| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


อุบลราชธานี

            จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จุดที่อยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศไทย อยู่ที่เส้นรุ้ง ๑๕ องศา ๓๘ ลิบดา ๔๔ พิลิบดา เหนือ และเส้นแวง ๑๐๕ องศา ๓๘ ลิบดาตะวันออกที่บ้านปากลา ตำบลโพธิกลาง อำเภอโขงเจียม มีอาณาเขตติดต่อโดยรอบดังนี้
            ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร และประเทศลาว
            ทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศลาว
            ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ และประเทศกัมพูชา
            ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดยโสธร
ลักษณะภูมิประเทศ
            จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ในบริเวณแอ่งโคราช ณ บริเวณที่ราบลุ่มริมขอบแอ่งด้านตะวันออกสุด มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๖๘ เมตร ลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีความลาดเอียงไปทางด้านทิศตะวันออก มีแม่น้ำโขงเป็นแนวกั้นระหว่างจังหวัดอุบล ฯ กับประเทศลาว มีความยาวประมาณ ๑๘๗ กิโลเมตร มีแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูล ซึ่งไหลผ่านบริเวณกลางจังหวัด จากด้านทิศตะวันตกมายังด้านทิศตะวันออก แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม ณ จุดที่เรียกว่า แม่น้ำสองสี คือน้ำในแม่น้ำโขงจะมีสีปูนแดง ส่วนน้ำในแม่มูลจะมีสีฟ้าคราม มีลำน้ำอีกหลายสายไหลมาบรรจบแม่น้ำมูลในเขตอำเภอต่าง ๆ มีเทือกเขาเตี้ย ๆ เป็นแนวยาวสลับซับซ้อนหลายแห่งบริเวณชายแดนด้านทิศตะวันออก ริมฝั่งแม่น้ำโขง และบริเวณชายแดนตอนใต้ของจังหวัดอุบล ฯ ที่สำคัญคือ เทือกเขาบรรทัด และเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นอาณาเขตระหว่างจังหวัดอุบลกับประเทศลาว และประเทศกัมพูชา มีช่องสำคัญที่ใช้เป็นเส้นทางติดต่อกันกับประเทศทั้งสองคือ ช่องเม็ก ในเขตอำเภอสิรินธร ติดต่อกับประเทศลาว ช่องบก และช่องอานม้า ติดต่อกับประเทศกัมพูชา เป็นต้น
ลักษณะภูมิสัณฐาน

            จังหวัดอุบล ฯ มีลักษณะภูมิสัณฐานโดยสังเขป ดังนี้
            บริเวณที่เป็นสันดินริมน้ำ  เกิดจากตะกอนลำน้ำที่พัดมาทับถม สภาพพื้นที่เป็นเนินสันดินริมฝั่งแม่น้ำโขง และบริเวณสันดินริมฝั่ง ลำน้ำ เซบาย
            บริเวณที่เป็นแอ่ง  หรือที่เป็นที่ราบต่ำหลังแม่น้ำ เกิดจากขบวนการของน้ำ พบบางแห่งบริเวณริมแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ลำน้ำเซบาย และลำโดมใหญ่ จะมีน้ำแช่ขังนานในฤดูฝน
            บริเวณที่เป็นลานตะพักลำน้ำ  เกิดจากขบวนการของน้ำนานมาแล้ว ประกอบด้วยบริเวณที่เป็นลานตะพักน้ำระดับต่ำ ระดับกลาง และระดับสูง ลักษณะพื้นที่มีทั้งที่ราบแบบลูกคลื่นลอนลาดจนถึง ลูกคลื่นลอนชัน อยู่ถัดจากบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมสูงขึ้นมา พบในบริเวณทั่วไปของจังหวัด คือทางตอนเหนือ ตะวันออก และตอนใต้ บางแห่งใช้ทำนา บางแห่งใช้ปลูกพืชไร่
            บริเวณเนินที่เป็นตะกอนรูปพัด  เกิดจากหินในบริเวณดังกล่าว แตกหักสะสมปนอยู่กับพวกอนุภาคที่ละเอียดกว่า เมื่อฝนตกมีปริมาณมาก  กำลังของน้ำจะมีมากจนสามารถพัดพาตะกอนเหล่านั้น ออกมานอกหุบเขาได้ ทำให้กำลังของน้ำลดลงแล้วตกตะกอน ส่วนใหญ่พบทางตอนใต้ และทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัด
            บริเวณที่เป็นเนินดินจากการไหลของธารลาวา  มีการสลายตัวผุพังของหินบะซอลท์ ส่วนใหญ่พบในเขตอำเภอน้ำยืน ดินบริเวณนี้จะมีศักยภาพทางการเกษตรสูง
            บริเวณที่ลาดเชิง  เป็นที่ลาดเชิงเขาที่ตะกอนในบริเวณเกิดจากขบวนการของน้ำในอดีตมาทับถมกัน ส่วนใหญ่พบในเขตอำเภอโขงเจียม อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอตระการพืชผล
            บริเวณที่ราบเชิงซ้อน  ลักษณะเป็นภูเขาหรือเทือกเขามีความลาดชันมากกว่า ๓๕ เปอร์เซ็นต์ ภายในบริเวณเทือกเขาพนมดงรักในเขตอำเภอน้ำยืน อำเภอนาจะหลวย และอำเภอบุณฑริก อีกบริเวณหนึ่งคือเทือกภูเขาที่พบมากในเขตอำเภอโขงเจียม และอำเภอศรีเชียงใหม่
ทรัพยากรธรรมชาติ
            จังหวัดอุบล ฯ มีป่าไม้ทั้งป่าเต็งรังหรือป่าแดง ซึ่งมีอยู่ทั่วไป ป่าดิบแล้งในเขตอำเภอน้ำยืน ป่าผสม ป่าเบญจพรรณ ในเขตอำเภอเขมราฐ ศรีเมืองใหม่ บุณฑริก สิรินธร นาจะหลวย และอำเภอพิบูลมังสาหาร ส่วนใหญ่เป็นไม้กระยาเลย ได้แก่ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้เคี่ยม ไม้ตะเคียน และไม้กันเกรา เป็นต้น มีพื้นที่ประมาณ ๑๐ ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าประมาณ ๕,๙๐๐ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย
            ป่าสงวนแห่งชาติ  มีจำนวน ๕๐ แห่ง เป็นพื้นที่ประมาณ ๕,๕๒๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓.๕ ล้านไร่
            อุทยานแห่งชาติ  มีอยู่ ๓ แห่งด้วยกันคือ

          อุทยานแห่งชาติภูจอง - นายอย  มีพื้นที่ประมาณ ๖๙๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔๒๙,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอนาจะหลวย บุณฑริก และอำเภอน้ำยืน
           อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ  มีพื้นที่ประมาณ ๘๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๐,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอโขงเจียม และอำเภอสิรินธร
           อุทยานแห่งชาติผาแต้ม  มีพื้นที่ประมาณ ๓๔๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๑๓,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอโขงเจียม ศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิไทร
           เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า  มีอยู่แห่งเดียวคือ เขตอนุรักษ์พันธุ์ยอดโดม  มีพื้นที่ประมาณ ๒๕๕๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๔๑,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอน้ำยืน
            นอกจากนี้ ยังมีป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี รวม ๒๔ แห่ง มีพื้นที่ประมาณ ๑๘๖ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๑๖,๐๐๐ ไร่
           เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์  เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่กำหนดเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ พืชพันธุ์ และสัตว์ที่มีคุณค่าหายาก การป้องกันภัยธรรมชาติจากน้ำท่วม และการพังทลายของดิน ตลอดจนเพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษา การวิจัย การนันทนาการของประชาชน และความมั่นคงของชาติ
           เขตพื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ  เป็นพื้นที่ป่าสงวนที่กำหนดเพื่อผลิตไม้และของป่า รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจ ตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดชั้นลุ่มน้ำ การจำแนกการใช้ประโยชน์ในที่ดิน พื้นที่เพื่อการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ พื้นที่ประสานการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างทรัพยากรป่าไม้กับทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจ และความมั่งคงของชาติ
           เขตพื้นที่ป่าที่เหมาะสมเพื่อการเกษตร  เป็นพื้นที่ป่าที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาด้านการเกษตร
ทรัพยากรน้ำ

           แม่น้ำโขง  เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านหลายประเทศ ไหลผ่านจังหวัดอุบล ฯ ในเขตอำเภอเขมราฐ กิ่งอำเภอนาตาล อำเภอโพธิไทร อำเภอศรีเมืองใหม่ และมีแม่น้ำมูลไหลมาบรรจบที่อำเภอโขงเจียม ความยาวในช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดอุบล ฯ ประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร
           แม่น้ำมูล  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขตจังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบล ฯ ช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดอุบล ฯ ยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ไหลผ่านเขตอำเภอเมือง ฯ ว่ารินชำราบ พิบูลมังสาหาร สว่างวีรวงศ์ สิรินธร และอำเภอโขงเจียม ตั้งแต่อำเภอพิบูลมังสาหารไปจนบรรจบแม่น้ำโขงที่ อำเภอโขงเจียม แม่น้ำมูลจะไหลผ่านพื้นที่เนินเขาเตี้ย ๆ บางแห่งมีลักษณะเป็นแก่งหิน ภูเขาขวางลำน้ำได้แก่ แก่งสะพือ แก่งตะนะ และแก่งลุงตุง แก่งเหล่านี้เป็นเสมือนฝายกั้นน้ำธรรมชาติ ช่วยเก็บกักน้ำในฤดูแล้ง
           แม่น้ำชี  เป็นสาขาใหญ่ของแม่น้ำมูล ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขต จังหวัดชัยภูมิ ไหลผ่านจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร  และไหลผ่านจังหวัดอุบล ฯ ในเขตอำเภอเขื่องใน แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำมูลในเขต อำเภอเมือง ฯ  แม่น้ำชีมีน้ำไหลตลอดปี
           ลำเซบาย  เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำมูล ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาและป่าต้นน้ำลำธาร ในเขตอำเภอกุดชุมจังหวัดยโสธร และอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ไหลผ่านอำเภอหัวสะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ อำเภอม่วงสามสิบ และอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบล ฯ มีความยาวประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำมูลในเขตอำเภอเมือง ฯ
           ลำเซบก  เป็นสาขาของแม่น้ำมูล ต้นน้ำเกิดจากที่ราบลุ่มแอ่งน้ำในเขตอำเภอลืออำนาจ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ไหลผ่านเขตอำเภอม่วงสามสิบ อำเภอตระการพืชผล อำเภอดอนมดแดง และอำเภอตาลสุม ไปบรรจบแม่น้ำมูลในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร มีความยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร
           ลำโดมใหญ่  เป็นสาขาแม่น้ำมูล ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงรัก ในเขตอำเภอน้ำยืน แล้วไหลผ่านอำเภอเดชอุดม กิ่งอำเภอนาเยีย ไปบรรจบแม่น้ำมูลในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร มีความยาวประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดปี
           ลำโดมน้อย  เป็นสาขาแม่น้ำมูล ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมดงรัก ในเขตอำเภอบุณฑริก ไหลไปบรรจบแม่น้ำมูลในเขต อำเภอสิรินธร มีความยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ได้มีการสร้างเขื่อนสิรินธร เพื่อเก็บกักน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อการเกษตรบนล้ำน้ำสายนี้
ประชากร
            จังหวัดอุบล ฯ อยู่ในแหล่งอารยธรรมโบราณที่มีอายุนับพันปี อารยธรรมปากมูลตั้งอยู่  ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล และแม่น้ำชีตอนล่าง มีร่องรอยของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ปรากฏหลักฐานได้แก่ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณผาขาม ผาแต้ม ผาหมอน  และบริเวณถ้ำต่าง ๆ ในเขตอำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอตระการพืชผล อำเภอโพธิไทร และอำเภอเขมราฐ ร่องรอยทางวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์เชื่อมโยงติดต่อกันมาถึงยุคประวัติศาสตร์ มีการรับวัฒนธรรมจากภายนอก จนเกิดเอกลักษณ์วัฒนธรรมประจำชุมชนของตนเอง วัฒนธรรมที่ได้รับจากพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงคือ เวียดนาม จาม ขอม ซึ่งเป็นวัฒนธรรม ไทย-ลาว และวัฒนธรรมจากภูมิภาคอื่น เช่น วัฒนธรรมทวาราวดี จากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ปรากฏหลักฐานคือ ใบเสมาหิน บ้านเปือยหัวดง อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นใบเสมาหินสมัยทวาราวดีรุ่นแรก ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ตลอดจนศิลาจารึกของพระพุทธเจ้าจิตรเสนหลายหลัก รวมทั้งการค้นพบวัฒนธรรมที่ผสมผสาน ระหว่างเจนละกับทวาราวดีหลายแห่งในบริเวณลุ่มแม่น้ำชี มีผู้ตั้งข้อสมมติฐานว่า อาณาจักรเจนละยุคแรก เกิดขึ้นที่จังหวัดอุบล ฯ
            ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดอุบล ฯ มาแต่อดีต มีหลายเผ่าพันธุ์คือ ขอม จาม ละว้า ในกลุ่มวัฒนธรรมไต - ลาว และกลุ่มวัฒนธรรมมอญ - เขมร
            การสร้างบ้านเมืองอุบล ฯ เริ่มเมื่อพระยาวรราชภักดี (พระวอ) และพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ได้นำผู้คน และครอบครัวจำนวนหลายพันคน อพยพจากนครเขื่อนขัณฑ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๓ ไปยังเมืองจำปาศักดิ์ แล้วจึงมาตั้งเมืองอุบล ฯ ในบริเวณปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๓๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้สถาปนาเป็นเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลประเทศราช ดังนั้นชาติพันธุ์ของคนเมืองอุบล ฯ จึงสืบเชื้อสายมาจากคนไทย-ลาวพื้นเมืองอีสาน เหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีภาษาไทยอีสานเป็นภาษาพูด
            ปัจจุบันจังหวัดอุบล ฯ มีชนเผ่าพื้นเมืองเดิมในสายวัฒนธรรมมอญ - เขมร อยู่บ้าง เช่น ชนเผ่าข่าที่บ้านเวินปึก อำเภอโขงเจียม ซึ่งมีภาษาบรู เป็นภาษาพูดเฉพาะตน ชนเผ่าเขมร อยู่ในหมู่บ้านชายแดนไทย - กัมพูชาในเขตอำเภอน้ำยืน อำเภอนาจะหลวย อำเภอบุณฑริก กิ่งอำเภอน้ำขุ่น และอำเภอทุ่งศรีอุดม มีภาษาเขมรพื้นเมืองเป็นภาษาพูด มีชนเผ่าส่วยหรือกุย ในเขตอำเภอเขื่องใน อำเภอวารินชำราบ อำเภอเดชอุดม และอำเภอพิบูลมังสาหาร อยู่เป็นจำนวนเล็กน้อย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |