นับจากที่ไทยพวนอพยพมาจากเมืองเชียงขวาง การทอผ้าที่บ้านหาดเสี้ยวสามารถทอผ้าซิ่นตีนจกได้ ผ้าตีนจกเป็นงานฝีมือที่ประณีตงดงามยากจะหาผ้าชนิดใดเปรียบได้ ผู้ที่ทอผ้าตีนจกได้ถือว่าเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร สมัยก่อนหญิงสาวชาวบ้านส่วนมาก จะผ่านการฝึกหัดทอผ้าซิ่นตีนจก เพื่อไว้นุ่งสำหรับเวลาออกงานเป็นครั้งคราว ไม่ใช่นุ่งประจำ ใครนุ่งผ้าซิ่นตีนจกถือว่ามีหน้ามีตา
           นอกจากผ้าตีนจกแล้ว หมู่บ้านหาดเสี้ยวยังมีผ้าทอชนิดอื่น ๆ อีกได้แก่
               -  ผ้านุ่งโจงกระเบนสีต่าง ๆ (ผ้าพื้น)
               -  ผ้าขาวม้าตาแดง ขาว และตาขาวดำ เรียกว่าผ้าขาวม้าตาอิด
               -  ผ้าเช็ดตัวเรียกว่า ผ้าเช็ดหน้า ขนาด ๑๘ - ๒๐ นิ้ว ด้ายยีนสีขาว ตรงกลางทอด้วยด้ายสีขาวส่วนสองข้างทอด้วย ด้ายสีต่าง ๆ และทอเป็นรูปลายช้าง รูปม้า พร้อมลายประกอบต่าง ๆ เป็นชายครุย
               -  ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง ด้ายยีนเป็นไหมสีขาว ทอด้วยด้ายแดง กับด้ายดำสลับกัน และทอเป็นลายคู่ เรียกลายดอกรักไทยว่า ผ้าขิดถือว่าเป็นผ้าห่มชั้นดี
    ศิลาจารึก
           ศิลาจารึกเป็นสิ่งที่ให้ความรู้ในด้านภาษาศาสตร์ อักษรศาสตร์ และนิรุกติศาสตร์ เป็นส่วนใหญ่ ในส่วนของเนื้อหาสาระ ถือเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ ที่แสดงวัฒนธรรมของชนชาติเจ้าของจารึก ว่ามีความเป็นมาอย่างไร
           พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏ ขณะทรงผนวชได้เสด็จจาริกไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ทรงค้นพบศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ อันเป็นหลักลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ณ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๖ จากนั้นก็ได้มีการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของศิลาจารึกอีกหลายหลัก ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในสมัยสุโขทัย
           ศิลาจารึกที่สลักขึ้นในสมัยสุโขทัย ที่มีการชำระ และแปลแล้วนำมาพิมพ์รวบรวมไว้ใน ประชุมจารึกสยามภาคที่ ๑ พ.ศ.๒๔๖๗ มีจำนวน ๑๕ หลัก จากนั้นได้มีการศึกษาเพิ่มเติม และจัดพิมพ์เผยแพร่ โดยมีหอสมุดแห่งชาติเป็นหน่วยหลักหลายครั้ง เฉพาะที่เป็นจารึกสมัยสุโขทัย ได้มีการรวบรวมจัดพิมพ์อีกในหนังสือจารึกสมัยสุโขทัย โดยกรมศิลปากร เนื่องในโอกาสฉลอง ๗๐๐ ปี ลายสือไทย พ.ศ.๒๕๒๖ ได้จัดกลุ่มจารึกสุโขทัยตามลักษณะของตัวอักษร จำแนกไว้เป็น ๕ กลุ่ม คือ
               -  จารึกที่ใช้อักษรไทยสุโขทัย
               -  จารึกที่ใช้อักษรขอมสุโขทัย
               -  จารึกที่ใช้อักษรไทยขึ้นต้น และต่อด้วยอักษรขอมสุโขทัย
               -  จารึกที่ใช้อักษรขอมขึ้นต้น และต่อด้วยอักษรไทยสุโขทัย
               -  จารึกที่ใช้อักษรไทยสุโขทัยขึ้นต้น และต่อด้วยอักษรธรรมล้านนา
           จากรึกสุโขทัยที่พบและอ่านแล้วมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ หลัก ที่สำคัญมี ดังนี้

           ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง  ทำจากหินทรายแป้ง ลักษณะเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่าทรงกระโจม หรือทรงยอ กว้างด้านละ ๓๕ เซนติเมตร สูง ๑๑๑ เซนติเมตร จารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ปี พ.ศ.๑๘๓๕ เรียกศิลาจารึกหลักนี้ว่า จารึกหลักที่ ๑ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
           เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ขณะทรงผนวชได้เสด็จจาริกหัวเมืองฝ่ายเหนือ ถึงเมืองเก่าสุโขทัย ทรงพบศิลาจารึกหลักนี้พร้อมพระแท่นมนังคศิลาบาตร ณ โคกปราสาทร้าง จึงได้โปรดให้นำเข้ากรุงเทพ ฯ ในขั้นแรกเก็บรักษาไว้ที่วัดราชาธิวาส เพราะทรงประทับอยู่ ณ ที่วัดนั้น ต่อมาเมื่อทรงย้ายไปประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร จึงโปรดให้ย้ายไปไว้ที่วัดบวร ฯ
           พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงอ่านศิลาจารึกหลักนี้ได้เป็นพระองค์แรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ และหอสมุดวชิรญาณได้จัดพิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗
           เมื่อไม่นานมานี้ได้มีผู้ที่ถูกเรียกกันว่าเป็นนักวิชาการบางคน และพรรคพวกที่มีความเห็นอย่างเดียวกัน บางพวกไม่เชื่อว่าเป็นศิลาจารึกที่พ่อขุนรามคำแหงสร้างขึ้นไว้เมื่อประมาณ เจ็ดร้อยปีก่อน จึงได้มีการพิสูจน์ทางด้านวิทยาศาสตร์ ตามที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเสนอแนะไว้ในคราวประชุมใหญ่ ฯ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ โดยมอบหมายให้นักวิทยาศาสตร์ ประจำกรมศิลปากร และกรมทรัพยากรธรณี ทำการวิจัยเรื่อง การพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ โดยนำศิลาจารึกที่ทำด้วยหินทรายแป้ง ชนิดเดียวกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ และถูกทิ้งกรำแดดกรำฝน คือศิลาจารึกวัดพระบรมธาตุนครชุม เมืองกำแพงเพชร (จารึกหลักที่ ๓) ศิลาจารึกวัดมหาธาตุ (จารึกหลักที่ ๔๕) พระแท่นมนังคศิลาบาตร และจารึกชีผ้าขาวเพสสันดรวัดข้าวสารมาเปรียบเทียบกัน ผู้วิจัยได้ใช้แว่นขยายรังสีอัลตร้าไวโอเลต และรังสีอินฟราเรด กล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน เป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจพิสูจน์ เมื่อเปรียบเทียบวิเคราะห์หลาย ๆ จุดบนตัวอย่างแต่ละตัวอย่างแล้ว หาค่าเฉลี่ยพบว่า ความแตกต่างขององค์ประกอบที่ผิวกับส่วนที่อยู่ข้างในของศิลาจารึกหลักที่ ๑ หลักที่ ๓ และหลักที่ ๔๕ มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน จึงสรุปผลการพิสูจน์ว่า
           "ผลปรากฏว่าผิวของหินตรงร่องที่เกิดจากการจารึกตัวอักษรมีปริมาณแคลไซด์ ลดลงมากใกล้เคียงกับผิวส่วนอื่น ๆ ของศิลาจารึกหลักที่ ๑ จนสามารถมองเห็นเป็นชั้นที่มีความแตกต่างได้ชัดเจน แสดงว่าเป็นการจารึกในช่วงเวลาเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันกับการสกัดก้อนหินออกมาเป็นแท่งแล้วขัดผิวให้เรียบ มิใช่เป็นการนำแท่งหินที่ขัดผิวไว้เรียบร้อยในสมัยสุโขทัย แล้วนำมาจารึกขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ "
           จากความจริงที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว แสดงว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้ผ่านกระบวนการสึกกร่อนผุสลายมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ใกล้เคียงกับศิลาจารึก หลักที่ ๓ หลักที่ ๔๕ และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสัดร จึงเป็นอันยุติว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็นของดั้งเดิม มิใช่ทำขึ้นใหม่ อย่างที่กลุ่มคนบางจำพวกยกเป็นประเด็นขึ้นมา

           สาระสำคัญของศิลาจารึกหลักที่ ๑ เบื้องต้นเป็นการบอกเล่า พระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งทรงบอกเล่าด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนถึงขึ้นครองราชย์ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของสุโขทัย และวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยสุโขทัย ที่อยู่ร่วมกันด้วยน้ำใจไมตรี เคารพในสิทธิเสรีภาพของกันและกัน ความมีใจบุญสุนทาน เอื้ออาทรกัน ให้ทานและรักษาศีลกันเป็นประจำ
           ในจารึกให้ข้อมูลว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น ในปีมหาศักราช ๑๒๐๕ ซึ่งตรงกับ ปี พ.ศ.๑๘๒๖ ต่อมาในปี มหาศักราช ๑๒๑๔ (พ.ศ.๑๘๓๕) พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ช่างนำหินทรายแป้งมาทำพระแท่นชื่อ พระแท่นมนังคศิลาบาตร ตั้งไว้ที่กลางดงตาล ในวันพระแปดค่ำ สิบห้าค่ำ จะนิมนต์พระเถระขึ้นนั่งบนพระแท่นแล้วแสดงธรรมให้ลูกจ้าวลูกขุนไพร่ฟ้าข้าไท ท่วยปั่ง ท่วยนางทั้งหลายได้สดับตรับฟัง ในวันธรรมดาพ่อขุนรามคำแหง ทรงขึ้นประทับนั่งว่าราชการงานเมือง และตัดสินคดีความที่ไพร่ฟ้าหน้าปกมาร้องทุกข์ ทรงโปรดให้แขวนกระดิ่งไว้ เพื่อให้ผู้ที่มีความทุกข์ร้อนมาสั่นกระดิ่งร้องทุกข์
           ด้านการพระพุทธศาสนา พ่อขุนรามคำแหงทรงอาราธนาพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์ จากนครศรีธรรมราชมาร่วมกับภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาทเดิม ผู้สืบทอดมาแต่พระโสนะเถระ และพระอุตรเถระให้มาอบรมสั่งสอนชาวสุโขทัย ปรากฏว่าพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายคามวาสี และอรัญวาสีอย่างชัดเจน มีการตั้งสมณศักดิ์เป็นปู่ครู เถระ มหาเถระ แก่พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งในทางปกครอง คนสุโขทัยในสมัยนั้น จึงทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน โดยวันธรรมดารักษาศีลห้า ในวันธรรมสวนะ หรือวันพระรักษาศีลแปด หรือศีลอุโบสถตามแต่ศรัทธา
           ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง มีงานนักขัตฤกษ์เผาเทียนเล่นไฟ อันเป็นที่มาของงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของชาวสุโขทัย มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
           ด้านการปกครอง จารึกไว้ว่ามีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ทิศตะวันออกตั้งแต่สรลวงสองแคว (พิษณุโลก) เลย จากลุมบาจายสะคาไปถึงเวียงจันทน์ ทิศใต้ตั้งแต่สุพรรณบุรี ราชบุรี เลยนครศรีธรรมราชไปสุดแผ่นดินจดทะเลมหาสมุทร ทิศตะวันตกเลยเมืองฉอด ไปถึงเมืองหงสาวดีมีมหาสมุทรเป็นแดน ทิศเหนือถึงแพร่ น่าน ข้ามฝั่งโขงไปถึงเมืองหลวงพระบาง


           ศิลาจารึกวัดศรีชุม  เรียกว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๒ ทำด้วยหินดินดานเป็นรูปใบเสมา กว้าง ๖๗ เซนติเมตร สูง ๒๗๕ เซนติเมตร หนา ๘ เซนติเมตร ด้านที่หนึ่งจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย มี ๑๐๗ บรรทัด ด้านที่สองมี ๙๕ บรรทัด มีอายุประมาณ ปี พ.ศ.๑๘๘๐ - ๑๙๑๐ นายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ เมื่อครั้งเป็นที่หลวงสโมสรพลการ พบที่อุโมงค์วัดศรีชุม เมืองเก่าสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
           สาระสำคัญของจารึกหลักนี้ สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามี เป็นเจ้าได้ให้ศิษย์ของท่าน จารทำบอกเล่าให้เราให้ทราบเรื่องของคนไทยสมัยก่อนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงเล่าไว้ว่า ท่านเกิดในนครสรลางสองแคว (พิษณุโลก) เป็นโอรสพระยาคำแหงพระราม เป็นหลานปู่พ่อขุนนาวนำถุม หรือพระยาศรีนาวนำถุม ซึ่งเสวยราชย์ในนครสองอัน อันหนึ่งชื่อ นครสุโขไท อีกอันหนึ่งชื่อ นครสรีเสชนาไล (ศรีสัชนาลัย) ภายหลังประทับอยู่ที่นครสุโขทัยแห่งเดียว ส่วนนครศรีสัชนาลัยนั้นทรงตั้งขุนยี่ คือ อุปราชปกครอง โอรสองค์โตชื่อ ขุนผาเมือง ให้ไปครองเมืองราด เมืองลุม เป็นราชบุตรเขยของผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ (พระเจ้าชัยวรมันที่แปด) และดำรงตำแหน่งยุวราชแห่งศรีโสธรปุระด้วย โอรสอีกองค์หนึ่งชื่อพระยาคำแหงพระราม (พระบิดาสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธา ฯ) ให้ครองนครสรลวงสองแคว
           เมื่อสิ้นพ่อขุนนาวนำถุมแล้ว ขอมสบาดโขลนลำพง ยึดอำนาจการปกครอง พ่อขุนบางกลางหาว ซึ่งดำรงตำแหน่งขุนยี่ครองนครศรีสัชนาลัย จึงขึ้นไปเมืองบางยาง ได้รวบรวมพลร่วมกับพ่อขุนผาเมืองผู้เป็นสหาย โดยจัดทัพแยกกันเป็นสองทาง ขุนบางกลางหาวยกกำลังเข้ายึดศรีสัชนาลัยคืนได้แล้ว ก็นำกำลังมารวมกับกำลังของขุนผาเมืองที่เมืองบางขลัง แต่แต่งกลอุบายให้ขอมสบาดโขลนลำพงยกกำลังไปรบกับขุนบางกลางหาว แล้วขุนผาเมืองก็ยกกำลังเข้ายึดสุโขทัยได้ ขอมสบาดโขลนลำพงเสียรู้แตกกลับไป
           ขุนผาเมืองเชิญขุนบางกลางหาวเข้าเมืองสุโขทัย แล้วอภิเษกให้ครองเมืองสุโขทัย พร้อมทั้งให้นามเกียรติของตนที่ได้จากผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระว่า ศรีอินทรบดินทราทิตย์ ขุนบางกลางหาวจึงมีพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
           สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธา ฯ ได้เล่าเรื่องของท่านเองตั้งแต่เยาว์จนถึงหนุ่ม ได้ออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระยาคำแหงพระรามผู้เป็นบิดา ครั้งสุดท้ายรบชนะขุนจัง แล้วมองเห็นความทุกข์ความไม่เที่ยงในโลกีย์วิสัย จึงสละสมบัติออกบวชแล้วเดินธุดงค์ไปเที่ยวทุกแห่ง เข้าไปสู่อินเดียตอนใต้ แล้วไปถึงลังกาทวีป พบเห็นมหิยังคณะมหาเจดีย์ที่ประดิษฐานพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า ปรักหักพังเกิดศรัทธา จึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อพระองค์ได้กระทำสักการบูชาพระมหาธาตุเจดีย์ ก็เกิดปาฏิหาริย์เป็นที่ประจักษ์แก่พระองค์และชาวสิงหล พระองค์จึงได้รับการยกย่องเทิดทูนจากชาวสิงหล สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีศรัทธา ฯ พระองค์ประทับอยู่ที่ลังกาเป็นเวลาพอสมควรแล้วจึงเดินทางกลับสุโขทัย และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพร้อมกิ่งพระศรีมหาโพธิมาด้วย เมื่อมาถึงสุโขทัยก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และกิ่งพระศรีมหาโพธิ ประดิษฐาน ณ นครสุโขทัย บางฉลัง ศรีสัชนาไลย เพื่อให้เป็นเมืองธรรมจึงได้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ สร้างพิหารเจ้าอาวาส สร้างพระพุทธรูปอันงามพิจิตร
           ท่านได้ไปเที่ยวโปรดสัตว์ ไปพบพระมหาธาตุเจดีย์ปรักหักพังอยู่กึ่งกลางนครพระกริส จึงอธิษฐานบารมีจนพบแหล่งปูน ท่านได้นำมาก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ จากเดิมที่สูง ๙๕ วาไม้ เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วได้ความสูง ๑๐๒ วา พระมหาธาตุเจดีย์องค์นี้ขอมเรียกว่า พระธม ส่วนปูนที่เหลือท่านได้นำไปซ่อมแซมพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก
           ศิลาจารึกนครชุม  เรียกว่า จารึกหลักที่ ๓ ทำด้วยหินทรายแป้งเป็นรูปใบเสมา กว้าง ๔๗ เซนติเมตร สูง ๑๙๓ เซนติเมตร หนา ๖ เซนติเมตร จารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทยด้านที่หนึ่งมี ๗๘ บรรทัด ด้านที่สองมี ๕๘ บรรทัด สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบที่วัดบรมธาตุนครชุม เมืองกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔ ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดวชิรญาณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพ ฯ
           สาระสำคัญของจารึกหลักนี้ บอกให้ทราบในเบื้องต้นว่า พระยาลือไทยโอรสพระยาเลอไทย พระนัดดาพระยารามราช เสวยราชที่เมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ.๑๘๙๐ เมื่อเสวยราชย์แล้ว ท้าวพระยาทั้งหลายแต่งกระยาดงวาย ของฝากหมากปลามาไหว้อันยัดยัญอภิเษก เป็นท้าวเป็นพระญา ชื่อ ศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช ทรงได้พระบรมสารีริกธาตุพร้อมกิ่งพระศรีมหาโพธิ จากลังกาทวีปใน ปี พ.ศ.๑๙๐๐ จึงทรงนำไปประดิษฐานในเมืองนครชุม และทรงจารึกไว้ว่า "...ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุ และพระศรีมหาโพธินี้ว่าไซร้ มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบตนพระเป็นเจ้าบ้างแล..."
           พระมหาธรรมราชาลิไททรงเชื่อว่าพระพุทธศาสนา จะมีอายุดำรงอยู่ในโลกนี้ได้ห้าพันปี จึงทรงจารึกไว้ว่า "...ผิมีคนมาถามศาสนาพระเป็นเจ้ายังเท่าใดจักสิ้นอั้นให้แก่ว่าดังนี้ แต่ปีอันสถาปนาพระมหาธาตุนี้เมื่อหน้าได้สามพันเก้าสิบเก้าปีจึงจักสิ้นพระศาสนาพระเป็นเจ้า..." และยังได้ตรัสถึงสัทธรรมอันตรธานห้าประการ คือ ประมาณพระพุทธศาสนายุกาลได้ ๑๙๙๙ ปี พระไตรปิฎกจักหาย หาคนรู้แท้มิได้ มีคนรู้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น พระธรรมเทศนามหาชาติหาคนสวดมิได้ ชาดกมีต้นหาปลายมิได้ พระอภิธรรมนั้น พระปัฏฐานและพระยมกหายไปก่อน เมื่อพระพุทธศาสนายุกาลประมาณได้ ๒๙๙๙ ปี "...ฝูงภิกษุสงฆ์จำศีลคงสิกขาบทสี่อันยังมีสิกขาบทอันหนักหนาหามิได้เลย " เมื่อพระพุทธศาสนายุกาลประมาณได้ ๓๙๙๙ "...ฝูงชีจักทรงผ้าจีวรหามิได้เลย เท่ายังมีผ้าเหลืองน้อยหนึ่งเหน็บใบหู และรู้จักศาสนาพระเป็นเจ้าดายุ..." เมื่อพระพุทธศาสนายุกาลประมาณได้ ๔๙๙๙ ปี "...อันว่าจักรู้จักผ้าจีวรจักรู้จักสมณะน้อยหนึ่งหามิได้เลย..." เมื่อสิ้นอายุพระศาสนานั้นทรงพรรณาไว้ว่า
           "...เมื่อปีอันจักสิ้นศาสนา พระพุทธเป็นเจ้าที่สุดทั้งหลายอั้น ปีชวด เดือนหก บูรณมี วันเสาร์  วันไทยวันระรายสันวันไพสาขฤกษ์ เถิงเมื่อวันดังนั้น แต่พระธาตุทั้งหลายอันมีในแผ่นดินนี้ก็ดี ในเทพโลกก็ดี ในนาคโลกก็ดี เหาะไปในกลางหาว และไปประชุมกันในลังกาทวีป แล้วจักเหาะไปอยู่ในต้นพระศรีมหาโพธิ ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่สรรเพชญตญาณ เป็นพระพุทธแต่ก่อนอั้น จึงจักกาลไฟไหม้พระธาตุทั้งอั้นสิ้นแล เปลวไฟพลุ่งขึ้นคุงพรหมโลกศาสนาพระพุทธจักสิ้น ในวันดังกล่าวอั้นแล "
           ศิลาจารึกวัดป่าม่วง  เป็นภาษาไทยสองหลัก เป็นภาษาบาลีหนึ่งหลัก
               จารึกภาษาไทยหลักที่ ๑  เรียกว่า จารึกหลักที่ ๕ ทำด้วยหินทราย หลักเป็นรูปสี่เหลี่ยมทรงกระโจม หรือทรงยอ กว้างด้านละ ๒๘ เซนติเมตรสองด้าน กว้างด้านละ ๒๙ เซนติเมตรสองด้าน สูง ๑๑๕ เซนติเมตร พระยาโบราณราชธานินทร (พร  เดชะคุปต์) พบที่วัดใหม่ (ปราสาททอง) อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๔ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
           ข้อความที่จารึกบอกให้ทราบว่าบริเวณวัดป่ามะม่วง เป็นรมณียสถานที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงปลูกมะม่วงไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๔ ได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช และเป็นพัทธสีมาที่ทรงผนวชของสมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช ก่อนถึงกาลทรงผนวชได้กล่าวถึงอดีตว่า เมื่อพรญาลือไท ผู้รู้พระไตรปิฎกขึ้นเสวยราชย์ ท้าวพระยาทั้งหลายอภิเษกขึ้นชื่อ ศรีสุริยพงศ์รามมหาราชาธิราช เสวยราชย์ชอบด้วยทศพิธราชธรรม ในปี พ.ศ.๑๙๐๔ ทรงอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชลังกาวงศ์ จากนครพันมาจำพรรษา ณ กรุงสุโขทัย ทรงหล่อพระพุทธรูปด้วยเนื้อทองสำริดองค์ใหญ่ ประดิษฐานด้านตะวันออกองค์มหาธาตุเจดีย์กลางเมืองสุโขทัย เมื่อออกพรรษาแล้วทรงสมาทานทศศีลเป็นดาบศ... หน้าพระพุทธรูปทอง อันประดิษฐานไว้เหนือราชมณเฑียร อาราธนาพระมหาสามีพร้อมคณะสงฆ์ขึ้นสู่ราชมณเฑียร ทรงบรรพชาเป็นสามเณร แล้วเสด็จไปทรงผนวช ณ พัทธสีมาวัดป่ามะม่วงในที่สุด
               จารึกภาษาไทยหลักที่ ๒  เรียกว่า จารึกหลักที่ ๗ ทำด้วยหินทรายแปร หลักเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๒๘ เซนติเมตรสองด้าน กว้างด้านละ ๑๒.๕ เซนติเมตรสองด้าน สูง ๑๓๒ เซนติเมตร พระยารามราชภักดี (ใหญ่  ศรลัมพ์) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พบที่วัดป่ามะม่วง เมืองเก่าสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๔ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
           จากรึกหลักนี้ชำรุดมาก ด้านที่หนึ่งกับด้านที่สามอ่านจับความไม่ได้ ด้านที่สองกับด้านที่สี่พออ่านได้บ้าง เป็นการจารึกเรื่องราวของการสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ในป่ามะม่วง เช่น กุฎี พิหาร สีมากระลาอุโบสถ และการทรงผนวชของสมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช
               จารึกภาษาเขมร  เรียกว่า จารึกหลักที่ ๔ ทำด้วยหินแปร เป็นหลักสี่เหลี่ยมกระโจม หรือทรงยอ กว้าง ๓๐ เซนติเมตร สูง ๒๐๐ เซนติเมตร หนา ๒๙ เซนติเมตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบที่โคกปราสาทร้างเมื่อคราวเสด็จถึงสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๖ จารึกด้วยอักษรไทย ภาษาเขมร เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๔ ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดวชิรญาณ ภายในหอสมุดแห่งชาติพระนคร
           ข้อความในจารึกเป็นเรื่องราวคล้ายจารึกวัดป่ามะม่วงภาษาไทยหลักที่หนึ่ง คือ พระยาลิไทยทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสามีสังฆราช จากนครพันมาสุโขทัย เพื่อทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ในการทรงผนวชของพระองค์ และเล่าเรื่องพระยาลิไทย ยกพลจากศรีสัชนาลัยมายึดสุโขทัยขึ้นเสวยราชย์ตามสิทธิอันชอบธรรม
               จากรึกภาษาบาลี  เรียกว่า จารึกหลักที่ ๖ ทำด้วยหินแปรรูปสี่เหลี่ยมทรงกระโจม หรือทรงยอ กว้างด้านละ ๓๓ เซนติเมตรสองด้าน กว้างด้านละ ๒๗ เซนติเมตรสองด้าน สูง ๑๓๐ เซนติเมตร จารึกด้วยอักษรขอมสุโขทัย ภาษาบาลีเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๔ พระยารามราชภักดี (ใหญ่  ศรลัมพ์) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พบที่วัดป่ามะม่วง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
           ข้อความที่จารึกเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสามีสังฆราช พระอุปัชฌาย์ของพระมหาธรรมราชาลิไทย มีข้อความสรรเสริญพระมหาธรรมราชา ที่ทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้า ในพระพุทธศาสนา
            ศิลาจารึกวัดอโสการาม  เรียกว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๙๓ ทำด้วยหินแปร เป็นแผ่นรูปใบเสมา กว้าง ๕๔ เซนติเมตร สูง ๑๓๔ เซนติเมตร หนา ๑๕ เซนติเมตร ด้านที่หนึ่งมี ๔๗ บรรทัด จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ด้านที่สองมี ๕๑ บรรทัด จารึกด้วยอักษรขอมสุโขทัย ภาษาบาลี เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๒ กองโบราณคดี กรมศิลปากรพบที่วัดอโสการามเมืองเก่าสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติพระนคร
           ข้อความในจารึกมีว่า สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์อัครราชมเหสีเทพธรณีโลกรัตน... เป็นชายาแด่สมเด็จมหาธรรมราชาธิราช กอร์ปด้วยปัญจพิธกัลยาณีมีศีลพระ...
            ศิลาจารึกวัดบูรพาราม  เรียกว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๒๘๖ ทำด้วยหินชนวนสีเขียว รูปใบเสมา ส่วนล่างชำรุดหักหาย มีขนาดกว้าง ๕๙ เซนติเมตร สูง ๑๔๖ เซนติเมตร หนา ๑๒ เซนติเมตร ด้านที่หนึ่งมี ๕๕ บรรทัด จารึกด้วยอักษรสุโขทัย ภาษาไทย ด้านที่สองมี ๕๖ บรรทัด จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาบาลี เมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๕ พระครูปลัดสนธิ  จิตฺตปญฺโญ วัดศาลาครืน เขตจอมทอง กรุงเทพ ฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ซึ่งได้พระราชทานให้กรมศิลปากรจัดแสดงเพื่อการศึกษา ณ อาคารหอสมุดวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ พระนคร
           จารึกวัดบูรพารามระบุว่า สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์อัครราชมหิดิเทพยธรณีดิลกรัตนบพิตร เป็นเจ้า ผู้เป็นบาทบริจาริการัตนชายา แด่สมเด็จพระมหาธรรมราชา กอร์ปด้วยปัญจพิธกัลยาณี มีศิลพิริยะปรีชา...
           จารึกวัดบูรพารามบอกเล่าพระราชประวัติ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระราชสามี สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ประสูติจากพระครรภ์ สมเด็จพระศรีธรรมราชมาดา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๑๑ ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อพระชนมพรรษาได้ ๑๖ ปี ได้เสวยราชย์เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๙ และเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๑ ในปี พ.ศ.๑๙๕๕ สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ จึงทรงสร้างวัดบูรพาราม ก่อพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
           ในจารึกหลักนี้ สมเด็จพระราชเทวี ฯ ทรงระบุสายสัมพันธ์ราชสกุล ตามลำดับพระราชอิสริยยศ คือ
               -  สมเด็จมหาธรรมราชาธิราช พระราชโอรสสมเด็จพระศรีธรรมราชมาดา
               -  สมเด็จพระศรีธรรมราชมาดา
               -  สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์
               -  สมเด็จพระรามราชาธิราช พระราชโอรสสมเด็จพระราชเทวี ฯ
               -  ศรีธรรมาโศกราช พระราชโอรสสมเด็จพระราชเทวี ฯ
           การสร้างวัด ก่อพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และการทำบุญต่าง ๆ นั้น สมเด็จพระราชเทวี ฯ ทรงอุทิศแด่สมเด็จปู่พระญา พ่อออก แม่ออก สมเด็จมหาธรรมราชาธิราช พระศรีธรรมราชมารดา และทรงอธิษฐานว่า ขอให้ได้เกิดเป็นผู้ชายในอนาคตกาล ขอให้ได้สดับตรับฟังธรรมอันประเสริฐของพระพุทธเมตไตรย ขอพระพุทธเมตไตรยดำรัสสรรเสริญพระนางท่ามกลางพุทธบริษัท ขออย่าให้ผู้อื่นเทียมทันพระนางด้วยบุญสมภารด้วยรูป ด้วยยศ ด้วยสมบัติในทุกภพทุกชาติไป
           นอกจากศิลาจารึกหลักต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีศิลาจารึกสำคัญ ๆ ของสุโขทัยที่ให้ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดี ภาษา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของสุโขทัยในอดีตอีกมากมาย เช่น ศิลาจารึกเขาสุมนกูฎ จารึกวัดพระยืน จารึกวัดสรศักดิ์ จารึกกฎหมายลักษณะโจร จารึกปู่สบถ จารึกวัดเขากบ จารึกวัดเขมา จารึกวัดป่าแดง จารึกพระธรรมกาย จารึกพระอภิธรรม จารึกวัดตาเถรขึ้หนัง จารึกวัดกำแพงงาม จารึกวัดพระเสด็จ จารึกนายศรีโยธาราชออกบวช จารึกภาพชาดกในอุโมงค์วัดศรีชุม ๔๘ ภาพ กับจารึกอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ล้วนเป็นหลักฐานสำคัญของชาติไทย ให้รู้ว่าไทยเป็นประเทศเอกราชมีเอกลักษณ์ของตนเอง และเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นติดต่อกันมานานไม่น้อยกว่า ๗๐๐ ปีมาแล้ว


            ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง  เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกสมัยกรุงสุโขทัยนับเป็นวรรณคดีเรื่องแรกของไทย เป็นพระราชนิพนธ์ใน สมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช หรือพระมหาธรรมราชาลิไทย เป็นวรรณคดีไทยที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยามาจนถึงปัจจุบัน เพราะได้รวบรวมเอาคติความเชื่อทุกแง่ทุกมุมของทุกชนชั้นหลายเผ่าพันธุ์มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวให้ผู้อ่านผู้ฟังยำเกรงในการกระทำบาปทุจริต และเกิดความปิติยินดีในการทำบุญทำกุศล อาจหาญมุ่งมั่นในการกระทำคุณงามความดี
           พระมหาธรรมราชาลิไทย มีพระปรีชารอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกาอนุฏีกา และปกรณ์พิเศษต่าง ๆ พระองค์ยังเชี่ยวชาญในวิชาโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ และไสยศาสตร์จนถึงขั้นทรงบัญญัติคัมภีร์ศาสตราคมเป็นปฐมธรรมเนียมสืบต่อมา จนถึงปัจจุบัน
           ในปี พ.ศ.๑๘๘๘ พระยาลิไทย อุปราชผู้ครองนครศรีสัชนาลัย ได้ทรงนิพนธ์ไตรภูมิกถาขึ้น มีสาระสำคัญ คือ ทรงพรรณาถึงเรื่องการเกิด การตาย ของสัตว์ทั้งหลายว่า การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิทั้งสามคือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ด้วยอำนาจของบุญและบาปที่ตนได้กระทำแล้ว
            กามภูมิ  เป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ อบายภูมิ และสุคติภูมิ
               อบายภูมิ  ยังแบ่งออกเป็นสี่ภูมิได้แก่ นรกภูมิ ติรัจฉานภูมิ เปรตภูมิ และอสูรกายภูมิ
               นรกภูมิ  เป็นที่ตั้งของสัตว์ที่ทำบาป ต้องไปรับทัณฑ์ทรมานนานาประการ แบ่งออกเป็นขุมใหญ่ ๆ ได้ แปดขุมด้วยกัน คือ
               -  สัญชีพนรก มีอายุ ๕๐๐ ปี นรก            (๑ วันเท่ากับ ๙ ล้านปีของมนุษย์)
               -  กาฬสุตตนรก มีอายุ ๑,๐๐๐ ปีนรก        (๑ วันเท่ากับ ๓๖ ล้านปีของมนุษย์)
               -  สังฆาฏนรก มีอายุ ๒,๐๐๐ ปีนรก         (๑ วันเท่ากับ ๑๔๕ ล้านปีของมนุษย์)
               -  โรรุวะนรก มีอายุ ๔,๐๐๐ ปีนรก           (๑ วันเท่ากับ ๕๗๖ ล้านปีของมนุษย์)
               -  มหาโรรุวะนรก มีอายุ ๘,๐๐๐ ปีนรก   (๑ วันเท่ากับ ๒,๓๐๔ ล้านปีของมนุษย์)
               -  ตาปนรก มีอายุ ๑๖,๐๐๐ ปีนรก             (๑ วันเท่ากัย ๙,๒๓๖ ล้านปีของมนุษย์)
               -  มหาตาปนรก มีอายุยาวนานนับไม่ถ้วน
               -  อวีจีนรก หรือ อเวจีนรก มีอายุนับได้กัลป์หนึ่ง
           ในแต่ละนรกยังมีนรกบริวาร เช่น นรกขุมที่ชื่อโลหสิมพลี เป็นนรกบริวารของสัญชีพนรก ผู้ที่เป็นชู้กับสามีหรือภริยาผู้อื่น จามาตกนรกขุมนี้ จะถูกนายนิรบาลไล่ต้อนให้ขึ้นต้นงิ้วที่สูงต้นละหนึ่งโยชน์ มีหนามเป็นเหล็กร้อนจนเป็นสีแดงมีเปลวไฟลุกโชนยาว ๑๖ นิ้ว ชายหญิงที่เป็นชู้กันต้องปีนขึ้นลง โดยมีนายนิรบาลเอาหอกแหลมทิ่มแทงให้ขึ้นลงวนเวียนอยู่เช่นนี้นับร้อยปีนรก
           สำหรับผู้ที่ทำบาป แต่ไม่หนักพอที่จะตกนรก ก็ไปเกิดในที่อันหาความเจริญมิได้ อื่น ๆ เช่น เกิดเป็นเปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน พวกที่พ้นโทษจากนรกแล้วยังมีเศษบาปติดอยู่ก็ไปเกิดเป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสูรกายบ้าง เป็นมนุษย์ที่ทุพพลภาพพิกลพิการ ตามความหนักเบาของบาปที่ตนได้ทำไว้
               สุคติภูมิ  เป็นส่วนของกามาพจรภูมิ หรือ กามสุคติภูมิ แบ่งออกเป็นเจ็ดชั้น คือ มนุษย์ภูมิ สวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกาภูมิ สวรรค์ชั้นตาวติงสาภูมิ (ดาวดึงส์ - ไตรตรึงษ์) สวรรค์ชั้นยามาภูมิ สวรรค์ชั้นตุสิตาภูมิ (ดุสิต) สวรรค์ชั้นนิมมานรดีภูมิ และสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีภูมิ
           กามาพจรภูมิทั้งเจ็ดชั้น เป็นที่ตั้งอันเต็มไปด้วยกาม เป็นที่ท่องเที่ยวของสัตว์ที่ลุ่มหลงอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นอารมณ์อันพึงปรารถนา เมื่อรวมกับอบายภูมิอีกสี่ชั้นเรียกว่า กามภูมิสิบเอ็ดชั้น
            รูปภูมิ หรือรูปาวจรภูมิ  ได้แก่ รูปพรหมสิบหกชั้น เริ่มตั้งแต่พรหมปริสัชชาภูมิ ที่อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นหก คือ ปรนิมมิตวสวัตดี มากจนนับระยะทางไม่ได้ ระยะทางดังกล่าวอุปมาไว้ว่า สมมติมีหินก้อนใหญ่เท่าโลหะปราสาทในลังกาทวีป หินก้อนนี้ทิ้งลงมาจากชั้นพรหมปริสัชชาภูมิ หินก้อนนั้นใช้เวลาถึงสี่เดือนจึงจะตกลงถึงพื้น
           จากพรหมปริสัชชาภูมิขึ้นไปถึงชั้นที่สิบเอ็ด ชื่อชั้นอสัญญีภูมิ เป็นรูปพรหมที่มีรูปแปลกออกไปจากพรหมชั้นอื่น ๆ คือ พรหมชั้นอื่น ๆ มีรูป มีความรู้สึก เคลื่อนไหวได้ แต่พรหมชั้นอสัญญีมีรูปที่ ไม่ไหวติง ไร้อริยาบท โบราณเรียกว่า พรหมลูกฟักครั้นหมดอายุ ฌานเสื่อมแล้วก็ไปเกิดตามกรรมต่อไป
           รูปพรหมที่สูงขึ้นไปจากอสัญญีพรหมอีกห้าชั้นเรียกว่า ชั้นสุทธาวาส หมายถึงที่อยู่ของผู้บริสุทธิ ผู้ที่จะไปเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาสคือ ผู้ที่สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระอนาคามี คือเป็นผู้ที่ไม่กลับมาสู่โลกนี้ต่อไป ทุกท่านจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนิพพานในชั้นสุทธาวาสนี้
           อรูปภูมิ หรืออรูปาพาจรภูมิ  มีสี่ชั้น เป็นพรหมที่ไม่มีรูปปรากฏ ผู้ที่ไปเกิดในภูมินี้คือผู้ที่บำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุฌานโลกีย์ชั้นสูงสุด เรียกว่าอรูปฌานซึ่งมีอยู่สี่ระดับได้แก่ผู้ที่บรรลุอากาสานัญจายตนะฌาน (ยึดหน่วงเอาอากาศเป็นอารมณ์) จะไปเกิดในอากาสานัญจายตะภูมิ ผู้ที่บรรลุวิญญาณัญจายตนะฌาน (ยึดหน่วงเอาวิญญาณเป็นอารมณ์) จะไปเกิดในวิญญาณัญจายตะภูมิ ผู้ที่บรรลุอากิญจัญญายตนะฌาน (ยึดหน่วงเอาความไม่มีเป็นอารมณ์) จะไปเกิดในอากิญจัญญาตนะภูมิ และผู้ที่บรรลุเนวสัญญานสสัญญายตนะฌาน (ยึดหน่วงเอาฌานที่สามให้ละเอียดลงจนเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีญาก็มิใช่) จะไปเกิดในแนวสัญญานาสัญญายตนะภูมิ พรหมเหล่านี้เมื่อเสื่อมจากฌานก็จะกลับมาเกิดในรูปพรหมภูมิ หรือภูมิอื่น ๆ ได้เช่นกัน
           การกำเนิดของสัตว์  การเกิดของสัตว์ในสามภูมิมีอยู่สี่อย่างด้วยกันคือ
               -  ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ เช่น มนุษย์และสัตว์เดรัจฉานบางชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม
               -  อัณฑชะ เกิดในไข่ ได้แก่สัตว์เดรัจฉานบางชนิด เช่น นก สัตว์เลื้อยคลานบางชนิด ปลา เป็นต้น
               -  สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล ได้แก่สัตว์ชั้นต่ำบางชนิดที่ใช้การแบ่งตัวออกไป เช่น ไฮดรา อมิบา เป็นต้น
               -  โอปาติกะ เกิดขึ้นเอง เมื่อเกิดแล้วก็จะสมบูรณ์เต็มที่ เมื่อตายไปจะไม่มีทราก ได้แก่ เปรต อสูรกาย เทวดา และพรหม เป็นต้น
           การตายของสัตว์  การตายมีสาเหตุสี่ประการด้วยกันคือ
               -  อายุขยะ เป็นการตายเพราะสิ้นอายุ
               -  กรรมขยะ เป็นการตายเพราะสิ้นกรรม
               -  อุภยขยะ เป็นการตายเพราะสิ้นทั้ง อายุ และสิ้นทั้งกรรม
               -  อุปัจเฉทกรรมขยะ เป็นการตายเพราะอุบัติเหตุ
           นอกจากนั้นแล้ว มีการกล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ ในโลกและในจักรวาล มีภูเขาพระสุเมรุราชเป็นแกนกลาง แวดล้อมด้วยกำแพงน้ำสีทันดรสมุทร และภูเขาสัตตบรรพต อันประกอบด้วย ภูเขายุคนธร อินิมธร กรวิก สุทัศนะ เนมินธร วินันตกะ และอัสสกัณณะ กล่าวถึงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวนพเคราะห์ และดารากรทั้งหลายในจักรวาล เป็นเครื่องบ่งบอกให้รู้วันเวลาฤดูกาล และเหตุการณ์ต่าง ๆ กล่าวถึงทวีปทั้งสี่ที่ตั้งอยู่รอบภูเขาพระเมรุมาศ ชมพูทวีปอยู่ทางทิศใต้กว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ มีปริมณฑล ๓๐๐,๐๐๐ โยชน์ มีแผ่นดินเล็กล้อมรอบได้ ๕๐๐ มีแผ่นดินเล็กอยู่กลางทวีปใหญ่สี่ผืน เรียกว่า สุวรรณทวีป กว้างได้ ๑,๐๐๐ โยชน์ มีประมณฑล ๓๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นเมืองที่อยู่ของพญาครุฑ
           การกำหนดอายุของสัตว์และโลกทั้งสามภูมิ มี กัลป์ มหากัลป์ การวินาศ การอบัติ การสร้างโลก สร้างแผ่นดินตามคติของพราหมณ์
           ท้ายสุดของภูมิกถา เป็นนิพพานคถาว่าด้วยนิพพานสมบัติของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย วิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน อันเป็นวิธีตามแนวทางของพระพุทธศาสนา
           สุภาษิตพระร่วง  เป็นวรรณกรรมจารึกลงในแผ่นศิลารูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ติดไว้กับผนังด้านใน ของศาลาหน้าพระมหาเจดีย์หลังเหนือ วัดพระเชตุพน ฯ กรุงเทพ ฯ และจดไว้ในสมุดไทยอีกหลายเล่ม กรมศิลปากรจัดพิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บัญญัติพระร่วง เป็นภาษิตไทยแท้ ๆ ใช้ถ้อยคำอย่างพื้น ๆ เป็นภาษิตไทยเก่าแก่ที่ติดปากคนไทยสืบมา  และมากลายรูปไปในลักษณะกวีนิพนธ์แบบต่าง ๆ แทรกอยู่ในวรรณคดีไทยในเวลาต่อมา เมื่อพิจารณาตามรูปของวลีจะพบว่า คล้ายคลึงใกล้เคียงกับ จารึกพ่อขุนรามคำแหงอาจเป็นไปได้ว่า สุภาษิตพระร่วงเดิมเป็นพระบรมราโชวาท ซึ่งพระร่วง พ่อขุนรามคำแหง ทรงแสดงสั่งสอนประชาชนชาวไทยในครั้งนั้น
           สุภาษิตพระร่วงเขียนเป็นร่ายสุภาพ มีรูปแบบที่กำหนดไว้ตายตัวว่าในวรรคหนึ่ง ๆ ให้ใช้คำได้วรรคละห้าคำ คำส่งสัมผัสมีรูปวรรณยุกต์ใด คำรับสัมผัสต้องมีรูปวรรณยุกต์นั้น เช่น ภายในอย่านำออก ภายนอกอย่านำเข้า เป็นต้น
           วรรณกรรมเรื่องสุภาษิตพระร่วงเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะของสุโขทัย ได้รับการเรียบเรียงเป็นร่ายสุภาพ และจารึกเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์
            ตำนานพระร่วงพระลือ  พระร่วงพระลือ จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมจำหลักจากงาดำของช้างเผือกเป็นศิลปะสุโขทัย ต่อมามีการหล่อด้วยสำริดศิลปะอยุธยา ลักษณะประทับยืนตรง ยกพระหัตถ์ทั้งสองตั้งเสมอพระอุระ ทรงพระมาลาที่ชาวบ้านเรียกว่าหมวกชีโบ ครองจีวรคลุมยาวถึงพระชงฆ์ องค์พระร่วงสูง ๓๘ เซนติเมตร กว้าง ๘ เซนติเมตร องค์พระลือสูง ๓๔ เซนติเมตร กว้าง ๗ เซนติเมตร ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง
           พงศาวดารเหนือกล่าวประวัติพระร่วงกษัตริย์ผู้ครองกรุงสุโขทัยว่า พระบิดาเป็นมนุษย์พระมารดาเป็นนางนาค พระบิดาเดิมครองนครหริภุญไชย ทรงพระนามว่าอภัยคามมะนี ท่านได้ไปจำศีลภาวนาอยู่บนภูเขาแห่งหนึ่ง ได้มีนางนาคจำแลงกายเป็นมนุษย์ขึ้นมาเที่ยวเล่น ได้พบพระยาอภัยคามมะนีแล้วเกิดรักใคร่กัน ได้อยู่ร่วมกันเป็นเวลาเจ็ดวัน นางนาคก็กลับสู่เมืองบาดาล เมื่อใกล้คลอดบุตรจึงได้ขึ้นจากบาดาลไปยังภูเขาที่เคยพบพระยาอภัยคามมะนี และคลอดบุตรชาย ณ ที่นั้น แล้ววางบุตรบนผ้ากัมพล พร้อมทั้งวางพระธำมรงค์ที่ได้รับประทานจากพระยาอภัยคามมะนี อธิษฐานขอให้พ่อลูกพบกัน แล้วกลับไปบาดาล
           มีพรานป่าผู้หนึ่งมาพบทารกจึงนำไปเลี้ยง เมื่อกุมารเจริญวัย เป็นผู้มีบุญญาธิการ มีวาจาสิทธิ์ วันหนึ่งพระยาอภัยคามมะนี มีพระราชประสงค์จะสร้างพระราชนิเวศน์เพิ่มเติม จึงประกาศให้ราษฎรไปช่วยกันตัดไม้มาสร้างถวาย พรานป่าก็ได้พาบุตรบุญธรรมไปร่วมตัดไม้ด้วย กุมารก็แสดงฤทธิ์ด้วยการใช้วาจาสิทธิ์ให้ได้ไม้มาโดยไม่ต้องลงแรงตัด ความทราบถึงพระยาอภัยคามมะนี จึงรับสั่งให้ลูกนางนาคเข้าเฝ้า เมื่อได้ซักถามประวัติจนทราบว่า เป็นพระโอรสจึงรับเข้าไว้ในเศวตฉัตร และทรงตั้งพระนามว่า อรุณกุมาร พระยาอภัย ฯ มีโอรสกับพระมเหสีอีกองค์หนึ่ง มีพระนามว่า ฤทธิกุมาร เมื่อโอรสทั้งสองเจริญวัย ก็ได้ทรงสู่ขอพระธิดาผู้ครองนครศรีสัชนาลัยมาอภิเษกสมรสกับอรุณกุมาร เมื่อพระยาอภัย ฯ สวรรคต อรุณกุมารจึงได้ครองนครสุโขทัยสืบแทน  ต่อมาเมื่อผู้ครองนครศรีสัชนาลัยสวรรคต อรุณกุมารก็ได้ครองนครศรีสัชนาลัยควบคู่กับนครสุโขทัย ทรงพระนามว่า พระร่วงพระองค์ได้ทรงสู่ขอพระธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้อภิเษกสมรสกับฤทธิกุมาร และหลังจากเจ้าเมืองเชียงใหม่สวรรคตแล้ว เจ้าฤทธิกุมารก็ได้ครองเมืองเชียงใหม่ได้พระนามใหม่ว่า พระลือ
            พระร่วงส่วยน้ำ  มีตำนานเรื่องพระร่วงอีกเรื่องหนึ่งกล่าวว่า พระร่วงเป็นบุตรของนายคงเครา นายกองส่งส่วยน้ำเมืองลพบุรี ในครั้งนั้นพระเจ้าแผ่นดินขอมแห่งกรุงกัมพูชามีเมืองขึ้นที่ต้องส่งเครื่องบรรณาการเป็นจำนวนมาก ในจำนวนดังกล่าวมีเมืองลพบุรีอยู่ด้วย เมืองลพบุรีต้องส่งส่วยน้ำเป็นเครื่องบรรณาการเป็นประจำทุกปี นายคงเครามีบุตรคนหนึ่งชื่อนายร่วง เป็นคนมีบุญญาธิการ มีวาจาสิทธิ์  เมื่อตอนที่มีอายุสิบเอ็ดปี เขาพายเรือทวนน้ำนานเข้าจึงเหน็ดเหนื่อยมากถึงกับออกปากว่า "ทำไมน้ำจึงไม่ไหลไปทางโน้นบ้าง" พอพูดขาดคำก็ปรากฏว่าสายน้ำได้ไหลย้อนกลับไปในทางที่จะไปทันที นายร่วงเมื่อรู้ว่าตนมีวาจาสิทธิ์ก็เก็บเรื่องไว้เป็นความลับไม่บอกให้ใครรู้
           เมื่อนายคงเคราชราภาพลง นายร่วงจึงรับหน้าที่ส่งส่วยน้ำแทนบิดา เขาคิดหาวิธีการทำภาชนะใส่น้ำส่งเจ้ากรุงกัมพูชา เป็นภาชนะที่เบาและจุน้ำได้มากโดยใช้ไม้ไผ่มาจักสานเป็นชะลอม (ครุ) ขึ้นเป็นจำนวนมาก แล้วนำไปตักน้ำในทะเลชุบศร ลั่นวาจาสิทธิ์ให้น้ำไม่รั่วออกจากชะลอม น้ำก็อยู่ในชะลอมไม่รั่วไหลออกมา เมื่อนำไปถวายพระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงเห็นเป็นที่อัศจรรย์ และทรงวิตกว่าบัดนี้มีคนมีบุญเกิดขึ้นแล้ว ถ้าปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อกรุงกัมพูชา ควรที่จะกำจัดนายร่วงเสียโดยเร็ว จึงได้ตรัสสั่งให้นายเดโชชัย นายทหารคู่พระทัย ดำเนินการกำจัดนายร่วงเสีย
           ฝ่ายนายร่วงเมื่อได้ทราบว่าพระเจ้ากรุงกัมพูชาคิดกำจัดตน จึงหลบหนีจากเมืองลพบุรีขึ้นมาบวชเป็นพระภิกษุที่วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย นายเดโชชัย เป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้าก็ได้ติดตามนายร่วงมาถึงเมืองสุโขทัย เมื่อมาถึงกำแพงเมืองสุโขทัย ก็ใช้อิทธิฤทธิ์ดำดินลอดใต้กำแพงเมืองเข้ามาโผล่ขึ้นในลานวัดมหาธาตุ ขณะนั้นพระภิกษุพระร่วงกำลังกวาดลานวัดอยู่ นายเดโชชัยจึงเข้าไปถามว่า รู้ไหมว่านายร่วงที่มาจากเมืองลพบุรีนั้นขณะนี้อยู่ที่ไหน พระภิกษุร่วงก็รู้ทันทีว่าคนผู้นี้ตามมาทำร้ายตน จึงได้กล่าววาจาออกไปว่า "สูจงอยู่ที่นี่เถิด รูปจะไปบอกนายร่วงให้" พอพูดขาดคำร่างของนายเดโชชัยก็กลายเป็นหินไปทันที เมื่อชาวบ้านเมืองสุโขทัยรู้ว่าพระภิกษุร่วงมีวาจาสิทธิ์ สาปขอมให้กลายเป็นหินได้ จึงมีความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเจ้าเมืองสุโขทัยสิ้นแล้ว จึงได้พากันอาราธนาให้พระภิกษุร่วงลาสิกขา แล้วขึ้นครองเมืองสุโขทัย ทรงพระนามว่า พระเจ้าศรีจันทราธิบดี ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ประชาชน และบ้านเมืองก็เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา
           สำหรับรูปคนที่เป็นหินนั้น ชาวบ้านเรียกว่า ขอมดำดิน ปัจจุบันถูกคนทุบตีจนแตกหักเป็นเศษเล็กเศษน้อย ทางราชการได้นำไปไว้ที่ศาลพระแม่ย่า หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |