| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม

โบราณสถานและโบราณวัตถุ
    อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
           อุทยาน ฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง มีพื้นที่ประมาณ ๗๐ ตารางกิโลเมตร มีกำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นกำแพงดินสามชั้นโดยขุดดินมาถมเป็นกำแพง กำแพงด้านทิศเหนือ - ใต้ ยาวประมาณ ๑,๔๐๐ เมตร ด้านทิศตะวันออก - ตะวันตก ยาว ๑,๘๐๐ เมตร มีประตูสี่ประตู ด้านทิศเหนือเรียก ประตูศาลหลวง ด้านทิศใต้เรียก ประตูนโมด้านทิศตะวันออกเรียกประตูกำแพงหักและด้านตะวันตกเรียกประตูอ้อ มีลำน้ำแม่ลำพันไหลเลียบกำแพงเมืองด้านเหนือ มีตระพังหรือสระน้ำใหญ่อยู่สี่แห่ง คือ ตระพังเงิน ตระพังทอง ตระพังสอ และตระพังกวน
           โบราณสถานภายในอุทยาน ฯ มีทั้งภายในกำแพงเมืองและภายนอกกำแพงเมือง รวมแล้วมีประมาณ ๒๐๐ แห่งด้วยกัน โบราณสถานที่สำคัญมีดังนี้

           วัดมหาธาตุ เป็นวัดขนาดใหญ่ อยู่ในกำแพงเมือง ตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัย ประกอบด้วย พระเจดีย์มหาธาตุรูปดอกบัวตูม และมีเจดีย์รายล้อมทั้งสี่ทิศ ฐานวิหาร ฐานโบสถ์ และซุ้มคูหาพระพุทธรูป
           ภายในวัดมหาธาตุพบศิลาจารึกอยู่สามหลัก จากรึกหลักแรกคือ ศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ หรือที่เรียกว่า จารึกปู่สบถหลาน (จารึกปู่ขุนจิต ขุนจอด) พ.ศ.๑๙๓๕ อักษรไทยสมัยสุโขทัยภาษาไทย พบบริเวณริมเสาด้านขวาหน้าวิหารหลวง ซึ่งอยู่ด้านหลังวิหารสูง หลักที่สองคือ ศิลาจารึกเจดีย์น้อยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย สันสกฤต พบที่เจดีย์น้อย ด้านหน้าเจดีย์ห้ายอด หลักที่สามคือ จารึกลานทอง สมเด็จพระมหาเถรราชจุฬามณี พ.ศ.๑๙๑๙ อักษรไทยสุโขทัย อักษรธรรมล้านนา

           เนินปราสาท  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ เดิมเป็นเนินดินสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ มีขนาดกว้างยาวด้านละ ๒๐๐ เมตร หลังจากการขุดแต่งพบฐานก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีร่องรอยฉาบปูน ภายในบริเวณใกล้ ๆ มีสระน้ำสองสระ ภายในสระน้ำพบเสาไม้อยู่ใต้น้ำคล้ายกับหอไตร พบชิ้นส่วนตุ๊กตาสำริด และตุ๊กตาหินรูปสิงห์โตบริเวณใกล้กับฐานโบราณสถาน

           ทำนบพระร่วง (สรีดภงส์ ๑)  อยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่อ่างเก็บน้ำอยู่ระหว่างเขาพระบาทใหญ่กับเขากิ่วอ้ายมา โดยมีคันดินกว้างประมาณ ๔ เมตร เป็นแนวยาวประมาณ ๓๐๐ เมตรเศษ พาดผ่านระหว่างเชิงเขาสองลูก ทำหน้าที่กั้นน้ำไม่ให้ท่วมเมือง และเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยบังคับน้ำให้ไหลไปเชื่อมกับคูเมืองชั้นกลางของเมืองสุโขทัย ตามคลองส่งน้ำชื่อ คลองเสาหอ ปัจจุบันกรมชลประทานได้ก่อสร้างเป็นเขื่อนดินสูงประมาณ ๑๐ เมตร เก็บกักน้ำได้ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร
           ทำนบพระร่วง (สรีดภงส์ ๒)  ตั้งอยู่ที่บ้านมนต์คีรี ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง ฯ อยู่ห่างจากกำแพงเมืองไปทางทิศใต้ตามคันดินกั้นน้ำ ระยะทางประมาณ ๗.๖ กิโลเมตร ไปบรรจบกับคันกั้นน้ำโคกมนด้านที่กั้นกับเขานายาว (เขาสะพานเรือ) โดยทำเป็นคันดินสูง ๓ - ๔ เมตร กว้าง ๗ - ๑๐ เมตร ยาว ๑,๓๐๐ เมตร รับน้ำจากเหมืองยายอึ่ง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญเกิดจากเขาโป่งสะเดา เขาคุยบุนนาค เขาอีลม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหลวง มีพื้นที่เก็บน้ำกว้างขวาง แต่ปัจจุบันตื้นเขินหมดแล้ว
           วัดที่อยู่ในเขตอุทยาน  นอกจากวัดมหาธาตุแล้ว ยังมีวัดอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากได้แก่ วัดศรีสวาย วัดสระศรี วัดสรศักดิ์ วัดศรีชุม วัดพระพายหลวง วัดอโศการาม (วัดสลัดได) วัดเชตุพน วัดเจดีย์สี่ห้อง วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม (วัดตาเถรขึงหนัง) วัดช้างล้อมสุโขทัย วัดพระพังทองหลาง วัดตะพานหิน วัดอรัญญิก วัดป่ามะม่วง วัดเขาพระบาทน้อย
    อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

           อุทยาน ฯ ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ และตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย ตัวเมืองศรีสัชนาลัย อยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ ตำบลศรัสัชนาลัย พื้นที่อุทยานทั้งหมด ประมาณ ๔๕ ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากเมืองสุโขทัยไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๖๘ กิโลเมตร
           เมืองศรีสัชนาลัย  เป็นเมืองหนึ่งในระยะแรกของอาณาจักรไทย และเกิดก่อนที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จะขึ้นครองกรุงสุโขทัย ในระยะนั้นมีชื่อว่าเมืองเชลียง ซึ่งได้เคยเป็นศูนย์กลางชุมชนในลุ่มแม่น้ำยมมาก่อน จนกระทั่งเจริญรุ่งเรืองควบคู่กับกรุงสุโขทัย และกลายมาเป็นเมืองลูกหลวงเอก มีชื่อว่าเมืองศรีสัชนาลัย เมื่ออาณาจักรอยุธยาขยายอำนาจเข้ามาสู่อาณาจักรสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัยมีชื่อใหม่ว่า สวรรคโลก และได้ลดฐานะเป็นหัวเมืองชั้นโทตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึง ปี พ.ศ.๒๔๓๕
           จากหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้ทราบว่าก่อนหน้าที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ จะเผยแผ่เข้ามาเมืองศรีสัชนาลัย ปรากฏร่องรอยของศาสนาฮินดู และพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมาก่อน ศาสนสถานเหล่านั้นเป็นตัวอย่างงานศิลปกรรมที่งดงาม ทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ซึ่งได้กลายเป็นเป็นแบบแผนให้กับศิลปกรรมไทยในเวลาต่อมา
           เมืองโบราณศรีสัชนาลัย  มีสภาพภูมิประเทศบริเวณที่ตั้งของเมืองเป็นที่ราบเชิงเขา มีขอบเขตของเมืองล้อมรอบด้วยกำแพงเมือง ที่สร้างด้วยศิลาแลงรูปหลายเหลี่ยม ตามทิศทางของแม่น้ำยม ลักษณะของกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยมีหลายแนวคือ
           กำแพงเมืองชั้นใน  ก่อด้วยศิลาแลง ลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบ - กำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นด้านที่ขนานกับแม่น้ำยม ก่อด้วยศิลาแลงกว้าง ๒.๒๐ เมตร ยาว ๘๐๐ เมตร กำแพงด้านนี้ก่อจากพื้นราบ ไม่ได้ก่อจากคันดินเหมือนด้านอื่น ๆ
               -  กำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงแรกเริ่มจากแนวที่หักมุมต่อจากประตูดอนแหลมออกมา ๓๕๐ เมตร บรรจบกับกำแพงดินเดิมของเมืองเชลียง ช่วงที่สองหักมุมจากช่วงแรกฐานเริ่มก่อจากคันดิน และมีคูน้ำขนานกับแนวศิลาแลง กำแพงกว้าง ๑.๘๐ เมตร สูง ๕.๑๐ เมตร หนา ๒.๒๐ เมตร ตอนบนแนวกำแพงทำเป็นทางเดินเล็ก ๆ กว้าง ๘๐ เซนติเมตร และเจาะช่องสี่เหลี่ยมสำหรับทหารรักษาการณ์คอยตรวจการณ์ดูข้าศึกกำแพงด้านนี้ยาว ๗๘๐ เมตร
               -  กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ยาวประมาณ ๑,๐๗๐ เมตร เป็นแนวกำแพงที่ค่อนข้างจะเป็นแนวตรงมากกว่าด้านอื่น และเป็นด้านที่ยาวที่สุด
           กำแพงเมืองชั้นกลาง  เป็นแนวคันดินที่อยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นใน และชั้นนอก โดยมีคูเมืองคั่นแนวกำแพงปรากฏเพียงสามด้าน คือ
               -  ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้  เชื่อมต่อจากคันดินกำแพงเมืองเชลียง ผ่านประตูรามณรงค์ ยาวประมาณ ๔๘๐ เมตร
               -  ด้านตะวันตกเฉียงใต้  ยาวประมาณ ๑,๓๐๐ เมตร
               -  ด้านตะวันตกเฉียงเหนือคันดินกว้าง ๑๒ เมตร สูง ๓ เมตร ยาว ๕๐๐ เมตร
           ประตูเมือง  มี ๖ ประตู คือ ประตูรามณรงค์  ตั้งอยู่ทางด้านหน้าตอนกลาง ซึ่งตอนหน้าออกมาเป็นที่ตั้งของป้อม หรือหอรบ ในแนวด้านหน้าชิดลำน้ำยม เป็นที่ตั้งของประตูดอนแหลมแนวกำแพงด้านขวามีสองประตู คือ ประตูสะพานจันทร์อยู่ด้านหน้าแนวเขา และประตูชนะสงครามอยู่ทางด้านหลังแนวเขา ตรงมุมของกำแพงเมืองด้านขวาและด้านหลังชนกัน มีประตูไชยพฤกษ์ และประตูสุดท้ายคือ ประตูเตาหม้อ
           โบราณสถาน  โบราณสถานในอุทยาน ฯ มีทั้งภายในและภายนอกกำแพงเมือง มีโบราณสถานอยู่ ๒๑๕ แห่ง ที่สำคัญมี ดังนี้
           เตาทุเรียงป่ายาง  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ห่างจากประตูเตาหม้อไปประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นกลุ่มเตาเผาสังคโลกที่สำรวจพบ มี ๒๑ เตา ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเนินดินที่ทับถมสูง ๒๔ เมตร แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ
               -  กลุ่มเตายักษ์  เป็นกลุ่มเตาที่อยู่ใกล้เมืองศรีสัชนาลัย มีเตาตั้งเรียงรายกันอยู่ ๑๕ เตา เป็นเตาที่เผาเครื่องถ้วยชาม และประติมากรรมลอยตัวขนาดใหญ่ รวมทั้งเครื่องประดับสถาปัตยกรรมต่าง ๆ เช่น ยักษ์ เทวดา มกร ช่อฟ้า เตายักษ์เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกตามยักษ์สังคโลก ที่พบบริเวณเตาเหล่านี้
               -  กลุ่มเตาตุ๊กตา  เป็นกลุ่มเตาเผาที่อยู่ห่างจากกลุ่มเตายักษ์ออกมาทางทิศเหนือ ประมาณ ๖๐๐ เมตร พบซากเตา ๖ เตา กลุ่มเตาบริเวณนี้ผลิตประติมากรรมลอยตัวขนาดเล็ก ทั้งรูปคน และสัตว์ ลักษณะโครงสร้างของเตาเป็นเตาประทุน มีรูปร่างรีก่อหลังคาโค้ง บรรจบกันคล้ายประทุนเรือ ตั้งอยู่บนพื้นลาดเอียง ๑๐ - ๓๐ องศา ภายในเตาแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ช่องใส่ไฟ ห้องบรรจุภาชนะ และปล่องไฟ
           เตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย  ตั้งอยู่ห่างจากแหล่งเตาเผาบ้านป่ายาง ประมาณ ๔ กิโลเมตร พบหลักฐานเตาตลอดริมฝั่งแม่น้ำยม โดยกระจายทั่วไปประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร เท่าที่สำรวจพบมีประมาณ ๒๐๐ เตา โดยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เท่าที่สำรวจพบได้แก่
               -  กลุ่มเตาเผาหมายเลข ๖๑  มีเตาใต้ดิน ๔ เตา เป็นเตาขุดลงไปในดิน ภาชนะที่พบส่วนใหญ่เป็นไหขนาดใหญ่ สำหรับบรรจุน้ำ หรือของแห้ง
               -  กลุ่มเตาเผาหมายเลข ๔๒  เป็นแหล่งโบราณคดี ที่ทำให้ทราบถึงพัฒนาการเตาเผา และสิ่งผลิตจากเตา เพราะภายในใต้ดินนั้นขุดพบเตาเผาสังคโลก ที่ทับซ้อนกันอยู่ถึง ๑๙ เตา
           ประเภทและลักษณะของกลุ่มเตาเผาบ้านเกาะน้อย
               -  เตาตะกรับ  เป็นเตาเผาชนิดระบายความร้อน ไหลผ่านตามแนวดิ่ง และแนวตั้ง ให้ความร้อนไม่เกิน ๙๐๐ องศาเซลเซียส ลักษณะรูปร่างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ - ๒ เมตร แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ห้องบรรจุภาชนะตอนบน เป็นแผ่นดินเหนียวเจาะรูกลมเพื่อระบายความร้อน และห้องใส่ไฟอยู่ด้านล่าง
               -  เตาประทุน  เป็นเตาเผาชนิดระบายความร้อน ไหลผ่านในแนวนอน เช่นเดียวกับเตาทุเรียงที่บ้านป่ายาง เตาประทุนมีพัฒนาการดังนี้ คือ เตาขุด หรือเตาอุโมงค์ เป็นเตาเผาระยะแรก โดยขุดเป็นโพรงลึกลงไปในดินธรรมชาติ มีรูปด้านตัดเกือบกลม ไม่มีคันกั้นไฟ เครื่องปั้นดินเผามีทั้งเคลือบ และไม่เคลือบ เช่น ไห ชาม พบเครื่องเคลือบเชลียง เตาขุดในระยะแรกเรียกว่า เตาเชลียง เริ่มปรากฏที่บ้านเกาะน้อย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา
           เตาบนดินระยะที่สอง  มีขนาดใหญ่กว่าเตาขุด ส่วนใหญ่สร้างทับบนเตาขุดในระยะแรก และผลิตภาชนะดินเผาเคลือบสีเขียวไข่กา
           เตาอิฐบนดินรุ่นหลัง  เป็นเตาเผาที่พัฒนาการขึ้นสุดท้าย พบซากเตาอิฐขนาดใหญ่บนเนินสูง เป็นเตาที่ใช้ในการผลิตสังคโลกจนสามารถส่งไปขายที่ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑
    ชุมชนโบราณเมืองบางขลัง
           ชุมชนโบราณแห่งนี้ ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอสวรรคโลก ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ มีภูเขาเตี้ย ๆ สองแห่ง คือ เขาวงพระจันทร์ อยู่ทางทิศตะวันออก และเขาเดื่ออยู่ทางทิศตะวันตก มีลำน้ำสายหลักคือลำน้ำแม่มอก ลำน้ำมักกะสัง และลำน้ำวังเดื่อ ลำน้ำเหล่านี้แยกเป็นคลองเหมืองเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วตำบล
           บางขลังเป็นเมืองในประวัติศาสตร์ที่มีมาร่วมสมัยกับเมืองเก่าสุโขทัย เมืองเก่าสวรรคโลก เมืองนี้มีชื่อปรากฏอยู่ในจารึกสุโขทัย ได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ ๒ จารึกวัดศรีชุมด้านที่ ๑ กล่าวถึงพ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนบางกลางหาว ยกทัพมาพบกันที่เมืองบางขลัง เพื่อร่วมกันร่วมกันปราบขอมสบาดโขลญลำพง ในด้านที่สองบรรยายว่า สมเด็จพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนี เสด็จออกบวชแล้วจาริกไปยังปูชนียสถานต่าง ๆ โดยเริ่มต้นจากเมืองสุโขทัยไปเมืองบางขลัง แล้วถึงศรีสัชนาลัย นอกจากนี้จารึกหลักที่ ๓ จารึกนครชุม กล่าวนามชื่อเมืองร่วมสมัยคือ เมืองเชียงทอง เมืองบางพาน เมืองบางขลัง
           บางขลังเป็นเมืองที่มีความสำคัญเมืองหนึ่งในอาณาจักรสุโขทัย เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เป็นแหล่งเสบียงสำคัญ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่างกรุงสุโขทัยกับเมืองโบราณหลวง (ศรีสัชนาลัย) สวรรคโลก เป็นชัยภูมิที่มีแนวเขาเป็นพรมแดนธรรมชาติ ทั้งทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก ด้านทิศตะวันออก มีที่ราบกว้างใหญ่ เหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งถิ่นฐาน มีเส้นทางที่สามารถติดต่อทั้งทางบก คือถนนพระร่วง และทั้งทางน้ำคือ ลำน้ำแม่มอกไหลมาบรรจบลำน้ำแม่ลำพัน รอบเมืองบางขลังมีแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ เช่น หนองกลับ หนองเรียง หนองป่าตอ ซึ่งสามารถติดต่อกับเมืองบางยมทางด้านทิศตะวันออก พบวัดร้างซากเจดีย์ที่ชำรุดเสียหายกว่า ๔๐ แห่ง ในบริเวณรอบ ๆ เมืองบางขลัง ในรัศมีสี่กิโลเมตร ที่ยังสภาพบูรณะให้คืนสภาพได้ คือวัดโบสถ์ วัดใหญ่ชัยมงคล
           ตัวเมืองบางขลังเป็นชุมชนโบราณ มีกำแพงเมืองชั้นเดียวที่ก่อถมสูงขึ้นเป็นกำแพงเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านกว้างของเมืองอยู่ทางด้านทิศเหนือ และทิศใต้มีความกว้างด้านละประมาณ ๒๔๐ เมตร ด้านยาวของเมืองอยู่ทางด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก มีความยาวด้านละประมาณ ๒๘๐ เมตร คิดเป็นพื้นที่ตัวเมืองประมาณ ๔๐ ไร่ คูเมืองกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ขุดเป็นแนวยาวรอบกำแพงทั้งสี่ด้าน
           โบราณสถาน โบราณวัตถุ และหลักฐานทางโบราณคดีของเมืองบางขลัง พอประมวลได้ดังนี้
               -  วัดเจดีย์เจ็ดแถว  เป็นวัดร้างมีกองศิลาแลงกระจายอยู่เจ็ดกอง
               -  เจดีย์ใหญ่  อยู่ใกล้วัดเจดีย์เจ็ดแถว มีเพียงศิลาแลงกระจายอยู่ทั่วไป
               -  เจดีย์เขาพระ  ตั้งอยู่บนยอดเขาเล็ก ๆ ของเขาเดื่อ เป็นศิลาแลงบนฐานเจดีย์ที่หักพัง
               -  บ่อศิลาแลง  อยู่บริเวณเขาเดื่อ มีการขุดตัดศิลาแลง สันนิษฐานว่า เป็นแหล่งศิลาแลงที่ใช้ในการก่อสร้างวัดวาอารามในสมัยสุโขทัย
               -  วัดนากลาง  สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่คือ ซากวิหารที่ปรักหักพัง และสระน้ำโบราณ
               -  พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย  จำนวนสี่องค์ เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดโบสถ์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดบ้านซ่าน อำเภอศรีสำโรง
               -  พระเครื่องเมืองบางขลัง
   เมืองเพชร (ศรีคีรีมาศ)
           เมืองเพชร ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีคีรีมาศ อำเภอคีรีมาศ เป็นชุมชนโบราณหนึ่งในสิบหกแห่งของสุโขทัย จากภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็น แนวทางคันดินใหญ่เชื่อมต่อรับน้ำขึ้นไปทางเหนือจนถึงเมืองสุโขทัย ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองเพชร สภาพคันดินและทางน้ำยังเห็นได้ชัดเจน
           สภาพปัจจุบันยังมีกำแพงเมืองสมบูรณ์ทั้งสี่ด้าน กลางเมืองมีสระน้ำ เคยมีโบราณสถานภายในเมืองหนึ่งแห่ง แต่ต่อมาได้ถูกทำลายจนหมดสภาพ บริเวณนอกเมืองทางด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตกของเมืองบนเชิงเขาเล็ก ๆ สำรวจพบซากโบราณสถานสามแห่ง
           เมืองเพชรเป็นเมืองเล็ก ๆ อาจเป็นเมืองบริวารหรือที่พักระหว่างทาง หรือเมืองด่านในแนวทางถนนพระร่วง ระหว่างกำแพงเพชรกับสุโขทัย
    ปรางค์ก่ออิฐเขาปู่จ่า

           ปรางค์องค์นี้พบอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขาหลวงทางด้านทิศใต้ของเมืองสุโขทัย อยู่ในเขตบ้านนาสระลอย ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ องค์ปรางค์ตั้งอยู่บนภูเขาเล็ก ๆ ลูกโดดอยู่กลางทุ่งนา สูงจากพื้นที่โดยรอบ ประมาณ ๔๐ เมตร ชาวบ้านเรียกว่าปู่จ่า ด้านใต้ของเขาปู่จ่า มีเทือกเขาหลวงและภูเขาเล็ก ๆ รายล้อมอยู่
           ปรางค์ก่ออิฐปู่จ่า เป็นปรางค์ก่ออิฐองค์แรกและเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสุโขทัย พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญ มีลักษณะศิลปะร่วมกับศิลปเขมร องค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐที่มีส่วนผสมทรายค่อนข้างมาก แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างประมาณ ๖ เมตร ด้านหน้าคล้ายมีมุขยื่นออกมาประมาณ ๔ เมตร องค์ปรางค์สูงประมาณ ๑๐ เมตร มีประตูหลอกทั้งสามด้าน ผนังพังทลายไปสองด้าน วิธีการก่ออิฐใช้การขัดอิฐให้เรียบ และก่อชิดกันโดยก่อสอบเข้าหากันทั้งสี่ด้านไปบรรจบกันที่ยอด ระหว่างผนังอิฐใช้คานไม้ยึดผนังองค์ปรางค์ทั้งสี่ด้าน คล้ายกับปรางค์ก่ออิฐที่พบในภาคอิสานทั่วไป
           หลักฐานสำคัญที่สำรวจพบคือ ฐานประติมากรรมที่มีรางน้ำให้น้ำสรงไหลออก นอกจากนี้ยังมีศีรษะบุคคลทำจากหินทราย แสดงว่าเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวะนิกาย สันนิษฐานว่า สร้างไว้เป็นที่ทำพิธีทางศาสนาของคนเดินทาง ก่อนจะขึ้นไปบนยอดเขาหลวง ซึ่งก็จะพบโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ เช่นเดียวกันนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้พบเทวรูปพระนารายณ์ และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในถ้ำพระนารายณ์ซึ่งอยู่บนเขาหลวง
    แหล่งโบราณคดีวัดชมชื่น

           แหล่งโบราณคดี ฯ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย ในพื้นที่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชลียงเก่า ก่อนที่จะมาเป็นเมืองศรีสัชนาลัยในสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่ระหว่างวัดเจ้าจันทร์ กับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง มีหลักฐานทางสถาปัตยกรรมที่มีความเก่าแก่ก่อนสุโขทัย
           จากการขุดค้นที่เริ่ม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ ทั้งหมด ๑๐ หลุม ได้พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ในบริเวณนี้สืบเนื่องกันมา ตั้งแต่ประมาณช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จนเมืองนี้ถูกทิ้งร้างไปในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
           ชั้นวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย พบเฉพาะในหลุมที่ ๑ อยู่ลึกจากผิวดิน ประมาณ ๖.๕๐ - ๗.๘๐ เมตรจากผิวดิน พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ มีเม็ดทรายมาก เนื้อไม่หนานัก ขึ้นรูปด้วยมือ ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ เผาด้วยความร้อนต่ำ
           ชั้นวัฒนธรรมสมัยทวาราวดี อยู่ที่ระดับความลึก ๔.๐๐ - ๕.๕๐ เมตร จากผิวดินพบในหลุมที่ ๑ เป็นโครงกระดูกมนุษย์ ๑๕ โครง อยู่ในสภาพเปื่อยยุ่ย โครงกระดูกทั้งหมดหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก แต่ไม่ตรงทีเดียว มีหันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือบ้าง ทิศตะวันตกเฉียงใต้บ้าง เป็นโครงกระดูกของเด็ก อายุประมาณ ๕ - ๖ ขวบ จนถึงผู้ใหญ่ อายุประมาณ ๓๐ - ๓๕ ปี มีทั้งหญิง และชาย อยู่ในท่านอนหงาย นอนตะแคง นอนคุดคู้ และนอนคว่ำ ส่วนใหญ่มีการมัดที่ข้อเท้าและหัวเข่า
           โบราณวัตถุที่ฝังร่วมกับโครงกระดูก มีเครื่องประดับลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว รวมทั้งเครื่องมือเหล็ก นอกจากนั้นยังมีชิ้นส่วนตุ๊กตา และรูปวัว
           ชั้นวัฒนธรรมสมัยลพบุรีต้นสุโขทัย  อยู่ที่ระดับความลึก ๓-๔ เมตรจากผิวดินพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อไม่แกร่ง มีลักษณะเนื้อดินเหมือนชั้นวัฒนธรรมที่แล้ว พบในปริมาณมากขึ้น และมีเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง และพวกเครื่องเคลือบเพิ่มเข้ามา นอกจากนั้นยังพบซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐที่ยังคงสภาพอยู่สองแห่ง และซากอิฐซึ่งเป็นองค์ประกอบของโบราณสถานอีกหลายแห่ง
           ชั้นวัฒนธรรมสุโขทัย - อยุธยา  อยู่ที่ระดับความลึก ๑.๒๐ - ๓.๐๐ เมตร จากผิวดิน พบโบราณวัตถุอยู่หนาแน่นมีทั้งเศษภาชนะดินเผา กระเบื้องมุงหลังคา เหล็ก สำริด และเศษปูน ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งพบมากขึ้น รูปทรงและลวดลายมักเลียนแบบเนื้อไม่แกร่ง แต่มีรูปทรงใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ภาชนะประเภทเครื่องเคลือบ เช่นถ้วยเชลียง เครื่องถ้วยประเภทเคลือบขาวเคลือบเขียวของจีน และเริ่มพบเครื่องถ้วยสังคโลก ของศรีสัชนาลัย ทั้งประเภทเคลือบเขียว และเขียนลายดำใต้เคลือบ
           ชั้นวัฒนธรรมสมัยอยุธยา - รัตนโกสินทร์  อยู่ตั้งแต่ระดับผิวดินถึงความลึก ประมาณ ๑.๒๐ เมตร ชั้นดินเป็นดินร่วนปนทรายแป้ง โบราณวัตถุที่พบไม่หนาแน่น พบเศษเครื่องถ้วยสังคโลก และเศษเครื่องถ้วยจันสมัยราชวงศ์หมิง
           หลักฐานทางโบราณคดีบริเวณวัดชมชื่น เป็นหลักฐานชุมชนในพื้นที่เมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเคยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย และใกล้เคียง เนื่องจากเคยมีการค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่ง เช่น ที่เขาเขน เขากา อำเภอศรีนคร บ้านท่าชัย บ้านวังสำโรง อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอบ้านด่านลานหอย และอำเภอศรีสำโรง เป็นต้น ชุมชนโบราณได้พัฒนาจนกระทั่งมาเป็นชุมชนเมืองเชลียง ศรีสัชนาลัย เชียงชื่น และสวรรคโลก
    พระแม่ย่า

           พระแม่ย่าเป็นเทวรูป เดิมประดิษฐานอยู่ที่ถ้ำแม่ย่า ซึ่งเป็นเพิงชะโงกเงื้อมออกมาทางใต้ประมาณ ๓ เมตรเศษ พระแม่ย่าหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ตามเงื้อมเขา ด้านหลังเงื้อมผาเป็นถ้ำตื้น ๆ
           องค์เทวรูปสลักด้วยหินชนวนเป็นรูปสตรีวัยสาว มีเครื่องประดับอย่างสตรีโบราณผู้สูงศักดิ์ อยู่ในอิริยาบถยืนตรง แขนทั้งสองแนบกาย นุ่งผ้าปล่อยชายไหวเป็นเชิงขึ้นทั้งสองข้างแบบศิลปะการนุ่งผ้าของสตรีสมัยสุโขทัย ไม่ทรงเสื้อหรือสไบ ทรงพาหุรัด ทองพระกร ที่ข้อพระหัตถ์ และข้อพระบาทเป็นกำไลวงกลม พระหัตถ์รูปไข่ พระโอษฐ์แย้มยิ้มน้อย ๆ ทรงมงกุฏเป็นแบบชฎาทรงสูง ฉลองพระบาทปลายงอน ความสูงรวมแท่นหิน ๕๑ นิ้ว ความสูงไม่รวมแท่นหิน ๔๙ นิ้ว จำหลักจากศิลาแท่งเดียวกันตลอด
           ตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงกล่าวว่า  "...เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยมีกุฎี พิหาร ปู่ครู มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว มีป่าลาง มีป่าม่วง มีป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขะพุงผี เทพยดาในเขา อันนั้นเป็นใหญ่กว่าผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ว ไหว้ดี พลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผีไหว้ บดีพลีบ่ถูก ผีในเขา อันบ่คุ้มเกรง เมืองนี้หาย..."
           คำว่าขะพุงผีมีการนำมาตัดความเกี่ยวพันกับพระแม่ย่า ลงความเห็นว่าพระแม่ย่าเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญของสุโขทัย เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนโดยทั่วไป ปัจจุบันศาลพระแม่ย่าได้จัดสร้างขึ้นใหม่เริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๓๗ เสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ จังหวัดสุโขทัยได้จัดให้งานพระแม่ย่าเป็นงานประจำปีของจังหวัดในเดือนกุมภาพันธ์ ชาวสุโขทัยเชื่อว่าพระแม่ย่าเป็นรูปนางเสือง พระราชมารดาพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมัยนั้นถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นพ่อเมือง จึงเรียกเทวรูปนี้ว่า พระแม่ย่า
           ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงออกค้นหาพระขะพุงผีเทวดาที่บริเวณเบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยตามที่ศิลาจารึกบ่งไว้ และทรงพบเทวรูปสตรีสลักด้วยแท่งศิลาอยู่ในถ้ำที่ภูเขาแห่งหนึ่ง ห่างจากสุโขทัยเมืองเก่าไปทางใต้ประมาณ ๗ กิโลเมตร จึงทรงพระวินิจฉัยว่าเทวรูปหินนี้น่าจะเป็นพระขะพุงผี ผู้รักษาเมืองสุโขทัย
           ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ พระยารามราชภักดี (ใหญ่ ศรลัมภ์) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยได้อัญเชิญเทวรูปพระแม่ย่ามาไว้ที่ศาลากลางจังหวัด ที่พิพิธภัณฑ์ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย และได้เคยย้ายไปประดิษฐานที่ศาลากลางจังหวัดสวรรคโลกระหว่างปี พ.ศ.๒๔๗๕ - ๒๔๘๒ แล้วอัญเชิญกลับมาที่จังหวัดสุโขทัยตามเดิม และได้สร้างเทวลัยที่ริมแม่น้ำยมฝั่งตะวันออก ตรงหน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย เรียกว่า ศาลพระแม่ย่า ประดิษฐานเทวรูปพระแม่ย่าตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๖ พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

           พระบรมราชานุสาวรีย์  เปิดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ลักษณะพระบรมรูปทรงนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่นมนังคศิลาบาตรขนาดพระแท่นเท่าของจริงคือ กว้าง ๒.๘๘ เมตร ยาว ๗.๐๐ เมตร พระหัตถ์ขวาทรงถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน พระแท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ไว้ข้าง ๆ ขนาดพระบรมรูปเป็นสองเท่าของพระองค์จริง เฉพาะพระองค์สูง ๓ เมตร หล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมควัน ขนาดน้ำหนักประมาณ ๓ ตัน ลักษณะพระพักตร์อย่างพระพุทธรูปศิลปสุโขทัย มีแผ่นจำหลักจารึกเหตุการณ์ในสมัยหกแผ่น สี่แผ่นแรกติดตั้งที่บริเวณฐาน อีกสองแผ่นติดตั้งไว้หลังพระบรมรูป มีข้อความดังนี้
            แผ่นที่หนึ่ง  ภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงช้างเผือกชื่อจุราศรี เสด็จไปทรงนมัสการพระอัฏฐารสวัดตะพานหิน ในวันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ มีคำจารึกใต้ภาพ อธิบายเหตุการณ์ตอนนี้
            แผ่นที่สอง  ภาพจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย มีคำจารึกใต้ภาพว่า จูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขายใครใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า
            แผ่นที่สาม  ภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราชชนช้างกับขุนสามชน พร้อมคำจารึก
            แผ่นที่สี่  ภาพชาวสุโขทัยบำเพ็ญศีลทานการกุศล พร้อมคำจารึก
           ภาพจำหลักฐานข้างพระบรมรูปมีอีกสองแผ่นคือ
            แผ่นที่หนึ่ง  ภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดประดิษฐ์ต้นแบบอักษรไทย จารึกบนแผ่นศิลา
            แผ่นที่สอง  ภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงรับเรื่องราวร้องทุกข์ของราษฎร
           พระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง ทิศเหนือติดต่อกับบริเวณวัดตระกวน ซึ่งเป็นวัดร้างทิศตะวันออกติดต่อกับวัดใหม่ ซึ่งเป็นวัดร้าง ทิศตะวันตกติดต่อกับตระพังตระกวน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |