| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถานและโบราณวัตถุ
            ถ้ำตาลาว  เป็นเพิงผาขนาดเล็ก อยู่ที่บ้านค้อน้อย ตำบลกองโพน กิ่งอำเภอนาตาล ตัวเพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีความสูงประมาณ ห้าเมตร สันนิษฐานว่ามีร่องรอยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในสังคมล่าสัตว์ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้สำรวจพบเครื่องมือหินกะเทาะสะเก็ดหิน จากควอร์ทไซต์ ที่บริเวณปากถ้ำ นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนสีภาพมือ และลายเส้นสัญลักษณ์แต่ลบเลือนมาก เครื่องมือหินมีอายุประมาณ ๑๔,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ปี

            ปราสาทหินบ้านเบ็ญ  ตั้งอยู่ที่บ้านเบ็ญ ตำบลหนองอ้ม อำเภอทุ่งศรีอุดม ลักษณะของปราสาทเป็นศาสนสถานศิลปะเขมร ประกอบด้วยปรางค์ก่อด้วยอิฐสามหลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีแนวกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ ตรงประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก มีร่องรอยฐานศาลาจตุรมุข และซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระ มีเสาประดับกรอบประตู และทับหลังสลักจากหินทราย เช่นทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และทับหลังเทพนพเคราะห์

            ปราสาทหนองทองหลาง  ตั้งอยู่ที่บ้านท่าโพธิศรี ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม ลักษณะปราสาทเป็นศาสนสถานศิลปะเขมร ประกอบด้วยปรางค์สามองค์ เช่นเดียวกับปราสาทบ้านเบ็ญ แต่มีขนาดใหญ่กว่า ตัวปราสาทตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของหนองทองหลาง  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีร่องรอยคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบ เช่นเดียวกับปราสาทบ้านเบ็ญ มีอายุอยู่ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖

            ธาตุนางพญา  อยู่ในเขตตำบลหนองสะไน อำเภอบุณฑริก เป็นศาสนสถานศิลปะเขมร ที่เรียกว่าธรรมศาลา หรือที่พักคนเดินทาง ตัวธาตุหรือปราสาทก่อด้วยศิลาแลง ประกอบด้วยปรางค์ประธาน และซุ้มประตูทางเข้า (โคปุระ) มีอายุอยู่ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘

            ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์  อยู่ที่เวิ้งน้ำของลำโดมใหญ่บริเวณปากลำห้วยไห บนเทือกเขาพนมดงรัก ทางด้านทิศใต้ของบ้านแข้ด่อน ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน เป็นภาพสลักบนแผ่นหินจะเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมบนแท่นหิน ยาว ๑๒๐ เซนติเมตร สูง ๕๐ เซนติเมตร ในฤดูน้ำหลากจะจมอยู่ใต้น้ำ ลักษณะภาพเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวา เหนือเศียรพระนารายณ์มีเศียรพญานาคสามเศียร ปลายพระบาทพระนารายณ์มีโครงร่างหางพญานาค ส่วนตัวพญานาคยังแกะสลักไม่เสร็จ ที่ปลายพระบาทด้านบนสลักเป็นรูปสตรีในท่านั่ง แสดงลักษณะการบีบนวดพระบาทของพระนารายณ์คือพระลักษมี บริเวณพระนาภีพระนารายณ์สลักเป็นสายยกขึ้น ส่วนบนเป็นรูปวงรีสลักเป็นรูปดอกบัว เหนือดอกบัวเป็นรูปพระพรหม เป็นการแสดงถึงการเกิดของพระพรหม ตามคติความเชื่อที่ว่า พระพรหมเกิดจากพระนาภีของพระนารายณ์ขณะที่กำลังบรรทมอยู่
            อูบมุง  ตั้งอยู่ที่บ้านอูบมุง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ อยู่ห่างจากเมืองโบราณบ้านคูเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ หนึ่งกิโลเมตร ปัจจุบันเหลือสภาพเพียงส่วนของฐาน พบพระพุทธรูป และพระพิมพ์เป็นจำนวนมากบรรจุอยู่ในอูบมุง ก่อนที่อูบมุงจะพังทะลายลงมาจนเหลือแต่ส่วนฐานดังกล่าว อูบมุงจะมีความสูงประมาณหนึ่งเส้นห้าวา บรรดาโบราณวัตถุที่พบเป็นแบบศิลปะลาว ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ถึง ๒๔ ในสมัยที่บรรพบุรุษของชาวบ้านคูเมืองเข้ามาอยู่ วัสดุที่ใช้ก่อสร้างเป็นอิฐ แต่ละก้อนขัดฝนที่หน้าอิฐเป็นลักษณะที่พบทั่วไปตามปราสาทอิฐทั้งหลายในวัฒนธรรมเขมร จากการที่พบหินทรายตกอยู่ในบริเวณทั่วไป ทำให้สันนิษฐานว่าอูบมุงมีลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบปราสาทอิฐเขมร ซึ่งร่วมสมัยกับคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมของเมืองโบราณ และโบราณสถานโนนแก
แหล่งโบราณคดี
            ได้มีการสำรวจพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในเขตจังหวัดอุบล ฯ คือ ทางเหนือและทางตะวันตก ในบริเวณลุ่มแม่น้ำชี และลุ่มน้ำสาขาต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นสภาพการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณ สมัยสังคมเกษตรกรรม สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่เปลี่ยนแปลงสภาพจากสังคมล่าสัตว์
            แหล่งโบราณคดีสมัยสังคมเกษตรกรรม  เท่าที่สำรวจพบแล้วในบางพื้นที่มีแหล่งโบราณคดี ดังต่อไปนี้
                - ในเขตอำเภอเมือง ฯ ที่ตำบลกุดลาด มีบ้านปากน้ำ และโนนสาวเอ้ ที่ตำบลหัวเรือมีบ้านโนนสำราญที่ตำบลขามใหญ่ มีบ้านก้านเหลือง
                - ในเขตอำเภอสำโรง ตำบลคูเมืองมีบ้านดอนผดุง บ้านอูบมุง บ้านคูเมือง ตำบลโคกก่องมีบ้านโคกก่อง ตำบลหนองไฮ มีบ้านหนองบัว ตำบลสระสมิง มีบ้านสระดอกแค
                - ในเขตอำเภอม่วงสามสิบ ที่ตำบลไผ่ใหญ่มีบ้านไผ่ใหญ่ ตำบลหนองเหล่ามีบ้านโพนเมืองมะกัน ตำบลยางสักกะโพหลุ่ม มีบ้านยางสักกะโพหลุ่ม ตำบลยางโยภาพ มีโนนบ้านเก่า ตำบลหนองเมืองมีโนนหนองสิม
                - ในเขตอำเภอเขื่องใน ที่ตำบลบ้านไทมีบ้านทุ่งใหญ่ ตำบลชีทวน มีบ้านชีทวน
                - ในเขตอำเภอเดชอุดม ที่ตำบลนาเจริญมีบ้านหม้อทอง และบ้านโนนฮัง ตำบลทุ่งเทิงมีบ้านโนนทอง ตำบลกุดประทายมีบ้านดำครั่ง
                - ในเขตอำเภอทุ่งศรีอุดม ที่ตำบลอัมมีบ้านเบ็ญ
                - ในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร ที่ตำบลดอนจิกมีบ้านหนองวัด ตำบลอ่างศิลา มีบ้านหนองหิน
                - ในเขตอำเภอเขมราฐ ที่ตำบลเจียด มีบ้านดอนแสนพัน
                - ในเขตกิ่งอำเภอเมืองเหล่าเสือโก้ก ที่ตำบลโพนเมือง มีบ้านโพนเมือง
                - ในเขตกิ่งอำเภอนาเยีย ที่ตำบลนาเยีย มีบ้านหนองบัว
                - ในเขตกิ่งอำเภอนาตาล ที่ตำบลกองโพน มีถ้ำตาลาว

            แหล่งศิลปะถ้ำ  ชุมชนที่อาศัยอยู่แถบแม่น้ำโขง ตั้งแต่อำเภอเขมราฐ ถึงอำเภอโขงเจียม มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณดังกล่าว มีวัฒนธรรมในการประดิษฐ์ศิลปกรรมตามถ้ำ และเพิงผา เรียกว่า ศิลปะถ้ำ หรือศิลปะบนหิน
                - ในเขตอำเภอตระการพืชผล มีศิลปะถ้ำในบริเวณภูโลง ที่บ้านเก้งอะฮวน ตำบลโนนกุง เป็นภาพคน ภาพมือ ภาพสัตว์ และภาพสัญลักษณ์ เขียนด้วยสีแดงแบบน้ำหมาก การจัดภาพเป็นการสื่อความหมาย เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์
                - ในเขตอำเภอโพธิไทร ที่ถ้ำโลง ถ้ำเดิ่น โนนหินตั้ง และถ้ำแต้ม บริเวณบ้านผาชัน ตำบลสำโรง ส่วนใหญ่เป็นภาพสัญลักษณ์ลายเส้น และภาพมือ
                - ในเขตอำเภอศรีเมืองใหม่ ที่ถ้ำแต้มภูดงนา บ้านดงนา และถ้ำแต้มบ้านหนามแท่ง ตำบลหนามแท่ง ส่วนใหญ่เป็นภาพมือ
                - ในเขตกิ่งอำเภอนาตาล ที่ถ้ำตาลาง หรือถ้ำช้างสี ตำบลกองโพน ส่วนใหญ่เป็นภาพมือ และภาพสัญลักษณ์
                - ในเขตอำเภอโขงเจียม ที่ภูผาขาม มีอยู่สี่แห่ง ที่ผาขาม ผาหมอน และผาหมอนน้อย ในพื้นที่บ้านกุ่ม ตำบลห้วยไผ่
                    ผาขาม  เป็นกลุ่มภาพเขียนกลุ่มแรก เขียนด้วยสีแดง มีภาพปลา และช้าง เขียนแบบโครงร่างภายนอก
                    ผาแต้ม  เป็นกลุ่มภาพเขียนที่สำคัญที่สุดในกลุ่มศิลปะถ้ำของบริเวณภูผาขาม มีภาพเขียนและภาพสลักรูปรอยลงในผนังหินเรียงกันเป็นแนวยาวในพื้นที่ประมาณ ๙๐๐ ตารางเมตร มีภาพเขียนมากกว่า ๓๐๐ ภาพ ส่วนใหญ่เขียนด้วยสีแดง เป็นภาพสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ช้าง ปลาบึก เต่า หรือตะพาบน้ำ เครื่องมือจับปลา ภาพวัตถุ ภาพสัญลักษณ์ และภาพมือ เป็นต้น
                    ผาหมอน  เป็นกลุ่มภาพเขียนลายเส้น มีภาพคนและภาพมือ
                    ผาหมอนน้อย  เป็นกลุ่มภาพเขียนขนาดเล็กกว่าผาแต้ม เป็นภาพทุ่งนา ภาพคนกำลังจูงสัตว์ หรือต้อนสัตว์ และภาพมือ
                - ในเขตอำเภอน้ำยืน ที่ถ้ำโยนีบริเวณภูอ่าง ในพื้นที่บ้านแข้ด่อน ตำบลโดมประดิษฐ์ ลักษณะภาพมีสองรูปแบบคือ ภาพสลักหรือเขียนรูปรอยลงบนหิน มีความยาวประมาณสี่เมตร ส่วนใหญ่เป็นภาพลายเรขาคณิตในแนวดิ่ง เป็นรูปวงกลม รูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ลายฟันปลา และแบบภาพเขียนด้วยสี เป็นสีแดง
            เมืองโบราณบ้านคูเมือง  อยู่ในเขตตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ ลักษณะเป็นเมืองมีคูน้ำ และคันดินรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบ ขนาดกว้างประมาณ ๗๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร ภายในเป็นเนินดินมีลักษณะของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อยู่ค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีขนาดกว้างประมาณ ๓๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร ความสูงประมาณ ๓ เมตร จากพื้นที่โดยรอบที่เป็นทุ่งนา
            ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๓๐๐ เมตร มีลำห้วยผับไหลผ่าน และมีคลองเล็ก ๆ สันนิษฐานว่าเป็นทางระบายน้ำเข้าสู่เมืองโบราณ ทางด้านทิศเหนือของเมืองโบราณมีคูน้ำล้อมรอบอย่างน้อยสองชั้น เป็นลักษณะของชุมชนโบราณที่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในเนินดินมีเศษภาชนะดินเผาทับถมกันอยู่หนาแน่น เป็นเศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินธรรมดา เผาด้วยอุณหภูมิไม่เกิน ๑,๐๐๐ องศาเซลเซียส ตกแต่งผิวด้วย ลายเชือกทาบละเอียด หรือเชือกทางเส้นเล็กที่ขอบปากของเศษภาชนะดินเผาทั่วไป ที่ตกแต่งเป็นลายขูดขีด นอกจากนี้ยังมีเศษภาชนะดินเผาผิวเรียบ เคลือบสีน้ำดินสีแดง และเศษภาชนะดินเผาผิวเรียบขัดมันสีดำ กับภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบ ซึ่งเป็นหลักฐานของสมัยประวัติศาสตร์ ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้อื่น เช่นกำไล และแหวนสำริดตกแต่งเป็นลายถักเปียคล้ายกับที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง อำเภอเมือง ฯ และแหล่งโบราณคดีทั่วไปสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
            การขุดคูน้ำคันดินเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และระบายน้ำไม่ให้ท่วมในฤดูน้ำหลาก รวมทั้งใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภค และการกั้นอาณาเขต นักโบราณคดีเชื่อว่าน่าจะมีอายุประมาณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เพราะมีการใช้เหล็กกันแพร่หลาย การใช้เหล็กหรือสมัยเหล็กในดินแดนแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นเมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือรู้จักใช้เหล็กกันแพร่หลายเมื่อประมาณ ๑,๘๐๐ - ๒,๓๐๐ ปี
            สำหรับหลักฐานในสมัยหลัง คือคันดินโบราณรูปสี่เหลี่ยมมีอาณาบริเวณกว้างขวางล้อมรอบเนินดิน ที่พบหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าคันดินดังกล่าวอาจอยู่ในสมัยที่วัฒนธรรมเขมรเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้ เมื่อประมาณ ๑,๗๐๐ - ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว แสดงว่ามีชุมชนในสมัยหลังมาอยู่อาศัยซ้อนทับบริเวณผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |