| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

            วัดถ้ำคูหา  ถ้ำคูหาเป็นถ้ำบนเขาหินปูนลูกโดดขนาดเล็ก อยู่ที่บ้านคูหา ตำบลช้างขวา อำเภอกาญจนดิษฐ์ ชาวบ้านเรียกว่าเขาคูหา ตัวถ้ำและวัดอยู่ทางด้านทิศเหนือของภูเขา ถ้ำยาวประมาณ ๑๗ เมตร กว้างประมาณ ๘ เมตร ปากถ้ำหันไปทางด้านทิศตะวันออก ภายในถ้ำเปรียบเหมือนวิหาร ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของวัดสืบมาหลายยุคสมัย มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ ลงรักปิดทอง และพุทธรูปปางมารวิชัย และปางสมาธิประดิษฐานเรียงรายเป็นแถวชิดผนังถ้ำ

                -  พระพุทธรูปดินดิบ  เป็นพระพุทธรูปดินปั้นนูนสูง ประกอบด้วยภาพพระพุทธเจ้า และภาพเล่าเรื่องตามคัมภีร์สีหธรรมปุณฑริกสูตร ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ปั้นปะติดผนังและเพดานถ้ำ
                -  พระพุทธรูป  ได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้นและพระพุทธรูปหินทราย โดยมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ลงรักปิดทองยาวประมาณ ๘ เมตร ประดิษฐานไว้สุดผนัง ด้านในตรงข้ามปากทางเข้าถ้ำ พระพุทธรูปปางมารวิชัยและปางสมาธิประดิษฐานเรียงรายเป็นแถวชิดผนังถ้ำด้านทิศเหนือและทิศใต้ รวม ๕๑ องค์ มีเค้าศิลปสมัยอยุธยาที่ริมผนังถ้ำด้านเหนือมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ๓ องค์ ผิวภายนอกเป็นปูนฉาบ เหนือพระเศียรพระพุทธรูปทั้งสามองค์ เป็นปูนปั้นรูปซุ้มติดผนังถ้ำ

                -  ปูนปั้นรูปซุ้มพญานาคและพระพุทธรูปปางนาคปรก  อยู่เหนือเศียรพระพุทธรูปทั้งสามองค์ ทางด้านทิศเหนือทำเป็นรูปซุ้มพระสามซุ้ม ที่ปลายซุ้มเชื่อมต่อกันทำเป็นรูปพญานาคเจ็ดเศียร ตอนกลางทำเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์เล็ก ทำให้ดูเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก
            วัดเขาพระนิ่ม  วัดเขาพระนิ่มตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ ชื่อเขาพระนิ่มซึ่งเป็นเขาหินปูนขนาดเล็ก อยู่ใกล้ปากน้ำท่าทอง ปากถ้ำกว้างประมาณ ๖ เมตร หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก ภายในถ้ำมีลักษณะเป็นคูหา มีสองคูหาอยู่ชิดกัน

                -  คูหาแรก อยู่ทางด้านหน้าของปากถ้ำ ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์อยู่ริมผนังด้านซ้าย ยาวประมาณ ๖ เมตร หันพระเศียรไปทางด้านทิศตะวันตก พุทธศิลป์เป็นฝีมือช่างท้องถิ่น ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวถึงพระชานุ ตรงกลางคูหาชิดผนัง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ มีช้างและสิงห์หมอบอยู่เบี้องหน้า ด้านขวาของคูหา ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยบนฐานชุกชี ซึ่งทำเป็นฐานสิงห์ ส่วนบัวหงายทำเป็นรูปบัวจงกล ประดับตกแต่งด้วยกระจกสี  ระหว่างคูหาแรกกับคูหาที่สอง ตรงกลางถ้ำมีเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็ก ฐานชั้นล่างเป็นฐานสิงห์ กลางท้องไม้เจาะซุ้มองค์ระฆังขนาดเล็กรองรับปลียอด เป็นศิลปกรรมท้องถิ่นสมัยรัตนโกสินทร์
                -  คูหาที่สอง ที่สุดผนังถ้ำ ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศใต้ ยาวประมาณ ๗ เมตร ครองจีวรห่มเฉียงชายสังฆาฏิยาวถึงพระชานุ ลักษณะคล้ายพระพุทธไสยาสน์ที่คูหาแรก ฝั่งตรงข้ามมีพระพุทธไสยาสน์ มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยอยู่ ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ประทับบนฐานชุกชีทำเป็นฐานสิงห์ ส่วนบัวหงายเป็นรูปบัวจงกล ด้านหน้าห้อยผ้าทิพย์ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
            เขาประสงค์และวัดถ้ำใหญ่  เขาประสงค์เป็นเขาหินปูนเทือกใหญ่ อยู่ในเขตตำบลวัง อำเภอท่าชนะ ยาวประมาณ ๕ กิโลเมตรเศษ ส่วนกว้างที่สุดกว้างประมาณ ๑ กิโลเมตร มีถ้ำอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๐๐ เมตร กว้างประมาณ ๒๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๐ เมตร เพดานถ้ำมีแสงสว่างลอดเข้ามาภายในถ้ำ ทำให้สว่างพอสมควร ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูป สันนิษฐานว่า ใช้เป็นพุทธสถานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มาจนถึงสมัยปัจจุบัน

                -  พระพุทธไสยาสน์ทรงเครื่อง  ประดิษฐานอยู่ริมสุดผนังด้านทิศตะวันตกของถ้ำ ยาวประมาณ ๘ เมตร ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง หันพระเศียรไปทางทิศใต้ พระพักตร์ยาว สวมเทริด ทรงเครื่องประดับลวดลาย ติดกระจกสี สวมกรองศอ ทับทรวง กำไลข้อพระกร กำไลต้นแขน กำไลข้อพระบาท รัดประคดและจีบหน้านาง ตกแต่งลวดลายประดับกระจกสี รูปแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย พระพุทธไสยาสน์ทรงเครื่องนับว่ามีอยู่น้อยองค์นัก องค์นี้นับว่างดงามที่สุดที่เคยพบในภาคใต้
                -  พระอันดับ  เป็นพระพุทธรูปจำนวน ๑๔ องค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับอยู่บนแท่นก่ออิฐถือปูนสองแท่นเรียงกัน
เป็นแถวหน้ากระดานอยู่ริมผนังถ้ำด้านทิศใต้ คูหาเดียวกับพระพุทธไสยาสน์ทรงเครื่อง แท่นแรกมีหกองค์ แท่นที่สองมี ๘ องค์ ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

                -  พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่สามองค์ หน้าตักกว้างประมาณ ๒ เมตร ครองจีวรห่มเฉียงประดิษฐานอยู่ที่ปากถ้ำ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |