| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

วัดเวียง
            วัดเวียง  อยู่ในเขตตำบลบ้านลาด อำเภอไชยา ในเมืองโบราณไชยา ซึ่งเป็นเมืองเก่าตั้งอยู่บนแนวสันทรายขนาดใหญ่ ยาวประมาณ ๓,๐๐๐ เมตร กว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร บริเวณกลางเมืองมีศาสนสถานขนาดใหญ่เรียงรายอยู่ในระยะห่างเท่า ๆ กัน ได้แก่ วัดเวียง วัดหลงและวัดแก้ว ตามลำดับ
            บริเวณที่ตั้งวัดเวียงเชื่อกันว่า น่าจะเป็นศูนย์กลางของเมือง หรือเป็นวังที่ประทับของกษัตริย์ศรีวิชัย โดยมีวัดเวียงเป็นวัดประจำเมือง ในวัดเวียงมีโบราณวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธรูปปางนาคปรกสำริดปางมารวิชัยซึ่งมีจารึกที่ฐาน และพระพุทธรูปศิลาทรายแดงศิลปะสมัยอยุธยา

            พระพุทธรูปนาคปรกสำริด  สูง ๑๖๐ เซนติเมตร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘  ลักษณะทั่วไปคล้ายพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะเขมร แต่มีลักษณะท้องถิ่นอยู่มาก พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัย ต่างกับพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะเขมรที่มักแสดงปางสมาธิ   พระวรกายผอม พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระขนงโค้งติดต่อกัน พระเนตรเหลือบมองลงต่ำ พระโอษฐ์หนาอมยิ้ม เม็ดพระศกเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ อุษณียะทรงกลมเรียบมีใบโพธิ์อยู่ด้านหน้า ประทับบนฐานบัวประดับด้วยลายประจำยามทางด้านหน้าและด้านข้าง อยู่บนขนดนาคสามชั้น นาคมีเจ็ดเศียร ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกอักษรขอม เป็นภาษาเขมร ระบุปี พ.ศ.๑๗๒๖ กล่าวถึงกษัตริย์พระนามว่า กมรเตงอัญมหาราช ฯ มีพระบรมราชโองการให้มหาเสนาบดีคลาไน เจ้าเมืองครหิ สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นมา
            พระพุทธรูปศิลาทรายแดง  เดิมประดิษฐานอยู่บนวิหาร มีทั้งหมดเจ็ดองค์ด้วยกัน ศิลปะช่างสมัยอยุธยา สกุลช่างไชยา
วัดหลง

                    วัดหลง อยู่ในเมืองโบราณไชยา ระหว่างวัดเวียงกับวัดแก้ว เป็นวัดร้างมีซากอาคารขนาดใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง เหลืออยู่เพียงส่วนฐานเป็นฐานอาคารที่มีรูปแบบแผนผังทรงกากบาท คล้ายคลึงกับโบราณสถานที่วัดแก้ว สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ศาสนสถานแห่งนี้ถูกสร้างทับอีกครั้งเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๒๒
                    ชื่อวัดหลงเข้าใจว่า น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่าวัดหลวง รูปแบบศิลปกรรมอาคารศาสนสถาน มีผังอยู่ในรูปกากบาท มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน โครงสร้างก่ออิฐไม่สอปูน มีขนาดใหญ่กว่าวัดแก้ว เป็นอาคารจตุรมุข มุขด้านทิศตะวันออกมีช่องทางเดินเข้าสู่ห้องโถงกลางภายในอาคาร ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงรองรับฐานบัวลูกแก้วสองชั้น ส่วนบนของฐานบัวลูกแก้วชั้นแรกมีลักษณะเป็นฐานไพที หรือฐานทักษิณ สามารถเดินรอบองค์เรือนธาตุได้ ฐานบัวลูกแก้วชั้นบนมีลักษณะเป็นบัวตีนธาตุ (เป็นส่วนล่างของผนังอาคารเรือนธาตุ) ส่วนนี้เป็นอาคารดั้งเดิมที่มีมาก่อน สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕  ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอาคารใหม่ มีการนำดินทรายมาถมบนฐานรากของศาสนสถานเดิม แล้วก่อกำแพงสี่เหลี่ยมเป็นกรอบล้อมรอบฐานอาคารไว้ทั้งหมด กลบทับฐานบัวลูกแก้วชั้นล่าง กลายเป็นลานทักษิณขนาดใหญ่ และได้ก่อสร้างศาสนสถานใหม่เพิ่มเติมเข้าไปในส่วนบนสุด
                    ศาสนสถานยุคหลังน่าจะสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๒๑ ได้พบพระพิมพ์ดินดิบ อิทธิผลศิลปะทวาราวดี และขอมปนกัน ลักษณะเป็นแผ่นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีพระพุทธรูป ๑๐ องค์ ประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว องค์ประธานประทับยืนในปางแสดงธรรม ทั้งสองข้างพระประธานมีพระสาวกยืนประนมมือ ด้านข้างถัดมาเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งอีก ๒ องค์ แถวล่างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ๕ องค์ ประทับในซุ้มเรือนแก้ว
                    พบพระพิมพ์ดินดิบปางสมาธิและสถูปดินดิบอยู่ที่พื้นตอนล่างข้างตัวอาคารศาสนสถาน ลักษณะรูปแบบศิลปะศรีวิชัย
วัดแก้วหรือวัดรัตนาราม

            วัดแก้วตั้งอยู่ในเมืองโบราณไชยา เป็นวัดโบราณคู่กับวัดหลง โบราณสถานที่สำคัญได้แก่ เจดีย์หรือปราสาทก่ออิฐไม่สอปูน สถาปัตยกรรมศิลปะศรีวิชัย ซึ่งยังเหลืออยู่ครึ่งองค์ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นโบราณสถานที่เก่าที่สุดที่พบในเมืองไชยา ศาสนสถานแห่งนี้เป็นประโยชน์แก่การศึกษา ค้นคว้าทางสถาปัตยกรรม ในสมัยศรีวิชัยมาก โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่

            เจดีย์  เป็นเจดีย์ทรงปราสาท โครงสร้างก่ออิฐไม่สอปูน แผนผังเป็นรูปกากบาท ประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยม กึ่งกลางฐานเขียงค่อนไปทางด้านบนเว้นเป็นร่อง และก่ออิฐ เว้นช่อง มีบันไดทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก องค์เรือนธาตุเป็นอาคารจตุรมุข ระหว่างมุขของมุขต่อด้วยมุขของเรือนธาตุ ออกเก็จเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งมุม บัวตีนธาตุเป็นบัวลูกแก้ว
            จากลักษณะแผนผังรูปกากบาท ประกอบด้วยเรือนธาตุและมุขทั้งสี่ด้าน ลักษณะคล้ายกับจันทิกาละสันในศิลปชวาภาคกลาง อายุจากจารึกที่พบคือ พ.ศ.๑๓๒๑ แต่ลักษณะการตกแต่งภายนอกและรูปทรงของอาคาร มีความคล้ายคลึงกับปราสาทในศิลปะจาม ซึ่งมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ อาจกล่าวได้ว่า โบราณสถานวัดแก้ว เป็นสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของไชยาเอง ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปกรรมจากอินเดียและเพื่อนบ้าน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕

            พระพุทธเจ้าอักโษรายะ  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำด้วยศิลาทรายสีแดง พระเศียรชำรุดหักหายไป พบที่เจดีย์วัดแก้ว ในซุ้มที่ผนังด้านทิศใต้ ของมุขด้านตะวันออก เป็นพระธยานิพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ในจำนวน ๕ องค์ของพระพุทธศาสนาลัทธิวัชรยาน ประทับอยู่ทางเบื้องทิศตะวันออก ที่ฐานพระพุทธรูปสลักเป็นรูปสิงห์ ด้านข้างฐานเท้าสัตว์ และที่เบื้องหน้าของฐานมีวัชระประดับอยู่
            งานศิลปกรรมชิ้นนี้เป็นแบบศิลปะจาม มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕
            พระพุทธรูปที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูปศิลาปางแสดงธรรม อยู่ในสภาพชำรุด พระเศียรและพระกรทั้งสองข้าง ขาดหายไปและปลายพระบาทขาด ทรงจีวรห่อคลุมบางแนบพระวรกาย ชายจีวรด้านหน้าหลังลงมาเป็นวงโค้ง ข้อพระกรทั้งสองข้างยกขึ้นเสมอกัน น่าจะทำปางแสดงธรรม อิทธิพลศิลปะทวารวดี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ส่วนพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ ได้แก่ พระพุทธรูปหินทรายแดง ศิลปะอยุธยา สกุลช่างไชยา
วัดจำปา
            จัดจำปา  ตั้งอยู่ที่บ้านหัวนอน ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จาการเล่าสืบกันมาได้ความว่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีมาแล้ว โดยได้ไปเอาศิลาจากเขาโพมา ทำเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ๒๑ องค์ พระอรหันต์ ๙ องค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๙ แล้วลงรักปิดทอง นำไปไว้ที่ถ้ำศิลาเตียบ
            วัดจำปา เป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองกว่าวัดอื่น ๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ อาคารโบราณสถานที่สำคัญคือ วิหาร ซึ่งเป็นอาคารโครงไม้ทั้งหมด ยกเว้นผนังและฐานก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๕ เมตร หลังคาซ้อนกันเป็นสามชั้น มุมด้วยกระเบื้องกาบกล้วย เชิงชายเป็นรูปกนกลายไทย ลายดอกไม้และเทพพนม หน้าบันทำยื่นเป็นมุขประเจิดทั้งด้านหน้า และด้านหลังแกะสลักลายไม้เป็นลวดลายก้านขดหางโต และลายพุ่มข้าวบิณฑ์สวยงาม ตัววิหารสร้างด้วยไม้ล้วนไม่มีข้างฝา บานประตูแกะสลักไม้รูปเทวดายืนอยู่ในซุ้ม มีรูปยักษ์แบกอยู่ด้านล่างภายในวิหาร มีพระพุทธรูปหินทรายสีแดงขนาดต่าง ๆ กว่า ๑๐ องค์
วัดป่าลิไลยก์

            วัดป่าลิไลยก์  ตั้งอยู่ในเขตตำบลทุ่ง อำเภอไชยา ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขั้นเมื่อใด พิจารณาจากรูปแบบจากศิลปกรรมของใบพัทธสีมาหินทรายแดงแกะสลัก สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นวัดในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ ใบเสมาหินทรายแกะสลักลวดลายนูนสูง จำนวน ๘ ใบ ขนาดสูงประมาณ ๗๕ เซนติเมตร กว้าง ๓๗ เซนติเมตร หนา ๑๒.๕๐ เซนติเมตร ตั้งอยู่บนฐานเสมาก่ออิฐถือปูน ลักษณะเป็นฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง เหนือฐานสิงห์ทำเป็นฐานบัวจงกล หรือบัวแวง รองรับใบเสมา เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร ส่วนใบเสมาแกะสลักเป็นรูปดอกไม้เทศคล้ายดอกพุดตาน รูปใบไม้และดอกไม้สีกลีบ หรือลายประจำยาม ตามร่องประดับกระจกสีต่าง ๆ บางแผ่นสลักรูปสัตว์ สอดแทรกอยู่ภายในลายดอกไม้ เช่น รูปลิง ลักษณะการแกะสลักแสดงถึงฝีมือช่างชั้นสูง รายละเอียดของดอกไม้ดูลายเด่น ชูช่อ มีชีวิตจิตใจ รูปแบบของศิลปกรรมน่าจะเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คล้ายกับลวดลายปูนปั้นสายพันธุ์พฤกษา ที่นิยมปั้นประดับอุโบสถ ในสมัยรัตนโกสิทรตอนต้น ส่วนอุโบสถเดิมเป็นไม้ ต่อมาได้รับการปฎิสังขรณ์เป็นอาคารก่ออิฐ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ๔ องค์ อยู่บนฐานชุกชี พระพุทธรูปทั้งหมดถูกซ่อมแซมจนไม่ทราบเค้าเดิม
วัดสมุหนิมิต

            วัดสมุหนิมิตชาวบ้านเรียกว่า วัดล่าง อยู่ในตำบลพุมเรียง อำภอไชยา เป็นวัดใหญ่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ตามข้อความในศิลาจารึกที่ฝังไว้กับผนังในอุโบสถมีความว่า วัดสมุหนิมิต เดิมชื่อวัดรอ เจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีว่าที่กรมท่าพระกลาโหม ซึ่งเป็นต้นตระกูลของพระอภิรมยสินารักษ์ บุนนาค ออกมาสักเลกหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๒ เห็นวัดรอรกร้างจึงได้สร้างขึ้นใหม่ และสร้างเสร็จภายในเวลาเพียง ๔ เดือน ขนานนามใหม่ว่า วัดสมุหนิมิต
            โบราณสถานที่สำคัญคือ อุโบสถ เป็นอุโบสถก่ออิฐถือปูนศิลปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านหน้ามีบันไดขึ้นสองทาง ฐานอุโบสถมีลักษณะเป็นฐานไพที เดินรอบได้ มีเสาเหลี่ยมเรียงรายอุโบสถ รองรับปีกนกหลังคา หน้าบันตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกกไม้ประดับกระจกสี หน้าต่างและบานประตูเขียนลายลงรักปิดทองสวยงาม

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |