| ย้อนกลับ | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
พระแก้วบุษราคำ
พระแก้ว ฯ เป็นพระพุทธรูปโบราณ ปางมารวิชัย สร้างด้วยแก้วสีน้ำผึ้ง - เหลือง
หน้าตักกว้าง ๓ นิ้ว สูง ๔ นิ้ว ตามตำนานกล่าวว่า เป็นสมบัติของเจ้าปางคำ
เจ้าเมืองนครเขื่อนขัณท์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำพู) แล้วตกทอดมาถึงสมัยพระวอ
พระตา และเจ้าคำผงตามลำดับ เมื่อเจ้าคำผง (พระปทุมวรราชสุริยวงศ์) สร้างวัดหลวงขึ้นเป็นวัดแรกนั้นก็ได้สร้างหอพระแก้ว
และวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) แล้วได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคำมาประดิษฐานไว้ที่หอพระแก้วจนถึงปัจจุบัน
พระแก้วบุษราคำมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓
พระเจ้าศรีเมือง
พระเจ้าศรีเมือง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่อด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทองศิลปะลาว
หน้าตักกว้างประมาณสองเมตร สูงสองเมตรเศษเดิมอยู่วัดเหนือท่า(ร้าง) ก่อนสร้างเมืองอุบล
ฯ (พ.ศ.๒๓๒๓) เมื่อวัดยุบเลิกไปแล้ว ได้ย้ายพระเจ้าศรีเมืองมาประดิษฐานที่ศาลาการเปรียญวัดทุ่งศรีเมือง
และเรียกว่า พระเจ้าศรีเมือง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓
พระเจ้าหลวง
พระเจ้าหลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยอิฐถือปูน ลงรักปิดทอง ศิลปะลาว
ลักษณะคล้ายคลึงกับพระเจ้าศรีเมือง หน้าตักกว้าง ประมาณสองเมตร สูงสองเมตรเศษ
พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เมื่อได้สร้างวัดหลวงขึ้นเป็นวัดประจำเมืองแล้ว
ก็ได้สร้างพระพุทธรูปประธานขึ้นเรียกว่าพระเจ้าหลวง ปัจจุบันพระเจ้าหลวงประดิษฐานอยู่บนศาลาการเปรียญวัดหลวง
อำเภอเมือง ฯ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓
พระเจ้าใหญ่อินแปง
พระเจ้าใหญ่ ฯ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้างสามเมตร
สูงห้าเมตร ในศิลาจารึกวัดป่าใหญ่ได้บันทึกประวัติไว้ว่า พระครูศรีสัทธรรมวงศา
เจ้าอาวาสสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๐ ตรงกับสมัยเจ้าเมืองอุบลคนที่สอง(พระพรหมวรราชสุริยวงศ์)
พระเจ้าใหญ่ ฯ เป็นพระพุทธรูปที่ประชาชนเคารพเลื่อมใสมากที่สุดในจังหวัดอุบล
ฯ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓
พระเจ้าองค์ตื้อ
พระเจ้าองค์ตื้อ มีอยู่สององค์คือ องค์แรกอยู่ที่วัดพระโต บ้านปากแซง ตำบลพราน
กิ่งอำเภอนาตาล เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง
หน้าตักกว้างหนึ่งเมตรครึ่ง สูงสองเมตรเศษ ศิลปะลาว เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ประชาชนชาวไทย
และชาวลาวเคารพเลื่อมใสมาก มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ส่วนพระเจ้าองค์ตื้ออีกองค์หนึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถวัดใต้
อำเภอเมือง ฯ ลักษณะและอายุคล้ายคลึงกันกับพระเจ้าองค์ตื้อองค์แรก
พระสัพพัญญูเจ้า
พระสัพพัญญูเจ้า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะขัดเงา ศิลปะร่วมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
หน้าตักกว้างสองเมตร สูงสามเมตร เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม อำเภอเมือง
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๕
วัดโพธิศรีทุ่งใหญ่
วัดโพธิศรีทุ่งใหญ่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของบ้านทุ่งใหญ่ ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน
เดิมเรียกว่าวัดบ้านขะโมย แปลว่า บ้านเขมร สภาพพื้นที่เป็นเนินดินขนาดใหญ่
และสูงกว่าบริเวณโดยรอบ ในบริเวณวัดมีชิ้นส่วนของโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูปหินทราย
ใบเสมาหินทราย และศิลาแลง แท่นประติมากรรมหินทราย ปรากฏอยู่ทั่วไป มีชิ้นส่วนของซากอาคารโบราณสถานที่เป็นแท่งหินทราย
ศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าจำนวนหลายชิ้น กรอบประตูหินทราย และมีใบเสมาหินทรายอยู่หนึ่งชิ้น
มีอักษรขอมจารึกไว้ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๒๑ - ๑๖๒๑
วัดป่าบึงเขาหลวง
วัดป่าบึงเขาหลวง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านกลางใหญ่ ห่างออกไปประมาณหนึ่งกิโลเมตร
มีบึงล้อมรอบเป็นเขตวัด บริเวณวัดเป็นเนินดินโบราณ พบโบราณวัตถุ เช่น ขวานมีบ้อง
(เหล็ก) ใบขวาน พระบุเงิน และเศษภาชนะดินเผา ภายในวิหารมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่
หน้าตักกว้างสามเมตร บริเวณวัดมีพระธาตุเจดีย์สององค์ มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงอูบมุง
จัดอยู่ในกลุ่มธาตุอีสานที่มีฐานสูง มีอิทธิพลมาจากธาตุพนม ก่อนการบูรณะเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๓ ลักษณะเป็นทางบัวเหลี่ยม ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสลดหลั่นกันสองชั้น
แต่ละชั้นนิยมทำซุ้มประตูหลอกทั้งสี่ทิศ องค์ระฆังเป็นรูปดอกบัวตูมสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น
ส่วนยอดเป็นทรงพุ่มคล้ายกับเจดีย์พระธาตุเจ้ามหาธาตุ อำเภอวารินชำราบมากที่สุด
วัดมหาวนาราม
วัดมหาวนารามชาวอุบล ฯ เรียกว่าวัดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอเมือง
ฯ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุบล ฯ มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี เริ่มก่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๕ ระยะแรกเรียกว่าวัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ ต่อมาเรียกว่าวัดป่าใหญ่
หรือมหาวัน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมหาวนาราม เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๘๘ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นวัดหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เมื่อ
ปี พ.ศ.๒๕๒๑ เป็นพระอารามหลวงแห่งเดียว ของฝ่ายมหานิกายในจังหวัดอุบล ฯ
วัดมหาวนาราม เป็นวัดที่มีความสำคัญต่อชาวอุบล ฯ มาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างมาก
เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่อินแปง พระพุทธรูปที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปเคารพบูชา
ในหลักศิลาจารึกที่ฝังอยู่ด้านหลังชุกชีพระเจ้าใหญ่อินแปง จารึกว่าสร้าง เมื่อปี
พ.ศ.๒๓๓๕ พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าเมืองอุบล ฯ คนที่สอง ได้สร้างวิหารอารามในวัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์
เมื่อ ปี พ.ศ.๒๓๔๘ เพื่อเป็นที่บำเพ็ญแก่พระพุทธรูป ในปี พ.ศ.๒๓๕๐ พระมหาราชครูสีสัทธรรมวงศาเจ้าอาวาสรูปแรกได้นำลูกศิษย์
และญาติโยมทั้งหลายสร้างพระพุทธรูปอินแปง หรือพระเจ้าใหญ่อินแปง ในศิลาจารึกมีข้อความตอนหนึ่งว่า
พญาตนใดมานั่งกินเมืองที่นี่แล้ว ให้เคารพสักการะพระเจ้าใหญ่อินแปงด้วยเครื่องสักการะอย่างใดอย่างหนึ่ง
คือ ให้มีมหรสพสมโภชเมื่อถึงเพ็ญเดือนห้า เมษายนของทุกปี ดังนั้น จึงจะได้ความวุฒิสวัสดิ์แก่ชาวบ้านชาวเมือง
ด้วยเหตุว่าพระเจ้าใหญ่อินแปงนี้ประกอบด้วยบุญคุณมากมาย
วัดสุปัฏนาราม
วัดสุปัฏนาราม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลทางทิศใต้ของศาลากลางจังหวัด ในเขตตำบลในเมือง
อำเภอเมือง ฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร เป็นวัดธรรมยุต วัดแรกในเมืองอุบล
ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๖ ในสมัยพระพรหมราชวงศา (พระอุปราชกุทอง) เจ้าเมืองอุบล
ฯ คนที่สาม อยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ สร้างวัดเสร็จแล้วได้รับพระราชทานนามว่าวัด
สุปัฏนาราม มีความหมายว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศาสนสถานเปรียบดังท่าเรือดีที่อำนวยความสะดวกให้แก่มวลมนุษย์
ข้ามพ้นโอฆะสงสารไปได้ ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ ได้รับโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามว่าวัดสุปัฏนารามวรวิหาร
สิ่งสำคัญภายในวัดมีดังนี้
พระอุโบสถ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๗๓ รูปแบบสถาปัตยกรรมจำแนกออกเป็นสามส่วนคือ
หลังคาเป็นแบบไทย ส่วนกลางเป็นแบบยุโรป (เยอรมัน) ส่วนฐานเป็นแบบขอมโบราณ
มีลักษณะโดดเด่นประการหนึ่งคือ ไม่มีหน้าต่าง แต่เป็นประตูโดยรอบ ภายในพระอุโบสถมีพระสัพพัญญูเจ้าเป็นพระประธาน
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะขัดเงาสร้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙
หอศิลปวัฒนธรรม สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นสถานที่เก็บรวบรวม และจัดแสดงโบราณวัตถุ
และศิลปะวัตถุ เช่นทับหลัง จารึก พระพุทธรูป เทวรูป และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง
ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เป็นของที่สะสมมานานพร้อมอายุของวัด เช่น ตู้พระธรรมลายรดน้ำ
เครื่องถ้วยชาม เป็นต้น
หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง
หอไตร ฯ อยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า
ฯ ตรงกับสมัยเจ้าเมืองอุบล ฯ คนที่สอง คือ พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ ช่างใหญ่ที่ควบคุมการก่อสร้างเป็นพระสงฆ์ชาวเวียงจันทน์ชื่อ
ญาคูช่าง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ขนาดกว้าง ๓๗ เมตร ยาว ๔๗ เมตร
ตั้งอยู่กลางสระน้ำ เพื่อป้องกันมดปลวกไปทำลายพระไตรปิฎกที่เก็บรักษาไว้ เป็นลักษณะผสมของศิลปะสามสกุลช่างคือ
ไทย พม่า ลาว ตัวอาคารเป็นแบบไทย นำศิลปะสถาปัตยกรรมจากภาคกลางมาประยุกต์ใช้ในภาคอีสานเป็นครั้งแรก
แล้วยึดถือปฏิบัติในการก่อสร้างต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ตัวเรือนไม้ปะกนขนาดสี่ห้อง
ผนังภายในเขียนลายลงรักปิดทอง ที่บานหน้าต่าง และประตูเขียนรูปทวารบาล ส่วนหลังคามีช่อฟ้าใบระกา
ตัวอาคารซ้อนกันหลายชั้น แสดงอิทธิพลศิลปกรรมพม่าที่ส่งผ่านมาทางศิลปะล้านช้าง
คล้ายหลังคาศาลาการเปรียญวัดโนนใหญ่ของชาวกุลา (พม่า) ที่ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน
ส่วนลวดลายแกะสลักบนหน้าบันทั้งสองด้านเป็นลักษณะของศิลปกรรมชั้นสูง ระดับช่างหลวงจากเมืองเวียงจันทน์
บริเวณฝาปะกนแกะสลักเป็นรูปราศีต่าง ๆ
ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของหอไตรนี้คือ คันทวยด้านซ้ายและขวาของประตูทางเข้า
สลักเป็นเทพนม คันทวยอื่นๆ รอบตัวอาคารเป็นรูปทวยพญานาค หอไตรแห่งนี้เป็นหอไตรที่ได้รับการจัดอันดับหนึ่งในสามของ
ของดีเมืองอุบล ฯ ในอดีตที่กล่าวว่า พระบฏวัดกลาง
พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง
สิมวัดแจ้ง
สิมวัดแจ้ง ตั้งอยู่ที่วัดแจ้ง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ วัดแจ้งเดิมเป็นวัดเก่า
สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๑ เจ้าราชบุตร หนึ่งในอาญาสี่ผู้ปกครองเมืองอุบล
ฯ ในสมัยนั้นเป็นผู้ริเริ่มสร้าง โดยได้สร้างสิมหลังนี้ภายหลังจากที่ได้สร้างพระประธานแล้ว
โดยมีญาท่านเพ็งผู้เป็นลูกศิษย์ญาท่านหอ เป็นผู้สร้าง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นสิมทึบ เป็นสถาปัตยกรรมไทยอีสาน ก่ออิฐถือปูนขนาดสามห้อง
ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สูง ๑๐ เมตร หลังคาชั้นเดียว เดิมมุงด้วยเกล็ดไม้
ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา ด้านหน้ามีเสาสี่ต้นประดับ ลายไม้แกะสลักเป็นรูปรวงผึ้ง
ลายดอกบัว หน้าบันแกะสลักเป็นรูปช้างเอราวัณอยู่กลางระหว่างคชสีห์สองตัว คันทวย
และหางหงส์เป็นรูปหัวพญานาค มีมุขหน้าประตูทางเข้าด้านเดียว หน้าต่างสามบาน
กรอบหน้าต่างเป็นรังผึ้งย้อยลงมา ส่วนกรอบล่างเป็นลูกกรงสลักลายเช่นเดียวกัน
โครงหลังคามุกหน้าใช้เสากลมสี่ต้นรับหน้าบัน (แผงสี่หน้า) มีรังผึ้งย้อยรวงแหลมลงระหว่างเสาทั้งสามช่วง
กระจังรวบแกะเป็นไม้ขึ้นไปติดจึงลอยโดดเด่นออกจากพื้นหลังมากกว่าการสลักลงบนเนื้อไม้
ยอดแหลมส่วนบนเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ แต่ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว ส่วนล่างลงมาแกะเป็นดอกพุดตานทำเป็นชิ้น
ๆ แล้วนำไปปะติดไว้เช่นกัน หลังคาทรงจั่วสูงมีปีกนกสองข้าง กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่ควรแก่การอนุรักษ์
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗
รูปแบบโดดเด่นของสิมเป็นรูปทรงที่ตอบสนองประโยชน์ใช้สอย หลังคาลดชั้นอย่างเรียบง่าย
ฐานเอวขันธ์ที่ทำเป็นฐานบัวด้วยช่างพื้นบ้าน และคันทวยแกะสลักแบบหยาบ ๆ เมื่อเทียบกับสิมอีสานหลังอื่น
ๆ ส่วนการแกะหน้าบันค่อนข้างเต็มที่แต่เรียบง่าย ช่อฟ้าและหางหงส์เป็นรูปแบบของสกุลช่างเมืองอุบล
ฯ ที่นิยมกันมาก บันได จระเข้ เหหัวลงมา มีลักษณะกบดาน เพื่อคอยเฝ้ารักษา
สิมวัดหลวง
วัดหลวงเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่เริ่มตั้งเมืองอุบล ฯ ลักษณะเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่กว่าสิมทั่วไป
ตัวสิมหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน เสาด้านหน้าสี่ต้นเป็นเสาเหลี่ยมลบมุม
หัวเสาทำเป็นรูปบัวจงกล ทวยไม้แกะสลักแบบหูช้าง หน้าบันฉลุไม้ลูกฟักหน้าพรหม
สาหร่ายรวงผึ้งแบบพื้นบ้านอีสาน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะล้านช้าง หลังคาชั้นเดียวทรงจั่ว
ไม่มีลดชั้นปีกนก (พะไร) ด้านข้างเป็นแป้นมุงไม้หน้าจั่ว ตกแต่งช่อฟ้า ใบระกา
หางหงส์ ไม่มีนาคสะดุ้ง กล่าวกันว่ามีความสวยงามคล้ายกับสิมวัดเชียงทอง เมืองหลวงพระบางของล้านช้าง
แต่รื้อไปแล้ว
สิมวัดมหาวนาราม
วัดมหาวนาราม หรือวัดใหญ่ เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญวัดหนึ่ง ตั้งแต่สมัยพระพรหมวรราชสุริยวงศ์เจ้าเมืองอุบล
ฯ คนที่สอง สิมหลังนี้สร้างพร้อมพระพุทธรูปสำคัญคือ พระเจ้าใหญ่อินแปง ปัจจุบันสิมหลังนี้ได้รื้อไปแล้ว
จากรูปถ่ายเป็นสิมโปร่ง ฝีมือไทยอีสานแท้ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานก่อเอวขันธ์ปากพาน
(บัวคว่ำ บัวหงาย) แต่ผนังด้านพระประธานก่อสูงขึ้น ผนังก่อด้วยอิฐดินฉาบด้วยประทาย
(ปูนขาวผสมทราย และยางบง) หลังคาทรงจั่วชั้นเดียวมุงแป้นไม้ โครงสร้างไม้เนื้อแข็ง
เปิดเพดาน ปิดหน้าจั่วทั้งสองด้าน รายลำยองเป็นแบบเรียบง่าย ไม่มีช่อฟ้า นาคสะดุ้ง
และหางหงส์
สิมวัดบ้านตำแย
สิมวัดบ้านตำแย เป็นสิมแบบอีสานแท้ มีขนาดกระทัดรัด เรียบง่าย ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่บนเอวขันธ์ มีบันไดขึ้นตรงหน้า ประตูด้านเดียว
หน้าต่างด้านข้างด้านละหนึ่งช่อง ด้านหลังก่อทึบถึงหน้าจั่ว ผนังก่ออิฐถือปูนด้วยประทาย
หลังคาทรงจั่วชั้นเดียว รายลำยองทำเป็นช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ไม่มีนาคสะดุ้ง
หลังคามุงด้วยแป้นไม้ มีทวยรูปพญานาคอ่อนช้อยแบบอีสาน มีสองแบบคือ แบบอ้าปาก
และแบบหุบปาก หน้าสิมเหนือประตูจารึกอักษรไทยน้อยสี่บรรทัด ด้านซ้ายมีบันทึกอีกสิบบรรทัด
กล่าวถึงการสร้างสิมหลังนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗
หอไตรวัดบูรพาราม
หอไตรวัดบูรพาราม เป็นประเภทหอบก คือสร้างบนพื้นดินเป็นเรือนไม้เคียงกันสองหลัง
แต่ละหลังมีสามห้อง เสากลม ยกพื้นสูงมีชานเชื่อมอาคารทั้งสอง อาคารหลังทางทิศใต้มีฝาไม้แบบก้างปลา
ไม้พรึงแกะสลักเป็นลวดลายกระจังกลีบบัวรอบอาคาร และไม้ลายเท้าสิงห์รองรับกรอบหน้าต่าง
หลังคาทรงจั่วมุงแป้นไม้ หน้าบันกรุไม้รูปพระอาทิตย์ เชิงชายมีไม้ฉลุโดยรอบ
หอไตรหนองขุหลุ
หอไตรหลังนี้สร้างอยู่กลางน้ำ หนองขุหลุ ห่างจากตัวอำเภอตระการพืชผลประมาณ
๑ กิโลเมตร สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๙ - ๒๔๖๑ เป็นสถาปัตยกรรมอีสานแท้ สร้างด้วยไม้
รูปทรงอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ยกพื้นสูง เสาไม้กลม ๒๕ ต้น เรียงห้าแถว
แถวละห้าต้น หลังคามีสองส่วน ส่วนบนเป็นทรงจั่ว ส่วนล่างเป็นปีกนก (พะไร)
มีไม้สลักโดยรอบรายลำยอง ไม้แกะสลักเป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทำเป็นลายก้านขดทับซ้อนกันหัวทะแยงกันสามชั้น
หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอ
| ย้อนกลับ | บน | |