| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

    การทำมาหากิน

            การฝึกลิงกังเพื่อการเกษตร  ชาวภาคใต้นิยมนำลิงกังมาฝึกให้ขึ้นเก็บมะพร้าว แทนการใช้คนมาแต่อดีต มีขั้นตอนการฝึกจากโรงเรียนฝึกลิง ที่ตำบลทุ่งทอง อำเภอเมือง ฯ มีดังนี้
                -  ฝึกให้ลิงปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ผ่อนคลายความตื่นกลัว โดยการให้ผลไม้และหญ้า ใช้เวลาประมาณ ๑๕ วัน
                -  ฝึกลิงให้เชื่อง โดยผูกลิงไว้ระหว่างลิงที่เชื่องแล้ว เพื่อให้ลิงใหม่ค่อย ๆ สงบลง ตามอากัปกิริยาของลิงที่เชื่องแล้ว
                -  เมื่อลิงเชื่องแล้วจะนำมาฝึกให้หมุนลูกมะพร้าวที่ใช่เหล็กเสียบกลาง วางอยู่ในกล่องที่เปิดสามด้านคือ ด้านบน ด้านล่าง และด้านหน้า โดยผู้ฝึกจะสาธิตให้ดูก่อนครั้งละ ๓๐ นาที เช้า - เย็น ใช้เวลาประมาณ ๔๕ วัน

                -  จับลิงมาให้หมุนมะพร้าวจากเครื่องมือที่ผู้ฝึกเคยสาธิต ระยะแรกลิงจะขัดขืนไม่ยอมแบมือ ผู้ฝึกจะจับแบมือให้ และจับให้หมุนมะพร้าวด้วยมือข้างเดียวไปก่อน และค่อย ๆ ฝึกไปจนให้ลิงหมุนทั้งสองมือโดยแบมือได้เอง ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน
                -  ฝึกให้ลิงปลิดมะพร้าวโดยเฉพาะเปลือกมะพร้าว ออกมาเป็นสายหิ้วชูขึ้นแล้วผู้ฝึกอุ้มลิงให้หมุนจนสายหิ้วขาดตกลงบนพื้น ใช้เวลาฝึกประมาณหนึ่งเดือน ลิงจะหมุนมะพร้าวได้เองโดยไม่ต้องอุ้ม
                -  เฉาะเปลือกมะพร้าวทำเป็นสายผูกแขวนบนราวได้หลาย ๆ ลูก ลูกสุดท้ายผูกไว้ที่ต้นมะพร้าว ให้ลิงปลิดมะพร้าวที่ราวจนหมด แล้วกระโดดไปปลิดลูกที่ผูกไว้กับต้นมะพร้าว เพื่อนำไปสู่การให้ลิงปีนขึ้นปลิดมะพร้าวบนต้น และฝึกการกระโดดจากต้นมะพร้าวต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง
            การฝึกให้ลิงรู้จักปลิดมะพร้าวตามที่ต้องการ จะฝึกให้รู้จักฟังเสียงน้ำมะพร้าว และสังเกตสีของเปลือกมะพร้าว ตั้งแต่ขั้นตอนที่เริ่มฝึกให้หมุนมะพร้าว ลิงจะสามารถจำแนกมะพร้าวที่ต้องการและไม่ต้องการได้

            การเลี้ยงหอยนางรม  หอยนางรมมีอยู่สองพันธุ์ พันธุ์ตัวเล็กเรียกว่า หอยเจาะ หรือหอยปากจีบ พันธุ์ใหญ่เรียกว่า หอยตะโกรม ลักษณะเป็นหอยสองฝา มีอยู่ทั่วไปตามบริเวณน้ำตื้นชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำลำคลอง ทั้งในแถบอบอุ่นและแถบร้อน
            บริเวณที่พัฒนามาเป็นแหล่งเลี้ยงหอยนางรมที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดสุราษฎรธานีคือ บริเวณอ่าวที่ตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ ชาวท่าทองได้ริเริ่มเลี้ยง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ โดยเก็บลูกหอยในคลองท่าทองไปปล่อยให้เกาะติดกับหลักไม้บริเวณที่เป็นโคลนเลน มีน้ำท่วมไม่ลึกนัก
            หอยนางรมจะวางไข่ตลอดปี แต่จะพบมากระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน จากการศึกษาพบว่าหอยนางรมวางไข่ครั้งหนึ่งประมาณ ๑ - ๙ ล้านฟอง ลูกหอยนางรมจะลอยไปตามกระแสน้ำเพื่อหาที่ยึดเกาะ เมื่อเลือกที่เกาะได้เหมาะสมแล้วก็จะเกาะติดแน่นไม่เคลื่อนย้ายไปไหนอีกเลย จนอายุได้ ๙ เดือน จึงเริ่มถูกแกะออกขาย ตัวที่เหลืออยู่ก็เริ่มวางไข่ หอยนางรมมีอายุอยู่ประมาณ ๑๐ - ๑๕ ปี
            การทำฟาร์มหอยนางรม ใช้ไม้ไผ่หรือหลักปูนซีเมนต์ ขนาดยาว ๑ - ๑.๕ เมตร ปักในบริเวณที่เป็นโคลนเลน ระดับน้ำไม่สูงนัก และเป็นบริเวณที่น้ำแห้ง หรือเกือบแห้งในช่วงน้ำลด ปกติจะต่ำกว่าระดับน้ำตอนสูงขึ้นประมาณ ๐.๕ เมตร การปักหลักถ้าใช้ลำไม้ไผ่จะต้องปักให้ชิดกันเป็นแนวยาวเท่าใดก็ได้ ถ้าใช้หลักปูนซิเมนต์จะต้องมีช่องระหว่างหลักพอที่ตัวหอยจะเกาะและเจริญเติบโตได้โดยรอบหลัก ในระหว่างแถวจะต้องเว้นพื้นที่ไว้ประมาณ ๑.๕๐ เมตร เพื่อใช้เป็นทางไปเก็บหอย
            เวลาที่เหมาะในการปักหลักในบริเวณอ่าวท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ คือ ช่วงที่น้ำทะเลลดลงจนเกือบแห้งทั่วบริเวณอ่าวคือระหว่างเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม
            หอยนางรมที่มีอายุไม่เกินสามเดือน จะมีศัตรูทั้งจากภัยธรรมชาติและสัตว์อื่นรังแก ภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดคือ บรรดาโคลนตมที่ไหลไปติดหลักทำให้ลูกหอยตาย หรือทำให้ลูกหอยไม่สามารถเกาะติดหลักได้ จึงต้องปักหลักเป็นแนวยาวไปตามกระแสน้ำ ส่วนศัตรูที่เป็นสัตว์ด้วยกันได้แก่ หอยกะพงและปู เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุด แต่หลังจากลูกหอยมีอายุเกินสามเดือนไปแล้ว ศัตรูเหล่านี้จะไม่สามารถทำอันตรายหอยนางรมได้ เพราะมันจะมีเปลือกหุ้มเนื้ออย่างแข็งแรง

            ลายผ้าทอพุมเรียง  ลายผ้าทอพุมเรียงเป็นภูมิปัญญาของชาวพุมเรียงคือลายราชวัตร ลายดอกพิกุล ลานนพเก้า ลายก้านต่อดอก ลายผ้ายกเชิงครุฑ และลายยกเป็ด ห้าลายแรกยังทอจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ส่วนลายยกเป็ดเป็นลายโบราณ ที่ปัจจุบันหาดูได้ยาก เพราะขาดการสืบทอด

            การทำไข่เค็มไชยา  การทำไข่เค็มของชาวไชยาที่ทำให้ได้ไข่เค็มที่มีสีสวย รสดี เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับชาวไชยาอย่างกว้างขวาง การผลิตไข่เค็มดังกล่าว เริ่มขบวนการตั้งแต่การเลี้ยงเป็ด จนถึงการปรุงเป็นอาหาร
            การเลี้ยงเป็ดใช้วิธีเลี้ยงปล่อยทุ่งให้อาหารจำพวกหอย ปู ปลา ซึ่งมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในทุ่งนา ส่วนอาหารที่เจ้าของเตรียมไว้คือข้าวเปลือก ด้วยการเลี้ยงดังกล่าวจะทำให้ได้ไข่แดงมีสีเข้ม ไม่มีกลิ่นคาวและมีรสมันจัด
            การเตรียมและเลือกวัสดุทำไข่เค็ม คือ ดินเกลือและขี้เถ้าแกลบ มีหลักการเลือกดังนี้
            การเลือกดิน ใช้เฉพาะดินจอมปลวกที่มีสีแกมเหลือง แห้งสนิท ไม่มีทรายและเศษอินทรีย์วัตถุเจือปน เมื่อจะนำไปใช้จะต้องบดให้ละเอียดและร่อนด้วยตะแกงถี่ เพื่อแยกทรายและเศษขยะทุกอย่างออกให้หมด
                -  การเลือกเกลือ ใช้เกลือป่น ห้ามใช้น้ำเกลือ
                -  การเลือกซื้อขี้เถ้าแกลบ เลือกเฉพาะขี้เถ้าแกลบที่สุกจัดสม่ำเสมอ ไม่มีแกลบหรือเศษของดิน กรวดปะปนอยู่
            กระบวนการผลิต มีขั้นตอนตามลำดับดังนี้
                -  คัดเลือกไข่ที่สด สมบูรณ์ เปลือกไข่ไม่บุบหรือร้าว
                -  ผสมดินป่นละเอียดผสมเกลือป่นในอัตราส่วน ๓ ต่อ ๑ คลุกเคล้ากันให้ทั่ว เติมน้ำลงผสมพอไม่ให้เหลวหรือเหนียวเกินไป
                -  นำไข่เป็ดที่คัดเลือกไว้แล้วลงคลุกดินที่เตรียมไว้ ใช้ดินพอกไข่หนาประมาณ ๒ - ๕ มิลลิเมตร
                -  นำไข่เป็ดที่คลุกดินแล้วมาคลุกขี้เถ้าแกลบให้ทั่ว แล้วนำไปเก็บไว้ประมาณ ๑๐ วัน จึงได้ที่

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |