| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

โบราณวัตถุ
            โบราณวัตถุ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุขนาดต่าง ๆ สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์ หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของวัตถุนั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี
            โบราณวัตถุในเขตจังหวัดอุบล ฯ จัดตามวัฒนธรรมตามลำดับยุคสมัย คือ วัฒนธรรมเจนละ หรือวัฒนธรรมเขมรก่อนเมืองพระนคร วัฒนธรรมทวาราวดี หรือวัฒนธรรมเขมรสมัยเมืองพระนคร และวัฒนธรรมไทย - ลาว ได้ดังนี้
             งาช้างโบราณกลายเป็นหิน  พบในร่องน้ำห่างจากหมู่บ้านลาดหญ้าคา ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ เป็นงาช้างโบราณกลายสภาพเป็นหิน ยาว ๒.๔๐ เมตร มีอายุอยู่ประมาณ ๑.๖ ล้านปี เป็นโบราณวัตถุ จำพวกซากสัตว์ที่มีอายุมากที่สุดของจังหวัดอุบล ฯ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบล ฯ

             เครื่องมือหินกะเทาะ  มีอายุประมาณ ๑๒,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ ปี พบที่บริเวณหน้าเพิงผาถ้ำตาลาว (ถ้ำช้างสี) บ้านค้อน้อย ตำบลกองโพน กิ่งอำเภอนาตาล ทำจากหินควอร์ทไซด์ เป็นประเภทเครื่องมือแกนหินกะเทาะหน้าเดียวอย่างหยาบ ๆ นิยมกะเทาะเป็นแนวตรงเฉพาะส่วนล่าง คงเหลือส่วนผิวเดิมไว้ตอนบนเพื่อสะดวกในการจับถือ ของคมมีร่องรอยการใช้งานประเภททุบ สับ ตัด และกะเทาะ เป็นเครื่องมือของคนในสังคมล่าสัตว์
             ขวานหินขัด  เป็นเครื่องมือสำคัญในสังคมเกษตรกรรม มีอายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปี พบที่บ้านโนนสำราญ ตำบลหัวเรือ อำเภอเมือง ฯ เป็นขวานหินรูปคล้ายหยดน้ำขอบด้านล่างกว้าง ขอบคมอยู่ตรงกลาง และค่อนไปทางด้านหลังเล็กน้อย ผิวขัดเรียบ เป็นเครื่องมือที่พบมากในแหล่งโบราณคดีสังคมเกษตรกรรม ระยะแรกใช้ตัด ขุด และถากถางป่า ต่อมาพบในแหล่งที่ใช้โลหะต่อเนื่องมาถึงชุมชนสังคมเมืองสมัยประวัติศาสตร์
             กลองมโหรทึกสำริด  อยู่ในสมัยสังคมเกษตรกรรม มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ - ๒,๑๐๐ ปี มีอยู่สองใบ ใบแรกพบที่บ้านซีทวน ตำบลซีทวน อำเภอเขื่องใน ลักษณะหน้ากลองเรียบของไม่ยื่นล้ำออกไปนอกตัวกลอง มีลายรูปคล้ายด้าวสิบสี่แฉกอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วย ลายเส้นวงกลม และลายเส้นตรงขวาในเส้นคู่ขนาน ลายวงกลมมีจุดตรงกลางเชื่อมต่อด้วยลายเส้นทะแยงที่ไหล่ ตอนกลางตัวกลองมีลวดลายคล้ายกับหน้ากลอง มีหูสี่หู อยู่ข้างละสองหู แต่ละหูแยกจากกันเล็กน้อย มีลายคล้ายเชือกถักประดับอยู่ ส่วนล่างไม่มีลายแต่ฝายออกเล็กน้อย ด้านข้างทั้งสองมีรอยที่เกิดจากการหล่อด้วยแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นวิธีปั้นหุ่นไล่ขี้ผึ้ง ลักษณะของกลองจัดอยู่ในกลุ่มที่ ๑ หรือแบบแฮกเกอร์ ๑ เป็นกลองแบบรุ่นแรก ที่จัดไว้ในกลุ่มของวัฒนธรรมดองซอน
            กลองใบที่สองพบที่บ้านนาโพธิใต้ ตำบลนาโพธิกลาง อำเภอโขงเจียม ลักษณะขอบหน้ากลองยื่นพ้นจากลำตัว คงเหลือรูปกบที่หล่อติดอยู่บนหน้ากลองเพียงสองตัว จากของเดิมที่มีอยู่สี่ตัว มีหูสองคู่ ลวดลายส่วนใหญ่ลบเลือน ลักษณะของกลองเปรียบเทียบได้กับกลองของวัฒนธรรมดองซอนในแบบแฮกเกอร์ ซึ่งเป็นแบบที่ทำสืบเนื่องมาในสมัยประวัติศาสตร์

             ใบหอกและหัวขวานสำริด  มีอายุประมาณ ๑,๘๐๐ - ๑,๕๐๐ ปี พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง ฯ ลักษณะเป็นใบหอกชนิดมีบ้อง ปลายโค้งมน ด้านข้างใบหอกทำยื่นแหลมออกสองข้าง ปลายโคนด้ามทำเป็นปุ่มยื่นออกสองข้าง หัวขวานเป็นชนิดมีบ้องเช่นกัน ขอบคมโค้งมน ด้ามขวานยื่นแหลมออกไปเล็กน้อย รูปแบบแตกต่างจากใบหอกสำริดรูปใบข้าวที่พบในแหล่งโบราณคดีสังคมเกษตรกรรม อันเป็นเครื่องมือโลหะรุ่นแรก ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนโบราณวัตถุที่พบร่วมกัน สันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนสมัยสังคมเมืองเริ่มแรกที่พัฒนาตนเองเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์
             ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาลายเขียนสี  อยู่ในสังคมเกษตรกรรมมีอายุประมาณ ๒,๓๐๐ - ๑,๕๐๐ ปี พบที่โนนสาวเอ้ บ้านค้อ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง ฯ เป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเคลือบสีขาว และแดงลายเชือกทาบ แล้วเขียนสีแดงทับอีกชั้นหนึ่ง เป็นลายเรขาคณิตเส้นตรง เส้นหยัก และลายคดโค้ง เผาด้วยความร้อนต่ำ เนื้อดินผสมทราย และดินกรอกหรือดินเชื้อ เป็นภาชนะลายเขียนสีสมัยหลังแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
             หินดุดินเผา  อยู่ในสมัยสังคมเกษตรกรรมจนถึงสังคมเมืองเริ่มแรก มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ - ๑,๕๐๐ ปี พบที่โนนสาวเอ้ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง ฯ เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยรองด้านในขอบดินปั้นภาชนะตีแต่งด้านนอกเพื่อขึ้นรูปภาชนะ แสดงถึงรอยต่อเนื่องของชุมชนโบราณที่โนนสาวเอ้ ตั้งแต่สมัยสังคมเกษตรกรรมที่ใช้โลหะ จนถึงสมัยสังคมเมืองเริ่มแรกจนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์

             ศิลาจารึกปากมูล  เป็นอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พบที่ฝั่งขวาปากแม่น้ำมูล ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม เป็นศิลาจารึกสองหลักเป็นรูปใบเสมา จารึกข้อความเพียงด้านเดียว มีจำนวนหกบรรทัด มีความว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ทรงพระนามว่าจิตรเสน ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าศรีวีวรมัน....ได้รับพระนามภายหลังการอภิเษกว่า พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน..... ได้สร้างศิวะลึงค์อันเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระองค์ไว้บนภูเขานี้

             พระพุทธรูปยืน  ทำด้วยหินทรายสีแดง ศิลปะทวาราวดี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ พบที่ชุมชนโบราณบ้านไผ่ใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ เป็นพระพุทธรูปยืนในท่าตริภังค์เหนือฐานบัว ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นระหว่างพระอุระ ขมวดพระเกศาใหญ่ พระเกตุมาลาต่ำไม่มีรัศมี ครองจีวรห่มคลุมขอบจีวรทอดลงจากข้อพระกรทั้งสองข้าง ทิ้งชายลงด้านล่างวกไปพาดทับสบงบริเวณพระชงฆ์ มีอายุอยู่ระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓

             อรรธนารีศวร  ทำด้วยหินทราย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นประติมากรรมสลักรูปพระอิศวร และพระอุมารวมกันเป็นองค์เดียว ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัวหงาย ยกพระกรทั้งสองข้างขึ้นเหนือพระเพลา พระกายซีกขวาแสดงลักษณะบุรุษหรือพระศิวะ มีรูปพระจันทร์ติดอยู่บนพระเศียรด้านขวา พระเกศาขมวดกลม มีไรพระมัสสุ นุ่งผ้าสั้น เหนือพระชงฆ์ คาดเข็มขัดลายเชือกถัก มีบ่วงบาศคล้องที่ข้อพระหัตถ์ ซีกซ้ายพระอุระแสดงลักษณะของสตรีเพศ ทรงทองพระกร และนุ่งผ้ายาวไปจรดข้อพระบาท มีแนวชายผ้าพาดจากใต้พระเพลาไปยังข้อพระกร เข็มขัดเป็นลายลูกประคำ เป็นอรรธนารีศวรที่เก่าแก่รูปหนึ่งในเอเซียอาคเนย์
             เสาประดับกรอบประตู  ทำด้วยหินทรายศิลปะเขมรแบบไพรกเมง อายุประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ได้มาจากโบราณสถานร้างวัดแก่งตอย บ้านโอด ตำบลท่าเมือง อำเภอเมือง ฯ เป็นส่วนหัวเสาหรือฐานเสา มีลักษณะเป็นเสากลมสลักลวดลายเฉพาะด้านที่หันออกด้านหน้า ส่วนหัวเสาขอบชั้นบนสุดสลักลายดอกไม้สี่เหลี่ยม หรือดอกประจำยามเรียงต่อกัน ถัดลงมาเป็นแนวเส้นบัวลายลูกประคำ แนวลายใบไม้ม้วน และลายดอกไม้ครึ่งดอกเรียงสลับกัน ใต้แนวดังกล่าวเป็นลายพวงมาลัยอุบะดอกไม้ และไข่มุกคั่น ด้านในพวงมาลัยสลักลายใบไม้ม้วนเข้าหากันเป็นวงโค้ง มีลายใบไม้เต็มใบห้อยลงด้านล่าง ใต้ขอบแนวลายพวงมาลัยคั่นอุบะจะมีแนวเส้นลวดบัวเล็ก ๆ ล้อมอยู่โดยรอบ ลักษณะเสาลวดลาย และการแบ่งแนวลาย เทียบได้กับศิลปะเขมร แบบไพรกเมง มีอายุอยู่ประมาณปี พ.ศ.๑๑๗๕ - ๑๒๔๐
             โสมสูตร  ทำด้วยหินทรายศิลปะเขมรแบบไพรกเมง มีอายุอยู่ประมาณ ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ได้มาจากโบราณสถานร้างในบริเวณวัดแก่งคอย บ้านโอด ตำบลท่าเมือง อำเภอเมือง ฯ เป็นส่วนปลายของท่อ หรือรางระบายน้ำที่ใช้ในการประกอบพิธีภายในศาสนสถาน ซึ่งถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ สลักเป็นรูปหัวมกรอ้าปากกว้างชูงวงขึ้นด้านบน ด้านหลังติดอยู่กับรางน้ำ เทียบได้กับศิลปะเขมรแบบไพรกเมง มีอายุอยู่ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒

             พระคเณศ   ทำด้วยหินทรายศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์ หรือแปรรูป มีอายุอยู่ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ได้จากบ้านโนนกาเล็น อำเภอสำโรง องค์พระคเณศร นั่งขัดสมาธิราบ พระบาทขวาซ้อนพระบาทซ้าย ทรงกระบังหน้า กรองศอ ทองพระกร และรัดทรวง งวงม้วนลงไปจรดพระเพลาขวา พระหัตถ์ทั้งสองวางอยู่บนพระเพลา เบื้องซ้ายทรงวัตถุกลม หรือขนมโมทกะส่วนเบื้องขวาคงเป็นชิ้นส่วนของเศษงาหัก
             ทับหลัง  ทำด้วยหินทรายศิลปะเขมรแบบบาปวน มีอายุอยู่ประมาณปี พ.ศ.๑๕๕๐ - ๑๖๒๐ ได้มาจากปราสาทหนองบอน บ้านนาเจริญ อำเภอเดชอุดม ด้านบนสุดสลักภาพฤาษีนั่งขัดสมาธิราบ พนมมืออยู่ในซุ้มสามเหลี่ยม ซึ่งมีลายช่อดอกไม้คั่นระหว่างซุ้มตอนกลางของทับหลังสลักภาพบุคคลนั่งชันเข่า มือขวาถือดอกบัว ด้านล่างที่ชำรุดคงเป็นภาพหน้ากาลคาย ท่อนพวงมาลัยที่ม้วนวงขึ้นด้านบน ทอดเป็นแนวยาวไปวกลงที่ปลายกรอบทับหลัง แล้วม้วนขึ้นเป็นลายก้านขด เหนือท่อนพวงมาลัยสลักเป็นลายใบไม้ม้วนครึ่งใบ เรียงต่อกันเป็นแนวหักเข้าหาจุดศูนย์กลางของทับหลัง ส่วนด้านล่างเป็นลายก้านขดม้วนลงด้านล่าง มีภาพบุคคลนั่งพนมมือบนทับหลังดังกล่าว
             ศิวลึงค์   อยู่ที่วัดบ้านเข้ด่อน ในเขตตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน ทำด้วยหินทราย ศิลปะเขมร มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ได้มาจากบริเวณภูปราสาทใกล้เคียงช่องอานม้า มีลักษณะเป็นแท่งศิวลึงค์ทรงกลม สลักเฉพาะส่วนปลายหรือรุทธภาค ติดอยู่กับฐานโยนีรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ด้านหน้ามีแนวร่องน้ำที่หักหายไป
             โสมสูตร  อยู่ที่วัดเข้ด่อน ในเขตตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน ทำด้วยหินทรายศิลปะเขมร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ได้มาจากบริเวณภูปราสาทใกล้ช่องอานม้า มีลักษณะเป็นแท่งรางน้ำ ด้านบนเจาะเป็นแนวร่องน้ำ ส่วนปลายสลักเป็นรูปหัวสิงห์อ้าปาก คาบส่วนปลายของร่องน้ำ
             ทับหลัง  นำมาจากวัดใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร เป็นศิลปะเขมรแบบธาราบริวัตร มีอายุอยู่ประมาณปี พ.ศ.๑๑๕๐ เป็นชิ้นส่วนตัวอาคารที่เก่าที่สุดที่พบในเขตจังหวัดอุบล ฯ อาจเคยใช้ประกอบตัวอาคารเหนือวงกบประตูอาคาร ที่สร้างในเพิงถ้ำปราสาท หรือถ้ำภูหมาไนมาก่อน เพราะพบศิลาจารึกและร่องรอยโบราณสถานที่อายุร่วมสมัยกับทับหลังดังกล่าว

             ทับหลังศิลาจารึก  อยู่ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร นำมาจากแหล่งโบราณสถานบ้านสะพือใต้ ตัวทับหลังจัดอยู่ในศิลปะเขมรแบบไพรกเมง มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓ รูปร่างตอนกลางสลักลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแทนลายวงโค้ง มีลายอุบะดอกไม้ห้อยลงด้านล่าง และลายช่อดอกไม้ด้านบน ที่กรวยด้านข้างสลักลายดอกไม้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนศิลาจารึกสลักด้วยรูปแบบอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ เอ่ยพระนามพระเจ้ามหิปติวรมัน
             ใบเสมาหินทราย และพระพุทธรูปปางนาคปรก  อยู่ที่บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน รวมรวมจากเนินดินรูปครึ่งวงกลม อันเป็นที่ตั้งวัดทุ่งศรีไล มีซากโบราณสถานสร้างจากหินทรายแดง ศิลปะทวาราวดีตอนปลาย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ส่วนพระพุทธรูปเป็นศิลปะเขมร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ อีกองค์หนึ่งเป็นฝีมือช่างพื้นเมือง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕

             ใบเสมาหิน  อยู่ที่บ้านไผ่ใหญ่ ตำบลไผ่ใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ ปักอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่มีแนวล้อมรอบ เป็นแบบแผ่นหินทรงใบหอกปลายแหลม ส่วนฐานสลักลายกลีบบัวคว่ำบัวหงาย มีแกนสลักเป็นแนวเส้นเรียบ ๆ หนึ่งกลุ่ม ปัจจุบันเหลือเพียงสองใบ

             ใบเสมาหิน  อยู่ที่ตลาดบ้านม่วง อำเภอม่วงสามสิบ ตั้งอยู่บนเนินดิน มีกลุ่มใบเสมาศิลาแลงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสระน้ำโบราณอยู่หนึ่งกลุ่ม เป็นกลุ่มใบเสมาแบบแผ่นหินทรงใบหอกยอดโค้ง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖

             พระพือ  มีลักษณะเป็นแท่งหินแกะสลักเป็นเทวรูปสตรีในท่าประทับนั่งทรงจักรสังข์ และดอกบัว คนทั่วไปเรียกว่า พระสะพือ หรือพระพือ เดิมประดิษฐานอยู่กลางแก่งสะพือ

             จารึกวัดสุปัฏนาราม  มีจารึกสามหลัก คือหลักที่ ๑ จารึกหินทราย รูปทรงคล้ายใบเสมา จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต จำนวนหนึ่งด้าน หกบรรทัด ข้อความในจารึก และลักษณะรูปอักษรเหมือนกับจารึกปากมูล มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จารึกหลักที่ ๒ จารึกด้วยอักษรที่วิวัฒนาการมาจากอักษรปัลลวะเรียกว่าอักษรขอมโบราณ เป็นภาษาเขมร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕ หลักที่ ๓ จารึกด้วยอักษรเทวนาครี เป็นภาษาสันสกฤต - เขมร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๘
             พระพิฆเนศ  เดิมอยู่ที่วัดป่าพิฆเนศ บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง ฯ เป็นศิลปะสลักศิลาสมัยบาปวน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๕

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |