| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
จารึกปากน้ำมูล
เป็นศิลาจารึกทำด้วยหินทรายสีน้ำตาล มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ สมัยเจนละ
จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ลักษณะเป็นรูปใบเสมาสี่เหลี่ยมด้านเท่ามีอยู่สองหลัก
ขนาดกว้าง ๓๕ เซนติเมตร สูง ๒๕๐ เซนติเมตร หนา ๓๖ เซนติเมตร และขนาดกว้าง
๓๙ เซนติเมตร สูง ๑๕๐ เซนติเมตร หนา ๒๙ เซนติเมตร หนัก ๘ ตัน พบบริเวณใกล้ปากแม่น้ำมูล
ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม ทั้งสองหลักมีข้อความเหมือนกัน ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
อุบล ฯ ข้อความในศิลาจารึกเป็นข้อความเดียวกันกับจารึกถ้ำภูหมาไน ตำบลโขงเจียม
อำเภอโขงเจียม
จารึกระยะที่สอง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๑ เป็นต้นมา จารึกด้วยตัวอักษรขอม ที่เรียกว่าตัวธรรมเป็นภาษาลาว เป็นจารึกอันเนื่องในพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก
พบตามวัดต่าง ๆ ที่สร้างในระยะแรก ที่ก่อตั้งเมืองอุบล ฯ เช่น จารึกวัดมหาวนาราม
(วัดป่าใหญ่) จารึกวัดเลียบ จารึกวัดเวฬุวนาราม จารึกวัดบ้านตำแย
จารึกวัดมหาวนาราม
มีอยู่จำนวนเจ็ดหลัก สองหลักแรกจารึกบนแผ่นศิลาทำด้วยทรายผสมปูนคล้ายคอนกรีต
(เรียกว่าซะทราย) อีกห้าหลักจารึกบนฐานพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระเจ้าใหญ่อินแปง
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมืองอุบล ฯ
- หลักที่ ๑
ลักษณะเป็นใบเสมาขนาดใหญ่กว่าทุกหลักติดกับฐานพระเจ้าใหญ่อินแปงด้านพระหัตถ์ซ้าย
สูง ๙๗ เซนติเมตร กว้าง ๕๓ เซนติเมตร หนา ๑๘ เซนติเมตร มีอักษรจารึก ๒๔ บรรทัด
มีข้อความว่า
จุลศักราชได้ ๑๕๙ ตัว ปีเชิงมด พระเจ้าปทุมได้มาตั้งเมืองอุบล ฯ ได้ ๒๖ ปี
ศักราชได้ ๑๔๒ ตัว ปีซะง้า จึงถึงอนิจกรรมล่วงไปด้วยลำดับปีเดือน หั้นแล้ว
ศักราชได้ ๑๕๔ ตัว ปีเต่าสัน พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ ได้ขึ้นเสวยเมืองอุบล
ฯ ได้ ๑๕ ปี ศักราช ๑๕๔ ตัว ปีรวงเร้าจึงได้สร้างวิหารอารามในวัดหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์สัสดี
เพื่อให้เป็นที่สำราญแก่พุทธเจ้า ศักราชได้ ๑๖๙ ปี เมิงเม้า มหาราชศรีสัทธรรมวงศา
พาลูกศิษย์สร้างพระพุทธรูปดิน หล่ออิฐซะทรายใส่วัด ล่วงเดือน ๕ เพ็ง วัน ๑
มื้อรวงไก๊ ฤกษ์ ๑๒ ลูก ชื่อว่าจิตต์อยู่ในราศีกันย์ เบิกแล้วยามแถใกล้ค่ำ
จึงได้ชื่อว่าพระเจ้าอินแปง ให้คนและเทวดาคอยลำแยงรักษาบูชาอย่าให้อมาลาย
อันตรายแก่พระพุทธรูปเจ้าองค์วิเศษ เพื่อให้เป็นมุงคุณแก่บ้านเมือง มหาราชครูตนสร้างจึงมีคำเลื่อมใส
จึงทอดน้องหญิง ชื่อว่าแม่ปุ้ยกับทั้งอีปุ้ยหลานหญิงให้เป็นข้าโอกาสแก่พุทธรูปอินทร์เจ้าองค์นี้
ลูกหญิงชื่อว่าสาวหล้า สาวตวย สาวทุม ให้เป็นข้าโอกาสพุทธรูปเจ้านี้แล นางเพี้ยโคตรกับทั้งลูกเป็น
๔ แล นางเพี้ยแก้วกับลูกเป็น ๓ แล แม่พากับลูกเป็น ๕ มอบตนเป็นข้าโอกาสพุทธรูปเจ้าองค์นี้
แม่พระชาลีกับสาวดวงและอีบุญ ๓ คนนี้ มอบตนเป็นข้าโอกาสด้วยคำเลื่อมใส บ่ได้เอาข้าวของพุทธรูปเจ้า
ครั้นว่าไผอยากออกจากโอกาสให้ปัจจัยไทยธรรมให้สมควร คำเลื่อมใสพุทธเจ้าจงออกเทอญ
เป็นโทษ เป็นกรรมแล พระยาตนใดมากินบ้านกินเมืองนี้ บ่ใช้เวียกบ้านการเมืองแก่ข้าโอกาสฝูงนี้
ได้ชื่อว่าเคารพพระเจ้านัยหนึ่งชื่อว่าประกอบธรรม พระยาตนใดมานั่งเมืองนี้
มาดูศิลาเลขอันนี้ รู้ว่าพระพุทธรูปเจ้ามีข้อยโอกาสจึงบ่ใช่เวียกบ้านการเมือง
พระยาตนนั้นบอกข้อยโอกาสให้ปฏิบัติพุทธรูปเจ้าจักได้กุศลบุญกว้างขวาง เหตุเคารพพุทธรูปเจ้านั้นแล
นัยหนึ่งพระยาตนใดอยู่ดินกินเมืองที่นี้ให้บูชาเคารพพุทธเจ้าองค์นี้ด้วยเครื่องสักการะบูชาเยิงใดเยิงหนึ่ง
คือมหรสพคบงัน เมื่อเดือน ๕ เพ็ง ดังนั้นจักได้คำวุฒิศรีสวัสดิ์แก่ชาวบ้านชาวเมือง
เหตุพระพุทธรูปประกอบด้วยบุญลักษณะ เหตุดังนั้นเทวดาจึงให้คำวุฒิศรีสวัสดิ์ด้วยเดชะคุณพุทธรูป
นัยหนึ่งอาญาเมืองตนเชื่อว่าพรหมวรราชสุริยวงศ์ ได้สร้างวิหารอารามให้สถิตย์แก่พุทธรูปเจ้า
ทางนรีสุดท่าทางกว้างจุแดนดง คนผู้ใดผู้หนึ่งมาเฮ็ดนาในดินโอกาสนี้ผิว่าได้เกวียน
๑ ให้เก็บค่าดินถังหนึ่ง ๒ เกวียน ๒ ถัง ให้เก็บขึ้นตามสัญญา ดังหลังนั้นเทอญ
- หลักที่ ๒
เป็นจารึกบนใบเสมาเช่นเดียวกับหลักที่ ๑ แต่มีขนาดเล็กกว่า มีอักษรบันทึกอยู่
๑๐ บรรทัด ติดกับฐานพระเจ้าใหญ่อินแปงด้านพระหัตถ์ขวา มีขนาดกว้าง ๓๗ เซนติเมตร
สูง ๕๕ เซนติเมตร หนา ๑๐ เซนติเมตร มีข้อความดังนี้
จุลศักราชได้ ๖๙ ตัว ปีเปิงเหม้าเดือน ๕ เพ็ง วัน ๑ มื้อรวงไก๊ ฤกษ์ ๑๒ ลูก
ชื่อว่าจิตต์อยู่ในราศีกันย์เปิกแล้ว ยามแถใกล้ค่ำมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา
ป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ สร้างพุทธรูปดินก่ออิฐซะทราย หมายใส่นามโคตรชื่อว่าพระเจ้าใหญ่อินแปงให้คนแลเทวดาคอยลำแยง
รักษาบูชา อย่าให้มีอนาลายอันตรายแก่พระพุทธรูปเจ้าองค์ละลักษณะ ตราบท่อเท่า
๕๐๐๐ วัสสา สัพพญฺตญา ณ ปัจจโยโหติ
- หลักที่ ๓
เป็นจารึกฐานพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในบรรดาที่มีจารึกด้วยกัน หน้าตักกว้าง
๕๕ เซนติเมตร สูง ๑๕๐ เซนติเมตร มีอักษรจารึก ๓ บรรทัด มีข้อความว่า
พุทธศักราชได้ ๒ พัน ๓ ร้อย ....พระวัสสา เดือนล่วงแล้ว ๙ เดือน วันล่วงแล้ว
๒๑ วัน ปัจจุบันนี้ ปีเถาะ ตรีศกอยู่ในเหมันตฤดู เดือน ๓ ขึ้น ๗ ค่ำ วัน ๔
มหาราชครูธรรมคุตวัดป่ามณีโชติสร้าง พระพุทธรูปองค์แสน ๓ หมื่น ไว้โชตนาศาสนาตราบท่อเท่า
๕ พัน พระวัสสา นิพพานปัจจโยโหตุ
- หลักที่ ๔
เป็นจารึกใต้ฐานพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๗ เซนติเมตร สูงวัดจากฐาน
๙๐ เซนติเมตร มีอักษรจารึกไว้ ๕ บรรทัด ว่าด้วยการสร้างพระพุทธรูป
- จารึกหลักอื่น
มีอยู่สามหลัก เป็นจารึกใต้ฐานพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ กัน จารึกด้วยอักษรธรรมเช่นเดียวกับหลักอื่น
ๆ ที่กล่าวมาแล้ว มีข้อความกล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปเช่นเดียวกับหลักที่
๒ - ๔
จารึกวัดบ้านตำแย
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีอยู่สามหลัก หลักที่ ๑ และหลักที่ ๒ เป็นจารึกบนฝาผนังด้านหน้าสิมวัดบ้านตำแย
อยู่เหนือประตูเป็นอักษรไทยน้อย จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ หลักที่ ๓ เป็นจารึกที่ฐานพระพุทธรูปทองเหลือง
ซึ่งเดิมเป็นพระประธานในสิม จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๐ กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูป
ศิลาจารึกหน้าที่วำการอำเภอโขงเจียม
เป็นศิลาจารึกรูปเสาเสมา ทำด้วยหินทรายสีน้ำตาลเข้ม ขนาดกว้าง ๓๙ เซนติเมตร
สูง ๑๒๖ เซนติเมตร จารึกเป็นอักษรไทย และไทยน้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ กล่าวถึงเจ้านายบุคคลสำคัญที่ปกครองหัวเมืองลาวกาวในขณะนั้น
จารึกของจังหวัดอุบล ฯ ยังมีอีกมาก ทั้งจารึกสมัยก่อนตั้งเมืองอุบล ฯ ที่เป็นจารึกสมัยเจนละ
และสมัยเมืองพระนคร ส่วนมากอยู่ที่วัดสุปัฏนาราม อำเภอเมือง ฯ ซึ่งมีประวัติเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น
และจารึกสมัยหลังก่อนตั้งเมืองอุบล ฯ ในเขตอำเภอเมือง ฯ และอำเภออื่น ๆ ทั้งหมดเป็นตัวอักษรไทยน้อย
และอักษรธรรมอีสาน ส่วนมากเป็นจารึกสั้น ๆ
ตำนาน
บริเวณแถบเมืองอุบล ฯ เต็มไปด้วยเรื่องเล่า ตำนาน นิทาน และมุขปาฐะ ที่รู้จักกันแพร่หลายพอประมวลได้ดังนี้
ตำนานเมืองอุบล
(พื้นเมืองอุบล ) เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับการอพยพหลบภัยของบรรพบุรุษของชาวเมืองอุบล
ฯ คือ พระวอ พระตา ซึ่งอพยพลูกหลานไพร่พลหนีราชภัยจากเมืองเวียงจันทน์มาจนถึงเมืองอุบล
ฯ
ตำนานพระพือ
เป็นเรื่องราวของเทวรูปที่สร้างจากแท่นหินขนาดใหญ่ อยู่ในหลืบถ้ำกลางแม่น้ำมูล
บริเวณแก่งสะพือเมื่อฤดูน้ำแล้ง จึงมองเห็นองค์เทวรูปพระพือซ่อนอยู่ในถ้ำใต้แก่งหิน
เชื่อกันว่าพระพือเป็นเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้มีการนำพระพือไปไว้ที่วัดสระแก้ว
ริมฝั่งแม่น้ำมูลใกล้แก่งสะพืออันเป็นบริเวณที่เคยมีซากโบราณสถานสมัยอาณาจักรเจนละ
ตำนานบั้งไฟ ณ โนนสาวเอ้
ประเพณีการจุดบั้งไฟมีมูลเหตุมาจากความเชื่อเรื่องผีฟ้าพระยาแถน
ผู้อยู่บนฟ้ามีหน้าที่สอดส่องดูแลมวลมนุษย์ ก่อนฤดูกาลทำนา พระยาแถนจะบันดาลให้ฝนตกมาสู่โลกมนุษย์สม่ำเสมอ
ต่อมาได้เกิดมีผู้มีบุญญาธิการชื่อ พระยาคันคาก มีอิทธิฤทธิ์มาก ช่วยเหลือปัดเป่าทุกข์ภัยให้แก่คนทั่วไปเป็นอันมาก
ผู้คนต่างนิยมเลื่อมใส จนลืมบูชาพระยาแถนเช่นที่เคยปฏิบัติ พระยาแถนโกรธจึงไม่ยอมให้ฝนตกในแดนมนุษย์
เป็นเวลาเจ็ดปีเจ็ดเดือน มนุษย์ทั้งหลายพากันเดือดร้อน จึงให้พญานาคไปรบกับพระยาแถนแต่แพ้กลับมา
ครั้งที่สองได้ให้พญาต่อ-แตน ยกไปรบแต่ก็แพ้กลับมาอีก พระยาคันคากจึงอาสาไปรบกับพระยาแถน
โดยวางแผนให้ปลวกก่อจอมปลวกให้สูงขึ้นไปถึงเมืองแถน ให้พวกมอดไปกัดแทะด้ามอาวุธต่าง
ๆ ของพระยาแถน พระยาคันคากพร้อมด้วยสัตว์ต่าง ๆ เช่นแมลงป่อง งู มด ปลวก ผึ้ง
ต่อ แตน ยกกำลังขึ้นไปต่อสู้กับพระยาแถน สร้างความเจ็บปวด รำคาญแก่พระยาแถนจนต้องยอมแพ้
แล้วสัญญาจะบันดาลให้ฝนตกในเมืองมนุษย์ ทั้งนี้โดยขอเพียงให้ส่งสัญญาณขึ้นไปเตือนเท่านั้น
พระยาคันคากบอกว่าจะจุดบั้งไฟขึ้นไปเป็นสัญญาณบอกแถนในเดือนหก หรือเดือนเจ็ดของทุกปี
นอกจากนั้นฝูงกบ เขียด อึ่งอ่างต่าง ๆ จะช่วยส่งเสียงขึ้นมาด้วย และผู้คนจะแกว่งโหวตส่งเสียงเตือนว่าหมดฤดูทำนาแล้ว
เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนสิบเอ็ด เดือนสิบสอง ให้ฝนหยุดตก เกิดเป็นประเพณีบุญบั้งไฟบอกแถน
ถือปฏิบัติกันสืบมา
บุญบั้งไฟเป็นบุญใหญ่ประจำปี เป็นประเพณีรวมพี่น้อง และญาติจากหมู่บ้านข้างเคียงทั้งใกล้และไกลมาช่วยบุญ
ส่วนใหญ่จะพักกันในป่า หรือเนินดินก่อนเข้าหมู่บ้าน เพื่อให้สาว ๆ ที่มาด้วยประแป้งแต่งตัว
(เอ้ย่องในภาษาลาว) จึงเรียกที่พักดังกล่าวว่า โนนสาวเอ้
มีอยู่ในหลายหมู่บ้าน
ตำนานนางเพานางแพง ณ ดงปู่ตา
เป็นเรื่องที่เล่าสืบกันมาว่านางเพา และนางแพงเป็นวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ สิงสถิตย์อยู่ใต้น้ำ
มีอิทธิฤทธิ์ให้คุณให้โทษแก่ผู้ที่เชื่อถือ ทั้งสองสาวพี่น้องมีความงาม พูดคำไหนคำนั้น
ไม่ชอบการโกหก จะปรากฏกายบนบกเพื่อขอยืมฟืนจากชาวบ้านลงไปทอหูก หากยืมไปเจ็ดวันเมื่อถึงเวลาตามกำหนด
นางจะนำฟืนไปคืนทันที นางมีสมบัติแก้วแหวนของมีค่ามากมาย รวมทั้งผ้าผ่อนแพรพรรณที่สวยงาม
เมื่อถึงเทศกาลต่าง ๆ จึงมีผู้ไปยืมของจากนางเสมอโดยแต่งขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ ไปริมฝั่งน้ำบริเวณที่เชื่อว่านางสิงสถิตย์อยู่
ทำพิธีไหว้วอนขอยืม ครั้นตื่นเช้าให้ไปเอาของตามที่ยืมได้ แต่ต้องนำไปคืนตามกำหนดเวลา
มิฉะนั้น นางจะทำโทษ หรืออาจไม่ให้อีกต่อไป
บริเวณที่เชื่อว่ามีวิญญาณนางเพานางแพงสิงสถิตย์อยู่ คือ ริมฝั่งแม่น้ำใหญ่
เช่น กุดนางเพานางแพง
ริมฝั่งลำโดมใหญ่ บ้านท่าโพธิศรี อำเภอเดชอุดม บริเวณศาลนางเพานางแพง
ปากแม่น้ำมูล อำเภอโขงเจียม ต้นไทรใหญ่ใกล้วัดป่าเรไร
บ้านท่าข้องเหล็ก อำเภอวารินชำราบ และมุ่งสะทั่ง
ริมฝั่งแม่น้ำมูล ตำบลมุ่งสะมะแลง กิ่งอำเภอสว่างวีรวงศ์ เป็นต้น เหตุที่นางเพานางแพงสิงสถิตย์อยู่ใต้น้ำ
เพราะเมื่อครั้งยังมีชีวิตนางทั้งสองได้ลงเรือเดินทางตามลำน้ำโขงจนถึงบริเวณที่แม่มูลไหลมาบรรจบแม่น้ำโขง
บังเอิญเรือล่ม ทุกคนในเรือเสียชีวิตหมด วิญญาณของนางทั้งสองจึงสิงสถิตย์อยู่ใต้น้ำ
นาฏศิลป์และดนตรี
นาฏศิลป์ของชาวจังหวัดอุบล ฯ ส่วนใหญ่ดำเนินการในลักษณะกลุ่ม หรือหมู่คณะ
ดังต่อไปนี้
ลำพื้น
เป็นลำที่เก่าแก่ที่สุด เป็นต้นกำเนิดของการลำแบบอื่น ๆ คำว่าพื้นแปลว่าเรื่องราว
หรือนิทาน เรื่องที่นำมาแสดง
จะเป็นนิทานชาดก เช่น จำปาสี่ต้น นางสิบสอง สังข์ศิลป์ชัย การะเกด พระเจ้าสิบชาติ
เป็นต้น ส่วนมากผู้ลำจะเป็นผู้ชาย ในอดีตเป็นการลำบนบ้าน ต่อมานิยมลำที่ลานบ้าน
บางแห่งจะลำบนเวทียกพื้น ผู้ฟังจะนั่งล้อมรอบ กลางเวทีมีหลักปักไว้ผู้ไต้
หรือติดรางวัล เพราะลำพื้นไม่มีค่าจ้าง แล้วแต่สินน้ำใจของผู้ฟัง อาจให้ในลักษณะเป็นค่าครู
ซึ่งในอดีตจะมีราคา ๕๐ สตางค์ ๓ สลึง ๑ บาท หรือหกสลึง ผู้แสดง
ประกอบด้วยหมอลำชายหนึ่งคน
หมอแคนหนึ่งคน หมอลำคนเดียวสวมบทบาททุกตัวในท้องเรื่อง
การแต่งกาย
จะนุ่งโสร่งสวมเสื้อคอกลมสีขาว
มีผ้าขาวม้าพันเอว เมื่อรับบทขี่ม้าจะใช้ผ้าขาวม้าสอดเข้าระหว่างขา ใช้ผ้าห่มเฉียงแทนสไบเมื่อรับบทนางเอก
ถ้ารับบทโจร จะใช้ผ้าขาวม้าโพกศีรษะ ถ้ารับบทเป็นชายหนุ่มจะใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว
และถ้ารับบทเป็นผู้ชายแก่จะใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่า ส่วนหมอแคนก็แต่งแบบเดียวกัน
วิธีแสดง
เริ่มจากหมอลำทำคายหรือเครื่องบูชาครู เมื่อไหว้ครูเสร็จ หมอลำจะนำคายไปวางในที่สูง
เพื่อป้องกันมิให้บุคคลอื่นล่วงเกิน และดำเนินเรื่องไปจนจบถึงสว่าง
ลำกลอน
กลอนหมายถึงบทร้อยกรองต่าง ๆ ลำกลอนเป็นกลอนลำหลายเรื่องมีทั้งนิทานพื้นบ้าน
นิทานชาดก คำสอน คดีโลก คดีธรรม การเมือง ประเพณี ประวัติศาสตร์ สารคดีต่าง
ๆ แบ่งออกเป็น ลำกลอนธรรมดา
ซึ่งเกิดจากประเพณีสำคัญสองแบบคือ การเทศน์โจทย์เป็นลำกลอนประเภทลำไต่กลอน
ลำแข่งกลอน และลำโต้วาที การเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวเป็นลำกลอนประเภทลำเกี้ยว
การเทศน์โจทย์
เป็นวิธีการสอนธรรมะของพระภิกษุในพุทธศาสนาครั้งพุทธกาล โดยการสนทนาถามตอบปัญหาธรรม
ลำชิงชู้
เป็นการลำที่เด่นในเรื่องการชิงชู้หักสวาทกัน มีผู้แสดงชายสองคน หญิงหนึ่งคน
ฝ่ายชายทั้งสองคนต่างใช้ความสามารถของตนในการเกี้ยวสาว โดยวิธีประชันคารมทับถมกัน
หรือแข่งขันสติปัญญา ความรู้ ความร่ำรวยกัน เมื่อฝ่ายหญิงตัดสินใจเลือกผู้ใด
ผู้นั้นจะเป็นผู้ชนะ ส่วนผู้แพ้จะแสดงความเสียใจและเสียดาย ถ้าผู้แสดงเป็นชายหนึ่งคนหญิงสองคน
แสดงภาพการชิงผัวเรียกว่า ลำชิงผัว
ถ้าผู้แสดงเป็นชายสามคนหญิงหนึ่งคน ลักษณะการลำคล้ายลำชิงชู้เรียกว่า ลำสามเกลอ
การเล่นโปงลาง
โ ปงลางเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นกันในภาคอีสาน เดิมเป็นชื่อของโปง เป็นเครื่องมือของคนชนบท
เพื่อตีบอกเวลา เช้า เย็น โปงที่ตีบอกเวลาจะแขวนไว้ที่วัด นอกจากนั้นก็เป็นกระดิ่งผูกคอวัวควาย
เพื่อเป็นสัญญาณบอกเจ้าของว่าวัวควายของตนอยู่ที่ไหน ความไพเราะของเสียงโปง
ทำให้มีผู้คิดนำโปงมาร้อยติดกันเป็นพวง แขวนไว้บนค่าคบไม้ ใช้ไม้เคาะเป็นเสียงดนตรี
โปงลางทำด้วยท่อนไม้ร้อยต่อกันเหมือนระนาด ลูกของโปงลางแต่ละลูกมีความยาวไม่เท่ากัน
มีทั้งหมดสิบสองลูก เจาะรูทั้งสองด้าน ร้อยให้ลูกโปงลางติดต่อลดหลั่นกันเป็นลำดับตามความยาวของลูกโปงลาง
แล้วนำไปแขวนกับกิ่งไม้ หรือขาตั้ง หรือต้นเสาเพื่อยกระดับให้สูงขึ้นจากพื้น
เมื่อเลิกแสดงแล้วก็ม้วนเก็บ
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |